Skip to main content
 
มาเยือนเมือง “สตูล สะอาด สงบ” เป็นครั้งที่สอง หลังจากเมื่อปีกว่าๆ ที่แล้วติดสอยห้อยตามเพื่อน NGO มาดูกิจกรรม “สัญญาประชาคม” ที่คนสตูลร่วมกันแสดงพลังคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา แต่ครั้งนี้สดใสกว่าเดิม มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงในกิจกรรมที่อาจารย์พานักศึกษาจากม.ทักษิณ มาลงพื้นที่เรียนรู้ปัญหา

["ตามดูพระอาทิตย์ตกที่ปากบารา" (บันทึกการเดินทางชิ้นก่อน) อ่านที่นี่] 
 
ครั้งก่อนเพื่อนโม้ให้ฟังไว้เยอะว่า ทะเลที่นี่อุดมสมบูรณ์และสวยงามขนาดไหน ตรงช่องแคบระหว่างเกาะสองลูกนั้นคือจุดที่เรียกว่า “ปากบารา” ซึ่งรัฐต้องการให้เป็นทางที่เรือขนส่งสินค้าผ่านเข้าออก แล้วสร้างท่าเรือไว้ด้านหลังเกาะเพื่อให้ช่วยบังคลื่นลม เพื่อนโม้ด้วยว่าตอนเย็นพระอาทิตย์จะตกลงตรงช่องนั้นพอดี ซึ่งเราก็แอบจินตนาการความสวยงามระดับแปดสิบแปดดาวไว้ หวังใจเล็กๆ ว่า ถ้าได้ภาพสวยๆ ตอนพระอาทิตย์ตกสักภาพ คงเกินพอที่จะตอบคำถามได้ว่าทำไมเราไม่อยากเห็นท่าเรืออุตสหากรรมขนาดใหญ่มาวางขวางอยู่ตรงนี้
 
ในช่วงหน้าฝนของปีก่อน ฟ้าครื้มด้วยเมฆสีเทาหนา ใช้ชีวิตผ่านสองคืนที่สตูล ไม่ทันได้เห็นพระอาทิตย์ตกลงตรงช่องเขาได้ตามใจ คราวนี้ ทันทีที่ฟ้ายามเย็นเริ่มมีสีส้มอ่อนๆ ผมและทีมงานบึ่งรถอย่างรวดเร็วกลับไปยัง “ลาน 18 ล้าน” เพื่อเป็นประจักษ์พยานการเอนกายลงพักผ่อนของดวงอาทิตย์ .....
 
...........................
 
ภารกิจเล็กๆ ในเวลาสองชั่วโมง เราต้องเป็นพี่เลี้ยงพานักศึกษา “ลงพื้นที่” ไปพูดคุยกับชาวบ้าน เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต รู้จักท้องถิ่น และแอบถามเรื่องความเห็นเกี่ยวกับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกเสียหน่อย
 
เวลาสองชั่วโมงทำอะไรได้ไม่มาก กว่าจะตะล่อมถาม ตีสนิท จนวนมาเข้าเรื่องได้ก็ไม่ง่าย การแหล่งภาษาใต้ได้หรือไม่ได้มีความสำคัญมาก นอกจากจะเป็นเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจแล้วยังเป็นเรื่องจะเข้าใจสิ่งที่ชาวบ้านอยากจะบอกได้สักกี่เปอร์เซ็นต์
 
กลุ่มของเราเดินเท้าออกจากที่พักในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา แวะคุยกับชาวบ้านไปเรื่อย เจอใครนั่งว่างๆ อยู่ก็เข้าไปคุยหมด น้องนักศึกษาแหล่งใต้ได้บ้างไม่ได้บ้าง คนที่แหล่งได้กลับชวนคุยไม่เก่ง ส่วนผมที่แหล่งไม่ได้กลับต้องทำหน้าที่เปิดบทสนทนาหลายๆ ครั้ง ให้บรรยากาศมันลื่นไหล เท่าที่เวลาพอจะมีได้นั่งลงคุย 3-4 บ้าน ยังไม่มีใครเอาด้วยกับท่าเรือสักคน มีทั้งที่ต่อต้านสุดๆ พร้อมสู้ตายถวายชีวิต และมีทั้งที่กล้าๆ กลัวๆ ไม่อยากจะเอาตัวเข้าแลกมาก
 
เปลวแดดยามสายร้อนแทบไหม้ได้เหมือนกัน กับแค่การเดินเท้าท่อมๆ ไปตามหมู่บ้านไม่กี่ร้อยเมตร เดินไปถามไปเรื่อยๆ โดยการเอ่ยชื่อของคนดัง “บ้านบังไกรไปทางไหนครับ?” ก่อนหมดเวลาสองชั่วโมงของภารกิจผมก็เอาตัวเองมั่วๆ แวะมาทักทายบ้านที่เคยอาศัยซุกหัวนอนได้
 
น้องเฟิร์นไม่อยู่ ไปสอบ มะไปขายตั๋วที่ท่าเรือ บังไกรอยู่แต่หลับ ได้เจอจริงๆจังๆ แค่ หยังวัลลา คนเดียว หยังจำผมได้ เราทักทายกันนิดหน่อย สัมผัสได้ว่าการที่เคยแวะเวียนมาแล้ว “กลับมาอีก” นั้นมีคุณค่าอย่างไรต่อคนที่ต้องยืนหยัดยึดพื้นที่อยู่ตลอดเวลา หยังวัลลาต้อนรับด้วยอารมณ์สดใสและไม่ยอมแพ้เหมือนเคย ในแววตาและน้ำเสียงเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เธอไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าปลายทางจะมีโอกาสแพ้หรือไม่ ป้ายผ้าเขียนด้วยลายมือสีเขียวยังคงติดอยู่ที่ผนังอันเดิม
 
“อย่าได้ท้อแท้ อย่าได้เสียใจ ท่านย่อมเป็นผู้ที่เหนือกว่า หากท่านคือผู้ศรัทธาที่แท้จริง...” มันเขียนไว้อย่างนั้น
 
ถามหยังวัลลาว่าอยากให้เราช่วยอะไรได้บ้าง หยังตอบว่าให้กลับไปเดินขบวนกันในมหาวิทยาลัย เพราะเรามาเห็นแล้วว่าธรรมชาติที่นี่สวยงามอย่างไร เราเข้าใจก็ให้เอาไปบอกต่อ พอใกล้จะกลับถามอีกทีว่าน้องๆ นักศึกษามาเยี่ยมเยียนถึงถิ่นแล้วอยากฝากอะไร หยังตอบว่าก็มาถึงแล้วก็อย่าลืมที่นี่ ถ้ามีโอกาสก็แวะเวียนมาเที่ยวกันอีก “เอาหัวใจเธอฝากไว้ที่นี่ แล้วเอาสตูลกลับไปด้วย” หยังวัลลาเป็นคนชอบสร้างอะไรคมๆ แบบนี้เสมอ
 
 
 
ระหว่างทางกลุ่มของเราพบกับมิตรไมตรีที่งดงามจากคนสตูล ทุกคนพร้อมจะคุยกับเราด้วยยิ้มกว้างไม่ว่าเราจะคุยเรื่องอะไร ถ้าเป็นเรื่องสัพเพเหระ ทะเล ภูเขา และท่องเที่ยวพวกเขาก็จะตอบโดยไม่สงสัยว่าเราถามทำไม ยิ่งเมื่อเข้าเรื่องท่าเรือก็มีน้ำเสียงหลายอย่างที่จับได้ว่ามันถ่วงลึกอยู่ในใจของพวกเขามานาน
ระหว่างทางเดินสั้นๆ และบ้านไม่กี่หลัง เราได้มะม่วงมาสองลูก และได้กินข้าวเหนียวไก่ทอดฟรี พอดีว่ามะบ้านนั้นขายไก่ทอดอยู่ เราก็ดันเลือกบ้านได้ถูก ผมบอกว่าไม่เอาฟรีหรอกนักศึกษาเขารวยๆ กันทั้งนั้น แต่มะบอกว่า “รวยไม่รวยไม่เกี่ยว อันนี้เป็นน้ำใจจากบ้านหมู่สี่ ตำบลตะโละใส จังหวัดสตูล” (จริงๆ พูดเป็นภาษาใต้นะ ฟังยากนิด)
 
กลุ่มเราไม่เจอกับคนที่เห็นด้วยกับการสร้างท่าเรือ แต่ก็มีเพื่อนกลุ่มอื่นมาเล่าให้ฟังว่าเจอเหมือนกัน มีชาวบ้านที่คิดว่าชีวิตของเขาทุกวันนี้ไม่ดีเลย และถ้าหากมีท่าเรือ มีการเวณคืนที่ บางทีเขาอาจมีโอกาสดีได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อื่นบ้าง ซึ่งก็ถูกของเขา
 
คิดกลับกันชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างท่าเรือก็เพราะชีวิตของเขาทุกวันนี้ดีอยู่แล้ว ออกเรือหาปลาได้ไม่น้อย กลับมาขายมีกำไร ปลูกพืชผักจากผืนดินก็งอกงาม ทำการค้ากับนักท่องเที่ยวก็สบายตัว หากจะให้เปลี่ยนชีวิตไปทำอย่างอื่นคงไม่ยอม 
 
ทุกคนก็ต่อสู้ไปตามความคิดเห็น และฐานที่ชีวิตของตัวเองมี หรือพูดง่ายๆ ทุกคนก็ล้วนเห็นแก่ตัวและเรียกร้องเพื่อตัวเองกันทั้งนั้น
 
แต่การเรียกร้องเพื่อตัวเองก็ไม่ได้แปลว่าไม่ควรมีสิทธิเรียกร้อง การลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องชีวิตของตัวเองนั่นแหละเป็นการต่อสู้ที่ชอบธรรมที่สุด คนที่นอนตากแอร์กินกุ้งเผาอยู่ในเมืองต่างหาก ที่ได้ยินหรือยังว่าวิถีชีวิตของคนจำนวนหนึ่งกำลังจะถูกบังคับให้เปลี่ยนไป
 
...........................
 
นักศึกษาที่เป็นคนใต้แท้ๆ ส่วนใหญ่มีลักษณะดุดันขึงขังอยู่แล้ว ก็จะมีความรู้สึกอยากต่อสู้เพื่อคัดค้านการก่อสร้างท่าเรืออย่างเต็มที่ ขณะที่ความเห็นในหมู่นักศึกษาที่เชื่อว่าต้องฟังชาวบ้านที่อยากได้ท่าเรือด้วยนั้นก็ถือเป็นเรื่องดี นักศึกษาคนที่เฉยๆ ไม่ได้แสดงออกอะไรก็มีมาก
 
ค่ายสามวัน ลงพื้นที่สองชั่วโมง กิจกรรมเรียนรู้เล็กๆ น้อยๆ คงไม่อาจเปลี่ยนใจใครจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ แต่ก็เป็นหยดน้ำอีกหลายหยดที่จะช่วยกันสาดเข้าไปปะทะกับหินผา เพื่อหวังว่าสักวันมันอาจจะสึกกร่อนลงบ้างเหมือนกัน 
 
ก่อนหน้าค่ายไม่กี่วัน แกนนำชาวบ้านและเอ็นจีโอเพิ่งเสร็จจากกิจกรรมเดินเท้าจากปากบารา สู่จะนะ ใช้เวลา 8 วัน ระยะทาง 220 กิโลเมตร ฝ่าฝนฝ่าแดด ตลอดทางก็แวะพูดคุยกับคนทุกจุดที่ผ่าน เพื่อประกาศเจตจำนงคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกตลอดจนแผนการพัฒนาภาคใต้ให้เป็นเขตอุสาหกรรมขนาดใหญ่โดยไม่ได้ถามเจ้าของบ้านก่อน หยาดเหงื่อ ความเหน็ดเหนื่อย และรอยยิ้ม ทั้งหมดก็หวังเพียงว่าเสียงของพวกเขาจะดังออกไปไกลขึ้น มีคนได้ยินมากขึ้น และมีแรงหนุนเพิ่มขึ้นทีละนิดๆ ให้ทันทัดทานวันที่หินผาก้อนใหญ่จะหล่นเทลงมาทับ
 
คืนวันที่สอง “บังดี” นักร้องจากวงกัวลาบารา ผู้ซึ่งเป็นคนแต่งและร้องเพลงให้กับขบวนการต่อสู่คัดค้านท่าเรือ ขนอุปกรณ์กีต้าร์พร้อมเครื่องเสียงมา “จัด” ให้ชาวค่ายได้ต่อเติมวิญญาณเสียหน่อย บุคลิกหน้าตาที่หนักหน่วงกับเสียงนุ่มๆ เรียกอารมณ์ให้ผู้ฟังคล้อยตามไปกับบรรยากาศของธรรมชาติรอบข้างและปลุกความฮึกเหิมของการรักท้องถิ่นขึ้นมาได้ไม่น้อย
 
เพลงสุดท้ายที่ “บังดี” ร้องทิ้งไว้ให้กับพวกเราได้คิดได้ฟัง เขาไม่ได้เลือกเพลงที่สื่อถึงการต่อสู้ หรือธรรมชาติอันงดงาม หรือเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อคัดค้านการก่อสร้างท่าเรือ เขาร้องว่า
 
“อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน ตามความคิดสติเราให้ทัน อยู่กับสิ่งที่มีไม่ใช่สิ่งที่ฝัน .... และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด” 
 
...........................
 
พระอาทิตย์ไม่ได้ตกลงที่ช่องแคบระหว่างเกาะนั่นซะหน่อย ทันทีที่รถปิ๊กอัพวิ่งเข้าใกล้หาดปากบารา ผมก็รู้แล้วว่าภาพที่รอคอยนั้นยังไม่มาถึง บางคนอาจจะบอกว่าแล้วแต่ฤดูกาล แต่ในต้นหน้าหนาวปี 2556 นี้พระอาทิตย์ตกหลังเกาะเขาใหญ่เต็มๆ ลูก ไม่ใกล้เคียงช่องแคบเลย
 
เอาเถอะ ยังไงมันก็สวยในแบบของมัน
 
ภาพถ่ายของชายหาดปากบารายามพระอาทิตย์กำลังจะหลบไปพักผ่อนนั้น ไม่ได้ประกอบไปด้วยความงามหยดย้อยเพราะหาดทรายขาว น้ำใสปิ๊งดุจสวรรค์เหมือนในหนังของฝรั่งตะวันตก มันไม่ใช่หาดที่สวยที่สุดในโลก และไม่ใช่จุดที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด แต่มันงามแบบอิ่มๆ ด้วยความที่มีคนและความเป็นท้องถิ่นของชาวบ้านที่นี่แฝงอยู่ในบรรยากาศของภาพนั้นด้วย
 
พระอาทิตย์ตกไม่ตรงช่องแคบฉันใด ก็เหมือนกับมนุษย์ที่อาศัยอยู่ที่นี่ฉันนั้น ไม่มีอะไรที่ลงล็อกเพอร์เฟ็คไปหมดตามที่บทมันเขียนไว้ทุกอย่างหรอก ความไม่ลงตัวของมนุษย์นี่แหละเป็นความงาม
   
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 
......................
 
กลางแสงแดด ที่แผดกล้า ท้าใจแข็ง 
สองขาเธอ ยังมีแรง ก้าวต่อก้าว
ปากบารา สู่จะนะ ทางเหยียดยาว
เพื่อลูกหลาย เพื่อป่าเขา ทะเลคราม
 
หากแรงอ่อน ผ่อนพัก อาจพลั้งพ่าย
ท่าเทียบเรือ รอรุกไล่ ใครคอยห้าม
เธอออกเดิน ให้ฝนสาด ประกาศความ
หวังไถ่ถาม หาแรงหนุน มาจุนใจ
 
... เรารู้ เรารู้ เพื่อน เรารับรู้
เธอต้องอยู่ ต้องยืนหยัด ตราบแรงไหว
ส่งเสียงร้อง จากคนกรุง ถึงคนไกล
ให้กึกก้อง แผดไป ในสายลม ...
 
......................


 

 

บล็อกของ นายกรุ้มกริ่ม

นายกรุ้มกริ่ม
                          
นายกรุ้มกริ่ม
ผมเขียนบันทึกฉบับนี้หลังจากล่วงเลยเวลาที่ผมควรจะเขียนมาปีกว่า เพื่อรำลึกถึงพี่สาวคนหนึ่งที่สอนข้อคิดให้กับพวกเราไว้มากมายโดยที่เธอไม่ได้ตั้งใจ เพื่อฝากเรื่องราวของเธอไว้สำหรับทุกคนที่พบผ่าน และเพื่อจดจารให้เธออยู่ในใจของเราเสมอ นานเท่าที่จะทำได้
นายกรุ้มกริ่ม
 หลังจากนั่งรถทัวร์ออกจากกรุงเทพฯ ตอนหกโมงเย็น ทันทีที่เท้าเหยียบตัวอำเภอละงู จังหวัดสตูล ตอนเก้าโมงเช้าของวันใหม่ ผมก็ถูกโยนขึ้นท้ายกระบะของคนไม่รู้จัก และเข้าร่วมขบวนโพกผ้า ติดธงเขียว เขียนว่า “ปกป้องสตูล” “STOP ท่าเรืออุตสาหกรรม” 
นายกรุ้มกริ่ม
  "ประกาศรัฐสภา เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
นายกรุ้มกริ่ม
จะจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางกรุงร้าง                    อยากจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางกรุงร้าง อยากเสกสรรค์ วันอ้างว้าง ทางสับสน อยากเผื่อแผ่ แง่งามใส่ หัวใจคน
นายกรุ้มกริ่ม
                        จะจุดเทียน เขียนรุ้ง กลางทุ่งหญ้า  จะสุมไฟ ใต้ฟ้า ท้าความหนาว จะไกวเปล เหล่ดารา พาพร่างพราว จะไล่เรียง เสียงสายราว ดาวดนตรี  
นายกรุ้มกริ่ม
  จะวาดเทียน เขียนรุ้ง ทุกทุ่งหญ้า 
นายกรุ้มกริ่ม
 
นายกรุ้มกริ่ม
เป็นยามเช้าที่วุ่นวาย และแสงแดดร้อนจัด ผมตื่นแล้วรีบวิ่งมาขึ้นเรือด่วนคลองแสนแสบในชั่วโมงเร่งด่วนที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน เพื่อไปให้ถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหง 
นายกรุ้มกริ่ม
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 วันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดี อากง จำเลยคดีส่ง SMS หมิ่นฯ เข้ามือถือเลขาฯนายกอภิสิทธิ์ 4 ข้อความ ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมยังโอบล้อมเมืองหลวงอยู่ไม่ห่าง ต้องลุ้นกันวันต่อวันว่านัดอ่านคำพิพากษาจะถูกเลื่อนเหมือนคดีอื่นๆ หรือไม่