Skip to main content

Kasian Tejapira(8/4/56)

ไซปรัส เป็นเกาะเล็ก ๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ประชากรเกือบล้านคน เศรษฐกิจและแรงงานพึ่งพาภาคบริการมากที่สุด (๘๐.๙% ของ GDP, ๗๑% ของแรงงาน), ๓ กิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ท่องเที่ยว (โดยเฉพาะทัวริสต์เงินหนาจากยุโรปเหนือ), การขนส่งสินค้าทางเรือ (ทำเลเกาะเหมาะสม), และการเงินการธนาคาร

โดยเฉพาะเมื่อประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหรือ EU ส่วนใหญ่เริ่มใช้เงินสกุลยูโร (ในทางบัญชี ๑๙๙๙, ในทางธนบัตรและเหรียญ ๒๐๐๒) และไซปรัสเข้าเป็นสมาชิก EU ในปี ๒๐๐๔ บรรดาธนาคารในไซปรัสก็ฉวยโอกาสเร่ล่าหาเงินฝากจากต่างประเทศโดยยื่นข้อเสนอที่ดึงดูดใจเศรษฐีทั่วโลก คือ:

- จะปริวรรตเงินฝากไม่ว่าสกุลใด ๆ จากนอกมาเป็นเงินตราสกุลยูโรซึ่งแข็งปั๋งคนอยากได้

- ให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูง

- ไม่ถามให้รำคาญใจผู้ฝากว่าเงินนี้ท่านได้แต่ใดมา....

ผลคือชั่วเวลาไม่ถึงทศวรรษ บรรดาธนาคารเอกชนในไซปรัสสูบดูดเงินฝากจากต่างประเทศโดยเฉพาะรัสเซียมหาศาล คิดเป็น ๕ - ๘ เท่าของ GDP/ปีของประเทศตน (GDP ไซปรัส = ๒๒.๔๕ พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ/๒๐๑๒) แล้วบรรดาธนาคารไซปรัสทั้งหลายก็เอาเงินก้อนนี้ไปลงทุน “ฉลาด ๆ” , “รอบคอบรัดกุม” เช่น ปล่อยกู้ให้รัฐบาลกรีซ เป็นต้น ผลก็คือประเมินความเสี่ยงผิด เกิดวิกฤตซับไพรม์และเงินกู้สาธารณะในยุโรปตามมา ส่งผลให้ระบบธนาคารไซปรัสเจ๊งกะบ๊งล้มละลาย เหลือวิสัยรัฐบาลไซปรัสจะอุ้มไว้อีกต่อไปโดยลำพัง จึงติดต่อขอความช่วยเหลือจาก EU-IMF-ECB ตั้งแต่เมื่อกลางปีก่อน

ข้อเสนอที่ EU-IMF-ECB ยื่นให้รัฐบาลไซปรัสแลกกับเงินกู้หมื่นล้านยูโรเพื่อประคองระบบการเงินการธนาคารและรัฐบาลไซปรัสไว้ก็คือ รัฐบาลไซปรัสจะต้องรีดไถเงินกินเปล่าหรือค่าต๋งหรือส่วยพิเศษ (ไม่รู้จะเรียกให้เพราะกว่านี้ได้ไง) จากบัญชีเงินฝากทุกบัญชีในธนาคารเอกชนในไซปรัสราว ๑๐% ของยอดเงินฝากทั้งหมด เพื่อเอามาชดเชยความสูญเสียจากวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นและอุ้มพยุงธนาคารที่เสี่ยงลงทุนแล้วเจ๊งนั้นเอาไว้

ประเด็นสำคัญคือนี่เป็นวิธีใหม่ที่ปฏิวัติสุดยอด ไม่เคยมีที่ไหนทำกันขนาดนี้ในโลก ประมาณว่าสงครามโลกครั้งที่สามทางการเงินว่างั้นเถอะ ปกติเขาก็ดึงเอาเงินงบประมาณรัฐบาล (ก็ภาษีชาวบ้านนั่นแหละ) มาอุ้มระบบธนาคารที่เจ๊ง โดยขึ้นภาษีเอากับชาวบ้าน (รีดเลือดจากปู) มั่ง ตัดลดงบประมาณโครงการสวัสดิการสังคมลงมั่ง เรียกว่าบีบรีดไถเอาแบบไฟเย็น ค่อยเป็นค่อยไป ให้ชาวบ้านทนทุกข์ระทมขมขื่นค่อย ๆ สิ้นไร้ไม้ตอก ไร้บ้าน แห้งเหี่ยวอับเฉาหัวโตตายไปเองช้า ๆ แต่นี่มันสุด ๆ คือ “ปล้นกลางแดด” เอาจากบัญชีเงินฝากของชาวบ้านและชาวโลกที่ละโมบโลภมากหลงเชื่อเอาเงินมาฝากในไซปรัสกันเลยทีเดียว คุณฝากไว้ ๑๐๐ ยูโร รัฐบาลริบไปหน้าตาเฉย ๑๐ ยูโร เพื่อเอาไปใช้หนี้ อุ้มนายธนาคารเงินเดือนเป็นล้าน ๆ ที่ลงทุนเฮงซวยแล้วเจ๊ง แทนที่ธนาคารจะทำหน้าที่รับผิดชอบรักษาเงินฝากและดอกเบี้ยงอกเงยของคุณทุกเม็ดทุกสตางค์ไว้ด้วยชีวิต มันกลับสมคบกับรัฐบาลยึดเงินคุณไปร้อยชักสิบดื้อ ๆ เลย นี่ ระบบการเงินทุนนิยมเสรีมันดีอย่างนี้ (มิลตัน ฟรีดแมนและเสรีนิยมใหม่จงเจริญ!) ต้องยอมรับว่าเป็นมาตรการแก้วิกฤตการเงินการธนาคารที่เฉียบขาด ฉับพลัน เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเรียบร้อยในทีเดียวจริง ๆ

แน่นอนครับ ชาวไซปรัสไม่ได้กินแกลบ ใครจะยอม เงินฝากที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมาชั่วชีวิตของกู อยู่ดี ๆ มึงทำเจ๊งเองแล้วจะมาชุบมือเปิบหักเอาไปดื้อ ๆ ได้ไง ก็ต้องสู้ตายกันล่ะทีนี้ ดังนั้นก็ลุกฮือทั่วประเทศครับ นัดหยุดงาน นัดหยุดซื้อขาย ให้เศรษฐกิจตายคาที่ไปเลย พร้อมทั้งส่งสัญญาณให้ชาวบ้านร้านตลาดนานาชาติทั่วยุโรปที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารว่า พี่น้องเอ๊ย ดูตัวอย่างเราไว้นะ ปล่อยให้เกิดแบบนี้ที่นี่ได้ไง พี่น้องต้องลุกมาช่วยกันต่อต้านคนละไม้คนละมือ (solidarity) เพราะถ้ามันทำที่ไซปรัสนี่ได้ มันก็ทำที่อิตาลี สเปน โปรตุเกส ฯลฯ กับเงินของพี่น้องได้เหมือนกัน.... เท่านั้นเอง ดีลหักส่วยเงินฝาก ๑๐% ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า สภาไซปรัสไม่ยอมรับและแรงต้านใน EU ก็แรงมากจากมวลชนจนต้องล้มไป

ดีลใหม่ที่เบากว่าเก่าแต่โดยหลักการก็เหมือนกันคือ เล็งเอาเฉพาะบัญชีเงินฝากที่มียอดสูงกว่าแสนยูโร, แช่แข็งบัญชีเหล่านั้นไว้ห้ามเบิกจ่ายโยกย้ายเข้าออก, ให้รัฐบาลล้วงหยิบเงินฝากในบัญชีเหล่านั้นมาจ่ายหนี้โอบอุ้มระบบธนาคารได้ พร้อมทั้งปิดธนาคารเอกชน Laiki ใหญ่อันดับ ๒ ของไซปรัสทิ้ง (หนี้เน่าให้รัฐบาลไซปรัสแบกไป ส่วนสินทรัพย์ที่เหลือให้ธนาคารเอกชนอื่น ๆ มาแบ่งสันปันส่วนกันไปดำเนินการต่อ) ซึ่งแม้จะลดจำนวนผู้ฝากเงินที่เดือดร้อนรายย่อยลง แต่หลักการใหม่ที่ว่า “บัญชีเงินฝากของเอกชนในธนาคารบัดนี้ไม่ใช่เขตหวงห้ามศักดิ์สิทธิ์รัฐบาลล้วงลูกเข้าไปแตะต้องไม่ได้อีกต่อไป” แล้วก็ยังคงอยู่ เรียกว่าเป็นคอมมิวนิสต์กันกลาย ๆ ทีเดียว (ยกเว้นธนาคารเจ๊งกะบ๊งเฮงซวยเหล่านั้น ซึ่งรีดไถเงินผู้ฝากไปอุดรูรั่วตัวเองแล้ว ก็ยังเป็นของเอกชนอยู่ดี)

สรุปก็คือ ตรวจดูยอดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารของคุณหรือยัง? แน่ใจได้ไหมว่ามันจะปลอดภัยไม่ถูกรัฐบาลกับนายธนาคารปล้นกลางแดด? สู้เบิกเอามายัดที่นอนหรือฝังดินเก็บไม่ดีกว่าหรือ? เฮ้อ

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
ด้วยความระลึกถึงจาก "พวกดอกเตอร์สมองบวมบนหอคอยงาช้างทั้งหลาย" ต้องสู้กับทักษิณด้วยระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ทำลายระบอบประชาธิปไตย ต้องเอาชนะทักษิณด้วยการชนะใจเสียงข้างมาก ไม่ใช่ต่อต้านเสียงข้างมาก
เกษียร เตชะพีระ
คำปราศรัยของคุณสุเทพ ณ กปปส.บ่ายวันนี้ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ  คือคำประกาศของขบวนการการเมืองแบบสู้รบของเสียงข้างน้อยที่ปฏิเสธความเสมอภาคทางการเมืองและการปกครองโดยเสียงข้างมาก
เกษียร เตชะพีระ
ว่าด้วย "ระบอบทักษิณ" ในสถานการณ์ปฏิวัติโค่นล้ม "ระบอบทักษิณ" ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.)
เกษียร เตชะพีระ
ด้วยเงื่อนไขเวลา สถานที่ แกนนำและประเด็นชนวนที่ต่างออกไปบ้าง ม็อบเทพเทือกปัจจุบันกับม็อบพันธมิตรฯเมื่อปี 2549 + 2551 ละม้ายเหมือนกันเป็นพิมพ์เดียวทั้งในแง่....
เกษียร เตชะพีระ
 "เสียงข้างน้อย" ที่ศาลรัฐธรรมนูญพูดถึงว่าต้องปกป้องไว้จากอำนาจเสียงข้างมากนั้น ไม่ใช่เสียงข้างน้อยธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย แต่คืออภิสิทธิ์ชนส่วนน้อยในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบที่ได้อำนาจอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นและเหนือเสียงข้างมากมาจากการรัฐประหารและรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยอำนาจรัฐประหารนั้น
เกษียร เตชะพีระ
กลุ่มอาการม็อบไทย ๆ ในปัจจุบัน: Thai Mob SyndromeOverpoliticization --> Political Fanaticism & Instant Political Awakening --> Lack of Political Experience and Patience
เกษียร เตชะพีระ
บทความ “A Sea of Dissent: nonviolent waves in China” ของ Michael Caster นักวิจัยและเคลื่อนไหวอิสระผู้เน้นศึกษาเรื่องความขัดแย้งและสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในเอเชีย ได้ประมวลข้อมูลและวิเคราะห์การเคลื่อนไหวมวลชนระยะใกล้ในจีนไว้อย่างน่าสนใจ ผมขอนำมาเล่าต่อบางส่วนดังนี้
เกษียร เตชะพีระ
สิ่งที่พึงปรารถนาไม่ใช่ "ให้คนเราเหมือนกันหมด จะได้เท่ากัน" (เอาเข้าจริง ถึงเหมือนกันก็ไม่เท่ากันได้) แต่คือ "แตกต่างแต่เท่ากัน" (เพราะมันคนละเรื่อง) หรือ "แตกต่างกันได้โดยไม่ต้องกลัว" ต่างหาก (Different but equal or To be different without fear.)
เกษียร เตชะพีระ
บทสัมภาษณ์ ควินติน สกินเนอร์ นักวิชาการด้านประวัติความคิดการเมืองชาวอังกฤษสำคัญที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบันต่อประเด็นเกี่ยวกับงานค้นคว้าประวัติความคิดเรื่องเสรีภาพและ เสรีนิยมของตะวันตกตลอดชีวิตของเขาโดยภาพรวม แนวคิดมหาชนรัฐ, มาเคียเวลลี, ฮ๊อบส์, การปฏิรูปศาสนา, เชคสเปียร์, มิลตัน, คาร์ล มาร์กซ จนถึงเอ็ดเวิร์ด สโนว์เด็น เป็นต้น
เกษียร เตชะพีระ
 ว่าด้วย "เจ็ดไม่พูด"(ชีปู้เจียง) แคมเปนอุดมการณ์ล่าสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน คุณค่าสากล, เสรีภาพการพูดและพิมพ์โฆษณา, สิทธิพลเมือง, ประชาสังคม, ความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน, กระฎุมพีข้าราชการ และความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการ