Skip to main content
 
เกษียร เตชะพีระ
 
พูดอย่างย่นย่อที่สุด ปมปัญหาว่าด้วย “รัฏฐาธิปัตย์” ไทยนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมาคือช่วงตกห่างระหว่าง “รัฏฐาธิปัตย์ผู้มีประสิทธิผล” (effective sovereign อันได้แก่ผู้กุมอำนาจอธิปไตยได้จริงในช่วงจังหวะสถานการณ์หนึ่ง ๆ) กับ “รัฏฐาธิปัตย์ผู้ชอบธรรม” (legitimate sovereign อันได้แก่ปวงชนชาวไทย), เงื่อนไขของช่วงตกห่างดังกล่าวคือจินตนากรรมเรื่องชาติ, ทำให้ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของรัฏฐาธิปัตย์ไทยเต็มไปด้วยการทำให้เงียบ, การพูดแทน, การเบียดขับกีดกันออกไปซึ่งประชาชนชายขอบผู้ออกเสียงเลือกตั้งในปัจจุบัน
 
การประกาศตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ของคุณสุเทพ ณ กปปส. (in all seriousness but may turn out to be merely เชิญยิ้ม.....อันที่จริงก่อนหน้านี้ไม่นานก็มีการประกาศตัวยึดอำนาจ อวดอ้างแสดงตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ “เชิญยิ้ม” ของพลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ ณ กปท. กลางถนนราชดำเนินมาแล้ว) เกิดขึ้นก็ด้วยเงื่อนไขเชิงประวัติศาสตร์และโครงสร้างข้างต้นนี้
 
กล่าวในทางหลักการ นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ อำนาจอธิปไตย (sovereignty) ก็เปลี่ยนมือผู้เป็นเจ้าของจากพระมหากษัตริย์เป็นปวงชนชาวไทยแล้ว และไม่อาจหวนกลับไปอีกในเชิงโครงสร้างทางการอย่างยาวนาน 
 
ปัญหาของผู้เคยเป็นรัฏฐาธิปัตย์ในระบอบเดิม (ancien regime) จึงเป็นว่าจะบริหารจัดการการที่อำนาจอธิปไตยหลุดมือสูญเสียไปแล้วอย่างไร จึงจะปกป้องรักษาพื้นที่อำนาจและผลประโยชน์สำคัญยิ่งของตนและเครือข่ายไว้ได้ภายใต้ระบอบใหม่ซึ่งอำนาจอธิปไตยตกเป็นของ “คนแปลกหน้า” นอกแวดวงโครงสร้างอำนาจเดิม?
 
คำตอบที่ค้นพบในประวัติศาสตร์คือการโต้อภิวัฒน์ทางการเมืองวัฒนธรรมเพื่อสถาปนาพระราชอำนาจนำขึ้นทดแทนอำนาจอธิปไตยที่สูญเสียไป (A cultural political counter-revolution to establish royal hegemony in lieu of the lost sovereign power) ซึ่งมาปรากฏเป็นจริงในช่วงสมัยรัชกาลปัจจุบันโดยเฉพาะหลัง ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นต้นมา (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลแย้งว่าเป็นจริงในช่วงพุทธทศวรรษที่ ๒๕๓๐) โดยเฉพาะหลังขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธของพคท.ล่มสลาย, กองทัพกลายเป็นทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, และคนชั้นกลางกระฎุมพีกำพร้าไร้รากพบผู้ให้กำเนิดทางการเมืองวัฒนธรรมของตนในราชาชาตินิยม
 
พูดในภาษา Ben Anderson ช่วงตกห่างระหว่าง effective sovereign vs. legitimate sovereign เกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์หลัง ๒๔๗๕ คือหลุดจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ไปไม่ถึงรัฐชาติประชาธิปไตยสมัยใหม่จริง ค้างเติ่งอยู่แค่ระบอบรัฐราชการหรืออำมาตยาธิปไตย (Bureaucratic Polity) เนื่องจากการขาดหายไปของขบวนการชาตินิยมของประชาชน (popular nationalism) ในประวัติศาสตร์ ซึ่งเพิ่งปรากฏเป็นตัวตนจริงขึ้นมาในการลุกฮือของนักศึกษาประชาชนเมื่อ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ที่ Ben เห็นว่าคือ “การปฏิวัติกระฎุมพี ค.ศ. ๑๗๘๙ ของไทย” 
 
อะไรคือปัญหา “ชาติ” กับ ๔๐ ปีของการถูกทำให้เงียบ, พูดแทนและเบียดขับกีดกันออกไปซึ่งประชาชนชายขอบ?
 
มีปัญหาความสัมพันธ์อันยอกย้อนซับซ้อนอยู่ระหว่าง “ชาติ” กับอำนาจอธิปไตยของปวงชน/ประชาธิปไตยที่จำเป็นต้องอธิบายสักเล็กน้อย
 
ในโลกการเมืองสมัยใหม่ ประชาชนผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยย่อมไม่ใช่ประชาชนอะไรที่ไหนก็ได้ แต่ต้องมีหน่วยชุมชนการเมืองที่สังกัด มีพรมแดนรั้วรอบขอบชิดว่า “ประชาชนผู้ทรงอำนาจอธิปไตย” เริ่มที่ไหน, สิ้นสุดที่ไหน, นับใครบ้าง, ไม่นับใครบ้าง? ซึ่งหน่วยสังกัดที่เป็นพื้นฐานของระบบรัฐสมัยใหม่ทั่วโลกก็คือ “ชาติ” หรือ “รัฐชาติ” 
 
แต่ก็ดังที่ทราบกันอยู่ว่าในหน่วยชุมชนรวมหมู่ใหญ่กว่าหมู่บ้านที่พบปะสัมพันธ์รู้จักหน้าค่าตาทั่วถึงกันหมดขึ้นมา การรวมตัวเป็นชุมชนต้องผ่านจินตนากรรม ชาติเอาเข้าจริงจึงเป็นชุมชนในจินตนากรรม (Ben Anderson - nations as imagined communities) ตรงนี้เปิดช่องโหว่ช่องว่างหรือพื้นที่ในการขยับหมากเคลื่อนไหวให้สามารถจินตนากรรม “ชาติ” ไปได้ต่าง ๆ นานาในลักษณะที่มันหลุดลอย กีดกัน ผลักไสประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งไปอยู่ชายขอบได้
ที่สำคัญคือการจินตนากรรมชุมชนชาติไทยแบบที่อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริเรียกว่า “เสนาชาตินิยม-อำมาตยาชาตินิยม” กล่าวคือทหารและข้าราชการอ้างตนเป็นตัวแทน “ชาติ” เข้าเคลมอำนาจอธิปไตยโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน หากผ่านการปฏิวัติรัฐประหารแทน โดยอธิบายว่า “ชาติ” ที่ตนเป็นตัวแทนนั้นกว้างไกลออกไปกว่า “ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งในปัจจุบัน” เพราะ “ชาติ” ย่อมต้องจินตนากรรมกว้างรับนับรวมเอา “บรรพบุรุษไทยในอดีต” (ผีไทยที่ตายไปแล้ว) และ “คนไทยในอนาคต” ”(วิญญาณไทยที่จะมาจุติ) เข้าไว้ด้วย จากนั้นก็อ้างผีและวิญญาณไทยเบียดขับผลักไสกีดกัน “คนไทยผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่มีชีวิตในปัจจุบัน” ไปอยู่ชายขอบของอำนาจอธิปไตย
 
ส่วน “ราชาชาตินิยม-ประชาธิปไตย” ดังข้อเสนอของธงชัย วินิจจะกูล (สรุปรวมความคือ ร.๕ ราชากู้ชาติ + ร.๗ กษัตริย์ประชาธิปไตย = ร.๙ พระผู้ทรงกู้ชาติจากคอมมิวนิสต์และทุนโลกาภิวัตน์ อีกทั้งทรงรักษาประชาธิปไตยจากเผด็จการฝ่ายซ้ายและขวา) ก็ทำให้ประชาชนซึ่งกว้างใหญ่หลากหลายคลุมเครือสามารถสำนึกสำเหนียกหมายอัตตา “ชาติไทย-ความเป็นไทย” รวมหมู่ของตนได้ง่ายขึ้นผ่านบุคลาทิษฐานซึ่งรวมศูนย์อยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ ในฐานะประมุขรัฐและสัญลักษณ์แห่งชาติในการใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน
 
ความคลุมเครือเรื้อรังของ “ราชาชาตินิยม-ประชาธิปไตย” ระหว่างผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยกับผู้ใช้อำนาจแทน (แสดงออกในมาตราหลักของรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยว่ามันเป็น “เป็นของ” หรือ “มาจาก” ปวงชนชาวไทยกันแน่?.....ซึ่งนำไปสู้ข้อตีความพิสดารของ อ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณว่าพระมหากษัตริย์กับประชาชนถือครองอำนาจอธิปไตยคู่กันในภาวะปกติ และพระมหากษัตริย์ถือครองอำนาจอธิปไตยฝ่ายเดียวในภาวะรัฐประหาร) ประการหนึ่ง, เมื่อกอปรกับการตีความ “ชาติ” กว้างไกลไปกว่า “ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งปัจจุบัน” ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นอีกประการหนึ่ง, ก็ทำให้เป็นไปได้ที่จะจินตนากรรม “ชาติ” ในลักษณะกีดกันผลักไสให้หลุดลอยออกไปจากประชาชน
 
ประชาชนที่จินตนากรรมตัวเองเป็นชาติเดียวกันหรือ “ประชาชาติ” จะออกเสียงแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองการปกครองของตนให้ปรากฏได้ยินได้ฟังกับหูกับตาอย่างไร? นี่เป็นปัญหาปรัชญาการเมืองคลาสสิกที่ทำให้มหาชนรัฐ “ประชาธิปไตยทางตรง” ของรุสโซในหนังสือสัญญาประชาคมมีขีดจำกัดทางขนาดในโลกปัจจุบัน ทางเลือกมีไม่มากที่เราจะได้ยินเสียงนั้น กล่าวคือ 
 
๑) ประชุมคน ๖๔.๘ ล้านคนพร้อมเพรียงกันในที่ประชุมมโหฬารสักแห่ง เปิดอภิปรายอย่างกว้างขวางทั่วถึง แล้วลงมติ.... ความเป็นไปไม่ได้ของการณ์นี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัด แม้จะคิดถึงการใช้ IT, Computers, IPad, Wifi, 3G, 4G มาช่วย digital democracy ก็ตาม 
 
๒) สำรวจ poll สารพัดสำนักซึ่งเราก็ทำกันสม่ำเสมอ แต่ก็นั่นแหละ มันจะถูกทักท้วงได้เสมอว่าผล poll ที่ได้แทนตนมติมหาชนที่แท้จริงได้เที่ยงตรงเที่ยงแท้เพียงใด?
 
๓) หันไปใช้ “ประชาธิปไตยแบบแทนตน” ผ่านการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป
ในความหมายนี้ “การเลือกตั้ง” จึงทำหน้าที่สำคัญน่าพิศวงในชุมชนชาติที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย (อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน) เป็นช่องทางเปล่งเสียงของประชาชนให้ได้ยินออกมา มิฉะนั้นก็จะไม่ได้ยินได้ฟังกัน กล่าวคือ....
 
เมื่อพวกเราประชาชนพลเมืองแต่ละคนแสดงตนเข้าไปโหวตในคูหาเลือกตั้งนั้น เอกลักษณ์หลากหลายนานัปการของเราไม่ว่าเพศ, ชาติพันธุ์, อายุ, ศาสนา, อุดมการณ์การเมือง, สมาชิกภาพพรรคการเมือง, ระดับการศึกษา, รสนิยมทางอาหาร, แฟชั่นการแต่งกาย, เชียร์ทีมฟุตบอลใด, แฟนคลับนักร้องดาราคนไหน ฯลฯ (เท่าที่เข้าเกณฑ์พื้นฐานเช่นอายุถึง ๑๘ ปี, ไม่ได้ติดคุกอยู่, ไม่ได้เป็นนักบวช, ไม่ได้วิกลจริตฟั่นเฟือน ฯลฯ) ไม่เกี่ยวข้องสำคัญเลย ไม่ถูกนึกถึงและนับเข้ามารวมเลย เราได้เข้าไปโหวตเพียงเพราะคุณสมบัติประการเดียวคือเราเป็นพลเมืองของรัฐชาติไทยถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น และเราแต่ละคนได้โหวตก็เพียงเพราะเหตุนั้นมันเหมือนเป็นการถอดประกอบเอกลักษณ์ทุกอย่างออกหมดจนแทบเปล่าเปลือย เหลือแต่เพียง “ความเป็นพลเมืองไทย” ไม่เลือกหน้าด้วน ๆ (individuals) เท่านั้นเอง และเราก็ถูกสมมุติคาดหมายให้ใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วยสถานภาพโดด ๆ นั้น
 
แน่นอน ในทางเป็นจริง เราพกพาเอาเอกลักษณ์อันซับซ้อนหลากหลายของเราเข้าคูหาไปโหวตด้วยทั้งหมดนั่นแหละ และเราก็เลือกตั้งผู้แทนของเราด้วยข้อพินิจคำนึงประกอบจากอคติประดามีทั้งหมดนั้น แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม พอเราโหวตในฐานะ individual citizens พรั่งพร้อมด้วยอคติจากเอกลักษณ์ประดามีของเรา พอมันหลุดผ่านหีบบัตรเลือกตั้งเข้าไปคละเคล้าผสมปนเปกับบัตรเลือกตั้งแสดงเจตจำนงของเพื่อนพลเมืองปัจเจกคนอื่นทั้งหมด แล้วนับคะแนนรวม ผู้แทนที่ได้ชัยชนะเสียงข้างมากเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนเราและกลายเป็นผลลัพธ์บั้นปลายของการโหวตรวมหมู่ของเรา กลับไม่ใช่ตัวแทนของเราแต่ละคนเลย เราเคลมเขาเป็นของเราคนเดียวหรือแม้แต่เขตเลือกตั้งเดียวจังหวัดเดียวไม่ได้เลยในทางหลักการ พวกเขากลายเป็นตัวแทนของ “ชาติ” ไปเสียฉิบ และถูกคาดหมายให้ออกเสียงลงมติใช้อำนาจอธิปไตยที่เรามอบหมายไปเพื่อประโยชน์ของชาติ ในนามของชาติ เป็นตัวแทนชาติ
 
นั่นแปลว่าอะไร? นั่นแปลว่า somehow ในท่อที่ผ่านจากหีบบัตรเลือกตั้ง ไปสู่การนับคะแนนทั้งหมดรวมกัน แล้วประกาศผลนั้น “ชาติ” จุติขึ้นในกระบวนการนั้นเอง และได้ส่งเสียงดัง ๆ ให้เราได้ยินได้ฟังเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของ “ประชาชาติ” ในการใช้อำนาจอธิปไตยผ่านกระบวนการเลือกตั้งนั้นเอง 
 
ควรกล่าวไว้ด้วยว่าอาจารย์ปฤณ เทพนรินทร์ได้วิเคราะห์เสนอไว้อย่างแหลมคมแยบคายในวิทยานิพนธ์ดีเด่นของเขาว่าระบบเลือกตั้งใหม่แบบบัญชีรายชื่อพรรค party list ที่ถือทั่วทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันซึ่งเริ่มไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ได้สร้างเงื่อนไขใหม่ในการเมืองไทยให้เกิดขึ้น กล่าวคือ โดยผ่านการเลือกตั้ง party list พรรคที่ชนะได้เสียงข้างมากสามารถเคลมได้เป็นครั้งแรกว่าตนเป็นตัวแทนเจตจำนงทางการเมืองของคนไทยทั้งชาติในลักษณะที่การเลือกตั้งแบบเขตเลือกตั้งย่อย ๆ แต่เดิมที่ผ่านมาไม่เปิดช่องให้เห็นชัดโดยตรงมาก่อน 
 
การเคลมนี้ส่งผลสะเทือนอย่างยิ่งในทางความชอบธรรมทางการเมือง เพราะมันทำให้ “ประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้งที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน” สามารถแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของตัวออกมาเป็นตัวเป็นตนประจักษ์ชัดเจนว่านี่คือแนวนโยบายและตัวแทนที่พวกเขาต้องการให้ไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนตน (เทียบกับผีไทย, วิญญาณไทย, ชาติไทยแบบอื่น ๆ) หรือกล่าวอีกในหนึ่งการเลือกตั้งระบบ party list ได้ทำให้ effective sovereign เข้าถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ legitimate sovereign ผ่านการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในการเมืองไทย
 
และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำไมมีความพยายามในสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดคมช.แต่งตั้งที่จะตราหน้าว่าการเลือกตั้งแบบ party list ที่ถือทั่วประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันไปกันไม่ได้กับระบอบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งไม่ใช่ระบอบประธานาธิบดี (จรัญ ภักดีธนากุล) และลดทอนมันลงมาทั้งในแง่จำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (เหลือ ๘๐ จากเดิม ๑๐๐ คน) และแบ่งแยกเขตเลือกตั้งทั่วทั้งประเทศให้แตกย่อยออกไปเป็น ๘ กลุ่มจังหวัดแทน ก่อนที่จะแก้ไขเขตเลือกตั้งกลับเป็นทั่วทั้งประเทศแบบเดิมและเพิ่มจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อเป็น ๑๒๕ คนในปี พ.ศ. ๒๕๕๔
 
ดังนั้น ไม่มีเลือกตั้ง ประชาชาติก็ไม่มีเสียง ออกเสียงให้ได้ยินได้ฟังไม่ได้ว่าประชาชนในชาติต้องการใช้อำนาจอธิปไตยไปทำอะไร พูดอีกอย่างถ้าคุณขัดขวางทำลายการเลือกตั้ง คุณก็กำลังทำแท้ง “อำนาจอธิปไตย” ของชาติและประชาชนนั่นเอง 
 
ที่คุณสุเทพ ณ กปปส.คัดค้านการเลือกตั้งก่อนปฏิรูป ยืนกรานว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็มีนัยการเมืองสำคัญตรงนี้ คือต้องทำแท้ง “อำนาจอธิปไตย” ของปวงชนชาวไทยให้จงได้ ไม่ให้มันได้คลอดได้ผุดได้เกิดผ่านกระบวนการเลือกตั้งมาลืมตาดูโลก ทำแท้ง “อำนาจอธิปไตย” ของปวงชนชาวไทยได้สำเร็จแล้ว ก็จะได้เคลมตนเองเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” แทนนั่นปะไร!
 
หมายเหตุ : บทความนี้นำมาจาก เฟซบุ๊ก 'Kasian Tejapira' ซึ่งเผยแพร่เมื่อ 7 เม.ย.2557
 

บล็อกของ เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ
มิจฉาทิฐิว่าด้วย“24 มิถุนาคือการรัฐประหารไม่แตกต่างจากครั้งอื่นๆ คือใช้อำนาจทหารล้มล้างการปกครองเช่นเดียวกัน” "ถ้าเอาวันประกาศเอกราช ก็เอาวันที่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพจากพม่าสิ" และ "วันชาติคือวันรวมใจคนทั้งชาติ ในยุคสมัยผมใจพวกเราทุกดวงอยู่ที่ในหลวงก็ควรเอาวันที่ ๕ ธันวานี่ล่ะเหมาะที่สุด"
เกษียร เตชะพีระ
นายกฯ เทย์ยิบ เออร์โดกาน จากครอบครัวกรรมาชีพยากไร้ในอีสตันบูล สู่นักการเมืองประชาธิปไตยผู้ไต่เต้าขึ้นมาจากการเมืองท้องถิ่นในนครอีสตันบูล ต่อต้านอำนาจทหาร จนถึงผู้นำอำนาจนิยมที่รมประชาชนด้วยแก๊สน้ำตา เพื่อจะได้สร้างชอปปิ้ง มอลล์ขึ้นมาบนสวนสาธารณะ Gezi และ วิกฤตนี้จะจบอย่างไร?
เกษียร เตชะพีระ
...ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คำถามสำคัญคือ ใครบ้างที่คุณนับเป็นมนุษย์? เราควรจะแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติว่าจะปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคน ๆ หนึ่งบนฐานศาสนา ชาติพันธุ์ จุดยืนทางการเมืองของเขา หรือไม่อย่างไร? ถ้าหากไม่เกิดคดีเอกยุทธ ยังจะมีใครคิดรื้อฟื้นดำเนินคดีทนายสมชายให้จบจริงหรือไม่?
เกษียร เตชะพีระ
..จะเอานายกฯคนโน้นแทน ก็จะไปเรียกเอาร้องเอาจากในหลวงโดด ๆ โดยไม่ฟังเสียงและไม่เคารพอำนาจอธิปไตยของคนไทย ๗๐ ล้านคนเลยได้ มิฉะนั้น ก็จะมีคนเปลี่ยนหน้า ม็อบเปลี่ยนหน้ากาก ไชยวัฒน์บ้าง สนธิบ้าง ชูวัดบ้าง สุทธิบ้าง หน้ากากขาวเขียวเหลืองชมพูน้ำตาลโกโก้กรมท่าน้ำเงินฟ้าสารพัดสี เข้าแถวเรียงรายผลัดกันขอนายกฯพระราชทานคนใหม่คนแล้วคนเล่าเอากับองค์พระประมุขไม่เว้นแต่ละวัน แล้วจะให้พระองค์ทรงทำอย่างไร?
เกษียร เตชะพีระ
อุตสาหกรรมยาและเทคโนโลยีชีวภาพสั่นสะเทือน: ศาลสูงสหรัฐฯพิพากษาห้ามจดสิทธิบัตรเหนือยีนส์มนุษย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มันทำให้การที่ทุนนิยมจะยึดเอาพื้นที่ใหม่ในธรรมชาติระดับยีนส์และ DNA มาเป็นอาณานิคมใต้กรรมสิทธิ์ของตนมีอันสะดุดหยุดชะงักลงบ้าง
เกษียร เตชะพีระ
..นักเศรษฐศาสตร์มักไม่ค่อยชอบ “ล้วงกระเป๋า” แบบอัมมาร ด้วยเหตุผลว่าขาดประสิทธิภาพและเสียประโยชน์ส่วนรวม, ส่วนผมเห็นด้วยกับอาจารย์นิธิที่ท่านชอบ “ล้วงกระเป๋า” แบบนิธิ ด้วยเหตุผลว่าความเหลื่อมล้ำมีมากเหลือเกินในเศรษฐกิจไทยและโลก ควรต้องกระจายจากรวย --> จนให้เท่าเทียมเป็นธรรมยิ่งขึ้น
เกษียร เตชะพีระ
ประเด็นหัวใจของการสนทนาคือความสัมพันธ์อันซับซ้อนยอกย้อนระหว่าง คุณค่าทางสังคมวัฒนธรรม (socio-cultural values) กับ มูลค่า/ราคาทางเศรษฐกิจ (economic value/price) ขณะผู้ถามซักไซ้ไล่เลียงจากมุมมองและคำถามเชิงแนวคิดปรัชญาและสังคม ผู้ตอบอธิบายจากจุดยืนของความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ(ทรัพยากรมีจำกัด สังคมต้องตัดสินใจเลือกใช้ให้คุ้มค่าที่สุด), ความรู้เท่าทันต่อกรอบ/ขีดจำกัด/และพลังของความรู้ทางเศรษฐศาสตร์, การดำรงอยู่ของเงื่อนไขทางสังคม/การเมืองที่ล้อมกำกับเศรษฐกิจและ เศรษฐศาสตร์, และชะตาจำต้องเลือกของการตัดสินใจใช้ทรัพยากรจากจุดยืนเศรษฐศาสตร์
เกษียร เตชะพีระ
นิธิอ่านสถานการณ์ปัจจุบัน: การลงร่องของกระฎุมพีไทย → ขีดจำกัดของการเคลื่อนไหวมวลชนภายใต้กระฎุมพีเสรีนิยมปัจจุบัน
เกษียร เตชะพีระ
หากเอาความคิดทางสังคมการเมืองของ อ.เสกสรรค์ระยะหลัง (ช่วง พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา) ตามที่คุณพัชราภา ตันตราจินศึกษาค้นคว้าไว้ในหนังสือ ความคิดทางสังคมการเมืองของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล (๒๕๕๖) มาวางไว้ในบริบทกระแสความคิดการเมืองปัจจุบันแล้วเปรียบเทียบกับแนวคิดของคู่ขัดแย้งหลักในสังคมการเมือง  ได้แก่ “แดง” (คือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติและแนวร่วม) กับ “เหลือง” (คือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วม) แล้ว ก็จะพบว่า...
เกษียร เตชะพีระ
ประสบการณ์ทำนองนี้ของไทยเราเคยมีก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง ๒๕๔๐ เมื่อหมู่บ้านจัดสรร คอนโด อพาร์ทเมนต์ก่อสร้างขึ้นมาล้นเหลือเกินดีมานด์ของตลาดนับแสนหน่วย ต้องรออีกหลายปีกว่าจะขายหมด แต่นั่นมันหมู่บ้าน, คอนโด, อพาร์ทเมนต์ร้าง, ของจีนทุกวันนี้ไปไกลกว่านั้นมากคือเมืองทั้งเมืองที่สร้างขึ้นมาใหม่สำหรับ รองรับคนเป็นล้าน กลับร้าง รอคนมาอยู่ที่ไม่เคยมา อย่างที่เรียกว่า ghost cities หรือ เมืองผีหลอก...
เกษียร เตชะพีระ
“ก่อนอื่น ชื่อของฉันคือวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ ฉันใช้เวลาตลอดชีวิต ๔๖ ปีเป็นวิลเลม-อเล็กซานเดอร์หรืออเล็กซานเดอร์ ฉันว่ามันแปลกที่จะต้องเลิกใช้ชื่อนั้นเพราะฉันเป็นกษัตริย์ ในอีกแง่หนึ่งคนเราก็ไม่ใช่ตัวเลขนี่นะ” - มกุฎราชกุมารวิลเลม-อเล็กซานเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์พระราชทานสัมภาษณ์ทางทีวีก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสืบต่อจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถบีอาทริกซ์
เกษียร เตชะพีระ
คิดอย่างนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำพระเจ้าข้า ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ....