Skip to main content

 

บทรีวิวภาพยนตร์สั้นโครงการทักษะวัฒนธรรม

โดย ดาราณี ทองศิริ ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู Buku Classroom

*มีการเปิดเผยบางส่วนของเนื้อหาในภาพยนตร์

 

อาจเพราะเหตุการณ์วางระเบิดที่บิ๊กซีปัตตานีเพิ่งผ่านไปไม่กี่วัน ทำให้บรรยากาศของสามจังหวัดชายแดนใต้นั้นเต็มไปด้วยความเศร้าและหดหู่ รวมถึงสภาวะอารมณ์ของผู้เขียนเองด้วยที่ยังคงรู้สึกเศร้า แต่ก็ตัดสินใจขับรถจากปัตตานีไปยะลาเพื่อที่จะเข้าชมหนังสั้นทั้งสิบเรื่องในโครงการทักษะวัฒนธรรม ขัดกันฉันมิตร ที่มาเดินสายจัดฉายที่ยะลาและปัตตานีวันที่ 13และ14พฤษภาคมนี้

ก่อนดูหนัง ผู้เขียนพอจะทราบข้อมูลคร่าวๆว่าเป็นหนังสั้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนใต้ โดยเน้นไปที่การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิต หนังทำโดยเยาวชนอายุไม่เกิน 24 ปี และหลายชิ้นเป็นงานของมือใหม่ที่เพิ่งเคยหัดทำหนังสั้น โดยได้รับการอบรมฝึกฝนจากโครงการจนกระทั่งกลายเป็นหนังทั้งสิบเรื่อง

ผู้เขียนไปถึงงานเมื่อหนังเรื่องที่สองเริ่มฉายไปแล้ว และนั่งดูจนจบเรื่องสุดท้าย ตลอดเวลาที่นั่งดูหนังทั้งสิบเรื่อง รู้สึกเหมือนกำลังดูการฉายภาพชีวิตจริงของผู้คนที่นี่เรื่องแล้วเรื่องเล่า แต่ละเรื่องเมื่อรวมกันแล้วดูเหมือนถูกร้อยเรียงเข้าด้วยกันอย่างไม่ได้ตั้งใจ หนังสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงหลายอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันท่ามกลางความต่าง ทั้งทางศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม ภาษา และบางเรื่องสะท้อนสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดที่กำลังเกิดขึ้นและดำเนินอยู่มาร่วมสิบสามปี โดยมีผู้คนจำนวนมากที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยไม่เลือกชาติพันธุ์ หรือศาสนา

หนังสั้นเรื่องที่ผู้เขียนประทับใจมากที่สุดคือเรื่อง The Final Lunch หนังเล่าเรื่องเด็กนักเรียนต่างศาสนาที่ต้องใช้ช้อนร่วมกันในโรงอาหาร และมีกฎว่าห้ามนำช้อนของโรงเรียนไปใช้กับอาหารที่มีหมู แต่ความขัดแย้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งนำช้อนไปใช้กับอาหารที่มีหมู ทำให้เพื่อนนักเรียนมุสลิมไม่พอใจ และเพื่อนคนอื่นๆในโรงเรียนก็พากันล้อเลียน จนนำไปสู่การถูกคุณครูเรียกพบและถูกลงโทษ

หนังเรื่องนี้ดูเผินๆเหมือนจะเป็นหนังที่ว่าด้วยการทะเลาะกันของเด็ก ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เอาเข้าจริงแล้วเรื่องที่คนจำนวนมากมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยกลับเป็นเรื่องที่ใหญ่มากสำหรับมุสลิมในสามจังหวัด และมันได้ก่อให้เกิดความบาดหมางระหว่างกันจนถึงขั้นสามารถเป็นเรื่องที่ฝังใจไปจนโต ในเรื่อง The Final Lunch ตัวละครที่นำช้อนไปใช้ส่วนตัวนั้น ถูกคุณครูเรียกพบและโดนลงโทษ หนังไม่ได้บอกว่าโดนลงโทษอย่างไร และฉากสุดท้ายที่เด็กผู้หญิงมุสลิมวิ่งเข้ามาในเฟรมแล้วตัดจบ ก็ถูกโยนให้ผู้ชมเป็นคนตีความเอง หนังเรื่องนี้สะท้อนสภาพความเป็นจริงว่า ในวิถีประจำวันนั้น เรื่องบางเรื่องที่เป็นประเด็นหลักการทางศาสนา อาจมีผลให้เกิดความขัดแย้งในระดับใหญ่ได้ง่ายๆ มันคงจะดีกว่านี้ถ้าเด็กผู้หญิงในเรื่องไม่ถูกลงโทษ แต่คุณครูและเพื่อนทุกคนให้อภัย และหาทางแก้ไขปัญหาการนำช้อนไปใช้ส่วนตัวด้วยวิธีอื่น แต่ดูเหมือนหนังไม่เปิดโอกาสให้สังคมได้ร่วมกันหาทางออกอื่น นอกจากการลงโทษจากคุณครูผู้มีอำนาจในการชี้ถูกผิด

นอกจากเรื่อง The Final Lunch ที่พูดเรื่องปัญหาความขัดแย้งอันเกิดจากหลักการทางศาสนาแล้ว มีหนังอีกหลายเรื่องที่พูดถึงประเด็นหลักการศาสนา เช่น เรื่องการไม่สัมผัสสุนัข ที่ปรากฏอยู่ในหนังเรื่อง Aunnis และเรื่อง Opinions or Facts ซึ่งในช่วงเสวนาหลังการฉายหนัง ซะการียา อมตยา วิทยากรที่ร่วมเสวนา ได้เล่าถึงหลักปฏิบัติต่อสุนัขตามหลักการอิสลามที่คนมุสลิมหลายคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการสัมผัสหรือเลี้ยงสุนัขว่าไม่สามารถกระทำได้

นอกเหนือไปจากหนังที่พูดเรื่องความขัดแย้งอันเกิดจากวิถีปฏิบัติตามหลักการศาสนาแล้ว หนังส่วนใหญ่โฟกัสไปที่ประเด็นสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ เรื่องที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ อย่าง Judgement เป็นหนังที่เล่าเรื่องได้น่าสนใจและนักแสดงที่เล่นเป็น ชารีฟ ก็สวมบทบาทได้ดี ประโยคสำคัญในหนังเรื่องนี้ ที่พูดว่า “พกระเบิดมาด้วยหรือเปล่า” เป็นประโยคที่เกิดขึ้นจริง และผู้เขียนมักได้ยินการพูดแซวทำนองนี้อยู่เสมอ เวลาบอกใครต่อใครว่ามาจากที่ไหน คำพูดเล่นที่คนนอกพื้นที่ไม่ได้คิดอะไร หากแต่มันส่งผลสะเทือนอารมณ์ต่อคนที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความไม่สงบ และบางคนที่ถูกแซวเล่นเช่นนั้น อาจเป็นผู้ที่เคยสูญเสียครอบครัวจากเหตุการณ์ระเบิดก็เป็นได้

จากหนังสั้นสิบเรื่อง แม้ว่าหนังเรื่อง Judgment จะได้ชนะโหวตไป แต่ผู้เขียนกลับชอบหนังสั้นเรื่อง Day after day มากกว่า หนังเล่าเรื่องของพ่อผู้สูญเสียความทรงจำ และสูญเสียลูกชายในเหตุการณ์ที่ผู้เขียนเดาเอาเองว่าน่าจะเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ แม้ตัวหนังจะไม่ได้เล่าว่าก่อนหน้าที่ผู้เป็นพ่อจะความจำเสื่อมนั้น เกิดอะไรขึ้นกับลูกชายของเขา แต่จากบทสนทนาระหว่างภรรยาและหญิงสาวมุสลิมในเรื่องก็พอเดาได้เช่นนั้น สภาวะของผู้คนที่ต้องสูญเสียครอบครัวจากเหตุการณ์ความไม่สงบนั้นในความเป็นจริงมีหลายรูปแบบ อาการทรอม่าหลังผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงนั้นเป็นปัญหาสำคัญของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ผู้เขียนรู้สึกร่วมไปกับหนังสั้นเรื่องนี้มาก เพราะในประสบการณ์ส่วนตัวเคยได้นั่งฟังคุณยายท่านหนึ่งเล่าเรื่องการสูญเสียสามีและลูกชายไปในเหตุการณ์ความไม่สงบ สภาวะการเล่าเรื่องราวซ้ำไปซ้ำมาสลับกับการร้องไห้ของคุณยาย ทำให้ผู้เขียนทราบว่าคุณยายยังมีบาดแผลทางจิตใจที่ไม่สามารถเยียวยาให้หายได้ ในหนังสั้นเรื่องนี้ผู้เขียนไม่เห็นการเยียวยาตัวละครจากคนในสังคม มีเพียงภรรยาที่คอยดูแลอาการของสามี และเพื่อนบ้านที่แวะมาเยี่ยมแต่ไม่บอกความจริงกับผู้เป็นพ่อเรื่องลูกชาย มันน่าเศร้าที่ในสามจังหวัดนั้นมีความสูญเสียเกิดขึ้นมากมายเต็มไปหมด แต่การเยียวยานั้นบางครั้งก็ไปไม่ถึงและยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่มีบาดแผลทางจิตใจ ตลอดสิบสามปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้นยังมีเรื่อง Way Back Home ที่พูดถึงเหตุการณ์ในคืนระเบิด และตัวละครในเรื่องนั้นต้องขี่รถมอเตอร์ไซต์กลับบ้านในเวลากลางคืน หนังสร้างจากเรื่องจริงและเป็นสิ่งที่ผู้คนในสามจังหวัดนั้นเผชิญมานานแล้ว ทุกครั้งที่มีระเบิด คนที่อยู่ข้างนอกบ้านจะต้องรีบขับรถกลับบ้านให้เร็วที่สุด บางครั้งเราต้องใช้เส้นทางที่ใกล้กับสถานที่เกิดเหตุ และเราไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดระเบิดซ้ำอีกตรงจุดไหนของเมือง สภาวะที่เต็มไปด้วยความกลัว แต่ก็อยากกลับให้ถึงบ้าน เป็นสิ่งที่อยู่กับคนที่ใช้ชีวิตในสามจังหวัดมานาน การนั่งดูหนังเรื่องนี้จึงทำให้ผู้เขียนได้ย้อนนึกถึงประสบการณ์ชีวิตที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ระเบิดต่างๆที่เกิดขึ้นนับไม่ถ้วน นับตั้งแต่ใช้ชีวิตอยู่ที่ปัตตานีมาจนเข้าปีที่เจ็ด

หนังอีกเรื่องที่พูดถึงความกลัว คือเรื่อง Hijab หนังสั้นเรื่องนี้เป็นหนังที่สะท้อนถึงสภาวะความกลัว ความรู้สึกไม่ปลอดภัยของคนนอกพื้นที่ที่จำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่สามจังหวัดได้เป็นอย่างดี หลายครั้งที่ผู้เขียนพบว่า คนนอกพื้นที่มองสามจังหวัดว่าน่ากลัวมากจนไม่กล้าแม้จะลงมา กระทั่งคนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดที่ใกล้ปัตตานีที่สุดอย่างจังหวัดสงขลา หลายคนไม่คิดจะเดินทางเข้าพื้นที่เลย แม้จะอยู่ห่างกันแค่ร้อยกว่ากิโลเมตรก็ตาม ไม่ต้องพูดถึงคนจากกรุงเทพหรือที่อื่น  หนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะความไม่ไว้วางใจของคนที่ไม่ใช่มุสลิมซึ่งมีต่อคนมุสลิม และหนังยังฉายให้เห็นว่าถ้าอยากมีชีวิตรอด ก็จำเป็นจะต้องทำตัวให้กลมกลืนกับคนมุสลิม ซึ่งมันอาจจะสะท้อนได้ว่า ถ้าตัวละครไม่สวมฮิญาบ ก็อาจไม่มีชีวิตรอด คำถามคือ ทำไมต้องเป็นมุสลิมแล้วถึงรอด? ถ้าไม่ใช่มุสลิม อาจไม่ปลอดภัย? แปลว่าภัยอันตรายนั้นเกิดจากคนมุสลิมต้องการทำร้ายคนต่างศาสนาอย่างนั้นหรือ หนังเรื่องนี้ถูกวิพากษ์จากผู้เข้าร่วมเสวนาถึงความเหมาะสมในการให้คนนอกศาสนาสวมฮิญาบ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยหรือความหวังดีใดก็แล้วแต่

ในช่วงเสวนาหลังฉายหนัง ซะการีย์ยา อมตยา ให้ความเห็นว่าการทำเช่นนี้สำหรับเขาแล้วถือว่าเป็นความหยาบคาย ในขณะที่ รักชาติ สุวรรณ จากเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ มองว่าเป็นความปรารถนาดีที่มุสลิมมีต่อคนต่างศาสนิกและต้องการช่วยเหลือด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซะการีย์ยา ให้ความเห็นที่น่าสนใจไว้ว่า ถ้าตัวละครในเรื่องมีบทสนทนาต่อกันก่อนหน้าที่จะหยิบฮิญาบมาให้สวมถึงสองครั้ง ก็อาจจะเข้าใจได้มากกว่านี้ แต่การหยิบฮิญาบออกมาให้ผู้อื่นสวมใส่โดยไม่ได้รู้จักหรือพูดคุยกันมาก่อน เป็นสิ่งที่ไม่ควรสำหรับความคิดของเขา ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อสังเกตนี้ ในแง่ที่ว่า ตัวละครนั้นขาดบทสนทนาต่อกัน การมอบฮิญาบให้คนอื่นสวมใส่นั้นจึงดูประดักประเดิดเป็นอย่างยิ่ง แต่หนังเรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นความกลัวของผู้คนที่ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่และผู้คนในสามจังหวัดได้เป็นอย่างดี

นอกจากเรื่องประเด็นหลักการทางศาสนาและสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดแล้ว ยังมีหนังเรื่องอื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในหมวดหมู่นี้ แต่หนังเรื่องที่เหลือนั้นพูดถึงเรื่องมิตรภาพระหว่างเพื่อนต่างศาสนา ความรักความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาว และเรื่องภาษา ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ายังนำเสนอออกมาได้ไม่ลึกมากนัก น้ำหนักของเรื่องจึงไม่น่าสนใจเท่ากับเรื่องอื่นๆ ทั้งๆที่จริงๆแล้ว เรื่องภาษากับเรื่องเพศในพื้นที่สามจังหวัดนั้นมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงระยะที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางด้านการใช้ภาษามลายูระหว่างมุสลิมด้วยกันเอง หรือระหว่างภาษามลายูกับภาษาไทย ค่อนข้างเป็นประเด็นสาธารณะที่ถูกพูดถึง

ปัญหาความขัดแย้งทางภาษานั้นมีตั้งแต่ระดับในโรงเรียนไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย เด็กๆในหนังสั้นนั้นทะเลาะกันด้วยความไม่เข้าใจในภาษาท้องถิ่น แต่แทนที่ตัวละครจะช่วยอธิบายทำความเข้าใจหรือสอนให้เด็กที่ใช้ภาษาไทยเข้าใจภาษาของตน ทั้งสองฝ่ายกลับต่อว่ากันไปมา ซึ่งเหตุการณ์ในหนังนั้นก็เกิดขึ้นในชีวิตจริงโดยทั่วไป ผู้เขียนพบปัญหาการใช้ภาษาในมหาวิทยาลัยระหว่างกลุ่มนักศึกษามลายูมุสลิมและนักศึกษาที่มาจากที่อื่น หลายครั้งที่การพยายามหัดพูดภาษาถิ่นถูกทำให้กลายเป็นเรื่องตลก ถูกล้อเลียนในการพูดไม่ชัด เช่นเดียวกันกับการพูดภาษาไทยที่ไม่ชัดของนักศึกษามลายู เวลาไปพูดนอกพื้นที่ ก็ถูกหัวเราะอย่างตลกขบขัน หรือในกิจกรรมบางประเภทที่ต้องทำร่วมกัน แต่การมุ่งใช้แต่ภาษาถิ่นของตัวเอง ก็ทำให้คนที่ไม่ได้ใช้ภาษานั้นๆรู้สึกถูกกีดกันออกไปและไม่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม จนต้องออกจากกิจกรรมนั้นไป กระทั่งการทำตัวเป็นตำรวจภาษาของคนมลายูด้วยกันเองที่คอยต่อว่าคนที่ใช้ภาษามลายูไม่ได้หรือไม่ถูกต้อง ก็กลายเป็นความขัดแย้งหนึ่งที่กลายเป็นความขัดแย้งสะสมในพื้นที่

เรื่องที่ดูจะแตกต่างออกไปจากเรื่องอื่นๆคือเรื่อง True Friend ซึ่งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับมิตรภาพระหว่างเพื่อนต่างศาสนาที่มีชีวิตวัยเด็กร่วมกัน แม้ว่าช่วงเวลาที่ทั้งสองเติบโตขึ้นจะแยกย้ายกันไปใช้ชีวิตคนละวิถี แต่ความเป็นเพื่อนนั้นกลับยังคงอยู่ หนังสั้นเรื่องนี้อาจจะนำเสนอได้ไม่ลึกมาก แต่การนำเสนอที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมา ก็ทำให้ผู้เขียนพอจะนึกถึงภาพความสัมพันธ์ในวัยเด็กของผู้คนที่นี่ได้พอสมควร และผู้เขียนเชื่อว่าชีวิตจริงก็ยังมีมิตรภาพเช่นนี้อยู่ แม้ว่าในช่วงหลังๆ เด็กรุ่นใหม่ๆมักขาดโอกาสในการเรียนรู้หรืออยู่ร่วมกับเพื่อนต่างศาสนา เนื่องจากคนไทยพุทธมีการส่งลูกหลานไปเรียนที่อื่นมากขึ้น ทำให้บางโรงเรียนนั้นเป็นเด็กมุสลิมทั้งหมด เหมือนคำบอกเล่าของน้องๆเยาวชนที่มานั่งดูหนังสั้น ที่บอกเล่าว่าในโรงเรียนไม่มีเด็กนักเรียนไทยพุทธเลย ทำให้ไม่มีโอกาสได้ใช้เวลาร่วมกับคนต่างศาสนาในโรงเรียน

ผู้เขียนพบว่าหนังสั้นทั้งสิบเรื่องในโครงการนี้ เป็นภาพสะท้อนและรวมเอาปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมเอาไว้ได้อย่างหลากหลาย แต่ปัญหาหนึ่งคือ หนังบางเรื่องที่ฉายออกมาในรูปแบบที่ตลกขบขัน ทำให้ปัญหาเหล่านั้นถูกลดทอนภายในตัวเองลงไป ทั้งที่จริงๆแล้วมันคือปัญหาสำคัญของการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายที่คนในสังคมควรได้เห็น แล้วให้ความสำคัญอย่างจริงจัง มากกว่าแค่การดูให้เป็นเรื่องตลกขบขันและเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร

ในหนังทั้งสิบเรื่องนี้ ผู้เขียนมองเห็นการใช้อำนาจของคนในสังคม อย่างที่อาจารย์ปริตตา ให้ความเห็นไว้หลังการเสวนา ผู้คนในหนังนั้นใช้อำนาจในการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นคุณครูในโรงเรียน คุณแม่ของเด็กมุสลิม คุณแม่ของเด็กผู้หญิง จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่การใช้อำนาจนี้แฝงอยู่ในหนัง สำหรับความคิดเห็นของผู้เขียน สิ่งที่ขาดหายไปในหนังเกือบทุกเรื่อง คือการสนทนาที่ไม่ตัดสินกัน เคารพกัน และการฟังกันอย่างลึกซึ้ง ซึ่งมันก็สะท้อนสภาวะที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ผู้เขียนคิดว่าเราฟังกันน้อยเกินไป และขาดบทสนทนาระหว่างกัน  ความขัดแย้งที่ดูน่าจะแก้ได้จึงไม่เคยถูกให้ความสำคัญ ไล่ตั้งแต่เรื่องอาหาร ภาษา ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆอย่างเรื่องศาสนาและอื่นๆ เราคุ้นชินกับการใช้อำนาจและการตัดสินพิพากษา รุมประณาม มากกว่าจะไถ่ถามกันอย่างรับฟังความแตกต่างและเปิดกว้าง

ผู้เขียนรู้สึกขอบคุณเยาวชนทุกคนที่ใช้ความสามารถและทักษะในการทำหนังทั้งสิบเรื่องออกมา รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการนี้ทั้งหมด หนังสิบเรื่องนี้จะช่วยอธิบายรายละเอียดของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสามจังหวัดได้ในระดับหนึ่ง แม้อาจไม่ได้นำเสนอทางออกหรือการแก้ปัญหาที่น่าสนใจไว้ แต่การทำให้คนนอกพื้นที่ได้มองเห็นปัญหาที่เป็นอยู่ในสามจังหวัดก็น่าจะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งที่สำคัญในการทำความเข้าใจปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดได้พอสมควร และน่าจะทำให้คนบางกลุ่มหันมาสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้มากขึ้น อย่างน้อยๆเรื่องการล้อเลียนเกี่ยวกับระเบิด ก็น่าจะช่วยทำให้ใครหลายคนเลิกทักทายกันด้วยประโยคเหล่านั้นเสียที เพราะก่อนที่จะถามว่าพกระเบิดมาด้วยหรือไม่ เขาอาจจะฉุกคิดขึ้นได้ว่า บางทีคนที่เขากำลังจะพูดล้อเล่นนั้น อาจเป็นคนที่สูญเสียคนในครอบครัวจากเหตุการณ์ระเบิดไปก็เป็นได้

สุดท้ายนี้ผู้เขียนมีความคาดหวังว่าโครงการนี้น่าจะมีภาคต่อ และอาจจะให้โจทย์เยาวชนใหม่ว่า เราจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร เราจะเยียวยาผู้สูญเสียที่มีสภาวะความจำเสื่อมจากการสูญเสียคนในครอบครัวได้อย่างไร เราจะเลิกล้อเลียนกันเรื่องสำเนียงภาษาได้อย่างไร เราจะเลิกตัดสินกันและกันเพียงเพราะเขาเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมได้อย่างไร ตรงนี้คือโจทย์ที่ผู้เขียนหวังว่าเราอาจจะได้เห็นการนำเสนอผ่านหนังสั้นของเยาวชนที่มีความคิดสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต

 

ขอบคุณภาพประกอบจากเพจ Cf.Shortfilm

บล็อกของ (Buku Classroom)

(Buku Classroom)
ไม่ได้มาเขียนบล็อกที่นี่เกี่ยวกับการเรียนเจนเดอร์ที่อินเดียน่าจะเกินหนึ่งปี เนื่องจากผู้เขียนใกล้จะเรียนจบแล้วเลยอยากเล่าประสบการณ์การเรียนที่ผ่านมา เผื่อเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจมาเรียนต่อด้านเพศสถานะศึกษาที่นี่ 
(Buku Classroom)
โดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้ง ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน (Buku Classroom) นศ.ปริญญาโท สาขาเพศภาวะ วัฒนธรรม และการพัฒนาศึกษา มหาวิทยาลัยปูเน่ อินเดีย  
(Buku Classroom)
 บทรีวิวภาพยนตร์สั้นโครงการทักษะวัฒนธรรมโดย ดาราณี ทองศิริ ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู Buku Classroom*มีการเปิดเผยบางส่วนของเนื้อหาในภาพยนตร์ 
(Buku Classroom)
ดาราณี ทองศิริห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคูข้อพิพาทกรณีการแจกถุงยางอนามัยในสามจังหวัดชายแดนใต้/ปาตานี
(Buku Classroom)
ฟุตบอล เพื่อสันติภาพและความเท่าเทียม(2)การทำงานเพื่อมนุษยธรรมและความเป็นธรรมทางสังคมด้วยฟุตบอลโดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู (Buku Classroom) 
(Buku Classroom)
จดหมายถึง ไผ่ ดาวดิน  
(Buku Classroom)
ฟุตบอลเพื่อสันติภาพและความเท่าเทียม (1)จุดเริ่มต้นของ Buku Football Club โดย ดาราณี ทองศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู  (ฺBuku Classroom) 
(Buku Classroom)
"ห้องเรียนเพศวิถี" สอนอะไร?โดย อันธิฌา แสงชัย อาจาร