Skip to main content

...

เรือเล็กทะยานออกจากบ้านท่าตาฝั่ง แหวกสายน้ำเห็นเป็นแนวตามความเร็วของเครื่องยนต์ นกนางแอ่นหางลวดโผตัวอยู่เหนือผิวน้ำสีแดงขุ่น เดือนพฤษภาคม น้ำสาละวินจะเป็นสีแดงขุ่น เป็นไปตามระบบธรรมชาติของแม่น้ำสาละวินที่ถูกยกให้เป็นพื้นที่ของความหลากหลายโล

ทั้งในแง่ของชีววิทยาและแง่งามทางวัฒนธรรม

แม่น้ำสาละวินเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตสองฟากฝั่งน้ำมาอย่างยาวนาน ยาวนานมากพอที่จะสร้างสรรค์รูปแบบทางวัฒนธรรมที่สอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกับระบบทางนิเวศน์วิทยา

ชนเผ่าโบราณใช้สายน้ำสาละวินเป็นเส้นทางสัญจรติดต่อทำมาค้าขายกันมาตั้งแต่ครั้งอดีตอันรุ่งเรือง ตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนโบราณ ซึ่งค้นพบจากหลักฐานทางโบราณคดี เช่น เครื่องมือหินกะเทาะคล้ายขวานหิน เครื่องมือโกลนหินขัด กล้องยาสูบ ไปจนถึง เครื่องลายครามภาชนะดินเผาโบราณสมัยราชวงศ์หมิง

บ่งบอกถึงการเดินทางค้าขายติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอก
หากใครจะคิดได้ ใช่ไหมว่า พวกเรากำลังสัญจรอยู่บนเส้นทางสายอารยธรรม

...

แก่งเว่ยจี อยู่ห่างจากบ้านท่าตาฝั่งออกไปราว 2 ชั่วโมง (คิดตามอัตราความเร็วของเรือขนควาย) พวกเราต้องค้างคืนกันที่บ้านแม่ดึ๊ 1 คืน ก่อนจะยกพลกันไปที่แก่งเว่ยจี ในเช้าวันรุ่งขึ้น (9 พ.ค. 51)

หมู่บ้านแม่ดึ๊ เป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง เล็กกะทัดรัด ขนาด 107 คน ตั้งอยู่บนเนินเหนือแก่งแม่ดึ๊ มีลำห้วยแม่แงะไหลผ่านหมู่บ้าน ออกไปยังบ้านโพซอและบ้านกองสุม ชาวบ้านที่นี่ไม่ได้รับการสำรวจเอาไว้ในทะเบียนราษฏร์ ทั้งที่ตั้งหมู่บ้านมามากกว่า 20 ปีแล้ว

การตกสำรวจ หมายถึง การไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภคจากรัฐ

ภายในหมู่บ้านมีโรงเรียนเล็กๆ ขนาด 3x6 เมตร 1 หลัง มีคุณครู 2 คน หนึ่งในจำนวนนั้นเป็นชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ดึ๊ ชื่อ คุณครูโซมุ ไม่มีน้ำปะปา ไม่มีระบบสาธารณสุข ไม่มีไฟฟ้าและเครื่องอำนวยความสะดวกอื่นๆ นอกจาก ป้ายกฏข้อห้ามประจำหมู่บ้าน เช่น ห้ามตัดไม้ทำลายป่า ห้ามพกพาอาวุธ ห้ามทิ้งขยะ

แม้จะยากจน ชาวบ้านกลับต้อนรับพวกเราด้วยไมตรีจิต

โซมุ เป็นครูหนุ่ม ปีนี้เขาเพิ่งมีลูกคนที่ 4 ดวงตาที่ยิ้มได้ของเขาบ่งบอกถึงการเป็นคนอารมณ์ดี ผมซอยสั้น ร่างกายกำยำมองเห็นมัดแขนตามสภาพการกรากกรำงาน ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่จะทำไร่ข้าวและหาปลาในแม่น้ำสาละวินที่มีให้ได้กินกันเพียงพอในทุกครอบครัว

เป็นแหล่งอาหารที่มีชีวิตของคนบนฝั่งสาละวิน

พันธุ์ปลาหลากชนิดในลำน้ำสาละวินและลำห้วยสาขาต่างๆ ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของคนในลุ่มน้ำนี้ ชาวน้ำสาละวิน มีความเชี่ยวชาญด้านการจับปลา สร้างเครื่องมือจับปลาและรู้จักพันธุ์ปลาเป็นอย่างดี ทั้งยังมีความรู้เกี่ยวกับระบบน้ำในแต่ละฤดูกาลที่แตกต่างกัน

โซมุบอกว่า “วังน้ำแต่ละวัง แก่งหินแต่ละแก่ง มีปลาให้กินกันเสมอ”
ใครบางคนคงยากที่จะเชื่อว่า กะเหรี่ยงก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุ์ปลา

...

โซมุ เป็นครูเพราะไม่มีครูมาสอนที่หมูบ้านแม่ดึ๊ ไม่ใช่ว่าไม่เคยมี เคยมี หากย้ายกันไปตามวาระ สำหรับครูโซมุ แม้เขาจะสอนวิชาภาษาอังกฤษ หากครูหนุ่มได้แต่เพียงคาดหวังว่า เด็กๆ ในหมู่บ้านแม่ดึ๊อ่านเขียนภาษาไทยได้คล่อง พอเอาตัวรอดไม่ถูกหลอก ถูกโกงจากสังคมภายนอกหมู่บ้านก็เพียงพอแล้ว

การอ่านเขียนภาษาไทยคล่อง จะช่วยให้เด็กๆ ได้รับการสำรวจลงทะเบียนราษฏร์ของประเทศไทย

...

ยามสายของวันที่ 9 พ.ค. 51 พวกเรามากกว่า 600 ชีวิต ทยอยลงเรือขนควายไปยังจุดบวชป่าอีกจุดแก่งเว่ยจีหรือจุดสร้างเขื่อนสาละวินตอนบน ซึ่งมีชื่อเต็มๆ ว่า โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินชายแดนไทย-พม่า ประกอบด้วยเขื่อน 2 แห่ง คือ เขื่อนสาละวินตอนบนตรงจุดเว่ยจีและเขื่อนสาละวินตอนล่างตรงจุดตากวิน

ตากวิน ติดท้ายหมู่บ้านท่าตาฝั่ง
เว่ยจี อยู่เหนือหมู่บ้านแม่ดึ๊ เข้าไปทางพรมแดนไทย-พม่า

จุดบวชป่าตรงแก่งเว่ยจี อยู่บนโขดหินใหญ่ ระหว่างล่องเรือ ทุกคนบนเรือจะสังเกตุเห็นป้ายผ้าเขียนเอาไว้ว่า “NO DAM” อยู่ริมผา ซึ่งเป็นจุดที่ถูกเลือกให้เป็นที่ตั้งของสันเขื่อน เว่ยจี แปลว่า วังน้ำใหญ่ เป็นช่วงหน้าผาแคบ ยาว เป็นระยะทางนับ 10 กิโลเมตร ตรงจุดนี้น้ำสาละวินจะไหลเชี่ยวกรากรุนแรงเข้าสู่ประเทศพม่าที่หมู่บ้านตะกอท่า นักเดินเรือสัญจรในสายน้ำสาละวินต่างรู้กิตติศัพท์ของบริเวณนี้เป็นอย่างดี

ดังนั้น เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก(น้ำโต)ผู้สัญจรทางน้ำจะหลีกเลี่ยง

โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสาละวิน เป็นโครงการความร่วมมือขนาดใหญ่ ระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย จีนและพม่า วางโครงร่างของแผนนโยบายผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 17 เขื่อน อยู่ในประเทศจีน 13 เขื่อน อีก 4 เขื่อนขวางลำน้ำสาละวินบนเส้นแบ่งพรมแดนไทย-พม่า

โครงการนี้ถูกทักท้วงอย่างกว้างขวาง ทั้งคนจากภายในและภายนอกประเทศของทั้ง 3 ประเทศ เพราะ 9 เขื่อนในประเทศจีน ขวางลำน้ำบนพื้นที่เขตอนุรักษ์ ชื่อว่า “3 แม่น้ำไหลเคียง” อันเป็นจุดที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

สำหรับ 4 เขื่อน บนแม่น้ำสาละวิน พรมแดนไทย-พม่า ได้แก่ เขื่อนท่าซางในเขตรัฐฉาน เขื่อนเว่ยจี เขื่อนตากวิน ระหว่างพรมแดนไทย-พม่าและเขื่อนฮัทจีในรัฐกะเหรี่ยง จะก่อให้เกิดการล้นเอ่อของสายน้ำเข้าท่วมพื้นที่ทำมาหากิน ชุมชนหมู่บ้านในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยขนานใหญ่

ในส่วนของประเทศไทย
แม่น้ำปายจะเอ่อเข้าท่วมพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนกินพื้นที่ราว 30,000 ไร่ ใน 18 หมู่บ้าน

...

พิธีบวชป่า เริ่มต้นขึ้นอย่างเรียบง่าย เสียงผู้ประกอบพิธีเชิญชวนให้แขกและชาวบ้านที่มาร่วมงาน กว่า 600 ชีวิต มาอยู่ในบริเวณพิธีกรรม ชาวบ้านที่มาร่วมงาน ณ. จุดบวชป่าเว่ยจี มาจากทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่า เทียนขี้ผึ้งถูกจุดและเครื่องเซ่นไหว้เตรียมพร้อมอยู่แล้วในปะรำพิธี

เสียงสวดของผู้ประกอบพิธีกรรมดังกังวานก้องอาณาบริเวณ
“เจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าสาละวิน ขอให้คุ้มครองพวกเรา ผู้มาร่วมงาน อัญเชิญท่านมารับเครื่องเซ่นเพื่อปกป้อง ผืนน้ำ ผืนฟ้า ขุนเขา หากใคร ผู้ใด คิดจะนำสิ่งใดมาขวางกั้นลำน้ำสาละวิน ขอประสบกับเหตุเภทภัย กระทำการไม่สำเร็จ เพื่อชีวิตของลูกหลานพวกเราจะได้อาศัยน้ำ อาศัยดิน อาศัยฟ้า เพื่อมีชีวิต”

หากก้าวพ้นเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ใช่หรือไม่ว่า พิธีกรรมบวชป่า หมายถึง การหลอมรวมดวงใจของคนลุ่มน้ำสาละวินให้เป็นหนึ่ง ปกป้องธรรมชาติ ปกป้องพื้นที่ทางวัฒนธรรม พื้นที่แห่งชีวิตของพวกเขา

บนพื้นฐานของความศักดิ์สิทธิ์ คนจะไม่กล้ารุกล้ำ
บนพื้นฐานของความเป็นหนึ่ง คือ การหลอมรวมความแตกต่าง

ไม่มีพุทธ คริสต์ อิสลาม ผี กะเหรี่ยง ไทย พม่า มอญ อื่นๆ ทุกคน คือ ประชาชาติของโลกใบเดียวกัน

...

ขอบคุณพี่ๆ มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติทุกคน
www.terraper.org

 

20080522 บริเวณจุดเว่ยจี
บริเวณจุดเว่ยจี ที่ตั้งสันเขื่อนสาละวินตอนบน

20080522 บริเวณจุดบวชป่า
บริเวณจุดบวชป่า เว่ยจี

20080522 ผู้ประกอบพิธีเริ่มพิธีกรรมบวชป่า
ผู้ประกอบพิธีเริ่มพิธีกรรมบวชป่า

20080522 ศาสนิกชนผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา
ศาสนิกชนผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา

20080522 ประนมมือด้วยความศรัทธายิ่ง
ประนมมือด้วยความศรัทธายิ่ง

20080522 ให้นมลูกระหว่างทำพิธี
ให้นมลูกระหว่างทำพิธี

20080522 ระหว่างเส้นทางเดินเรือ (1)

20080522 ระหว่างเส้นทางเดินเรือ (2)
ระหว่างเส้นทางเดินเรือ บางใบหน้าของชาวบ้านริมฝั่งน้ำสาละวิน

20080522 เหนือสายน้ำ
เหนือสายน้ำ สายแดดหลังก้อเมฆ ลอดออกมาเป็นลำ น่าตื่นตาหากเร้นลับอยู่ในที

20080522 มุมมองสุดท้ายริมฝั่งสาละวิน
มุมมองสุดท้ายริมฝั่งสาละวิน จากหมู่บ้านแม่สามแลบ

บล็อกของ กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์

กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ทิศทางการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวที่สะเปะสะปะทำให้ชาวบ้านหลายคนทิ้งชีวิตเรือกสวนไร่นา หันมาเป็นผู้ประกอบการอย่างไร้ทิศทาง ไร้การจัดการ ไร้ความคิด ในสังคมมือใครยาวสาวได้สาวเอาที่ต้องการแต่ประโยชน์ส่วนตน
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
แดดยามบ่ายกระทบสายน้ำเป็นริ้วเต้นระริกรินไหลไปตามแก่งหินน้อยใหญ่ ทิวไม้สองฝั่งแน่นขนัดทอดกายยึดผืนดินไม่ให้น้ำกัดเซาะ ราวกับมืออันอบอุ่นของแม่ที่โอบอุ้มทารกแนบอก
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
คลิ๊กที่ภาพเพื่อดูภาพขยาย    
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
คนงานบนเรือขนสินค้าขนาดใหญ่ริมฝั่งโขง กำลังทำงานของพวกเขา เรือขุดทรายตักทรายจากกลางลำน้ำ ชายชราหาปลาอยู่บนเรือท้องแบน ธุรกิจการค้าคึกคัก ...
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
เชียงคานเมืองริมฝั่งโขง ถูกพูดถึงมากมายในหมู่นักท่องเที่ยว นักเดินทางหลายคนหยุดเวลาเอาไว้ที่นั่นด้วยการนอนอ่านหนังสือเป็นอาทิตย์ ...
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ทุกเช้าๆ คุณแม่ชาวปกาเกอญอจะออกมาสะพายลูก ... ระหว่างเดินไปตามถนนกลางหมู่บ้าน ระหว่างอาบน้ำริมห้วยแม่แงะ ระหว่าง รอ ...
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ในลมหนาวมีใบหน้าใสซื่อ ดูเหมือนว่า จะกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้วอย่างยิ่ง ที่จะต้องถ่ายภาพใบหน้าคน ... ทุกปีที่ไปงานวันเด็กไร้สัญชาติ รอยยิ้มของคนหลังภูเขา อ่อนโยนแบบเด็กๆ ..
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ห้องทะเบียนราษฏรเคลื่อนที่ถูกจำลองขึ้นบนลานโล่งบริเวณบ้านผู้ใหญ่บ้าน ,คนไร้รัฐบ้านแม่แพะมารวมตัวกันเพื่อทำประชาคม ,ยกมือรับรองสถานะบุคคลเป็นพยานรู้เห็นว่าครอบครัวที่ได้รับการสำรวจทั้งหมดอยู่บนผืนดินแห่งนี้มานาน ก า เ ล
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ดินแดนอันไกลโพ้นเหนือความคิดฝัน ,เทือกเขาและดวงตะวันนิ่งงัน ราวกับภาพวาด
กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
มุมหนึ่งของเชียงคาน จ.เลย ,หากใครเคยไปเชียงคานจะเห็นแม่น้ำโขงยาวสุดลูกหูลูกตา ก่อนจะลับหายเข้าไปยังฝั่งลาวตรงแก่งคุดคู้ ,ในภาพมองเห็นเรือดูดทรายเอกชน ,แนวโน้มการพัฒนาเพื่อให้เป็นเมืองท่องเที่ยว ,คนที่นั่นออกปากปฏิเสธเป็นพัลวันถึงความไม่ต้องการให้เจริญขีดสุดแบบปาย ,แต่ขณะเดียวกันก็อ้าแขนต้อนรับนักท่องเที่ยว ,รวมถึงนักเก็งกำไรเข้ามาหาซื้อที่ดิน ,หลับตาก็พอมองออกว่าภายในระยะ 5-10 ปี เชียงคานจะอยู่ในสภาพของเมืองท่องเที่ยวที่ถึงพร้อมไปด้วยสาธารณูปโภคที่เสนอสนองความต้องการของคนในทุกระดับชั้น ,แต่ความเห็นส่วนตัว ผมชอบปายคับ (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยายภาพ)