Skip to main content
นอกเหนือจากการเดินทางระหว่างจังหวัด สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่ฉันจำเป็นต้องใช้เวลาไปนั่งทำงานเพื่อหารายได้เลี้ยงเจ้าสี่ขา เป็นบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ริมถนนสายใหญ่ ด้านหนึ่งเป็นทางรถไฟ ไปอีกไม่ไกลคือท่าอากาศยานดอนเมือง

รถบนถนนแล่นผ่านไปมาด้วยความเร็วสูง รถไฟฉึกฉักผ่านวันละหลายขบวน สลับด้วยเครื่องบินนานาชาติที่ขึ้นลงวันละหลายเวลา ชีวิตที่นั่นส่วนหนึ่งจึงอื้ออึงด้วยเสียงรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน บางครั้งผลัดกันมา บางครั้งก็มาพร้อมๆ กัน


หากไม่เอาเรื่องหูอื้อมาเป็นประเด็น ข้อดีที่ฉันหาได้คือ มันทำให้เราใส่ใจฟังคนอื่นพูดมากขึ้น (ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้ยิน) และรู้จักที่จะเว้นวรรคคำพูดให้ถูกกาลเทศะ เพื่อไม่ให้เสียแรง(พูด) ไปเปล่าๆ

ถึงจะมีโทลด์เวย์เกะกะสายตา ฉันยังมีโอกาสดูละครเมฆบนฟ้า วันดีคืนดีจะมีฝูงแมลงปอบินขึ้นไปอวดปีกใสๆ ถึงข้างหน้าต่างตึก

ริมถนนใหญ่มีคลองเล็กๆ ที่ตื้นเขินเพราะใบไม้ใบหญ้าและขยะอันประกอบไปด้วยถุงพลาสติก ขวด ห่อขนม และกล่องโฟม ถัดเข้ามาเป็นที่ลุ่มรกร้าง มีแอ่งน้ำขังกับดงหญ้าคาสูงท่วมเอว พุ่มกระถินขึ้นแซมกกธูปและกอผักบุ้งที่ใบใหญ่จนน่าตกใจ มีเถาตำลึงเลื้อยอยู่เป็นหย่อมๆ มองเห็นดอกสีขาวกับลูกสุกสีแดงอยู่ตรงนั้นตรงนี้

ในดงหญ้าคามีบ้านพักของคนงานก่อสร้างปลูกติดกันอยู่ประมาณ ๓-๔ หลัง

บ้านเหล่านั้นสร้างขึ้นง่ายๆ ด้วยโครงไม้ยูคา เสาบางท่อนปักอยู่ในแอ่งน้ำ หลังคามุงด้วยสังกะสีและแผ่นป้ายหาเสียง (ผลประโยชน์ที่ประชาชนหยิบฉวยได้ในฤดูเลือกตั้ง)

บางวันฉันเห็นคนงานหญิงเดินเก็บผักบุ้งกับยอดกระถิน มื้อเย็นของเขาคงมีน้ำพริก

หมาเร่ร่อนตัวหนึ่งเดินสะเปะสะปะมาอาศัยร่มเงาของบ้านคนงานก่อสร้าง มันเป็นหมาที่น่าจะผ่านการเป็นแม่มาหลายครั้งแล้ว ดูจากทรวดทรงที่ผอมแห้ง นมเหี่ยวยานยอบแยบแกว่งไปมาเวลาวิ่ง

บ้านกรรมกรไม่ได้มีอาหารมากพอให้มันอิ่มท้องทุกครั้งที่หิว แต่มีร่มเงาให้มันหลบแดดฝน ไม่มีเสียงไล่หรือการทำร้ายทุบตี มันจึงหยุดการเร่ร่อนไว้ที่เพิงสังกะสีริมถนนใหญ่ และถ้ามันคิดเป็น (ซึ่งฉันเชื่อว่าเป็น) มันคงดีใจที่จะได้เลิกเร่ร่อนเสียที

แต่มีบางอย่างที่มันยังไม่รู้

คนทำงานก่อสร้างไม่มีหลักแหล่งถาวร จบงานเก่าก็รื้อบ้านย้ายไปงานใหม่ ทำงานตรงไหน ก็สร้างบ้านตรงนั้น ระยะเวลาของการเป็นเจ้าของบ้าน นานเท่าที่งานเสร็จ

ชีวิตกรรมกร หลายช่วงจึงเป็นชีวิตเร่ร่อน

......................

หลายปีมาแล้ว ขณะที่ทำงานเป็นอาสาสมัครศูนย์เด็กเล็กลูกคนงานก่อสร้างในกรุงเทพมหานคร ฉันเคยเดินตามเด็กๆ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จากฝั่งสาทรไปคลองสาน ด้วยสะพานที่ตอนนั้นยังไม่เปิดให้รถวิ่ง สองฝั่งแม่น้ำมีบ้านพักคนงานอยู่กันหนาแน่นใกล้เคียงชุมชนแออัด

คนงานมาจากแทบทุกภาคของประเทศ บางคนย้ายมาจากงานเดิมด้วยกัน บางคนมาเจอกันงานเดียวแล้วจากกันไป บางคนมาพบรักและอยู่กินกันในบ้านพักมุงสังกะสี ระยะเวลาการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ยาวนานพอที่เด็กหลายๆ คนจะเกิดและเติบโตท่ามกลางกองอิฐ หิน ทราย เหล็ก และกระบะผสมปูน มีเครนและปั้นจั่นแขวนให้แหงนดูแทนพวงปลาตะเพียน

ครั้งนั้น เด็กๆ ลูกคนงานที่เร่ร่อนไปกับพ่อแม่ มักถูกตัดโอกาสเข้าโรงเรียน ด้วยเหตุผลที่ฉันคิดว่าไร้สาระสิ้นดี นั่นคือขาดหลักฐาน ไม่มีทะเบียนบ้านและใบเกิด เนื่องจากอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง เป็นเหตุผลสั้นๆ ที่สามารถปิดกั้นสิทธิเด็กไม่ให้ได้รับการศึกษา เหมือนคนไข้ที่หมอไม่ยอมรับรักษา เพียงเพราะว่าไม่มีเงินจ่าย

ช่วงชีวิตนิดน้อยของเด็กๆ ในศูนย์ฯ อาจทำได้เพียงแค่ท่อง ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก และรู้จักคำด่ามากกว่าการอ่านตัวสะกด

"อยากพาลูกเมียกลับบ้าน แต่ไม่รู้จะมีโอกาสอีกไหม" กรรมกรวัยใกล้ห้าสิบคนหนึ่งบอกฉัน เขามาจากสกลนคร

...................

เย็นวันหนึ่งที่เดินตามเด็กชายเล็กๆ ไปเยี่ยมบ้านของเขา หรือพูดให้ชัดคือเพิงยาวๆ มุงสังกะสีแล้วกั้นเป็นห้องแคบๆ สำหรับคนงาน หมาสีน้ำตาลตัวหนึ่ง วิ่งกระดิกหางเล็กๆ มาหา เด็กน้อยวิ่งเข้าไปอุ้มกอดมันอย่างสนิทสนมรักใคร่

"ไอ้ตาล ไอ้ตาล" เด็กน้อยหัวเราะชอบใจเมื่อหมาเลียแก้ม แล้วหันมาอวดว่า
"นี่ไง ไอ้ตาลของหนู"
ฉันมองความรักของเด็กกับหมาแล้วอดยิ้มไม่ได้  
"ย้ายบ้านไปอย่าลืมพามันไปด้วยนะ"
"ไปไหนเหรอ" เด็กน้อยถามด้วยท่าทางงุนงง แต่แม่ของเด็กที่กำลังให้ลูกคนเล็กดูดนมตอบฉันว่า
"โอ๊ย ลำพังคนยังไม่ค่อยจะพอกินเลยครู เรื่องอะไรจะหอบหมาไปด้วยล่ะ ไม่เอาหรอก"

ถึงไม่เข้าใจเรื่องย้าย แต่คงพอจับความได้เรื่องหมา เด็กรีบพูดว่า"ไม่เอา หนูจะเอาไอ้ตาล"
"มึงไม่ต้องเสือ_ เดี๋ยวกูได้ทิ้งมึงอีกคน" คนเป็นแม่เอ็ดลูก ตามด้วยถ้อยคำหยาบๆ ที่ออกอากาศไม่ได้อีกหลายคำ เด็กน้อยหน้าสลด แต่กอดหมาแน่นขึ้นจนมันครางหงิงๆ

ชีวิตที่ไม่มีหลักประกัน ทำให้บางคนพยายามตัดภาระให้เหลือน้อยที่สุด และบางครั้งก็จำต้องเลือกความอยู่รอดมากกว่ามนุษยธรรม

เมื่องานเสร็จ คนงานรื้อถอนที่พักไปจนหมด สถานที่ที่เคยเป็นบ้าน อาจกลายเป็นลานจอดรถ หรือสถานที่ส่วนบุคคล ที่แม้คนก่อสร้างก็คงไม่มีสิทธิ

ถึงตอนนั้น หมาจะถูกไล่ออกจากที่ที่มันอยู่มาตั้งแต่เกิด มันจะวิ่งวนหาบ้านและครอบครัว(ที่มันคิดว่าเป็น)ของมันอย่างตื่นตระหนก แล้วมันก็ต้องพยายามเอาชีวิตรอดต่อไปในเมืองใหญ่เพียงลำพัง กลายเป็นส่วนเกินของสังคมและต้องถูกจัดการทางใดทางหนึ่ง เพื่อลดปัญหา "หมาเร่ร่อนจรจัด" ที่ตัวมันเองไม่ได้ตั้งใจจะเป็น

ไม่ว่าหมาหรือคน ไม่มีใครอยากมีชีวิตที่ไร้บ้าน
แม่หมาในเพิงพักคนงาน ทำให้ฉันคิดถึงหมาสีน้ำตาลในแหล่งก่อสร้างเชิงสะพานสาทร

............................

แล้วเช้าวันหนึ่ง บ้านพักคนงานริมถนนใหญ่ก็หายไปหมด เหลือเพียงบางส่วนของเสาไม้ระเกะระกะและเศษสังกะสีผุๆ จมอยู่ในแอ่งน้ำ งานก่อสร้างคงจบลงแล้ว คนงานพร้อมครอบครัวและสัมภาระ อาจกำลังโดยสารรถบรรทุกหรือกระบะ เร่ร่อนไปยังที่ไหนสักแห่ง

ฉันถือถุงข้าวเดินหาแม่หมา อดมองไปทางถนนใหญ่ไม่ได้ ภาวนาในใจขออย่าให้เห็นร่างของมันกองอยู่ที่ใดที่หนึ่ง

"ไม่อยู่แล้ว มันไปกับพวกคนงานแล้ว" ใครคนหนึ่งบอกฉัน
"หมายความว่าไงคะ เขาพามันไปหรือมันวิ่งตามรถเขาไป" ฉันถามด้วยความกังวล    
"ได้ยินว่าคนงานเขาเอามันไปด้วย แหม มันมาอยู่กับเขาตั้งหลายเดือน เขาก็คงรักมันมั่งแหละ" ใครคนเดิมตอบ

ฉันรู้สึกโล่งใจ ภาวนาขอให้มันได้ติดตามคนงานกลุ่มนั้นไปจริงๆ แม้ไม่มีที่อยู่ถาวร แต่ขอให้มันได้รับความรักอย่างถาวร

เพราะหากว่าความรักเดินทางไปด้วย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทุกหนแห่งคือบ้าน

........................

*เพลง Home ของธีร์ ไชยเดช

บล็อกของ มูน

มูน
“เธอยังไม่รู้อีกหรือ ว่าแม่อยู่ในกระดูกของเธอตลอดเวลาเชียวละ” The Joy Luck Club     สงสัยว่า แม่กับลูกสาวบ้านอื่นๆ เขาเป็นยังไง ทะเลาะกัน เถียงกัน และทั้งๆ ที่รักกัน แต่บางเวลาก็เบื่อหน่ายกันอย่างฉันกับแม่บ้างหรือเปล่า   ตอนที่ฉันยังเด็ก บ้านเราไม่ร่ำรวย (จะว่าไป ตอนนี้ก็ยังไม่ร่ำรวย พูดง่ายๆ คือไม่เคยรวยเลยดีกว่า) แต่ก็ไม่ได้ยากจนข้นแค้น เพียงแต่เราไม่เคยมีพอที่จะซื้อหาอะไรตามต้องการได้มากนัก บางช่วง ฉันยังพับถุงกระดาษขาย (ร้อยใบได้สิบสลึง) เพื่อหาเงินไปโรงเรียน ทุกเย็นก็เดินเก็บยอดกระถินข้างทางมาจิ้มน้ำปลาพริกป่นกินกับข้าว วันไหนอยากดูโทรทัศน์ก็วิ่งไปชะเง้อดูบ้านคนอื่น…
มูน
ตอนที่แล้ว ฉันบ่นงึมงำเรื่องที่ข้าวสารบ้านสี่ขาเหลือแค่ ๒ กิโล จนต้องลงนั่งกุมขมับ แล้วก็คิดถึงวันหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้ว ที่โรงเรียนบนภูเขาในจังหวัดเลย วันที่ฉันต้องรับบทแม่ครัวจำเป็น เลือกไม่ถูกว่าจะภูมิใจหรือกลุ้มใจ ที่ได้รับเกียรติให้แปรวัตถุดิบมูลค่า ๗๐ บาท อันประกอบด้วยแป้งเส้นใหญ่ ๓ กิโล น้ำมันหมูเป็นไข ๒-๓ ถุง น้ำตาลทราย ๑ ถุง กับสารพัดผักดอย ให้กลายเป็นก๋วยเตี๋ยวราดหน้า โดยมีปากท้องของเด็กน้อยร้อยกว่าคนเป็นเดิมพัน ไม่แน่ใจว่าโชคชะตาแกล้งฉันหรือแกล้งเด็กๆ กันแน่ มาถึงตอนนี้ก็ต้อง(กัดฟัน)เล่าต่อ ว่าสุดท้าย ฉันและเด็กๆ รวมทั้งหมา (ภูเขา)จะลงเอยอย่างไร
มูน
วันหนึ่ง เปิดถังข้าวสารแล้วพบว่า เหลือข้าวหุงให้หมาอยู่ราวๆ ๒ กิโลกรัม ฉันปิดฝาถัง มองเก้าอี้ตัวเล็กที่พลิกคว่ำด้วยการกระโจนของเจ้าแตงกวาหมาบ้าพลัง จับเก้าอี้ขึ้นตั้งให้ถูกด้าน แล้วนั่งลงยกมือกุมขมับ (ตอนแรกว่าจะไปนอนก่ายหน้าผาก แต่ขี้เกียจเดินไปนอนที่แคร่)
มูน
...ตัวเดียวมาไร้คู่ เหมือนเราอยู่เพียงเอกา   ก็เพลงมันพาไป จริงๆ ไม่ได้อยู่เพียงเอกาหรอก มีหมาหมู่นั่งอยู่เป็นเพื่อนตั้งหลายสิบตัว ร้องเพลงนี้ตอนแดดผีตากผ้าอ้อมเริ่มจาง เห็นนก(อะไรไม่รู้) บินเฉียงๆ เป็นหมู่ๆ อยู่เหนือยอดสะเดา (ดอกและยอดงามพรั่งพรู เก็บไปลวกจิ้มน้ำพริกมื้อเย็นนี้ดีกว่า) บ้านสี่ขายามเย็นแสนจะสงบ โค้งฟ้าตะวันตกเป็นสีหมากสุก ลมพัดแผ่วเบาเห่กล่อมใบประดู่ ใจหวนคะนึงถึงความหลัง น้ำใสๆ ก็เอ่อล้นในดวงตา (จะดราม่าไปไหน?)
มูน
หนูเล็กๆ ตัวหนึ่ง วิ่งทะเล่อทะล่าเข้าไปในกรงของสตางค์ “อ้าว เข้าไปทำไมน่ะ” ฉันรำพึงกับตัวเองมากกว่าจะถามหนู ส่วนแม่ที่หันมองตามฉันร้องว้าย “ตายแล้ว ออกมาเร้ว สตางค์อย่านะ” แม่ร้องเตือนหนูและห้ามแมวไปพร้อมๆ กัน ราวกับว่ามันสองตัวจะฟังรู้ภาษา แต่เจ้าสตางค์ที่กำลังนอนหงายผึ่งพุงอยู่ แค่เอียงหน้ามองหนูผู้บุกรุก เหยียดตัวบิดขี้เกียจทีหนึ่ง แล้วพลิกตะแคงไปอีกด้าน หันก้นให้หนูซะอย่างนั้น
มูน
บางครั้ง ฉันคิดว่าตัวเองกำลังจะเหมือนพวกป้าๆ ในหนังสือเรื่อง Island of the Aunts ที่เขียนโดย Eva Ibbotson     ป้าสามคนพี่น้อง อาศัยอยู่บนเกาะกลางทะเลที่ไม่ปรากฏในแผนที่โลก โชคดีที่ไม่มีคนรู้จักเกาะนี้ นอกจากเหล่าแมวน้ำ เงือก นกนางนวล และนานาสัตว์ป่วยจากทวีปต่างๆ ที่พากันเดินทางข้ามมหาสมุทรมายังเกาะที่แสนบริสุทธิ์ เพื่อให้ป้าทั้งสามปลอบโยนและเยียวยาบาดแผลทั้งกายและใจ งานของป้ามีสารพัด เป็นต้นว่า ป้อนนมแมวน้ำกำพร้า ล้างคราบน้ำมันออกจากตัวนางเงือก หาอาหารให้นกบูบรีที่กำลังจะออกไข่ ส่งแมงกะพรุนกลับบ้าน รักษาปลาหมึกตาเจ็บ เก็บขยะที่คลื่นซัดมาบนหาด บางวัน…
มูน
เจ้าสี่ขาตัวเล็กมองลอดซี่กรงออกมาสบตากับฉัน ดวงตากลมโตคู่นั้นใสแจ๋ว เท้าน้อยๆ เขี่ยข้างกรงดังแกรกๆ มันคงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงถูกขัง มันจะรู้ไหมว่ากรงนั้นเปิดได้ มันกำลังรอให้ฉันเปล่อยมันหรือเปล่า
มูน
“จะฝังตรงไหนล่ะคราวนี้” แม่ถาม ในขณะที่ฉันยืนถือเสียมอยู่ข้างบ่อน้ำ กวาดตาไปทั่วบริเวณบ้านสี่ขา หญ้าคาและวัชพืชหน้าฝนแข่งกันแทงยอดท่วมหัวเข่าจนยากที่จะเจาะจงชี้ชัดลงไปว่า ตรงไหนเป็น “ที่” ของใคร นึกแล้วก็น่าที่จะปักป้ายไว้ให้รู้แล้วรู้รอด จะได้ไม่ต้องมาเปลืองหัวคิด แต่ถ้าปักป้ายชื่อไว้เหนือกองดินทุกกองที่เราเคยขุดและกลบฝัง บ้านสี่ขาคงดูคล้ายๆ ภาพประกอบการ์ตูนผีเล่มละบาทสมัยก่อน
มูน
มีชามใหม่ใบหนึ่งวางอยู่ที่ป้ายรถเมล์ ก่อนชามใบนี้ เคยมีขันพลาสติกใบละสิบบาทวางอยู่ ก่อนหน้าขันเป็นกะละมังบุบๆ และก่อนของก่อนหน้ากะละมังบุบ ก็เป็นถาดโฟมที่เคยใส่อาหารมาก่อน
มูน
  เป็นโชคที่ไม่รู้จะจัดว่าร้ายหรือดี ที่ฉันมีโอกาสเข้าสนามม้าตั้งแต่อายุยังไม่ถึงสิบขวบ ภาพสนามหญ้ากว้างใหญ่ไพศาลผุดขึ้นในความทรงจำ รั้วไม้สีขาวเป็นแนวยาว ขนานไปกับเส้นทางเรียบโค้งเป็นวงกลมใหญ่ เหนือสนามขึ้นไป เป็นอัฒจรรย์ที่เต็มไปด้วยเก้าอี้มากมายนับไม่ถ้วน  ในวันเวลานั้น แม่ของฉันทำงานหนักเพื่อหารายได้เพิ่มเติมสำหรับการเลี้ยงลูกเล็กๆ สามคน นอกจากเงินเดือนข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง แม่ยังรับจ้างพิมพ์ดีดในวันเสาร์ และทำงานเป็นคนขายตั๋วแทงม้าในวันอาทิตย์แม่ไม่ชอบสนามม้า แต่คิดว่าเมื่อโชคดีมีงานพิเศษเข้ามาก็ควรจะคว้าไว้ เพื่อให้เรามีค่ากับข้าวเพิ่มขึ้น…
มูน
“มีคนเขาว่าเราไปดูถูกเขาแน่ะ” น้าอู๊ดถีบจักรยานมากระซิบกระซาบบอกฉันที่หน้าบ้านในคืนวันหนึ่ง ก็น้าอู๊ดเจ้าเก่าที่เคยมาเรียกฉันออกไปทัวร์กองขยะตอนเที่ยงคืนแล้วเจอ “ความลับในกระสอบ” นั่นละค่ะ (http://www.prachatai.com/column-archives/node/2522)
มูน
ฉันไม่แน่ใจว่า ไฉไลเป็นเพื่อนบ้าน หรือว่าเป็นสมาชิกสี่ขาอีกตัวหนึ่งของครอบครัว เราพบกันครั้งแรกในเช้าวันหนึ่งเมื่อสองสามปีก่อน เธอนั่งนิ่งอยู่หน้าประตูรั้วบ้าน "มาเที่ยวเหรอ" ฉันถาม แต่ไฉไลเฉย ดูเหมือนเธอสนใจอย่างอื่นมากกว่าฉัน"บ้านอยู่ไหนล่ะจ๊ะ" ฉันนั่งลงถาม พยายามสบตาเธอ แต่เธอยังคงเฉย ตากลมๆ ออกจะโปนๆ เหลือบมองฉันแวบหนึ่ง แล้วมองโน่นนี่ในบ้านอย่างสำรวจตรวจตรา "ตามสบายนะ" ฉันบอก แง้มประตูรั้วไว้หน่อยหนึ่งแล้วออกไปทำงานตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ฉันก็ได้เห็นหน้าไฉไลทุกวัน ไม่ทันสังเกตว่าเธอมาตอนไหนหรือกลับออกไปตอนไหน เห็นทีไร ไฉไลก็มักจะนั่งอยู่ใต้ต้นแก้วบ้าง หมอบข้างๆ กอเฮลิโคเนียบ้าง…