ดาราณี ทองศิริ
ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู
ข้อพิพาทกรณีการแจกถุงยางอนามัยในสามจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี
กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงอย่างกว้างขวาง กรณีแจกถุงยางในงานบายเฟรชชี่ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2560 โดยมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการแจกถุงยางอนามัยให้กับรุ่นน้องปีหนึ่ง และได้ตั้งกระทู้ในกลุ่มนักศึกษา ม.อ. ปัตตานี จนเกิดการโต้เถียงกันจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาในพื้นที่ นอกพื้นที่ คนที่นับถือศาสนาพุทธหรืออิสลาม
โดยข้อถกเถียงหลักคือการมองว่าการแจกถุงยางอนามัยเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และผิดหลักศาสนาอิสลามที่ไม่อนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งงาน และถือว่าเป็นการทำบาปใหญ่ ในขณะที่อีกฝ่ายมองเป็นเรื่องของการป้องกันและส่งเสริมให้เยาวชนรู้จักการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปัญหาการท้องไม่พร้อมเป็นต้น
การถกเถียงในกระทู้นี้ดำเนินไปจนกระทั่งมีการลบกระทู้ในวันที่ 25 เมษายน 2560 หลังจากมีกระแสออกไปตามเว็บไซต์ต่างๆ เช่น เพจ drama addict เพจเสียงแห่งแผ่นดินแม่ มีบทความไม่ต่ำกว่าสองชิ้นจาก ชานันท์ ยอดหงษ์ [1]และ อัฐพล ปริยะ โดยบทความทั้งสองนั้นมองจากฐานคิดที่แตกต่างกัน โดยชานันท์ให้น้ำหนักไปที่เรื่องประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางเพศ และมองว่าศาสนาควรเป็นเรื่องส่วนบุคคล ส่วนอัฐพลให้น้ำหนักที่เรื่องของหลักการศาสนาอิสลามกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ ผู้เขียนจะวิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ หลักการทางศาสนา วิธีคิดด้านสุขภาวะทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ รวมไปถึงแนวทางการทำงานด้านเพศวิถีและเพศภาวะที่ผู้เขียนพบจากประสบการณ์ในการทำงานด้านเพศ เพื่อชี้ให้เห็นปัญหาของการวิเคราะห์สถานการณ์ในแต่ละมุม
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ มีความพยายามในการโจมตีเรื่องการแจกถุงยางในที่สาธารณะมาแล้วหนึ่งครั้ง สืบเนื่องมาจากการโจมตีเรื่องการทำงานของห้องเรียนเพศวิถี ร้านหนังสือบูคู ที่ในขณะนั้นมีนักการศาสนาและนักกิจกรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้หลายคนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยและบานปลายกลายเป็นการใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชัง รวมถึงความพยายามในการล่าแม่มดคนทำงานและผู้เข้าร่วมกิจกรรม และการโจมตีนี้ยังรวมไปถึงการจัดกิจกรรมแจกถุงยางอนามัยฟรีในวันวาเลนไทน์ของกลุ่มฟ้าสีรุ้ง ซึ่งได้แจกถุงยางให้กับประชาชนในจังหวัดยะลา ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยในครั้งนั้นมีการนำรูปภาพกิจกรรม รวมไปถึงคนทำงานและคนรับถุงยางอนามัยฟรี ไปโจมตีอย่างรุนแรง โดยใช้คำพูดว่า เป็นกิจกรรมของพวกมารศาสนา ในขณะที่ผู้จัดกิจกรรมก็ออกมาโต้ตอบกลับอย่างทันที [2] หลังจากนั้นกระแสการถกเถียงเรื่องแจกถุงยางได้กลับมาอีกครั้งในกรณีงานบายเฟรชชี่ที่ผ่านมาของกลุ่มนักศึกษามอ.ปัตตานี จนนำมาสู่การถกเถียงกันในวงกว้าง และไม่เพียงแต่เป็นการถกเถียงในกรณีถุงยางเท่านั้น แต่ยังมีการพาดพิงไปถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศ ความเป็นคนนอกคนในพื้นที่ นักศึกษาจากที่อื่นที่มาเรียนในสามจังหวัดทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ล้วนแล้วแต่ออกมาให้ความเห็นกับเรื่องนี้กันจำนวนมาก[3] จากข้อถกเถียงหลักๆในกระทู้ สามารถแบ่งออกเป็นสองมุมมองใหญ่ๆได้ดังนี้
มุมมองด้านศาสนา
ในหลักการทางศาสนาอิสลาม การทำผิดประเวณีนั้นถือเป็นบาปใหญ่ (ซีนา) ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์กันระหว่างชายหญิงก่อนแต่งงานจึงไม่สามารถทำได้ ยิ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันยิ่งทำไม่ได้ ดังนั้นเมื่อหลักการทางศาสนาระบุไว้เช่นนี้ การแจกถุงยางให้กับนักศึกษาจึงเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งงาน
แต่การตั้งสมมติฐานไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อมีถุงยางอนามัย ก็ต้องมีการใช้เพื่อการมีเพศสัมพันธ์ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่? จากการค้นข้อมูลที่ผ่านมา ยังไม่ปรากฎว่ามีการเก็บสถิติหรือทำวิจัยเรื่องการได้รับแจกถุงยางอนามัยแล้วจะทำให้ผู้รับมีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้นหรือมีแนวโน้มในการตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานมากขึ้น ดังนั้นข้อสรุปนี้จึงเป็นเพียงการคาดเดา คนที่ได้รับแจกถุงยางอนามัย อาจนำไปใช้หรือนำไปทิ้ง ก็เป็นไปได้ทั้งสองทาง แต่ไม่ว่าจะนำไปใช้หรือนำไปทิ้ง มุสลิมหลายคนก็ยังเชื่อว่าหนทางที่ดีที่สุดในการป้องกันการทำผิดประเวณี คือไม่ยุ่งเกี่ยวหรือไม่เปิดรับกับสิ่งเหล่านี้เลย และต้องพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะนำไปสู่การผิดประเวณีให้มากที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยุ่งเกี่ยวกับถุงยางอนามัย หรือการเข้าร่วมกิจกรรมใดๆที่จะนำไปสู่การกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ การเข้าร่วมกิจกรรมบายเฟรชชี่จึงเป็นต้นทางของการนำหนุ่มสาวมาทำกิจกรรมปะปนกัน และเป็นกิจกรรมที่ทำลายศาสนา ส่งเสริมการผิดประเวณี ดังความเห็นของอามีน ลอนา
ซึ่งบอกว่า “กิจกรรมการแจกถุงยางนี้เป็นกิจกรรมสถุน และเป็นวิธีแก้ปัญหาของพวกโสเภณี”[4] หรือกรณีบทความของ อัฐพล ปริยะ ที่สรุปในตอนท้ายว่าอย่างไรเสีย “มุสลิมก็ไม่ควรจัดกิจกรรมแจกถุงยาง แต่ควรจะใช้วิธีการห้ามปรามไม่ให้มีการผิดประเวณี หรือแค่แนะนำให้รู้จักไว้บ้างว่าถุงยางคืออะไร แต่ไม่ใช่ไปแจก”[5] ดังนั้นเราจะเห็นว่า นักการศาสนาหรือนักศึกษาที่เป็นมุสลิมจำนวนมากจะมีความเห็นไปในทำนองไม่เห็นด้วยเด็ดขาดในการแจกถุงยางอนามัย แต่ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งกลับมองต่างออกไปดังนี้
มุมมองด้านอนามัยเจริญพันธุ์
จากสถิติการติดเชื้อHIVในสามจังหวัดชายแดนใต้ ในบทความของสุบิน กินคง [6] ระบุว่ามีผู้ติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 5,400 รายโดยมีทั้งในสามจังหวัดและส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม โดยปัญหาเรื่องHIV เป็นปัญหาที่มีความพยายามทำงานกันมาอย่างยาวนาน แต่เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากการไม่เปิดรับเรื่องเพศและการปฏิเสธการใช้ถุงยาง รวมไปถึงการติดเชื้อจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน กรณีเป็นผู้ใช้สารเสพติด ปัญหาเรื่องHIV นั้นทับซ้อนมากขึ้น เมื่อผู้ติดเชื้อที่เป็นมุสลิมไม่กล้าบอกคนในชุมชนหรือเข้ารับการรักษา เพราะไม่ต้องการให้คนรู้ว่าตนทำผิดหลักการศาสนา ดังนั้นการแพร่เชื้อจากสามีสู่ภรรยา หรือจากชายสู่ชาย จึงควบคุมได้ยากยิ่งขึ้น ยังไม่นับเรื่องปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมทั้งในกลุ่มแม่วัยรุ่นหรือกลุ่มผู้หญิงที่แต่งงานแล้วก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้เพิ่งมีข่าวเด็กทารกแรกคลอดถูกทิ้งไว้ที่ปั๊มน้ำมันที่จังหวัดปัตตานี[7] หรือเมื่อสามปีก่อนก็มีข่าวศพทารกถูกทิ้งที่กองขยะ[8]
บทความของคำหอม จินตนา ที่เขียนถึงวิถีชีวิตของวัยรุ่น กรณีศึกษากลุ่มวัยรุ่นมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ (ปัตตานีและยะลา)[9] ก็สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดกรณีการมีเพศสัมพันธ์ของเด็กวัยรุ่นจนนำไปสู่การตั้งครรภ์ไม่พร้อม การทำแท้ง และHIV ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จึงนำมาสู่ความพยายามของหลายฝ่ายที่จะแก้ไขและลดจำนวนตัวเลขตามสถิติต่างๆ ด้วยการณรงค์การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เช่น การแจกถุงยางอนามัย การจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยหรือการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หรือกระทั่งการดูแลสภาวะทางเพศที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักสาธารณสุข
หากเราพิจารณาถึงมุมมองทั้งสองด้าน อาจจะดูเหมือนเป็นขั้วตรงข้ามกัน แต่ใช่หรือไม่ว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็พยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาของสังคมในปัจจุบัน เพียงแต่อาจจะมีวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป และเป็นการมองปัญหาในคนละระดับ ฝ่ายหนึ่งนั้นมองว่าการป้องกันด้วยการห้ามซะตั้งแต่ต้นเป็นหนทางที่ดีที่สุด แต่อีกฝ่ายหนึ่งนั้นมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น หากพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาเรื่องเพศที่ถูกซุกอยู่ใต้พรม ผู้เขียนเห็นว่า ผู้ที่ใช้หลักการทางศาสนามาขัดเกลาและปกป้องคนในชุมชนให้ห่างไกลจากบาปใหญ่ ก็สามารถปฏิบัติตามความเชื่อของตนเองได้ ด้วยการอบรมสั่งสอนบุตรของตนเอง เผยแพร่ความรู้ทางศาสนาเกี่ยวกับการป้องกันการทำผิดประเวณีในวิธีการต่างๆ แต่จำเป็นหรือไม่ที่ต้องต่อต้านการปฏิบัติในแบบอื่นๆ หรือถึงขั้นประณามและใช้ถ้อยคำโจมตีผู้ที่ทำงานในอีกด้านด้วยถ้อยคำรุนแรง รวมไปถึงข้อกล่าวหาต่างๆเช่น
เป็นกิจกรรมที่ทำลายศาสนา หรือเป็นกิจกรรมของมารศาสนา เป็นต้น เพราะข้อเท็จจริงซึ่งนักการศาสนาหรือคนในชุมชนมุสลิมอาจจะต้องหันมาทบทวนและยอมรับ คือมีมุสลิมจำนวนมากที่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักการทางศาสนาเหล่านั้นได้ จนนำมาสู่ปัญหาดังกล่าว และสังคมหรือชุมชนมุสลิมจะปล่อยให้ปัญหานี้สะสมไว้โดยไม่หาทางแก้ไขหรือป้องกันในรูปแบบอื่นๆ ก็ดูจะเป็นการปฏิเสธข้อเท็จจริงทางสังคมและเพิกเฉยกับปัญหาหรือไม่
ส่วนกลุ่มที่ทำงานด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจกับหลักการทางศาสนา คนทำงานอาจจะต้องพิจารณาให้มากยิ่งขึ้น หากจะดำเนินกิจกรรมสนับสนุนการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ จะทำอย่างไรให้เกิดความสบายใจกับอีกฝ่าย เป็นสิ่งที่ควรจะหาข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้กิจกรรมดำเนินต่อไปได้ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย
นอกเหนือไปจากข้อเถียงจากทั้งสองมุมมองแล้ว ผลจากการจุดประเด็นเรื่องการแจกถุงยางครั้งนี้ ยังนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรื่องของความเป็นพหุวัฒนธรรม ความหลากหลายทางเพศ และความเป็นคนนอกคนในทั้งทางพื้นที่และทางศาสนาอีกด้วย จากการสังเกตข้อถกเถียงตลอดสองวันก่อนที่กระทู้จะหายไป ผู้เขียนพบว่ามีนักศึกษาจากนอกพื้นที่ที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนจำนวนมาก หลายคนพูดถึงความคับข้องใจในการไม่สามารถเปิดรับความแตกต่างระหว่างคนนอกศาสนาได้ เช่น ข้อเถียงเถียงของนักศึกษามุสลิมคนหนึ่ง ได้กล่าวว่า ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีนักศึกษามุสลิมมากกว่า50% และในสามจังหวัดก็มีประชากรมุสลิม มากกว่า 80% ดังนั้นกิจกรรมใดๆที่ขัดกับหลักการของศาสนาอิสลามก็ไม่สามารถทำได้ทั้งนั้น
การกล่าวเช่นนี้จึงเป็นการส่งผลเสียต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นอย่างมาก เพราะแม้ว่าประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมมากกว่าก็ตาม แต่ประชากรที่อยู่ในพื้นที่ก็มีสิทธิที่จะดำรงชีวิตและมีวิถีชีวิตตามหลักศาสนาหรือหลักปฏิบัติของตนได้เช่นกัน เพราะถ้าใช้ความเป็นคนส่วนใหญ่กล่าวอ้างเช่นนี้แล้ว คนมุสลิมในประเทศไทยจะไม่สามารถปฏิบัติศาสนากิจหรือมีวิถีชีวิตของตนเองได้เลย เพราะประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยไม่ใช่มุสลิม ดังกรณีหลายๆกรณีที่เกิดขึ้น เช่น การต่อต้านนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่จังหวัดเชียงใหม่ การต่อต้านการสร้างมัสยิดที่น่านและจังหวัดอื่นๆทางภาคอีสาน ดังนั้นการกล่าวอ้างความเป็นคนส่วนใหญ่เพื่อห้ามไม่ให้คนส่วนน้อยทำหรือไม่กระทำการใดๆ จึงเป็นหลักการที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ แต่ควรแสวงหาหนทางในการอยู่ร่วมกัน โดยที่ทุกฝ่ายสามารถรักษาอัตลักษณ์ของตนเองหรือปฏิบัติตามหลักการทางศาสนาและวิถีชีวิตของตนเองได้
นอกจากประเด็นเรื่องความเป็นคนนอกคนในพื้นที่เองแล้ว แม้กระทั่งในกลุ่มคนมุสลิมด้วยกันเองก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันในกรณีการแจกถุงยาง มุสลิมจำนวนมากเห็นด้วยกับการแจกถุงยาง ในขณะที่มุสลิมอีกกลุ่มต่อต้านอย่างแข็งขัน ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นเนื้อเดียวกันของชุมชนมุสลิมเอง ดังนั้นข้อโต้แย้งที่อ้างถึงคนมุสลิมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมแจกถุงยาง จึงอาจเป็นแค่การกล่าวอ้างโดยปราศจากตัวเลขที่แท้จริงจากจำนวนประชากรมุสลิมทั้งหมดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี และยังสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่มุสลิมทุกคนที่ปฏิเสธเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนที่เคร่งครัดในหลักการศาสนาอิสลามก็ตาม แต่ยังให้ความสำคัญกับการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาสังคมด้วยวิธีการอื่นๆนอกเหนือไปจากศาสนาด้วย
ดังนั้นข้อเสนอของผู้เขียนต่อกรณีนี้คือ คนในชุมชนจะต้องร่วมกันหาทางออกต่อปัญหาเรื่องเอชไอวี ท้องไม่พร้อม การทำแท้งไม่ปลอดภัย เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วและมีอยู่จริง โดยก่อนอื่นฝ่ายที่ออกมาต่อต้านต้องเริ่มจากการหยุดตีตรา หยุดการโจมตีโดยใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชังต่อกลุ่มที่ทำงานด้านอนามัยเจริญพันธุ์ โดยอาจหันกลับไปพิจารณาบทบาทในการแผนแพร่คำสอนทางศาสนาที่ปราศจากอคติและการตีตรา การพิพากษา ต่อกลุ่มคนที่กระทำผิดหลักศาสนา รวมไปถึงให้คำปรึกษาต่อกลุ่มที่อยู่ในวัยเรียนรู้เรื่องเพศอย่างเปิดกว้างด้วย
ในขณะที่กลุ่มคนที่ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเอชไอวี ท้องไม่พร้อม ก็ต้องสื่อสารกับฝ่ายที่มีความกังวลใจทางด้านศาสนาให้มากขึ้น โดยอาจเริ่มจากการทำงานสร้างความเข้าใจกับผู้นำศาสนาหรือผู้นำชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจด้านอนามัยเจริญพันธุ์ให้มากขึ้น รวมไปถึงค้นหาคำอธิบายทางศาสนาจากผู้รู้ที่สนับสนุนการทำงานด้านอนามัยเจริญพันธุ์ในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความสบายใจกับคนในชุมชนและสามารถนำคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับการทำงานด้านอนามัยเจริญพันธุ์โดยผสมผสานกับมุมมองทางศาสนาได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมกับชุมชน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาในสังคมต่อไป
[1] ชานันท์ ยอดหงษ์, “ถุงยาง มุสลิม และอดีตรัฐปาตานี,” The Matter, 26 เมษายน 2560, เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2560, https://thematter.co/thinkers/condom-muslim-and-patani/22666.
[2] Mtoday, “สมาคมรุ้งสีฟ้า ตัวการแจกถุงยางให้เยาวชนสามจังหวัด แกนนำสวนกลับดราม่า,” Mtoday, 15 กุมภาพันธ์ 2560, เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2560, http://www.mtoday.co.th/5499.
[3] Sitthichai, Alif, Facebook Post, 23 เมษายน 2560 (11.42 น.) เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2560, https://www.facebook.com/groups/StudentPSUpattani/permalink/1365124386858422/.
[4] อามีน ลอนา, Facebook Post, 23 เมษายน 2560 (18.17น.), เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2560, https://www.facebook.com/lovesahabah.ahlulbayte/posts/1427774980618163.
[5] อัฐพล ปริยะ, “บายเฟรชชี่ในถุงยางกับการครอบงมปัญหาเรื่องเพศ,” loveisphilosophy, 23 เมษายน 2560, เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2560, http://yeed1995.blogspot.com/2017/04/blog-post_23.html.
[6] สุบิน กินคง, “มุมมองHIVกับชุมชนมุสลิม,” Pataniforum, 26 สิงหาคม 2559, เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2560, http://www.pataniforum.com/single.php?id=605.
[7]Mtoday “เด็กทารกแรกเกิดถูกทิ้งที่ปั๊มน้ำมัน,” Mtoday, 21 มีนาคม 2560, เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษถาคม 2560, http://www.mtoday.co.th/7699.
[8] ASTVผู้จัดการออนไลน์ “แม่ใจยักษ์ ฆ่าทารกแรกเกิดก่อนนำศพทิ้งกองขยะที่ปัตตานี, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 1 สิงหาคม 2557, เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2560, http://www.manager.co.th/south/viewnews.aspx?NewsID=9570000087255.
[9] คำหอม จินตนา, “เมื่อวัยรุ่นยะลา-ปัตตานี กำลังเผชิญปัญหามีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัย,” Teenpath, 16 สิงหาคม 2552, เข้าถึงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2560, http://www.teenpath.net/content.asp?ID=727.