ต้นเดือนเมษายน – เทศกาลปีใหม่เมืองหรืองานสงกรานต์ใกล้เข้ามาถึงในอีกไม่กี่วัน วันหนึ่งพี่เหน่งโทรศัพท์มาหาผมเพื่อชวนผมไปเยี่ยมรุ่นน้องคนหนึ่งที่คุกแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ผมไม่ปฏิเสธ และได้ตระเตรียมข้าวของต่างๆ เพื่อไปเยี่ยมรุ่นน้อง
พี่เหน่งไม่บอกว่าใครอยู่ในคุก เพราะอยากให้ผมได้รู้ด้วยตัวเองว่ามาหาใคร ไม่กี่นานพี่เหน่งก็มารับผมที่บ้านพัก แล้วรีบบึ่งรถไปยังจุดหมายโดยเร็ว
แดดร้อนแผดเผาไปทั่วใบหน้า รถชอบเปอร์คันโตของพี่เหน่งพาเราสองคนมาถึงคุกในไม่กี่อึดใจ พี่เหน่งเดินบ่ายหน้าเข้าไปติดต่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เพื่อขอเยี่ยมผู้ต้องขัง ส่วนผมนั่งรอที่เก้าอี้ของคนที่มาเยี่ยมญาติภายในคุก
พี่เหน่งเดินมาที่เก้าอี้ “คงอีกซักพักว่ะ ถึงจะได้เยี่ยม คนเยอะมาก ไม่รู้ว่าจะเจอมันมั้ย”
“น่าจะไม่นานนะครับ ว่าแต่ใครอยู่ในนี้เหรอพี่” ผมตอบและถามด้วยความสงสัย
“อ๋อ ก็ไอ้ก้องไง จำมันได้มั้ย มันโดนคดีปืน โดนจับข้อหามีปืนและทำร้ายร่างกายคนอื่น ไอ้คู่ กรณียังไม่ออกโรงบานเลย” พี่เหน่งเล่าที่มาที่ไป
“พี่ไปหามันที่โรงพักแล้วแต่ไม่ทัน มันถูกส่งมาที่คอกนี่ก่อนนะสิ เลยต้องให้แกมาเป็นเพื่อนด้วย” ชายวัยกลางคนเล่าเสริม
เมื่อมาถึงตรงนี้ ผมก็พอเข้าใจแล้วว่า มาเยี่ยมใคร
พี่ก้อง – ชายหนุ่มที่เคยมีเรื่องกับคนต่างถิ่นจนหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวต่างเรียกพวกเขาว่าแก๊ง ผมเองก็เคยมีโอกาสได้เจอพี่ก้อง ไม่กี่ครั้ง แต่ทุกครั้งที่เจอกัน เขามักจะเป็นคนจ่ายเงินค่าอาหารเสมอ และยังถามไถ่ว่าเมาขนาดไหน เพื่อเขาจะได้ไปส่งที่บ้านพัก
พวกเราสองคนนั่งรอคิวเพื่อนที่จะเข้าไปพบพี่เก่งที่ด้านในที่เยี่ยมญาติ
ไม่กี่นาทีหลังจากที่นั่งรอ เสียงประกาศของโฆษกก็เรียกให้ญาติของผู้ต้องขังแต่ละคนเข้าพบ และหนึ่งในนั่นก็รวมเราสองคนด้วย
พวกเราเข้ามาในส่วนของพื้นที่เยี่ยมญาติซึ่งจัดแจงเป็นกรงลวดกั้นระหว่างผู้ต้องขังกับคนที่มาเยี่ยม, ผู้ต้องขังบางคนมีหญิงแก่วัยชรามาหา บางคนเป็นหญิงสาว, บางคนก็เป็นชายกลางคน - และชายวัยกลางคนกับเด็กวัยรุ่นสองคนก็เป็นที่ถูกมองของคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
“มันมีทีวีวงจรปิดด้วย เหมือนในหนังเลย” ผมกระซิบพี่เหน่งก่อนที่พี่ก้องจะเข้ามา
ครู่หนึ่ง ชายหนุ่มวัยยี่สิบกว่า ผมเกรียนสั้นเหมือนทหารเกณฑ์ก็เดินเข้ามายังจุดที่นั่ง เสื้อผ้ากางเกงสีเทาขาวสั้น นำร่างผอมบางของเขามาอยู่ตรงหน้าพวกเรา
“เป็นไงบ้างพี่” ผมเริ่มทักทายเป็นคนแรก ก่อนที่พี่เหน่งจะถามต่อว่า “ทุกอย่างโอเคดีนะ”
พี่ก้องขานรับด้วยรอยยิ้ม “ดีมากเลยพี่ ผมนึกว่าจะแย่กว่าที่สถานพินิจที่ไอ้โน่ (รุ่นน้องแถวบ้านพี่ เก่ง) เคยเข้าอีก แต่ดีที่เข้ามาแล้วเจอคนที่รู้จัก เลยไม่ค่อยโดนแกล้งเท่าไหร่”
“แล้วคนอื่นๆ มาหาแกบ้างยังว่ะ” พี่เหน่งถามขึ้น
“ก็มี แต่ไม่มาก คงไม่มีใครรู้มั้ง ผมโดนคดีนี้คงจะหลายปีอยู่ แต่ถ้ามีเงินหลายแสนก็คงจะอามา ประกันตัวได้ เพราะเขาตั้งวงเงินประกันสูงอยู่ ไม่รู้พวกพ่อจะเอายังไง” น้ำเสียงอ่อนๆ ของพี่ ก้องบอกให้รู้ถึงการยอมรับในสภาพที่ตัวเองเผชิญ
ในวันนั้นเอง พวกเราสามคนคุยกันหลายเรื่อง แต่ส่วนมากเป็นบทสนทนาระหว่างพี่เหน่งกับพี่ก้องมากกว่า ผมไม่ค่อยได้คุยอะไรมาก ทำได้ก็แต่จดรายการข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่พี่ก้องต้องการจะใช้แล้วค่อยหามาให้ตอนมาอีกที
เราใช้เวลาไม่กี่นาที ก็หมดเวลาในการเยี่ยมญาติ พี่ก้องเดินหันหลังแล้วย่างเท้ากลับเข้าไปสู่ดินแดนที่เขาเดินออกมาเมื่อไม่กี่นานที่ผ่านมา
“ถ้ามีอะไรพี่จะส่งเข้าให้แกนะ” พี่เหน่งตะโกนบอกก่อนที่ผู้คุมร่างโตจะประคองตัวพี่ก้องเข้าไป ในคุก
คนนอกคุก
มีวัยรุ่นที่อายุไล่เลี่ยกันกับผมหลายคนที่ออกจากสถานพินิจและต้องกลับใช้ชีวิตแบบเดิม คือ เที่ยว ทะเละวิวาท และใช้ความรุนแรงต่างๆ อีกมาก
บางคนเข้าไปเพื่อเปลี่ยนแปลงนิสัยตัวเอง จากที่เคยก้าวร้าวก็เปลี่ยนเป็นอ่อนโยมมากขึ้น ขณะที่บางคนก็ยิ่งเพิ่มความก้าวร้าวเข้าไปอีกมาก เนื่องจากมีเพื่อนหลายๆ คนในสถานพินิจที่คบกัน และระบบในนั้นยังเป็นการสร้างความรุนแรงเข้าไปอีก ทำให้วัยรุ่นหลายคนเมื่อออกจากสถานพินิจแล้วกลับยิ่งเพิ่มทวีความก้าวร้าวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เมื่อออกมาสู่สังคมภายนอกยิ่งแล้วใหญ่ เมื่อคนที่อยู่ในสังคมมองคนที่เคยเข้าคุกด้วยสายตาเหยียดหยามและไม่ค่อยจะยอมรับเท่าไหร่
แม้ว่าโดยส่วนมาก หากวัยรุ่นมีอายุมากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิต ซึ่งบางคนก็ไม่มีเรื่องทะเลาะชกต่อย ไม่นิยมความรุนแรง เพราะต่างมีความรับผิดชอบอื่นๆ มากยิ่งขึ้น จึงทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป –ความสุข สนุกสนานที่เคยมีในวัยรุ่นด้วยสภาพแวดล้อมนี้ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา
หลายคนมีความตั้งใจและความฝันต่อการใช้ชีวิตในอนาคตได้อย่างน่าสนใจ คือ มีความต้องการหรือความหวังในอนาคตไม่แตกต่างจากเยาวชนทั่วๆ ไปที่ไม่สังกัดกลุ่ม สังเกตได้จากการจัดกิจกรรมและคำถามถึงความต้องการของกลุ่มว่าอยากมีอาชีพต่างๆ ซึ่งวัยรุ่นหลายคนสะท้อนว่า อยากเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะว่าต้องการบริหารประเทศ อยากเป็นตลก อยากมีกิจการเป็นของตัวเอง และอยากมีครอบครัวที่อบอุ่น ซึ่งอาชีพดังกล่าวถือเป็นอาชีพที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นด้านการให้ความบันเทิง หรือการทำประโยชน์ต่อสาธารณะ
ดังนั้นวัยรุ่นในกลุ่มต่างๆ ต้องการที่จะมีครอบครัวที่อบอุ่น และประกอบอาชีพที่สุจริต หากได้รับโอกาสจากคนรอบข้างและคนในสังคม
มีองค์กรพัฒนาเอกชนบางแห่ง ที่ให้วัยรุ่นที่เข้าร่วมกิจกรรม ส่งเสริมอาชีพ ให้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ ล้างทำความสะอาดบ่อเลี้ยงปลา และให้อาหาร โดยมีการจดบันทึกการทำหน้าที่ประจำวัน
จากการสังเกตสมุดบันทึกประจำวัน พบว่าวัยรุ่นมีความกระตือรือร้นและมีความรับผิดชอบในหน้าที่มากขึ้น โดยเห็นได้จากเวลาการให้อาหาร และความถี่ในการล้างทำความสะอาดบ่อเลี้ยง
กิจกรรมส่งเสริมอาชีพนี้ แสดงให้เห็นว่าวัยรุ่นที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มแก๊ง มีความรับผิดชอบไม่ต่างจากเยาวชนที่ไม่สังกัดกลุ่มแก๊งทั่วไป อีกทั้งยังสามารถรับผิดชอบหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี หากเขาเหล่านี้ได้รับโอกาสหรือความไว้วางใจ จากผู้คนรอบข้างหรือผู้ใหญ่ เขาก็สามารถรับผิดชอบหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้ ยิ่งไปกว่านั้น คำชมเชยหรือน้ำใจเล็กๆ น้อยจากคนรอบข้างก็สามารถพัฒนา หรือดึงศักยภาพในตัวของเยาวชนออกมาได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม มีรุ่นพี่เล่าถึงการสมัครงานที่ยังมีปัญหา เนื่องเพราะ แม้ว่าจะทำกิจกรรมดีก็ยังถูกมองเป็นลบ โดยสื่อมวลชนไม่เคยนำเสนอกิจกรรมด้านดีของกลุ่ม เช่น การเข้าค่ายกิจกรรมกับองค์กร/สถาบัน/หน่วยงายราชการ การแข่งกีฬาประจำปี การเล่นดนตรี หรือการเล่นกีฬากลางแจ้ง ในทางตรงกันข้ามหากมีการทะเลาะวิวาทซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในกลุ่มวัยรุ่นกลับนำไปเสนอข่าวและขยายภาพเชิงลบเกินความจริง ทำให้เด็กที่รวมกลุ่มกันไม่ว่าจะทำกิจกรรมที่ดีหรือไม่ดี ถูกมองเหมารวมในทางเสื่อมเสีย ถูกตำรวจและสังคมจ้องจับผิดมาตลอด
“เมื่อสื่อมวลชนไม่แยกแยะ พอผู้ใหญ่รวมกันเป็นตั้งวงดื่มเหล้าหรือบางครั้งก็มีการทะเลาะกันไม่ต่างจากกลับไม่เรียกว่าเป็นแก๊ง มุ่งนำเสนอความรุนแรงโดยยัดเยียดให้กับกลุ่มวัยรุ่น เสนอภาพและข่าวเกินจริง เพื่อขายข่าว”
ทั้งนี้สำหรับคนที่เคยเข้าคุกมากแล้วยิ่งถูกกีดกันมากเพิ่มขึ้น คือ เวลาที่ไปสมัครงานเพื่อหารายได้พิเศษ หรือสมัครเพื่อขอคัดเลือกทำกิจกรรมระดับโรงเรียน อำเภอ หรือระดับจังหวัด รวมทั้งตามองค์กรของรัฐ เอกชนต่างๆ ผู้ใหญ่มักตัดสินคัดเลือกเด็กจากรูปลักษณ์ภายนอก ไม่มองที่ความสามารถ และความตั้งใจของเด็กเป็นสำคัญ
เด็กที่มีรอยสัก ผมยาว เจาะหู แต่งตัวไม่เรียบร้อย จะถูกคัดออกเป็นลำดับต้น
“เด็กที่มีลักษณะแตกต่าง เป็นตัวของตัวเอง ย่อมไม่มีพื้นที่แสดงความสามารถของตัวเอง จึงตั้งคำถามเป็นข้อสังเกตว่า ความนิยมของเด็กหากสวนทางกับค่านิยมของผู้ใหญ่ จะไม่ถูกยอมรับและให้โอกาสใช่หรือไม่” รุ่นพี่ผู้หญิงที่ทำงานกับกลุ่มเด็กแก๊งตั้งคำถาม
“คนนอกคุก เมื่อเคยอยู่ในคุกแล้วออกมาสู่ภายนอก เราไม่ต้องการอะไรมากหรอก ขอแค่ทำกับเราเหมือนอย่างที่เราเป็นคนเหมือนอย่างคนทั่วไปก็พอ เราไม่ใช่ใครอื่น เราเป็นคน มีชีวิตจิตใจ แม้ว่าจะทำอะไรไม่ดีมามากแต่โอกาสและการยอมรับเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อพวกเรามาก” ชายหนุ่มที่เคยเข้าออกสถานพินิจอยู่บ่อยๆ เสนอความเห็น ก่อนที่เขาจะถูกย้ายจากสถานพินิจของเด็กไปอยู่กับคุกของผู้ใหญ่ในอีกไม่กี่วัน
“ผมคงได้เจอรุ่นพี่ที่คุกใหญ่อีกหลายคนแน่ๆ” เขาย้ำด้วยใบหน้าหมอง “สังคมในคุกยอมรับกันดีกว่าข้างนอกมากมาย ชีวิตข้างนอกมันโหดร้ายมากกว่านี้อีก” เขาเผยอย่างหนักแน่น
ผมทำได้แต่ฟังและพยักหน้ารับคำพูดของเขาอย่างสงบ
โปรดตามติดอ่านตอนต่อไป....