ศยามล ไกยูรวงศ์
โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา
ประเด็น “โลกร้อน” เป็นเรื่องใหญ่ที่ใกล้ตัว ถ้าโลกร้อนขึ้นอีก 2 – 4 องศาเซลเซียส กล่าวกันว่ามนุษย์ทุกคนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่ที่แน่ๆคนจนและผู้ด้อยโอกาสได้รับผลกระทบมากที่สุด และไม่มีทางเลือกใดๆต่อการดำรงชีวิตบนโลกใบนี้ และประเด็นนี้เองที่ “คณะทำงานโลกเย็นที่เป็นธรรม” มีข้อเสนอต่อการเจรจาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติ ในการประชุมที่กรุงเทพฯ และที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ว่า
\\/--break--\>
“การแก้ไขปัญหาโลกร้อนต้องปฏิบัติอย่างเป็นธรรม” คำตอบของการแก้ไขปัญหาโลกร้อนจึงมิได้อยู่ที่ “ประหยัดพลังงาน ลดการใช้ไฟฟ้า และมาใช้พลังงานหมุนเวียนเท่านั้น” แต่ทางออกของสังคมโลกต้องแก้ไขปัญหาที่สาเหตุของต้นตออย่างแท้จริง นั่นคือโครงสร้างทางอำนาจและผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับระบบการเมือง เศรษฐกิจ ในการกำหนดการพัฒนาประเทศ และพัฒนาสังคมโลก
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สะสมมาจนถึงวันนี้มาจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ตามแนวคิดทฤษฎีของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และเชื่อว่าการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปตามกลไกของตลาด จะทำให้เศรษฐกิจมั่นคง แต่ผลกระทบของการพัฒนาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า มีการใช้พลังงานอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มาจากซากดึกดำบรรพ์ คือถ่านหินและน้ำมัน และการเผาไหม้เชื้อเพลงฟอสซิล เป็นต้นเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์
จากข้อมูลของสถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute) ในปี พ.ศ.2548 พบว่า ในประเทศไทย ภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือภาคพลังงานและอุตสาหกรรม ซึ่งปล่อยประมาณ ร้อยละ 72.47 โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ เป็นหลัก และเมื่อเปรียบเทียบกับภาคเกษตร ปล่อยก๊าซมีเทน และไนตรัสออกไซด์ คิดเป็นร้อยละ 25.28 และสุดท้ายคือการกำจัดของเสียและสิ่งปฏิกูลซึ่งปล่อยก๊าซมีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์ ร้อยละ 2.3 ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด
เพราะฉะนั้นประเทศอุตสาหกรรมที่เรียกกันว่าประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมมาแต่อดีตต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำลายสิ่งแวดล้อมและมวลมนุษยชาติ ในทำนองเดียวกันในประเทศไทยกลุ่มทุนอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนอุตสาหกรรมจึงต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า “หนี้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และ “หนี้ด้านการปรับตัว” ที่ต้องเผชิญและปรับตัวต่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาจึงยังมีสิทธิในการพัฒนาประเทศของตน เพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาความยากจนที่เรื้อรังมาจากระบบการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม และปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศและภายในประเทศ ขณะเดียวกันคนจนและผู้ด้อยโอกาสในสังคม ที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ยังต้องมีสิทธิในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของตนเอง และได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นทางเลือกของตนเองต่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอดในสังคมที่น่าอยู่และยั่งยืน
งานศึกษาของธนาคารเอเชียเพื่อการพัฒนา (เอดีบี) ซึ่งรวบรวมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ยังพบว่า ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นทุกปี ประเทศไทย อินโดนิเซีย และเวียดนามจะเผชิญกับภาวะอากาศที่แห้งแล้งในอีก 2-3 ทศวรรษข้างหน้า ผู้คนในภูมิภาคนี้ต้องประสบปัญหาความยากจน แม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก้าวรุดหน้า และมีคนรวยมากขึ้น แต่คนจนรวมแล้ว 93 ล้านคน ของประชากรสี่ประเทศ ซึ่งมีรายได้แค่วันละ 40 บาท ต่ำกว่าเส้นความยากจน จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากขึ้น
ความเป็นธรรมที่คนจนต้องได้รับคือการไม่ถูกผลักภาระมาให้คนจน หรือเกษตรกรต้องแบกรับภาระของการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ในขณะที่โครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจของการพัฒนาทำให้พวกเขาต้องรับผลกระทบจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรม ปัญหาสิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน หรือโรงไฟฟ้า ที่ทำให้เกษตรกรจำนวนมากต้องละทิ้งถิ่นฐานไปเป็นแรงงานรับจ้าง เนื่องจากถูกแย่งชิงที่ดินทำกินในหลายรูปแบบที่มาจากนโยบาย และกฎหมายบีบบังคับ จนกลายเป็นคนจนและแรงงานรับจ้างในภาคอุตสาหกรรมและภาคเมือง ตัวอย่างเห็นได้ชัดเจนจากโครงการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่เกิดปัญหาขึ้นแล้ว และรัฐบาลกำลังเดินหน้าแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เพื่อสร้างรูปแบบเดียวกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็ก และโรงไฟฟ้า ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจากมากที่สุด ซึ่งจะทำให้คนภาคใต้ได้รับผลกระทบตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช และสงขลา เป็นต้น
สหประชาชาติเพื่อการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจสีเขียว(Global Green New Deal) โดยวิเคราะห์ว่าวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินในหลายยุคสมัย ทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในการกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งโลกยังคงประสบปัญหาความยากจนและการว่างงานอยู่เช่นเดิม หากรัฐบาลมีนโยบายการลงทุนร้อยละ 1 ของการเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติ (ประมาณ 750 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในสองปีข้างหน้าจะสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเท่ากับหนึ่งส่วนสี่ของการกระตุ้นระบบการเงิน
การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจสีเขียวสามารถสร้างงาน การออมเงิน และปกป้องผู้ด้อยโอกาส ซึ่งต้องลดปัญหาความยากจนภายในปี พ.ศ.2558 รวมทั้งลดคาร์บอนและลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้น แนวทางคือ สร้างระบบการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลงทุนการคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน และการใช้พลังงานหมุนเวียน การทำระบบการเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน และการจัดการน้ำอย่างผสมผสาน สร้างระบบภาษีที่ส่งเสริมให้สร้างระบบเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งกำหนดนโยบายการใช้ที่ดินและการวางผังเมืองที่ส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สีเขียว ตลอดจนสร้างระบบเศรษฐกิจสีเขียว นโยบายของการปฏิรูปเศรษฐกิจสีเขียวจะดำเนินการได้นั้น ต้องมีการประสานงานในระดับระหว่างประเทศ โดยองค์กรสหประชาชาติควรสนับสนุนและสร้างกลไกหน้าที่เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย
เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาโลกร้อนจึงไม่สามารถแยกขาดจากแผนพัฒนาประเทศ ที่ต้องนำไปสู่สังคมที่มีความยั่งยืนในมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ เป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำเป็นต้องกำหนดแผนการพัฒนาเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานศักยภาพของพื้นที่ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของท้องถิ่น ที่ไม่ทำให้โลกร้อนยิ่งขึ้น และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ต้องอยู่บนฐานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นธรรม
สังคมไทยจะมีวิสัยทัศน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวหรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์ที่โลกกำลังร้อนมากขึ้น ในขณะที่รัฐบาลผลักดันโครงการขนาดใหญ่เพื่อหวังผลประโยชน์เฉพาะหน้าท่ามกลางความทุกข์ยากของคนไทย คำตอบนี้จึงอยู่ที่ประชาชน...