Skip to main content
จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นอีกจังหวัดหนึ่งในประเทศไทยที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินึกถึงเมื่อเดินทางมาเยือนภาคเหนือของไทย

แม้หนทางที่มุ่งสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอนจากจังหวัดเชียงใหม่   จะคดโค้งลาดชันน่าหวาดเสียวจนขึ้นชื่อว่า   หากใครเดินทางมาถึงแม่ฮ่องสอนจะเป็นดั่งผู้พิชิตจำนวนโค้งมากที่สุดถึง 1,864 โค้งเลยทีเดียว


สถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะไม่พลาดก็คือ   การเข้าชมหมู่บ้านกระเหรี่ยงคอยาวห้วยเสือเฒ่าที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพียงเจ็ดกิโลเมตร
 

นับเป็นความน่าอัศจรรย์ใจในขนบธรรมเนียมที่แตกต่างจากชนเผ่าอื่นจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะชนเผ่า  สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับคนในชุมชนและจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างมากมาย

หญิงกระยันที่ถูกเรียกขานว่า
"กระเหรี่ยงคอยาว"  ด้วยเพราะการสวมห่วงทองเหลืองไว้ที่ลำคอจนดูเหมือนว่าลำคอนั้นยืดยาวกว่าคนปกติ  โดยที่พวกเธอจะเริ่มสวมห่วงแรกๆตั้งแต่อายุประมาณห้าขวบโดยชั่งนำหนักขดทองเหลืองให้ได้ประมาณครึ่งถึงหนึ่งกิโลกรัมแล้วนำมาขดไว้รอบๆคอ

โดยปกติจะเพิ่มน้ำหนักทองเหลืองทุกๆ ห้าปี  เพื่อให้ได้รอบวงมากขึ้นและอาจจะเปลี่ยนขนาดเส้นทองเหลืองให้ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย

แม่เฒ่าวัย 50-60 ปี จะใช้เส้นทองเหลืองขนาดใหญ่สุดและมีน้ำหนักมากถึงห้ากิโลกรัม บางคนจะแบ่งเป็นสองขด   ขดข้างล่างจะรอบวงกว้างกว่าจะมีห่วงเล็กๆคล้องแยกออกจากขดบน

การสวมห่วงทองเหลืองไว้ที่คอมีความหมายที่แท้จริงอย่างไรไม่สามารถหาคำตอบได้แน่ชัดเพราะไม่ทราบถึงประวัติที่แท้จริงของจุดเริ่มต้นของการสวมห่วงในลักษณะดังกล่าว

หากแต่ปัจจุบันเมื่อถามแม่เฒ่าที่อายุมากที่สุดก็จะได้คำตอบเดียวกันคือเพื่อความสวยงามโดยอ้างอิงจากตำนานว่าสมัยก่อนเมื่อนานมาแล้วมีการประกวดความงามกันระหว่างชนเผ่ากระยันสี่เผ่าคือกระยันละหุ่วย, กระยันละทะ,กระยันกะง่างและกระยันกะเคาะ

กระยันละห่วยได้นำเส้นโลหะมาคล้องขดไว้ที่คอ ทำให้ชนะการประกวด จึงเป็นความเชื่อขอองชาวกระยันละห่วยตั้งแต่นั้นมาว่าเมื่อใส่ห่วงสีทองไว้ที่คอจะเพิ่มความสวยงามในการแต่งกาย

แม้ว่าก่อนนั้นห่วงโลหะดังกล่าวจะทำมาจากทองจริงๆ  ปัจจุบันเห็นเพียงห่วงทองเหลืองที่เปรียบเสมือนเครื่องประดับชนิดหนึ่งของร่างกาย ซึ่งการแต่งกายที่ครบชุดของหญิงกระยันจะต้องประกอบไปด้วยสามส่วนใหญ่ๆคือส่วนหัว ส่วนตัว และส่วนขา

ส่วนหัวก็จะเริ่มตั้งแต่การมวยผมเรียกว่ากระลู ผ้ามัดชิ้นบนเรียกว่ากระเก้า ผ้ามัดชิ้นที่ปล่อยชายเรียกว่ากระแขะ กระแขะนี้อาจใช้มากกว่าสามชิ้นก็ได้ 

ส่วนสีสันก็แล้วแต่ความชอบส่วนตัว ถัดลงมาที่คอห่วงทองเหลืองเรียกว่าซือกะโบ และซือบอทึ มีผ้ารองที่คางเรียกว่า กระบอซือ

ส่วนหัวประกอบไปด้วยเสื้อเรียกว่าฮ้วงเจ ผ้านุ่งเรียกว่าหงึ มีกำไลที่แขนข้างละหกวงเรียกว่าล้วงโบ้
ส่วนขามีเส้นทองเหลืองขดไว้ที่เข่าเรียกว่าแบะละโบ๊และกำไลข้อเท้าเรียกว่าห่างกุย
การแต่งกายที่ดั้งเดิมนี้เองที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมหมู่บ้านอยู่ไม่ขาดสาย    แม่เฒ่ากระยันส่วนใหญ่ยังคงรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายดั้งเดิมนี้ไว้อย่างเคร่งครัดยังคงทอเสื้อกระสอบและผ้าถุงสวมใส่อยู่เช่นเดิม

เมื่อถามถึงการแต่งกายของชาวกระยัน เราจะได้รับคำตอบที่แสนจะภาคภูมิใจ
"ใครเห็นก็จะบอกว่าสวย เพราะถ้าสวมห่วงที่คอ ก็ต้องสวมห่วงที่ขา และก็เกล้าผม ใส่เสื้อและผ้าถุงที่ทอเองแบบแม่เฒ่าใส่อยู่นี้"

มะโน แม่เฒ่าผู้ที่ยังมีความเชื่อเรื่องความงามจากการแต่งกายด้วยการสวมห่วงทองเหลืองไว้ที่คอ ยังหวังว่าเด็กรุ่นใหม่จะยังคงรักษาขนบธรรมเนียมการแต่งกายแบบชาวกระยันต่อไป    สำหรับแม่เฒ่าแล้วยินดีฝังร่างไว้กับห่วงสีทองที่ใส่มาตั้งแต่ห้าขวบ ปัจจุบันแม่เฒ่ามีห่วงที่คอหนักห้ากิโลกรัมมีจำนวนขดเท่ากับยี่สิบสี่วง  และที่ขาอีกข้างละหนึ่งกิโลกรัม

ปัจจุบันแม้เยาวชนในหมู่บ้านจะหันไปแต่งกายตามแฟชั่นบ้างด้วยความสำนึกเรื่องความสวยงามเปลี่ยนไปตามกาลเวลา  แต่เราก็คงยังเห็นพวกเธอแต่งกายชุดกระยันดั้งเดิมวันช่วงวันสำคัญทางพิธีกรรมต่างๆ เช่น วันแต่งงาน วันงานต้นที หรือช่วงเวลาที่ต้องไปโชว์ตัวในงานประจำจังหวัดต่างๆ เป็นต้น

"หากวันนี้เราไม่สวมห่วงทองเหลือง และไม่สวมชุดกระยันดั้งเดิมไว้ ต่อไปก็จะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเรา เราจะไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะเสน่ห์ของวิถีวัฒนธรรมหมดไป"

แม่เฒ่ากระยันทิ้งท้ายให้ข้อคิดกับเด็กรุ่นใหม่ หากแต่ว่าจะสวนกระแสค่านิยมของแฟชั่นที่ทะลักทลายเข้าหมู่บ้านพร้อมกับแขกผู้มาเยือนอีกนานเพียงใดเป็นสิ่งที่ท้าทายชนเผ่าเล็กๆแห่งนี้.

 

 

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
ฉันเป็นคนหนึ่งที่ติดตามชมละครเรื่องเมียหลวง ที่ถ่ายทอดทุกวันจันทร์-อังคารทางช่องเจ็ด เป็นละครไม่กี่เรื่องที่ฉันชอบดู ด้วยพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน รับสัญญาณโทรทัศน์ได้เพียงไม่กี่ช่อง  และอีกเหตุผลหนึ่งคือละครดีๆ มีไม่กี่เรื่อง  แม้หลายคนจะเหมารวมละครทีวีของไทยว่าเป็นละครน้ำเน่าเสียส่วนใหญ่ แต่ฉันก็เชื่อว่าละครที่สร้างมาจาก นวนิยาย ก็น่าจะมีเนื้อหาสาระบางอย่างสอนใจคนดูได้บ้าง ไม่ใช่จะดูแต่เพียงฉากตบกันของบรรดาเมียน้อยของคุณอนิรุจเท่านั้น
เจนจิรา สุ
เรานั่งพูดคุยบนชานหน้าบ้านอย่างออกรส ส่วนใหญ่ก็จะถามไถ่ทุกข์สุขกันและกัน เลยไปถึงญาติคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นหน้ากันนาน พี่เขยขึ้นเรือนมาสมทบเมื่อสิ้นเสียงออดของโรงเรียนได้พักใหญ่ “ไปเป็นการ์ดยามมา เขาให้เดือนละสี่ร้อย” พี่สาวแจง เป็นรายได้เดียวที่เหลืออยู่ของครอบครัว
เจนจิรา สุ
 "ไตรบานา" แม่เฒ่ากล่าวขอบคุณเป็นภาษากระยัน เมื่อเราบอกลาเป็นภาษาเดียวกัน ยังมีครอบครัวพี่สาวของสามีที่อยู่ถัดไปอีกสามป็อก เราตั้งใจว่าจะเยี่ยมก่อนที่จะไม่ได้พบหน้ากันอีก เพราะทางยูเอ็นฯ ได้แจ้งว่า ครอบครัวของเธอจะได้ไปประเทศที่สามในอีกไม่ช้า เราเดินเท้าไปตามทางเดินอันแสนพลุกพล่าน ราวกับว่าผู้คนเร่งรีบเดินทางสู่งานเลี้ยงสังสรรค์ที่ไหนสักแห่ง ความแออัดของผู้คนซึ่งมีอยู่ราวๆ สองหมื่นคน ทำให้บนทางเท้าและที่สาธารณะต่างๆ ดูครึกครื้น กลบบังความทุกข์ของคนพลัดบ้าน
เจนจิรา สุ
บนถนนที่ทอดยาวสู่หุบเขาทางทิศตะวันตกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เส้นทางที่ห่างออกมาเพียงสามสิบกิโลเมตรเศษ ลัดเลาะไปตามภูเขาบนถนนสายรพช. ซึ่งค่อยๆ แปรสภาพเป็นดินและหินลูกรังก่อนจะถึงสุดสายปลายทาง อันเป็นสถานที่คล้ายด่านกักกันมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ไร้ประเทศและเสรีภาพ หมู่บ้านกลางป่าที่ปลูกเบียดเสียดเรียงรายทุกซอกหลีบของพื้นที่จัดสรร คนนับหมื่นอัดแน่นในที่อาศัยกว้างกว่าเท้าและหัวจะพาดวางเพียงไม่กี่วา ที่นี่คือศูนย์ผู้พักพิงบ้านในสอย
เจนจิรา สุ
 มีใครเคยใช้ชีวิตในบ้านนอกโดยเฉพาะทางภาคอีสาน เมื่อประมาณสัก 20 ปีก่อน อาจจะมีความทรงจำเกี่ยวกับวัดที่แตกต่างจากปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเมื่อครั้งยังเด็ก เราแทบจะก้มลงกราบที่เท้าพระ เมื่อท่านเดินผ่านด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันเป็นไปได้ยาก ฉันเป็นชาวพุทธมาแต่อ้อนแต่ออก ด้วยหมู่บ้านที่มีวัดป่า พระเณรเพียงไม่กี่รูปหนึ่งในนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องฉันเอง เราจึงเที่ยวเล่นแวะเวียนมาที่วัดทุกครั้งที่มีโอกาส ฉันยังจำไม่ลืมที่พระหลวงพี่ จับเราพี่น้องนั่งเรียงแถวทำสมาธิ เทศน์สอนประวัติความเป็นมาของพุทธเจ้าให้ฟัง ความที่ท่านบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนนี้ท่านจึงกลายเป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว
เจนจิรา สุ
เราทยอยออกจากบ้านร้างด้วยดวงใจที่ปวดร้าว ตรอกเล็กๆ ยาวเกือบหนึ่งกิโลเมตร เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนจากหมู่บ้านกลางป่าไปสู่บ้านห้วยปูแกงเก่า บัดนี้ถูกย่ำไปด้วยรอยของสัตว์สี่เท้า “เชื่อไหมว่าครั้งหนึ่ง เราเคยช่วยกันขนทรายจากแม่น้ำข้างล่างมาถมตรอกแห่งนี้ กระสอบทรายนับร้อยจากจำนวนคนเพียงหยิบมือเพื่อ....” ฉันหยุดคำพูดเพียงบางแค่นั้น ทิ้งบางส่วนค้างไว้ในความทรงจำ “เพื่ออะไรล่ะ” ใครคนหนึ่งยังคงตั้งคำถามต่อสิ่งที่ค้างคา “เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากหมู่บ้านข้างนอกเขามาเห็นวิถีชีวิตเรา มาเห็นหมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านจริงๆ ไม่ใช่มีแต่ร้านขายของ แต่มันคงไกลเกินไป…
เจนจิรา สุ
สมรภูมิแห่งนี้เรารบกับอะไร ที่ผ่านมาเราถูกจองจำไว้ในกรงที่มองไม่เห็น เรามีอาหาร มีที่อยู่หลับนอน แต่เราไม่สามารถเป็นคนเต็มคนได้ เพราะเราไม่มีสิทธิ์คิดหรือแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถรู้สึกเจ็บแค้นร้อนหนาว เราต้องทำหน้าที่อันถูกกำหนดมาจากผู้คุม ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับนาย เพียงเพื่อส่วนแบ่งที่ถูกเจียดให้พอประทังชีวิต แล้ววันหนึ่งเราต้องการปลดแอก เราต้องการตั้งอาจักรของตนเอง มีบ้านและที่ดินที่เป็นของเราจริงๆ ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมจากสมองและแรงกายของตนเอง
เจนจิรา สุ
ตุลาคม 2551"พร้อมหรือยัง"ใครคนหนึ่งตะโกนประโยคซ้ำเมื่อห้านาทีที่แล้ว เมื่อขบวนหนุ่มสาวต่างถิ่นยังคงง่วนอยู่กับการกดชัตเตอร์เก็บภาพแสงแดดยามเก้าโมงเช้า ช่างยวนใจให้ไม่อาจละสายตาจากหญิงกระยันที่ปะแป้งแต่งตัวกันจนเป็นที่เรียบร้อย หลายคนจึงยังเสียดายที่จะละกล้องแล้วออกเดินทาง "หากไปสายกว่านี้เราจะร้อนมากเมื่ออยู่กลางป่า" ฉันเตือนเพื่อนที่ไม่มีประสบการณ์ในการเดินเท้าสู่หมู่บ้านกลางป่าที่อยู่ห่างออกไปจากที่นี่ราวๆ สามกิโลดอย
เจนจิรา สุ
เสียงโหม่งขนาดใหญ่ประสานกับเสียงกลอง ฆ้อง ฉาบ แม้ฟังดูอึกทึกครึกโครม แต่ก็พลิ้วไหวไปตามทำนองขุล่ยมั้งที่เป็นขลุ่ยเฉพาะของชาวกระยัน ได้เริ่มขับประโคมหมู่บ้านราวป่า ส่งสัญญาณการเริ่มต้นของงานประเพณีต้นที “กะควาง” ในภาษากระยันถูกแปรออกมาเป็นภาษาเรียกอีกอย่างว่า “ต้นที” ซึ่งหมายถึงเสาไม้สีขาวแกะสลักปลายเสาให้เป็นรูปร่างคล้ายกับศิวลึงค์ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในหมู่บ้านชนเผ่ากระยัน(กระเหรี่ยงคอยาว) และชนเผ่ากระยา(กระเหรี่ยงแดง) ชาวกระยันเชื่อว่า ต้นทีเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งแรกบนโลกมนุษย์ การบูชาต้นทีก็เพื่อให้บรรพบุรุษของกระยัน…
เจนจิรา สุ
มีนาคม 2551 ฉันตอบจดหมายแฟนนักอ่านคอลัมน์ของฉันคนหนึ่ง เธอเป็นคนปักษ์ใต้ นานเป็นเดือนที่จดหมายมาถึงพร้อมเสื้อผ้าและข้าวของกล่องใหญ่ ด้วยเจตนาทดแทนความขาดแคลนตามความรู้สึกของเธอ ที่สัมผัสจากการอ่านในบันทึกของฉันอยู่สองสามฉบับ เธอบอกว่าอิจฉานิดๆ ในชีวิตที่เรียบง่ายที่ฉันเลือกเดิน ฉันจึงตอบเธอไปว่าฉันเป็นเพียงนกที่บินหลงทางมา ก่อนหน้านี้ฉันก็ได้รับจดหมาย เสียงโทรศัพท์ และหนังสือดีๆ ที่ถูกส่งมาจากคนเมืองไกลจากเพื่อนที่ห่างหายการติดต่อมานานแสนนาน และจากมิตรร่วมความรู้สึกที่ไม่เคยเห็นหน้า อาจดูเป็นเรื่องแปลกหรือมีเปอร์เซ็นต์น้อยเหลือเกิน ที่คนปกติธรรมดา เกิด และเติบโตในสังคมเมือง…
เจนจิรา สุ
20 พฤศจิกายน 2550 คืนนี้แสงจันทร์กำลังโผล่พ้นเหลี่ยมเขาทิศเหนือ ดาวพราวแต้มเต็มฟ้า เหล้าดีกรีแรงทิ้งก้นจอกตั้งวางเคียงดวงเทียนที่ถูกจุดขึ้นโดยแม่เฒ่า ฉันกระชับเสื้อกันหนาวอีกนิด เมื่อลมหนาวพรูมาทางหน้าต่างบานกว้าง แม่เฒ่าบอกให้ยกดื่มอีกสักจอกแล้วจะอุ่นขึ้น ฉันรินคืนให้แม่เฒ่าพลางถามถึงความหลังเมื่อครั้งที่ยังอยู่ที่เมืองดอยก่อ รัฐคะยา ประเทศพม่า “ตอนนั้นแม่ทำนามาได้ก็ต้องแบ่งให้กับเจ้าของนา ที่เหลือก็แทบไม่พอกิน ทหารพม่าก็ยังมาขูดรีดเอาอีก บางทีถ้าไม่ให้ก็ทุบตี พวกผู้ชายต้องพากันไปหลบซ่อนตัว  ไม่อย่างนั้นมันจะเกณฑ์ให้ไปขนระเบิดที่ชายแดน” “…
เจนจิรา สุ
10 พฤศจิกายน 2550 ฉันว่างเว้นจากการเขียนบันทึกไปนานด้วยทั้งภารกิจส่วนตัวที่ต้องยุ่งวุ่นวายกับเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในวัยที่ต้องการการเอาใจใส่อย่างสูง และภารกิจของชุมชนที่ต้องเขียนโครงการเพื่อของบประมาณจากหน่วยงานราชการ ทั้งงานประสานงาน งานประชุม ส่วนเวลาที่เหลือฉันก็ยกให้กับการคิดในเรื่องต่างๆ ฉัน สามี และลูกต้องเดินทางทุกๆ 3-5 วัน จากบ้านของตนเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองไปบ้านห้วยเสือเฒ่าและบ้านใหม่ห้วยปูแกง การพักอาศัยที่บ้านของตัวเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองนั้นก็ด้วยเหตุผลเดียวคือความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะการเดินทาง อยู่ใกล้โรงพยาบาล มีไฟฟ้าใช้สำหรับทำงาน หรือพักผ่อนด้วยการดูทีวี ติดตามข่าวสารโลกภายนอก…