Skip to main content

จันทร์  ในบ่อ

 

หายหน้ากันไประยะหนึ่งสำหรับคอลัมภ์หนังรายสัปดาห์ของประชาไท ‘Blogazine' เลยขออนุญาตทำหน้าที่คั่นเวลาแทน นพพร ชูเกียรติศิริชัย' ที่ช่วงนี้กำลังยุ่งกับการอพยพย้ายถิ่นฐาน ถ้าทุกอย่างลงตัวแล้วจะกลับมาทำหน้าที่เหมือนเดิมครับ ส่วนช่วงคั่นเวลาสัปดาห์นี้ผมขอชวนคุยเรื่อง ปืนใหญ่จอมสลัด' ที่กำลังลงโรงฉายเลยแล้วกัน 

 

คงไม่ต้องการันตีคุณภาพให้มากขึ้นเมื่อปืนใหญ่จอมสลัดเป็นฝีมือกำกับเรื่องล่าสุดโดย นนทรีย์ นิมิบุตร' และเขียนบทโดย วินทร์ เลียววารินทร์' นักเขียนรางวัลซีไรต์ ใช้ทุนสร้างร่วม 200 ล้านบาท ภาพยนตร์ออกฉายปฐมทัศน์ครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2008 ต่อมาออกฉายในเทศกาลภาพยนตร์เวนิส ออกฉายรอบกาล่า ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2008 เปิดตัวรายได้สัปดาห์แรกที่ 31.6 ล้านบาท กระแสตอบรับจึงถือว่าดี บทความนี้จึงขอแค่ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ไปตามเรื่องตามราวเท่านั้น

ปืนใหญ่จอมสลัด ออกตัวไว้แล้วว่าเป็นหนังแนวแฟนตาซีที่หยิบประวัติศาสตร์ลังกาสุกะ (มลายูปตานี) ในช่วงศตวรรษที่ 17 มาวางเป็นโครงหลักของเรื่อง ความน่าสนใจอยู่ที่ประวัติศาสตร์ช่วงนี้เป็นของกลุ่มชนชาติหนึ่งในสยามที่ห่างไกลจากความรับรู้อย่างปราศจากอคติของคนไทยทั่วไป ไม่มีในบทเรียน และยังไม่เคยมีการทำออกมาในรูปแบบภาพยนตร์ เป็นช่วงที่รัฐปัตตานีหรือปตานีเป็นอิสระจากสยาม (กรุงศรีอยุธยา) เป็นยุคทองของการค้าขายทางสำเภาทะเล เป็นเมืองท่าที่สำคัญในคาบสมุทรมลายูและมีความพิเศษในด้านการปกครองคือมี กษัตริยา' หรือมี ผู้หญิง' แห่งราชวงศ์ศรีวังสาปกครองติดต่อกันถึง 4 รุ่น ได้แก่ รายาฮิเจา รายาบิรู รายาอุงงู และรายากูนิง เป็นกษัตริยาพระองค์สุดท้าย การสิ้นพระชนม์ของเธอที่กัมปุง ปันจอร์ พ.ศ.2231 ถือเป็นการสิ้นสุดช่วงสมัยการปกครองโดยกษัตริยาอย่างสมบูรณ์

 

ปืนใหญ่จอมสลัดได้ตัดเอาเฉพาะประวัติศาสตร์ช่วงปลายสมัยของรายาฮิเจา (จารุณี สุขสวัสดิ์) แห่งราชวงศ์ศรีวังสา (ครองราชย์ 2127 - 2159) เชื่อมต่อสมัยรายาบิรู (ณัฐรดา อภิธนานนท์) มาสร้างโดยมี อุงงู' (แอนนา แฮมบาวริส) เป็นตัวละครหลักในการสร้างความรู้สึกสะเทือนใจด้วยปมที่ต้องเลือกระหว่างความรักส่วนตัวกับความเสียสละเพื่อแผ่นดิน

 

แต่เมื่อผู้กำกับออกตัวไว้ว่าเป็นหนังแนวแฟนตาซีมากกว่าหนังอิงประวัติศาสตร์ ผมจึงขอไม่แตะไปถึงความถูกผิดทางประวัติศาสตร์และขอยกให้เป็นหน้าที่ของนักวิชาการประวัติศาสตร์มลายูที่จะต้องอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจให้สังคมไทยอันหลากหลายต่อไป ตั้งแต่ประเด็นคำว่า ลังกาสุกะ' ที่หนังเลือกจะหยิบมาใช้อย่างค่อนข้างตั้งใจและเลี่ยงจะไม่ใช้คำว่า ปตานี' หรือ ปัตตานี' ตามประวัติศาสตร์ของพื้นที่

 

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่หนังเลือกที่จะเลี่ยงไปก็คือ ภาษา' เพราะในขณะที่หนังต้องการสื่อถึงความเป็นพื้นที่การค้านานาชาติ ภาษา' ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อผ่านบรรดาผู้ปกครองของรัฐให้สามารถพูดได้หลากภาษาไม่ว่าจะเป็นไทย จีน อังกฤษ แต่ภาษา มลายู' อันเป็นภาษาของพื้นที่กลับถูกยกเว้นไว้ราวกับตั้งใจกีดกันไม่ให้มีปรากฏในหนังแม้สักฉาก   

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นหลักที่อยากจะนำมาแลกเปลี่ยนกันในที่นี้ คือ การใช้สัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงกระบวนการเรียกร้องสันติภาพที่เหมือนมีเจตนาบ่งชี้ไปยัง คนในพื้นที่ขัดแย้ง' อันหมายถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยใช้ฉากจาก ประวัติศาสตร์มลายู' มาสะท้อน ความขัดแย้ง' ของปัจจุบัน  

 

ปืนใหญ่จอมสลัดเลือกการใช้ สี' เป็นสัญลักษณ์แทนคุณค่าให้เข้าใจได้อย่างง่ายๆผ่านการแบ่งฝ่ายออกมาอย่างชัดเจน สีขาว' เป็นสัญลักษณ์แทน ฝ่ายดี' ส่วน สีดำ' เป็นสัญลักษณ์แทน ฝ่ายเลว' โดยมีวิชา ดูหลำ' อันลึกลับเป็นเกณฑ์วัดความดีความชั่ว  

 

ทั้งนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งแบบแก้แค้นและหักล้างกันไปมาไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอำนาจหรือเรื่องส่วนตัว เหยื่อผู้ได้รับผลกระทบ ปืนใหญ่จอมสลัดเลือกใช้วิธีการจัดการปัญหาด้วยการเรียกร้องไปที่ปัจเจกบุคคลในระดับจิตวิญญาณ โดยบอกให้ หยุด' เพื่อตัดวงจรของการแก้แค้นอันเกิดจากตัวเองออกไม่ว่าจะผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายสักเพียงใดก็ตาม และแสดงภาพการแก้แค้นนั้นเป็นความมุ่งหมายของฝ่าย สีดำ' และการพยายามควบคุมหรือปล่อยวางเป็นเรื่องของฝ่าย สีขาว'  

 

เมื่อหนังมีวิชาดูหลำเป็นเกณฑ์วัดความดีชั่วแล้วก็มีตัวละคร กระเบนขาว' (สรพงษ์ ชาตรี) เป็นสัญลักษณ์ของการถ่ายทอดแทนครูหรือผู้สอนให้รู้จักแนวทางที่ควรเดิน แต่กระนั้นแม้แต่ครูเองก็ตาม เมื่อฝึกวิชา  ดูหลำแล้วหากจิตใจไม่มั่นคงก็อาจไม่สามารถควบคุม ความมืด' ในตัวเองได้ 

 

อาจเป็นการตีความที่เกินไปและสุ่มเสี่ยงต่อความอ่อนไหว แต่ในเมื่อหนังเรื่องนี้เป็นภาพสะท้อนของสถานการณ์ปัจจุบัน หนังจึงคล้ายกำลังกระซิบบอกให้เรานึกถึงศาสนาอิสลามอัน ลึกลับ' ในสายตา คนนอก' และบรรดาโต๊ะครูตามปอเนาะต่างๆก็กำลังทำหน้าที่ของกระเบนขาว' อย่างลึกซึ้ง

 

ดังนั้น เมื่อ กระเบนขาว' ถูกท้าทายความมั่นคงทางจิตใจด้วยการเกือบต้องสูญเสีย ลูกชาย' หรือ เจ้าชายราไว' (เอก โอรี) ที่บทวางเอาไว้ให้ว่าเป็นฝ่ายผู้ร้ายอย่างแจ่มแจ้งแล้ว วิชาดูหลำหรือ คำสอน' ก็กลายเป็นดาบสองคมที่มีไว้หล่อเลี้ยงความแค้น ครอบงำ และกลายร่างเป็น กระเบนดำ' ที่มีพลังเพิ่มพูนขึ้น แต่ก็หมายความถึงความกระหายเลือดที่มากขึ้น และการแก้แค้นก็เป็นวงจรของการเข่นฆ่ากันไปมาไม่รู้จบอันเป็นปมของสถานการณ์ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ในปัจจุบัน

 

เช่นเดียวกับ อีกาดำ' (วินัย ไกรบุตร) ลูกศิษย์ของ กระเบนดำ' และสมุนของ เจ้าชายราไว' ที่นอกจากฝึกวิชาดูหลำแล้วยังถูกวางความแค้นไว้ให้จากการต้องสูญเสียคนรักเพราะการไปลอบสังหารรายาฮิเจา ผู้นำสูงสุดแห่งลังกาสุกะ เพื่อปูทางยึดอำนาจให้เจ้าชายราไว แต่ผิดพลาดจึงถูก ยะรัง' (เดี่ยว ชูพงษ์ ช่างปรุง) ทหารองครักษ์สังหาร อย่างไรก็ตามหนังได้สร้างความรู้สึกสาสมจากความตาย เสมือนเป็นกรรมของฝ่ายผู้ร้ายที่ก่อขึ้น

 

แต่ในเส้นทางที่คล้ายกันเพียงแต่บทถูกวางไว้แล้วว่าเป็นฝ่ายดี สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ปารี' (อนันดา เอฟเวอริ่งแฮม) จึงเดินไปยังปลายทางที่ตรงกันข้าม ดังนั้นแม้ปารีจะถูกท้าทายด้วยสถานการณ์ที่ต้องสูญเสียภรรยาหรือถูกกลุ่มเจ้าชายราไวฆ่าล้างหมู่บ้าน และเป็นผู้ฝึกวิชาดูหลำตั้งแต่เด็ก เงื่อนไขทั้งหมดภายใต้ความแค้นทำให้ความมืดในใจแข็งกล้าขึ้นและพลังก็สูงขึ้น แต่เมื่อมี ความรัก' และการรู้จัก ปล่อยวาง' จึงทำให้ไม่หลงไปเป็น ปารีดำ' เป็นผู้รักสันติด้วยการเลือกที่จะช่วยลังกาสุกะ ฆ่า' ผู้รุกราน ดังคำกล่าวของเขาในช่วงท้ายเรื่องว่า "เรามาเพื่อหยุด"

 

แต่กระบวนการทางสันติวิธีหรือการตัดวงจรความแค้นแบบที่ปารีเลือกใช้นั่นเองกลับไม่ได้แตกต่างอะไรมากนักกับกระบวนการสันติวิธีของรัฐและคนใน ชาติไทย' มองไปในสถานการณ์ความขัดแย้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เป็น คนมลายู'

 

ประการแรกความเจ็บปวดจากการสูญเสียคงไม่สามารถหยุด' ได้ง่ายดายนัก หากไม่มีความรู้สึกถึงการได้รับความเป็นธรรมและมีการเยียวยาที่เหมาะสม อีกประการหนึ่ง หนังกลับได้สร้างความชอบธรรมในการ ฆ่า' หากมีกลุ่มบุคคลที่กำลังสร้างความไม่มั่นคงให้กับรัฐ เป็นคนอื่น และกลุ่มอำนาจอื่นที่ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับตนเองจึงสามารถถูกรัฐฆ่าให้ตายหรือกวาดล้างได้ แต่เมื่อปารีถูกวางตัวให้เป็นฝ่ายสีขาว แม้เป็นกลุ่มชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันเป็น โจรสลัด' แต่การปล้นฆ่าโจรกลุ่มอื่นจึงเป็นความดี และเมื่อเริ่มต้นมีความรักครั้งใหม่กับอุงงูจึงมีความผูกพันธ์ทางใจกับฝ่ายรัฐหรือลังกาสุกะ (หลังภรรยาถูกฆ่าตายอย่างโหดร้ายไม่กี่เดือน) เขาจึงได้รับความชอบธรรมจากคนดูเพียงพอให้หยุดฝ่ายสีดำได้ด้วยการ ฆ่า' และกวาดล้างขบวนการฝ่ายตรงข้ามให้หายไปเพื่อตัดวงจรความแค้นที่ตามล้างกันไม่รู้จบ

 

สิ่งที่สะท้อนผ่านหนังจึงย้อนกลับมาหาตัวเราเองผ่านการทำให้เรารู้สึกตลอดเวลาว่าการเป็นพวกเดียวกันกับ ฝ่ายดี' จะทำให้เรามีความชอบธรรมในการฆ่า คนอื่น' ได้มากกว่า ในขณะที่ฝ่ายสีดำจะไม่สามารถอธิบายว่า หยุดด้วยการฆ่า' ได้ด้วยเหตุผลแบบเดียวกัน

 

นอกจากนี้ ปืนใหญ่จอมสลัดยังสร้างผลิตคำอธิบายให้กับรัฐให้สร้างความชอบธรรมในการผูกขาด อำนาจ' โดยมี มหาปืนใหญ่' หรือองค์ความรู้ในการผลิตเป็นสัญลักษณ์ของแสนยานุภาพที่ทุกฝ่ายต้องการช่วงชิง

 

ดังนั้นเมื่อบทหนังเลือกที่จะเลี่ยงการมีอยู่ของรัฐปตานีที่สถาปนาขึ้นแล้วในคาบสมุทรมลายู ภายใต้การคุกคามที่รายล้อมและสั่นคลอนความมั่นคงไม่ว่าจะทั้งจากมหาอำนาจในยุคนั้นอย่างกรุงศรีอยุธยา หรือรัฐอื่นที่ก่อตัวขึ้นมาในเช่นกัน เช่น ยะโฮร์ ปาหัง หรือกลุ่มอิสระอื่นๆที่รวมตัวกันเป็น โจรใต้' อีกหลายกลุ่ม การดักปล้นสินค้าและอาวุธจึงมีความหมายของการไม่ยอมรับอำนาจและช่วงชิงผลประโยชน์ของรัฐส่วนกลาง

 

การย้อนกลับไปใช้คำว่า อาณาจักรลังกาสุกะ' จึงสร้างความหมายของการปฏิเสธการมีอยู่ของรัฐอิสลามในคาบสมุทรมลายูที่ตั้งตัวเป็นอิสระจากสยาม และลังกาสุกะในความรับรู้ของผู้ดูก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการกำลังดูหนังประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาอีกเรื่องหนึ่ง และเมื่อ ลังกาสุกะ' ถูกวางตัวตนให้เป็น กรุงศรีอยุธยา' ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็คงอนุมานต่อได้ว่า กรุงศรีอยุธยา' เท่ากับ สยาม' และ สยาม' ก็คือ ไทย' ในปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อมีคนอื่น (กลุ่มโจรสลัด = กลุ่มมลายูแบ่งแยกดินแดน) มาท้าทายอำนาจและมีอาวุธ (มหาปืนใหญ่ = การปล้นปืน การลอบวางระเบิด การลอบสังหาร ฯลฯ) ที่มีแสนยานุภาพจึงเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้

 

ปืนใหญ่จอมสลัดจึงได้ผูกเรื่องและวางฝ่ายคนดีทั้งหมดรวมกันไว้ที่ ลังกาสุกะ' อันเป็นภาพตัวแทนของรัฐส่วนกลาง ในขณะที่ผู้ท้าทายทั้งหมดถูกวางไว้ที่ ฝ่ายดำ' เป็นกลุ่มโจร เป็นคนเลวแถมยังต่อต้านรัฐ ดังนั้นความหมายสุดท้ายที่แฝงไว้ก็คือพวกเหล่านี้ล้วนกำจัดได้

  

ปืนใหญ่จอมสลัดจึงเป็นหนังที่น่าเสียดายอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งที่มีความพร้อมในหลายๆด้าน มีความแหลมคมของสถานการณ์ปัจจุบันที่อาจช่วยนำไปสู่ความสนใจในพื้นที่และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ลดอคติอย่างแท้จริงได้ งบประมาณสนับสนุนก็ถือว่าไม่ขี้เหร่ และที่สำคัญคือมีนักแสดงฝีมือดีไม่ว่าจะดารารุ่นเก๋าอย่างสรพงษ์ ชาตรี หรือจารุณี สุขสวัสดิ์ มีพระเอกมากฝีมืออย่างอนันดา เอฟเวอริ่งแฮม มีนักแสดงที่ล้วนจดจำบทบาทกันได้จากฝีมือที่ฝากไว้เมื่อครั้ง  ‘2499  อันธพาลครองเมือง' ไม่ว่าจะเป็นเจษฎาพร ผลดี, อรรถพร ธีมากร, ชาติชาย งามสรรพ์, หรือศุภกร กิจสุวรรณ 

 

แต่หนังไม่ค่อยปล่อยให้ตัวละครเหล่านั้นได้แสดงอารมณ์ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติอย่างหนังที่นนทรีเคยทำในเรื่องที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น 2499 เองหรือในหนังเรื่อง นางนาก' ก็ตาม แต่กลับดูเหมือนจะสนใจโปรดัคชั่นหรูหราอลังการเสียมากกว่า

ดังนั้น ปืนใหญ่จอมสลัด แม้ว่ามีภาพของนักแสดงมากมายปรากฏตัวออกมา แต่กลับถูกลดทอนให้กลายเป็นบรรยากาศของงานเลี้ยงรุ่นที่แค่ยืมหน้ามาใช้ให้กล้องวิ่งผ่าน ที่สำคัญยังยืมรูปแบบการนำเสนอจากหนังเรื่องอื่นๆมาใช้มากเกินกว่าการเป็นแรงบันดาลใจจนทำให้เสียความเป็นตัวของตัวเองในการทำหนัง ไม่ว่าจะเป็นคาแร็กเตอร์ตัวละครอย่างกระเบนขาว/ดำที่ชวนให้นึกถึงพ่อมดแกนดาร์ฟ พวกโจรสลัดที่ไม่สลัดภาพของแจ็ค สแปโร่ ส่วนคิวบู๊ก็เหมือนจะโชว์ออฟจนเป็นองค์บากภาค 1 ครึ่ง หรือฉากในรั้วในวังก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าแตกต่างอะไรไปจากนเรศวรหรือสุริโยไทของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

 

ที่สำคัญ การยอมตายเพื่อชูอุดมการชาติแบบกามิกาเซ่ของ ยะรัง' ทหารองครักษ์แห่งลังกาสุกะในตอนท้ายเรื่อง คงเป็นสัญญาณแทนคำตอบของหนังทั้งเรื่องไปแล้วว่า มหาปืนใหญ่' กระบอกนี้กำลังเล็งไปที่ใครกันแน่....

 

บล็อกของ Cinemania

Cinemania
นพพร ชูเกียรติศิริชัย   “การที่ใครจะเป็น ‘modern’ (ทันสมัย) เขาคนนั้นก็จะต้องคงไว้ซึ่งจิตวิญญาณแห่งการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และพร้อมทุกเมื่อที่จะละทิ้งและตัดขาดจากของเก่าที่ดำรงอยู่ (tradition) และที่สำคัญ คือ พร้อมทุกเมื่อที่จะละทิ้งและตัดขาดจากตัวตนของตัวเองที่ดำรงอยู่ ถ้าตัวตนเป็น modern ก็ต้องพร้อมที่จะละทิ้งความเป็น modern ด้วยเหตุผลของความเป็น modern เอง”  “ในการจะเป็น modern มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเป็น postmodern หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าใครจะเป็น modern เขา หรือเธอคนนั้นก็จะต้องเป็น postmodern มิฉะนั้นแล้ว เขาก็ไม่สามารถเป็น modern ได้” (Jean-Francois…
Cinemania
นพพร ชูเกียรติศิริชัย   ผมชอบคำว่า ‘เพื่อนบ้าน' (Neighbor) เนื่องจากผมเล็งเห็นว่า คำว่า ‘เพื่อนบ้าน' นั้นดูจะมีความหมายในการมอง ‘มนุษย์' ที่อยู่รอบๆ ตัวของผู้พูด ผู้เขียน ผู้ใช้ คำๆ นี้ในแง่ดี (Positive Thinking) ส่วนคำว่า ‘จ๊ะเอ๋' นั้น ผมจำได้ว่าเป็นคำที่ผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน (รวมทั้งตัวผม) มักจะใช้เล่นกับเด็กๆ ด้วยการเอามือ ผ้า หรือสิ่งของอื่นๆ ที่หาได้สะดวก ปิดหน้าปิดตาของตัวผู้ใหญ่เอง (หรือใช้ปิดตาเด็ก) หลังจากนั้นจึงเปิดหน้าออกพร้อมรอยยิ้มแล้วกล่าวคำว่า ‘จ๊ะเอ๋' ซึ่งเด็กๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะชอบและมักจะมอบรอยยิ้มหรือเสียงหัวเราะเป็นการแสดงความพึงพอใจต่อการละเล่นชนิดนี้…
Cinemania
  นพพร ชูเกียรติศิริชัย    บางครั้งผมก็รู้สึกเบื่อหน่ายที่จะต้องหอบสัมภาระมากมายเข้าไปในโรงภาพยนตร์ปัจจุบันผมแอบสงสัยว่าเหตุใดความสุขในการชมภาพยนตร์แบบเมื่อครั้งยังเป็นเด็กจึงสูญหายไป จนเมื่อมีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่อง ‘สะบายดีหลวงพระบาง'จึงทำให้ผมรับรู้ว่าแท้จริงแล้วความสุขในวัยเด็กของผมไม่ได้หายไปไหน แต่หนังสือ ตำรา คำวิพากษ์วิจารณ์ ที่ผมแบกเอาไว้ในสมองต่างหากที่บดบังความสุขแบบที่เราคุ้นเคย 
Cinemania
นพพร ชูเกียรติศิริชัย ถ้าหาก E เท่ากับ EMOTION (อารมณ์ รัก โลภ โกรธ หลง และ อื่นๆ), M เท่ากับ MAN (มนุษย์ไม่ว่าหญิง ชาย และอื่นๆ) และ C เท่ากับ CLOCK (ซึ่งหมายถึงระยะเวลา) จากสมการ E=mc2คุณคิดว่า ‘จำนวนของบุคคล' ที่เหมาะสมกับ ‘ความรัก' จะเท่ากับเท่าไหร่? รัก/สาม/เศร้า ตามสมการ รัก/สอง/สุข และเวลาแค่ไหนถึงจะพอสำหรับ ‘รัก' ‘รัก/สาม/เศร้า' เป็นเรื่องราวของเพื่อนรักสามคน ที่ ‘แอบรัก' กัน ในฐานะที่มากกว่าเพื่อน ‘น้ำ' แอบรัก ‘พายุ' ‘พายุ' แอบรัก ‘ฟ้า' โดยที่ตัวฟ้าเองก็ไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยว่าพายุแอบรักตนเอง (และก็ไม่เคยรับรู้เช่นกันว่าเพื่อนรักของตนอย่าง ‘น้ำ' ก็แอบรักเพื่อนรักอย่าง ‘พายุ'…
Cinemania
  < นพพร ชูเกียรติศิริชัย >     หากพูดถึงประเทศจีน คุณนึกถึงอะไร? กังฟู, ก๋วยเตี๋ยว, หมีแพนด้า,มังกร, ลูกท้อ,ซาลาเปา, ปรัชญาลัทธิเต๋า และภูเขาสูงหน้าตาแปลกๆ   หากสิ่งเหล่านี้คือคำตอบของคุณ นั่นก็หมายความว่า คุณพร้อมแล้วที่จะไปสัมผัสกับภาพยนตร์ ‘KUNG FU PANDA’ หรือในชื่อภาษาไทยว่า ‘กังฟูแพนด้า จอมยุทธพลิกล็อค ช็อคยุทธภพ’   ผมไม่แน่ใจว่าหมีแพนด้าถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของ ‘มิตรภาพ’ ระหว่างประเทศจีน กับประเทศอื่นๆ ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ที่แน่ๆ บทบาทความเป็น ‘ทูตสันติภาพ’ ของหมีแพนด้า ในบัดนี้ได้ถูกนำเสนอผ่านจอภาพยนตร์ฮอลีวู้ดไปเป็นที่เรียบร้อย 
Cinemania
   ปิติ-ชูใจท่ามกลาง ‘หนังซัมเมอร์' ที่ดาหน้ากันมาถมจนเต็มพื้นที่ในโรงภาพยนตร์ช่วงฤดูร้อน ทางเลือกของคนดูหนังใน ‘โรงหนังชั้นนำใกล้บ้านคุณ' ก็ยังไม่ได้หลากหลายอะไรนัก เพราะแนวทางหลักๆ ของหนังซัมเมอร์ที่เห็นอยู่ตอนนี้ก็มีแค่ แอ๊กชั่น, ตลก, สยองขวัญ และอนิเมชั่น กรณีที่อยากดูหนังนอกกระแส ก็ต้อง ‘เข้าเมือง' กันอย่างเดียว เพราะที่ทางของหนังเหล่านี้ยังกระจุกตัวอยู่ที่สยามหรือไม่ก็สุขุมวิทแค่นั้น (ซึ่งมันก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ในยุคที่หนังถูกจำกัดความหมายให้เป็นแค่เครื่องมือผ่อนคลายและสร้างความบันเทิง) แต่อย่างน้อยที่สุด หน้าร้อนปีนี้ยังมีหนังไทยน่าสนใจอยู่ 2 เรื่อง ที่พอจะแหวกกระแสเดิมๆ…
Cinemania
   ::: ข้อความหลังเส้นประของข้อเขียนชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ ::: โดย...ณภัค เสรีรักษ์ภาพยนตร์พูดภาษาอังกฤษเรื่องแรกของผู้กำกับชื่อดัง ‘หว่องการ์ไว' (Wong Kar Wai) ที่เพิ่งเข้าฉายให้ผู้ชมในดินแดนประเทศไทยได้ชมกันตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่เพิ่งจะผ่านมา (2008) ที่มีชื่อว่า My Blueberry Nights นั้น อาจมีประเด็นต่างๆ นานาให้สามารถสร้างบทสนทนากันได้มากมายและยาวนาน แต่สำหรับในที่นี้นั้น ผมอยากจะ ‘หยิบเลือก' เพียงบางประเด็นมา ‘อ่าน' หรืออีกนัยหนึ่ง ‘สนทนา' เกี่ยวกับ ‘ตัวละคร' ในภาพยนตร์ดังกล่าว ภายใต้ความคิดเกี่ยวกับเรื่อง ‘ความทรงจำ' ซึ่งสะท้อนร่วมกับความคิดเกี่ยวกับ ‘…
Cinemania
Between the FramesE-mail: betweentheframes@gmail.com:::Spoil::: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาที่สำคัญของภาพยนตร์ :::Spoil::: "All those gathered here will know that it is not by sword or spear that the LORD saves; for the battle is the LORD's, and He will give all of you into our hands."                                                   …
Cinemania
 :::Spoil::: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาที่สำคัญของภาพยนตร์ :::Spoil::: เวลา 2 ชั่วโมงกว่า (158 นาที) ในหนัง There will be blood - ผลงานเรื่องที่ 5 ของผู้กำกับ Paul Thomas Anderson คือเรื่องราวในด้านที่มืดดำของมนุษย์ เต็มไปด้วยความโลภ ความอ่อนแอ สันดานดิบ และแน่นอน...มันรวมไปถึง ‘การสร้างศรัทธา' ด้วยวิธีการอันน่าขนลุกด้วย...เราได้รู้จัก ‘เดเนียล เพลนวิว' (Daniel Day-Lewis) นักเสี่ยงโชคที่ตั้งใจทำเหมืองเงิน แต่บังเอิญได้ที่ดินซึ่งมีน้ำมันดิบนอนสงบนิ่งอยู่ใต้พื้นมาแทน โลกของเดเนียลไม่มีคำว่า ‘สุดแท้แต่โชคชะตา' หรือ ‘ศรัทธา' ไม่มีแม้กระทั่งคำว่า ‘พระผู้เป็นเจ้า'…
Cinemania
ซาเสียวเอี้ยการไล่ตีแมลงสาบบนฝาบ้าน อาจเป็นเกมสนุกสนานอย่างหนึ่ง และเพียงสายลมเย็นจากพัดลมมือสองที่เป่าไล่ความร้อนในค่ำคืนอบอ้าวอาจเป็นถึง ‘รางวัลชีวิต' ของสองพ่อลูกผู้ยากจน...ผู้อาศัยอยู่ในโลกแห่งความแร้นแค้นทั้งหมดที่่ว่ามา-อาจฟังไม่ต่างจากสงครามชีวิตสุดรันทด (บัดซบ!) แต่เมื่อเรื่องราวเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านมุมมองของ ‘โจวซิงฉือ' ไอ้สิ่งที่ควรจะเศร้า...กลับทำให้เราหัวเราะออกมาได้000ถึงแม้ว่าหน้าหนังของ CJ7 จะถูกโฆษณาว่าเป็นแนว Sci-fi แต่ ‘ใจความสำคัญ' ที่อยู่ในนั้น ไม่ใช่ ‘ความลี้ลับ' ของจักรวาลอันกว้างใหญ่ หรือถ้าจะพูดให้ชัดๆ ก็ต้องบอกว่า นี่คือหนังครอบครัวแนว Comedy-Drama ที่ให้ ‘…