Skip to main content

เพลงต่อเพลง ถูกเล่น ถูกร้อง ถูกเล่า ถูกถ่ายทอดออกมาล้วนมีที่มาที่ไปไม่แตกต่างจากเจตนารมณ์ของพ้อเหล่ป่าที่ทำตอนที่ยังชีวิตอยู่ เวลาผ่านไปกว่าครึ่งชั่วโมง อาจารย์ลีซะกับพี่นนท์ก็โยนเวทีมาให้ผม ขณะที่ผมกำลังอยู่ในอาการสับสนเพราะไม่รู้จะเล่นเพลงอะไรดี สิ่งที่เตรียมเล่นเตรียมพูดในขณะที่เดินทาง เล่นไม่ได้พูดไม่ได้ มันเป็นประเด็นเปราะบางสำหรับพื้นที่นี้ งานนี้อีกครั้งหนึ่ง!

ผมกระซิบบอกกับพี่นนท์และอาจารย์ลีซะให้อยู่เล่นกับผมต่อ เพราะช่วงขณะนั้นผมนึกอะไรไม่ออก เพลงแรกผมจึงขอร้องเพลง “พ้อเหล่ป่า” ร่วมกับพี่นนท์และอาจารย์ลีซะอีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสได้เล่นกับนักดนตรีผู้บอกเล่าเรื่องราวชนเผ่ารุ่นบุกเบิกสองคนนี้ ผมรู้สึกดีมากจนลืมเรื่องราวเพลงต้องห้ามที่เกิดขึ้น

ถนนหน้าบ้านมีเยาวชนมานั่งฟังเพลงกันหลายคน จึงเป็นโอกาสดีที่จะแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นการขับเคลื่อนวัฒนธรรมของชนเผ่าร่วมกัน ร้องธาปลือไม่ได้ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็มีเวทีในการสื่อสารกับเยาวชน หน่อใหม่ของชนเผ่า

“ประกาศให้ทุกคนทราบ เด็กที่มาเข้าค่ายทุกคนให้กลับไปนอน เพราะพรุ่งนี้ต้องลุกขึ้นมาทำกิจกรรมแต่เช้า ให้กลับไปนอนเดี๋ยวนี้” เสียงจากผู้นำในการจัดค่าย ผมจึงรู้ว่าที่เด็กมากันหลายคนก็เพราะมาเข้าค่ายจริยธรรมในชุมชนนี่เอง

หลังจาก อาจารย์ลีซะขอตัวจากเวทีก่อนเพราะพรุ่งนี้มีภารกิจในการจัดค่ายอบรมจริยธรรมให้เยาวชน แต่พี่นนท์ยังคงอยู่บนเวทีกับผม กระทั่งผู้ฟังเริ่มยอมแพ้เรา เวทีจึงถูกพักเพื่อคืนพรุ่งนี้ต่อ

กลับมาที่พักซึ่งถูกเตรียมไว้ให้แล้ว แต่เหมือนความง่วงยังไม่มาใกล้เรา ข้างเตาไฟที่มีฟืนทำหน้าที่ให้แสงและไออุ่นพอสำหรับวงสนทนาเล็กๆ ท่ามกลางความเงียบ ใต้แสงเดือนดาว

“ผมว่างานนี้เป็นโอกาสดีที่มีการจัดค่ายจริยธรรมสำหรับเด็ก และได้จังหวะที่มีงานศพในชุมชน จริงๆน่าจะให้เด็กมาเรียนรู้จากงานศพด้วยเพราะมันเป็นวิถีของชุมชนเด็กจะได้ซึมซาบความเป็นชุมชนด้วย ไม่ควรไปกีดกัน” เพื่อนร่วมวงสนทนาคนหนึ่งแสดงความคิดเห็น

“ใช่ พี่อยากให้เด็กได้มีโอกาสรู้ว่า พาตี่ (พ้อเหล่ป่า) เป็นใคร? ได้ทำอะไรไว้บ้าง? ได้พูดอะไรไว้บ้าง? และคนอื่นๆหมายถึงคนภายนอกคิดกับคนชนเผ่าผ่านงานของพ้อเหล่ป่าอย่างไรบ้าง? อยากให้เด็กได้ภูมิใจในเผ่าพันธุ์และอยากลุกขึ้นมาทำอะไรต่อเพื่อชนเผ่า เสียดายที่รีบให้เด็กๆไปนอนเร็วเกินไป” สมาชิกวงสนทนาอีกคนกล่าวเสริม

คืนสุดท้ายของพ้อเหล่ป่าในร้านขายของชำที่รับแขกของพ้อเหล่ป่า ลูกสาวคนสุดท้องและสามีร้องเพลงถึงพ่อ พ้อเหล่ป่า

“ขอบคุณที่พ่อได้สร้าง ได้เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ได้พร่ำสอนจนรู้ความ ไม่ขอบคุณอยู่ไม่ได้ ไม่พูดถึงอยู่ไม่สุข ขอพระเป็นเจ้าบนสวรรค์รับพ่อไปอยู่ด้วย” เพลงภาษาปกาเกอะญอจากลูกสาว

จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของพี่นนท์กับผม
“พี่นนท์ครับ ผมอยากร้องเพลง พ้อเหล่ป่า หลายๆรอบในคืนนี้ ให้มันติดหูชาวบ้าน ให้มันดังทั่วดอยในคืนสุดท้ายของพ้อเหล่ป่า” ผมบอกพี่นนท์

“ดีๆๆ เอาซัก สามรอบดีมั๊ย??” พี่นนท์ถาม
“ไม่คับ อย่างน้อยเก้ารอบ!” ผมตอบพี่นนท์
“เออ..นะ เอาให้จำกันไปเลย เฮอๆๆ น่าสนใจๆ” พี่นนท์ตอบพร้อมมือเริ่มกรีดสายกีตาร์ เสียงเพลงพ้อเหล่ป่าดังขึ้นเป็นครั้งแรกในคืนสุดท้าย เพลงผมเพลงพี่นนท์สลับกันไป เอาเพลงอาจารย์ลีซะมาร้องบ้างเนื่องจากท่านติดงานค่ายเยาวชน จึงไม่สามารถมาร่วมงานได้ในคืนสุดท้าย

เพลงพ้อเหล่ป่าดังอีกเป็นครั้งที่สอง เพลงอื่นสลับเข้ามาสามสีเพลง และเพลงพ้อเหล่ป่าดังขึ้นอีกเป็นรอบที่สาม สี่...จนรอบที่เก้า เราจึงบอกลาเวที

รุ่งเช้าขบวนชาวบ้านได้เคลื่อนศพพ้อเหล่ป่าสู่ป่าความเชื่อ ป่าแห่งคนตาย เป็นแดนคืนร่างสู่ธรรมชาติ ในขณะที่โลงศพถูกจ่อบนหลุม บทกวีพ้อเหล่ป่าดังขึ้นท่ามกลางฝูงชน

“เมื่อฉันจำความได้ ฉันเที่ยวเล่นกับพวกเพื่อนๆ แม่เป็นคนทอเสื้อให้ฉันใส่ ฉันดีใจมาก ฉันสวมเสื้อตัวนั้นแล้วเดินนำหน้าคนอื่น เวลานั้นฉันรู้สึกว่า ใบหน้าของตัวเองเต็มอิ่มไปด้วยความร่าเริง..........................................................................................................................................................................ฉันไม่รู้หรอกว่า ความสะดวกสบายที่เราได้รับจะนำความสุขหรือความทุกข์มาให้คนภูเขา” ชายเสื้อดำร่ายบทกวีของพ้อเหล่ป่า คนร่วมไว้อาลัยต่างนิ่งเงียบฟังถ้อยคำกวีนั้นราวกับว่าไม่เคยได้ยินมาก่อน

บทกวีนั้นจบเพลงเตหน่ากูเริ่มขึ้น
“นกเขาขันที่ระเบียงบ้าน                          หากลมไม่พัด ใบไม้ไม่ไหว
มันเคยปรากฏมันเคยเกิดขึ้น                   ผู้เฒ่าจึงบอกกล่าว

นกน้อยแม่เจ้าคอยอยู่ที่รัง                       หากเจ้าบินกลับคืนสู่รัง
อย่าไปทาง ดูลอหร่า(นรก)                      จงกลับไปทาง ดูเตอวอ (สวรรค์)
มีทั้งหมกเขียด ลาปปลา                         มีทั้งส้มโอ มีทั้งเขียวหวานไว้รอรับเจ้า”

มีความตั้งใจเอาคำหรือเนื้อของเพลงธาปลือมา แต่ผมเปลี่ยนทำนองและผมไม่ร้องท่อนโย แปลก!!ไม่มีใครใส่ใจในเนื้อหา ต่างนิ่งจ้องดูนิ้วที่ดีดเตหน่ากูฟังทำนองเพลงที่ไม่เคยผ่านหูอย่างสงบ โดยไม่มีใครรู้สึกเหมือนเป็นธาปลือ หรือ เพลงศพ จึงรอดพ้นจากการถูกห้าม แต่ถึงจะห้ามก็ห้ามไม่นานแน่ เมื่อเพลงมันทำหน้าที่ของมันไปแล้ว

“เอาจนได้นะ ไอ้หลานชาย” พ่อเฒ่าคนเดิมที่เจอกันก่อนไปทานข้าวในคืนที่ผมมาถึง มาทักผมหลังจบเพลงกลางป่าช้าและยิ้มบางๆ แต่ใบหน้าปรากฏภาพความพึงพอใจออกมาชัดเจน ผมยิ้มแทนคำตอบเพราะผมรู้ว่าเมื่อการสนทนาถูกสานต่อ เรื่องบทเพลงต้องห้ามที่ผมร้องเมื่อครู่จะถูกเปิดเผย เขาคงรู้ว่าผมคิดอะไร เขายิ้มตอบพร้อมกับตบหลังผมเบาๆ

เมื่อพิธีทางศาสนาคริสต์จบ โลงศพพ้อเหล่ป่าถูกหย่อนลง ทันใดนั้นหลุมดินอ้าแขนรับร่างไร้วิญญาณนั้นกลับมาเป็นเนื้อเดียวกับผืนดิน เติมให้ผืนดินเต็มอีกครั้ง เสียงต้นไม้ทั้งป่าต่างตะโกนร้อง “ต่า เต๊ะ โดะ ฮ่อ โข่”
 

บล็อกของ ชิ สุวิชาน

ชิ สุวิชาน
สิบกว่าปีผ่านไป ภายในบ้านของครูดอยผู้ช้ำใจจากการนำดนตรีปกาเกอะญอไปเล่นในโบสถ์ เขารู้สึกดีใจมากที่ลูกชายของเขามาขอเรียนดนตรีพื้นบ้านของคนปกาเกอะญอ ทั้งๆที่เด็กรุ่นราวคราวเดียวกันต่างมุ่งหน้าเดินตามดนตรีตามกระแสนิยมกันหมดแล้ว นี่เป็นสิ่งที่เขาเฝ้าคอยและหวังมาโดยตลอดที่จะมีคนมาสืบทอดลายเพลงของชนเผ่า ไม่ว่าจะเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขแท้ๆ ของเขาหรือคนอื่นที่เป็นคนชนเผ่าเดียวกันก็ตาม ทำให้ฝันของเขาเริ่มเป็นจริงว่าทางเพลงแห่งวัฒนธรรมปกาเกอะญอจะไม่สิ้นสุดในยุคของเขา แต่เขารู้สึกตกใจ เมื่อลูกชายบอกเขาว่า จะนำเตหน่ากู ไปเล่นในคืนคริสตมาสปีนี้ที่โบสถ์ในชุมชน “ลูกแน่ใจนะ ว่าจะเล่นในโบสถ์”…
ชิ สุวิชาน
ในขณะที่อีกฝากหนึ่งของชุมชนปกาเกอะญอที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์แล้ว บทเพลง ธา ทุกหมวด กลายเป็นบทเพลงที่ถูกลืมเลือน ถูกทิ้งร้างจนเหมือนกลายเป็นบทเพลงแห่งอดีตที่ไม่มีค่าแก่คนยุคปัจจุบัน โมะโชะหมดความหมาย เมื่อคนปกาเกอะญอเริ่มเรียนรู้การคอนดัก (Conduct) เพลงแบบในโบสถ์แบบฝรั่ง เพลงธา ไร้คุณค่า เมื่อมีเพลงนมัสการที่เอาทำนองจากโบสถ์ฝรั่งมา เครื่องดนตรีปกาเกอะญอถูกมองข้ามเมื่อมีคนดนตรีจากตะวันตก เช่น กีตาร์ กลองชุด แอคคอร์เดียน เมาท์ออร์แกน ฯลฯ เข้ามา “โด โซ โซ มี โด มี โซ ready… sing ซะหวิ” ประโยคนี้มักจะเป็นประโยคเริ่มต้นของคนที่เป็นผู้นำวงร้องประสานเสียงพูดนำก่อนร้องเพลง…
ชิ สุวิชาน
หลัง ธาหมวด แป่โป่ แปซวย แล้ว ก็จะต่อด้วย ธาหมวดโข่เส่ คะมอ ตามด้วย หมวดโดยมีเด็กชายนำการเดินวนอยู่เหมือนวันแรก  และหมวด ธาปลือลอ ได้เริ่มถูกขับขานต่อจาก หมวดโข่ เส่ คะมอ ต่อด้วย หมวด เชอเกปลือ  หมวดฉ่อลอ หมวดแกวะเก  หมวดธาชอเต่อแล จากนั้น หมวดธาเดาะธ่อ จึงเริ่มขึ้นอีกครั้งพร้อมกับการกลับมาอย่างแน่นขนัดของหนุ่มสาวเช่นเดิม เมื่อธาเดาะธ่อหรือเริ่มต้นมาแล้ว ก็จะมีหมวดธา เดาะแฮ, หมวด ธาเดาะเหน่,หมวด ธาลอบะ ,หมวด ธา ลอกล่อ ซึ่งล้วนแต่เป็น ธา หน่อ เดอ จ๊อหรือธา หนุ่มสาว ซึ่งตั้งแต่ ธา หมวด เดาะธ่อ เป็นต้นไป ถือว่าเป็น เพลงธา ที่สามารถขับขานเป็นปกติได้ทุกโอกาส ทุกสถานที่…
ชิ สุวิชาน
เมื่อได้ยินหมวด ธา ธาชอเต่อแล หนุ่มสาวต่างขยับเข้ามาในวงเพลงธามากขึ้น เพื่อเริ่มงานของหนุ่มสาว ธาชอเต่อแลจึงเปรียบเสมือน หมวดที่เชื้อเชิญหนุ่มสาวเข้าสู่การขับขานเพื่อต่อเพลงธากัน โดยมีโมะโชะฝ่ายหญิงแลโมะโชะฝ่ายชายเป็นหัวหน้าทีมของแต่ละฝ่าย เวทีการดวลภูมิรู้เรื่องธาที่ขุนเพลงธาโปรดปรานได้เกิดขึ้นอีกครั้งในคืนงานศพ หมวดแห่งการดวลเพลงธา เริ่มที่หมวดธาเดาะธ่อ ซึ่งแปลว่า ธาเริ่มต้น ส่วนใหญ่เป็นธาที่ว่าด้วยความรัก ความสามัคคี ความร่วมไม้ร่วมมือ เพื่อให้คนที่มาร่วมงานตระหนักและสำนึกเสมอว่า เป็นคนในชุมชนเดียวกัน ชนเผ่าเดียวกัน สังคมเดียวกัน และโลกใบเดียวกัน ดังตัวอย่างธาที่ว่า   เก่อ…
ชิ สุวิชาน
หมวด ธาปลือลอ ได้เริ่มถูกขับขาน ซึ่งเป็นหมวดที่ว่าด้วย การจากไปสู่ปรโลก ซึ่งปกติแล้วก่อนที่คนจะตายมักมีลางสังหรณ์ปรากฎแก่คนใกล้ชิดหรือคนรอบข้างเสมอ นั่นหมายความว่าถึงเวลาของผู้ตายแล้ว เวลาแห่งความตายนั้นย่อมมาถึงทุกคน เพราะฉะนั้นก่อนตายควรทำความดีหรือทำคุณประโยชน์ให้เกิดแก่แผ่นดินถิ่นเกิดที่เราอาศัยอยู่ตอนมีชีวิตให้มากที่สุด เมื่อลางสังหรณ์มาถึงเราจะได้จากอย่างหมดทุกข์หมดห่วง ตัวอย่าง ธา หมวดนี้เริ่มต้นดังนี้ มี หม่อ เคลอ ฮะ เหน่ อะ เด                 มีหม่อ คอ ฮะ เหน่ อะ เด เต่อ เหม่ เคลอ ฮะ เหน่ อะเด      …
ชิ สุวิชาน
“โมะโชะมาแล้ว” ชายหนุ่มคนหนึ่งกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้น เมื่อเห็นร่างชายวัยปลายกลางคนเดินเข้ามา สายตาทุกดวงจึงมองไปที่ โมะโชะ เขาคือผู้นำในการขับขานเพลงธา เขาต้องเรียนรู้และพิสูจน์ตัวเองมาหลายปีกว่าเขาจะได้รับตำแหน่งนี้ หน้าที่รับผิดชอบสำหรับตำแหน่งนี้คือการเป็นผู้นำในการขับขานธาในพิธีกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนเช่น งานแต่ง หรืองานตาย บางชุมชนทั้งหมู่บ้านไม่มีโมะโชะเลย เวลามีงานต้องไปยืมหรือเชื้อเชิญโมะโชะจากชุมชนอื่นที่อยู่ใกล้ ว่ากันว่าชุมชนที่สมบูรณ์นอกจากต้องมีผู้นำชุมชนตามประเพณีที่เรียกว่า ฮี่โข่ ต้องมีจำนวนหลังคาในชุมชนมากกว่า 30 หลังคาเรือนแล้ว…
ชิ สุวิชาน
ช่วงเย็นหลังจากที่ทำงานในไร่ และกำลังจะนั่งกินข้าวร่วมครอบครัว “ลุงเร็ว ปู่ วาโข่ หายใจขึ้นอย่างเดียว ไม่ได้หายใจลงแล้ว” หลานชายมาวงข่าวเกี่ยวกับพือวาโข่ซึ่งเป็นพ่อของเขา เขาละจากวงทานข้าวของครอบครัว แล้ววิ่งไปหาพ่อทันที พือวาโข่ เป็นฉายาที่เด็กๆ ในหมู่บ้านและหลานๆเ รียกชื่อผู้เฒ่าผู้ชายที่อาวุโส จนผมหงอกทั้งหัว พือหมายถึงพ่อเฒ่า วาโข่หมายถึง ผมขาว หากเป็นผู้หญิงจะเรียกว่า พีวาโข่ พีแปลว่าแม่เฒ่า นั่นเอง คนรุ่นนี้จะเป็นที่รักใคร่ของลูกหลานทั้งในครอบครัวและในชุมชน เพราะถือเป็นทรัพยากรบุคคลของชุมชนทีมีค่า หากมีปัญหาเกิดขึ้นในชุมชนที่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถหาทางออกได้…
ชิ สุวิชาน
  บรรยากาศในบ้านเริ่มคึกคักมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีเสียงเตหน่าบรรเลงในบ้านไม่เว้นแต่ละคืน  บางคืนเป็นเสียงเตหน่า ลายเดิมที่ผู้เป็นพ่อเป็นคนถ่ายทอด  แต่บางคืนมีเสียงเตหน่าลายแปลกออกมาจนผู้เป็นพ่ออดไม่ได้จนต้องเงี่ยหูฟัง  นานแล้วที่เจ้าของเสียงเตหน่ากูห่างหายไปจากการร่ำเรียนวิชาจากพ่อ  แต่วันนี้เขากลับมาหาครูผู้สอนเตหน่ากูของเขาอีกครั้ง แน่นอนมันต้องมีอะไรบางอย่างสงสัยจึงต้องมา"พ่อผมจะไปล้มไม้มาทำเตหน่ากู ควรจะหาไม้อย่างไรดี" ประโยคแรกที่เขามาถามพ่อ"จริงๆ แล้วไม้อะไรก็ได้ทั้งนั้น ขอให้เป็นไม้ที่โค้งงอ แต่คนสมัยก่อนเขานิยมใช้ไม้เก่อมา หรือภาษาไทยเรียกว่าไม้ซ้อ…
ชิ สุวิชาน
มีบทธา ซึ่งเป็นบทกวีหรือสุภาษิตสองลูกสอนหลานของคนปกาเกอะญอมากมาย ที่กล่าวถึงเตหน่ากูเครื่องดนตรีดั้งเดิมของคนปกาเกอะญอ แต่ในตรงนี้จะยกมาเพียงส่วนหนึ่งเพื่อเป็นตัวอย่างเบื้องต้นของ ธา ที่กล่าวถึงเตหน่ากู 1. เตหน่า อะ ปลี เลอ จอ ชึ             เด เต่อ มึ เด ซึ เด ซึ2.เตหน่า เลอ จอ แว พอ ฮือ            เต่อ บะ จอ จึ แซ เต่อ มึ3.เตหน่า ปวา แกวะ ออ เลอ เฌอ      เด บะ เก อะ หล่อ เลอ เปลอ4.เตหน่า ปวา เจาะ เลอ เก่อ มา     …
ชิ สุวิชาน
ลูกชายหายหน้าไปจากการเรียนรู้การเล่นเตหน่ากูกับพ่อเป็นหลายสิบ จนผู้เป็นแม่ที่คอยหุงอาหารให้หมูในตอนหัวค่ำเกิดคำถามต่อผู้เป็นพ่อ “ไอ้ตัวเล็กมันเล่นเป็นแล้วเหรอ? มันถึงไม่มาฝึกเพิ่ม” แม่ถามพ่อซึ่งนั่งอยู่ตรงข้ามกะบะไฟดินในบ้าน “มันบอก มันจะฝึกเอง มันคงไปฝึกที่บ้านผู้สาวมั้ง?” พ่อตอบแม่พร้อมกับสันนิษฐานพฤติกรรมของลูกชาย “มันก็ธรรมดาแหละ วัวตัวผู้พอมันเริ่มเป็นหนุ่ม มันก็เริ่มแตกฝูงไปหาตัวเมียในฝูงอื่น ก็เหมือนพ่อตอนเป็นหนุ่มนั่นแหละ อยู่บ้านอยู่ช่องซะที่ไหน กลางค่ำกลางคืนดึกแล้วไล่กลับบ้านก็ไม่ยอมกลับ ค่ำไหนค่ำนั้น มาหาทุกคืน” แม่เปรียบเทียบให้พ่อฟัง
ชิ สุวิชาน
“วิธีการเล่นล่ะ? แตกต่างกันมั้ย?” ลูกชายถามพ่อ “ถ้าเล่นอย่างไดอย่างหนึ่งได้นะ ก็เล่นอีกอย่างได้เองแหละ ขอให้เข้าใจวิธีการตั้งสายเถอะ อย่าตั้งสายเพี้ยนละกัน” พ่อบอกและย้ำกับลูกชาย “งั้นพ่อสอนเพลงอีกซักเพลงที่เล่นแบบเมเจอร์สเกลนะ” ลูกขอวิชาจากพ่อ “เอาซิ! เดี๋ยวพ่อจะสอนเพลงพื้นบ้านง่ายๆที่ผู้เฒ่าผู้แก่ชอบร้อง ชอบเล่นกับเตหน่ากูบ่อยๆ อีกเพลง ร้องตามนะ” พ่อเริ่มร้องนำ ลูกจึงเริ่มร้องตาม
ชิ สุวิชาน
สองสามคืนผ่านไป ลูกชายไม่ได้มายุ่งกับพ่อ แต่คืนนี้ภายในบ้านไม้ไผ่ หลังคาตองตึงทรงปวาเก่อญอหลังเดิม ลูกชายถือเตหน่ากูมาอยู่ข้างพ่ออีกครั้ง “ลองฟังดูนะ ใช้ได้หรือยัง?” ลูกชายพูดจบเริ่มดีดเตหน่าและเปล่งเสียงร้องเพลงแบบไมเนอร์สเกลให้พ่อฟัง แต่ด้วยความตั้งใจมากไปหน่อยทำให้การเล่นบางครั้งมีสะดุดเป็นช่วงๆ แต่ลูกชายไม่ยอมแพ้และไม่ยอมหยุด เล่นและร้องให้พ่อซึ่งเป็นครูสอนเตหน่ากูให้เขาจนจบเพลง “ฮึ ฮึ ก็ดี เริ่มต้นได้ขนาดนี้ก็ไช้ได้” พ่อตอบเขาแบบยิ้มๆ “แล้วพ่อจะสอนอีกแบบหนึ่งได้หรือยัง?” เขามองหน้าพ่อ “อ๋อ ที่มาเล่นให้ฟังนี้ก็เพื่อให้รู้ว่าเล่นไมเนอร์ได้แล้ว จะขอเรียนแบบเมเจอร์ต่อว่างั้นเถอะ”…