Skip to main content

Kasian Tejapira(8/4/56)

ไซปรัส เป็นเกาะเล็ก ๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ประชากรเกือบล้านคน เศรษฐกิจและแรงงานพึ่งพาภาคบริการมากที่สุด (๘๐.๙% ของ GDP, ๗๑% ของแรงงาน), ๓ กิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ท่องเที่ยว (โดยเฉพาะทัวริสต์เงินหนาจากยุโรปเหนือ), การขนส่งสินค้าทางเรือ (ทำเลเกาะเหมาะสม), และการเงินการธนาคาร

โดยเฉพาะเมื่อประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหรือ EU ส่วนใหญ่เริ่มใช้เงินสกุลยูโร (ในทางบัญชี ๑๙๙๙, ในทางธนบัตรและเหรียญ ๒๐๐๒) และไซปรัสเข้าเป็นสมาชิก EU ในปี ๒๐๐๔ บรรดาธนาคารในไซปรัสก็ฉวยโอกาสเร่ล่าหาเงินฝากจากต่างประเทศโดยยื่นข้อเสนอที่ดึงดูดใจเศรษฐีทั่วโลก คือ:

- จะปริวรรตเงินฝากไม่ว่าสกุลใด ๆ จากนอกมาเป็นเงินตราสกุลยูโรซึ่งแข็งปั๋งคนอยากได้

- ให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูง

- ไม่ถามให้รำคาญใจผู้ฝากว่าเงินนี้ท่านได้แต่ใดมา....

ผลคือชั่วเวลาไม่ถึงทศวรรษ บรรดาธนาคารเอกชนในไซปรัสสูบดูดเงินฝากจากต่างประเทศโดยเฉพาะรัสเซียมหาศาล คิดเป็น ๕ - ๘ เท่าของ GDP/ปีของประเทศตน (GDP ไซปรัส = ๒๒.๔๕ พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ/๒๐๑๒) แล้วบรรดาธนาคารไซปรัสทั้งหลายก็เอาเงินก้อนนี้ไปลงทุน “ฉลาด ๆ” , “รอบคอบรัดกุม” เช่น ปล่อยกู้ให้รัฐบาลกรีซ เป็นต้น ผลก็คือประเมินความเสี่ยงผิด เกิดวิกฤตซับไพรม์และเงินกู้สาธารณะในยุโรปตามมา ส่งผลให้ระบบธนาคารไซปรัสเจ๊งกะบ๊งล้มละลาย เหลือวิสัยรัฐบาลไซปรัสจะอุ้มไว้อีกต่อไปโดยลำพัง จึงติดต่อขอความช่วยเหลือจาก EU-IMF-ECB ตั้งแต่เมื่อกลางปีก่อน

ข้อเสนอที่ EU-IMF-ECB ยื่นให้รัฐบาลไซปรัสแลกกับเงินกู้หมื่นล้านยูโรเพื่อประคองระบบการเงินการธนาคารและรัฐบาลไซปรัสไว้ก็คือ รัฐบาลไซปรัสจะต้องรีดไถเงินกินเปล่าหรือค่าต๋งหรือส่วยพิเศษ (ไม่รู้จะเรียกให้เพราะกว่านี้ได้ไง) จากบัญชีเงินฝากทุกบัญชีในธนาคารเอกชนในไซปรัสราว ๑๐% ของยอดเงินฝากทั้งหมด เพื่อเอามาชดเชยความสูญเสียจากวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นและอุ้มพยุงธนาคารที่เสี่ยงลงทุนแล้วเจ๊งนั้นเอาไว้

ประเด็นสำคัญคือนี่เป็นวิธีใหม่ที่ปฏิวัติสุดยอด ไม่เคยมีที่ไหนทำกันขนาดนี้ในโลก ประมาณว่าสงครามโลกครั้งที่สามทางการเงินว่างั้นเถอะ ปกติเขาก็ดึงเอาเงินงบประมาณรัฐบาล (ก็ภาษีชาวบ้านนั่นแหละ) มาอุ้มระบบธนาคารที่เจ๊ง โดยขึ้นภาษีเอากับชาวบ้าน (รีดเลือดจากปู) มั่ง ตัดลดงบประมาณโครงการสวัสดิการสังคมลงมั่ง เรียกว่าบีบรีดไถเอาแบบไฟเย็น ค่อยเป็นค่อยไป ให้ชาวบ้านทนทุกข์ระทมขมขื่นค่อย ๆ สิ้นไร้ไม้ตอก ไร้บ้าน แห้งเหี่ยวอับเฉาหัวโตตายไปเองช้า ๆ แต่นี่มันสุด ๆ คือ “ปล้นกลางแดด” เอาจากบัญชีเงินฝากของชาวบ้านและชาวโลกที่ละโมบโลภมากหลงเชื่อเอาเงินมาฝากในไซปรัสกันเลยทีเดียว คุณฝากไว้ ๑๐๐ ยูโร รัฐบาลริบไปหน้าตาเฉย ๑๐ ยูโร เพื่อเอาไปใช้หนี้ อุ้มนายธนาคารเงินเดือนเป็นล้าน ๆ ที่ลงทุนเฮงซวยแล้วเจ๊ง แทนที่ธนาคารจะทำหน้าที่รับผิดชอบรักษาเงินฝากและดอกเบี้ยงอกเงยของคุณทุกเม็ดทุกสตางค์ไว้ด้วยชีวิต มันกลับสมคบกับรัฐบาลยึดเงินคุณไปร้อยชักสิบดื้อ ๆ เลย นี่ ระบบการเงินทุนนิยมเสรีมันดีอย่างนี้ (มิลตัน ฟรีดแมนและเสรีนิยมใหม่จงเจริญ!) ต้องยอมรับว่าเป็นมาตรการแก้วิกฤตการเงินการธนาคารที่เฉียบขาด ฉับพลัน เบ็ดเสร็จเด็ดขาดเรียบร้อยในทีเดียวจริง ๆ

แน่นอนครับ ชาวไซปรัสไม่ได้กินแกลบ ใครจะยอม เงินฝากที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมาชั่วชีวิตของกู อยู่ดี ๆ มึงทำเจ๊งเองแล้วจะมาชุบมือเปิบหักเอาไปดื้อ ๆ ได้ไง ก็ต้องสู้ตายกันล่ะทีนี้ ดังนั้นก็ลุกฮือทั่วประเทศครับ นัดหยุดงาน นัดหยุดซื้อขาย ให้เศรษฐกิจตายคาที่ไปเลย พร้อมทั้งส่งสัญญาณให้ชาวบ้านร้านตลาดนานาชาติทั่วยุโรปที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารว่า พี่น้องเอ๊ย ดูตัวอย่างเราไว้นะ ปล่อยให้เกิดแบบนี้ที่นี่ได้ไง พี่น้องต้องลุกมาช่วยกันต่อต้านคนละไม้คนละมือ (solidarity) เพราะถ้ามันทำที่ไซปรัสนี่ได้ มันก็ทำที่อิตาลี สเปน โปรตุเกส ฯลฯ กับเงินของพี่น้องได้เหมือนกัน.... เท่านั้นเอง ดีลหักส่วยเงินฝาก ๑๐% ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า สภาไซปรัสไม่ยอมรับและแรงต้านใน EU ก็แรงมากจากมวลชนจนต้องล้มไป

ดีลใหม่ที่เบากว่าเก่าแต่โดยหลักการก็เหมือนกันคือ เล็งเอาเฉพาะบัญชีเงินฝากที่มียอดสูงกว่าแสนยูโร, แช่แข็งบัญชีเหล่านั้นไว้ห้ามเบิกจ่ายโยกย้ายเข้าออก, ให้รัฐบาลล้วงหยิบเงินฝากในบัญชีเหล่านั้นมาจ่ายหนี้โอบอุ้มระบบธนาคารได้ พร้อมทั้งปิดธนาคารเอกชน Laiki ใหญ่อันดับ ๒ ของไซปรัสทิ้ง (หนี้เน่าให้รัฐบาลไซปรัสแบกไป ส่วนสินทรัพย์ที่เหลือให้ธนาคารเอกชนอื่น ๆ มาแบ่งสันปันส่วนกันไปดำเนินการต่อ) ซึ่งแม้จะลดจำนวนผู้ฝากเงินที่เดือดร้อนรายย่อยลง แต่หลักการใหม่ที่ว่า “บัญชีเงินฝากของเอกชนในธนาคารบัดนี้ไม่ใช่เขตหวงห้ามศักดิ์สิทธิ์รัฐบาลล้วงลูกเข้าไปแตะต้องไม่ได้อีกต่อไป” แล้วก็ยังคงอยู่ เรียกว่าเป็นคอมมิวนิสต์กันกลาย ๆ ทีเดียว (ยกเว้นธนาคารเจ๊งกะบ๊งเฮงซวยเหล่านั้น ซึ่งรีดไถเงินผู้ฝากไปอุดรูรั่วตัวเองแล้ว ก็ยังเป็นของเอกชนอยู่ดี)

สรุปก็คือ ตรวจดูยอดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารของคุณหรือยัง? แน่ใจได้ไหมว่ามันจะปลอดภัยไม่ถูกรัฐบาลกับนายธนาคารปล้นกลางแดด? สู้เบิกเอามายัดที่นอนหรือฝังดินเก็บไม่ดีกว่าหรือ? เฮ้อ

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
มิจฉาทิฐิว่าด้วย“24 มิถุนาคือการรัฐประหารไม่แตกต่างจากครั้งอื่นๆ คือใช้อำนาจทหารล้มล้างการปกครองเช่นเดียวกัน” "ถ้าเอาวันประกาศเอกราช ก็เอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพจากพม่าสิ" และ "วันชาติคือวันรวมใจคนทั้งชาติ ในยุคสมัยผมใจพวกเราทุกดวงอยู่ที่ในหลวงก็ควรเอาวันที่ ๕ ธันวานี่ล่ะเหมาะที่สุด"
เกษียร เตชะพีระ
นายกฯ เทย์ยิบ เออร์โดกาน จากครอบครัวกรรมาชีพยากไร้ในอีสตันบูล สู่นักการเมืองประชาธิปไตยผู้ไต่เต้าขึ้นมาจากการเมืองท้องถิ่นในนครอีสตันบูล ต่อต้านอำนาจทหาร จนถึงผู้นำอำนาจนิยมที่รมประชาชนด้วยแก๊สน้ำตา เพื่อจะได้สร้างชอปปิ้ง มอลล์ขึ้นมาบนสวนสาธารณะ Gezi และ วิกฤตนี้จะจบอย่างไร?
เกษียร เตชะพีระ
...ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คำถามสำคัญคือ ใครบ้างที่คุณนับเป็นมนุษย์? เราควรจะแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติว่าจะปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคน ๆ หนึ่งบนฐานศาสนา ชาติพันธุ์ จุดยืนทางการเมืองของเขา หรือไม่อย่างไร? ถ้าหากไม่เกิดคดีเอกยุทธ ยังจะมีใครคิดรื้อฟื้นดำเนินคดีทนายสมชายให้จบจริงหรือไม่?
เกษียร เตชะพีระ
..จะเอานายกฯคนโน้นแทน ก็จะไปเรียกเอาร้องเอาจากในหลวงโดด ๆ โดยไม่ฟังเสียงและไม่เคารพอำนาจอธิปไตยของคนไทย ๗๐ ล้านคนเลยได้ มิฉะนั้น ก็จะมีคนเปลี่ยนหน้า ม็อบเปลี่ยนหน้ากาก ไชยวัฒน์บ้าง สนธิบ้าง ชูวัดบ้าง สุทธิบ้าง หน้ากากขาวเขียวเหลืองชมพูน้ำตาลโกโก้กรมท่าน้ำเงินฟ้าสารพัดสี เข้าแถวเรียงรายผลัดกันขอนายกฯพระราชทานคนใหม่คนแล้วคนเล่าเอากับองค์พระประมุขไม่เว้นแต่ละวัน แล้วจะให้พระองค์ทรงทำอย่างไร?
เกษียร เตชะพีระ
อุตสาหกรรมยาและเทคโนโลยีชีวภาพสั่นสะเทือน: ศาลสูงสหรัฐฯพิพากษาห้ามจดสิทธิบัตรเหนือยีนส์มนุษย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มันทำให้การที่ทุนนิยมจะยึดเอาพื้นที่ใหม่ในธรรมชาติระดับยีนส์และ DNA มาเป็นอาณานิคมใต้กรรมสิทธิ์ของตนมีอันสะดุดหยุดชะงักลงบ้าง
เกษียร เตชะพีระ
..นักเศรษฐศาสตร์มักไม่ค่อยชอบ “ล้วงกระเป๋า” แบบอัมมาร ด้วยเหตุผลว่าขาดประสิทธิภาพและเสียประโยชน์ส่วนรวม, ส่วนผมเห็นด้วยกับอาจารย์นิธิที่ท่านชอบ “ล้วงกระเป๋า” แบบนิธิ ด้วยเหตุผลว่าความเหลื่อมล้ำมีมากเหลือเกินในเศรษฐกิจไทยและโลก ควรต้องกระจายจากรวย --> จนให้เท่าเทียมเป็นธรรมยิ่งขึ้น
เกษียร เตชะพีระ
ประเด็นหัวใจของการสนทนาคือความสัมพันธ์อันซับซ้อนยอกย้อนระหว่าง คุณค่าทางสังคมวัฒนธรรม (socio-cultural values) กับ มูลค่า/ราคาทางเศรษฐกิจ (economic value/price) ขณะผู้ถามซักไซ้ไล่เลียงจากมุมมองและคำถามเชิงแนวคิดปรัชญาและสังคม ผู้ตอบอธิบายจากจุดยืนของความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ(ทรัพยากรมีจำกัด สังคมต้องตัดสินใจเลือกใช้ให้คุ้มค่าที่สุด), ความรู้เท่าทันต่อกรอบ/ขีดจำกัด/และพลังของความรู้ทางเศรษฐศาสตร์, การดำรงอยู่ของเงื่อนไขทางสังคม/การเมืองที่ล้อมกำกับเศรษฐกิจและ เศรษฐศาสตร์, และชะตาจำต้องเลือกของการตัดสินใจใช้ทรัพยากรจากจุดยืนเศรษฐศาสตร์
เกษียร เตชะพีระ
นิธิอ่านสถานการณ์ปัจจุบัน: การลงร่องของกระฎุมพีไทย → ขีดจำกัดของการเคลื่อนไหวมวลชนภายใต้กระฎุมพีเสรีนิยมปัจจุบัน
เกษียร เตชะพีระ
หากเอาความคิดทางสังคมการเมืองของ อ.เสกสรรค์ระยะหลัง (ช่วง พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา) ตามที่คุณพัชราภา ตันตราจินศึกษาค้นคว้าไว้ในหนังสือ ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (๒๕๕๖) มาวางไว้ในบริบทกระแสความคิดการเมืองปัจจุบันแล้วเปรียบเทียบกับแนวคิดของคู่ขัดแย้งหลักในสังคมการเมือง  ได้แก่ “แดง” (คือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติและแนวร่วม) กับ “เหลือง” (คือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วม) แล้ว ก็จะพบว่า...
เกษียร เตชะพีระ
ประสบการณ์ทำนองนี้ของไทยเราเคยมีก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ๒๕๔๐ เมื่อหมู่บ้านจัดสรร คอนโด อพาร์ทเมนต์ก่อสร้างขึ้นมาล้นเหลือเกินดีมานด์ของตลาดนับแสนหน่วย ต้องรออีกหลายปีกว่าจะขายหมด แต่นั่นมันหมู่บ้าน, คอนโด, อพาร์ทเมนต์ร้าง, ของจีนทุกวันนี้ไปไกลกว่านั้นมากคือเมืองทั้งเมืองที่สร้างขึ้นมาใหม่สำหรับ รองรับคนเป็นล้าน กลับร้าง รอคนมาอยู่ที่ไม่เคยมา อย่างที่เรียกว่า ghost cities หรือ เมืองผีหลอก...
เกษียร เตชะพีระ
“ก่อนอื่น ชื่อของฉันคือวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ ฉันใช้เวลาตลอดชีวิต ๔๖ ปีเป็นวิลเลม-อเล็กซานเดอร์หรืออเล็กซานเดอร์ ฉันว่ามันแปลกที่จะต้องเลิกใช้ชื่อนั้นเพราะฉันเป็นกษัตริย์ ในอีกแง่หนึ่งคนเราก็ไม่ใช่ตัวเลขนี่นะ” - มกุฎราชกุมารวิลเลม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์พระราชทานสัมภาษณ์ทางทีวีก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถบีอาทริกซ์
เกษียร เตชะพีระ
คิดอย่างนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำพระเจ้าข้า ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ....