เด็กสาวทำงานแต่งกายในชุดส่าหรีสีสดเทินกิ่งไม้ไว้บนศีรษะกำลังเดินกลับบ้าน ลูกลิงแสนซนที่ปีนป่ายลูกกรง หญิงชราผู้ค่อยๆ ต่อยก้อนหินให้แตกออกจนเป็นกรวดด้วยมือเปล่า รถสามล้อเก่าผุพังในสีขาวดำ สวามีผู้เร้นกายขึ้นไปปลีกวิเวกอยู่ในถ้ำเล็กๆ เหนือบันไดเจ็ดร้อยขั้น หนุ่มช้ำรักผู้ทำท่าเบื่อโลกนั่งอยู่หน้าโรงหนัง...
เรื่องราวทั้งหมดนี้หากไม่ได้เกิดขึ้นที่อินเดียแล้ว จะมีที่ใดที่เรื่องราวอันแตกต่างกันสุดขั้ว ระหว่างรวยถึงจน ระหว่างความงามไปจนถึงความหดหู่อาดูร ระหว่างความศักดิ์สิทธิ์ไปถึงความแตกร้าวแห่งศรัทธา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเกิดขึ้น มีอยู่ ให้พบเห็นได้ในทุกแห่งหนของอินเดีย...ถ้าหากว่าใครมีโอกาสได้ไปดูด้วยตาตนเอง
แต่ถ้ารู้สึกว่าแดดที่บ้านเราในยามนี้มันร้อนเกินไปแล้วอยากเร้นกายหลบแดดแต่ก็ยังสามารถเพ่งมองเห็นความเป็นไปในชีวิต หรืออาจจะเรียกได้ว่า “สีสันแห่งความเป็นไป” ของชีวิต โดยเฉพาะชีวิตที่เหมือนมีสีสันและความมหัศจรรย์อยู่ทุกอณูอย่างอินเดีย ก็อาจจะแวะไปชมงานแสดงนิทรรศการภาพถ่าย สีสันของอินเดีย - Colors of India
เชอร์รี่ ผุงประเสริฐและ ลุคแคสซาดี้-ดอเรียน เป็นผู้นำเรื่องราวและโอกาสนี้มาจัดแสดงหลังจากที่มีโอกาสเดินทางไปอินเดียเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมและทักษะการสอนโยคะ ซึ่งทั้งคู่เป็นครูโยคะในประเทศไทยอยู่แล้ว ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนทั้งสองได้เก็บเกี่ยวความทรงจําในอารมณ์ต่างๆของดินแดนแห่งนี้ผ่านเลนส์ของกล้องโลโม่ Holga และ Horizon ซึ่งมีคุณสมบัติในการถ่ายภาพที่ ‘ไม่คมชัด’ แต่ทว่าเก็บอารมณ์และสีสันภาพได้ดี ที่สำคัญซึ่งทั้งสองชอบที่จะถ่ายภาพด้วยกล้องโลโม่ก็คือมันเป็นกล้องฟิล์ม เมื่อเห็นสิ่งใดสะดุดใจก็ถ่ายภาพเก็บเอาไว้ แม้จะไม่สามารถดูหรือเห็นภาพที่ถ่ายได้โดยทันทีเหมือนกล้องระบบดิจิทัล แต่ก็รองรับอารมณ์ ณ ตอนนั้นหรือที่เรียกว่าโมเมนต์ (moment) ในการถ่ายภาพได้ดี
เชอร์รี่บอกว่า “มันเหมือนกับชีวิตของคนเรา ที่โมเมนต์ใดโมเมนต์หนึ่งผ่านเข้ามาตลอดเวลา แต่เราก็ไม่สามารถจับมันหรือหยุดมันเอาไว้ได้ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วผ่านเลยไป”
ทั้งเชอร์รี่และลุคเดินทางไปที่เมืองมัยซอร์ (Mysore) เพื่อฝึกโยคะแบบ Ashtanga กับอาศรมโยคะเก่าแก่มีชื่อเสียงที่นั่น แม้ลุคจะเรียนภาษาสันสกฤตไปด้วยก็ตาม แต่เมื่อฝึกโยคะเสร็จในแต่ละวันจะมีเวลาว่างเหลือเฟือ กิจกรรมการออกไปเดินเล่นเพื่อถ่ายภาพชีวิตผู้คนและสิ่งที่พบเห็นรอบๆ เมืองมัยซอร์จึงเป็นกิจกรรมในยามว่างและสร้างแรงบันดาลใจในระหว่างอยู่ในอินเดียได้ดี
วันหนึ่งขณะนั่งอยู่ในร้านเบเกอรี่ ลุคและเชอร์รี่กำลังถูกรุมล้อมด้วยเด็กๆ เกือบจะทุกวัยตั้งแต่เล็กสุดไปจนถึงเด็กโตเพื่อขอเงินและขอให้ซื้อขนมให้ เหตุการณ์นั้นทำให้ทั้งคู่นั่งลงคุยกันอย่างจริงจังว่าน่าจะนำภาพที่ถ่ายเอาไว้กลับมาสร้างคุณค่าเพื่อหยิบยื่นน้ำใจคืนให้กับผู้คนที่อินเดียอีกครั้ง
หลังจากกลับมาประเทศไทยแล้ว ทั้งคุณเชอร์รี่และคุณลุคเห็นพ้องกันว่าน่าจะนําความทรงจําดีๆ ในภาพถ่ายจำนวนมากมาทําประโยชน์ให้แก่สังคมตามที่เคยคิดกันไว้ โดยได้ร่วมกับความช่วยเหลือจากห้างเพนินซูล่า พลาซ่า (ซึ่งไม่ได้คิดค่าเช่าสถานที่) จัดงานแสดงนิทรรศการภาพถ่ายขึ้น โดยใช้เวลารวบรวม คัดเลือก อัดขยายชิ้นงานการถ่ายภาพของแต่ละคน จากการเตรียมงานอยู่นับปีก่อนจะนำออกแสดงเพื่อจัดจําหน่ายโดยรายได้ทั้งหมดจากการจัดจําหน่ายหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ทางเชอร์รี่และลุคเซ็นเตอร์จะนําไปมอบให้กับองค์กรการกุศลสองแห่งคือ Camillian Social Center ซึ่งทำงานช่วยเหลือเด็กที่ติดเชื้อเอดส์ในประเทศไทยและ Seva Foundation ซึ่งช่วยผู้พิการตาบอดในประเทศอินเดีย
งานนิทรรศการดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 20 พฤษภาคม 2551 ณ บริเวณ ลานโถงกลางเพนินซูล่า พลาซ่า การแสดงและจําหน่ายชิ้นงานภาพถ่ายจะเริ่มตั้งแต่วันเปิดงานจนถึงวันที่ 20 ทั้งนี้จะมีภาพถ่ายหลายขนาดและหลายรูปแบบออกแสดงและจําหน่ายในราคาตั้งแต่ชิ้นละ 6,000 บาท - 20,000 บาท ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้สนใจจะสามารถเป็นเจ้าของภาพถ่ายสีสันของอินเดียจากมุมมองของตากล้องทั้งสองและยังเป็นการได้ช่วยทำกุศลอีกด้วย
เมื่อไปดูจะได้รู้ว่า อินเดียแม้จะเป็นเพียงสถานที่แห่งหนึ่ง เป็นอนุทวีปแต่ก็มีเรื่องราว มีพลังของตนเอง จนอาจกล่าวได้ว่าเปรียบเหมือนโลกหรือจักรวาลอันมีเอกลักษณ์อีกแห่งหนึ่งที่ไม่เหมือนที่อื่นใด เรื่องราวของอินเดียถูกส่งผ่านสีสันอันสดและร้อนแรง นัยว่าเพื่อขับเน้นให้ชีวิตไม่ว่าจะทุกข์ยากลำเค็ญหรือหมองหม่นเช่นไรให้เปล่งประกายของมันออกมาจนสุดชีวิต...ที่ควรจะเป็นหรือที่เป็นไป
ภาพนี้ชื่อว่า Not Sure Where Things Are Going
เชอร์รี่กับผลงานถ่ายภาพโลโม่ของเธอเอง ซึ่งบอกว่าเป็นภาพที่ชื่นชอบ
บริษัทซักผ้า – ลุคผู้เก็บภาพนี้บอกกับเรา
ติดตามข่าวสารนิทรรศการภาพถ่ายของทั้งคู่ได้ทางwww.luke.org/colors