Skip to main content

สาละวิน,ลูกรัก  


เมื่อคืนลูกมีไข้ขึ้นสูง แม้เช้านี้อาการไข้ของลูกจะลดลงแล้วแต่ตัวลูกก็ยังอุ่นๆ เหมือนเครื่องอบที่เพิ่งทำงานเสร็จใหม่ๆ แม่จึงตัดสินใจให้ลูกขาดโรงเรียนอีกหนึ่งวัน

ลูกเป็นไข้มาหลายวันแล้วแม่จึงให้ลูกผักผ่อนอยู่กับบ้านเกือบตลอดสัปดาห์ แม่คิดว่าเพราะอากาศช่วงนี้ค่อนข้างผันผวน 

โดยเฉพาะช่วงเช้าซึ่งยังคงหนาวเย็นเหมือนหน้าหนาว แต่เราจำต้องขี่มอเตอร์ไซด์ฝ่าอากาศหนาวจากบ้านใกล้เมืองเพื่อไปถึงโรงเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านห้วยเสือเฒ่าเป็นระยะทางกว่าเจ็ดกิโลเมตร ลูกจะนั่งด้านหน้ามีผ้าห่มแขวนไว้หน้ารถให้ลูกซุกซ่อนตัวป้องกันความหนาวยามรถวิ่ง

 


ถนนสู่หมู่บ้าน

 
พอตกบ่ายแม่รู้สึกว่าอากาศช่างร้อนอบอ้าว รถที่วิ่งแหวกอากาศแทนที่จะเย็นสบายกลับกลายเป็นลมร้อนอ้าว แผดเผาจนลูกต้องซุกซ่อนหน้าเข้ากับผ้าห่มผืนเดิม อาการหวัดของลูกจึงเป็นๆหายๆ อยู่นานเป็นเดือน


เส้นทางเจ็ดกิโลเมตรที่ว่าก็ยังเป็นเส้นทางที่แปลกที่สุดในโลกก็ว่าได้ เราจะตัดผ่านน้ำทุกๆห้าร้อยเมตร นั่นคือมีลำห้วยสายหนึ่งที่คดโค้งไปมาตัดผ่านถนนกว่าสิบสายเลยทีเดียว


แม่ต้องขี่รถด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อก่อนแม่เคยล้มอยู่หลายครั้งด้วยความลื่นของถนน  จนเกิดความชำนาญและรู้เทคนิคในการขับ แต่แม่ก็ไม่เคยประมาทที่จะลดความเร็วเวลาขับขี่ผ่านลำน้ำ


ถนนตัดผ่านลำห้วย


ย่างเข้าหน้าร้อนไม่เท่าไร แม่รู้สึกว่าปีนี้คงต้องแล้งกว่าทุกๆ ปี น้ำที่เคยเจิ่งนองบนถนนบางสายมุดหายไหลอยู่ใต้พื้นถนน  แทนที่แม่จะดีใจที่ไม่ต้องคอยระวังถนนลื่น กลับรู้สึกใจหายที่เห็นปรากฏการณ์ความแห้งแล้งเกิดขึ้นในรอบห้าปีได้อย่างชัดเจน

ทั่วโลกเองก็เป็นอย่างนี้ประสบปัญหาภัยแล้งและไฟป่าที่กำลังจะตามมา โดยเฉพาะแม่ฮ่องสอนที่ป่าส่วนใหญ่จะผลัดใบจนต้นโก๋น ใบไม้แห้งกลายมาเป็นเชื้อเพลิงยามเมื่อไฟป่าถูกจุดขึ้นที่ไหนสักแห่งกลายเป็นมังกรไฟลามไปทั้งป่า 


ว่ากันว่าไฟป่าเกือบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์เกิดจากการเผาด้วยมือของมนุษย์มากกว่าไฟป่าตามธรรมชาติที่ต้นไม้เสียดสีกันจนลุกไหม้  รัฐจึงรณรงค์ไม่ให้ชาวบ้านจุดไฟเผาป่า แต่อีกมุมหนึ่งของชาวบ้าน ไฟกับป่าหนีกันไม่พ้นในหน้าแล้ง


ชาวบ้านจึงต้องผ่อนหนักให้เป็นเบาด้วยการชิงเผาในสวนของตัวเอง เพื่อทำแนวกันไฟไม่ให้ไฟป่าลุกลามกินอาณาเขตกว้าง คือชาวบ้านเป็นผู้จุดไฟก็จริงแต่ก็สามารถควบคุมไม่ให้ไฟลุกลามไปทำลายความอุดมสมบูรณ์ของป่าทั้งป่า


แต่สำหรับแม่การกำจัดต้นเพลิงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าการชิงเผาจะจัดการไฟได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่  หรือการห้ามจุดไฟเลยอาจจะนำมาซึ่งการสูญเสียครั้งใหญ่ก็เป็นได้


ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เขตป่าไม้จึงมีโอกาสพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการเก็บใบตึงมาทำหลังคาใบตองตึง สร้างรายได้และช่วยลดโลกร้อนแบบที่ไม่ต้องทำตามในโฆษณาทีวีก็เห็นผลได้แบบทันตา

คงมีเพียงจังหวัดแม่ฮ่องสอนเท่านั้นที่เราจะเห็นกระท่อมหลังคามุงใบตองตึงมีอยู่ทั่วไปตามชนบท  ด้วยหาง่าย แม้ซื้อหาก็มีราคาถูก คือตับละสองบาทห้าสิบ  กระท่อมหลังย่อมๆใช้ประมาณไม่เกินห้าร้อยตับ แล้วแต่ว่าจะให้มีความหนามากน้อยเพียงใด  



หลังคาครึ่งใบไม้-ครึ่ง สังกะสี


ที่บ้านพือพือ(ย่า)ก็ยังคงใช้ใบตองตึงมุงหลังคา ทุกๆ สองถึงสามปีจึงจะมีการรื้อเปลี่ยนใหม่  เวลารื้อ-มุงหลังคาใหม่ก็จะใช้วิธีลงแขก  โดยที่ชายหนุ่มในหมู่บ้านมาช่วยกันทำให้เสร็จภายในหนึ่งวัน  เจ้าบ้านก็จะเลี้ยงข้าวปลาอาหารจนอิ่มหนำ  เมื่อเพื่อนบ้านประสงค์จะรื้อ-มุงหลังคาก็จะใช้วิธีเวียนกันไปลงแขก

การลงแขกจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชาวบ้านมีความร่วมใจกันสามัคคีเกื้อกูล และมีคนมากพอที่จะช่วยกันทำงานให้เสร็จเร็วขึ้นเหนื่อยน้อยลง แต่เมื่อชุมชนของเราแตกออกเป็นหลายหมู่บ้าน ส่วนหนึ่งกลับเข้าไปอยู่ในศูนย์อพยพบ้านในสอย

 


แม่บ้านเย็บใบไม้ทำ หลังคา


บ้านของพือพือจึงมีหลังคาเป็นสังกะสีครึ่งหนึ่งเป็นใบตองตึงครึ่งหนึ่ง เมื่อลูกชายและลูกสาวอีกสองคนตัดสินใจเดินทางไปประเทศที่สาม(อเมริกา) ตามพี่สาวคนโตและครอบครัวที่ไปอยู่ที่นู่นก่อนแล้ว ด้วยเหตุผลเดียวคือสังกะสีไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆเหมือนใบตองตึง     

แต่บ้านหลังคาสังกะสีร้อนแสนร้อน เวลาฝนตกใส่เสียงดังสนั่น ไม่เพราะหูเหมือนฝนสาดใบตองตึง ที่ทั้งนุ่มและชื้นเย็น จะดีก็แต่หน้าหนาวที่อบอุ่นกว่าบ้านหลังคาใบตองตึงบ้าง


บ้านของเรามุงกระเบื้องแม้ว่าแม่อยากจะมุงใบตองตึงเหมือนกระท่อม  แต่ในระยะยาวเราจะต้องปวดหัวกับการเกณฑ์คนมาช่วยมุงหลังคาทุกๆสามปีเป็นอย่างน้อย


เพื่อนแม่คนหนึ่งมาสร้างบ้านพักตากอากาศไว้ที่แม่ฮ่องสอน บ้านไม้สักทั้งหลังแต่มุงด้วยใบตองตึง หลายปีผ่านไปพอจะกลับมาพักหลังคาใบตองตึงรั่วจนเป็นรูโบ๋  ไม้สักผุพังเพราะโดยฝนตกใส่อยู่หลายปี


ปีนี้ราคาใบตองตึงแพงขึ้น อาจจะเพิ่มอีกตับละห้าสิบสตางค์ถึงหนึ่งบาทก็เป็นได้ในช่วงท้ายฤดูกาลเก็บใบไม้ใครขยันก็มีรายได้ แค่เดินออกไปไม่กี่ก้าวเก็บใบไม้มาถักร้อยจากหนึ่งเป็นร้อยจากร้อยเป็นพัน เก็บเงินใส่กระเป๋าแบบลดโลกร้อน.


รักลูก

แม่

บล็อกของ เจนจิรา สุ

เจนจิรา สุ
ฉันเป็นคนหนึ่งที่ติดตามชมละครเรื่องเมียหลวง ที่ถ่ายทอดทุกวันจันทร์-อังคารทางช่องเจ็ด เป็นละครไม่กี่เรื่องที่ฉันชอบดู ด้วยพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน รับสัญญาณโทรทัศน์ได้เพียงไม่กี่ช่อง  และอีกเหตุผลหนึ่งคือละครดีๆ มีไม่กี่เรื่อง  แม้หลายคนจะเหมารวมละครทีวีของไทยว่าเป็นละครน้ำเน่าเสียส่วนใหญ่ แต่ฉันก็เชื่อว่าละครที่สร้างมาจาก นวนิยาย ก็น่าจะมีเนื้อหาสาระบางอย่างสอนใจคนดูได้บ้าง ไม่ใช่จะดูแต่เพียงฉากตบกันของบรรดาเมียน้อยของคุณอนิรุจเท่านั้น
เจนจิรา สุ
เรานั่งพูดคุยบนชานหน้าบ้านอย่างออกรส ส่วนใหญ่ก็จะถามไถ่ทุกข์สุขกันและกัน เลยไปถึงญาติคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นหน้ากันนาน พี่เขยขึ้นเรือนมาสมทบเมื่อสิ้นเสียงออดของโรงเรียนได้พักใหญ่ “ไปเป็นการ์ดยามมา เขาให้เดือนละสี่ร้อย” พี่สาวแจง เป็นรายได้เดียวที่เหลืออยู่ของครอบครัว
เจนจิรา สุ
 "ไตรบานา" แม่เฒ่ากล่าวขอบคุณเป็นภาษากระยัน เมื่อเราบอกลาเป็นภาษาเดียวกัน ยังมีครอบครัวพี่สาวของสามีที่อยู่ถัดไปอีกสามป็อก เราตั้งใจว่าจะเยี่ยมก่อนที่จะไม่ได้พบหน้ากันอีก เพราะทางยูเอ็นฯ ได้แจ้งว่า ครอบครัวของเธอจะได้ไปประเทศที่สามในอีกไม่ช้า เราเดินเท้าไปตามทางเดินอันแสนพลุกพล่าน ราวกับว่าผู้คนเร่งรีบเดินทางสู่งานเลี้ยงสังสรรค์ที่ไหนสักแห่ง ความแออัดของผู้คนซึ่งมีอยู่ราวๆ สองหมื่นคน ทำให้บนทางเท้าและที่สาธารณะต่างๆ ดูครึกครื้น กลบบังความทุกข์ของคนพลัดบ้าน
เจนจิรา สุ
บนถนนที่ทอดยาวสู่หุบเขาทางทิศตะวันตกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เส้นทางที่ห่างออกมาเพียงสามสิบกิโลเมตรเศษ ลัดเลาะไปตามภูเขาบนถนนสายรพช. ซึ่งค่อยๆ แปรสภาพเป็นดินและหินลูกรังก่อนจะถึงสุดสายปลายทาง อันเป็นสถานที่คล้ายด่านกักกันมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ไร้ประเทศและเสรีภาพ หมู่บ้านกลางป่าที่ปลูกเบียดเสียดเรียงรายทุกซอกหลีบของพื้นที่จัดสรร คนนับหมื่นอัดแน่นในที่อาศัยกว้างกว่าเท้าและหัวจะพาดวางเพียงไม่กี่วา ที่นี่คือศูนย์ผู้พักพิงบ้านในสอย
เจนจิรา สุ
 มีใครเคยใช้ชีวิตในบ้านนอกโดยเฉพาะทางภาคอีสาน เมื่อประมาณสัก 20 ปีก่อน อาจจะมีความทรงจำเกี่ยวกับวัดที่แตกต่างจากปัจจุบัน ฉันจำได้ว่าเมื่อครั้งยังเด็ก เราแทบจะก้มลงกราบที่เท้าพระ เมื่อท่านเดินผ่านด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันเป็นไปได้ยาก ฉันเป็นชาวพุทธมาแต่อ้อนแต่ออก ด้วยหมู่บ้านที่มีวัดป่า พระเณรเพียงไม่กี่รูปหนึ่งในนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องฉันเอง เราจึงเที่ยวเล่นแวะเวียนมาที่วัดทุกครั้งที่มีโอกาส ฉันยังจำไม่ลืมที่พระหลวงพี่ จับเราพี่น้องนั่งเรียงแถวทำสมาธิ เทศน์สอนประวัติความเป็นมาของพุทธเจ้าให้ฟัง ความที่ท่านบวชตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนนี้ท่านจึงกลายเป็นเจ้าอาวาสไปแล้ว
เจนจิรา สุ
เราทยอยออกจากบ้านร้างด้วยดวงใจที่ปวดร้าว ตรอกเล็กๆ ยาวเกือบหนึ่งกิโลเมตร เป็นเส้นทางสัญจรของผู้คนจากหมู่บ้านกลางป่าไปสู่บ้านห้วยปูแกงเก่า บัดนี้ถูกย่ำไปด้วยรอยของสัตว์สี่เท้า “เชื่อไหมว่าครั้งหนึ่ง เราเคยช่วยกันขนทรายจากแม่น้ำข้างล่างมาถมตรอกแห่งนี้ กระสอบทรายนับร้อยจากจำนวนคนเพียงหยิบมือเพื่อ....” ฉันหยุดคำพูดเพียงบางแค่นั้น ทิ้งบางส่วนค้างไว้ในความทรงจำ “เพื่ออะไรล่ะ” ใครคนหนึ่งยังคงตั้งคำถามต่อสิ่งที่ค้างคา “เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากหมู่บ้านข้างนอกเขามาเห็นวิถีชีวิตเรา มาเห็นหมู่บ้านที่เป็นหมู่บ้านจริงๆ ไม่ใช่มีแต่ร้านขายของ แต่มันคงไกลเกินไป…
เจนจิรา สุ
สมรภูมิแห่งนี้เรารบกับอะไร ที่ผ่านมาเราถูกจองจำไว้ในกรงที่มองไม่เห็น เรามีอาหาร มีที่อยู่หลับนอน แต่เราไม่สามารถเป็นคนเต็มคนได้ เพราะเราไม่มีสิทธิ์คิดหรือแสดงความคิดเห็น ไม่สามารถรู้สึกเจ็บแค้นร้อนหนาว เราต้องทำหน้าที่อันถูกกำหนดมาจากผู้คุม ต้องทำงานหนักเพื่อสร้างความร่ำรวยให้กับนาย เพียงเพื่อส่วนแบ่งที่ถูกเจียดให้พอประทังชีวิต แล้ววันหนึ่งเราต้องการปลดแอก เราต้องการตั้งอาจักรของตนเอง มีบ้านและที่ดินที่เป็นของเราจริงๆ ได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมจากสมองและแรงกายของตนเอง
เจนจิรา สุ
ตุลาคม 2551"พร้อมหรือยัง"ใครคนหนึ่งตะโกนประโยคซ้ำเมื่อห้านาทีที่แล้ว เมื่อขบวนหนุ่มสาวต่างถิ่นยังคงง่วนอยู่กับการกดชัตเตอร์เก็บภาพแสงแดดยามเก้าโมงเช้า ช่างยวนใจให้ไม่อาจละสายตาจากหญิงกระยันที่ปะแป้งแต่งตัวกันจนเป็นที่เรียบร้อย หลายคนจึงยังเสียดายที่จะละกล้องแล้วออกเดินทาง "หากไปสายกว่านี้เราจะร้อนมากเมื่ออยู่กลางป่า" ฉันเตือนเพื่อนที่ไม่มีประสบการณ์ในการเดินเท้าสู่หมู่บ้านกลางป่าที่อยู่ห่างออกไปจากที่นี่ราวๆ สามกิโลดอย
เจนจิรา สุ
เสียงโหม่งขนาดใหญ่ประสานกับเสียงกลอง ฆ้อง ฉาบ แม้ฟังดูอึกทึกครึกโครม แต่ก็พลิ้วไหวไปตามทำนองขุล่ยมั้งที่เป็นขลุ่ยเฉพาะของชาวกระยัน ได้เริ่มขับประโคมหมู่บ้านราวป่า ส่งสัญญาณการเริ่มต้นของงานประเพณีต้นที “กะควาง” ในภาษากระยันถูกแปรออกมาเป็นภาษาเรียกอีกอย่างว่า “ต้นที” ซึ่งหมายถึงเสาไม้สีขาวแกะสลักปลายเสาให้เป็นรูปร่างคล้ายกับศิวลึงค์ ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในหมู่บ้านชนเผ่ากระยัน(กระเหรี่ยงคอยาว) และชนเผ่ากระยา(กระเหรี่ยงแดง) ชาวกระยันเชื่อว่า ต้นทีเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งแรกบนโลกมนุษย์ การบูชาต้นทีก็เพื่อให้บรรพบุรุษของกระยัน…
เจนจิรา สุ
มีนาคม 2551 ฉันตอบจดหมายแฟนนักอ่านคอลัมน์ของฉันคนหนึ่ง เธอเป็นคนปักษ์ใต้ นานเป็นเดือนที่จดหมายมาถึงพร้อมเสื้อผ้าและข้าวของกล่องใหญ่ ด้วยเจตนาทดแทนความขาดแคลนตามความรู้สึกของเธอ ที่สัมผัสจากการอ่านในบันทึกของฉันอยู่สองสามฉบับ เธอบอกว่าอิจฉานิดๆ ในชีวิตที่เรียบง่ายที่ฉันเลือกเดิน ฉันจึงตอบเธอไปว่าฉันเป็นเพียงนกที่บินหลงทางมา ก่อนหน้านี้ฉันก็ได้รับจดหมาย เสียงโทรศัพท์ และหนังสือดีๆ ที่ถูกส่งมาจากคนเมืองไกลจากเพื่อนที่ห่างหายการติดต่อมานานแสนนาน และจากมิตรร่วมความรู้สึกที่ไม่เคยเห็นหน้า อาจดูเป็นเรื่องแปลกหรือมีเปอร์เซ็นต์น้อยเหลือเกิน ที่คนปกติธรรมดา เกิด และเติบโตในสังคมเมือง…
เจนจิรา สุ
20 พฤศจิกายน 2550 คืนนี้แสงจันทร์กำลังโผล่พ้นเหลี่ยมเขาทิศเหนือ ดาวพราวแต้มเต็มฟ้า เหล้าดีกรีแรงทิ้งก้นจอกตั้งวางเคียงดวงเทียนที่ถูกจุดขึ้นโดยแม่เฒ่า ฉันกระชับเสื้อกันหนาวอีกนิด เมื่อลมหนาวพรูมาทางหน้าต่างบานกว้าง แม่เฒ่าบอกให้ยกดื่มอีกสักจอกแล้วจะอุ่นขึ้น ฉันรินคืนให้แม่เฒ่าพลางถามถึงความหลังเมื่อครั้งที่ยังอยู่ที่เมืองดอยก่อ รัฐคะยา ประเทศพม่า “ตอนนั้นแม่ทำนามาได้ก็ต้องแบ่งให้กับเจ้าของนา ที่เหลือก็แทบไม่พอกิน ทหารพม่าก็ยังมาขูดรีดเอาอีก บางทีถ้าไม่ให้ก็ทุบตี พวกผู้ชายต้องพากันไปหลบซ่อนตัว  ไม่อย่างนั้นมันจะเกณฑ์ให้ไปขนระเบิดที่ชายแดน” “…
เจนจิรา สุ
10 พฤศจิกายน 2550 ฉันว่างเว้นจากการเขียนบันทึกไปนานด้วยทั้งภารกิจส่วนตัวที่ต้องยุ่งวุ่นวายกับเจ้าตัวน้อยที่อยู่ในวัยที่ต้องการการเอาใจใส่อย่างสูง และภารกิจของชุมชนที่ต้องเขียนโครงการเพื่อของบประมาณจากหน่วยงานราชการ ทั้งงานประสานงาน งานประชุม ส่วนเวลาที่เหลือฉันก็ยกให้กับการคิดในเรื่องต่างๆ ฉัน สามี และลูกต้องเดินทางทุกๆ 3-5 วัน จากบ้านของตนเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองไปบ้านห้วยเสือเฒ่าและบ้านใหม่ห้วยปูแกง การพักอาศัยที่บ้านของตัวเองที่สร้างไว้ใกล้เมืองนั้นก็ด้วยเหตุผลเดียวคือความสะดวกสบาย ไม่ว่าจะการเดินทาง อยู่ใกล้โรงพยาบาล มีไฟฟ้าใช้สำหรับทำงาน หรือพักผ่อนด้วยการดูทีวี ติดตามข่าวสารโลกภายนอก…