อนาคตของชาติ สู้ๆ สู้ตาย!

 

  

ปิติ-ชูใจ

ท่ามกลาง หนังซัมเมอร์' ที่ดาหน้ากันมาถมจนเต็มพื้นที่ในโรงภาพยนตร์ช่วงฤดูร้อน ทางเลือกของคนดูหนังใน โรงหนังชั้นนำใกล้บ้านคุณ' ก็ยังไม่ได้หลากหลายอะไรนัก เพราะแนวทางหลักๆ ของหนังซัมเมอร์ที่เห็นอยู่ตอนนี้ก็มีแค่ แอ๊กชั่น, ตลก, สยองขวัญ และอนิเมชั่น กรณีที่อยากดูหนังนอกกระแส ก็ต้อง เข้าเมือง' กันอย่างเดียว เพราะที่ทางของหนังเหล่านี้ยังกระจุกตัวอยู่ที่สยามหรือไม่ก็สุขุมวิทแค่นั้น (ซึ่งมันก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ในยุคที่หนังถูกจำกัดความหมายให้เป็นแค่เครื่องมือผ่อนคลายและสร้างความบันเทิง)

แต่อย่างน้อยที่สุด หน้าร้อนปีนี้ยังมีหนังไทยน่าสนใจอยู่ 2 เรื่อง ที่พอจะแหวกกระแสเดิมๆ ออกไปได้บ้าง 

เรื่องแรกคือ อรหันต์ซัมเมอร์' ที่ชูประเด็น การบวชสามเณรภาคฤดูร้อน' มาเป็นจุดขาย กับอีกเรื่องคือ ดรีมทีม' ของผู้กำกับจอมเสียดสี (เรียว กิติกร) ที่ปีนี้มาพร้อมกับการขายความน่ารักของเด็กๆ อนุบาล วัยกำลังซน

ทั้งสองเรื่องมีความพ้องต้องกันประการหนึ่ง คือ เป็นหนังที่ผู้ปกครองสามารถพาเด็กๆ ไปดูได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีคำหยาบคายประเภท เหี้ย-ห่า และสารพัดสัตว์' หลุดออกมาให้เด็กๆ ได้ยิน...(ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นจุดขายที่แข็งแรงของหนังไปได้ยังไง--ก็ยังงงๆ อยู่เหมือนกัน)

ทั้งสองเรื่องเป็นหนังที่ดูเพื่อเน้นขำ เน้นฮา อย่างเดียวก็ได้ หรือจะดูเพื่อให้เห็นภาพสะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยก็ยังได้ เพราะเรื่องใหญ่ใจความของทั้งอรหันต์ฯ และดรีมทีม คือการมองจากมุมของเด็กๆ ที่ถูกวางภาระแห่งการเป็น อนาคตของชาติ' ไว้บนบ่า

ใน อรหันต์ซัมเมอร์' เรื่องราวเริ่มต้นที่บรรดาพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ส่งตัวลูกหลานไปบวชเณรด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป บางรายต้องการดัดนิสัยและสร้างวิันัยให้ลูก ส่วนบางรายหวังจะเกาะชายผ้าเหลืองลูกขึ้นสวรรค์ ในขณะที่ผู้ปกครองอีกบางคนจำต้องส่งลูกหลานไปสู่สถาบันศาสนาด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่โดยรวมแล้วก็คือ ผู้ปกครองส่วนใหญ่หวังว่า ศาสนา' จะช่วยกล่อมเกลาและสั่งสอนให้ลูกหลานของตัวเองเป็น คนดี' ต่อไปในอนาคต

ส่วนเรื่อง ดรีมทีม' ที่ผู้กำกับบอกว่า ไม่มีนัยยะทางการเมืองแอบแฝง' ก็พุ่งประเด็นไปที่การแข่งขันชักเย่อของเด็กอนุบาลที่มุ่งสู่สนามระดับชาติ โดยมีผู้ปกครองหลากหลายประเภทคอยสนับสนุน ชี้นำ หรือไม่ก็คอยสร้างความวุ่นวายปั่นป่วนไม่แพ้เด็กๆ ที่ยังไม่รู้เดียงสาในเรื่อง

เรื่องราวของสามเณรแสนซนอย่าง ข้าวปั้น, นะโม, น้ำซุป, บู๊ ฯลฯ และเรื่องราวของน้องหัวแก้ว, เป๊ะ, เซน 1, เซน 2, อะตอม, ภูมิ ฯลฯ จึงเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่พวกเขาเหล่านั้นได้เผชิญร่วมกันในฤดูร้อนหนึ่งซึ่งจะส่งผลกับทิศทางชีวิตของพวกเขาในทางใดทางหนึ่งในอนาคต

และประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือว่า พวกเขาจะรับมืออย่างไรกับความคาดหวังของผู้คนรอบข้าง

การเรียนรู้ร่วมกันของเหล่าสามเณรในอรหันต์ซัมเมอร์' ทำให้พวกเขามีศัตรูร่วมกัน (ในตอนแรก) คือความเข้มงวดกวดขันของหลวงพี่และหลวงพ่อในเรื่อง

การรวมตัวกันโดยอัตโนมัติของเหล่าสามเณรภาคฤดูร้อนจึงเกิดขึ้น เพื่อแข็งขืนต่อข้อปฏิบัติอันเคร่งครัดและเพื่อทำตามที่ธรรมชาติเรียกร้อง เช่น ร้องเพลงเมื่ออยากร้อง หรือต้มมาม่ากินเมื่อหิว

แน่นอนว่า การกระทำเหล่านี้ไม่ใช่การกระทำในฐานะสามเณร แต่เป็นการกระทำตามประสาเด็กทั่วไป แต่เมื่อพวกเขาอยู่ในสถานะซึ่งต้องดำรงไว้ซึ่ง คุณงามความดีในฐานะผู้สืบทอดศาสนา' (และอนาคตของชาติ) การฝืนธรรมชาติของเด็กทำให้เกิดการเรียนรู้ว่า พวกเขาควรจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรต่อกฎอันเคร่งครัดและความคาดหวังของพ่อแม่พี่น้องลุงป้าน้าอาที่คิดกันง่ายๆ ว่า ผ้าเหลือง' จะเป็นเครื่องมือบ่มนิสัยอันดีงามของเด็กได้

ทั้งที่ในความเป็นจริง ใต้ร่มเงาของศาสนา ก็ยังมีปัญหาที่แก้ไม่ตกอยู่หลายเรื่อง เห็นได้จาก พุทธศาสนิกชน' ในเรื่องอรหันต์ซัมเมอร์ ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในทางวัยวุฒิกันแล้ว แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับพระธรรมคำสอนยังไม่ไปถึงไหน และคนส่วนใหญ่ยังติดอยู่แค่เปลือกของพิธีกรรมเท่านั้น

ฉากที่สามเณรเจ้าปัญญาพยายามรักษาอาการคลุ้มคลั่งของ ผี' ในจิตใจผู้ใหญ่ ด้วยการมุ่งชี้ไปที่ต้นเหตุของปัญหา ซึ่งผู้กำลังมีทุกข์เท่านั้นจะรู้ว่า ต้นตอแห่งความทุกข์ของตัวเองคืออะไร แต่ หลวงพี่ใบบุญ' (ตูน เอเอฟ 3) ผู้อบรมสั่งสอนสามเณร กลับต้องไปเตรียมน้ำมนต์เพื่อมา ปราบผี' อย่างไม่เต็มใจนัก หลังจากถูกบรรดาญาติโยมกดดันอยู่พักใหญ่

ถ้าดูแบบไม่คิดอะไร...มันก็คงไม่มีอะไร แต่เมื่อคิดไปแล้ว ก็จะเห็นได้เองว่า ในขณะที่บรรดาพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่พร่ำภาวนาถึงความดีงามของศาสนา และทะนงตนว่าตัวเองเป็นชาวพุทธที่ดี แต่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับ ปัญหา' พวกเขากลับคิดถึงแต่วิธีที่เป็นไสยศาสตร์มากกว่าจะคำนึงถึงหลักธรรมคำสอนซึ่งเป็น แก่นแท้' ของศาสนา และหวาดกลัวเสียจนหลงลืมไปว่าความรัก โลภ โกรธ หลง เกลียดแค้น ชิงชัง เป็นอารมณ์ปกติของมนุษย์ ซึ่งแน่เสียยิ่งกว่าแน่ว่า มันซุกซ่อนอยู่ในตัวเราทุกคน'

แทนที่จะมุ่งสู่การดับทุกข์และพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้น พุทธศาสนิกชนจำนวนมากนี่แหละ ที่มุ่งหน้าเข้าสู่ตรรกะที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องของการบำบัดทุกข์ในใจตน กลับมองว่าบุคคลอื่นๆ ต่างหากที่เป็นสาเหตุแห่งทุกข์และพยายาม กำจัด' ทิ้ง มันถึงได้เกิดเป็นปัญหาตามมาเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

ความงดงาม' ของศาสนาที่ถูกถ่ายทอดออกมาให้เห็นในอรหันต์ซัมเมอร์จึงไม่ได้อยู่ที่ความดีงาม' แต่ไปตกอยู่ที่การ ตระหนักรู้' ถึงธรรมชาติของสรรพสิ่งว่ามีความงดงามเฉพาะตัวของมันอย่างไรมากกว่า

ชั้นเชิงในการนำเสนอภาพของศาสนาของหนังเรื่องนี้จึงไม่ได้แบนราบ และพร่ำสอนถึงการทำความดีเพียงอย่างเดียว แต่มีทั้งการเรียนรู้จากความจำยอม, ความผิดพลาด, ความโง่เขลา หรือความถือดี

สามเณรที่ดูเหมือนจะมีอนาคตไกล หากไม่ได้เรียนรู้หรือทำความเข้าใจในภาวะต่อมาของชีวิต ก็มีสิทธิ์หลงผิดได้พอๆ กับเด็กทั่วไปที่ไม่เคยเฉียดใกล้ชายผ้าเหลือง หรือผู้ยากไร้ที่ต้องเลือกอะไรบางอย่างด้วยภาวะแห่งความจำยอม อาจแปรเปลี่ยนให้มันเป็นโอกาสทองของชีวิตก็ย่อมได้

มันจึงไม่เกี่ยวกับว่า เรามี โอกาส' ในการเลือกหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสร้างโอกาสอย่างไรจากสิ่งที่ได้เลือก (หรือ ต้อง' เลือก) ไปแล้ว

ส่วนความตั้งใจของกลุ่มเด็กอนุบาลใน ดรีมทีม' แรกเริ่มมีแค่ว่า พวกเขาอยากเล่นเกมชักเย่อ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการออกเสียงว่า ชัก-เย่อ' หรือ ชัก-กะ-เย่อ' มันก็คือเกมที่ผู้แข่งขันทั้งสองฝ่ายยืนอยู่คนละด้านของปลายเชือก และใครที่มีแรงสาวได้มากกว่า ฝ่ายนั้นก็คือ ผู้ชนะ'

เกมชักเย่อกลายเป็นเรื่องใหญ่โตเมื่อคำว่า ชัยชนะ' เข้ามาเกี่ยวพัน จากความสนุกสนานธรรมดาๆ กลายเป็นภารกิจยิ่งใหญ่ที่ต้องอาศัยโค้ช (ฟุตบอล) ทีมชาติมาเป็นตัวช่วย และความคาดหวังว่า เด็กๆ ต้องชนะ' ก็เป็นภาระที่ต้องแบกรับเพิ่มมาอีกหนึ่งเรื่อง

แม้ผู้กำกับกิตติกรจะบอกว่าหนังดรีมทีมไม่มีประเด็นแอบแฝง แต่มันก็ยังตีความได้อยู่ดีว่า ในสังคมไทยนี้ไซร้...มีผู้ใหญ่มากมายคอยอยู่เบื้องหลังเด็กๆ เต็มไปหมด

ผู้ใหญ่บางคนอาจจะทำตัวน่ารักน่าเอ็นดูด้วยการวิ่งเข้าหาผู้ใหญ่อีกคน เพื่อให้สมผลประโยชน์ของตัวเองและเด็กในความดูแล เช่น แม่ของน้องเซน 1' (เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์) ซึ่งพยายามล็อบบี้โค้ชทีมชักเย่อในทุกครั้งที่มีโอกาส เพื่อให้ลูกชายของตัวเองได้อยู่ในตำแหน่งหัวหน้าทีม หรือไม่อย่างนั้นก็จะมีคนอย่าง พ่อของน้องเซน 2' (คมสัน นันทจิต) ซึ่งพยายามปลูกฝังเข้าสู่หัวลูกอยู่ทุกบ่อยว่า ที่หนึ่งคือผู้ชนะ' และ ต้องชนะเท่านั้นถึงจะดี'

จะว่าไปแล้ว การกระทำของผู้ใหญ่ในหนังดรีมทีม ไม่ได้น่าเกลียดโฉ่งฉ่างอะไร และค่อนไปในทางฉันทาคติที่เกิดจากความลำเอียงเพราะรัก' โดยแท้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนทั่วไป แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง ก็คงจะซึ้งว่า ด้วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ น่ารักน่าเอ็นดูแบบนี้แหละ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นเงาตามตัว ตามวันและวัยของผู้ที่เติบใหญ่ในสังคมแห่งการแข่งขัน

วัฒนธรรม ตัวกู-ของกู-พวกพ้องกู ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ชั่วเวลาข้ามวัน แต่มันต้องสั่งสมกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งบางทีมันอาจจะเริ่มต้นด้วยเรื่องขี้ปะติ๋วแบบนี้แหละ และเราก็มักจะมองข้าม หลงลืม หรือเพกเฉยกับความอคติของตัวเอง (แล้วไปเข้มงวดกวดขันกับการสร้างมาตรฐานให้คนอื่นปฏิบัติตามแทน)

ในโลกที่ไม่ต้องการความพ่ายแพ้ ที่อยู่ที่ยืนของคนแพ้จึงมีน้อย แม้แต่ในหนังดรีมทีมเอง ก็มีที่ทางให้กับการพ่ายแพ้เพียงเล็กน้อย ทั้งที่ผู้กำกับพยายามเสนอว่า ที่หนึ่งไม่ใช่ทุกอย่าง' แต่ก็ยังไม่ชัดเจนฟันธงพอที่จะทำให้เห็นว่า การเป็นที่สอง' หรือ การเป็นผู้แพ้' มีรสชาติอย่างไร ซึ่งอันที่จริง (ความคิดเห็นส่วนตัว) มันน่าสนใจกว่าเป็นผู้ชนะเสียอีก

ถึงกระนั้นก็เถอะ...รอยยิ้มของเด็กๆ ในเรื่องดรีมทีมก็เป็นสิ่งที่คนดูปรารถนาจะได้เห็นมากกว่ารอยน้ำตา และเตือนให้คนดูอย่างเราได้รู้ว่า ที่แท้แล้วเราก็เสพติดในชัยชนะไม่แพ้คนอื่นๆ ในสังคมหรอก...(-__-")

 

 

ความเห็น

Submitted by ท่านโอยาชิโร่ on

ฉันเสนอให้คนที่แพ้เอาเชือกมารัดคอทีมที่ชนะน่ะ
จะสะใจมาก

Submitted by third eye on

^
^
^
เง้อ...
ท่านโอยาชิโร่ท่าจะเครียดนะ
ไปพักผ่อนซะมั่งล่ะ

Submitted by แอร๋ยยย โจรปล้นใจนี่ on

การเสพหนังของคุณ แล้วเผื่อแผ่ความดีของหนังออกมาทำให้เรามองเห็นภาพของสังคมที่หนังซ่อนตรง ๆ และอ้อม ๆ ได้อย่างน่าสนใจมากครับ

ผมชอบที่ช่วงท้ายของหนัง
ขณะที่หนังกำลังทำความเข้าใจกับคนดู
ด้วยวาทะเดิมๆ ว่า
"ไม่ต้องชนะก็ได้ ขอจงทำให้ดีที่สุด"

จากนั้นไม่นาน ชัยชนะก็ตกเป็นของดรีมทีม
ด้วยมุขตกกระไดพลอยโกง
แต่ใครจะสน ในเมื่อชนะแล้ว

Accepted เมื่อพวก 'ขี้แพ้' อยากชวนตี

 


 
 
ซาเสียวเอี้ย
 
แต่ไหนแต่ไรมา...ระบบการศึกษาในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลกมักถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการ ‘ดับฝัน’ ของคนวัยหนุ่มสาว เพราะทำให้ความอยากรู้อยากเห็นและกระตือรือร้นที่จะ ‘เรียนรู้’ สิ่งแปลกใหม่ในวัยเยาว์ถูกลบเลือนหายไปในกรอบ-กฎเกณฑ์-เหตุผล-เงื่อนไข และข้อเท็จจริงทั้งหลายทั้งปวง (ซึ่งถูกกำหนดขึ้นโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีโอกาสเกิดมาใช้ชีวิตบนโลกก่อนหน้าเรา...)
 
กระนั้น...ใครหลายคนก็ยังยินดีเดินตามแนวทางหรือเงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกวางไว้แล้วโดยไม่เคยคิดตั้งคำถาม เพื่อแลกเปลี่ยนกับ ‘การยอมรับ’ จากสังคมรอบข้าง...เพื่อที่มนุษย์ทั้งหลาย (ซึ่งเป็นสัตว์สังคม) จะได้ไม่ต้องรู้สึกวุ่นวายใจไปกับความโดดเดี่ยวแปลกแยกหรือแหกคอก
 
การตั้งคำถามกับระบบการศึกษาจึงเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส และไม่ค่อยมีใครกล้าลุกขึ้นมาปฏิเสธระบบกันมากนัก แม้จะมีกระแส ‘Drop Out’ ที่ชักชวนให้นักเรียนนักศึกษาหันหลังให้กับตำราและออกไปเผชิญโลกกว้างอยู่บ้างในยุคหนึ่งทางซีกโลกตะวันตก แต่กาลเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเป็นอย่างบิล เกตส์ หรือสตีฟ จ๊อบส์ได้...
 
                                                                00000
 
แต่ในภาพยนตร์ตลกวัยรุ่นฮอลลีวู้ดที่ออกฉายปี 2549 เรื่อง Accepted ผลงานเรื่องแรกในฐานะผู้กำกับของ ‘สตีฟ พิงค์’ (อดีตคนเขียนบทหนัง Grosse Point Blank และ High Fidelity และผู้อำนวยการสร้างเรื่อง America Sweetheart) ได้พยายามตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะเป็นคำถามที่มาพร้อมกับลีลาโปกฮามากกว่าจะจริงจังขึงขังอะไรมากมาย แต่ก็เป็นภาพยนตร์วัยรุ่นเรื่องล่าสุดที่พูดถึงปัญหาของระบบการศึกษาออกมาตรงๆ
 
เรื่องราวในหนังเริ่มต้นด้วยการบอกเล่าชะตากรรมของ ‘บาร์เทิลบี เกนส์’ (แสดงโดยจัสติน ลอง จาก Die Hard ภาคล่าสุด) เด็กนักเรียนไฮสคูลปีสุดท้ายที่ยังเคว้งคว้างไร้อนาคต เพราะไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งไหนตอบรับใบสมัครเรียนของเขาเลย ในขณะที่พ่อและแม่ต่างก็คาดหวังว่าลูกชายคนเดียวจะต้องมีอนาคตที่ดีและได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ไหนสักแห่ง ทำให้บาร์เทิลบียิ่งกดดันว่าพ่อกับแม่คงผิดหวังถ้าได้รู้ว่าลูกชายกลายเป็นคน ‘ไร้อนาคต’ ไปเสียแล้ว
 
ขณะที่ ‘เชอร์แมน เชรดเดอร์’ (แสดงโดยโจนาห์ ฮิล) เพื่อนสนิทของบาร์เทิลบี และ ‘รอรี่’ (แสดงโดย มาเรีย เทเยอร์) สาวผมแดงเด็กเรียนเพื่อนร่วมชั้น ล้วนไม่ผ่านการพิจารณาจากมหาวิทยาลัยที่สมัครไปกันถ้วนหน้า ทำให้ทั้งหมดคิดแผนการขึ้นมาตบตาบรรดาพ่อแม่ว่าพวกเขาได้รับการตอบรับเข้าเรียนแล้วจากมหาวิทยาลัยที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ และพวกเขาได้สร้างเว็บไซต์แนะนำมหาวิทยาลัยอุปโลกน์ให้พ่อและแม่เข้าไปดูประกอบคำโกหกให้ฟังน่าเชื่อถือมากขึ้น
 
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยกำมะลอเกิดขึ้นได้เพราะภาพตัดต่อจากโปรแกรมโฟโตชอป แสดงบรรยากาศและอาคารสถานที่สมจริงสมจัง แถมยังมีปุ่มให้ ‘ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาต่อ’ คลิกส่งใบสมัครมาพิจารณากันอีกด้วย และนอกจากพ่อแม่ของทั้งหมดจะเคลิ้มเชื่อตามไปด้วยแล้ว ปรากฏว่านักเรียนนับร้อยคนพลาดหวังจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เสิร์ชเจอข้อมูลปลอมๆ ในเว็บไซต์ก็ยังหลงเชื่อและส่งใบสมัครเข้ามาจริงๆ และระบบอัตโนมัติซึ่งเชอร์แมนเผลอตั้งค่าไว้ก็ดันส่งใบตอบรับเข้าเรียนไปให้คนที่ส่งใบสมัครเข้ามาทั้งหมดจริงๆ อีกเหมือนกัน!
 
ตัวการต้นคิดทั้ง 3 คนจึงต้องไปเช่าอาคารโรงพยาบาลร้างมาปรับปรุงใหม่ให้เป็น ‘สถาบันเทคโนโลยีเซาท์ฮาร์มอน’ หรือ South Harmon Institute of Technology ซึ่งใช้คำย่อว่า S.H.I.T ได้พอดี!! โดยใช้เงินทุนหลักล้านดอลลาร์ซึ่งได้มาจากค่าเทอมที่นักศึกษาบ้าจี้นับร้อยคนโอนมาให้ ก่อนที่ชีวิตใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย (เก๊) จะเริ่มขึ้นอย่างทุลักทะเล
 
ด้วยพล็อตเรื่องเฮฮาและไม่เน้นความสมจริงสมจัง ทำให้หนังไม่ได้รับคำวิจารณ์ในแง่ดีเท่าไหร่เมื่อนำออกฉายในอเมริกา แต่ถ้าพูดถึงเรื่องรายได้ก็ถือว่าไม่เจ็บตัว ถึงอย่างนั้นหนังก็ไม่มีโอกาสได้ฉายในโรงหนังบ้านเราอยู่ดี ส่วนดีวีดีลิขสิทธิ์ที่ออกวางจำหน่ายก็ตั้งชื่อออกแนวเบาสมองว่า ‘จิ๊จ๊ะมหาวิทยาลัยรักแห้ว’ ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของหนังยิ่งเบาโหวงไปกันใหญ่
 
แต่ในความไร้สาระที่เคลือบอยู่ด้านนอก พอกะเทาะปลอกออกพบว่าตัวหนังยังมีแก่นแกนที่ชัดเจน แม้จะดูพยายามจนเกินไปในหลายๆ ฉาก แต่ก็เป็นการตั้งคำถามตรงไปตรงมาชวนให้คิดต่ออยู่ใช่น้อย
 
ไม่ว่าจะเป็นฉากที่บาร์เทิลบีเปิดโอกาสให้นักศึกษาของ S.H.I.T ช่วยกันเสนอหลักสูตรที่แต่ละคนอยากเรียนขึ้นมาแทนที่การ ‘กำหนดหลักสูตร’ ซึ่งยึดตามแนวทางการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาในแบบแผนดั้งเดิม ซึ่งมีกรอบชัดเจนว่านักศึกษามีสิทธิ์เลือกได้เฉพาะสิ่งที่ทางสถาบันเสนอให้เท่านั้น ทว่าไม่มีสิทธิ์เรียกร้องหลักสูตรหรือแนวทางที่แตกต่างออกไป
 
รวมถึงฉากที่บาร์เทิลบีต้องไปชี้แจงหลักสูตรการเรียนรู้ของ S.H.I.T ในฐานะ ‘ผู้ก่อตั้งสถาบันฯ’ ต่อหน้าคณะกรรมาธิการพิจารณามาตรฐานสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านการรับรองคุณภาพและวิทยฐานะของสถาบันการศึกษาตัวจริง นำไปสู่การปะทะคารมว่าอะไรกันแน่ที่จำเป็นและยั่งยืนต่อการดำรงชีวิตมากกว่า ระหว่าง‘การศึกษา’ กับ ‘การเรียนรู้’ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลากหลายแนวทาง และไม่มีใครเป็นผู้ผูกขาดองค์ความรู้อยู่ฝ่ายเดียว
 
00000
 
หากประเด็นที่ Accepted วิพากษ์วิจารณ์อย่างชัดเจนที่สุดก็คือความคับแคบของระบบการศึกษาที่ปฏิเสธความแตกต่างหลากหลายทางวิธีคิดเรื่องการเรียนรู้ และกระบวนการ ‘คัดทิ้ง’ ที่ไม่ต่างจากการประทับตรา (ผิดๆ) ว่าผู้ที่ไม่ผ่านมาตรฐานการคัดเลือกนั้น ‘บกพร่อง’ หรือ ‘ด้อยคุณภาพ’
 

"ในความคิดคำนึงถึงระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นเพียงความสามารถหรือคุณสมบัติเฉพาะด้านเช่นนี้จะต่างอะไรจากระบบสายพานการผลิตผลไม้กระป๋องซึ่งเน้นที่การคัดเลือ 'ผลโตๆ' เป็นหลัก...ผลไม้ลูกเล็กที่ขนาดเล็ก 'ต่ำกว่ามาตรฐาน' ย่อมถูกคัดทิ้งและนำไปแปรรูปเป็นสินค้าอย่างอื่นโดยไม่ได้รับการพิจารณาหรือคำนึงถึงคุณสมบัติภายในอื่นๆ เช่น ความหวาน ความสด หรือความอร่อย แม้แต่นิดเดียว"

 
ขณะที่ในหนัง-บาร์เทิลบีมองว่าบรรดานักศึกษา S.H.I.T ไม่ได้รับการ ‘ยอมรับ’ จากสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นเพราะพวกเขาถูก ‘พิพากษา’ ไปแล้วว่าเป็นพวกขี้แพ้ไม่เอาไหน และเป็นพวกที่ถูก ‘คัดทิ้ง’ จากที่อื่น แต่นักศึกษาของ S.H.I.T ทั้งหมดก็ไม่เคยคิดที่จะหยุดเรียนรู้ในสิ่งที่พวกเขายังไม่รู้...  
 
ประโยคยืดยาวของบาร์เทิลบีในฉากนี้คล้ายจะเป็นแถลงการณ์ของผู้กำกับสตีฟ พิงค์ อดีตนักกิจกรรมทางสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับการบริการชุมชนอยู่พักใหญ่ก่อนจะผันตัวสู่แวดวงบันเทิง แต่ถ้าใครจะมองว่าหนังเรื่องนี้ทำขึ้นเพื่อตอบสนองจินตนาการที่ไม่มีวันเป็นจริงของพวกขี้แพ้ซึ่งอยากตอบโต้ระบบที่ตัวเองไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วม...ก็ย่อมทำได้อีกเช่นกัน
 
แต่ในชีวิตจริงซึ่งทางแก้ปัญหาไม่ได้มีแค่ ก ข ค ง หรือข้อ 1 2 3 4 บางทีการมองต่างมุมเรื่องการเรียนรู้อาจช่วยเตือนสติได้ว่าโลกยังมีอะไรที่มากกว่าและกว้างกว่าการวัดผลคะแนนสอบจากกระดาษคำตอบที่มีตัวเลือกให้เลือกแค่ไม่กี่ข้อ…

 

Charlie Wilson's War : ความตายของชายผู้ปลดปล่อยปีศาจร้าย

 


 
 
 
ซาเสียวเอี้ย
 
‘ชาร์ลี วิลสัน’ ตายแล้ว...
 
แม้การตายของเขาจะไม่ได้ทำให้โลกสะท้านสะเทือนอะไรมากนัก แต่ก็มีความหมายสลักสำคัญมิใช่น้อย เพราะบทบาทของวิลสันในสมัยที่เขายังหนุ่มแน่นและดำรงตำแหน่ง สว.รัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา เป็นประเด็นให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ถกเถียงกันไม่สิ้นสุดว่าควรจะจดจำเขาไว้ในฐานะอะไร...
 
บ้างก็ว่า ชาร์ลี วิลสัน คือ ‘นักการเมืองเจ้าสำราญ’ เจ้าของฉายา Good Time Charlie ผู้มีชีวิตโลดโผนเต็มไปด้วยสีสัน หรือเป็น ‘วีรบุรุษชาวอเมริกัน’ ผู้ช่วยให้นักรบมูจาฮิดีนขับไล่กองทัพสหภาพโซเวียตอันโหดร้ายป่าเถื่อนไปจากอัฟกานิสถาน ขณะที่บางคนมองเขาเป็นผู้จุดชนวนสงครามในต่างแดน และเป็นผู้ปลดปล่อย‘ปีศาจร้าย’ ให้หลุดออกสู่โลกยุคหลังสงครามเย็น...
 
00000
 
แต่ที่แน่ๆ.....ช่วงชีวิตหนึ่งของชาร์ลี วิลสัน ถูกถ่ายถอดออกมาเป็นหนังฮอลลีวู้ดเรื่อง Charlie Wilson’s War ซึ่งออกฉายเมื่อปี 2550 และเป็นผลงานล่าสุดของผู้กำกับไมค์ นิโคลส์ (The Graduate, Birdcage, Closer) พูดถึงปฏิบัติการลับของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ความสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์แก่นักรบชาวอัฟกันที่ต่อต้านการบุกเข้ายึดครองของกองทัพสหภาพโซเวียตระหว่างปี 2522-2533 (ค.ศ.1979-1992)
 
หนังเข้าฉายในบ้านเราอย่างเงียบๆ ไม่ได้มีกระแสอะไรหนุนส่งให้โด่งดังตามสื่อต่างๆ มากนัก แต่หนังก็ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลบนเวทีออสการ์ปี 2551 หลายสาขาด้วยกัน แถมยังได้นักแสดงนำที่มีภาพลักษณ์ดีอย่าง ‘ทอม แฮงค์’ มารับบท ‘ชาร์ลี วิลสัน’ ตามด้วย ‘จูเลีย โรเบิร์ตส์’ รับบท ‘โจแอนน์ แฮร์ริ่ง’ สาวสังคมอนุรักษ์นิยมซึ่งมีตัวตนจริงอีกเช่นกัน และเป็นคนสำคัญอีกคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการลับในสงครามอัฟกานิสถานครั้งที่ 1
 
เมื่อชาร์ลี วิลสัน ‘ตัวจริง’ เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2553 ที่ผ่านมา ก็เป็นโอกาสให้ใครหลายคนได้ทบทวนประวัติศาสตร์กันอีกรอบผ่านการอ่านคำอุทิศและข่าวคราวการเสียชีวิตของวิลสันตามสื่อต่างๆ ทางฝั่งอเมริกาและยุโรป และหนัง Charlie Wilson’s War ก็ถูกหยิบยกมาวิพากษ์ใหม่ด้วย
 
เนื้อหนังบอกเล่าเรื่องราวการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง และการต่อสู้ของอุดมการณ์ต่างขั้วระหว่างเสรีนิยม-อนุรักษ์นิยมในดินแดนเสรีประชาธิปไตยนามว่า ‘สหรัฐอเมริกา’ และแนวทางการพลีชีพปกป้องมาตุภูมิของบรรดานักรบมูจาฮีดินที่ต่อสู้เพื่อดินแดนอัฟกานิสถาน แต่ที่ถูกขุดคุ้ยลึกลงไปกว่านั้นคือการชี้เป้าว่าบทบาทของสหรัฐฯ ที่เข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในประเทศต่างๆ นั้นส่งผล (หายนะ?) อย่างไร
 
ในความทรงจำเลือนลางยุคสงครามเย็น ‘สหภาพโซเวียต’ เคยเป็นเสาหลักในโลกคอมมิวนิสต์ คอยคัดง้างกับมหาอำนาจในโลกทุนนิยมอย่างสหรัฐฯ ซึ่งหวาดผวาว่ากองทัพแดงของบรรดาสหายทั้งหลายจะยึดกุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกจนคุกคามเสถียรภาพของ (ทุนนิยม) ประชาธิปไตยให้สั่นคลอน ผู้นำรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคนั้นจึงพยายาม ‘เตะตัดขา’ ปิดกั้นหนทางแพร่ระบาดของลัทธิคอมมิวนิสต์ในทุกวิถีทาง
 
ไม่ว่าจะเป็นยุคอดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ หรือยุคของโรนัลด์ เรแกน รัฐบาลของผู้นำทั้งสองล้วนให้ความสนใจกับการรุกคืบของโซเวียตเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ จึงได้มีการออกคำสั่งอย่างลับๆ ภายในรัฐบาลสหรัฐฯ ให้หน่วยข่าวกรองและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับตาดูความเคลื่อนไหวในอัฟกานิสถานให้ดี
 
เมื่อโซเวียตเคลื่อนกองทัพเข้าสู่อัฟกานิสถานเพื่อบุกเข้ายึดครองเบ็ดเสร็จ และจัดตั้ง ‘รัฐบาลหุ่นเชิด’ ของประธานาธิบดีบาบรุค คาร์มาล ขึ้นครองประเทศในปี 2523 ทำให้ชาร์ลี วิลสัน ซึ่งมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมค่ายผู้อพยพลี้ภัยชาวอัฟกันบริเวณชายแดนปากีสถาน เกิดความตั้งใจแรงกล้าที่จะช่วยชาวอัฟกัน ‘ขับไล่’ กองทัพโซเวียตออกไป
 
วิลสันกลายเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการต่อรอง จัดสรร และใช้วิธีตุกติกต่างๆ โน้มน้าวให้รัฐบาลยอมอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือประชาชนในอัฟกานิสถาน และได้ความสนับสนุนจากสาวสังคมคนดังในฮุสตันอย่าง ‘โจแอนน์ แฮร์ริง’ เป็นตัวกลางแนะนำให้รู้จักกับคนดังในแวดวงต่างๆ เพื่อช่วยต่อยอดภารกิจช่วยเหลือชาวอัฟกันให้สำเร็จเสร็จสิ้น
 
แต่ผู้วางแผนปฏิบัติการที่สำคัญอีกคนหนึ่งคือ ‘กัสต์ อะฟราโคโทส’ เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองที่ได้รับฉายา Mr.Dirty ในฐานะผู้ผลักดันให้ ‘ปฏิบัติการไซโคลน’ เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งในหนังได้ ‘ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟแมน’ เจ้าของรางวัลนักแสดงนำชายจากเรื่อง Capote มารับบทบาทนี้
 
00000
 
ปฏิบัติการไซโคลนถูกอ้างถึงในรายงานด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นปฏิบัติการลับครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐอเมริกา และใช้เงินไปกว่าหมื่นล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กองกำลังนักรบมูจาฮีดินซึ่งต่อต้านโซเวียต และทำสงครามในนามของพระเจ้าเพื่อนำอัฟกานิสถานไปสู่หนทางการเป็นรัฐอิสลามเต็มรูปแบบ
 
อาจเป็นไปได้ว่าในยุคที่สหรัฐอเมริกากำลังต่อสู้กับโซเวียตซึ่งไม่เชื่อมั่นศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า การให้ความสนับสนุนแก่กลุ่มนักรบซึ่งประกาศตัวว่ายอมอุทิศตนเพื่อศาสนา คงเป็นเรื่องซึ่งยอมรับได้ง่ายกว่าสำหรับคนในประเทศที่พิมพ์ข้อความลงไปในธนบัตรว่า “In God We Trust”
 
เรื่องราวในหนังทำให้เรามองเห็นการสู้รบแบบกองโจรของกลุ่มมูจาฮีดิน สลับกับวิธีเจรจาต่อรองหลอกล่อแบบนอกกรอบของวิลสัน ไม่ว่าจะเป็นการพานักเต้นระบำหน้าท้องไปร่วมวงคุยกับผู้นำการเมืองเพราะหวังเบี่ยงเบนความสนใจ หรือการโน้มน้าวให้พ่อค้าอาวุธชาวยิวยอมขายของให้กับชาวมุสลิมที่เป็นปฏิปักษ์กันมานาน และการยื่นหมูยื่นแมวกับเพื่อน สว.ให้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนอนุมัติงบช่วยเหลือชาวอัฟกัน เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่วิลสันจะลงคะแนนคัดค้านการตรวจสอบพฤติกรรมทุจริตของอีกฝ่ายแทน
 
เราจึงได้เห็นการหลับตาข้างเดียว ทำเป็นลืมๆ เรื่องการตรวจสอบ-ถ่วงดุลย์-คานอำนาจ เพื่อให้เกิดการสมประโยชน์ทางการเมือง และเอ่ยอ้างว่าจำเป็นต้องยอมเบนหลักการเพื่อมุ่งสู่ผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งในหนังเป็นการเอ่ยถึง ‘อิสรภาพ’ ของชาวอัฟกัน แม้ว่ามันจะนำไปสู่การต่อสู้ถึงเลือดถึงเนื้อยืดเยื้อยาวนานตั้งแต่ปี 2526-2533 และทำให้ชาวอัฟกันหลายแสนคนต้องอพยพบ้านแตกไปทั่วโลก
 
ขณะที่ช่วงท้ายๆ ของหนัง (และความเป็นจริงช่วงท้ายๆ ของเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต) ได้ตีแผ่ความจอมปลอมของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สั่งตัดงบประมาณช่วยเหลือเยียวยาชาวอัฟกันทิ้งทันทีที่โซเวียตยอมถอนทหารออกไปจากดินแดนอัฟกานิสถาน ไม่เว้นแม้แต่งบประมาณสร้างโรงเรียนหรือฟื้นฟูระบบการศึกษาทั้งที่วิลสันและอะฟราโคโทสพยายามต่อรองโน้มน้าวคนในรัฐบาลทุกวิถีทางแล้วเช่นกัน
 
ชาร์ลี วิลสัน จึงรำพึงรำพันในตอนท้ายของหนังว่า “เราทำทุกอย่างพังในตอนจบ” เพราะแทนที่จะสานต่อภารกิจให้ลุล่วงด้วยการเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างกลุ่มกองกำลังต่างๆ เพื่อหาข้อตกลงแนวทางสันติภาพที่จะนำไปสู่การก่อตั้งรัฐบาลหรือการวางรูปแบบการปกครองที่ประชาชนทุกฝ่ายมีส่วนร่วม รัฐบาลสหรัฐฯ กลับตีจากและไม่สนใจที่จะเข้าไปดูดำดูดีอะไรอีก เพราะเป้าหมายหลักในการกำจัดศัตรูตัวฉกาจอย่างโซเวียตถือว่าสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว
 
ชะตากรรมของชาวอัฟกันที่ต้องดิ้นรนกันต่อท่ามกลางเศษซากสงคราม ทำให้กองกำลังติดอาวุธ (ที่ได้มาจากสหรัฐฯ) ตั้งตัวเป็นกลุ่มอำนาจต่างๆ และแย่งชิงการเป็นผู้นำ ขณะที่กองกำลังตาลีบันและโอซามา บิน ลาเดน ผู้นำกลุ่มก่อการร้ายอัล-เคดา ซึ่งกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐอเมริกายุคหลังสหัสวรรษก็เริ่มก่อร่างสร้างแนวร่วมในช่วงเวลาเดียวกันนี้...ที่ดินแดนอัฟกานิสถาน...
 
00000
 
สงครามของชาร์ลี วิลสัน ในหนังของไมค์ นิโคลส์ จบลงตรงที่ ส.ว.ชาร์ลี เป็นพลเรือนคนแรกที่ได้ขึ้นรับเหรียญเกียรติยศจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นผู้ผลักดันให้สงครามอัฟกานิสถานยุติลง แต่เมื่อวิลสันตัวจริงเสียชีวิตลง บทบรรณาธิการของนิตยสารไทม์สในลอนดอนกลับกล่าวถึงบทบาทของวิลสันในฐานะที่เป็น ‘ผู้ปลดปล่อยปีศาจร้าย’ ซึ่งกำลังหลอกหลอนกองทัพสหรัฐฯ และกองทัพพันธมิตรอย่างหนักจนต้องประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้ายมาจนถึง ณ ปัจจุบันขณะ
 
เช่นเดียวกับที่จำนวนทหารอเมริกันและทหารของกองกำลังนาโตถูกส่งไปรบใน‘สงครามอัฟกานิสถาน’ (รอบใหม่) มีจำนวนมากกว่า 150,000 นาย ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา
 
หากวิลสันเป็นผู้ปลดปล่อยปีศาจร้าย.... มีใครอีกบ้างที่ควรทบทวนบทบาทในฐานะผู้หลอเลี้ยงให้ปีศาจยังดำรงความเกลียดชังอยู่ได้ด้วยนโยบายการเมืองและต่างประเทศที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลเพียงอย่างเดียว?
 

 

Air Doll: a very "human" story ความว่างเปล่าในตัวเราทุกคน

themadmon

หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น บทสะท้อนย้อนคิดหลังจากการชมภาพยนตร์เรื่อง Air Doll ผมในฐานะที่เป็นผู้เขียนจงใจจะหยิบเลือกประเด็น (ซึ่งผ่านการตีความของผม) โดยไม่ได้อ้างอิงอย่างชัดเจนไปสู่ตัวภาพยนตร์ในแต่ละฉากแต่ละตอน โดยหวังว่าผู้ที่ยังไม่ได้ชมภาพยนตร์ก็สามารถอ่านได้ และผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์แล้วจะสามารถระลึกถึงฉากต่างๆ ในภาพยนตร์ได้ด้วยเช่นกัน

 

 

หากลองพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ในสามประโยค  ผมคงพูดสั้นๆ ว่า..
“ผู้คนหลากหลาย เราต่างก็ว่างเปล่า และเหงามากมาย”
 

เพราะอะไรน่ะหรือ  เพราะผมเข้าใจว่า.. 

..ในสังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนต่างก็แตกกระเจิงกระจัดกระจายกันไปคนละทิศละทางแม้จะอยู่ร่วมในพื้นที่เดียวกัน มันคงเป็นภาพที่ฉายให้เห็นของลักษณะการเคลื่อนตัวของความคิดและการดำรงอยู่แบบปัจเจกบุคคล ในแง่หนึ่งมันสร้างอิสระ มันอาจเป็นอิสระที่จะล่องลอยและโบยบินไปไหนต่อไหน อิสรภาพนั้นอาจเป็นสภาวะที่แสนจะสวยงามเหลือเกิน แต่ในความอิสระบางครั้งมันก็เบาหวิว มันอาจเบาหวิวเกินจะทานทนเช่นกัน ปัจเจกบุคคลและความโดดเดี่ยวจึงเป็นของคู่กัน พร้อมๆ กับที่อิสรภาพและความเหงาก็คงเป็นของคู่กันเช่นกัน แต่เมื่อมันล้วนแต่บางเบามันจึงไม่มีความเศร้าและความเหงาที่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับที่ไม่มีความเห็นหรืองานเขียนใดสมบูรณ์แบบ 

บางครั้งเรามองสิ่งต่างๆ ในลักษณะของการ  “แทนที่” เพื่อหวังจะทดแทนสิ่งที่เคยมี แต่แท้ที่จริงมันไม่มีอะไรแทนที่อะไรได้อย่างสมบูรณ์ มันคงมีเพียงความคล้ายบางอย่างที่เราหลงว่าต่างแทนที่กันได้ ในความเหงาเราอาจหาบางสิ่งบางอย่างมาเติมเต็ม แต่มิใช่หรอกหรือว่ามันไม่มีอะไรที่เติมเต็มได้ การเติมให้เต็มเป็นดังสภาวะที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริงในตอนสุดท้าย การพยายามเติมให้เต็มเป็นกระบวนการอันไม่รู้จบต่างหาก เพราะในท้ายที่สุด มันไม่เคยมีสิ่งใดสมบูรณ์ในกระบวนการเหล่านั้น เรามักหลงละเมอเพ้อพกเพ้อฝันกันไปเองทั้งนั้นว่ามีอะไรบางอย่างเข้ามาเติมความว่างเปล่าให้เต็มได้ และสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งย้ำเตือนให้เรารู้ว่าเราต่างก็ผิดพลาดอยู่เสมอๆ ความขาดไม่มีวันจะเหือดหายไป เพราะเราต่างก็ขาดอะไรบางอย่างอยู่เสมอ  

แต่ก็ใช่ว่ามันจะสิ้นหวังไปทั้งหมดเพราะคงกล่าวได้ว่าความหมายมันเกิดขึ้นในกระบวนการเติมเต็มนั้น ในระหว่างที่เราพยายามจะเติมให้เต็ม โดยหวังว่ามันจะเต็ม แม้มันจะไม่มีทางเต็ม แต่มันก็ทำให้เรามีความหมายขึ้นมา แม้เพียงในบางขณะก็ตาม มันจึงไม่มีอะไรไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง แต่มันก็ไม่มีอะไรที่สวยงามสมบูรณ์  

จนกว่าเราจะมองมันอย่างให้คุณค่า ความดี ความไม่ดี ความสุข ความเศร้า ความเหงา ความโดดเดี่ยว ความเจ็บปวด ต่างๆ นานา ราวกับว่ามันจะเป็นขั้นตอนภายหลัง แต่เราก็ทำให้มันเกิดขึ้นเป็นจริงอย่างพร้อมๆ กัน หากเพียงเราทำความเข้าใจขั้นตอนเหล่านี้อย่างชะลอเลื่อนเวลา แม้เราจะไม่สามารถชะงักการเดินของเวลาได้จริงก็ตาม แต่มิใช่หรือว่า เวลาก็เป็นเพียงแค่สิ่งที่เราให้ความหมายลงไปกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อที่เราจะทำความเข้าใจมันผ่านสิ่งที่เราเรียกกันว่าเวลา การทำความเข้าใจอย่างละเอียดละออ มันคงทำให้เราสะท้อนย้อนคิดถึงสิ่งต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป และเมื่อถึงตอนนั้นเราอาจเห็นว่าเราต่างก็สร้างความหมายให้กับสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา 

และเมื่อมองย้อนหลังกลับไปเราคงพบได้ไม่ยากว่าชีวิตนั้นช่างว่างเปล่า เพราะความหมายต่างๆ ไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่ภายใน แต่ความหมายของชีวิตอาจอยู่กับสิ่งเกี่ยวเนื่อง อยู่กับสิ่งรายล้อม ที่ประกอบและแฝงฝังให้ตัวตนเกิดความหมายขึ้นมาได้ เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แม้เราจะโดดเดี่ยวเพียงไรก็ตาม

 

 
..ในหลายๆครั้ง ไม่เพียงแต่ตัวเอง แต่เราอาจพบว่าเราให้ความหมายแก่สิ่งต่างๆ และผู้คนที่เรารู้จักพบเจอด้วย และในหลายๆ ครั้งเราก็อาจให้ความหมายแก่สิ่งต่างๆ นั้นเพียงแค่ในแง่มุมของสิ่งที่เขาหรือเธอเหล่านั้น “ทำ” หรือพูดให้กลายเป็นสิ่งของมากไปกว่านั้นคือ “ใช้งาน” อะไรบางอย่างได้ และมันไม่ใช่แค่เพียง “ใช้” ได้ แต่ในชีวิตในโลกทุนนิยมอุตสาหกรรมภายใต้วิธีคิดแบบเสรีนิยมใหม่ ของทุกชิ้นหรือคนทุกคนต้องทำงานให้มีประสิทธิภาพ มันจึงเป็นสิ่งที่ “ใช้ได้” เราจึงต่างก็กลายเป็นเพียงแค่แรงงานที่สามารถสร้างความหมายให้กับชีวิตได้เพียงแค่จากงานที่ทำ หากผลิตภาพลดลง สร้างรายได้ได้น้อยลง (หรือทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น) ฯลฯ เราก็คงกลายเป็นแค่ชิ้นส่วนที่เสื่อมค่า พร้อมที่จะถูกเขี่ยทิ้งไปจากสายพาน เพื่อเปิดทางให้สิ่งใหม่หรือคนใหม่ๆ เข้ามาแทนที่อยู่ทุกอึดใจ 

ดังนั้นเมื่อเรามองสิ่งต่างๆ เพียงแค่หน้าที่  เราจึงควานหาสิ่งแทนที่ที่เราคิดว่ามันน่าจะดีกว่าสิ่งเดิมอยู่เสมอๆ เพราะเรามองสิ่งต่างๆ เพียงแง่เดียวคือในแง่ของหน้าที่การทำงานหรือเปล่าเราจึงลดทอนกันและกัน ลดทอนความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เป็นแต่เพียงความสัมพันธ์ของหน้าที่ที่ทำให้แก่กัน นี่หรือเปล่าที่เป็นจุดเริ่มต้นที่เราทำร้ายกัน บางทีเราอาจรู้ตัวแต่บางทีก็ไม่ แต่ในเรื่องราวเหล่านั้นเราต่างก็กัดกินกันไปตลอดเวลา ทำให้ใครต่อใครรอบกายเหงาและโดดเดี่ยวท่ามกลางการอยู่ร่วมกันตลอดเวลาเช่นกัน 

ในความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ใครหลายคนอาจเรียกว่าความรัก  แต่ละคนก็คงมีจินตภาพถึงความสัมพันธ์และความรักที่แตกต่างออกไป ใครหลายคนคงมองแต่เพียงการมีหน้าที่บางอย่างของความสัมพันธ์และคู่สัมพันธ์ คู่รักของเธอหรือเขาอาจกลายเป็นแต่เพียงผู้ทำหน้าที่บางอย่าง เคยหรือไม่ที่เราลดทอนอีกคนหนึ่งให้กลายเป็นแต่เพียงหน้าที่บางหน้าที่ และก็พร้อมที่จะเขี่ยสิ่งเดิมๆ ทิ้งไปเมื่อพบสิ่งใหม่ที่คาดว่าจะทำหน้าที่ได้ดีกว่า ความสัมพันธ์และความรักในแง่มุมหนึ่งมันก็กลายเป็นแต่เพียงรูปแบบของการผลิต ที่เราพร้อมจะเปลี่ยนปัจจัยการผลิตที่เราคิดกันไปเองว่ามันน่าจะดีกว่าเพื่อมาแทนที่เพื่อให้ได้ผลิตภาพมากขึ้น  

และหากจะพูดเลยไปกว่านั้นสักนิดหนึ่ง หากในกระบวนการผลิตเราสามารถคิดคำนวณต้นทุนกำไรได้อย่างละเอียดลึก ซึ้งเห็นเป็นขั้นเป็นตอนเป็นฉากๆ แต่ในความคุ้มค่าของความสัมพันธ์หรือความรักนั้น เราเคยคิดคำนวณได้อย่างถูกต้องด้วยหรือ  เราจะแน่ใจได้มากน้อยแค่ไหนว่าอะไรบ้างที่จะเป็นตัวแปรในสมการ อะไรจะถ่วงน้ำหนักมากน้อยเพียงไร หรือเพราะสิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งที่จะมาคิดคำนวณกันได้ และเมื่อไรก็ตามที่เราพยายามชั่งน้ำหนักถูกผิดตรงนี้ มันอาจผิดตั้งแต่ต้นแล้วก็ได้ และในความเข้าใจกันอย่างผิดๆ หรือเข้าใจเพียงแต่ในแง่มุมของตัวเอง มันอาจทำให้เราทำร้ายกัน ทั้งโดยรู้ตัว โดยที่ไม่ทันจะรู้ตัว และโดยไม่รู้ตัว 

ขณะที่ในความสัมพันธ์และกิจกรรมทางเพศ  อวัยวะเพศชายที่สามารถแข็งชูชัน อวัยวะเพศหญิงที่ยืดขยายและมีน้ำหล่อลื่น  หรืออาจหมายถึงรูทวาร (ไม่ว่าจะของใครเพศใดก็ตาม) คงเป็น “หน้าที่” ในทำนองเดียวกัน การมีสมรรถภาพหรือความสามารถในการร่วมเพศ จึงเป็นทั้งวิถีทางและเป็นเป้าหมาย (หรือความสำเร็จและการรักษา/ยืนยันความสำเร็จ) ในตัวเอง ในชีวิตทางเพศการสามารถ/ความสามารถในการร่วมเพศคงเป็นความหมายสำคัญและคงเปรียบได้ดังกิจกรรมที่ให้ความหมายของชีวิต การไม่สามารถร่วมเพศได้ หรือสมรรถภาพที่ด้อยลงไป คงเปรียบได้กับความป่วยไข้ในชีวิตและการเดินทางสู่ความตายด้วยเส้นทางที่เจ็บป่วยและเจ็บปวด หากความหมายของชีวิตขึ้นอยู่กับการทำงาน ชีวิตทางเพศก็คงขึ้นอยู่กับการทำงานทางเพศอันหมายถึงความสามารถในการร่วมเพศได้ 

ไม่เพียงแต่ชีวิตการทำงานหรือในความสัมพันธ์ แต่ชีวิตของคนเราก็คงดำเนินไปในท่วงทำนองคล้ายๆ กัน เมื่อความตายซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยแน่นอนว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่มันก็แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นกับทุกคนนั้นเป็นดังปลายทางของชีวิต ในการเดินทางไปสู่ความตายเราต่างค่อยๆ เสื่อมสลายไปตามเส้นทางนั้น หรือพูดอีกอย่างก็คือตั้งแต่เราถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกเราก็กำลังใกล้ความตายเข้าไปเรื่อยๆ วันเกิดและวันคล้ายวันเกิดในปีต่อๆ มามันจึงเป็นทั้งการระลึกถึงจุด เริ่มต้นและบอกเราว่าเราเดินทางมาถึงจุดไหนๆ ในหนทางที่เรียกว่าชีวิต การเฉลิมฉลองการเกิด/วันเกิดอย่างใหญ่โตมันคงเป็นทั้งความสวยงามและความน่ารังเกียจ วันเกิดจึงเป็นทั้งวันแห่งความสุขและวันแห่งความน่าสะอิดสะเอียน ในทางหนึ่งวันเกิด/วันคล้ายวันเกิดคงเปรียบได้กับการเตือนถึงสังขาร ที่เปลี่ยนแปรไปตามเวลา แต่ในอีกทางหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันมันคือสารที่พยายามจะบอกว่าเรากำลังใกล้เดินทางไปสู่ความตายมากขึ้นเรื่อยๆ 

ในแง่นี้ความตายจึงสวยงาม หรือพูดอีกแบบหนึ่งเราอาจมองได้ว่าความตายนั้นช่างสวยงามเพราะความตายอาจเปรียบกับการปลดปล่อยตัวตนที่ว่างกลวงไร้ความหมายในตัวเอง ปลดปล่อยชีวิตที่ความหมายของชีวิตต้องขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น/คนอื่นอยู่ตลอดเวลา ปัจเจกบุคคลสมบูรณ์แบบไม่อาจเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กับที่สัตว์สังคมสมบูรณ์แบบก็ไม่อาจมีอยู่จริง โครงสร้างสังคมอาจกำหนดเราแต่มันก็ไม่มีทางกำหนดได้สมบูรณ์ เราต่างสร้างและเสริมกันอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับที่เราต่างก็กัดกินกรีดเฉือนกันอยู่ตลอด เราจึงทั้งเหงาและเศร้าไม่มากไม่น้อยไปกว่ากัน แต่เราก็มีอิสระไม่มากไม่น้อยไปกว่ากัน ชีวิตและความตายอาจเป็นด้านตรงข้ามของกันและกัน แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน 

แต่บางทีชีวิตไม่ได้มีแค่ความหมายในเรื่องของความหมาย แต่มันยังมีชีวิตที่เป็นเนื้อเป็นหนังเป็นตัวเป็นตน มันคือความหมายในอีกแบบอีกลักษณะ เพราะคนเรามี “หัวใจ” ไม่ใช่แค่ในด้านความรู้สึก แต่คือหัวใจเป็นก้อนๆ ที่เต้นตุบๆ อยู่ในทรวงอก คอยสูบฉีดให้ชีวิตในแต่ละชั่วขณะ และมากไปกว่านั้นคือมันไม่ใช่แค่หัวใจ แต่ต้องมีลมหายใจหรืออากาศด้วยที่ทำให้คนเรามีชีวิตดำรงตนและดำเนินไป ลมหายใจและหัวใจเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถสร้างความหมายให้กับชีวิตไปได้เรื่อยๆ และความหมายของชีวิตก็ล้วนต่อเติมหรือเป็นแรงผลักดันให้เรายังคง หายใจ สองด้านของความหมายของชีวิตดำเนินไปด้วยกัน มันจึงไม่ใช่แค่ชีวิตแต่เป็นชีวิตชีวาด้วยหากการขาดอากาศหายใจทำให้เราไม่สามารถมีชีวิตต่อไป การขาดกิจกรรมที่ให้ความหมายมันก็คงเปรียบได้กับการตายในทางสังคม 

แม้ภาพยนตร์เรื่อง Air Doll ในแง่หนึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการสวมใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปในสิ่งของ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ฉายภาพด้านกลับให้เราเห็นว่าเราก็ต่างทำให้ผู้คนกลายไปเป็นสิ่งของด้วยกันทั้งนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นแต่เพียงเรื่องราวของตุ๊กตายางที่มีชีวิตขึ้นมา แต่ใช่หรือไม่ว่าในหลายๆ ครั้งเราก็อาจเคยทำให้คนที่มีชีวิตและเลือดเนื้อกลายไปเป็นเพียงแค่ตุ๊กตายางเป่าลมเช่นกัน ถึงกระนั้น คงมิอาจปฏิเสธว่าชีวิตเราท่านทั้งหลายก็ดำเนินไปในแบบนั้น 

 

 

ป.ล. ในทำนองเดียวกัน ข้อเขียนชิ้นนี้ก็คงหนีไม่พ้นการลดทอนให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นเพียง “สิ่ง” ที่ใช้ถูกอธิบาย และผมในฐานะผู้กระทำการเขียนก็คงถูกประเมินในกรอบของความสามารถในการถ่ายทอด ความหมายของผมในฐานะผู้เขียนข้อเขียนชิ้นนี้ก็ทั้งถูกให้และถูกลดทอนภายใต้ข้อเขียนชิ้นนี้เฉกเช่นเดียวกัน เพราะในท้ายที่สุด ไม่ว่าผม หรือคุณ หรือใคร ข้อเขียนชิ้นนี้หรือข้อเขียนชิ้นไหนๆ รวมไปถึงภาพยนตร์เรื่องนี้และภาพยนตร์ทั้งหมดทั้งมวล เมื่อถูกหยิบมาพูดหรือเขียน มันก็ถูกหยิบเลือก ฉวยฉุด ยื้อยุด ทั้งหมดทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ต่อคำถามเรื่องในการดำเนินชีวิตไปในโลกว่าเราจะหลีกหนี “หน้าที่” และ “การแทนที่” ไปได้หรือไม่อย่างไร คงเป็นคำถามที่เราท่านคงต้องขบคิดกันต่อไป หรือกระทั่งว่าจะหลีกหนีไปเพื่ออะไรก็คงเป็นคำถามสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

 

ขงจื๊อ (Confucius) : แดนมังกรในอาภรณ์สีคราม

 


บริวารเงา

 

ขงจื๊อ เป็นชื่อหนึ่งที่ผมได้ยินมาเนิ่นนาน ถ้าจำไม่ผิดอาจจะเป็นหนังจีนกำลังภายในสักเรื่องหนึ่งที่อ้างชื่อนี้ขึ้นมาเพื่อพูดถึงปรัชญาในเรื่องคุณธรรมน้ำมิตร ผมมารู้จักเขาอีกครั้งในห้องสมุดช่วงที่กำลังสนใจพวกวิชาปรัชญา จิตวิทยา วรรณกรรม ฯลฯ  แต่ผมกลับไปชอบปรมาจารย์จีนอีกคนคือ เล่าจื๊อ เสียมากกว่า เพราะว่าแกมีความคิดที่ 'แนว' ดี (อารมณ์ของวัยรุ่นเช่นนี้แล) อีกนัยหนึ่งก็ดูเพี้ยน ๆ อีกนัยหนึ่งก็มีอารมณ์ศิลปินกว่าขงจื๊อ

ขณะที่ผมเห็นว่าขงจื๊อเอาแต่พร่ำบ่นอะไรที่เป็นหลักจริยธรรมน่าเบื่อ ๆ ซึ่งความน่าเบื่อนี้ไม่ใช่ความผิดของขงจื๊อเสียทีเดียว แต่เป็นเพราะหลักจริยธรรมทั้งหลายเหล่านี้มันถูกกรอกหูอยู่ทุกวันในชั้นเรียน และในสื่อต่าง ๆ จน 'วัยรุ่นเซ็ง' ในโลกความจริงที่พวกเขาพบเจอมันไม่เห็นมีอะไรงดงาม ๆ อย่างที่พร่ำสอนไว้เลย

ชีวิตผมดำเนินต่อมาเรื่อย ๆ ผ่านพ้นอะไรมาหลายอย่าง ผาดโผนบ้างน่าเบื่อบ้างเหมือนชีวิตหลาย ๆ คน พบเจอชื่อใหม่ ๆ ที่ผมต้องไปค้นในห้องสมุดหรือตามอินเตอร์เน็ตจนแทบจะลืมชื่อขงจื๊อไปแล้ว มาพบชื่อเขาอีกครั้งจากป้ายโฆษณาภาพยนตร์ในห้างจนความสงสัยผมพุ่งพรวดว่าคนที่มีแนวคิดน่าเบื่อขนาดนี้ถูกนำมาสร้างเป็นหนังได้ด้วยหรือ!?

ถ้าให้พูดแบบแฟร์ ๆ หน่อยล่ะก็ ขงจื๊อเป็นคนที่มีอิทธิพลทางความคิด จิตใจ ของชาวเอเชียตะวันออกอยู่มากที่เดียว โดยต้องนับรวมไปถึงชาวเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในที่อื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องการนับถือบรรพบุรุษ เรื่องการนับถืออาวุโส เรื่องการรู้จักหน้าที่ของตนเอง ฯลฯ ทั้งหลายเหล่านี้สืบทอดมาทั้งในรูปแบบของคำสอน พิธีกรรม และวิถีปฏิบัติ ที่คาดว่าชาวไทยเชื่อสายจีนทั้งหลายคงคุ้นเคยกันดี

ผมไม่ค่อยแปลกใจนักที่รู้ว่าผู้สนับสนุนรายใหญ่ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้คือสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่กำลังเป็นมังกรผงาดในทางเศรษฐกิจโลก และกำลังพยายามประกาศตนให้โลกรู้ด้วยศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นอกจากภาพยนตร์ของจางอี้โหมว พิธีเปิดกิฬาโอลิมปิก และภาพยนตร์มังกรสร้างชาติแล้ว จีนแผ่นดินใหญ่ยังเคยพยายามสร้างขบวนการ 5 สี แข่งกับญี่ปุ่นมาแล้ว แต่งานโปรดักชั่นนี้ยังไม่ถึงขั้นของญี่ปุ่นแน่ ๆ ล่ะ

ตัดเรื่องขบวนการ 5 สี ออกไป งานภาพยนตร์โรงใหญ่ของจีนนี้คงไม่ต้องบอกก็รู้ว่ามาพร้อมกับความอลังการณ์แน่นอน คอภาพยนตร์แนวเดียวกันคงจำ "Hero" กันได้ ซึ่งนอกจากเรื่องความอลังการณ์ จังหวะการเล่าเรื่องบางช่วงแล้ว เรื่อง ขงจื๊อ ก็มีการ 'เล่น' กับโทนสีเช่นเดียวกับ Hero เหมือนกัน (ซึ่งไว้จะพูดถึงต่อไป)

แน่ะ ๆๆๆ ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนพอได้ยินว่ามันเป็นเรื่องจีนแผ่นดินใหญ่เข้าคงพากันสงสัยแน่ ๆ ว่ามันจะเป็นภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่ออีกหรือไม่ ตัวผมเองรู้เต็มอกว่ามันต้องมีโฆษณาชวนเชื่อแฝงมาอยู่แล้ว แต่ผมไม่สนใจ ยังไงผมก็จะดู และอยากจะให้ลองมองกันแฟร์ ๆ กว่านี้หน่อยว่า ไม่ว่าภาพยนตร์จากชาติไหน ภาษาไหน ใครสนับสนุนมันก็มีโฆษณาชวนเชื่อทั้งนั้นแหละครับ

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอภาพชีวประวัติของขงจื๊อ หรือที่รู้จักกันในยุคสมัยนั้นว่า 'ขงฉิ่ว' ผู้ที่เกิดเมื่อ 551 ปีก่อนคริสตกาลจากชีวประวัติวัยเด็กซึ่งตัวภาพยนตร์ไม่ได้เล่า ขงฉิ่วสูญเสียพ่อซึ่งเป็นนักรบไปเมื่ออายุ 3 ปี และอาศัยอยู่กับแม่ท่ามกลางความยากจนแต่ก็สนับสนุนให้เขาได้เรียนหนังสือ โดยในเรื่องนี้เริ่มต้นเล่าในฉากที่ขงฉิ่วอยู่ในวัยผู้ใหญ่ที่รับราชการมีลูกมีเมียแล้ว

และสิ่งที่เราจะได้เห็นจากขงจื๊อฉบับภาพยนตร์ คือภาพของขงจื๊อในฐานะมนุษย์ปุถุชน มากกว่าภาพของปราชญ์ต้นแบบที่ดูเลิศเลอ ไม่เชิงว่าตัวขงจื๊อที่แสดงโดยโจวเหวินฟะ จะละทิ้งความเป็นนักอุดมคติไปทั้งหมด แต่ในช่วงครึ่งแรกที่ขงฉิ่วต้องต่อกรกับ 'กลุ่มผู้มีอำนาจ' เขาไม่ได้เอาอุดมคติลุ่น ๆ เข้าไปเสยคาง แต่มีการใช้วาทศิลป์ ใช้เล่ห์กลตบตา จนคนที่เคยซึมซับแต่คำสอนของเขามาคงนึกไม่ออกว่าจะได้เห็นขงจื๊อในภาพที่ดูเป็น 'นักการเมือง' แบบนี้ (ถึงจะเป็นเรื่องเล่าก็เถอะ)

เรื่องนี้คงเหมือนกับการที่รัฐบาลจีนนำเสนอเรื่องราวของขงจื๊ออีกครั้งนั่นแหละครับ ทั้งที่ในสมัยก่อนพรรคคอมมิวนิสท์จีนต่อต้านขงจื๊อจะเป็นจะตาย มองว่าเป็นแนวคิดแบบศักดินาบ้าง อะไรบ้าง มีการยกเลิกพิธีพรรมรำลึกถึงขงจื๊อ แต่พอถึงช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาก็ค่อยรื้อฟื้นมาอีกครั้ง และในปัจจุบันพวกสื่อบันเทิงทั้งหลายของจีนก็เริ่มตามกระแสโลกมากขึ้น การจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มันก็ต้องรู้จักหาอะไร 'จับใจ' คนด้วย จริงไหม

แต่บทเรียนอย่างหนึ่งที่จีนควรรู้ไว้คือ การแข่งขันทางธุรกิจบันเทิงนี้ผู้บริโภคเขาก็อยากมีตัวเลือกหรืออยากบริโภคอะไรที่มันดู Globalized หรือดูเป็นสิ่งที่คนอื่น ๆ ทั่วโลกเขาดูกัน ฉะนั้นการไปจำกัดโรงฉายเรื่อง Avatar เพื่อเอาเรื่องขงจื๊อมาฉายจึงถูกชาวจีนก่นด่า ต่อต้าน ทำให้เรื่องขงจื๊อเสียคะแนนไปปล่าว ๆ ปลี้ ๆ เพราะคนเกิดอคติไปก่อนเสียแล้ว

เท่าที่ผมลองสำรวจบทวิจารณ์ของชาวจีนในเน็ตมา หลายคนดูจะไม่ชอบภาพยนตร์ขงจื๊อเท่าไหร่ เช่น บล็อกเกอร์จีนที่ชื่อ Han Han เขียนวิจารณ์ไว้ในบล็อกว่าหนังเรื่องขงจื๊อไม่ได้สามารถทำให้คนดูรู้สึกซาบซึ้งกับมันได้เท่าที่โจวเหวินฟะเคยคุยไว้ (โจวเหวินฟะถึงขั้นเคยบอกเลยว่า "ถ้าดูเรื่องนี้แล้วไม่ร้องไห้ ก็ไม่ใช่คนแล้ว")

อีกบทหนึ่งที่ท้าทายการแสดงของโจวเหวินฟะมากคือบทตอนที่ขงจื๊อแกต้องเผชิญกับสภาพความขัดแย้งระหว่างแนวคิดอุดมคติของเขากับโลกของความจริง อีกฉากหนึ่งที่ผมค่อนข้างประทับใจคือฉากที่หนานจื่อ พระชายาจากแคว้นหนึ่ง ที่ตัวหนังฉายภาพเป็นหญิงร้ายคอยใช้เสน่ห์เป่าหูผู้นำ เธอได้พบกับขงจื๊อ และประชันบทบาทกันอย่างกระชั้นชิด ก่อนจะทิ้งท้าย ด้วยคำพูดที่บาดความรู้สึกอย่าง "ฉันเข้าใจความเจ็บปวดลึก ๆ ในตัวคุณ"


...และหลังจากนั้นภาพยนตร์ก็ฉายภาพ 'ความเจ็บปวด' ของ ขงจื๊อที่เขาต้องหะหกระเหิน ไปพร้อมกับเหล่าลูกศิษย์ลูกหา ภาพของขงจื๊อที่ดูรุ่งโรจน์และเป็น 'นักการเมือง' ที่ประสบความสำเร็จในช่วงแรก ๆ เริ่มกลายเป็นภาพของวีรบุรุษตกอับ (Tragic Hero) ที่ยังคงยืนยันวิถีทางความเชื่อของตนเอง และสั่งสอนผู้คนโดยไม่สนว่าจะถูกต่อต้าน

เนื้อเรื่องในช่วงหลังนี้ ผมว่าภาพยนตร์ยังสื่อออกมาไม่ได้อารมณ์เท่าช่วงแรก ๆ หลายบทหลายตอนดูไม่ปะติดปะต่อ และทำให้รู้สึกถึงความอิหลักอิเหลื่อของการพยายามอิงประวัติดั้งเดิมกับการเสริมแต่งจินตนาการที่ไม่ได้เน้นไปทางใดทางหนึ่ง จนทำให้คนที่ดูเพื่อ 'เอาประวัติ' ก็ไม่ได้ประโยชน์ คนที่ดูเพื่อความบันเทิง (เช่นผม) ก็จะไม่ได้รับรสชาติความเป็นหนังอย่างเต็มที่

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือการที่ภาพยนตร์พยายามเน้นโทนสีน้ำเงิน/คราม อย่างมากทั้งฉากและเครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะฉากที่มีขงจื๊ออยู่ ถ้าว่าตามหลักศิลปะแบบซื่อ ๆ แล้ว สีน้ำเงินเป็นสิ่งที่สื่อถึงความสุขุม สติปัญญา และความสุภาพ ขณะเดียวกันก็เป็นวรรณะสีเย็น

ขณะที่ดูเรื่องนี้อยู่ก็ไพล่นึกไปถึงปราชญ์จีนอีกคนที่ชื่อเล่าจื๊อซึ่งผมได้พูดถึงตอนต้น จากหนังสือต่าง ๆ ที่ผมอ่านมารู้สึกว่าทั้งเล่าจื๊อและขงจื๊อ ต่างก็เป็นปรัชญาคนละสาย คนละขั้ว ขงจื๊อออกจะเน้นเรื่องคุณธรรมน้ำมิตร เรื่องในเชิงรัฐศาสตร์และจริยศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ขณะที่เล่าจื๊อเน้นพูดถึงปรัชญาที่จับต้องไม่ค่อยได้ แต่ก็มีความหมายลึก ๆ บางคนถือว่าเล่าจื๊อเป็นนักเสรีนิยม หรือนักคิดแนวอนาธิปไตยคนแรกทีเดียว

แต่อย่างที่ขงจื๊อบอกไว้ว่า เล่าจื๊อสำหรับเขาแล้วเปรียบเหมือนมังกร ซึ่งยากจะเข้าถึงและใช่จะได้เห็นในชีวิตปกติ ผมหวังว่าจะได้เห็นฉากวิวาทะทางปรัชญาของปราชญ์สองท่านนี้อยู่เหมือนกัน ไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม แต่ตัวหนังก็นำเล่าจื๊อออกมาในฉากหนึ่ง ที่แต่งด้วยเทคนิคภาพจนดูเหมือนเป็นเทพอะไรสักอย่างโผล่มาชี้แนะขงจื๊อ และขงจื๊อก็น้อมรับฟัง เราเลยอดดู 'ดราม่า' ไป

เนื้อหาของภาพยนตร์ยังสะท้อนความขัดแย้งระหว่างแคว้นต่าง ๆ  การแย่งชิงอำนาจ รวมถึงการกดขี่จากประเพณีของผู้มีอำนาจ เช่นการต้องฝังบ่าวไพร่ไปพร้อมกับนายเมื่อนายเสียชีวิต แน่นอนว่าแนวความคิดของขงจื๊อไม่ก้าวหน้าเท่ายุคปัจจุบันที่มีเรื่องของหลักการสิทธิมนุษยชน (ที่ในบ้านเรายังดูไม่ค่อยมีมาตรฐานเท่าไหร่) เรื่องรัฐสวัสดิการ (ที่ดูลม ๆ แล้ง ๆ พิกล) ฯลฯ แต่สำหรับในยุคนั้นแล้วหลาย ๆ เรื่องก็ถือว่าก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องการศึกษาที่ขงจื๊อคิดว่าทุกชนชั้นควรมีสิทธิได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน เรื่องการละเลิกพิธีกรรมป่าเถื่อนที่ไม่เคารพคุณค่าของมนุษย์ ฯลฯ 

และการที่ได้เห็น 'พระเอก' คนนึงต่อสู้กับ 'ผู้มีอำนาจ' อยู่ในโลกภาพยนตร์ มันก็ชวนให้เอาใจช่วยอยู่ไม่น้อย (พล็อตสูตรสำเร็จแบบนี้ ตราบใดที่มันยังตอบสนองมนุษย์ได้ มันก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป)

...แม้คำว่า 'คุณธรรม' ที่ขงจื๊อ ชอบอ้างถึง ในปัจจุบันมันจะถูกนำมาปู้ยี้ปู้ยำโดยกลุ่มที่มีอำนาจตรวจสอบคนอื่น แต่ตนเองตรวจสอบไม่ได้ก็ตาม


 

ตัวอย่างภาพยนตร์