Skip to main content

การหวนกลับมาระบาดอย่างหนักของยาเสพติดในปัจจุบัน ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะนึกถึงนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด และได้ผลของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่ถึงแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักสิทธิมนุษยชน แต่ข้อดีอันเป็นรูปธรรมที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือยาเสพติดได้ลดหายไปจากสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน-นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผม “คิดถึง” อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

การเอาจริงเอาจังกับปัญหายาเสพติดของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายเดือดร้อนถูกจับกันถ้วนหน้าทั้งที่ก่อนหน้านี้ซื้อและขายอย่างสะดวกสบายโดยที่รัฐบาลไม่มีปัญญาจะจัดการได้

ผู้ขายยาเสพติดรายใหญ่คนหนึ่งบอกว่า เขาสามารถซื้อตำรวจได้ทั้งจังหวัด และไม่คิดว่านโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของอดีตนายกฯ ทักษิณ  ชินวัตร นั้นจะทำอะไรเขาได้เพราะรัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่าก็ดีแต่พูดว่าจะแก้ไขปัญหายาเสพติดแต่ไม่เคยทำได้จริงสักที อย่างไรก็ตามไม่กี่วันหลังจากนั้นเขาก็ถูกจับโดยตำรวจที่เขาเคยซื้อและคิดว่ายังซื้อต่อไปได้

ปัญหายาเสพติดนั้นเป็นปัญหาที่ผมให้ความสำคัญในระดับต้น ๆ สำหรับปัญหาของเยาวชน เพราะเยาวชนที่หลงเข้าไปบนทางเส้นนี้แล้ว โอกาสที่จะเสียคน เสียเวลา เสียอนาคตนั้นมีอยู่ไม่น้อย  ผมไม่ใช่คนแก่ (และยังไม่แก่) ที่ชอบพร่ำบ่นถึงการทำตัวเหลวไหลของเด็ก ๆ เพราะผมเองก็เคยทำอะไรที่เหลวไหลไว้มากเหมือนกันในอดีต

 

ผมรู้จักเด็กคนหนึ่งตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถม 5 พอขึ้นชั้นมัธยม 1 เด็กคนนี้ก็เริ่มหัดสูบบุหรี่ พอขึ้นชั้นมัธยม 2 เทอมปลายก็หัดเสพยาบ้าซึ่งหาได้ง่าย ๆ ในซอยที่อาศัยอยู่ พออยู่มัธยม 3 ก็นำยาบ้าเข้าไปในโรงเรียนเอาไป “ปล่อย” ให้เพื่อนนักเรียนด้วยกัน

เด็กคนนี้ไปโรงเรียนทุกวันแต่แทบไม่เคยเข้าชั้นเรียน บางทีก็ไปหลบอยู่ตามห้องน้ำหรือตามซอกต่าง ๆ ของโรงเรียน

ครูประจำชั้นเรียกแม่ของเด็ก (เด็กคนนี้มีแต่แม่ ไม่มีพ่อ) ให้ไปพบหลายครั้งหลายหนทั้งในเรื่องการขาดเรียน และเรื่องสูบบุหรี่ที่ครูจับได้คาหนังคาเขา แต่ไม่ทำให้อะไรดีขึ้นเลย

แม่ของเด็กตัดสินใจส่งลูกไปเรียนต่อมัธยมปลายที่ต่างจังหวัด แต่ก็ไม่อาจทำให้อะไรดีขึ้นเช่นกัน ซ้ำร้ายยังหนักกว่าเดิมเสียอีก เพราะประสบการณ์จากเมืองกรุงทำให้เด็กตั้งตนเป็นผู้ค้ายาเสพติดรายย่อยได้อย่างง่าย ๆ ในต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตาม เด็กคนนี้เกือบเอาชีวิตไม่รอดเพราะเกิดการ “หักของ” กันกับพ่อค้ารายย่อยกลุ่มอื่น แม่จึงเรียกตัวกลับกรุงเทพ ฯ อีกครั้งในขณะที่การเล่าเรียนก็ถูกยกเลิกไปกลางคัน

แม่ของเด็กคนนี้เล่าให้ผมฟังว่า เคยถึงขนาดยอมกราบเท้าลูกทั้งน้ำตาเพื่อให้ลูกเลิกยุ่งกับยาเสพติด ฝ่ายลูกก็รับปากเป็นมั่นเหมาะว่าจะเลิก ลูกพูดสาบานด้วยความมั่นอกมั่นใจว่าจะเลิก แต่หลังจากสาบานเพียงไม่กี่วันก็กลับไปหายาเสพติดอีก

ปัจจุบัน เด็กคนนี้กลายเป็นพ่อค้ารายย่อยเต็มตัว และยังชักชวน หลอกล่อให้เด็กคนอื่นหันมาเสพยาเสพติดโดยแรก ๆ ก็ให้เสพฟรี ๆ พอติดใจก็เริ่มขาย ใครที่ไม่มีเงินซื้อก็ให้ช่วย “เดินของ”เพื่อแลกกับยา ส่วนแม่ของเด็กนั้นเลิกสนใจไยดีแล้ว เธอบอกว่าต่อให้ลูกถูกตำรวจจับเธอก็จะไม่ขอยุ่ง เธอปวดร้าวมากกับลูกเพียงคนเดียวคนนี้ หากมีเวลาว่างเธอจะหันหน้าเข้าหาธรรมะ นุ่งขาว ห่มขาว ปล่อยวางและทำใจ

ส่วนเด็กคนนี้เล่าให้ผมฟังว่าแม่นั้นคิดถึงแต่ความสุขของตัวเอง ทอดทิ้งเขามาตั้งแต่เด็ก เขาบอกว่าเขาโตมากับการเลี้ยงดูของยาย ป้าและคนอื่น ๆ

เด็กบอกว่า “ถ้าหากพ่อยังอยู่ คงจะไม่เป็นอย่างนี้”

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่ายังมีความดีงามอยู่ในตัวของเด็กดังนั้นเพื่อไม่ให้กลายเป็นเด็กเร่ร่อนหลังจากที่แม่ประกาศตัดหางปล่อยวัด ผมจึงให้เด็กคนนี้มาอาศัยอยู่กับผมชั่วคราว เตรียมตัวสมัครเรียนมัธยมปลายอีกครั้ง และขอให้เด็กเลิกยุ่งกับยาเสพติด เด็กรับปากตามเคยแต่ก็ทำไม่ได้อีกตามเคยเพราะ “แค่ลงจากบันไดก็พบแหล่งที่จะหายาเสพติดได้แล้ว”

ผมโทรศัพท์แจ้ง ปปส.และตำรวจท้องที่หลายครั้งเพื่อให้จัดการแก้ไขปัญหายาเสพติด ครั้งหนึ่งตำรวจถามผมกลับด้วยความหงุดหงิดใจว่า “จะให้ทำอย่างไรล่ะ ผู้ปกครองยังแก้ไม่ได้แล้วตำรวจจะทำอะไรได้”

ผมจำได้ดีว่าตนเองเคยเขียนบทความต่อต้านนโยบายปราบปรามยาเสพติด ซึ่งก่อให้เกิดการฆ่าตัดตอน และทำลายระบบนิติรัฐที่ผู้ต้องหา/ผู้ต้องสงสัยถูกฆ่าโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่ถูกตำรวจวิสามัญและฆ่ากันเอง

ผมจำได้ดีว่าเคยพูดกับเพื่อนว่าสิ่งที่ผมรับไม่ได้กับนโยบาย และการบริหารของพรรคไทยรักไทยมีอยู่สองเรื่องคือปัญหาความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนโยบายยาเสพติดที่ทำให้เกิดการฆ่าตัดตอน

กระนั้นก็ตาม ปัญหาการระบาดของยาเสพติดอย่างหนักในปัจจุบันได้คืบคลานเข้ามาจนเป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นปัญหาที่สร้างความรู้สึกสะเทือนใจ เจ็บปวดแก่ผู้ปกครองของเด็ก ยังความเสียหายแก่ร่างกายและจิตใจของเด็กที่เสพ ผมจึงหวนคิดถึงนโยบายของพรรคไทยรักไทยในเรื่องนี้

ผมอยากให้รัฐบาลชุดที่กำลังจะเข้ามา จัดการจริงจังกับปัญหายาเสพติดอีกครั้งเช่นที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยเคยทำได้โดยนำเอาความผิดพลาดมาแก้ไขปรับปรุง

และอยากจะขอให้ชนชั้นนำรวมทั้งสื่อมวลชนทั้งหลายเพลา ๆ เรื่องการเมืองแล้วหันมองให้ความสำคัญกับปัญหาสังคมอย่างปัญหายาเสพติดที่กำลังระบาดราวกับโรคร้าย ชนชั้นนำและสื่อมวลชน คงจะไม่ตระหนักว่า ในขณะที่ถกเถียงต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายเรื่องการเมืองนั้น มะเร็งร้ายยาเสพติดได้ทำลายเยาวชนไปอย่างไม่อาจแก้ไขย้อนคืนได้.

 

บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
ผมเฝ้ารอคอยดูผลสำเร็จ (หรือไม่สำเร็จ) ของนโยบาย "5 รั้ว" ซึ่งเป็นนโยบายทางด้านยาเสพติดของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด ทำให้ยาเสพติดลดลงได้จริงหรือไม่ "5 รั้ว" ที่ว่าคือ รั้วชายแดน รั้วชุมชน รั้วสังคม รั้วโรงเรียน และรั้วครอบครัว ทั้ง "5 รั้ว" จะช่วยเป็นเกราะป้องกันต้านทานการทะลักเข้ามาของยาเสพติด พร้อมไปกับการปราบปรามอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม
เมธัส บัวชุม
ผมเคยตั้งข้อสังเกตไปแล้วว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ มีความสามารถในการทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ รายการเชื่อมั่นประเทศไทยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้นมีแต่ถ้อยคำลวงโลกว่างเปล่า รัฐมนตรีทำงานแบบขอไปที เอาตัวรอดไปวัน ๆ ทำให้ความเดือดร้อนของประชาชนกลายเป็นความเห็นอกเห็นใจง่าย ๆ และรับปากว่าจะดำเนินการ ทาสีให้พรรคพวกที่ทำผิดกฏหมายกลายเป็นบริสุทธิ์ นโยบายไม่มีอะไรใหญ่และไม่มีอะไรใหม่ ฯลฯ ขณะเดียวกันคนเสื้อแดงก็ฝ่อลง เหมือนหมดมุกจะเล่น เหมือนหมดทางจะไปต่อ เหมือนยอมรับสภาพ
เมธัส บัวชุม
บางครั้งผมถามตัวเองว่าทำไมรู้สึกแย่ถึงขั้นขยะแขยงทุกครั้งที่เห็นหน้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทางจอโทรทัศน์ บางทีฝืนใจดูเพราะอยากรู้ว่านายกรัฐมนตรีคนนี้จะพูดอะไรแต่ก็ต้องเปลี่ยนช่องทันทีที่ได้ฟังประโยคแรก เพราะเพียง "อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่" ผมได้คำตอบเบื้องต้นว่าเหตุที่ไม่ชอบนายกรัฐมนตรีคนนี้อย่างรุนแรงนั้นมีหลายสาเหตุ เป็นต้นว่าการไม่เป็นสุภาพบุรุษ (แพ้ก็ไม่ยอมรับว่าแพ้) ชอบเล่นนอกกติกา (บอยคอตเลือกตั้ง) ขาดความเป็นผู้นำ (ตัดสินใจอะไรไม่ได้) พูดจ้าอ้อมค้อมวกวน (ตอบไม่ได้เรื่องหนีทหาร) เอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่น (โทษคนอื่นตลอด) ทำหน้าซึ้งๆ เศร้าๆ (คิดว่าตนเองเป็นนางเอก) ท่าดีทีเหลว (…
เมธัส บัวชุม
หากให้ลองเอ่ยชื่อปัญญาชนที่เป็นเสาหลักของสังคมไทย แน่นอนต้องมี ส.ศิวรักษ์ รวมอยู่ด้วย จากผลงานมากมายและหลากหลายในอดีตคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธคุณูปการของ ส. ศิวรักษ์ ที่มีต่อสังคมไทยไปได้ ย้อนหลังไปก่อนการเมืองยุคทักษิณ ผมเฝ้าติดตามและชื่นชมผลงานของส.ศิวรักษ์อยู่ห่าง ๆ ชื่อของเขาในฐานะวิทยากรตามงานสัมมนาเป็นเสมือนแม่เหล็กดึงดูดให้ต้องเข้าไปนั่งฟังทัศนะอันกล้าหาญแหลมคม อาจกล่าวได้ว่าเขาคือแรงดลใจและเป็นแบบอย่างให้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าในการต่อสู้กับความ อยุติธรรม
เมธัส บัวชุม
การเมืองไร้หลักการหลังรัฐประหาร ปี 49 นำมาซึ่งเรื่องชวนหัว ขำ ฮา ตลกร้าย ตลกแต่หัวเราะไม่ออก ตลกจนอยากจะร้องไห้ ฯลฯ หลายต่อหลายเรื่องด้วยกัน ในที่นี้อยากจะหยิบยกมาพูดคุยสัก 4 เรื่อง เรื่องแรก ไม่เป็นเหลือง การปลดคุณเสถียร จันทิมาธร บรรณาธิการคู่บุญของเครือมติชนด้วยข้อหาไม่เป็นกลางนั้นฮาครับ แต่หัวเราะไม่ออก การไม่เป็นกลางนั้นไม่เท่าไหร่ แต่ดูเหมือนจะเอียงข้างไปทางเสื้อแดงนี่สิเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ (แต่คนเสื้อแดงหลายคนก็บอกว่าไม่เห็นคุณเสถียรจะเอียงข้างไปทางเสื้อแดงเลย) ในทางกลับกัน รายของ "นงนุช สิงหเดชะ" ซึ่งเขียนด่า (ใช้คำว่าด่า) คนเสื้อแดงและทักษิณมายาวนาน ด่าเอา…
เมธัส บัวชุม
  Iภาพที่ผู้ชายจิกหัวผู้หญิงเสื้อแดง แล้วลากถูลู่ถูกังไปกับถนนด้วยความอาฆาตมาดร้ายท่ามกลางการยืนดูเฉย ๆ ของทหาร นักข่าวและสาธาณชนนั้นน่าสะเทือนใจ ไม่ต่างอะไรกับการมุงดูผู้หญิงที่ถูกข่มขืนในที่สาธารณะ นอกจากไม่คิดจะช่วยแล้ว บางคนอาจจะลุ้นเอาใจช่วยฝ่ายชายอีกต่างหาก
เมธัส บัวชุม
คุณวีระ มุสิกะพงศ์ ไม่เหมาะที่จะเป็นแกนนำคนเสื้อแดงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์สู้รบ การประกาศมอบตัวอุปมาเหมือนแม่ทัพที่ทิ้งทัพกลางศึกด้วยเหตุที่ว่ากลัวไพร่พลและทหารแดงที่เข้าร่วมสงครามจะบาดเจ็บล้มตาย! -------------
เมธัส บัวชุม
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล  นักวิชาการขาประจำผู้ซึ่งเคยเสนอมาตรา 7 เช่น อธิการบดีธรรมศาสตร์ ให้ทัศนะในรายการหนึ่งทางโทรทัศน์ว่าการโฟนอินของทักษิณจะทำให้แนวร่วมเสื้อแดงบางส่วนหายไป จะเหลือก็แต่คนเสื้อแดงแท้ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านต่างจังหวัดเท่านั้นผมได้ฟังแล้วงง มันมี "เสื้อแดงแท้ ๆ" กับ "เสื้อแดงไม่แท้" ด้วยเหรอ ? แล้วคน "เสื้อแดงแท้ ๆ"  ในความหมายของนักวิชาการรายนี้หมายถึงใคร
เมธัส บัวชุม
ถือเป็นความคืบหน้าทางการเมืองอีกขั้น ที่ประชาชนแห่งกองทัพแดงสามารถ "ลาก" เอาประธานองคมนตรีออกมาชันสูตรกันในที่แจ้ง จับแก้ผ้าล่อนจ้อนต่อหน้าสาธารณชน เปลื้องเปลือยรอยตำหนิและแผลเป็นน่าเกลียดไม่เคยมียุคสมัยใดของการเมืองไทยที่ประธานองคมนตรี และองคมนตรีจะโดนเล่นงานขนาดนี้  แต่ปรากฏการณ์การณ์นี้มีที่มาที่ไป ประชาชนตระหนักชัดแล้วว่าทางเดินของระบอบประชาธิปไตยถูกขวางด้วยอำนาจนอกรัฐธรรมนูญมาตลอด โดยที่ครั้งนี้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ โดดเข้ามาเล่นชัดเจน แม้จะเคยบอกว่า "ผมพอแล้ว" แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ดังนั้น "หากองคมนตรีมายุ่งการเมือง…
เมธัส บัวชุม
การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลผ่านพ้นไปแล้วหลายวัน โพลล์บางสำนัก นักวิชาการบางราย สื่อบางเจ้า ทำการสำรวจประเมินความคิดเห็นของประชาชนต่อการอภิปรายครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกหากผลจะออกมาเป็นบวกต่อรัฐบาล ทั้งที่ข้อมูลของคุณเฉลิม อยู่บำรุง นั้นถือเป็นข้อมูลลึกและน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง ผมติดตามการอภิปรายอยู่ห่างๆ หมายถึงดูบ้าง ไม่ได้ดูบ้าง สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้จากคำอธิบาย คำชี้แจงของรัฐบาลคือแทบทุกคนไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือเลย การให้เหตุผลเป็นแบบ "เอาสีข้างเข้าถู" "แก้ตัวแบบน้ำขุ่น ๆ" หรือชี้แจงไม่ตรงกับสิ่งที่ฝ่ายค้านอภิปราย
เมธัส บัวชุม
เป้าหมายของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรกับเป้าหมายของคนเสื้อแดงนั้นไม่อาจกล่าวได้ว่าเหมือนกันเสียทีเดียวหากแต่มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่มาก หมายถึงว่ามีทั้งส่วนที่เหมือนกันและแตกต่างกัน แต่ก่อนจะพูดถึงส่วนที่เหมือนและต่างนั้นต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นกันก่อนว่า คนเสื้อแดงมีหลายประเภท หลายเฉด คนเสื้อแดงมีตั้งแต่กลุ่มฮาร์ดคอร์แบบอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์, จักรภพ เพ็ญแข และสีแดงอ่อนๆ ประเภท "แดงสมานฉันท์" สีแดงมีหลายดีกรีคือมีทั้งพวกอนุรักษ์นิยมอ่อนๆ ,เสรีนิยม ไปจนถึงกลุ่มถอนราก ถอนโคน (radical)
เมธัส บัวชุม
ผมเคยดูวงดนตรีเพื่อชีวิตที่ชื่อ "แฮมเมอร์" แสดงสดหลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระ ดูครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน ยอมรับว่าประทับใจมาก ครั้งต่อ ๆ มาก็ยังประทับใจ ทุกคนในวงตั้งใจเล่น ตั้งใจร้อง นักดนตรีหลายคนสามารถเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชิ้น เดี๋ยวขลุ่ย เดี๋ยวไวโอลิน ดูแล้วเพลิดเพลินนัก แตกต่างจากวงดนตรี "เพื่อชีวิต" ทั่ว  ๆ ไป แม้จะมีหนวดเครายาวรุงรัง แต่แฮมเมอร์ดูสะอาด ไม่มีลีลาหรือพิธีรีตองอะไรมาก ไม่ต้องเก๊กหน้าให้ดูเหมือนกับคนมีความคิดลึกซึ้งหรือดัดเสียงให้ฟังซึ้งเศร้าหรือด่านักการเมืองก่อนเข้าเพลง  วงดนตรีแฮมเมอร์เป็นอะไรที่น่าจดจำอย่างไรก็ตาม…