Skip to main content

เพลงต่อเพลง ถูกเล่น ถูกร้อง ถูกเล่า ถูกถ่ายทอดออกมาล้วนมีที่มาที่ไปไม่แตกต่างจากเจตนารมณ์ของพ้อเหล่ป่าที่ทำตอนที่ยังชีวิตอยู่ เวลาผ่านไปกว่าครึ่งชั่วโมง อาจารย์ลีซะกับพี่นนท์ก็โยนเวทีมาให้ผม ขณะที่ผมกำลังอยู่ในอาการสับสนเพราะไม่รู้จะเล่นเพลงอะไรดี สิ่งที่เตรียมเล่นเตรียมพูดในขณะที่เดินทาง เล่นไม่ได้พูดไม่ได้ มันเป็นประเด็นเปราะบางสำหรับพื้นที่นี้ งานนี้อีกครั้งหนึ่ง!

ผมกระซิบบอกกับพี่นนท์และอาจารย์ลีซะให้อยู่เล่นกับผมต่อ เพราะช่วงขณะนั้นผมนึกอะไรไม่ออก เพลงแรกผมจึงขอร้องเพลง “พ้อเหล่ป่า” ร่วมกับพี่นนท์และอาจารย์ลีซะอีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสได้เล่นกับนักดนตรีผู้บอกเล่าเรื่องราวชนเผ่ารุ่นบุกเบิกสองคนนี้ ผมรู้สึกดีมากจนลืมเรื่องราวเพลงต้องห้ามที่เกิดขึ้น

ถนนหน้าบ้านมีเยาวชนมานั่งฟังเพลงกันหลายคน จึงเป็นโอกาสดีที่จะแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นการขับเคลื่อนวัฒนธรรมของชนเผ่าร่วมกัน ร้องธาปลือไม่ได้ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็มีเวทีในการสื่อสารกับเยาวชน หน่อใหม่ของชนเผ่า

“ประกาศให้ทุกคนทราบ เด็กที่มาเข้าค่ายทุกคนให้กลับไปนอน เพราะพรุ่งนี้ต้องลุกขึ้นมาทำกิจกรรมแต่เช้า ให้กลับไปนอนเดี๋ยวนี้” เสียงจากผู้นำในการจัดค่าย ผมจึงรู้ว่าที่เด็กมากันหลายคนก็เพราะมาเข้าค่ายจริยธรรมในชุมชนนี่เอง

หลังจาก อาจารย์ลีซะขอตัวจากเวทีก่อนเพราะพรุ่งนี้มีภารกิจในการจัดค่ายอบรมจริยธรรมให้เยาวชน แต่พี่นนท์ยังคงอยู่บนเวทีกับผม กระทั่งผู้ฟังเริ่มยอมแพ้เรา เวทีจึงถูกพักเพื่อคืนพรุ่งนี้ต่อ

กลับมาที่พักซึ่งถูกเตรียมไว้ให้แล้ว แต่เหมือนความง่วงยังไม่มาใกล้เรา ข้างเตาไฟที่มีฟืนทำหน้าที่ให้แสงและไออุ่นพอสำหรับวงสนทนาเล็กๆ ท่ามกลางความเงียบ ใต้แสงเดือนดาว

“ผมว่างานนี้เป็นโอกาสดีที่มีการจัดค่ายจริยธรรมสำหรับเด็ก และได้จังหวะที่มีงานศพในชุมชน จริงๆน่าจะให้เด็กมาเรียนรู้จากงานศพด้วยเพราะมันเป็นวิถีของชุมชนเด็กจะได้ซึมซาบความเป็นชุมชนด้วย ไม่ควรไปกีดกัน” เพื่อนร่วมวงสนทนาคนหนึ่งแสดงความคิดเห็น

“ใช่ พี่อยากให้เด็กได้มีโอกาสรู้ว่า พาตี่ (พ้อเหล่ป่า) เป็นใคร? ได้ทำอะไรไว้บ้าง? ได้พูดอะไรไว้บ้าง? และคนอื่นๆหมายถึงคนภายนอกคิดกับคนชนเผ่าผ่านงานของพ้อเหล่ป่าอย่างไรบ้าง? อยากให้เด็กได้ภูมิใจในเผ่าพันธุ์และอยากลุกขึ้นมาทำอะไรต่อเพื่อชนเผ่า เสียดายที่รีบให้เด็กๆไปนอนเร็วเกินไป” สมาชิกวงสนทนาอีกคนกล่าวเสริม

คืนสุดท้ายของพ้อเหล่ป่าในร้านขายของชำที่รับแขกของพ้อเหล่ป่า ลูกสาวคนสุดท้องและสามีร้องเพลงถึงพ่อ พ้อเหล่ป่า

“ขอบคุณที่พ่อได้สร้าง ได้เลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ได้พร่ำสอนจนรู้ความ ไม่ขอบคุณอยู่ไม่ได้ ไม่พูดถึงอยู่ไม่สุข ขอพระเป็นเจ้าบนสวรรค์รับพ่อไปอยู่ด้วย” เพลงภาษาปกาเกอะญอจากลูกสาว

จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของพี่นนท์กับผม
“พี่นนท์ครับ ผมอยากร้องเพลง พ้อเหล่ป่า หลายๆรอบในคืนนี้ ให้มันติดหูชาวบ้าน ให้มันดังทั่วดอยในคืนสุดท้ายของพ้อเหล่ป่า” ผมบอกพี่นนท์

“ดีๆๆ เอาซัก สามรอบดีมั๊ย??” พี่นนท์ถาม
“ไม่คับ อย่างน้อยเก้ารอบ!” ผมตอบพี่นนท์
“เออ..นะ เอาให้จำกันไปเลย เฮอๆๆ น่าสนใจๆ” พี่นนท์ตอบพร้อมมือเริ่มกรีดสายกีตาร์ เสียงเพลงพ้อเหล่ป่าดังขึ้นเป็นครั้งแรกในคืนสุดท้าย เพลงผมเพลงพี่นนท์สลับกันไป เอาเพลงอาจารย์ลีซะมาร้องบ้างเนื่องจากท่านติดงานค่ายเยาวชน จึงไม่สามารถมาร่วมงานได้ในคืนสุดท้าย

เพลงพ้อเหล่ป่าดังอีกเป็นครั้งที่สอง เพลงอื่นสลับเข้ามาสามสีเพลง และเพลงพ้อเหล่ป่าดังขึ้นอีกเป็นรอบที่สาม สี่...จนรอบที่เก้า เราจึงบอกลาเวที

รุ่งเช้าขบวนชาวบ้านได้เคลื่อนศพพ้อเหล่ป่าสู่ป่าความเชื่อ ป่าแห่งคนตาย เป็นแดนคืนร่างสู่ธรรมชาติ ในขณะที่โลงศพถูกจ่อบนหลุม บทกวีพ้อเหล่ป่าดังขึ้นท่ามกลางฝูงชน

“เมื่อฉันจำความได้ ฉันเที่ยวเล่นกับพวกเพื่อนๆ แม่เป็นคนทอเสื้อให้ฉันใส่ ฉันดีใจมาก ฉันสวมเสื้อตัวนั้นแล้วเดินนำหน้าคนอื่น เวลานั้นฉันรู้สึกว่า ใบหน้าของตัวเองเต็มอิ่มไปด้วยความร่าเริง..........................................................................................................................................................................ฉันไม่รู้หรอกว่า ความสะดวกสบายที่เราได้รับจะนำความสุขหรือความทุกข์มาให้คนภูเขา” ชายเสื้อดำร่ายบทกวีของพ้อเหล่ป่า คนร่วมไว้อาลัยต่างนิ่งเงียบฟังถ้อยคำกวีนั้นราวกับว่าไม่เคยได้ยินมาก่อน

บทกวีนั้นจบเพลงเตหน่ากูเริ่มขึ้น
“นกเขาขันที่ระเบียงบ้าน                          หากลมไม่พัด ใบไม้ไม่ไหว
มันเคยปรากฏมันเคยเกิดขึ้น                   ผู้เฒ่าจึงบอกกล่าว

นกน้อยแม่เจ้าคอยอยู่ที่รัง                       หากเจ้าบินกลับคืนสู่รัง
อย่าไปทาง ดูลอหร่า(นรก)                      จงกลับไปทาง ดูเตอวอ (สวรรค์)
มีทั้งหมกเขียด ลาปปลา                         มีทั้งส้มโอ มีทั้งเขียวหวานไว้รอรับเจ้า”

มีความตั้งใจเอาคำหรือเนื้อของเพลงธาปลือมา แต่ผมเปลี่ยนทำนองและผมไม่ร้องท่อนโย แปลก!!ไม่มีใครใส่ใจในเนื้อหา ต่างนิ่งจ้องดูนิ้วที่ดีดเตหน่ากูฟังทำนองเพลงที่ไม่เคยผ่านหูอย่างสงบ โดยไม่มีใครรู้สึกเหมือนเป็นธาปลือ หรือ เพลงศพ จึงรอดพ้นจากการถูกห้าม แต่ถึงจะห้ามก็ห้ามไม่นานแน่ เมื่อเพลงมันทำหน้าที่ของมันไปแล้ว

“เอาจนได้นะ ไอ้หลานชาย” พ่อเฒ่าคนเดิมที่เจอกันก่อนไปทานข้าวในคืนที่ผมมาถึง มาทักผมหลังจบเพลงกลางป่าช้าและยิ้มบางๆ แต่ใบหน้าปรากฏภาพความพึงพอใจออกมาชัดเจน ผมยิ้มแทนคำตอบเพราะผมรู้ว่าเมื่อการสนทนาถูกสานต่อ เรื่องบทเพลงต้องห้ามที่ผมร้องเมื่อครู่จะถูกเปิดเผย เขาคงรู้ว่าผมคิดอะไร เขายิ้มตอบพร้อมกับตบหลังผมเบาๆ

เมื่อพิธีทางศาสนาคริสต์จบ โลงศพพ้อเหล่ป่าถูกหย่อนลง ทันใดนั้นหลุมดินอ้าแขนรับร่างไร้วิญญาณนั้นกลับมาเป็นเนื้อเดียวกับผืนดิน เติมให้ผืนดินเต็มอีกครั้ง เสียงต้นไม้ทั้งป่าต่างตะโกนร้อง “ต่า เต๊ะ โดะ ฮ่อ โข่”
 

บล็อกของ ชิ สุวิชาน

ชิ สุวิชาน
ผมฝ่าชุมชนมูเจะคีหลายชุมชน ซึ่งล้วนแล้วแต่ปรากฏร่องรอยเล็บตีนเล็บมือรวมทั้งเริ่มเห็นมูลอันเป็นของเสียแห่งระบบทุนนิยมที่ถ่ายทิ้งเอาไว้ในชุมชนปกาเกอะญอที่มีอายุหลายร้อยปีแห่งนี้ และมีแนวโน้มที่ทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คนและวัฒนธรรมจะถูกกลืนกินเป็นอาหารอันโอชะมากขึ้นเรื่อยๆ  เมื่อได้มีโอกาสกลับมา พอมาถึงหมู่บ้านแรกของชุมชนปกาเกอะญอในบริเวณมูเจะคี ทันทีที่ได้สัมผัสมันเหมือนได้กลับคืนสู่รัง ได้เติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปตอนอยู่ในเมือง เมื่อผ่านชุมชนแต่ละหมู่บ้านจะพยายามมองรถทุกคันที่ผ่าน มองคนทุกคนที่เจอว่าเป็นเพื่อนเราหรือเปล่า? ลุง ป้า น้า อา หรือเปล่า? ญาติพี่น้องหรือเปล่า?…
ชิ สุวิชาน
 หลังเสร็จงานศพ ความรู้สึกจำใจจากบ้านมาเยือนอีกครั้ง  แต่การกลับบ้านครั้งนี้แม้จะเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างโดยเฉพาะในวิถีประเพณี ที่มีคนตายในชุมชน  ได้เห็นสภาพของป่าช้าที่ถูกผ่าตัดตอนแล้วพยายามเปลี่ยนอวัยวะชิ้นส่วนใหม่จากภายนอกเข้ามาแทนที่ 
ชิ สุวิชาน
 โลงศพถูกหย่อนลงในหลุม  ลูกชายที่เป็นศาสนาจารย์และเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งศิษยาภิบาลได้จับดินก้อนหนึ่งกำไว้ในมือ  แล้วชูดินต่อหน้าผู้ร่วมงาน"ชีวิตเราถูกสร้างมาจากดิน แล้วพระเจ้าได้เป่าลมหายใจ คือชีวิตสู่เรา การรักษาร่างกายไม่สำคัญเท่ากับการรักษาชีวิต ชีวิตที่แม้ไม่มีร่างกายก็มีชีวิตอยู่ได้ เพราะเมื่อร่างกายเราถูกสร้างมาจากดิน ถูกใช้งานมาระยะหนึ่งก็ต้องเสื่อมและต้องกลับคืนสู่ดิน แต่ชีวิตไม่ได้ถูกสร้างมาจากดิน ชีวิตถูกสร้างมาจากลมหายใจที่มาจากพระเป็นเจ้า ถ้าเรารักษาชีวิตไว้ในขณะที่อยู่บนโลกให้เป็นไปตามพระวจนะของพระเป็นเจ้า…
ชิ สุวิชาน
จบพิธีทางคริสต์ศาสนา แขกเหรื่อที่มาต่างทยอยเดินลงบันใด และยืนกองรวมกันที่ลานหน้าบ้านผู้ตาย รถกระบะสองคันซึ่งเป็นของลูกชายศาสนาจารย์ที่จากไปได้แล่นมาแหวกกลุ่มคนที่ยืนอยู่ลานหน้าบ้าน และจอดท่ามกลางวงห้อมล้อมของฝูงชน  "กางเขนนี้คนเอาไม่อยู่ โคตรหนักเลย" เสียงของหนึ่งในชายฉกรรจ์ พูดขึ้นหลังจากนำไม้กางเขนซีเมนต์ขนาดประมาณ 2 เมตรครึ่ง หน้ากว้างประมาณ 6 นิ้วได้ขึ้นไว้บนรถกระบะ ครั้งหนึ่งพระเยซูได้แบกไม้กางเขนของตนเองไปยังภูเขาที่พระองค์จะถูกตรึง ระหว่างทางได้อ่อนระโหยโรยแรง มีชายผู้หนึ่งที่สงสารจึงอาสาช่วยแบก แต่มาครั้งนี้คนเอาไม่อยู่ ผมเพียงแต่นึกในใจว่ากางเขนซีเมนต์นี้…
ชิ สุวิชาน
"ที่จะร้องให้ฟังต่อไปนี้เป็น ธา ปลือ ร้องเพื่อให้คนเป็นรู้ว่าคนตายได้ตายเพื่อไปที่อื่นแล้ว ร้องเพื่อให้คนตายรู้ว่าตัวว่าได้ตายและต้องไปอยู่อีกที่แล้ว ในวันที่ไม่มีคนตายห้ามพูดห้ามร้องเด็ดขาด ไม่ว่าในบ้าน ใต้ถุนบ้านหรือที่ใดก็ตาม ในวันที่มีคนตายนั้นต้องร้อง" พือพูดก่อนร้อง พือหยิบไมโครโฟน หันมาทางผม ผมจึงเริ่มบรรเลงเตหน่า
ชิ สุวิชาน
ข่าวเรื่องการละสังขารของศาสนาจารย์ผู้ก่อตั้งคริสตจักรมูเจะคีในวัย 96 ปีได้ถูกกระจายออกไป ไม่เพียงแค่ในพื้นที่มูเจะคีเท่านั้น เชียงราย กาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่เกิดและที่เติบโตของพื้นที่อื่นที่เขาเคยเผยแพร่และเทศนาเรื่องราวของพระคริสต์ทั้งในพื้นที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ข่าวการจากไปของเขาไม่เลยผ่านไปได้ งานศพถูกจัดการอย่างดีตามรูปแบบของคริสเตียน ข่าวไปถึงที่ไหนผู้คนจากที่นั่นก็มา คนในพื้นที่กับคนนอกพื้นที่ดูแล้วปริมาณไม่ต่างกันเท่าเลย เหมือนมีการจัดงานมหกรรมบางเกิดขึ้นในชุมชน ลูกหลานที่ไปทำงานจากที่ต่างๆ ของเขาก็มากันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา โดยที่งานศพถูกเก็บไปสามคืน
ชิ สุวิชาน
พี่นนท์เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ได้ฟังพาตี่ทองดี จึงร้องเพลงธาปลือให้ฟัง จนกระทั่งถึงท่อน โย เย็นนั้นระหว่างงาน พี่นนท์จึงถามคำแปลของเพลงเหล่านั้น หลังจากเสร็จงานนั้นเพลงเส่อเลจึงมีการต่อเติมจนเป็นเพลงขึ้นมาจนได้ “พี่นึกถึงหญิงสาวที่ต้องโตขึ้นมาอย่างลำบาก นึกถึงพัฒนาการการเติบโตของชีวิต ต้องตามพ่อตามแม่ปลูกข้าว กว่าจะโตเป็นสาวต้องผ่านการตรากตรำทำงานอย่างลำบาก พี่เลยจินตนาการการตายของเธอว่า เป็นการเสียชีวิตด้วยไข้ป่า”
ชิ สุวิชาน
แม้ว่าฤดูเกี่ยวข้าวมาถึงแล้วแต่ฝนยังคงโปรยปรายลงมาอยู่ คนทำนาได้แต่ภาวนาว่าขออย่าตกตอนตีข้าวก็แล้วกัน เพราะฝนตกตอนตีข้าวนั้นมันยิ่งกว่าค่าเงินลอยตัวเสียอีก ผมเตรียมตัวกลับบ้านอีกครั้งเพื่อกลับไปเกี่ยวข้าว ผืนนาที่เคยวิ่งเล่นตอนเด็กๆกวักมือเรียกผมจากเมืองคืนสู่ทุ่งข้าวเหลืองอีกฤดู ซึ่งก็ได้จังหวะพอดีที่พ่อผมลงมาทำธุระที่เชียงใหม่ ทำให้ผมได้อาศัยรถของพ่อในการกลับครั้งนี้
ชิ สุวิชาน
ด้วยความที่อยากให้เกียรติวีรบุรุษในการต่อสู้ของคนที่อยู่กับป่า ทางทีมงานของเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมจึงเลือกเพลง ปูนุ ดอกจีมู เป็นเพลงเปิดหัวในการประชาสัมพันธ์อัลบั้มเพลงเกอะญอเก่อเรอ ที่แรกที่เราส่งไปคือสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ท่าเป็นช่วงภาคภาษาชนเผ่า โดยเฉพาะภาษาปกาเกอะญอ ซึ่งมีพี่มานะ หรือบิหนะ เป็นผู้ประกาศข่าวคราวต่างไปถึงพี่น้องปกาเกอะญอในเขตภูเขา หลังจากที่เพลงถูกเปิด มีพี่น้องปกาเกอะญอจากที่ต่างๆโทรมาแสดงความเห็นมากมาย “ส่วนใหญ่เค้าบอกว่า เค้าชอบเพลงนี้มาก แต่เค้าขอร้องมาว่า ถ้าถึงท่อนที่เป็น ธาโย ช่วยปิดเลยได้มั้ย เพราะเขค้าฟังแล้วขนลุก…
ชิ สุวิชาน
มีผู้อาวุโสปกาเกอะญอ                  แห่งหมู่บ้านโขล่ เหม่ ถ่า ผู้ซึ่งไม่มีชื่อเสียงเรืองนาม              เขาคือ พาตี่ ปูนุ ดอกจีมูอยู่กับลูก อยู่กับเมีย                     ตามป่าเขาลำเนาไพรท่ามกลางพืชพันธุ์แมกไม้              ทั้งคน ทั้งป่าและสัตว์ป่าทำไร่หมุนเวียน ทำนา …
ชิ สุวิชาน
เพื่อเป็นการรำลึกแห่งการครบรอบการจากไป 1 ปี ทางเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ได้มีความประสงค์ในการจัดงานเพื่อรำลึกถึงพาตี่ปุนุ ซึ่งถือเป็นวีรบุรุษในการต่อสู้เพื่อคนอยู่กับป่าคนหนึ่ง โดยเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ได้มีการผลิตซีดีเพลงชุดหนึ่ง โดยมีพาตี่อ็อด วิฑูรย์ เป็นผู้ดูแลเนื้อร้องทำนองขับร้อง "ช่วยแต่งเพลง เกี่ยวกับปุนุ ให้หน่อย พาตี่แต่งไม่ทันแล้ว" พาตี่อ็อดมาบอกผม ผมจึงลงมือเขียนเพลงปูนุด้วยความรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นเพลงแรกที่ผมเขียนถึงคนตาย และต้องพูดถึงเหตุการณ์ในการตายของเขาด้วย จึงทำให้ผมนึกถึงบทเพลงคร่ำครวญในงานศพ…
ชิ สุวิชาน
ปี 2540 สถานการณ์การต่อสู้ของชุมชนที่อยู่กับป่าร้อนระอุขึ้นมาอีกระลอก เมื่อรัฐบาลของนายหัว ชวน หลีกภัย ได้มีนโยบายอพยพคนออกจากป่า นั่นหมายถึงชะตากรรมวิถีของคนอยู่กับป่าจะถูกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลวง ชุมชนเดิม ที่อยู่ ที่ทำกินเดิมนั้นจะกลายเป็นเพียงที่ที่เคยอยู่เคยกินเท่านั้น ตัวแทนขบวนคนอยู่กับป่าจึงมีการขยับเคลื่อนสู่หน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง โดยมีเครือข่ายกลุ่มสมัชชาคนจนจากภาคต่างๆมาสมทบอย่างครบครัน กลายเป็นชุมชนคนจนหน้าทำเนียบโดยปริยาย “ลูกหลานไปเรียกร้องสิทธิหลายครั้งแล้ว ไม่ได้สักที คราวนี้ฉันต้องไปเอง ถ้าเรียกร้องไม่สำเร็จฉันจะไม่กลับมาเด็ดขาด”…