โดย...ลูกสาวชาวเล
ถ้าเอ่ยถึงที่ดินริมทะเลแล้วหลายคนคงอยากมีและอยากได้ไว้ครอบครองสักผืนหนึ่ง พื้นที่ชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นพื้นที่หมู่บ้านริมทะเลหรือบนเกาะแก่งน้อยใหญ่ของไทยที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวประมงพื้นบ้านถูกขายออกไปสู่มือนายทุนจำนวนมาก และส่วนใหญ่นายหน้าก็ไม่ใช่ใครที่ไหนมักจะเป็นคนในพื้นที่นั้นเอง ถ้าเราลองสอบถามผู้คนในหมู่บ้านริมทะเลว่ายังเหลือที่ดินเป็นกรรมสิทธิครอบครองอยู่อีกกี่ครอบครัว คำตอบที่ได้ทำให้รู้สึกหนักใจได้มากทีเดียว ส่วนใหญ่เหลืออยู่เพียงร้อยละ ๒๐ - ๓๐ เท่านั้นเอง ที่พอมีเหลืออยู่ก็เพียงแค่พื้นที่ปลูกบ้าน บางคนแม้กระทั่งบ้านที่อยู่ก็ไม่มีเอกสารสิทธิ
กระแสการพัฒนาประเทศและการปั่นราคาที่ดินเร่งผลักดันให้ชาวบ้านขายที่ดินซึ่งเป็นสมบัติเพียงอย่างเดียวออกไปอย่างไม่มีวันฟื้นคืน เรื่องราวต่อไปนี้เป็นกรณีตัวอย่างจากครอบครัวหนึ่งที่สร้างความขัดแย้ง ความทุกข์ทรมานให้แก่คนภายในครอบครัวต่อเนื่องยาวนานจนกระทั่งปัจจุบัน
นางมิยะ และนายแช็น มะเหร็ม สองสามีภรรยาที่อยู่อาศัยในชุมชนประมงขนาดเล็ก ต.เขาไม้แก้ว อ.สิเกา จ.ตรัง แต่งงานอยู่กินกันมากกว่า ๕๗ ปี มีลูกด้วยกันทั้งหมด ๙ คน ซึ่งตลอดชีวิตที่ผ่านมา ผู้เฒ่าทั้งสองเป็นเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกหลาน เป็นคนที่มีน้ำใจเอื้ออาทร ชอบช่วยเหลือคนอื่นอยู่เสมอ ครอบครัวนางมิยะและนายแช็นเป็นครอบครัวชาวประมงที่มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย อาศัยทะเลเป็นแหล่งทำมาหากิน เช้าออกทะเลหากุ้งหาปลา เย็นกลับบ้านกินข้าวอาบน้ำอาบท่าแล้วเข้านอน ใช้ชีวิตแบบนี้มาตลอด
จนกระทั่งเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๑ ในยุคสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี และได้ประกาศนโยบายการท่องเที่ยว เพื่อต้องการให้ชาวต่างชาติเข้าท่องเที่ยวในประเทศไทย หลังจากได้มีนโยบายนี้ออกมา มีนายทุนมากว้านซื้อที่ดินบริเวณชายทะเลเพื่อทำรีสอร์ท ทำให้ราคาที่ดินริมชายเลมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ
ครอบครัวที่เคยอยู่กันมาอย่างมีความสุข ความเป็นพี่เป็นน้องที่เคยมีเริ่มหายไป เมื่อมีคนแปลกหน้าเข้ามาถามซื้อที่ดินแปลงที่ติดชายทะเลซึ่งเป็นที่ดินมรดกที่นางมิยะได้รับมาจากบิดา และเป็นที่ดินที่มีบ่อน้ำจืดอยู่ริมชายหาด (บ่อทวด บ่อน้ำที่คนในชุมชนใช้สำหรับอุปโภคบริโภค) ในราคา ๙ ล้านบาท ซึ่งนายแชน และนางมิยะ ได้ปฎิเสธไปและไม่ยอมขาย
ต่อมาเมื่อพี่ชายร่วมอุทธรณ์ของนางมิยะรู้จึงเกิดความโลภอยากจะได้ที่ดินเพื่อนำไปขาย จึงพยายามหาช่องทางกลั้นแกล้งต่างๆนานาเพื่อต้องการให้นายแชน และนางมิยะหนีไปอยู่ที่อื่น จนกระทั่งในปี ๒๕๓๓ ลูกเขยคนโตของนายแชน และนางมิยะ ถูกยิงตาย ได้ทิ้งลูกสาวของนางมิยะที่กำลังตั้งครรภ์อยู่แปดเดือน พร้อมทั้งลูกอีก ๔ คนเอาไว้
ด้วยความตกใจกลัว ประกอบกับไม่เคยเจอเรื่องร้ายๆแบบนี้มาก่อน นายแชน และนางมิยะ ได้พาลูกๆหลานๆหนีไปอยู่ที่บ้านเกาะปู อ.เหนือคลอง จ.กระบี่
ด้วยความรักในแผ่นดินเกิด บวกกับคำสั่งเสียของผู้เป็นพ่อนายดำ รัญวาศรี ตลอดระยะเวลา ๑ ปี ที่ไปอยู่เกาะปูทุกคืนนางมิยะไม่เคยนอนหลับสนิทเลย ทุกครั้งที่หลับตานางมิยะจะได้ยินคำสั่งเสียของพ่อ "มึงอยู่ที่นี่อย่าไปไหน ที่ดินผืนนี้อย่าให้ใครขาย สมบัติที่มีอย่าให้ฉิบหาย ถ้าใครขายสมบัติของกูมันจะต้องฉิบหาย และตายโหง กูขอให้มึงอยู่ที่นี้อย่าไปไหน และถึงแม้กูจะตายไป กูก็จะไม่ไปไหนกูจะอยู่ที่นี่ อยู่เป็นเพื่อนมึง" ด้วยคำสั่งเสียที่นางมิยะไม่เคยลืม และกุโบร์ (สุสาน) ที่ฝั่งร่างของผู้เป็นพ่อก็ได้ฝั่งอยู่ในที่ดินผืนนั้น ตามคำสัญญา ทำให้นางมิยะตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน ในปี ๒๕๓๔ นั้นเอง
นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า ๑๘ ปีแล้วที่ที่นายแช็น และนางมิยะต้องต่อสู้เพื่อปกป้องที่ดินผืนนี้ ตามคำสั่งเสียของผู้เป็นพ่อ นางมิยะกลายเป็นโรคหัวใจ ลูกชายคนที่ ๒ เป็นโรคประสาท ลูกๆของนายแช็น และนางมิยะ อยู่อย่างเจ็บปวด "บังเตไม่ได้ตายคนเดียว แต่พวกเราทั้งหมดก็ได้ตายตามไปด้วย ทุกวันนี้พวกเรามีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น" เป็นคำพูดของลูกๆของนายแชน และนางมิยะ พูดอยู่เสมอ
ตลอดระยะเวลา ๑๘ ปี พี่ชายของนางมิยะ และลูกๆพยายามทุกวิถีทางที่จะแย่งที่ดินของนายแชน และนางมิยะไปขาย ทั้งข่มขู่คุกคาม ฟ้องร้องต่อศาลเพื่อบีบบังคับต่างๆนานาแต่ไม่เคยได้ผล นายแชน และนางมิยะ และลูกๆ ยังยืนยันตามเจตนารมณ์เดิมอยู่เสมอ
"กูไม่ขาย กูไม่อยากให้ชาวบ้านแหลมไทรต้องเดือดร้อน กูได้เงินไปอยู่สุขสบายก็จริง แต่พี่น้องข้างหลังลำบากกูไม่อยากให้ใครสาปแช่งตามหลัง" เป็นคำพูดที่นางมิยะ พูดเสมอเมื่อมีคนมาขอซื้อที่ดินจากนาง
"คนเลพันกูไม่เคยเห็นเงินเป็นล้านๆที่เขาว่าก็จริง ฮึ..!คนเลพันเราขึ้นอยู่ดอน(อยู่ไกลจากทะเล หรืออยู่ในเมือง) มีแต่อดตาย แต่ถ้าเราอยู่ใกล้ทะเล ถ้าไม่มีข้าวสาร เราก็สามารถออกเลไปตกปลา หรือวางอวนก็ได้มาแล้วส่วนซื้อข้าวสารโลสองโล แต่ถ้าอยู่ดอนพอเงินหมดเราไม่รู้จะไปทำมาหากินอะไร กูเห็นมามากแล้วคนที่ขายที่ดิน ฉิบหายทุกราย เพราะโต๊ะย่าตายายมันสาปแช่ง เขาอุตสาห์สร้างไว้ให้ แต่ลูกหลานเอาไปขาย" หลายๆคำพูดที่กลั่นออกมาจากความรู้สึกของผู้เฒ่าทั้งสอง
สังคมในยุคทุนนิยมนี้คงจะไม่มีใครจะเข้าใจถึงความรักและความผูกพันธ์ต่อผืนแผ่นดินที่ฝังรก และหลายคนอาจจะมองว่าครอบครัวนี้เป็นเพียงครอบครัวเล็กๆที่ไม่มีคุณค่าอะไรเลยในสังคมคนส่วนใหญ่
ในอดีตถ้าเรานึกทบทวนถึงประวัติศาสตร์ชาติไทย บรรพบุรุษของเราต้องเสียเลือดเสียเนื้อตั้งเท่าไหร่เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไว้ให้ลูกหลาน แต่มา ณ วันนี้คนต่างชาติหิ้วกระเป๋าเจมส์บอนมาลูกเดียวก็ซื้อแผ่นดินของเราไปได้สบาย
พวกเรากำลังตกอยู่ในสงครามแย่งชิงทรัพยากร จากคนที่เขามีอำนาจเหนือกว่า เท่าทันข้อมูลมากกว่า คุณกำลังตกเป็นทาสในสังคมที่ปกครองด้วยระบบประชาธิปไตย คุณกำลังจะสิ้นชาติ สิ้นศาสนา วัฒนธรรม สิ้นอิสรภาพ คุณจะยอมสิโรราบ แค่อำนาจเงินกระนั้นหรือ?
ลุกขึ้นเถิด ลุกขึ้นร่วมกันปกป้องแผ่นดินแม่ ก่อนที่จะสิ้นชาติ สิ้นแผ่นดิน นี่เป็นคำร้องขอจากครอบครัวเล็กๆที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายเปิดประเทศเพื่อสนองการท่องเที่ยว
ความสุขที่แท้จริงของมนุษย์ไม่ได้ชี้วัดกันด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี แต่ความสุขของคนเราอยู่ที่ความพอเพียง "ดังพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง"