เมื่อความขัดแย้งระหว่างฝักฝ่ายต่าง ๆ เขม็งเกลียวแน่นใกล้ถึงจุดวิกฤติ ข่าวเกี่ยวกับการทำรัฐประหารก็ลอยมาจากทางโน้นทางนี้เป็นระยะ น่าเชื่อบ้าง ไม่น่าเชื่อบ้าง ราวกับว่ารัฐประหารเป็นทางออกเดียวในการจัดการปัญหา
\\/--break--\>
บางคนหวาดวิตกขนาดหนักเพราะตระหนักดีว่ารัฐประหารไม่ได้นำอะไรมาเลยนอกจากทำให้ทุกอย่างแย่ลง เศรษฐกิจตกต่ำกันเห็น ๆ (แม้แต่เด็กนั่งดริ๊งค์ยังรู้ว่ารัฐประหารทำให้รายได้ตนเองลดน้อยลง) รสชาติของเสรีภาพหายไป หลักการสูงสุดที่เคยบูชาเป็นสิ่งว่างเปล่า บรรยากาศแห่งความเท็จตามมา ฯลฯ
ทว่าบางคนกลับรู้สึกเฉย ๆ ด้วยเห็นว่ารัฐประหารไม่กระทบอะไรกับชีวิตตนหรือกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เผลอ ๆ มีข้อดีเสียอีกคือทำให้มีวันหยุดเพิ่มขึ้น ได้เห็นทหารออกมาจากกรมกอง ได้ถ่ายรูปคู่รถถังไว้เป็นที่ระลึก ได้เปลี่ยนบรรยากาศ ฯลฯ
ใครจะยังไงก็แล้วแต่ ตัวผมเองนั้นต้องการให้เกิดรัฐประหาร เอาชนิดแรง ๆ ก็ดี ครั้งที่แล้วนั้นง่ายเกินไป
ผมไม่ใคร่แน่ใจตนเองมากนักว่าเพราะเหตุใดจึงเรียกร้องต้องการให้เกิดรัฐประหารจนแทบจะบนบานศาลกล่าวเลยทีเดียว คิดไปคิดมาผมมีคำตอบให้กับตนเองว่า
1.เพราะผมเป็นพวกฮาร์ดคอร์ ที่เห็นว่าบางสถานการณ์นั้นสันติวิธีนั้นเป็นอะไรที่ชักช้า เสียเวลาและไม่ได้ผล ความรุนแรงต่างหากที่สามารถสร้างแรงสะเทือนและนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ ยิ่งเปลี่ยนแปลงใหญ่ ขนาดของความรุนแรงก็ต้องเพิ่มขึ้น และผมก็อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่
ดูเหมือนผมจะคิดว่าพวกอำมาตย์นั้นนิยมใช้ความรุนแรงในการกำราบประชาชนมาแต่ไหนแต่ไรและได้ผลมาโดยตลอด แต่เมื่อประชาชนมีโอกาสโต้กลับด้วยความรุนแรงดุจเดียวกันพวกอำมาตย์ซึ่งที่แท้แล้วก็ใจเสาะกลับขลาดกลัว การเกิดรัฐประหารถือเป็นโอกาสอันดีที่ฝักฝ่ายต่าง ๆ จะได้ใช้ความรุนแรงเข้าห้ำหั่นกันชนิดใครแรงใครอยู่ คนเสื้อแดงจะมีโอกาสสูงขึ้นในการเข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลง
2.เพราะอึดอัดกับสิ่งที่เป็นอยู่และคิดว่าคงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้อีกแล้ว บางทีผมรู้สึกอย่างนี้จริง ๆ ดูโทรทัศน์ช่องหอยม่วงแล้วรู้สึกอย่างนี้จริง ๆ เจือด้วยความรู้สึกโกรธนิด ๆ การโฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบของ “สกู๊ป” โดยช่องหอยม่วงนั้นเป็นการมอมเมาแบบไร้สมอง ชวนให้น่าขยะแขยง ช่องหอยม่วงเอาเงินภาษีประชาชนซึ่งรวมทั้งคนเสื้อแดงไปใช้แต่กลับตอบแทนคนเสื้อแดงด้วยการใส่ร้ายเกินจริง
เมื่อหันมองไปที่รัฐบาลพบว่า เรามีประมุขฝ่ายบริหารที่ฉลาดในการเอาสีข้างเข้าถู, ทำงานวันต่อวันด้วยโวหารที่ว่างเปล่า, วางท่า ตีสีหน้าและใช้น้ำเสียงราวกับกำลังเล่นละครในบทพระเอก,เอาใจใส่กับการสร้างภาพประชาสัมพันธ์, ตั้งหน้าตั้งตาตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม, ปล่อยให้ปัญหาสำคัญที่รัฐบาลต้องทำผ่านเลยไปตามกาลเวลาโดยคิดว่าประชาชนคงจะลืมไปเอง, แสดงความเป็นศัตรูกับประชาชน(เสื้อแดง) อย่างเปิดเผย
แม้เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ผมก็ยังคิดว่าคงไม่ได้แย่ไปกว่าที่แย่อยู่แล้ว อย่างน้อยที่สุดรัฐประหารจะตอกย้ำให้เห็นถึงความไร้น้ำยา และวุฒิภาวะการเป็นผู้นำของนายก ฯ ผู้นี้ อย่างน้อยที่สุดประวัติศาสตร์ก็พูดได้เต็มปากเต็มคำว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายก ฯ รัฐประหาร
3.เพราะผมคิดว่า “ผู้ใดทำรัฐประหารผู้นั้นทำลายตัวเอง” พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่คนเสื้อแดงเชื่อว่าบงการให้เกิดรัฐประหาร 19 กันยา 49 นั้นเป็นตัวอย่างอันดี ชื่อเสียงบารมีที่สั่งสมมาตลอดชีวิตแทบไม่เหลือ ได้รับการเหยียดหยามดูแคลนจากคนทั่วไป เรื่องส่วนตัวอย่างรสนิยมทางเพศถูกขุดคุ้ยขึ้นมาโจมตี กลายเป็นตัวโกงที่ทำลายประชาธิปไตย แง่หนึ่งเราอาจจะมองได้ว่ารัฐประหาร 19 กันยา 49 ประสบผลสำเร็จในการผลักทักษิณให้ตกจากเก้าอี้ แต่อีกแง่หนึ่งพลเอกเปรม ติณสูลานนท์มีราคาที่ต้องจ่ายมากมายอย่างคาดไม่ถึง
หากมีการทำรัฐประหารอีกครั้งเชื่อเถอะว่าเป็นการซ้ำเติมหายนะให้กับส่วนรวม อาจมีคนสมประโยชน์บ้างถ้ารัฐประหารสำเร็จ แต่โดยรวมแล้วประเทศชาติเสียหาย คนส่วนใหญ่เสียหาย ดังนั้นหากรัฐประหารเกิดขึ้นจริงจะมีคนออกมาต่อต้านกันมากขึ้น จะไหลรวมมาสู่คนเสื้อแดงมากขึ้น ผู้ที่ทำและผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหารจะถูกประณามและได้รับเคราะห์กรรมกลับไป
"การทำรัฐประหารสะท้อนให้เห็นความมักง่ายของพวกอำมาตย์ ประชาชนจะได้รู้เช่นเห็นชาติว่าที่แท้แล้วพวกอำมาตย์เกลียดกลัวประชาธิปไตย เกลียดกลัวการเติบโตของขบวนการภาคประชาชน
4.ถูกทุกคำตอบ ทั้งสามข้อนั้นมีเป็นไปได้ทั้งหมด คือผมเป็นพวกฮาร์ดคอร์ที่เห็นว่าความรุนแรงเป็นเรื่องจำเป็นในการจัดการกับพวกอำมาตย์ ไม่มีความสุขกับสภาพการเมืองที่เป็นอยู่ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นศัตรูร้ายแรงต่อระบอบประชาธิปไตย ทั้งผมต้องการให้พวกอำมาตย์สำลักอำนาจและทำลายตัวเอง ดังนั้น ขอให้พวกอำมาตย์โปรดทำรัฐประหารเสียทีเถอะ.