ไผ่กอนี้งามเหลือเกิน
สิ้นคำอุทานแบบไม่มีปี่ ไม่มีพร้า แต่ในมือมีกล้องถ่ายรูป แต่เหลือฟิล์มติดกล้องเพียงไม่กี่รูปเท่านั้น เป็นฟิล์มม้วนสุดท้ายปลายฟิล์ม เจ้าปลายฟิล์มนี่สิ ลุ้นตัวโก่งตัวลีบมาแล้วหลายครั้ง ประมาณว่ามีฟิล์มอยู่ในกล้องให้อุ่นใจก็จริง แต่รูปไม่มีใส่แล้ว ปลายสุดม้วนฟิล์มอาจเป็นเรื่องอุบัติเหตุล้วนๆก็ได้
ให้รู้สึกนึกในใจว่า เจอไผ่งามเมื่อฟิล์มหมด...
ผมยังถ่ายรูปด้วยกล้องที่มีฟิล์ม ไม่ใช่เพราะไม่อยากเปลี่ยนแปลง แต่กล้องยังใช้งานได้อยู่ ยังมีฟิล์มขายอยู่ ร้านล้างฟิล์มยังรับล้างฟิล์มไปอีกนาน อาจด้วยเหตุผลว่าโลกนี้ โลกเก่ายังมีชีวิตอยู่ได้ แถมมีจำนวนประชากรนิยมเชยอยู่พอสมควร กลุ่มคนเชยมีจำนวนมากพอให้โลกเก่าพอถูๆไถๆกันไปได้บ้าง
ที่สำคัญนั้น กลุ่มคนเชยไม่ใส่ใจเรื่องของการขวนขวายสู่ขั้นตอนหลุดพ้นจากความไม่เชยง่ายๆเป็นแน่(หรือเปล่า)
ฟิล์มเลยทำให้คนเชยดูยังมีหน้าตาดี มีเอกลักษณ์เดินลอยนวลกันไปได้
คนเชยก็มักอ้างแบบหลืบๆคูๆว่า ฟิล์มทำให้การกลับมาจากที่หนึ่ง จากเรื่องหนึ่งดูเข้มข้นขึ้น ไม่จืดชืดว่างั้นเถอะ
คนเชยยังบอกอีกว่า ฟิล์มมีลุ้น ฟิล์มอาจสมหวังและพลาดหวัง
ฟิล์มทำให้เจ็บน้ำตื้น แม้น้ำตาไม่ร่วง
และอีกหลายคำนิยามคำเชยๆ ของคนเชยๆอันเกี่ยวข้องกับฟิล์ม
"ทำไมพี่ไม่เปลี่ยนเป็นดิจิตอล" ผมตอบคำถามนี้บ่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นมิตรไม่รักมักไม่ฟัง ผมก็มักอ้างเอากลุ่มคนเชยนี่แหละมารวมหมู่พวก ตอบเป็นจริงบ้าง ตอบเป็นเล่นบ้าง
คำตอบอ้างแบบน้ำตื้นๆ มีโอกาสเห็นปูเห็นปลาดำผุดดำว่ายตามหนองคลองบึงเดือนมีนาคม อ้างถึงกระแสลมพัดไล่ดอกพยอมให้หมดต้นไปก่อนบ้างหละ อ้างรอเปลี่ยนรัฐบาลใหม่อีกสักชุดสองชุด (เอ..เกี่ยวอะไรกับรัฐบาล) อ้างว่ารอตะวันบ่ายมีน้ำค้างแข็งตกหน้าร้อนบ้าง
แต่รุนแรงสุดก็เห็นจะอ้างกับน้องคนหนึ่งว่า รอค่าต้นฉบับงานเขียนหนึ่งชิ้นมีราคาสูงเทียมเท่าการปรากฏตัวของดาราในงานประกวดไม้ดอกไม้ประดับบ้างหละ..(ฮา)
สุดท้ายกลับมาใช้ฟิล์มดังเดิม(เถอะพี่)
"ฝันไปเถอะลุง"
ไผ่กอนี้งามเหลือเกิน!! กดชัตเตอร์แชะ งามจริงๆ กดชัตเตอร์อีกแชะ กดไปแล้วสองแชะ กล้องประท้วงบอกมาว่า ฟิล์มคุณใกล้จะหมด กรุณาเติมฟิล์มนะคะ
น้ำเสียงลอยมานั้นมีโทนเสียงใกล้เคียงกับเสียงเตือนตอนการ์ดโทรศัพท์ใกล้จะหมด
ถ่ายไปแล้วก็ยังรู้สึกไม่ได้ดังใจ ขออีกรูปเถอะน่า คราวนี้ขอนั่งถ่าย เอ ไม่น่าจะดี ยืนถ่ายมาแล้ว 2 รูป นอนถ่ายดีกว่ามั้ง จะได้เห็นมุมสูงไง
แชะ หนึ่งแชะสุดท้ายจริงๆ(นอนถ่ายครับ)
"ได้ยินเสียงมันมั้ย" คนนำทางเป็นลุงวัย 65 ปี
ผมมีเพื่อนรุ่นลุงอยู่หลายคน ลุงวัย 65 เป็นหนึ่งในเพื่อนที่เดินข้ามน้ำข้ามป่าไปไหนแล้ว ลื่นคอลื่นใจเหลือเกิน
"อานี เดือนมีนาเมษา เสียงมันจะดังกว่านี้ เวลาเขาไปซอกับผู้หญิง ซอแข่งกับผู้หญิง เขาจะโห่ผู้หญิง ว้าเหม่ยะ เมเยาะแกแก หน่อซาหน่อล้าแอ เขาบอกว่าไผ่เนี่ย ขี่มาเนี่ย จะดังแก๊กๆๆตลอด เพราะฉะนั้น เธอโตเป็นสาว เตียวไปไหน เดินไปไหน มีคนดู เห็นมั้ย กิ่งไม้ไผ่มันเกี่ยวกับสาว เกี่ยวกับการปั่นฝ้าย.."
โดนวิชาความรู้จู่โจมเข้ามาเต็มๆ มัวชมไผ่ชมใบไผ่เพลินดีนัก เป็นไง
ไหนๆก็พูดถึงเสียง ผมก็ถามต่อสิ
"เสียงไผ่หน้าร้อนเป็นไงลุง"
"อานี..ว่าฤดูแล้ง มันจะเสียงเบาๆแก๊กๆๆอย่างนี้ไปเรื่อย แต่ฤดูฝนมันจะดังอ๊อๆแอ๊ๆ อย่างนี้ ฤดูร้อนกับฤดูฝน เสียงมันจะดังต่างกัน"
ยืนเงียบมองนางแบบนายแบบใบสยาย
"มันเป็นภาษาของเขา" ลุงตอบ
นี่สิเด็ด เด็ดจริงๆ มันเป็นภาษาของเขา
ผมถามต่อถึงการดูแลไผ่
"ปลูกปีนั้น 10 กอ ปีหนึ่งเฮาไปดูเตื้อเดียว ไม่ดูก็ยังได้ ไผ่บางอย่าง เฮาหามาปลูก คิดง่ายๆอย่างนี้ หน่อนี่ดูมันไม่ทำรายได้ อันที่จริงมันมีราคา ขายต้นละ 10 บาท เขามาเอาถึงที่เลย หน่อมันก็มีกิน ยังแบ่งหื้อพี่น้องกินเป็นอาหาร แล้วคิดว่า ไผ่นี่มันใช้ได้หลายแบบ จะใช้ทำรั้วก็ได้ ทำบ้าน มุงบ้าน ทำเป็นเสา ทำเป็นอะไรๆก็ได้ทั้งนั้น..."
ไผ่กอนี้งามเหลือเกิน ชมไผ่ไปพลาง รับคำอธิบายขยายนิยามไผ่ไปพลาง ร้อนๆแล้งๆควันๆตื้อๆปลายเดือนกุมภาพันธ์ ชมไผ่น่าเพลิดเพลินไม่น้อย
เห็นว่ายามนี้ ควันครองเมือง อนาคตควันครองโลก ร้อนเหลือเกิน เปลี่ยนท่วงทำนองเดิมชมไผ่กันบ้าง เผื่อร้อนพอคลาย หากยังไม่คลาย ก็หาไผ่มาปลูกไว้สักกอ
ปลูกไว้ฟังเสียงของมัน ดับกระหายคลายร้อน แก้ร้อนใน