เมธี สิงห์สู่ถ้ำ
กองเลขาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท.)
นโยบายแจก 2 พันบาทเป็นมาตรการที่เชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศของรัฐบาล ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ โดยมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หลังการประชุมได้ข้อสรุปว่า ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับแจก 2 พันบาท ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 กลุ่มคนนี้ คือ
กลุ่มแรก คือ ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งหมายถึง กลุ่มคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมปกติ หรือออกจากงานแต่ยังจ่ายสมทบต่อเนื่องด้วยตัวเอง ตามมาตรา 39 มีประมาณ 8 ล้านคน กลุ่มที่สอง คือ ผู้ที่เป็นบุคลากรของภาครัฐ ประมาณ 1 ล้าน 2 แสนคน กลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มผู้ที่อยู่ในระหว่างการตรวจสอบสิทธิ์เพื่อความถูกต้องอีกประมาณ 1 ล้าน 3 แสนคน และทั้ง 3 กลุ่มคนเหล่านี้ต้องมีรายได้ต่อเดือน ไม่เกิน 14,999 บาท จึงจะมีสิทธิ์ได้รับ 2 พันบาท
จากหลักการกว้างๆ ที่กล่าวไป หากมองให้กว้างกว่ากลุ่มคนทั้ง 3 กลุ่มนี้แล้วจะพบว่า ยังมีคนในประเทศอีกจำนวนไม่น้อยที่นโยบายดังกล่าวเข้าไม่ถึง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารที่มักถูกให้คำนิยามว่า “คนชายขอบ” โดยเฉพาะกลุ่มคนจนที่เป็นเกษตรกร ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินแต่ไม่เพียงพอ กลุ่มแรงงานนอกระบบ และที่น่าสนใจมากกว่า 3-4 กลุ่มดังกล่าว ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่อยู่ขอบของคนชายขอบเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือ “กลุ่มคนเร่ร่อน” หรือ“คนไร้บ้าน”
จากผลการสำรวจของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย(มพศ.) ร่วมกับกลุ่มปฏิบัติการคนจนเมือง(COPA) เครือข่ายสลัม 4 ภาค เมื่อปี 2549 ที่เข้าสำรวจกลุ่มคนไร้บ้านฝั่งพระนครของกรุงเทพฯ 13 จุด มีคนไร้บ้านที่นับได้จำนวน 630 คน ถ้ารวมจุดที่ทำการสำรวจแล้วและจุดที่ยังไม่ได้ทำการสำรวจทั้งในฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ปัจจุบันคาดว่าน่าจะมีคนไร้บ้านไม่น้อยกว่า 1,500 คน เนื่องจากทั้งหมด 13 จุดที่ทำการสำรวจเป็นเพียงจุดใหญ่ๆ และยังไม่รวมคนไร้บ้านทั่วประเทศ
คนไร้บ้านมีที่มาแตกต่างกัน สาเหตุของการกลายเป็นคนไร้บ้าน สามารถสรุปออกเป็นสาเหตุหลักๆได้ 5 ประการ คือ 1).สภาวะของสถาบันครอบครัว(โดยเฉพาะกลุ่มวัยชราและกลุ่มวัยรุ่น)ไม่เอื้อให้เขาเหล่านั้นต้องอยู่ในครอบครัวอีกต่อไป 2).ภาวะไม่มีงานทำหรือตกงานเรื้อรัง 3).คนที่พ้นโทษจากเรือนจำและไม่มีที่ไป ไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่สังคมปกติได้ 4).คนที่สุขภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ และ 5).คือผู้สมัครใจที่จะเป็นคนไร้บ้าน ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนที่ติดสุราเรื้อรังด้วย เขาเหล่านี้ดำรงชีพด้วยการเก็บของเก่าขาย เช่น กระป๋องน้ำอัดลม ขวดพลาสติก เศษเหล็ก เป็นต้น หรือเร่ขายสินค้าตามงานต่างๆ ขายสินค้ามือสอง และรับจ้างรายวัน
ด้วยประการทั้งปวงที่กล่าวมา คนไร้บ้านจึงกลายเป็นผู้ที่ไม่ได้อยู่ใน 3 กลุ่มหลักที่จะได้รับสวัสดิการ 2 พันบาทจากรัฐบาล ถูกมองว่าเป็นแกะดำของสังคม เป็นจุดบอดแห่งทัศนียภาพในเมือง เป็นคนจน ที่จนทั้งสิทธิ์ โอกาส และสถานะทางสังคม จึงกลายเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกเขี่ยออกจากระบบสวัสดิการของรัฐไปโดยอัตโนมัติ ทั้งที่เป็นกลุ่มคนที่จนที่สุดในสังคม
จะเห็นได้ว่าแม้นโยบายกระตุ้น(สะกิด)เศรษฐกิจโดยวิธีการแจกเงินแบบให้เปล่าจะอนุมัติไปแล้ว แต่คนที่จนที่สุดในสังคมก็ยังไม่ได้รับอานิสงฆ์อยู่ดี จึงไม่น่าแปลกใจที่ในความเห็นของกลุ่มคนไร้บ้าน จะมองว่า “ไม่ว่า รัฐจะแจก 2 พัน หรือ 2 ล้าน คนไร้บ้านก็ไม่ได้แตะอยู่ดี” กลุ่มคนไร้บ้านจึงไม่สนใจว่ารัฐจะแจกหรือไม่แจกเงิน และแจกจำนวนมากน้อยแค่ไหน แต่การผลักดันด้านนโยบายเพื่อให้รัฐแก้ไขปัญหาของคนกลุ่มใหญ่ย่อมสำคัญกว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
จากประสบการณ์ที่หวังพึ่งสวัสดิการจากรัฐไม่ได้ทำให้กลุ่มคนไร้บ้านเกิดการรวมตัวกันเพื่อให้อยู่รอดในสังคมได้ และที่สำคัญคือการต่อรองเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตกับหน่วยงานของรัฐภายใต้ชื่อ “เครือข่ายคนไร้บ้าน” มีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ 1).เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมระหว่างคนรวยและคนจนโดยเฉพาะคนไร้บ้าน 2).เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนทั่วไปที่มีต่อคนไร้บ้านให้เข้าใจอย่างถูกต้อง 3).เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐาน เช่น สถานที่พักอาศัย ที่อาบน้ำ และที่ซักผ้า 4).เพื่อพัฒนากลุ่มคนไร้บ้านให้สามารถแสดงศักยภาพในการแก้ปัญหาและพัฒนาตัวเองได้
ณ ปัจจุบัน คนไร้บ้านได้มีการตั้งศูนย์ประสานงานกลุ่มอยู่หลายจุด ทั้งที่กรุงเทพฯและเชียงใหม่ ได้แก่ ตลิ่งชัน หมอชิต คลองเตย บางกอกน้อย และเมืองเชียงใหม่ โดยในอนาคตจะพยายามขยายศูนย์ประสานงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อผลักดันให้มีการสร้างศูนย์พักชั่วคราว เนื่องจากปัญหาการไม่มีที่พักอาศัยจึงเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้นๆ ที่เครือข่ายคนไร้บ้านนำเสนอกับทุกๆรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อให้รัฐมีนโยบายนำที่ดินของรัฐมาสร้างศูนย์พักชั่วคราวสำหรับคนไร้บ้านให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อให้คนไร้บ้านได้มีที่พักอาศัยสำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เป็นบุคลากรผู้มีศักยภาพทัดเทียมกับคนกลุ่มอื่นๆ มากกว่าจะปล่อยให้เขาเหล่านั้นถูกมองว่าเป็นภาระของสังคมหรือภาระของประเทศ