Skip to main content

Kasian Tejapira(28 ม.ค.56)

สนทนาแลกเปลี่ยนว่าด้วยตัวแบบการเมืองฝรั่งเศส

อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล(Piyabutr Saengkanokkul) ตั้งข้อสังเกตว่า:

"ทำไมพูดถึงประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสต้องคิดถึงปฏิวัติฝรั่งเศส และการตัดหัวกษัตริย์ โค่นกษัตริย์กันอย่างเดียว จริงๆมันมีเรื่องน่าสนใจอีกเยอะ การลุกฮือในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสไม่ได้ตามมาด้วยการโค่นล้มกษัตริย์ทุกครั้ง การเซ็ตระบบชีวิตการเมืองของฝรั่งเศสใช้เวลานานมาก กว่าฝรั่งเศสจะจัดการกษัตริย์อยู่หมัดต้องรอไปถึง 1899 ที่ขยับสาธารณรัฐแบบก้าวหน้า หลังจากต้องเป็นสาธารณรัฐค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ 1870 ด้วยการประนีประนอมกับพวกกษัตริย์นิยม

ในความรับรู้ของคนไทย ฝรั่งเศส คือ ล้มเจ้า หัวรุนแรง ใครเรียนที่นี่ ก็เป็นอันตราย

ไม่จริงหรอกครับ จบฝรั่งเศสมาเชยๆก็เยออนุรักษนิยมก็มาก เขาอาจสนใจจอมพลเปแต็ง เทคนิคเนติบริกรสมัยวิชี่ก็ได้"

 

ผมนึกอะไรขึ้นมาได้คิดว่าน่าสนใจ จึงสนทนาแลกเปลี่ยนไปว่า:

มี 2 ประเด็นน่าสนใจที่คิดต่อได้จากคอมเมนต์ของอ.ปิยบุตรข้างต้น

 

1) เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นะครับว่าในรัชกาลที่ 5 และ 6 โปรดส่งเจ้านายเชื้อพระวงศ์ไปศึกษาต่อประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่มีสถาบันกษัตริย์และ/หรือสถาบันกษัตริย์ยังทรงอำนาจอิทธิพลในทางการเมืองการปกครองอยู่ มากกว่าประเทศที่ปกครองในระบอบสาธารณรัฐ ดังนั้น อังกฤษและเยอรมนีจึงถูกเลือกมากกว่าฝรั่งเศส และสำหรับผู้ที่ไปไม่ว่าเจ้านายหรือขุนนางก็มีพระราชหัตถเลขากำชับกำชาตักเตือนว่าให้เลือกรับเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองมา อย่าไปรับการเมืองแบบระบบพรรคการเมืองหรือรัฐสภาซึ่งไม่เหมาะ ในสมัยร.6 ถึงแก่ทรงให้นักเรียนไทยที่ไปเรียนต่อนอกกล่าวคำปฏิญญาณที่มีเนื้อหาทำนองคล้ายกันคือไปเรียนแล้วอย่าคิดกบฏต่อชาติและราชบัลลังก์อะไรทำนองนั้น

2) กระแสอนุรักษ์นิยม-อำนาจนิยมรวมศูนย์จากนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ฝรั่งเศสนั้นเด่นมากในช่วงราวหลัง WWII จากตัวแบบสาธารณรัฐที่ 5 ของเดอโกลครับ นี่คือแรงบันดาลใจเบื้องหลัง อมร จันทรสมบูรณ์ และ คำนูณ สิทธิสมาน เวลาพูดถึงปฏิรูปการเมือง และถวายพระราชอำนาจคืน เพียงแต่ปรับเปลี่ยนจากผู้นำเข้มแข็งอย่างเดอโกล มาเป็นผู้นำแบบไทย ๆ เช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และวางบทบาทของสถาบันกษัตริย์ไว้ในฐานะหลักหมายอ้างอิงของอำนาจสถาปนารัฐแทนประชาชนในฝรั่งเศส การอ้างถึงตัวแบบการเมืองของเดอโกลหรือ "ลัทธิเดอโกล" นี้ทำกันมาตั้งแต่สมัย 2501 แล้ว จอมพลสฤษดิ์เคยยกมาข่มขู่ ส.ส.ที่กระด้างกระเดื่องด้วยซ้ำไป

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

3 หน้าของจอมพลสฤษดิ์

การสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องฝรั่งเศสกับ อ. ปิยบุตร แสงกนกกุล ทำให้นึกอะไรบางอย่างน่าสนใจเกี่ยวกับจอมพลสฤษดิ์ขึ้นมาได้

ความที่ตกอยู่ใต้อำนาจอิทธิพลเถื่อนของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ (เจ้าของสมญา "บุรุษเหล็กแห่งเอเชีย" ซึ่งลูกน้องตำรวจ "อัศวินแหวนเพชร" ของท่านฆ่าโหดฝ่ายค้านและนักนสพ. ไม่ว่าสายอ.ปรีดี สายอีสาน ผู้นำไทยมุสลิมชายแดนใต้ สายก๊กมินตั๋งและคนที่อิสระไม่ยอมขึ้นต่อไปนับสิบ ๆ ราย และ จอมพลป. มานานปี ทำให้ฝ่ายค้านกลุ่มต่าง ๆ เกิดความหวังวาววามเรืองรองต่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อเห็นเขาแสดงบทบาทต่อต้านรัฐบาลจอมพลป.ออกมา โดยเฉพาะในคราวนักศึกษาเดินขบวนต่อต้านเลือกตั้งสกปรกจนบุกพังประตูทำเนียบต้นปี 2500 แล้วสฤษดิ์ออกมาปราศรัยหยุดม็อบ รวมทั้งแสดงตนถวายความจงรักภักดีใกล้ชิดสถาบันกษัตริย์

ฝ่ายซ้ายโดยเฉพาะสายปัญญาชนนักนสพ.วาดฝันว่าสฤษดิ์อาจกลายเป็น "นัสเซอร์" ของเมืองไทย ดังที่นายทหารชาตินิยมท่านนั้นนำสมัครพรรคพวกโค่นระบอบกษัตริย์อียิปต์ลง ดำเนินนโยบายอิสระต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตก (เช่น รับรองและเปิดสัมพันธ์การทูตกับจีนแดง กระชับสัมพันธ์กับโซเวียต) และยึดคลองสุเอซในกรรมสิทธิ์ของบริษัทต่างชาติที่รัฐบาลตะวันตกถือหุ้นอยู่ด้วยมาเป็นของชาติอียิปต์ จนถึงแก่อังกฤษร่วมกับฝรั่งเศสและอิสราเอลส่งกำลังบุกยึดคลองสุเอซ บอมบ์กรุงไคโร แล้วอเมริกากับโซเวียตแทรกแซงไกล่เกลี่ยผ่านสหประชาชาติให้ 3 ประเทศนั้นยุติและถอนกำลังออกไปในที่สุด

ส่วนฝ่ายขวา โดยเฉพาะพวกนักกฎหมายนักรัฐศาสตร์ มีภาพฝันว่าสฤษดิ์อาจกลายเป็น "เดอโกล" ของเมืองไทย แล้วจะช่วยแก้ปัญหารัฐบาลไม่มั่นคง ไร้เสถียรภาพ เพราะส.ส.กระด้างกระเดื่อง ต่อรองเอาผลประโยชน์งบประมาณและสินบนบ่อย ทำให้รัฐราชการบริหารประเทศไม่ได้ดังใจ ดังที่นายพลเดอโกลนำการปฏิรูปการเมืองฝรั่งเศส สร้างรัฐธรรมนูญใหม่แห่งสาธารณรัฐที่ 5 เพื่อแก้ไขปัญหาไร้เสถียรภาพทางการเมืองโดยทำให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็งขึ้นมา ไม่ถูกล้มโดยส.ส.ในสภาบ่อย ๆ ง่าย ๆ ดังในสาธารณรัฐที่ 4

ภาพซ้าย "นัสเซอร์" ขวา "เดอโกล"

ฝ่ายซ้ายมองสฤษดิ์เห็นเป็น "นัสเซอร์" ส่วนฝ่ายขวามองสฤษดิ์เห็นเป็น "เดอโกล"

ส่วนสฤษดิ์นั้นเอาเข้าจริงเห็นตัวเองเป็น "พ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" ผู้ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มประชาธิปไตย "แบบตะวันตก" กวาดล้างขุดรากถอนโคนมรดกการปฏิวัติ 2475 ทั้งทางสัญลักษณ์และโครงสร้างกฎหมาย เพื่อสร้าง "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" โดยอิงอาศัยความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ด้วยความระลึกถึงจาก "พวกดอกเตอร์สมองบวมบนหอคอยงาช้างทั้งหลาย" ต้องสู้กับทักษิณด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ทำลายระบอบประชาธิปไตย ต้องเอาชนะทักษิณด้วยการชนะใจเสียงข้างมาก ไม่ใช่ต่อต้านเสียงข้างมาก
เกษียร เตชะพีระ
คำปราศรัยของคุณสุเทพ ณ กปปส.บ่ายวันนี้ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ  คือคำประกาศของขบวนการการเมืองแบบสู้รบของเสียงข้างน้อยที่ปฏิเสธความเสมอภาคทางการเมืองและการปกครองโดยเสียงข้างมาก
เกษียร เตชะพีระ
ว่าด้วย "ระบอบทักษิณ" ในสถานการณ์ปฏิวัติโค่นล้ม "ระบอบทักษิณ" ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)
เกษียร เตชะพีระ
ด้วยเงื่อนไขเวลา สถานที่ แกนนำและประเด็นชนวนที่ต่างออกไปบ้าง ม็อบเทพเทือกปัจจุบันกับม็อบพันธมิตรฯเมื่อปี 2549 + 2551 ละม้ายเหมือนกันเป็นพิมพ์เดียวทั้งในแง่....
เกษียร เตชะพีระ
 "เสียงข้างน้อย" ที่ศาลรัฐธรรมนูญพูดถึงว่าต้องปกป้องไว้จากอำนาจเสียงข้างมากนั้น ไม่ใช่เสียงข้างน้อยธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย แต่คืออภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบที่ได้อำนาจอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นและเหนือเสียงข้างมากมาจากการรัฐประหารและรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยอำนาจรัฐประหารนั้น
เกษียร เตชะพีระ
กลุ่มอาการม็อบไทย ๆ ในปัจจุบัน: Thai Mob SyndromeOverpoliticization --> Political Fanaticism & Instant Political Awakening --> Lack of Political Experience and Patience
เกษียร เตชะพีระ
บทความ “A Sea of Dissent: nonviolent waves in China” ของ Michael Caster นักวิจัยและเคลื่อนไหวอิสระผู้เน้นศึกษาเรื่องความขัดแย้งและสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในเอเชีย ได้ประมวลข้อมูลและวิเคราะห์การเคลื่อนไหวมวลชนระยะใกล้ในจีนไว้อย่างน่าสนใจ ผมขอนำมาเล่าต่อบางส่วนดังนี้
เกษียร เตชะพีระ
สิ่งที่พึงปรารถนาไม่ใช่ "ให้คนเราเหมือนกันหมด จะได้เท่ากัน" (เอาเข้าจริง ถึงเหมือนกันก็ไม่เท่ากันได้) แต่คือ "แตกต่างแต่เท่ากัน" (เพราะมันคนละเรื่อง) หรือ "แตกต่างกันได้โดยไม่ต้องกลัว" ต่างหาก (Different but equal or To be different without fear.)
เกษียร เตชะพีระ
บทสัมภาษณ์ ควินติน สกินเนอร์ นักวิชาการด้านประวัติความคิดการเมืองชาวอังกฤษสำคัญที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบันต่อประเด็นเกี่ยวกับงานค้นคว้าประวัติความคิดเรื่องเสรีภาพและ เสรีนิยมของตะวันตกตลอดชีวิตของเขาโดยภาพรวม แนวคิดมหาชนรัฐ, มาเคียเวลลี, ฮ๊อบส์, การปฏิรูปศาสนา, เชคสเปียร์, มิลตัน, คาร์ล มาร์กซ จนถึงเอ็ดเวิร์ด สโนว์เด็น เป็นต้น
เกษียร เตชะพีระ
 ว่าด้วย "เจ็ดไม่พูด"(ชีปู้เจียง) แคมเปนอุดมการณ์ล่าสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน คุณค่าสากล, เสรีภาพการพูดและพิมพ์โฆษณา, สิทธิพลเมือง, ประชาสังคม, ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน, กระฎุมพีข้าราชการ และความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ