รถไฟจะออกจากฮานอยไปซาปา สองทุ่มตรง ลงสถานีเลาไคและต่อรถตู้ อีกครึ่งวัน
เรายังย่ำต็อกอยู่ในฮานอย รอเวลา จึงหอบผ้าหอบผ่อนไปจองแบมบู เกสเฮ้าส์ เอาไว้สำหรับวันที่จะกลับมา ตามแผน เราจะอยู่ที่ซาปา 2 คืน 3 วัน แล้วกลับมาฮานอย จองทัวร์ไปอ่าวฮาลอง อีก 2 คืน 3 วัน ถึงจะกลับมาพักที่ฮานอย 2 คืน ก่อนจะกลับบ้าน
จองห้องที่แบมบู เกสเฮ้าส์ เอาไว้กันเหนียว
ฮานอย 18.00 น. ก็เหมือนกับกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาเร่งด่วน รถติดและคนกลับบ้าน เราอยากมั่นใจว่าจะไม่ตกรถไฟ จึงติดต่อให้ทางแบมบูจัดหารถแท็กซี่ไปส่ง ที่การันตีว่า ไม่มีชาร์ต จากคำบอกเล่าของเราที่เจอกับรถแท็กซี่ ออน ทัวร์ วนรอบเมืองในเช้าวันเดียวกัน
“รับประกันค่ะ” รีเซฟชั่นชาวเวียด บอกเราเอาไว้เช่นนั้น
...
แท็กซี่มาถึงหนึ่งทุ่มนิดหน่อย ชายหนุ่มหน้าตาดีในชุดเสื้อสีฟ้า กางเกงสแล็ก บอกยี่ห้อว่าเป็นแท็กซี่ ไดร์ฟเวอร์ ขนานแท้เปิดประตูรถช่วยเราหอบกระเป๋าขึ้นรถ ก่อนจะเปิดประตูท้ายและโค้งให้อย่างสุภาพ เขากดมิเตอร์และเคลื่อนรถฝ่าการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน
แน่นอน ด้วยการบีบแตรขอทางลั่นถนน
แท็กซี่คันขาวฝ่าการจราจรมาถึงก่าบี อันเป็นสถานีย่อยสำหรับคนที่ต้องการโดยสารไปซาปา ทางด้านหน้าสถานีรถไฟเต็มไปด้วยผู้คนทั้งนักเดินทาง คนขายของ พนักงานตรวจตั๋ว ค่อนข้างสลัวและพลุกพล่านด้วยบรรยากาศขรึมในแบบสถานีรถไฟทั่วไป
รถหยุดสนิท เราควักเงินดองจ่ายไป 25.000 ตามราคาบนมิเตอร์ ชายหนุ่มแท็กซี่ไดร์ฟเวอร์ หยุดชะงัก เค้าหันมาและกางนิ้วทั้ง 5 เหยียดตรง
“ฟิฟตี้ ดอง” เขากล่าว ใบหน้าเริ่มเครียดเหมือนกับเรา
เราเริ่มอึ้งก่อนจะชี้ไปมิเตอร์บอกราคา
“โน มิเตอร์ ฟิฟตี้ดอง” เขายื่นคำขาดเป็นภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่น
เอาแล้วไง โนมิเตอร์ ภายใต้บรรยากาศมาคุ
ยาดาวางเงินไว้ตรงคอนโทรลข้าง ยืนยันราคาตามมิเตอร์แล้วบอกให้เขาเปิดท้ายรถเพื่อที่จะได้ไปเอาของลง อากาศในรถดูเหมือนเริ่มจะน้อยลงทุกที เขาเริ่มขึงขังและไม่ยอมเปิดท้ายรถเพื่อให้เราเอาของลง ทั้งสองฝ่ายต่างเริ่มส่งเสียงดัง จับใจความได้ว่า
“โนๆๆๆ” “25.000 ดอง” “50.000 ดอง”
ยาดาให้ผมลงจากรถเพื่อไปเอาของ ผมลังเลเกรงว่า หากหนุ่มแท็กซี่ไดร์ฟเวอร์จะออกรถไปขณะที่มียาดาอยู่ด้วย แล้วตรูจะทำไงหว่า ผมเปิดประตูอีกด้าน ยังเห็นว่ามันคลายล็อกไม่ได้จึงต้องถัดมาลงประตูด้านของยาดา ร้องว่าจะเรียกโปลิด
ได้ผลแฮะ หนุ่มแท็กซี่ไดร์ฟเวอร์ เดินลงมาเปิดท้ายรถให้ ด้วยความฉุนเฉียว ชี้ไปที่โปลิด
“นั่นไง โปลิด” ประมาณว่า เรียกมาเลย ฉันไม่กลัวเว้ย!
เราหยิบกระเป๋าเดินเข้าก่าบี ได้ยินเสียงหนุ่มนายนั้นปิดท้ายรถดังปึง
เอากะเขาสิ
...
สถานีรถไฟเลาไค 06.00 น. อยู่ภายในเกร็ดสีขาวของละอองหมอก ชื้นแต่สดชื่น นักท่องเที่ยวที่จะไปซาปาสามารถซื้อตั๋วต่อรถตู้ได้ภายในสถานีเลาไค ในราคา 15.000 ดอง ขับกันครึ่งวัน เลียบไปตามช่องเขาเพราะเป็นพรมแดนทางเหนือที่อยู่ติดประเทศจีน ซาปา เดือนเมษายนยังอยู่ในช่วงหน้าร้อนที่มีแดดอ่อนและเต็มไปด้วยละอองหมอก
เมื่อรถตู้ออกจากเมืองเลาไค หากใครเป็นคนที่เมารถสักหน่อยจะเริ่มมีอาการวิงเวียนเฉพาะเมื่อรถไต่ระดับไปบนเทือกเขาที่ทอดยาว ผ่านนาขั้นบันได กลางสายแดดอ่อนที่แหย่งสายลงมาจากกลุ่มเมฆก้อนใหญ่ ภูเขาทั้งเทือกถูกแปรเป็นนาขั้นบันไดสมคำร่ำลือที่ว่าส่งออกข้าวมากเป็นอันดับสอง รองลงมาเป็นพืชเศรษฐกิจจำพวกอื่นๆ อย่างเช่น ผลไม้หลากชนิด พลับ ท้อ ที่ขึ้นดีในพื้นที่ที่มีอากาศหนาว ไร่ข้าวโพด มันสำปะหลังและเลี้ยงสัตว์เล็กน้อย
จนเห็น ชาวม้งเดินจูงควายอยู่ริมถนนท่ามกลางสายฝนที่หลั่งเม็ดลงมาเล็กๆ
นั่นแหละ ซาปา
...
ซาปาเป็นเมืองในหุบเขา หมอกลงจัดอยู่ตลอดเวลา รถตู้จะวิ่งลงมาตามทางลาดลงเขา ใจกลางเมืองจะมีสระน้ำขนาดใหญ่ ติดกับส่วนงานราชการ ซีกโรงแรมจะอยู่ฟากตรงข้ามของสระสาธารณะ ติดกับจัตุรัสกลางเมืองสำหรับหนุ่มสาวไปพรอดรักและเด็กๆ ไปวิ่งเล่น
ตลาดซาปาเป็นแหล่งรวมของแม่ค้าพ่อค้าของชนพื้นเมืองที่เต็มไปด้วยสีสัน ชนส่วนใหญ่จะเป็นม้งดำที่มาขายผ้าลายปักที่ริมถนนและกลุ่มเรด เซา (ชื่อชาวม้งเผ่าหหนึ่ง) ที่มานั่งถักกันเห็นๆ ขายกันแบบดีลิเวอรี่ คือ เดินปรี่เข้ามาหา เสนอสินค้าและเปิดฉากตื้อ(เท่านั้นที่ครองโลก)
สิ่งเดียวที่นักท่องเที่ยวอย่างเราทำได้ คือ ยิ้มก่อนเดินหนี
HAHAHA
ตัวเมืองซาปา ในม่านหมอก
นาขั้นบันได มองเห็นได้ทั่วไปในซาปา
เอ่อ นักท่องเที่ยวจะเจอแบบนี้
ยื่นข้อเสนอด้วยน้ำเสียงออดอ้อน หากใจอ่อนละก้อ ...
ผมตามถ่ายพี่น้องคู่จนได้อย่างที่เห็น
พักเที่ยงจ้ะ
ปักลวดลายกันเห็นๆ
กลุ่มเรด เซา
ซาปายามค่ำ แปรสภาพเป็นตลาดให้หนุ่มๆ สาวๆ ได้มาเจอกัน