นพพร ชูเกียรติศิริชัย
บางครั้งผมก็รู้สึกเบื่อหน่ายที่จะต้องหอบสัมภาระมากมายเข้าไปในโรงภาพยนตร์
ปัจจุบันผมแอบสงสัยว่าเหตุใดความสุขในการชมภาพยนตร์แบบเมื่อครั้งยังเป็นเด็กจึงสูญหายไป จนเมื่อมีโอกาสชมภาพยนตร์เรื่อง ‘สะบายดีหลวงพระบาง'จึงทำให้ผมรับรู้ว่าแท้จริงแล้วความสุขในวัยเด็กของผมไม่ได้หายไปไหน แต่หนังสือ ตำรา คำวิพากษ์วิจารณ์ ที่ผมแบกเอาไว้ในสมองต่างหากที่บดบังความสุขแบบที่เราคุ้นเคย
จริงอยู่ที่ใครบางคนอาจจะมองว่าการที่เขาสามารถจะวิพากษ์วิจารณ์และจับผิดคนอื่นนั้น คือความสุขประการหนึ่ง และนั่นก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราฉลาดกว่าคนอื่นๆ แต่ขณะเดียวกัน การที่ปล่อยให้สารต่างๆ ไหลผ่านหูผ่านตาโดยไม่ต้องใช้เครื่องกรองมันก็ทำให้เรารับรู้ว่าอย่างน้อยเราก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในสังคมนั้นๆ
หากจะให้พูดกันตรงๆ ในความคิดของผม ผมมองว่า การมัวนั่งวิเคราะห์วิจารณ์ฝีมือของคนอื่น โดยที่เราไม่สามารถผลิตงานแข่งกับเขาได้นั้นเป็นการเอาเปรียบผู้สร้างไปนิด (ในการหากินกับงานของเขา เธอ และอื่นๆ) ผมจึงพยายามหลีกเลี่ยงที่จะบอกว่าหนังเรื่องนั้นดี หรือไม่ดี และต้องการนำเสนอเพียงว่าผมได้อะไรจากหนังเรื่องนั้น (แต่คุณก็ไม่จำเป็นต้องได้แบบที่ผมได้ก็ได้)
ผมชอบความเป็น ‘โพสต์โมเดิร์น' (แม้ว่าจะอ่านหรือรู้จักมันน้อยมาก) ตรงที่ว่า อย่างน้อยมันก็เป็นเครื่องมือที่ทำให้ ‘ใครๆ' ก็สามารถพูดถึงประเด็นหนึ่งๆ ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็น ‘ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ' (ไม่รู้เข้าใจผิดไปเองหรือเปล่า?) นั่นหมายความว่าคนโง่ๆ อย่างผมก็คงไม่จำเป็นจะต้องไปเข้าไปเรียนปริญญาโทในมหาวิทยาลัย แล้วจึงจะสามารถมานั่งวิเคราะห์เรื่องนั้นเรื่องนี้ได้
เพราะฉะนั้นผมจึงไม่เห็นด้วยกับใครก็ตามที่พยายามบอกว่าตนเองเป็นนักวิชาการหัวก้าวหน้า หรือเป็นโพสต์แต่ว่าพยายามที่จะหากรอบมาครอบชาวบ้าน เช่น "คุณควรจะไปอ่านหนังสือเรื่องนั้นเรื่องนี้ก่อน คุณจึงจะสามารถพูดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ ไม่งั้นคุณก็โง่เกินไป" ซึ่งบางครั้งสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้ผมคลื่นเหียนอยากจะอาเจียน
เกริ่นมาเสียยืดยาว จนเกือบจะเลยหลวงพระบาง...
หลายปีมาแล้วที่ผมเคยมีโอกาสนั่งเรือล่องแม่น้ำโขงเพื่อสัมผัสกับบรรยากาศของสองฟากฝั่ง (แม้จะยังไม่เคยมีโอกาสไปเยี่ยมเยียนหลวงพระบาง) การเดินทางในครั้งนั้นทำให้ผมรับรู้ว่าบางครั้งการเป็น ‘คนแปลกหน้า' ในสถานที่ซึ่งอบอวลไปด้วยธรรมชาติ ก็ทำให้เราสามารถสืบค้นและตั้งคำถามเกี่ยวกับความต้องการภายในจิตใจของตนเอง
ภาพยนตร์เรื่อง ‘สะบายดีหลวงพระบาง' ค่อยๆ นำความทรงจำที่เรียบง่ายของคนริมฝั่งโขงกลับมายังมันสมองของผมอย่างช้าๆ จนกว่าจะรู้สึกตัวอีกทีผมก็หลงคิดไปว่าตนเอง คือ ‘สอน' (รับบทโดย อนันดา เอเวอริ่งแฮม) ช่างภาพหนุ่มเมืองกรุง ผู้ถูกส่งไปยังประเทศลาวเพื่อตามหา ‘ชีวิต' ให้กับ ‘ภาพถ่าย' ของเขา แม้รูปร่างหน้าตา (ของผม) จะผิดแผกแตกต่างจาก ‘อนันดา' อย่างลิบลับ แต่ผมกลับรู้สึกว่า ‘ความเป็นคนแปลกหน้า' หรือ ‘ความเป็นอื่น' ใน ‘ช่วงขณะหนึ่ง' คือสิ่งที่ช่วยเชื่อมโยงโลกของผมกับโลกของตัวละครในภาพยนตร์ให้บรรจบพบเจอกัน แม้การเดินทางของผมในครั้งนั้นจะไม่มีโอกาสพบเจอกับ ‘น้อย' (รับบทโดย คำลี่ พิลาวง) ไกด์สาว ผู้นำ ‘สอน' ให้ค้นพบกับ ‘ส่วนหนึ่งของชีวิต' ที่เขาหลงลืมไปก็ตาม
ผมประทับใจในกลวิธีการเล่าเรื่องเรียบๆ ที่คละคลุ้งไปด้วยบรรยากาศแบบลาวๆ (ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่า) ที่ไม่ต้องสวยมาก และไม่ต้องใสซื่อไปทั้งหมด
เพราะในมุมหนึ่งขณะที่ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามจะนำเสนอ ‘ความเป็นลาว' ผ่าน ‘วิถีชีวิตที่เรียบง่าย' ของชาวบ้าน และ ‘ความน่ารัก' ‘จริงใจ' ผ่านตัวละครอย่าง ‘น้อย' แต่ในอีกมุมหนึ่ง ‘ความเป็นคนชนชั้นกลาง' ของ ‘น้อย' (นิยามของผู้เขียน) คือ ความเป็นผู้ที่มีการศึกษาสูง และไม่ได้อยู่ในสถานะผู้ผลิต (อาชีพเกษตรกรรม) ก็ช่วยเติมเต็ม ‘ความเป็นลาว' ในยุคโลกาภิวัตน์ ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
และถึงแม้ว่าแม่หญิงลาวอย่าง ‘น้อย' จะยังคงความจริงใจ และยึดมั่นในประเพณีอันดีงามเหมือนเมื่อครั้งบรรพบุรุษ แต่ ‘เธอ' (ลาว) ก็พร้อมที่จะตั้ง ‘กฎเกณฑ์' ของเธอ เพื่อต่อรองกับการยอมรับสิ่งแปลกใหม่อย่าง ‘สอน' (ตัวแทนความทันสมัย) เช่นเดียวกับพ่อค้าน้อยๆ ชาวลาว ในภาพยนตร์ที่มาพร้อมกับเล่ห์เหลี่ยมน่ารักๆ ในการรับมือกับนักท่องเที่ยวซึ่งมาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัตน์
หลังภาพยนตร์จบ ผมลุกขึ้นเดินออกจากโรงภาพยนตร์ด้วยรอยยิ้มเล็กๆ... รอยยิ้มที่ไม่ต้องฉูดฉาด กับมันสมองที่ไม่ต้องหนักอึ้ง และแอบขอบคุณ ‘สะบายดีหลวงพระบาง' ที่ช่วยปลดเปลื้องสัมภาระที่มักจะแบกติดตัวเวลาเข้าไปชมภาพยนตร์