โจน จันได ปราชญ์ชาวบ้าน ต้นแบบการรณรงค์ใช้วิถีชีวิตแบบพอเพียงสุดฮิป ขวัญใจไอดอลของคนชั้นกลาง คนเมืองกลุ่มใหญ่ ถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่ออพยพย้ายรกรากลี้ภัยโควิดไปอยู่ศูนย์กลางประเทศทุนนิยมอย่างสหรัฐอเมริกา
พูดถึงโจน จันได ก็ต้องพูดถึงบ้านดิน ที่โจนใช้ในการสร้างชื่อให้ตัวเองเป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยโปรโมทว่า เป็นที่อยู่อาศัยราคาถูก ใช้วัสดุอุปกรณ์ในท้องถิ่น (ดิน ฟางข้าว เศษไม้ ใช้แรงงานในครัวเรือน ไม่ต้องพึ่งพาทุนนิยม ถูกใจคนชั้นกลาง ตอบโจทก์ว่าจะแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาความยากจนของคนชนบทได้อย่างไร โดยที่คนชั้นกลางไม่ต้องเสียเหงื่อ ลงแรง หรือเสียผลประโยชน์
.
บ้านดินกลายเป็นสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจน
.
ช่วงนั้นพึ่งมาอยู่ชนบท มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย เพราะต้องอยู่เถียงนาเก่าๆ วันดีคืนดีก็โดนขี้มอดจากไม้กลอนหลังคาร่วงเข้าตา ก็เลยไปหาฝึกทำบ้านดินกับเพื่อนที่ทำบ้านดินอยู่ที่โขงเจียมอุบล
.
ไปลองย่ำดินเหนียวกับฟางให้เป็นก้อนอิฐดินมาก่อเป็นผนังบ้าน ทั้งขุดดิน ทั้งแบกดิน ทั้งตักน้ำ ทั้งย่ำให้ส่วนผสมเข้ากัน เหนื่อยสายตัวแทบขาด มาไล่เฉลี่ยดู คนหนุ่มวัยใช้แรงงาน วันนึงน่าจะทำได้ไม่เกินยี่สิบก้อน (นี่ตีสูงแล้ว )
.
กว่าจะได้ผนังบ้านซักหลัง คงต้องย่ำดินกันอย่างต่ำสองเดือน +++
.
นี่ไม่นับรวมพื้นบ้าน โครงเคร่า ประตู หน้าต่างหลังคา ที่ต้องใช้ทั้งแรงงานและการประดิดประดอย คำนวนดูแล้ว บ้านขนาดพ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกันหลวมๆ นี่หกเดือน ทำกันทั้งผัวทั้งเมีย ก็อาจยังไม่เสร็จ
.
คำถามต่อมาก็คือ ช่วงหกเดือนที่ใช้เวลาทำบ้านดิน แล้วข้าวปลาอาหาร แนวอยู่แนวกิน เงินทองใช้สอย จะไปเอาจากไหน เมื่อไม่มีเวลาไปรับจ้าง
.
ลึกๆ แล้ว บ้านดินจึงเป็นยาครอบจักรวาล คำตอบสำเร็จรูปสำหรับคนเมือง แต่เป็นวาทกรรม (หรือจะเรียกว่าอะไรยังนึกไม่ออก) ที่ใช้ในการบิดเบือน กลบเกลื่อน พร่าเลือน สภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำในชนบท
.
หลังจากที่เลิกที่จะสมาทานบ้านดินมา เปลี่ยนเป็นไปหาขอต้นไม้ตามไร่ตามนามาตัดเลื่อยเป็นบ้าน ได้คุ้มหัว ก็มีโอกาสไปบ้านดินอีกหลายที่ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกทิ้งให้เสื่อมสภาพไป
.
ถามเหตุผลเจ้าของบ้านสองสามคนได้คำตอบว่า บ้านที่ทำด้วยดินมีความชื้นสูง อยู่แล้วไม่สบายตัว ต้องซ่อมบำรุงตลอดเวลา บ้างก็บ่นว่าปลวกชอบมาก ปลวกไม่ได้กินดิน แต่ปลวกขึ้นมากินข้าวของเครื่องใช้ โดยเฉพาะหนังสือ ที่ทำจากไม้จนชิบหายว่ายป่วง
.
เลยได้ข้อสรุปว่า ในภูมิประเทศร้อนชื้นแบบบ้านเรา บ้านดิน ก็คือบ้านปลวกดีๆ นี่เอง
.
สุดท้าย เราจะเจอบ้านดินในประเทศไทย ในสถานที่ชิคๆ เก๋ๆ ที่พักตากอากาศหรูๆ ฮิปๆ ถูกใจคนชั้นกลาง ขณะที่ปัญหาทั้งในเรื่องต้นทุนการผลิต การดูแล บำรุงรักษา และที่สำคัญคืออุดมการณ์การเมืองที่ถูกกลบซ่อนอยู่ใต้ผิวของบ้านดินไป
.
ผมไม่ติดใจอะไรกับ โจน จันได แค่คิดว่าถ้าโจน จะนำเสนอตัวเป็นศาสดาของคนชั้นกลางในการต่อสู้กับระบบทุนนิยมเสียขนาดนั้น พึ่งตนเองเสียขนาดนั้น อนุรักษ์ธรรมชาติเสียขนาดนั้น โจนและครอบครัวไม่ควรที่จะนั่งเครื่องบินไอพ่น ที่ผลิตจากระบบอุตสาหกรรม ใช้น้ำมันจากฟอสซิลทำลายสิงแวดล้อมไปอเมริกา แต่โจนควรพาครอบครัวพายเรือที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ไปโอคลาโฮม่า จึงจะสง่างาม
.
แน่นอนว่า โจน จันได คงจะไม่พาซื่อ พาครอบครัวย่ำดินเหนียวทำเป็นเรือ แต่ถ้าโจน บอกอย่างนั้น คนชั้นกลางส่วนหนึ่งก็พร้อมที่จะเชื่อ
บล็อกของ gadfly
gadfly
เห็นมีเรื่อง พ่อ-ลูก ซึ้งบ้างไม่ซึ้งบ้าง ฮาบ้างไม่ฮาบ้าง คิดถึงคนที่ไม่มีพ่อ หรือคนที่พ่อไม่ค่อยมีดีอะไรให้อวดนัก แล้วเลยไพล่ไปนึกถึงพี่สุรพล จึงขออนุญาตรำลึกถึงความสัมพันธ์ของพ่อลูกคู่หนึ่งที่ผมสามารถทำได้เพียงเฝ้ามอง
gadfly
จากกรณีของ อ.สายพิณ จนถึงกรณีของ อ.ลลิตา รวมแล้วน่าจะประมาณกว่าสองทศวรรษ เวลาสองทศวรรษสำหรับบ้านเมืองอื่น ผมเชื่อว่าสถานการณ์ การรับรู้ ทัศนะคติ หรือโครงสร้างทางการเมือง-วัฒนธรรม ของพวกเขาน่าจะเปลี่ยนไปเยอะแล้ว แต่สำหรับบ้านเมืองของเรา ผมเชื่อว่ารูปแบบความขัดแย้ง ปรากฎการณ์อาจเปลี่ยนไปบ้าง แต่โดยแก่นแท้แล้วยังคงเหมือนเดิม