Skip to main content

เกษียร เตชะพีระ


ในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ลัทธิจังหวัดนิยมหรือเอกลักษณ์จังหวัดแบบบรรหารบุรีในหนังสือ Political Authority and Provincial Identity in Thailand: The Making of Banharn-buri(ค.ศ. ๒๐๑๑) ดร. โยชิโนริ นิชิซากิ ได้ประยุกต์แนวคิดของ Katherine Verdery ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาแห่ง City University of New York ผู้ค้นพบจากการศึกษาลัทธิชาตินิยมในยุโรปตะวัน-ออกหลังสิ้นสุดระบอบสังคมนิยมลงไปว่า มีเหตุปัจจัย ๒ ประกาที่เอื้อให้ลัทธิชาตินิยมรุ่งเรืองขึ้นได้แก่มี “ฮีโร่” หรือคนดีศรีแผ่นดินปรากฏตัวขึ้น และคนทั่วไปรู้สึกร่วมกันว่าพวกตนตกเป็นเหยื่อถูกข่มเหงรังแกเอารัดเอาเปรียบและต้องทนทุกข์ลำเค็ญแสนสาหัส

นิชิซากิเห็นว่าเหตุปัจจัยทั้งสองก็มีในสุพรรณบุรีเช่นกันกล่าวคือมีทั้งคุณบรรหารเป็นคนดีศรีสุพรรณฯและคนสุพรรณฯก็รู้สึกว่าถูกรัฐราชการส่วนกลางทอดทิ้งละเลยให้ลำบากล้าหลังไม่พัฒนาอยู่นานปี ฉะนั้นมันจึงเอื้ออำนวยให้ลัทธิจังหวัดนิยมแบบบรรหารบุรีรุ่งเรืองขึ้นได้ในทำนองเดียวกัน เพียงแต่ย่อส่วนลัทธินิยมเอกลักษณ์รวมหมู่จากปรากฏการณ์ระดับประเทศ (ชาตินิยม) ลงมาเป็นระดับจังหวัด (จังหวัดนิยม) แค่นั้นเอง

คำถามชวนคิดก็คือแล้วเอกลักษณ์ระดับจังหวัดหรือลัทธิจังหวัดนิยมในประเทศหนึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์ดำรงอยู่คู่กันอย่างไรกับเอกลักษณ์แห่งชาติหรือลัทธิชาตินิยมที่มีขอบเขตกินความใหญ่โตกว้างขวางครอบคลุมกว่าในประเทศนั้น ๆ เล่า?

จากกรณีศึกษาบรรหารบุรี นิชิซากิสรุปว่าการดำรงอยู่เคียงคู่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันระหว่างเอกลักษณ์ระดับจังหวัดกับเอกลักษณ์แห่งชาติเป็นไปด้วยดีเมื่อเอกลักษณ์จังหวัดระมัดระวังจำกัดขอบเขต ไม่ก้าวล้ำก้ำเกินเอกลักษณ์แห่งชาติซึ่งมีสถาบันกษัตริย์เป็นแกนกลาง สรุปรวบยอดก็คือเอกลักษณ์จังหวัดนิยมแบบบรรหารบุรีอยู่ใต้ร่มพระบารมีราชาชาตินิยมอย่างราบรื่นกลมกลืนเรื่อยมา โดยตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในแบบอย่างแนวทางพระราชอำนาจนำในการดูแลทุกข์สุข ทำนุบำรุงชีวิตความเป็นอยู่และรักษาความมั่นคงของพื้นที่และอาณาราษฎรชาวสุพรรณบุรี

อาทิเช่น เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้มีการจัดพระราชพิธีเปิดโรงเรียนบรรหาร-แจ่มใส ๓ ที่ก่อสร้างด้วยเงินอุดหนุนของคุณบรรหารขึ้นที่อำเภอด่านช้างซึ่งอยู่เหนือสุดและทุร-กันดารที่สุดของสุพรรณบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธี ณ อำเภอด่านช้างด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรก ปรากฏว่าชาวอำเภอด่านช้างพากันมารับเสด็จด้วยความตื่นเต้นที่จะได้ชื่นชมพระบารมีของทั้งสองพระองค์ถึง ๕ - ๖ พันคนรวมทั้งชนชาติกะเหรี่ยงและโซ่งที่เป็นประชากรราวกึ่งหนึ่งของอำเภอด้วย

ในวโรกาสนี้ คุณบรรหารได้ริเริ่มโครงการหลายอย่างเกี่ยวกับลูกเสือชาวบ้านขึ้นที่อ.ด่าน-ช้างด้วย โดยคุณหมอบัณฑิต เลขวัต รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช น้องเขยของคุณบรรหารและแกนนำลูกเสือชาวบ้านสุพรรณบุรี เป็นกำลังสำคัญ เนื่องจากอ.ด่านช้างเป็นเขตชนชาติส่วนน้อยและทุรกันดารไกลปืนเที่ยง จึงกลายเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประ-เทศไทยอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ พระราชพิธีนี้จึงเป็นโอกาสให้ราษฎรชาวด่านช้างได้รับเสด็จและชมพระบารมีองค์พระประมุขของชาติอย่างใกล้ชิดกว่าที่เคยมีมาแต่ก่อน คุณบรรหารยังได้ทูลเกล้าฯถวายเงิน ๑ แสนบาทเพื่อสนับสนุนกิจกรรมลูกเสือชาวบ้านทั่วประเทศในครั้งนี้ด้วย หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของสุพรรณบุรีและสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยได้รายงานข่าวพระราชพิธีครั้งนี้และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างครึกโครม

ชั่วสองสัปดาห์ให้หลัง ในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ คุณบรรหารยังได้ร่วมกับสมาคมชาวสุพรรณบุรีจัดแสดงละครปลุกใจอิงประวัติศาสตร์เรื่อง “เลือดสุพรรณ” ของหลวงวิจิตรวาทการขึ้นที่โรงละครแห่งชาติ เพื่อสดุดีเกียรติประวัติความกล้าหาญและสามัคคีของชาวสุพรรณฯในการลุกขึ้นต่อต้านพม่าข้าศึก และพระวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาฝ่ายพม่า ณ หนองสาหร่าย สุพรรณบุรีในครั้งนั้น ละครเรื่องนี้เคยเป็นที่นิยมมากสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เรื้อร้างไปหลังสงคราม การรื้อฟื้นละครเรื่องนี้มาจัดแสดงใหม่ได้การสนับสนุนจากภรรยาม่ายของหลวงวิจิตรฯด้วย

เนื้อเรื่องและเพลงหลักของละครนี้สื่อสาระสำคัญทางการเมืองที่เกี่ยวร้อยลัทธิชาตินิยมไทยซึ่งมีพระมหากษัตริย์นักรบเป็นแก่นแกนหลักชัย เข้ากับเอกลักษณ์จังหวัดนิยมของสุพรรณบุรีอย่างสอดบรรสานเชื่อมโยงคล้องจองกลมกลืนไปด้วยกัน ปลุกทั้งจิตใจรักชาติและรักสุพรรณฯไปพร้อมกันในคราวเดียว ดังเห็นได้จากเนื้อเพลง “เลือดสุพรรณ” ที่แต่งโดยหลวงวิจิตรวาทการว่า:

“มาด้วยกัน มาด้วยกัน เลือดสุพรรณเอ๋ย
เลือดสุพรรณนี้เข้าประจัญ อย่าได้พรั่นเลย.....
เลือดสุพรรณเหยหาญในการศึก เหี้ยมฮึกกล้าสู้ไม่รู้หนี
ไม่ครั่นคร้ามถามใจต่อไพรี ผู้ใดมีมีดพร้าคว้ามารบ
อยู่ไม่สุขเขามารุกแดนตระหน่ำ ให้ชอกช้ำแสนอนาถชาติไทยเอ๋ย
เขาเฆี่ยนฆ่าเพราะว่าเห็นเป็นเชลย จะนิ่งเฉยอยู่ทำไมพวกไทยเรา
อันเมืองไทยเป็นของไทยใช่ของอื่น มาต่อสู้ กู้คืนเถอะเราเอ๋ย
ถึงตัวตายอย่าเสียดายชีวิตเลย มาเถอะเหวยพวกเรามากล้าประจัญ”

นอกจากจัดแสดงที่โรงละครแห่งชาติแล้ว สองวันถัดมา สถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ และ ๙ ยังได้ถ่ายทอดเทปบันทึกภาพการแสดงละครออกอากาศไปทั่วประเทศด้วย เปิดรายการด้วยการบรรเลงเพลง “เลือดสุพรรณ” โดยวงดุริยางค์ทหารภายใต้การอำนวยการของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ผู้บัญชาการทหารเรือขณะนั้นซึ่งเป็นคนสุพรรณฯด้วยเหมือนกัน อันที่จริงแล้ว ตัวแสดงทั้งหมดก็ล้วนเป็นชาวสุพรรณฯทั้งสิ้น ตั้งแต่พระเอกคือคุณยอดชาย สุจิตต์ นักธุรกิจเชื้อสายจีนชาวสุพรรณฯซึ่งเกี่ยวดองกับคุณบรรหารผ่านทางการแต่งงาน, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, ขวัญจิต ศรีประจันต์, พ.อ.พิเศษนายแพทย์ถวัลย์ อภิรักษ์โยธิน, รวมทั้งคุณบรรหารก็ร่วมแสดงละครด้วยตัวเอง ว่ากันว่าในช่วงละครเรื่องนี้ออกอากาศทางทีวีนั้น ตลาดเมืองสุพรรณฯซึ่งปกติคึกคักกลับเงียบสงัดไปถนัดใจเพราะชาวบ้านร้านตลาดพากันอยู่บ้านเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์ดูละครกันทั้งเมืองทีเดียว

คุณบรรหารได้ใช้โอกาสการรื้อฟื้นจัดแสดงละคร “เลือดสุพรรณ” ใหม่และถ่ายทอดออกอากาศทางทีวีนี้หาเงินสมทบทุนสนับสนุนภารกิจของกองทัพในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ทั่วประ-เทศ โดยรวบรวมทั้งค่าบัตรผ่านประตูเข้าชมละครและเงินที่มีผู้บริจาคผ่านการระดมเรี่ยไรระหว่างฉายละครทางทีวีต่อมาได้เบ็ดเสร็จถึงกว่า ๑ ล้านบาท แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระองค์ก็ได้พระราชทานให้ทางกองทัพนำไปดำเนินการต่อไป

กิจกรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ส่งผลให้คุณบรรหาร ศิลปอาชาเป็นประหนึ่งตัวแทนและผู้นำของจังหวัดสุพรรณบุรี ในเครือข่ายผู้จงรักภักดีทั่วประเทศที่ตามรอยเบื้องพระยุคลบาทในการปกปักรักษาความมั่นคงของชาติจากภัยคุกคามต่าง ๆ อย่างแข็งขันสืบมา จนท่านกลายเป็นชาวสุพรรณฯคนแรกที่ได้ขึ้นรับตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร โดยได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๑ ของประเทศในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๘ - ๒๕๓๙ ในที่สุด

ทุกวันนี้ คุณบรรหารก็ยังคงเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ได้รับการนับหน้าถือตาในสุพรรณบุรี ในพรรคชาติไทยพัฒนาและในบ้านเมือง อันต่างจากชะตากรรมของอดีตนายกรัฐมนตรีบางท่านชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
 ผมได้รับเชิญไปร่วมสนทนาในงานเปิดตัวหนังสือ ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิตของอาจารย์ พัชราภา ตันตราจิน แห่งมหาวิทยาลัยบูรพา ที่ปัจจุบันศึกษาต่อระดับปริญญาเอกอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อต้นเดือนนี้ เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องเวลา ผมอยากนำเอาเนื้อหาที่เตรียมไปส่วนหนึ่งมาเล่าต่อ ณ ที่นี้เพราะไม่มีโอกาสพูดถึงในวันงาน
เกษียร เตชะพีระ
ปรากฏการณ์หมกมุ่นกับรูปโฉมภายนอกเหล่านี้บันดาลใจให้ศิลปินอุนจงเปิดนิทรรศการงานศิลปะของเธอชื่อ “โรงงานร่างกาย” สะท้อนการที่ผู้คนสูญเสียเอกลักษณ์ของตัวเอง ทำกับร่างกายตัวเองเหมือนมันเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นหนึ่ง และสูญเสียความหมายว่าตัวเองเป็นใครไป
เกษียร เตชะพีระ
อีกด้านของจอห์น สจ๊วต มิลล์ นักปรัชญาเสรีนิยม-ประโยชน์นิยม "เผด็จการยังจำเป็นสำหรับสังคมด้อยพัฒนาที่ประชาชนยังไม่พร้อม” และ ความแย้งย้อนของเสรีนิยมบนฐานประโยชน์นิยม: ทำไมเสรีภาพจึงไปได้กับเผด็จการในความคิดของจอห์น สจ๊วต มิลล์?
เกษียร เตชะพีระ
การไต่ระดับของเศรษฐศาสตร์รัดเข็มขัด (austerity economics) สู่ขั้นยึดเงินฝากชาวบ้านมาใช้หนี้เน่าธนาคาร
เกษียร เตชะพีระ
...ข้อเรียกร้องที่ชอบด้วยเหตุผลให้มี “การเมืองที่กำกับด้วยศีลธรรม” บ่อยครั้งเมื่อเอาไปวางในโลกปฏิบัติที่เป็นจริงของสังคมการเมืองไทย รังแต่จะนำไปสู่ “ผู้อวดอ้างสวมสิทธิอำนาจวินิจฉัยตัดสินศีลธรรมทางการเมืองเอาเองโดยพลการและปราศจากการตรวจสอบควบคุม”
เกษียร เตชะพีระ
Kasian Tejapira(1/4/56)สืบเนื่องจากสเตตัสของ บก.ลายจุด เรื่องล้างสมองที่ว่า:
เกษียร เตชะพีระ
จงใจและมีจังหวะบอกกล่าวผู้ชมถึงการเปลี่ยนยุคภาษา, ตลกของเรื่องนี้ไม่ใช่ตลกไทยแบบเก่า, หนังเปลี่ยนขนบการเล่าเรื่อง “แม่นาค พระโขนง”, ไม่ได้รับการเล่าบรรยายแบบเคร่งครัดตามขนบการเล่าเรื่องของความเป็นไทยทางการเลย, ผีแม่นาคแม้น่ากลัว แต่ก็สวยชิบเป๋ง แม้จะทำหน้าดุดัน เหี้ยมเกรียม หลอกเอาบ้าง ขู่บ้าง แต่พูดให้ถึงที่สุด เป็นผี non-violence นะครับ แม่นาคเวอร์ชั่นนี้จึงคล้ายไอ้ฟักในคำพิพากษาที่ตกเป็นจำเลยของชาวบ้านอย่างไม่มีทางแก้ตัว
เกษียร เตชะพีระ
ในภาวะที่แรงส่งด้านบวกจากการลงทุนอุตสาหกรรมเหมืองแร่กำลังจะงวดตัวหมดพลังลงกลางปีนี้ (2013) อีกทั้งผู้บริโภคชาวออสเตรเลียก็ติดหนี้สูงไม่แพ้ผู้บริโภคอเมริกันและพยายามรัดเข็มขัดลดค่าใช้จ่ายลงมาอยู่ เครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจออสเตรเลียตัวต่าง ๆ จึงทำท่าจะหมดน้ำมันลง หากรัฐบาลออสเตรเลียดันไปตัดลดงบประมาณรัดเข็มขัดเข้า เศรษฐกิจออสเตรเลียก็จะสะดุดแน่นอน
เกษียร เตชะพีระ
...ภาพรวมของ the growth effects + the expansion effects + the transport effects เหล่านี้ จะไม่ถูกบันทึกนับรวมไว้ใน EIA ฉบับของโครงการย่อยใด ๆ เพราะเอาเข้าจริงมันเป็นผลที่คาดหวังให้เกิดขึ้นของโครงการเมกะโปรเจคต์ลอจิสติกส์ทั้งหมด ด้วยซ้ำ ทว่ามันจะทำให้ไทยและเพื่อนบ้านและ ASEAN ใช้พลังงานและทรัพยากรจากสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล น่าเชื่อว่า Carbon Footprint หรือรอยเท้าคาร์บอนของคนไทยและคน ASEAN จะขยายใหญ่ออกไปอีกบานเบอะ ...
เกษียร เตชะพีระ
โรซ่าชี้ว่ามีระบอบเวลาที่เร่งเร็วขึ้น ๓ ชนิดทำงานผสมผสานกันอยู่ในระยะอันใกล้นี้ ได้แก่: -การเร่งเร็วทางเทคนิค (อินเทอร์เน็ต, รถไฟความเร็วสูง, เตาไมโครเวฟ) -การเร่งเร็วทางสังคม (ผู้คนเปลี่ยนการงานอาชีพและคู่ครองบ่อยขึ้น, ใช้ข้าวของแล้วทิ้งเปลี่ยนใหม่ถี่ขึ้น) -จังหวะดำเนินชีวิตกระชั้นขึ้น (เรานอนน้อยลง, พูดเร็วขึ้น, สื่อสารกับคนรอบข้างน้อยลง, ทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันไป)
เกษียร เตชะพีระ
I am an ud-ad man.Living in ud-ad Thailand.I wonder why it is so.Maybe because the general tells me to go....
เกษียร เตชะพีระ
๑๓ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสมเด็จพระสันตะปาปา ฟรานซิส ประมุของค์ใหม่แห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก