Skip to main content

เรื่องราวในชีวิตของคนเราสามารถนำมาเขียนแต่งเป็นนิยายได้ทั้งนั้น โดยการใส่พล็อตหรือท้องเรื่องเข้าไป ตีความให้ดูน่าสนใจ แล้วเสาะหา(สร้าง)ข้อมูลเพื่อยัดลงไปในพล็อตที่วางไว้โดยอาจหยิบเพียงบางช่วงบางตอนของชีวิตก็ได้


อย่างไรก็ตาม บางเรื่องราวอาจไม่ค่อยมีความน่าสนใจนักเพราะ “เนื้อหาชีวิต” มีให้เลือกน้อยเกินไป ไม่มีข้อมูลมากพอสำหรับเอาไปใส่ไว้ในพล็อต ขาดความโดดเด่นสำหรับที่จะเป็นนิยายชั้นดี อาทิเช่นชีวิตของเรา ๆ ท่าน ๆ คนเดินดินกินข้าวแกงทั่วไปที่อยู่กับความจำเจ หาเช้ากินค่ำ ขาดสีสัน ไม่มีที่ทางอะไรในประวัติศาสตร์


ในขณะที่บางเรื่องราวน่าสนใจเพราะมีเนื้อหามาก โลดโผน ตื่นเต้น อัดแน่นด้วยความน่าพิศวงและคาดไม่ถึง เช่นชีวิตของนักคิดนักเขียนอย่าง “จิตร ภูมิศักดิ์” ผู้ซึ่งระหกระเหินอยู่ในป่าดื่มกินอุดมการณ์แทนข้าว ชีวิตของผู้อภิวัฒน์อย่าง “ปรีดี พนมยงค์” ที่พลาดโอกาสในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ อย่างถึงรากถึงโคนหรือแม้กระทั่งชีวิตของนักธุรกิจและนักการเมืองอย่าง ”ทักษิณ ชินวัตร” ที่พลิกผันเสียจนตนเองก็คงคาดไม่ถึง


แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเรื่องราวของบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ แม้จะทำอะไรไว้มากพอสำหรับการกล่าวขานถึงของคนรุ่นหลังจะถูกตีความไปในทางดีเสมอไป (เป็นการยากที่จะตีความเรื่องราวของ “จิตร ภูมิศักดิ์” ให้เป็นบุคคลที่ยกย่องเชิดชูชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์โดยไม่กระอักกระอ่วนใจ ส่วน “ปรีดี พนมยงค์” นั้นมีความพยายามกันหลายฝ่ายจนประสบความสำเร็จในการแต่งแต้มตบแต่งเรื่องราวเรื่องเล่าให้กลายเป็นผู้ปกป้องสถาบัน)


คนบางคนสามารถบิดผันเรื่องราวและบทบาทเลวร้ายให้กลายเป็นเรื่องเล่าว่าด้วยความดีงามไปเสียได้ เช่นการฆาตกรรมนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ซึ่งเป็นสิ่งเลวร้ายอย่างไม่ต้องสงสัย แต่กลับถูกสร้างให้กลายเป็นเรื่องของการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ และกระทั่งบัดนี้ ในการรับรู้กระแสหลักก็ยังคงเป็นเช่นเดิม นักศึกษาในเวลานั้นยังคงเป็น “ผู้ร้าย” เสมอมา


เราจึงเห็นได้ว่าการสร้างพล็อตให้ตนเองและฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด การสร้างข้อมูลเท็จ หลักฐานปลอม เป็นเรื่องที่ปกติอย่างยิ่งสำหรับสังคมและการเมืองไทยซึ่งอยู่ภายใต้เงาสลัวของจอมบงการตลอดมา

 

 

จะว่าไปแล้วเราสร้างพล็อตให้กับสิ่งต่าง ๆ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว การสร้างพล็อตเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเป็นวิธีการในการจัดระเบียบเนื้อหาข้อมูล ช่วยให้เข้าใจได้ง่าย สะดวกในการจดจำและประเมินค่า


จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ที่มีการสร้างพล็อตให้กลุ่มคนเสื้อแดง มีการสร้างพล็อตให้คนเสื้อเหลือง มีการสร้างพล็อตให้กับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร แต่ออกจะเข้าใจได้ยากหรือทำใจยอมรับได้ยากอยู่บ้างที่ฝ่ายเสื้อแดงได้รับบทเป็นผู้ร้ายเสมอมา


คนเสื้อแดงถูกจัดให้เป็นผู้ร้ายเสมอ ไม่ว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกหรือผิดก็ตามทั้งนี้เพราะพล็อตของคนเสื้อแดงนั้นไปด้วยกันไม่ได้กับพล็อตใหญ่ซึ่งเป็นพล็อตหลัก (เพราะฉะนั้นคนเสื้อแดงทำความดีให้ตายก็ไม่มีประโยชน์ พล็อตของคนเสื้อแดงเป็นการเพิ่มพลังอำนาจของประชาชนซึ่งไม่มากก็น้อยย่อมกระทบกับอำนาจที่มีอยู่เดิมของจอมบงการ) ในขณะที่ฝ่ายเสื้อเหลืองซึ่งยึดทำเนียบ ปิดสนามบิน ทำสิ่งสามานย์ร้อยสิ่งพันอย่างกลับกลายเป็นผู้ก่อการดี

 


ไปไกลกว่านั้น คือการสร้าง “พล็อตซ้อนพล็อต” ซึ่งปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาสาธารณชนในกรณีของคุณ “ศิวรักษ์ ชุติพงษ์” วิศวกรชาวไทยที่ถูกจับกุมคุมขังในคุกกัมพูชาเพราะ “รับงาน” เป็น “ตัวละคร” ตามพล็อตที่ฝั่งรัฐบาลเขียนให้ แต่เมื่อเหตุการณ์กลับตาลปัตร ไม่เป็นไปตามที่วางไว้ ก็มีการสร้างพล็อตขึ้นมาใหม่คลุมทับให้กลายเป็นตัวละครของฝั่งตรงข้ามไป การตกระกำลำบากอยู่ในคุกเขมรถูกลดค่าให้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพล็อตหรือนิยายแหกตา ความเจ็บปวดรวดร้าวซึ่งเกิดขึ้นจริงกลายเป็นละครฉากหนึ่งเท่านั้น

คำถามคือเมื่อไหร่ที่คนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ จะเขียนพล็อตหรือสร้างพล็อตได้เอง
? เมื่อไหร่ที่คนเสื้อแดงจะเขียนพล็อตให้ตนเองกล้าหาญพอที่จะหักกับพล็อตหลักของจอมบงการได้หากว่ามันจำเป็น?

 

 

บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
ผมเฝ้ารอคอยดูผลสำเร็จ (หรือไม่สำเร็จ) ของนโยบาย "5 รั้ว" ซึ่งเป็นนโยบายทางด้านยาเสพติดของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด ทำให้ยาเสพติดลดลงได้จริงหรือไม่ "5 รั้ว" ที่ว่าคือ รั้วชายแดน รั้วชุมชน รั้วสังคม รั้วโรงเรียน และรั้วครอบครัว ทั้ง "5 รั้ว" จะช่วยเป็นเกราะป้องกันต้านทานการทะลักเข้ามาของยาเสพติด พร้อมไปกับการปราบปรามอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม
เมธัส บัวชุม
ผมเคยตั้งข้อสังเกตไปแล้วว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ มีความสามารถในการทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ รายการเชื่อมั่นประเทศไทยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้นมีแต่ถ้อยคำลวงโลกว่างเปล่า รัฐมนตรีทำงานแบบขอไปที เอาตัวรอดไปวัน ๆ ทำให้ความเดือดร้อนของประชาชนกลายเป็นความเห็นอกเห็นใจง่าย ๆ และรับปากว่าจะดำเนินการ ทาสีให้พรรคพวกที่ทำผิดกฏหมายกลายเป็นบริสุทธิ์ นโยบายไม่มีอะไรใหญ่และไม่มีอะไรใหม่ ฯลฯ ขณะเดียวกันคนเสื้อแดงก็ฝ่อลง เหมือนหมดมุกจะเล่น เหมือนหมดทางจะไปต่อ เหมือนยอมรับสภาพ
เมธัส บัวชุม
บางครั้งผมถามตัวเองว่าทำไมรู้สึกแย่ถึงขั้นขยะแขยงทุกครั้งที่เห็นหน้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทางจอโทรทัศน์ บางทีฝืนใจดูเพราะอยากรู้ว่านายกรัฐมนตรีคนนี้จะพูดอะไรแต่ก็ต้องเปลี่ยนช่องทันทีที่ได้ฟังประโยคแรก เพราะเพียง "อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่" ผมได้คำตอบเบื้องต้นว่าเหตุที่ไม่ชอบนายกรัฐมนตรีคนนี้อย่างรุนแรงนั้นมีหลายสาเหตุ เป็นต้นว่าการไม่เป็นสุภาพบุรุษ (แพ้ก็ไม่ยอมรับว่าแพ้) ชอบเล่นนอกกติกา (บอยคอตเลือกตั้ง) ขาดความเป็นผู้นำ (ตัดสินใจอะไรไม่ได้) พูดจ้าอ้อมค้อมวกวน (ตอบไม่ได้เรื่องหนีทหาร) เอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่น (โทษคนอื่นตลอด) ทำหน้าซึ้งๆ เศร้าๆ (คิดว่าตนเองเป็นนางเอก) ท่าดีทีเหลว (…
เมธัส บัวชุม
หากให้ลองเอ่ยชื่อปัญญาชนที่เป็นเสาหลักของสังคมไทย แน่นอนต้องมี ส.ศิวรักษ์ รวมอยู่ด้วย จากผลงานมากมายและหลากหลายในอดีตคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธคุณูปการของ ส. ศิวรักษ์ ที่มีต่อสังคมไทยไปได้ ย้อนหลังไปก่อนการเมืองยุคทักษิณ ผมเฝ้าติดตามและชื่นชมผลงานของส.ศิวรักษ์อยู่ห่าง ๆ ชื่อของเขาในฐานะวิทยากรตามงานสัมมนาเป็นเสมือนแม่เหล็กดึงดูดให้ต้องเข้าไปนั่งฟังทัศนะอันกล้าหาญแหลมคม อาจกล่าวได้ว่าเขาคือแรงดลใจและเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าในการต่อสู้กับความ อยุติธรรม
เมธัส บัวชุม
การเมืองไร้หลักการหลังรัฐประหาร ปี 49 นำมาซึ่งเรื่องชวนหัว ขำ ฮา ตลกร้าย ตลกแต่หัวเราะไม่ออก ตลกจนอยากจะร้องไห้ ฯลฯ หลายต่อหลายเรื่องด้วยกัน ในที่นี้อยากจะหยิบยกมาพูดคุยสัก 4 เรื่อง เรื่องแรก ไม่เป็นเหลือง การปลดคุณเสถียร จันทิมาธร บรรณาธิการคู่บุญของเครือมติชนด้วยข้อหาไม่เป็นกลางนั้นฮาครับ แต่หัวเราะไม่ออก การไม่เป็นกลางนั้นไม่เท่าไหร่ แต่ดูเหมือนจะเอียงข้างไปทางเสื้อแดงนี่สิเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ (แต่คนเสื้อแดงหลายคนก็บอกว่าไม่เห็นคุณเสถียรจะเอียงข้างไปทางเสื้อแดงเลย) ในทางกลับกัน รายของ "นงนุช สิงหเดชะ" ซึ่งเขียนด่า (ใช้คำว่าด่า) คนเสื้อแดงและทักษิณมายาวนาน ด่าเอา…
เมธัส บัวชุม
  Iภาพที่ผู้ชายจิกหัวผู้หญิงเสื้อแดง แล้วลากถูลู่ถูกังไปกับถนนด้วยความอาฆาตมาดร้ายท่ามกลางการยืนดูเฉย ๆ ของทหาร นักข่าวและสาธาณชนนั้นน่าสะเทือนใจ ไม่ต่างอะไรกับการมุงดูผู้หญิงที่ถูกข่มขืนในที่สาธารณะ นอกจากไม่คิดจะช่วยแล้ว บางคนอาจจะลุ้นเอาใจช่วยฝ่ายชายอีกต่างหาก
เมธัส บัวชุม
คุณวีระ มุสิกะพงศ์ ไม่เหมาะที่จะเป็นแกนนำคนเสื้อแดงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์สู้รบ การประกาศมอบตัวอุปมาเหมือนแม่ทัพที่ทิ้งทัพกลางศึกด้วยเหตุที่ว่ากลัวไพร่พลและทหารแดงที่เข้าร่วมสงครามจะบาดเจ็บล้มตาย! -------------
เมธัส บัวชุม
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล  นักวิชาการขาประจำผู้ซึ่งเคยเสนอมาตรา 7 เช่น อธิการบดีธรรมศาสตร์ ให้ทัศนะในรายการหนึ่งทางโทรทัศน์ว่าการโฟนอินของทักษิณจะทำให้แนวร่วมเสื้อแดงบางส่วนหายไป จะเหลือก็แต่คนเสื้อแดงแท้ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านต่างจังหวัดเท่านั้นผมได้ฟังแล้วงง มันมี "เสื้อแดงแท้ ๆ" กับ "เสื้อแดงไม่แท้" ด้วยเหรอ ? แล้วคน "เสื้อแดงแท้ ๆ"  ในความหมายของนักวิชาการรายนี้หมายถึงใคร
เมธัส บัวชุม
ถือเป็นความคืบหน้าทางการเมืองอีกขั้น ที่ประชาชนแห่งกองทัพแดงสามารถ "ลาก" เอาประธานองคมนตรีออกมาชันสูตรกันในที่แจ้ง จับแก้ผ้าล่อนจ้อนต่อหน้าสาธารณชน เปลื้องเปลือยรอยตำหนิและแผลเป็นน่าเกลียดไม่เคยมียุคสมัยใดของการเมืองไทยที่ประธานองคมนตรี และองคมนตรีจะโดนเล่นงานขนาดนี้  แต่ปรากฏการณ์การณ์นี้มีที่มาที่ไป ประชาชนตระหนักชัดแล้วว่าทางเดินของระบอบประชาธิปไตยถูกขวางด้วยอำนาจนอกรัฐธรรมนูญมาตลอด โดยที่ครั้งนี้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ โดดเข้ามาเล่นชัดเจน แม้จะเคยบอกว่า "ผมพอแล้ว" แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ดังนั้น "หากองคมนตรีมายุ่งการเมือง…
เมธัส บัวชุม
การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลผ่านพ้นไปแล้วหลายวัน โพลล์บางสำนัก นักวิชาการบางราย สื่อบางเจ้า ทำการสำรวจประเมินความคิดเห็นของประชาชนต่อการอภิปรายครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกหากผลจะออกมาเป็นบวกต่อรัฐบาล ทั้งที่ข้อมูลของคุณเฉลิม อยู่บำรุง นั้นถือเป็นข้อมูลลึกและน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง ผมติดตามการอภิปรายอยู่ห่างๆ หมายถึงดูบ้าง ไม่ได้ดูบ้าง สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้จากคำอธิบาย คำชี้แจงของรัฐบาลคือแทบทุกคนไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือเลย การให้เหตุผลเป็นแบบ "เอาสีข้างเข้าถู" "แก้ตัวแบบน้ำขุ่น ๆ" หรือชี้แจงไม่ตรงกับสิ่งที่ฝ่ายค้านอภิปราย
เมธัส บัวชุม
เป้าหมายของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรกับเป้าหมายของคนเสื้อแดงนั้นไม่อาจกล่าวได้ว่าเหมือนกันเสียทีเดียวหากแต่มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่มาก หมายถึงว่ามีทั้งส่วนที่เหมือนกันและแตกต่างกัน แต่ก่อนจะพูดถึงส่วนที่เหมือนและต่างนั้นต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นกันก่อนว่า คนเสื้อแดงมีหลายประเภท หลายเฉด คนเสื้อแดงมีตั้งแต่กลุ่มฮาร์ดคอร์แบบอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์, จักรภพ เพ็ญแข และสีแดงอ่อนๆ ประเภท "แดงสมานฉันท์" สีแดงมีหลายดีกรีคือมีทั้งพวกอนุรักษ์นิยมอ่อนๆ ,เสรีนิยม ไปจนถึงกลุ่มถอนราก ถอนโคน (radical)
เมธัส บัวชุม
ผมเคยดูวงดนตรีเพื่อชีวิตที่ชื่อ "แฮมเมอร์" แสดงสดหลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระ ดูครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน ยอมรับว่าประทับใจมาก ครั้งต่อ ๆ มาก็ยังประทับใจ ทุกคนในวงตั้งใจเล่น ตั้งใจร้อง นักดนตรีหลายคนสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชิ้น เดี๋ยวขลุ่ย เดี๋ยวไวโอลิน ดูแล้วเพลิดเพลินนัก แตกต่างจากวงดนตรี "เพื่อชีวิต" ทั่ว  ๆ ไป แม้จะมีหนวดเครายาวรุงรัง แต่แฮมเมอร์ดูสะอาด ไม่มีลีลาหรือพิธีรีตองอะไรมาก ไม่ต้องเก๊กหน้าให้ดูเหมือนกับคนมีความคิดลึกซึ้งหรือดัดเสียงให้ฟังซึ้งเศร้าหรือด่านักการเมืองก่อนเข้าเพลง  วงดนตรีแฮมเมอร์เป็นอะไรที่น่าจดจำอย่างไรก็ตาม…