Skip to main content
ฉันเป็นคนหนึ่งที่ติดตามชมละครเรื่องเมียหลวง ที่ถ่ายทอดทุกวันจันทร์-อังคารทางช่องเจ็ด เป็นละครไม่กี่เรื่องที่ฉันชอบดู ด้วยพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน รับสัญญาณโทรทัศน์ได้เพียงไม่กี่ช่อง  และอีกเหตุผลหนึ่งคือละครดีๆ มีไม่กี่เรื่อง 


แม้หลายคนจะเหมารวมละครทีวีของไทยว่าเป็นละครน้ำเน่าเสียส่วนใหญ่ แต่ฉันก็เชื่อว่าละครที่สร้างมาจาก นวนิยาย ก็น่าจะมีเนื้อหาสาระบางอย่างสอนใจคนดูได้บ้าง ไม่ใช่จะดูแต่เพียงฉากตบกันของบรรดาเมียน้อยของคุณอนิรุจเท่านั้น

ฉันพบว่านวลเมียน้อยที่รักอย่างทาส และอรอินทร์ที่รักอย่างบ้าคลั่ง ยังไม่ชอกช้ำเท่ากับชีวิตจริงของเด็กผู้หญิงกระยันคนหนึ่งที่ฉันกำลังจะบันทึกถึงเธอ ผ่านถ้อยคำบอกเล่าจากปากของเธอเอง เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับเพื่อนผู้หญิงชนกลุ่มน้อยคนอื่นๆจะไม่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นที่เธอเป็นอยู่

เธอชื่อว่า
"ส้มโอ" จุดเริ่มต้นของชีวิตที่คล้ายกับชาวกระยันหลายคนที่อพยพมากับฝูงชีวิตที่หวังจะมาขุดทองในประเทศไทย  ทิ้งท้องนาท้องไร่และฝูงวัวควายไว้ข้างหลัง เพื่อมาเป็นตุ๊กตาหน้าร้านขายของในหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาวบ้านใหม่ในสอย

แต่แล้วเธอกลับพบว่า เงินเดือนที่ได้รับเพียงน้อยนิดและบางครั้งได้บ้างไม่ได้บ้าง  แทบจะไม่พอส่งกลับไปให้พ่อแม่และน้องๆที่ยังรอคอยอยู่อีกฝั่งแม่น้ำสาละวิน  ทำให้เธอถูกเรียกตัวให้กลับพม่า นานหลายปีที่เธอรีรอและบอกปัดพ่อแม่ด้วยความหวังว่า  คงจะมีทางที่ดีกว่าการกลับไปพบความยากลำบากที่เธออุตสาห์หลีกหนีมาเสียไกล

จนกระทั่งส้มโอได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าจะกลับบ้าน  เธอได้มาหาหมอใส่ห่วงเพื่อให้หมอถอดห่วงทองเหลืองที่คอออกให้ที่หมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า เพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับ

ที่นี่เองที่เธอได้พบกับทางแยกของชีวิต หนุ่มใหญ่วัยหกสิบเศษจากเมืองกรุงเข้ามาติดพันเธออย่างรวดเร็ว  เพียงเจอหน้ากันไม่กี่ครั้ง  เขาก็รุกเธอด้วยการส่งพ่อสื่อแม่ชักเพื่อขอเธอแต่งงาน

ส้มโอพบว่าหนุ่มใหญ่แสดงท่าทางจริงใจ และแสดงความจริงจังที่จะตบแต่งเธอเป็นเมียอย่างออกหน้าออกตา เขาพาเธอไปรู้จักบ้านช่องที่กว้างขวางราวกับรีสอร์ทซึ่งสร้างไว้ใกล้เมือง ทำให้เธอรู้สึกมั่นคงทางใจว่าจะไม่ถูกทอดทิ้งไปไหน และนี่ก็คือความหวังที่จะทำให้เธอไม่ต้องกลับพม่า พ่อแม่และน้องๆ ที่รอคอยก็คงจะพอใจกับทางเลือกของเธอ

นี่เป็นรักครั้งแรกของหญิงสาวซื่อบริสุทธิ์ แม้วัยของเธอจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม  แต่ประสบการณ์ชีวิตกลับเพิ่งเริ่มต้น  เธอมั่นใจว่าเขารักเธอและคงจะรักเธอคนเดียวตลอดไปเพราะเขาบอกว่าเป็นหม้ายมาหลายปี หากเธอตกลงยอมแต่งงานกับเขาเธอก็จะมีชีวิตที่สุขสบาย มีบ้านช่องใหญ่โต  และหวังว่าจะได้ใช้ชีวิตครอบครัวอย่างมีความสุข เขาเองก็รับรองเป็นมั่นเหมาะว่าเธอจะสบายไปทั้งชาติ

ความสุขของส้มโอผ่านไปเร็วนัก หนุ่มใหญ่ให้เธอเข้ามาอยู่ในบ้านซึ่งจะเปิดเป็นกิจการเป็นบ้านพักรับรองนักท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น  ช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันสามีของส้มโอเทียวไปกลับกรุงเทพฯ
- แม่ฮ่องสอน อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เธอรู้เพียงแต่ว่าเขามีธุรกิจที่ต้องไปดูแลจึงไม่อาจที่จะอยู่กับเธอที่แม่ฮ่องสอนได้นานๆ เหมือนสามีทั่วไป

เดือนที่สามของการแต่งงาน  เธอก็ได้พบความจริงที่ทำให้หัวใจแทบแตกสลาย เมื่อสามีของเธอแนะนำเธอให้รู้จักกับหญิงวัยใกล้เคียงกับเขา  และเรียกเธอว่า "เมีย"  ส้มโอเฝ้าถามตัวเองว่าแล้วเธอล่ะอยู่ในฐานะอะไร "เมียน้อย"  "เมียเก็บ"   หรือแค่ "นางบำเรอ"

วันที่เธอรู้ว่าทุกสิ่งที่หวังเอาไว้กำลังจะกลายเป็นเพียงแค่ความฝัน บ้านหลังใหญ่ที่เธอมีสิทธิ์แค่คนอาศัย ที่ดินแปลงนั้นที่เธอเฝ้าดูแล ทุกสิ่งทุกอย่างเธอไม่มีสิทธิ์เป็นเจ้าของ  แม้แต่สามีของเธอก็เป็นสามีของคนอื่น     

ความหวังเดียวคือการมีลูกกับเขาสักคนเพื่อเป็นโซ่ทองคล้องใจ ก็คงเป็นไปไม่ได้ เมื่อเธอมารู้ภายหลังว่าเขาทำหมันแล้วหลังจากมีลูกสาวมาแล้วสี่คน ทุกอย่างถูกปิดเป็นความลับ เธอเป็นเพียงบ้านเล็กที่ซุกตัวเงียบสงบอยู่เพียงลำพัง

และที่น่าปวดใจที่สุดคือภรรยาของเขายินยอมพร้อมใจให้สามีหาเมียอย่างเธอมาอยู่ในพักซึ่งใช้เป็นบ้านพักตากอากาศของเขา

เธอกลายเป็นหญิงสาวในเงามืด  หลบลี้หนีหน้าผู้คนที่ต้องกลับกลายเป็นเมียเก็บอย่างออกหน้าออกตา เธอต้องเดินตามสามีที่มีภรรยาใหญ่เดินอยู่เคียงข้าง ด้วยความรู้สึกมืดมน

ทุกวันนี้หญิงสาวที่ซื่อบริสุทธิ์คนนั้นได้ตายไปแล้ว ส้มโอใช้ชีวิตไปวันๆกับเบียร์และบุหรี่ที่เธอสูบอยู่เสมอ  ด้วยเงินที่เมียหลวงเจียดให้ ไม่มากไปกว่าเงินเดือนของแม่บ้านและยามที่จ้างไว้เพื่อคอยเปิดปิดบ้านหลังใหญ่ที่มีเธอเพียงคนเดียวอาศัยอยู่  ซึ่งนานๆสามีของเธอก็จะเดินทางมาที่บ้านพักตากอากาศแห่งนี้โดยมีภรรยาติดตามมาด้วยทุกครั้ง

เมื่อถูกถามถึงอนาคตเธอเองก็ตอบไม่ได้ว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร เธอรู้ตัวดีว่าคนไร้สัญชาติ ไร้การศึกษาเช่นเธอไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมใดๆให้กับตัวเองได้  เพราะเธอมีอยู่เพียงสองทางคือทิ้งเขาเสียแล้วกลับไปอยู่กับพ่อ-แม่ที่ประเทศพม่า หรือยอมรับสภาพที่เธอเป็นอยู่ ไปจนกว่าเธอจะเป็นฝ่ายถูกทอดทิ้งเสียเองไม่วันใดก็วันหนึ่ง.

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
ฉันเป็นคนหนึ่งที่ติดตามชมละครเรื่องเมียหลวง ที่ถ่ายทอดทุกวันจันทร์-อังคารทางช่องเจ็ด เป็นละครไม่กี่เรื่องที่ฉันชอบดู ด้วยพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน รับสัญญาณโทรทัศน์ได้เพียงไม่กี่ช่อง  และอีกเหตุผลหนึ่งคือละครดีๆ มีไม่กี่เรื่อง  แม้หลายคนจะเหมารวมละครทีวีของไทยว่าเป็นละครน้ำเน่าเสียส่วนใหญ่ แต่ฉันก็เชื่อว่าละครที่สร้างมาจาก นวนิยาย ก็น่าจะมีเนื้อหาสาระบางอย่างสอนใจคนดูได้บ้าง ไม่ใช่จะดูแต่เพียงฉากตบกันของบรรดาเมียน้อยของคุณอนิรุจเท่านั้น
เจนจิรา สุ
เรานั่งพูดคุยบนชานหน้าบ้านอย่างออกรส ส่วนใหญ่ก็จะถามไถ่ทุกข์สุขกันและกัน เลยไปถึงญาติคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นหน้ากันนาน พี่เขยขึ้นเรือนมาสมทบเมื่อสิ้นเสียงออดของโรงเรียนได้พักใหญ่ “ไปเป็นการ์ดยามมา เขาให้เดือนละสี่ร้อย” พี่สาวแจง เป็นรายได้เดียวที่เหลืออยู่ของครอบครัว
เจนจิรา สุ
 "ไตรบานา" แม่เฒ่ากล่าวขอบคุณเป็นภาษากระยัน เมื่อเราบอกลาเป็นภาษาเดียวกัน ยังมีครอบครัวพี่สาวของสามีที่อยู่ถัดไปอีกสามป็อก เราตั้งใจว่าจะเยี่ยมก่อนที่จะไม่ได้พบหน้ากันอีก เพราะทางยูเอ็นฯ ได้แจ้งว่า ครอบครัวของเธอจะได้ไปประเทศที่สามในอีกไม่ช้า เราเดินเท้าไปตามทางเดินอันแสนพลุกพล่าน ราวกับว่าผู้คนเร่งรีบเดินทางสู่งานเลี้ยงสังสรรค์ที่ไหนสักแห่ง ความแออัดของผู้คนซึ่งมีอยู่ราวๆ สองหมื่นคน ทำให้บนทางเท้าและที่สาธารณะต่างๆ ดูครึกครื้น กลบบังความทุกข์ของคนพลัดบ้าน
เจนจิรา สุ
บนถนนที่ทอดยาวสู่หุบเขาทางทิศตะวันตกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เส้นทางที่ห่างออกมาเพียงสามสิบกิโลเมตรเศษ ลัดเลาะไปตามภูเขาบนถนนสายรพช. ซึ่งค่อยๆ แปรสภาพเป็นดินและหินลูกรังก่อนจะถึงสุดสายปลายทาง อันเป็นสถานที่คล้ายด่านกักกันมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ไร้ประเทศและเสรีภาพ หมู่บ้านกลางป่าที่ปลูกเบียดเสียดเรียงรายทุกซอกหลีบของพื้นที่จัดสรร คนนับหมื่นอัดแน่นในที่อาศัยกว้างกว่าเท้าและหัวจะพาดวางเพียงไม่กี่วา ที่นี่คือศูนย์ผู้พักพิงบ้านในสอย
เจนจิรา สุ
 มีใครเคยใช้ชีวิตในบ้านนอกโดยเฉพาะทางภาคอีสาน เมื่อประมาณสัก 20 ปีก่อน อาจจะมีความทรงจำเกี่ยวกับวัดที่แตกต่างจากปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเมื่อครั้งยังเด็ก เราแทบจะก้มลงกราบที่เท้าพระ เมื่อท่านเดินผ่านด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันเป็นไปได้ยาก ฉันเป็นชาวพุทธมาแต่อ้อนแต่ออก ด้วยหมู่บ้านที่มีวัดป่า พระเณรเพียงไม่กี่รูปหนึ่งในนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องฉันเอง เราจึงเที่ยวเล่นแวะเวียนมาที่วัดทุกครั้งที่มีโอกาส ฉันยังจำไม่ลืมที่พระหลวงพี่ จับเราพี่น้องนั่งเรียงแถวทำสมาธิ เทศน์สอนประวัติความเป็นมาของพุทธเจ้าให้ฟัง ความที่ท่านบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนนี้ท่านจึงกลายเป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว
เจนจิรา สุ
เราทยอยออกจากบ้านร้างด้วยดวงใจที่ปวดร้าว ตรอกเล็กๆ ยาวเกือบหนึ่งกิโลเมตร เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนจากหมู่บ้านกลางป่าไปสู่บ้านห้วยปูแกงเก่า บัดนี้ถูกย่ำไปด้วยรอยของสัตว์สี่เท้า “เชื่อไหมว่าครั้งหนึ่ง เราเคยช่วยกันขนทรายจากแม่น้ำข้างล่างมาถมตรอกแห่งนี้ กระสอบทรายนับร้อยจากจำนวนคนเพียงหยิบมือเพื่อ....” ฉันหยุดคำพูดเพียงบางแค่นั้น ทิ้งบางส่วนค้างไว้ในความทรงจำ “เพื่ออะไรล่ะ” ใครคนหนึ่งยังคงตั้งคำถามต่อสิ่งที่ค้างคา “เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากหมู่บ้านข้างนอกเขามาเห็นวิถีชีวิตเรา มาเห็นหมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านจริงๆ ไม่ใช่มีแต่ร้านขายของ แต่มันคงไกลเกินไป…
เจนจิรา สุ
สมรภูมิแห่งนี้เรารบกับอะไร ที่ผ่านมาเราถูกจองจำไว้ในกรงที่มองไม่เห็น เรามีอาหาร มีที่อยู่หลับนอน แต่เราไม่สามารถเป็นคนเต็มคนได้ เพราะเราไม่มีสิทธิ์คิดหรือแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถรู้สึกเจ็บแค้นร้อนหนาว เราต้องทำหน้าที่อันถูกกำหนดมาจากผู้คุม ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับนาย เพียงเพื่อส่วนแบ่งที่ถูกเจียดให้พอประทังชีวิต แล้ววันหนึ่งเราต้องการปลดแอก เราต้องการตั้งอาจักรของตนเอง มีบ้านและที่ดินที่เป็นของเราจริงๆ ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมจากสมองและแรงกายของตนเอง
เจนจิรา สุ
ตุลาคม 2551"พร้อมหรือยัง"ใครคนหนึ่งตะโกนประโยคซ้ำเมื่อห้านาทีที่แล้ว เมื่อขบวนหนุ่มสาวต่างถิ่นยังคงง่วนอยู่กับการกดชัตเตอร์เก็บภาพแสงแดดยามเก้าโมงเช้า ช่างยวนใจให้ไม่อาจละสายตาจากหญิงกระยันที่ปะแป้งแต่งตัวกันจนเป็นที่เรียบร้อย หลายคนจึงยังเสียดายที่จะละกล้องแล้วออกเดินทาง "หากไปสายกว่านี้เราจะร้อนมากเมื่ออยู่กลางป่า" ฉันเตือนเพื่อนที่ไม่มีประสบการณ์ในการเดินเท้าสู่หมู่บ้านกลางป่าที่อยู่ห่างออกไปจากที่นี่ราวๆ สามกิโลดอย
เจนจิรา สุ
เสียงโหม่งขนาดใหญ่ประสานกับเสียงกลอง ฆ้อง ฉาบ แม้ฟังดูอึกทึกครึกโครม แต่ก็พลิ้วไหวไปตามทำนองขุล่ยมั้งที่เป็นขลุ่ยเฉพาะของชาวกระยัน ได้เริ่มขับประโคมหมู่บ้านราวป่า ส่งสัญญาณการเริ่มต้นของงานประเพณีต้นที “กะควาง” ในภาษากระยันถูกแปรออกมาเป็นภาษาเรียกอีกอย่างว่า “ต้นที” ซึ่งหมายถึงเสาไม้สีขาวแกะสลักปลายเสาให้เป็นรูปร่างคล้ายกับศิวลึงค์ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในหมู่บ้านชนเผ่ากระยัน(กระเหรี่ยงคอยาว) และชนเผ่ากระยา(กระเหรี่ยงแดง) ชาวกระยันเชื่อว่า ต้นทีเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งแรกบนโลกมนุษย์ การบูชาต้นทีก็เพื่อให้บรรพบุรุษของกระยัน…
เจนจิรา สุ
มีนาคม 2551 ฉันตอบจดหมายแฟนนักอ่านคอลัมน์ของฉันคนหนึ่ง เธอเป็นคนปักษ์ใต้ นานเป็นเดือนที่จดหมายมาถึงพร้อมเสื้อผ้าและข้าวของกล่องใหญ่ ด้วยเจตนาทดแทนความขาดแคลนตามความรู้สึกของเธอ ที่สัมผัสจากการอ่านในบันทึกของฉันอยู่สองสามฉบับ เธอบอกว่าอิจฉานิดๆ ในชีวิตที่เรียบง่ายที่ฉันเลือกเดิน ฉันจึงตอบเธอไปว่าฉันเป็นเพียงนกที่บินหลงทางมา ก่อนหน้านี้ฉันก็ได้รับจดหมาย เสียงโทรศัพท์ และหนังสือดีๆ ที่ถูกส่งมาจากคนเมืองไกลจากเพื่อนที่ห่างหายการติดต่อมานานแสนนาน และจากมิตรร่วมความรู้สึกที่ไม่เคยเห็นหน้า อาจดูเป็นเรื่องแปลกหรือมีเปอร์เซ็นต์น้อยเหลือเกิน ที่คนปกติธรรมดา เกิด และเติบโตในสังคมเมือง…
เจนจิรา สุ
20 พฤศจิกายน 2550 คืนนี้แสงจันทร์กำลังโผล่พ้นเหลี่ยมเขาทิศเหนือ ดาวพราวแต้มเต็มฟ้า เหล้าดีกรีแรงทิ้งก้นจอกตั้งวางเคียงดวงเทียนที่ถูกจุดขึ้นโดยแม่เฒ่า ฉันกระชับเสื้อกันหนาวอีกนิด เมื่อลมหนาวพรูมาทางหน้าต่างบานกว้าง แม่เฒ่าบอกให้ยกดื่มอีกสักจอกแล้วจะอุ่นขึ้น ฉันรินคืนให้แม่เฒ่าพลางถามถึงความหลังเมื่อครั้งที่ยังอยู่ที่เมืองดอยก่อ รัฐคะยา ประเทศพม่า “ตอนนั้นแม่ทำนามาได้ก็ต้องแบ่งให้กับเจ้าของนา ที่เหลือก็แทบไม่พอกิน ทหารพม่าก็ยังมาขูดรีดเอาอีก บางทีถ้าไม่ให้ก็ทุบตี พวกผู้ชายต้องพากันไปหลบซ่อนตัว  ไม่อย่างนั้นมันจะเกณฑ์ให้ไปขนระเบิดที่ชายแดน” “…
เจนจิรา สุ
10 พฤศจิกายน 2550 ฉันว่างเว้นจากการเขียนบันทึกไปนานด้วยทั้งภารกิจส่วนตัวที่ต้องยุ่งวุ่นวายกับเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในวัยที่ต้องการการเอาใจใส่อย่างสูง และภารกิจของชุมชนที่ต้องเขียนโครงการเพื่อของบประมาณจากหน่วยงานราชการ ทั้งงานประสานงาน งานประชุม ส่วนเวลาที่เหลือฉันก็ยกให้กับการคิดในเรื่องต่างๆ ฉัน สามี และลูกต้องเดินทางทุกๆ 3-5 วัน จากบ้านของตนเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองไปบ้านห้วยเสือเฒ่าและบ้านใหม่ห้วยปูแกง การพักอาศัยที่บ้านของตัวเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองนั้นก็ด้วยเหตุผลเดียวคือความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะการเดินทาง อยู่ใกล้โรงพยาบาล มีไฟฟ้าใช้สำหรับทำงาน หรือพักผ่อนด้วยการดูทีวี ติดตามข่าวสารโลกภายนอก…