ดูเหมือนว่า ภูกระดึงจะเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ใครๆ หลายคน คิดว่าอยากจะไปเยือนสักครั้ง
การเดินทาง เป็นเรื่องของการตัดใจ หากทำได้เพียงแต่คิด ทุกสิ่งคงเป็นได้เพียงแค่หมอกควันของอารมณ์ชั่วคราวที่ค่อยๆ บรรเทาเบาบางก่อนจะจางหายไปในที่สุด
แต่นั่นแหละกล่าวกันว่า การอ่านเป็นการเดินทางที่ง่ายและถูกที่สุด
อย่างน้อยผมก็เชื่อเช่นนั้น
…
จากหมอชิตเดินทางถึงผานกเค้าในเช้าวันใหม่ ท้องฟ้าเริ่มสาง ไม่ต้องเป็นกังวลหรือหวาดหวั่น เราจะได้พบเพื่อนร่วมทางมากมาย กลุ่มนักศึกษากลุ่มใหญ่ เจี๊ยวจ๊าวเต็มคันรถ บันทึกถ่ายทำวีดีโอไปตลอดการเดินทาง กระทั่งพนักงานต้อนรับคนงามต้องบอกว่า
“เดี๋ยวพี่จะปิดไฟแล้วน้องต้องเงียบและเตรียมตัวหลับกันได้แล้วนะคะ เพราะพรุ่งนี้น้องๆ ต้องระกำลำบากกันจนลืมไม่ลงทีเดียว” รอยยิ้มของเธอคล้ายกับคุณครูฝ่ายปกครองผู้หวังดี
ผมได้ยินใครรำพันมาจากข้างหลัง
...
จากผานกเค้า เราจะต้องเดินทางต่อรถสองแถวแดง(ทำไมต้องแดง อันนี้คงต้องถามกรมขนส่งทางบกประจำประเทศไทย)เพื่อต่อไปยังบริเวณอุทยาน ในอัตราหัวละ 20 บาท รับได้เต็มคันราว 12 หัว บริเวณผานกเค้า เราสามารถกระทำภาระกิจยามเช้า ตั้งแต่ เข้าห้องน้ำห้องท่า ล้างหน้าล้างตา โด๊ปการแฟ ไข่ลวกหรือกระทั่งหาข้าวแกงราคากรุงเทพฯ กิน ที่ร้านเจ๊กิมและต้องจองตั๋ววันกลับเดี๋ยวนั้น มิฉะนั้น อาจจะหมดสิทธิ์กลับได้
เจ๊กิม แกคงเป็นร้านเก่าร้านแก่ เปิดรอรับนักเดินทางมาตั้งแต่ยุคสมัยไหน ..กล่าวกันว่า นักเดินทางพวกแรกๆ ที่มาภูกระดึงก็เป็นอันต้องใช้บริการเจ๊กิมแล้ว ..
...
ฟ้าเริ่มสว่างแล้ว ลมเย็นๆ พัดผ่าน ผานกเค้าตะหง่านเงื้อม มาคิดๆ ดู มีข้อสันนิษฐานได้ 2 ข้อ ข้อแรก คือ มีนกเค้าอาศัยอยู่มากมาย ข้อสอง หน้าตาของหน้าผาดูคล้ายนกเค้า ซึ่งวันนี้ รอบๆ บริเวณตีนผาบ้านเรือนกลายสภาพเป็นร้านค้าขายของที่ระลึก มะขามหวาน ผ้าทอพื้นเมือง หมวกกันหนาวและถุงมือ
อะไรๆ ที่ป้องกันความหนาวได้ ขายหมด
“ใครที่ดื่มเหล้า ซื้อตุนไปได้นะครับ บนภูไม่มีขาย” ชายหนุ่มผิวขาว รูปร่างท้วมแบบหุ่นเถ้าแก่ ตะโกนบอกนักท่องเที่ยวที่เดินเข้ามาภายในร้านเจ๊กิม ในความหมายว่า ทางอุทยานไม่อนุญาตให้ขายเหล้าข้างบนซึ่งในภายหลังถึงได้มาเห็นความจริงกับตาตัวเอง เมื่อขึ้นถึงยอดภูกระดึงว่า บน shelf ในร้านค้าบนภู เต็มไปด้วยกระป๋องเบียร์และเหล้าหลากยี่ห้อ ราวกับเซเว่น อีเลฟเว่น มาเองทีเดียวเชียวแหละ
...
สองแถวสีแดง มาส่งเราถึงหน้าอุทยานแห่งสวรรค์ กล่าวกันว่า ภูกระดึงถูกค้นพบโดยนายพรานระดับชาวบ้านๆ คนหนึ่งจากหมู่บ้านโพธิ์ศรีฐานที่ติดตามรอยกระทิงขึ้นไปตามทางเดินขึ้นภู
จากซำแฮ่กถึงซำแคร่ผ่านหลังแป ถึงได้รู้ว่า ภูเขาแห่งนี้มียอดตัดเป็นที่ทุ่งราบกว้างใหญ่ หญ้าระบัดใบเสียดยอดอ่อนขึ้นมาจากผืนดิน เก้งกวางและเล็มอย่างเอร็ด ลูกน้อยยืนประชิดติดแม่ เคี้ยวเอื้องอยู่ข้างๆ อย่างรู้สึกถึงความอบอุ่น ตรงลูกน้อยนี่ผมเติมลงไปเองนะครับเพื่อให้เห็นภาพ จริงๆ ข้อมูลไม่มีบอก แต่คิดว่า คงมีภาพอย่างนี้บ้างแหละน่า
หลังจากนั้นนานนับสิบๆ ปี หากพรานคนนี้ยังอยู่ คงได้รับรู้ว่า ภูกระดึงกลายเป็นที่อยู่อาศัยของ คน
คน ค่น ค้น ค๊น ค๋น
...
“พี่กัน ขาตั้งกล้องไปไหน” ยาดาถาม
“...” ตายห่ _ ลืมเอาไว้บนรถสองแถวแดง
ภูมิภาพทุ่งราบกว้าง, ฤดูหนาว ทุ่งกว้างมองเห็นเป็นสีน้ำตาล มองดูแปลกตาไปอีกแบบ
มองผ่านดอกหญ้าใกล้ๆ
เมเปิล, สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของภูกระดึงกำลังเปลี่ยนสี
น้ำตกดูแดงฉานด้วยใบเมเปิล
ดอกหญ้าชนิดนี้มองเห็นได้ทั่วไป
ระหว่างทาง, สนสองใบ ทรายละเอียดและพรมใบสนร่วงตามฤดูกาล, งามราวภาพวาด
ยามเช้าที่ผานกแอ่น, ต้องตื่นแต่เช้า รอเวลาฟ้าสาง
กระดิ่ง, สัญลักษณ์อีกชนิดของภูกระดึง