ผมใส่แผ่นซีดี Shangri-la ของ MARK KNOPFLER ลงในเครื่องเล่นซีดี เลือกเอาเพลง Whoop de doo
“ถ้าฉันกำลังทำเรื่องใหญ่
ด้วยย้อนคืนกลับบ้าน
ฉันไม่ได้มุ่งตรงดิ่งไป
สู่คำตอบใดๆของฉัน
และน้ำตาก็ไม่ได้มาง่ายๆ
หนทางที่ถูกใช้ไปสู่ Whoop de doo...”
คืนพระจันทร์เต็มดวง เด็กชายนั่งซ้อนท้ายจักรยานของพ่อ พาหนะคันเดียวในบ้าน ถนนดินสีแดงคดโค้งเหมือนวงแหวนดาวเสาร์ย้อมแดง ข้ามผ่านป่าที่เต็มไปด้วยเสียงแมลงกลางคืน เด็กชายเกาะรัดเอวพ่อแน่น มองแถบสีดำๆแนวป่าข้างทางผ่านหน้าไป
ไม่มีใครสวนทางผ่านมา มีเพียงแสงจันทร์สว่างเหมือนกลางวัน แสงนวลเหลืองอร่ามฉายอยู่ข้างหลัง
เด็กชายหันไปมองดวงจันทร์ มองมันนานๆ ประหลาดใจกับเจ้าดวงไฟบนท้องฟ้า มันเปล่งแสงออกมาได้อย่างไร จักรยานของพ่อคันใหญ่โตมาก กงล้อใหญ่ โครงเหล็กใหญ่ๆ ที่นั่งหลังเป็นเหล็กตะแกรงใหญ่ มันใหญ่อย่างกับนั่งอยู่บนเก้าอี้ใหญ่ๆ
มุ่งมาตามถนนสายนั้น กลับมาบ้าน..
ผมหยิบ นิค อาดัมส์ วัยหนุ่มของศิลปิน งานของ เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ แปลเป็นภาษาไทยโดย สิทธิชัย แสงกระจ่าง ผมพกมาด้วยตั้งแต่วันแรกที่ออกเดินทางกลับมาบ้าน ผมมักพกพาติดตัวไปบ่อยครั้ง ประหนึ่งว่าเป็นคำภีร์งานเขียนเล่มหนึ่ง
ผมชอบงานชิ้นนี้ งานเขียนที่ช่วยปรับทัศนะความเห็นถึงโลกงานเขียนเสียใหม่ ว่าไม่ต้องปีนบันไดขึ้นไปเขียน ก็สามารถเขียนหนังสือได้ ใช้ภาษาง่ายๆ คำพูดโต้ตอบธรรมดาๆ ฉาก-เรื่องชีวิตประจำวัน แต่เต็มไปด้วยบรรยากาศของจิตใจค้นหาใฝ่รู้ เดินทางเฝ้าสังเกตุ เฝ้ามองติดตาม เข้าไปมีส่วนร่วม พูดง่ายๆว่าเรื่องของการใช้ชีวิตจริง
เขียนเรื่องจริงออกมา ดูเหมือนเขียนเรื่องจริงที่ดำเนินไปวันๆจริงๆ ไม่ต้องห่วงกับพล็อตเรื่อง พัฒนาการของตัวละคร โครงเรื่องซับซ้อนวกวนชวนเวียนหัว ก่อนจะจบลงเอยด้วยสิ่งเหนือความคาดหมาย นึกอยากจะจบ ก็จบเอาดื้อๆอย่างนั้น
เหมือนชีวิตจริง
เริ่มต้นและจบเรื่อง ดูแสนธรรมดา ง่าย และให้ความรู้สึกกระเพื่อมอยู่ภายในใจ
แรงบันดาลใจอันมากมาย และทำให้เลิกกลัวโลกของงานเขียน ที่ดูเคร่งครัดใหญ่โต มีแบบแผนแตะต้องไม่ได้ เป็นหลักไมล์หนาหนักที่ข้ามลำบากเหลือเกิน ให้รู้สึกว่างานเขียนเป็นเรื่องง่าย ไม่ได้เป็นยักษ์ทรนงที่ต้องปีนบันไดขึ้นไปเขียนบนหลังคาของความยาก
ผมอ่านผ่านสารบัญชื่อเรื่องอีกครั้ง เสียงปืนสามนัด กระโจมพักพวกอินเดียน อินเดียนสิบคน .. ดินแดนแห่งความสุขสุดท้าย ในดินแดนอีกแห่งหนึ่ง พายุสามวัน ผู้คนแห่งฤดูร้อน ทำงานเขียน ฤดูใบไม้ผลิที่หุบเขา
ผมเปิดไปยังเรื่อง ทำงานเขียน
“..ถ้างานเขียนจะมีอะไรดีขึ้นมาก็เป็นเพราะสิ่งที่คุณสร้างขึ้น สิ่งที่คุณจินตนาการขึ้นมา มันทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมา ..
เขามักทำงานได้ดีที่สุดตอนเฮเลนล้มเจ็บ อะไรที่ไม่น่ายินดีขนาดนั้นนั่นแหละ จึงจะทำให้เกิดงานเขียนขึ้น มีบางครั้ง เมื่อจำเป็นต้องเขียนหนังสือด้วยความจำใจ ไม่ใช่ด้วยจิตสำนึกที่จะทำ มันก็เป็นเพียงเรื่องที่แค่เป็นเรื่องเท่านั้น ต่อเมื่อในบางครั้ง คุณรู้สึกเหมือนกับว่าจะเขียนเรื่องอะไรไม่ได้เลยหลังจากนั้นนั่นแหละ ไม่ช้าไม่นาน คุณอาจสามารถเขียนเรื่องที่ดีได้อีกเรื่องหนึ่งทีเดียว
งานเขียนเป็นงานที่สนุกยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น นั่นเป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้เขาทำงานเขียน เขาไม่เคยตระหนักในความจริงอันนี้มาก่อนเลย ไม่ใช่เรื่องจิตสำนึกแต่อย่างใดเลย มันเกิดขึ้นง่ายๆ เพียงเพราะมันเป็นสิ่งน่าสนุกน่าพึงใจเท่านั้น เป็นความรู้สึกที่มันในหัวใจยิ่งกว่าการกระทำใดๆทั้งสิ้น แต่การจะเขียนเรื่องให้เป็นเรื่องที่ดีได้นั้น เป็นเรื่องยากฉิบหายจริงๆ..”
โดนประโยคพวกนี้ในวัยศิลปินหนุ่มเข้าเต็มๆ เอาเกียรติยศศักดิ์ศรีหรือความสำเร็จใดๆมาวางไว้ยั่วล้อไม่ได้อีกแล้ว
ชีวิตนี้ต้องเขียนหนังสืออย่างเดียวเท่านั้น
พลังดึงดูดความสนใจให้หันมาเขียนหนังสือมีมากพียงนั้นนั่นหรือ ผมก็คงบอกได้ว่า ไม่รู้ รู้แต่เพียงว่าวัยหนุ่มศิลปินยังยืนยันเรื่อยมา
ผมนั่งอ่านนิค อาดัมส์ วัยหนุ่มของศิลปิน ด้วยความรู้สึกของงานเขียนเป็นเรื่องสาระของลมหายใจผู้เขียน
ฝนตกหนาเม็ด ครึ้มหม่นมัวซัว เปลี่ยนแผ่นซีดี หยิบงานของ รังสรรค์ ราศี-ดิบ ที่พกติดมาด้วยเช่นกัน เริ่มด้วยเพลง นิยาม ..
“ฟ้าที่มืดมน เมื่อเมฆฝนพลันสดใส
ใจที่เคยร้าว เริ่มมีความหวังขึ้นมา...
เป็นดั่งสายฝนกลางทะเลทราย
ดังดวงดอกไม้บานบนภูผา
เป็นดั่งสีสันของกาลเวลาที่รักล้ำค่า
ที่เราจะมีให้กัน ..”
ถนนเปียกฝนเปลี่ยนฉากเก่าก่อนไปอย่างไม่เหลือเยื่อใย ปลายถนนมีทะเลสาป อีกปลายถนนมีเทือกเขาใหญ่ ผมเริ่มนับวันย้อนเดินทางกลับ ต้นทาง ระหว่างทาง ปลายทาง ล้วนต้องออกเดินแรมรอนทั้งนั้น
ผมผ่านไปตามเส้นทางที่ผมอยากไปจนเต็มอิ่ม อย่างกับไปตากอากาศในฉากชีวิตเก่าๆ ที่ดูราวเพิ่งผ่านไป อย่างหนึ่งที่ต้องไปให้ได้ และคิดว่าเป็นสถานที่สุดท้าย นั่นคือท่าเรือปากพะยูนริมทะเลสาบ ไปให้ถึงร้านขายปลาแห้งริมฝั่งน้ำท้ายตลาด