แม่บอกว่า ล้างข้าวสารหลายน้ำหน่อย ผมรับหม้อข้าวจากมือแม่ ด้วยอยากช่วยแม่หุงข้าว แม่กรอกหม้อมาเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงนำไปใส่น้ำ ผมพูดกับแม่ทันที ไม่ล้างจะดีกว่ามั้ย เพราะข้าวขาวเหลือแต่แกน เมล็ดผอม ขัดสีผิวจนเมล็ดขาวนวล ตามความเข้าใจที่ว่า วิตามินในข้าวจะหายไป แต่แม่ตอบกลับมาว่า ข้าวสารสมัยนี้ ไม่ใช่ข้าวสารสมัยก่อน
แม่ชี้ให้ดูกระสอบข้าวสาร หนึ่งกระสอบปุ๋ยราคาหลายร้อยบาท ผมดูตัวหนังสือข้างถุง บอกวันเดือนปีที่ผลิต ชื่อพันธุ์ข้าว จังหวัดที่ผลิต เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางตอนล่าง เรากำลังกินข้าวสารจากภาคกลางจริงๆ มันเดินทางมาไกลเหลือเกิน กว่าจะถึงเรือนชานบ้านแม่
ผมจะดม แม่ไม่ให้ดมนานๆ
ผมแปลกใจ เราวางใจเมล็ดข้าวได้น้อยถึงเพียงนี้เชียวหรือ เราเคยแต่กรอกข้าวสารเข้าปากเคี้ยวหมับๆ ดิบๆ จนเป็นแป้งหวานๆ มันๆ ก็บ่อย
แต่ต้องไม่ใช่ข้าวที่มากับกระสอบ
ผมจำได้ว่า เมล็ดข้าวที่แม่เก็บจากนา แม่ต้องเก็บรวงที่สมบูรณ์ที่สุดไว้ทำพันธุ์ปลูกต่อในฤดูต่อไป นำออกผึ่งแดดหลายครั้ง ไม่ให้ชื้นขึ้นรา แล้วเก็บไว้อย่างมิดชิดในลอมข้าว (โรงเรือนที่สร้างไว้สำหรับเก็บรวงข้าวไว้โดยเฉพาะ)
ชื่อพันธุ์ข้าว มาพร้อมกับความเสี่ยงเรื่องน้ำ ว่าปีนี้ฟ้าฝนดีหรือไม่ น้ำมากน้ำน้อย จะได้เลือกพันธุ์ข้าวถูกว่า ต้องใช้ข้าวพันธุ์น้ำลึกหรือน้ำตื้น น้ำมากหรือน้ำน้อย หากไม่มีพันธุ์ที่ต้องการ ก็ไปขอแบ่ง แลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าว เป็นสิ่งตอบแทน
ไม่ใช่เรื่องการซื้อขายพันธุ์ข้าว
ทุกคนในหมู่บ้านจะรู้ว่า ข้าวพันธุ์ไหนอยู่บ้านไหน บ้านใคร ใครครอบครองข้าวพันธุ์ดีไว้ ข้าวพันธุ์ดีในความหมายของข้าวรวงใหญ่ เมล็ดใหญ่ ทนโรค ทนอากาศ มีน้ำหนักมาก ขายได้ราคาดี คุณสมบัติปลีกย่อยอีกหลายอย่าง ตามแต่ใครจะมีพื้นที่ดินนาเป็นแบบไหน
ไม่เห็นมีใครหวงพันธุ์ข้าว เพราะถึงอย่างไร ก็จะได้พันธุ์ข้าวพันธุ์เดิมกลับมาถึงสองเท่า หรือมากกว่านั้นเป็นค่าตอบแทน
ผมได้ยินชื่อพันธุ์ข้าวแปลกๆมาตั้งแต่จำความได้ ผู้ใหญ่บ้านไหนจะลงข้าวพันธุ์ไหน วนเวียนอยู่กับพันธุ์ข้าวเหล่านี้ ข้าวหัวนา ข้าวยาไซ ข้าวเล็บนก ข้าวช่อปลิง ข้าวช่อไพล ข้าวนางยา ข้าวไอ้เคี้ยง ข้าวเบละหอม(มะลิหอม) ฯลฯ
แม่บอกว่า พันธุ์ข้าวดั้งเดิมเหล่านี้ ส่วนใหญ่ ”สารแข็ง” หมายถึงหุงสุกกินไม่นุ่ม
“ข้าวช่อปลิงเม็ดเล็ก เม็ดอ้วนๆสั้นๆ สารแข็งมาก ปลูกในน้ำลึก ตามพรุตามนาลึก รวงใหญ่มาก หนึ่งเรียงนับได้ยี่สิบเก้ารวง ครัวไหนลูกมาก เขามักจะปลูก กินไม่เปลือง”
เพียงแค่นี้ก็รู้ว่า แม่เป็นเอ็นไซโคพีเดียฉบับบ้านๆได้สบาย
“ข้าวเล็บนก ล่ะแม่ ชื่อแปลกๆ”
“สารนวน เม็ดเล็ก เหมือนเล็บนก”
“ช่อไพล”
“สารธรรมดาๆ เม็ดสั้นเหมือนกัน แต่ยาวกว่าช่อปลิง กินอยู่พุง สารไม่แข็งไม่นวน”
นวน หมายถึง อ่อน นุ่ม
“ข้าวไอ้เคี้ยง สีแดง สารนวน”
“ถึงว่า ใครมักพูดว่าหน้าตาอยู่เหมือนข้าวไอ้เคี้ยง..”
แม่อารมณ์ดี เมื่อพูดถึงพันธุ์ข้าว ความรู้สึกอาลัยอาวรณ์คืบคลานมาอยู่ใกล้ๆ
“หม้ายใครปลูกแล้ว” (ไม่มีใครปลูกกันแล้ว)
บทสรุปของแม่ แม้แต่จะขอดูพันธุ์ข้าว ก็ยังหายาก พันธุ์ข้าวที่ดูแลชีวิตกันมาถึงลูกถึงหลาน กลับถึงกาลอวสาน
ไม่มีใครปลูกข้าวในหมู่บ้าน
ผมล้างข้าวสารขาวอีกหลายน้ำ ล้างแล้วล้างอีก
“ไม่ล้างหลายน้ำ กลิ่นยาไม่ไปไหน”
แม่บอกอย่างนั้น ว่ากลิ่นเจือปนอยู่ในข้าวสาร มีกลิ่นที่ไม่ใช่เป็นกลิ่นข้าวอยู่ด้วย แม่บอกว่า ไม่หุงไม่รู้
“หุงแล้วออกรส”
ออกรสของแม่ หมายถึงข้าวสารปนเปื้อนสารเคมี
ทำอย่างไรได้เล่า ข้าวไม่ได้ถอนรวงขึ้นจากนาด้วยมืออีกแล้ว ต้นข้าวอยู่ในกระสอบ ต้นข้าวที่ไม่เคยเผยความจริงใดๆให้รู้ล่วงหน้า ปล่อยให้คนกินข้าวค้นหาต้นข้าว จินตนาการไปต่างๆนานา ถึงสิ่งผิดปกติที่มากับต้นข้าว เม็ดข้าวเพื่อชีวิตในกระสอบ