๓ ขั้นตอน ของ ลัทธิช็อก ประชาชนถูกช็อกด้วยวิกฤต, ประชาชนถูกช็อกด้วยนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่ผลักดันผ่านออกมา และ ในความเป็นจริง ประชาชนผู้ต่อต้านคัดค้านนโยบายดังกล่าวยังมักจะถูกรัฐบาลกวาดล้างจับกุมไปทรมานด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาโดยเฉพาะการช็อกด้วยไฟฟ้า
หนังสือ The Shock Doctrine: The Rise of Disaster Capitalism
Naomi Klein นักเขียน นักหนังสือพิมพ์และนักกิจกรรมหญิงชื่อดังผู้ต่อต้านโลกาภิวัตน์แบบเสรีนิยมใหม่ชาวแคนาดาได้วิเคราะห์ไว้ในหนังสือขายดีเรื่อง The Shock Doctrine: The Rise of Disaster Capitalism (ค.ศ. ๒๐๐๗) ว่าหลักการของมิลตัน ฟรีดแมนในการทำการตลาดแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ในแวดวงการเมืองได้แก่ the Shock Doctrine หรือลัทธิช็อก หมายถึงการฉวยใช้วิกฤตผลักดันนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่บรรษัทเอกชนแต่ประชาชนไม่นิยมให้ผ่านออกมาเพื่อรัฐบาลนำไปใช้ในทางปฏิบัติ วิกฤตนั้นอาจเป็นทางเศรษฐกิจ, การเมือง, สงคราม, ภัยธรรมชาติ ฯลฯ
Naomi Klein
การที่เธอเรียกมันว่า “ลัทธิช็อก” เพราะปกติมันจะประกอบไปด้วยอาการที่ประชาชนถูกช็อก ๓ ขั้นตอน ได้แก่
๑) ประชาชนถูกช็อกด้วยวิกฤต
๒) ประชาชนถูกช็อกด้วยนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่ผลักดันผ่านออกมา
๓) ในความเป็นจริง ประชาชนผู้ต่อต้านคัดค้านนโยบายดังกล่าวยังมักจะถูกรัฐบาลกวาดล้างจับกุมไปทรมานด้วยวิธีการต่าง ๆ นานาโดยเฉพาะการช็อกด้วยไฟฟ้า
ดังที่มิลตัน ฟรีดแมนเองสาธยายแนวทรรศนะ “ลัทธิช็อก” ดังกล่าวไว้ในงานเขียนชิ้นต่าง ๆ ของเขาว่า: ‐
“มีแต่วิกฤตเท่านั้น – ไม่ว่าวิกฤตจริงหรือถูกเห็นเป็นวิกฤตก็ตามที – ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้
“เมื่อวิกฤตที่ว่านั้นเกิดขึ้น ปฏิบัติการที่คนเรากระทำจะขึ้นกับความคิดที่เรียงรายล้อมรอบอยู่
“ผมเชื่อว่านั่นแหละคือหน้าที่พื้นฐานของเรากล่าวคือ: พัฒนาทางเลือกต่างหากไปจากนโยบายที่ดำรงอยู่ ประคับประคองมันให้ยืนยงเผื่อไว้จนกว่าสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทางการเมืองกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทางการเมือง”
(คำนำ, Capitalism and Freedom, ค.ศ. ๑๙๘๒)
“รัฐบาลใหม่มีเวลาราว ๖ – ๙ เดือนเพื่อบรรลุการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่
“ถ้ารัฐบาลไม่ช่วงชิงโอกาสกระทำการอย่างเด็ดขาดในช่วงที่ว่านั้น ก็จะไม่มีโอกาสอย่างนั้นอีกเลย”
(Tyranny of the Status Quo, ค.ศ. ๑๙๘๔)
กล่าวโดยสรุป มิลตัน ฟรีดแมนเสนอว่าพลันที่เกิดวิกฤต ผู้นำที่สมาทานแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่จำต้องกระทำการอย่างเด็ดขาดฉับไว ยัดเยียดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและมิอาจเปลี่ยนกลับคืนได้ลงไปก่อนที่สังคมซึ่งย่อยยับจากวิกฤตจะลื่นไถลกลับสู่ “ทรราชแห่งสถานะเดิม” อีก
นาโอมิ ไคลน์ ได้ประมวลกรณีการฉวยใช้วิกฤตที่ทำให้ประชาชนอยู่ในอาการช็อกมาผลักดันยัดเยียดแนวนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ในประเทศต่าง ๆ ไว้ พอจะเรียบเรียงเป็นตารางได้ข้างล่างนี้ (ดูภาพประกอบ)
ในทางกลับกัน หากสังคมไม่อยู่ในภาวะช็อก ถึงแม้ผู้นำรัฐบาลจะพยายามผลักดันยัดเยียดแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ที่เอื้อประโยชน์แก่บรรษัทเอกชนแต่ประชาชนไม่นิยมมาให้ ก็มักไม่สำเร็จเต็มที่ตามเป้าหมาย อาทิ ในสหรัฐอเมริกา เมื่อโรนัลด์ เรแกนชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีปี ค.ศ. ๑๙๘๑ หรือในฝรั่งเศสเมื่อนิโกลาส ซาร์โคซี ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีปี ค.ศ. ๒๐๐๗ ปรากฏว่าแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่ของทั้งสองเจอแรงต่อต้านจากประชาชนจนต้องผ่อนเพลาลง
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ คัดมาจาก เกษียร เตชะพีระ, เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่: ความรุ่งเรืองและล่มจมของเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์, openbooks, 2555
บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ
เกษียร เตชะพีระ
บทกวีไว้อาลัยการจากไปของ 'ไม้หนึ่ง ก.กุนที' ที่ถูกยิงเสียชีวิตวันนี้ "เมื่อกวีจากไปไร้กวี.."
เกษียร เตชะพีระ
ที่คุณสุเทพ ณ กปปส.คัดค้านการเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ยืนกรานว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็มีนัยการเมืองสำคัญตรงนี้ คือต้องทำแท้ง “อำนาจอธิปไตย” ของปวงชนชาวไทยให้จงได้ ไม่ให้มันได้คลอดได้ผุดได้เกิดผ่านกระบวนการเลือกตั้งมาลืมตาดูโลก ทำแท้ง “อำนาจอธิปไตย” ของปวงชนชาวไทยได้สำเร็จแล้ว ก็จะได้เคลมตนเองเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” แทนนั่นปะไร
ด้านกลับการเมือง: ความหดหู่ห่อเหี่ยวในความฮึกห้าวเหิมหาญของขบวนการแอนตี้เลือกตั้ง ต่อต้านประชาธิปไตย
เกษียร เตชะพีระ
พลังฮึกห้าวเหิมหาญของม็อบและขบวนการใดที่ก่อตัวขึ้นโดยกัดกร่อนบ่อนทำลายเหล่าสถาบันการเมืองของชาติให้เสื่อมทรุดถดถอยราบคาบลงไป ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่สร้างสรรค์อะไรขึ้นมา มีแต่พลังทำลาย ผลได้ของการเคลื่อนไหว ไม่ยั่งยืน เมื่อฝุ่นหายตลบแล้วก็จะพบว่ามีแต่ซากปรักหักพังแห่งสถาบันการเมืองของชาติทั้งชาติ โดยไม่ได้ดอกผลการต่อสู้อะไรจริงจังยั่งยืนขึ้นมาเลย
เกษียร เตชะพีระ
ข้อสังเกตหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพรบ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทเพื่อสร้างและปรับปรุงระบบลอจิสติกส์ของประเทศใหม่ ผิดรัฐธรรมนูญ
เกษียร เตชะพีระ
ผมอ่านข้อเสนอที่นายกแพทยสภาและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขแถลงล่าสุดแล้ว มีความเห็นว่ามัน "ไม่เป็นกลาง" ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้...
เกษียร เตชะพีระ
วิธีการที่ผิด ไม่สามารถนำไปสู่เป้าหมายที่ถูกต้องดีงามได้ และคนอื่นเป็นเจ้าของประเทศไทยเหมือนกันเท่ากับผมและคุณ เท่ากันเป๊ะ