"ต้นตอของปัญหาใหญ่ๆ ในสังคม พบว่าเรื่องหนึ่งคือ คนที่เป็นเจ้าของปัญหาไม่มีช่องทางส่งเสียงของตัวเองในช่องทางสื่อสารมวลชน ยิ่งวิทยุและทีวีนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง พื้นที่ของคนเดือดร้อน ถูกเบียดออกมาบนท้องถนนที่ออกมาประท้วงให้คนเมืองใหญ่รำคาญ"
ไม่นานมานี้ ได้ไปฟังการอภิปรายเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของทีวีสาธารณะ ในช่วงท้ายๆ มีเรื่องหนึ่งที่ถกกัน คือ ทีวีสาธารณะควรจะเป็นเรื่องของ 'พื้นที่สาธารณะ' หรือ 'ประโยชน์สาธารณะ'
เอาเข้าจริง เรื่องบ้านเมืองควรจะมีทีวีที่เป็น 'พื้นที่สาธารณะ' หรือ 'ประโยชน์สาธารณะ' เป็นกรอบใหญ่ที่ต้องวางไว้ตั้งแต่ต้นทางของการออกกฎหมาย เพราะความหมายของคำสองคำนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง สื่อที่เป็นพื้นที่สาธารณะ น่าจะหมายถึง ช่องทางที่ใครๆ สามารถเข้าถึง ส่วนสื่อที่เป็นประโยชน์สาธารณะ น่าจะหมายถึงการเป็นสื่อที่มีเนื้อหาเป็นประโยชน์ต่อคนดู
อย่างไรก็ดี กฎหมายทีวีสาธารณะก็ผ่านสภามาแล้ว เหลือเพียงประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งคาดว่าน่าจะได้ประกาศใช้ราวๆ กลางเดือนธันวาคมนี้ แล้วพอเปิดปีใหม่มาสังคมไทยเราก็จะมีทีวีสาธารณะให้ได้เชยชม
ที่ต้องใช้คำว่า ได้ 'เชยชม' เพราะยังไม่แน่ใจว่า คนตัวเล็กตัวน้อยจะเข้าถึงทีวีสาธารณะในฐานะอะไร เป็นคนทำ คนคิด หรือเป็นคนดูฝ่ายเดียว
ที่ผ่านมาเวลาพูดกันถึงต้นตอของปัญหาใหญ่ๆ ในสังคม พบว่าเรื่องหนึ่งคือ คนที่เป็นเจ้าของปัญหาไม่มีช่องทางส่งเสียงของตัวเองในช่องทางสื่อสารมวลชน ยิ่งวิทยุและทีวีนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง พื้นที่ของคนเดือดร้อน ถูกเบียดออกมาบนท้องถนนที่ออกมาประท้วงให้คนเมืองใหญ่รำคาญ
ปัญหานี้ก็เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับปัญหาความเหลื่อมล้ำของคน ที่ไม่ได้แตกต่างกันเพียงเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ แต่ยังแตกต่างกันในเรื่องของโอกาสด้วย คนด้อยโอกาสไม่เคยได้เข้าถึงสื่อ เพราะนอกจากเราจะไม่เคยมีพื้นที่สาธารณะในสื่อที่ใช้ทรัพยากรของประชาชนอย่างคลื่นความถี่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงสื่อกระแสหลักอื่นๆ ที่จะอยู่รอดได้ก็ต้องมีต้นทุนสูงลิบ
เดิมเราอาจรู้สึกว่า ปัญหาสื่อเมืองไทยที่รอการปฏิรูปคือ เราไม่มีช่องทีวีดีๆ มีคุณภาพให้ดู แต่ปัญหานี้คงไม่ได้แก้ด้วยการหาอะไรที่เป็นคุณภาพใส่เข้าไปเสีย เรื่องแบบนี้เป็นของลางเนื้อชอบลางยา
ผลลัพธ์สุดท้ายไม่อาจให้ความหมายอะไร หากแต่กระบวนการและโครงสร้างต่างหากที่จะบ่งบอกคุณภาพ.. และถึงที่สุดแล้ว เรากำลังจะต้องเสพทีวีที่ใครผลิตเนื้อหามาให้ดู?
เราน่าจะก้าวไปให้พ้นจากการถูกบอกให้เชื่อว่า อะไรดี อะไรไม่ดี รวมถึงเลิกอยู่กับความเคยชินเดิมๆ ที่ติดกับความเป็นมืออาชีพของคนทำสื่อ แต่ทีวีสาธารณะมีหน้าที่ที่ต้องเชื่อว่า พลเมืองเจ้าของเรื่องเป็นผู้ถ่ายทอดได้ และพลเมืองผู้บริโภคก็มีศักยภาพที่จะกลั่นกรองเนื้อหา และมีส่วนวิพากษ์วิจารณ์ช่วยกันปรุงรสไม่ให้ทีวีสาธารณะน่าเบื่อเกินไป
พลเมืองเจ้าของเรื่องต้องได้เป็นผู้ถ่ายทอด เพราะนานมาแล้วที่เราเชื่อในระบบตัวแทน เราเชื่อในองค์กรที่ทำงานเพื่อประชาชน เราหลงเชื่อในระบบคุณธรรมลมปาก ซึ่งก็นานมาแล้วอีกเช่นกันที่คนด้อยโอกาสก็ยังด้อยโอกาสดักดานต่อไป
กับทีวีสาธารณะ แม้กฎหมายจะไม่ได้ออกมาขี้เหร่มากนัก แม้จะเกิดขึ้นจากเจตนาที่ดี แต่ก็อดห่วงไม่ได้ว่า ทุกครั้งที่พูดกันถึงอนาคตทีวีสาธารณะ มักไปลงเอยว่าคณะกรรมการนโยบายฯ อันมาจากคณะกรรมการสรรหาฯ พอจะน่าเชื่อน่าหวัง ที่จะวางแนวนโยบายในการสร้างสื่อสาธารณะอันทรงคุณค่า
กฎหมายไม่ได้ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ามีกลไกที่มีธรรมาภิบาลรองรับ แต่ให้ความเชื่อมั่นว่าจะมีคนมาเป็นตัวแทนที่คอยดูแลให้มันเดินไปในแนวทางที่ดี ดูแล้วประชาชนไม่ต่างจากเด็กที่ไม่ยอมโต ไปไม่พ้นจากอ้อมอกของพ่อแม่ที่ห่วงใย
ไม่ต่างกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติเร่งปั๊มออกมาก่อนหมดสมัยรัฐบาล เพราะกลัวว่าจะไม่สามารถทำสำเร็จได้ในสถานการณ์ประชาธิปไตย ยังมีกฎหมายในนามของความปรารถนาดีอีกร้อยกว่าฉบับที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองช่วยกันผลักดัน สร้างฉากหลังให้ดูมีกระบวนการน่าเชื่อถือ เพราะผ่านกระบวนการสภา
แต่หารู้ไม่ว่า กฎหมายมากมายผ่านออกมาได้เพราะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติยกมือผ่านแบบแลกหมูแลกหมา มีการพูดกันทีเล่นทีจริงว่า หากคำนวณเวลาบวกลบคูณหารเวลาที่ สนช.ใช้พิจารณากฎหมายแล้ว เฉลี่ยตกราวฉบับละ 2 นาทีเท่านั้น ยังไม่นับว่ามีอีกเท่าไรที่ผ่านสภาแบบไม่ครบองค์ประชุม
ขณะที่เรากังขากับประชาธิปไตยแบบตัวแทน เราก็ต้องพัวพันกับการเมืองที่พยายามจะทำทีให้เหมือนประชาธิปไตย มีระบอบสภา เป็นสภาที่มีความหวังดีแบบพ่อแม่รังแกฉัน
อาจเพราะว่า สภานิติบัญญัติคิดว่ากำลังทำ 'ประโยชน์สาธารณะ' เพื่อสร้างแนวทางให้ลูกแหง่ที่คงยังไม่พร้อมเดินในโลกกว้าง มีชีวิตที่ดีมากขึ้น
ในภาวะแบบนี้ เราจะอยู่กับการเมืองแบบที่มี 'พื้นที่สาธารณะ' หรือมีความหวังดีแบบ 'ประโยชน์สาธารณะ' ก็คงเป็นได้แค่เพียงความคาดหวังในใจ ทำอะไรไม่ได้มากกว่านั้น เพราะมีคนคิดให้หมดแล้ว