Skip to main content

 

“เด็ก ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายควรได้รับการศึกษา และอยากให้สันติภาพเกิดขึ้นในประเทศของเธอและทั่วโลก...” นี่คือคำให้สัมภาษณ์ครั้งแรกของเด็กหญิงมาลาล่า ยูซุฟไซ หลังจากเธอเริ่มฟื้นตัวจากการอาการบาดเจ็บที่ถูกนักรบตอลีบันจ่อยิง...

      เด็กหญิงต้องการเพียงโอกาสที่จะได้เรียนหนังสือ แต่ความปรารถนาอันเรียบง่ายของเธอนี้ ไม่อาจเป็นไปได้ ในเมืองมินโกราเขตหุบเขาสวัต บ้านเกิดของเธอ ที่ถูกกองกำลังตอลีบันเข้ายึดครองอยู่

      ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก สำหรับผู้ที่ใฝ่ดีย่อมทราบได้ว่า การศึกษาย่อมจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนและครอบครัวให้ก้าวหน้าต่อไปได้ ซึ่งเมื่อรากฐานระดับล่างสุดของสังคมคือครอบครัวมีการพัฒนา ก็ย่อมจะส่งผลถึงความเจริญก้าวหน้าของสังคมนั้นๆอีกต่อไป ซึ่งการศึกษาในที่นี้ ไม่จำกัดว่าจะเป็นการศึกษาในระบบโรงเรียนหรือนอกระบบก็ตาม นอกจากจะต้องทำให้ผู้ศึกษาอ่านออกเขียนได้ และได้รับความรู้ตามศาสตร์แขนงต่างๆแล้ว ยังจะต้องทำให้ผู้ศึกษา”คิด”เป็นอีกด้วย

      เด็กหญิงมาลาล่า ยูซุฟไซ ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาตั้งแต่อายุ 11 ขวบ  เธอเริ่มเขียนข้อความต่างๆเพื่อรณรงค์ให้เด็กหญิงมีโอกาสได้รับการศึกษาลงในบล็อกของ BBC เล่ารายละเอียดในชีวิตประจำวันที่ต้องอยู่ใต้การปกครองของตอลีบัน ซึ่งตอลีบันได้ออกกฎปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของผู้คนในหุบเขาสวัตต่างๆนาๆ

      การเป็นบล็อกเกอร์ ทำให้มาลาล่า เป็นที่รู้จักในสังคม ทำให้เธอได้ปรากฏตัวในหน้าสื่อฯทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาเด็กเขตสวัต(District Child Assembly Swat) ได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลสันติภาพเด็กระหว่างประเทศ และยังได้รางวัลสันติภาพเยาวชนคนแรกของปากีสถานอีกด้วย

      แน่นอน... การปรากฏตัวของเธอย่อมอยู่ในสายตาของตอลีบัน และยิ่งการแสดงออกของเธอเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับความต้องการของตอลีบัน เธอจึงถูกหมายหัว และเย็นวันที่ 9 ตุลาคม 2012 เด็กหญิงก็ถูกชายฉกรรย์นักรบตอลีบันบุกขึ้นไปจ่อยิงศีรษะขณะที่เธอนั่งอยู่บนรถโรงเรียนกำลังที่จะกลับบ้านท่ามกลางสายตาของเพื่อนๆที่ตื่นตระหนก

      วันที่ 15 ตุลาคมปีเดียวกัน เธอถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลควีน อลิซาเทธ เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ เธอมีอาการดีขึ้น สามารถออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อฯได้เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2013 ก่อนที่จะเข้ารับการรักษาใส่กระโหลกศีรษะเทียมเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และยังจะต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกหลายครั้งเพื่อรักษาอาการหูหนวกข้างซ้าย ตอนนี้เธอพักอยู่กับครอบครัวในเขต เวสต์ มิดแลนด์ ประเทศอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลอังกฤษได้อนุญาตให้เธอพำนักได้อย่างถาวร หลังจากที่กลุ่มตอลีบันได้ประกาศว่าจะเอาชีวิตของมาลาล่าให้ได้ หากเธอกลับไปบ้านเกิด

      เธอต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น เธอจึงต้องการการศึกษาที่เสรีอันจะทำให้เธอ”คิด”เป็น สามารถนำสิ่งที่”คิด”ได้นั้นมายกระดับชีวิตของเธอและครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น  หากแต่ความปรารถนาอันเรียบง่ายของเธอนี้กลับได้รับการตอบแทนเป็นกระสุนปืน และความอาฆาตมาดร้าย จนเธอไม่สามารถกลับไปอยู่ในสังคมแห่งนั้นได้

      สังคมอย่างไหนกันที่ไม่อยากให้คนคิดเป็น สังคมอย่างไหนกันที่ปฏิเสธการศึกษา สังคมอย่างไหนกันที่ไม่อยากให้พลเมืองมีความรู้ และสังคมอย่างไหนกันที่ปฏิบัติต่อผู้ที่คิดต่างได้อย่างโหดร้ายทารุณขย้ำเหยื่อที่เป็นเด็กไม่มีทางสู้ได้อย่างโหดร้ายเยี่ยงสัตว์ป่าเช่นนี้ สังคมเช่นนี้จะเดินไปสู้จุดไหน? ไปสู่ความเป็นสังคมอุดมปัญญาหรือ? ไปสู่สังคมแห่งความเท่าเทียมเปี่ยมด้วยเสรีภาพหรือ? ไปสู่สังคมที่พัฒนาแล้วซึ่งมีความเจริญทั้งทางวัตถุและจิตใจละหรือ..?

      ย่อมไม่ใช่ ย่อมเป็นไปไม่ได้ สังคมที่ปฏิบัติต่อผู้ที่เห็นต่างด้วยการเข่นฆ่าทำร้าย หรือจำขังเช่นนี้ ย่อมเดินไปสู่สังคมแห่งความหวาดกลัว สังคมที่มืดมิดจากสิทธิเสรีภาพและสติปัญญา ย่อมก้าวเดินไปสู่สังคมเผด็จการที่ผู้เป็นใหญ่มีอำนาจมีพลังมากกว่าจะปฏิบัติต่อผู้ที่อ่อนแอไร้อำนาจราวกับสัตว์เดรัจฉานโดยไม่มีความคิดคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษย์ชน และเมื่อสังคมที่ผู้ปกครองและชนชั้นผู้ปกครองคิดว่าตนเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่าประชาชนทั่วไป คิดว่าตนเป็นใหญ่ มีอำนาจมาก เป็นเทวดา แนวทางที่เขาจะปกครองสังคมนั้นๆได้ ก็ต้องอาศัยอำนาจเพื่อสร้างภาพหวาดกลัว และต้องสร้างภาพเท็จต่างๆนาๆเพื่อหลอกลวงประชาชนทั้งสังคมนั้นๆ ให้เชื่อว่าชนชั้นปกครองเป็นคนดีมีศีลธรรม เป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะปกครองสังคม เป็นผู้ที่ผู้คนในสังคมไม่ควรตั้งคำถามหรือคิดตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ กล่าวง่ายๆได้ว่า สังคมนั้นจะเป็นสังคมที่อยู่ภายใต้เผด็จการอำนาจนิยม และเป็นสังคมที่ดำรงอยู่ด้วยความเท็จที่ถูกสร้างขึ้นมาหลอกลวงอีกด้วย

      ถามว่าผู้ปกครองในสังคมเช่นนี้จะนำพาผู้คนของเขาและสังคมเดินไปสู่จุดไหน...? มีประวัติศาสตร์มากมายในอดีตให้ศึกษาถึงรัฐจารีตอำนาจนิยมเผด็จการมากหลาย ที่ผู้ปกครองทำตัวเหนือประชาชนราวกับเป็นเทวดา แต่เมื่อถูกรัฐที่ปกครองด้วยหลักสิทธิเสรีภาพ รัฐที่เป็นประชาธิปไตยอันสมบูรณ์พร้อมมากกว่าในพลังสติปัญญาเข้ามารุกรานหรือล่าเมืองขึ้น ก็ต้องยอมแพ้ศิโรราบ อย่างไร้ซึ่งปัญญาจะโต้ตอบ ต้องตกอยู่ใต้อำนาจ เป็นเมืองขึ้น ต้องยอมยกดินแดนในหลายๆส่วนให้แก่รัฐที่มีพลังปัญญานั้น ต้องยอมรับสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งก็เท่ากับตกเป็นเมืองขึ้นของรัฐอันทรงปัญญาในทางกำหมายนั่นเอง

      น่าแปลกว่าผู้ปกครองที่คลั่งเผด็จการอำนาจนิยมเหล่านี้กลับไม่ชอบที่จะศึกษาประวัติศาสตร์เหล่านี้เพื่อนำมาเป็นเครื่องเตือนใจตนเองว่า โลกยุคใหม่ไม่มีพื้นที่ให้แก่รัฐที่ไร้สติปัญญา รัฐที่คลั่งเทวดาจนมืดมิดจากเหตุผลที่เป็นจริง  

      อาจเป็นไปได้ว่า ที่ผู้ปกครองในรัฐคลั่งเผด็จการ ไม่ยอมศึกษาประวัติศาสตร์หรือคิดถึงหลักการเหล่านี้ ก็เพราะว่าชนผู้ปกครองก็เป็นผู้ที่ไร้ซึ่งสติปัญญาที่จะคิดหาแนวทางในการสร้างสังคมที่ดี ที่ยึดหลักสิทธิเสรีภาพ ที่เป็นสังคมอุดมปัญญาซึ่งประชาชนที่ฉลาดในสังคมจะได้ช่วยสร้างความเจริญให้แก่สังคมต่อไป

      หรืออาจเป็นไปได้อีกเช่นกันว่า ผู้ปกครองที่เป็นเผด็จการได้กระทำความเลวทรามต่ำช้าต่อผู้คนในสังคมมาเยอะ แต่ได้ปกปิดและบิดเบือนด้วยการสร้างภาพดีหลอกไว้ จึงกล้วว่า หากประชาชนในสังคมถึงพร้อมด้วยสติปัญญา ได้รับการศึกษาให้”คิด”เป็น แล้ว ความเลวทรามชั่วช้าทั้งหลายที่ตนปิดไว้ในอดีต จะถูกชำแหละ แจกแจง แฉ จนผู้คนในสังคมของตนและในสังคมอื่นๆทั่วโลกเห็นความเลวระยำของตนจนหมดสิ้น ภาพที่สร้างมาไว้หลายสิบปีถูกทำลายย่อยยับ จากเทวดาต้องกลับกลายเป็นสัตว์นรกขี้เรื้อน...

      นี่ก็คงเป็นสิ่งที่จอมเผด็จการรับไม่ได้จริงๆ จึงต้องพยายามหาทางล่อหลอกให้ผู้คนในสังคมหลงเชื่อภาพลวงของตนไปเรื่อยๆ โดยการสร้างภาพว่าตนเป็นเทวดามั้งเป็นผู้เคร่งครัดในศาสนามั่ง พยายามปิดกั้น ครอบงำการศึกษา เพื่อให้ประชาชนใต้ปกครอง”คิด”เองไม่เป็น  กล่าวหาคนที่คิดเองเป็น ว่าถูกปีศาจตะวันตกครอบงำ เป็นข้าทาสความคิดตะวันตก ไม่เข้าใจ ไม่ตระหนักถึงดีงามความยิ่งใหญ่ไม่เหมือนใครที่ดำรงอยู่ในสังคมของตน...

      เด็กหญิงมาลาล่า ยูซุฟไซ อาจไม่อาจไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ เธออาจไม่ได้ตั้งใจต่อสู้เพื่อสิ่งเหล่านี้ แต่เธอต่อสู้เพื่อให้เธอได้เรียนหนังสือ ให้เธอได้รับการศึกษาที่ดี ที่ทำให้เธอสามารถคิดเป็น เพื่อที่เธอได้พัฒนาสติปัญญาของเธอให้สามารถนำมาพัฒนาครอบครัวของเธอให้เจริญก้าวหน้า และเมื่อเด็กหญิงรุ่นๆกับเธอได้รับการศึกษาเหมือนกัน ทุกคนก็ย่อมจะนำเอาสติปัญญาของตนมายกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวของตน เมื่อนั้น สังคมที่เธออยู่ ก็ย่อมจะเจริญก้าวหน้าพัฒนามากขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่นั่นเอง ซึ่งเมื่อสังคมในเมืองหนึ่งๆเจริญขึ้น ก็ย่อมจะส่งผลถึงประเทศนั้นๆที่จะได้รับการพัฒนาให้เจริญขึ้นต่อๆไปนั่นเอง

      มาลาล่าอาจไม่ได้คิดถึงการยกระดับพัฒนาประเทศด้วยพลังสติปัญญา หากแต่สิ่งที่เธอทำ สิ่งที่เธอเรียกร้องก็เป็นการปูแนวทางไปสู้ความเจริญของประเทศนั่นเอง เป็นแนวทางที่เรียบง่ายไหม? พัฒนาคนให้มีปัญญา แล้วให้คนเหล่านั้นเอาปัญญาไปพัฒนาสังคมต่อไป...  

      ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเธอ จึงเป็นสิ่งที่ควรประณาม และรัฐบาลก็ควรตระหนักในการรักษาสิทธิความมั่นคงปลอดภัยแก่ประชาชนของตนมากกว่าที่เป็นอยู่ และควรช่วยเหลือมาลาล่าและครอบครัวอย่างถึงที่สุด เพื่อเป็นการแสดงว่ารัฐบาลให้ความสำคัญแก่ผู้ที่เห็นคุณค่าการศึกษาเพื่อจะได้เป็นการเรียกร้องให้ผู้คนในสังคมที่ยังหวาดกลัว ได้ลุกขึ้นมาสู้ มาร่วมรณรงค์ และมาเข้ารับการศึกษาเรียนรู้ให้มากๆ เมื่อสังคมถึงพร้อมซึ่งผู้คนที่เปี่ยมไปด้วยพลังปัญญา และกล้าที่จะต่อสู้ท้าทายอำนาจมืดเผด็จการ เมื่อนั้นกลุ่มคลั่งศาสนาอย่างตอลีบันก็จะไม่มีพื้นที่ในสังคมในประเทศให้ยืนนั่นเอง

      ในสังคมอเมริกัน คนผิวสีและผิวดำ ต่างให้การยกย่องวีรกรรมของคุณป้าโรซ่า ปาร์ก “ที่เลือกที่จะไม่ยืน” ในวันนั้น  จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอเมริกันในวันนี้ 

      ในฐานะคนที่อยู่ในสังคมอันมืดบอด เต็มไปด้วยความคลั่งเทวดาอย่างไร้สติปัญญาเช่นทุกวันนี้ จึงขอยกย่องการ”เลือกที่จะลุกขึ้นสู้” ของน้องมาลาล่า ยูซัฟไซ ที่”สู้”เพื่อหวังจะให้สังคมของตนเจริญก้าวหน้า เป็นสังคมที่เปี่ยมไปด้วยสติปัญญาและสงบสันติ....ในวันข้างหน้าต่อไป.....

หมายเหตุ : บทความนี้ ไม่ได้กล่าวถึงเพียงแค่น้องมาลาล่า ยูซัฟไซ และสังคมในประเทศปากีสถานเท่านั้น แต่ยังกล่าวถึง ผู้ที่อยู่ในสังคมที่ถูกเผด็จการครอบงำ ควบคุม คุกคาม ทั้งทางกายภาพและทางความคิด และพวกเขา”เลือกที่จะลุกขึ้นยืนสู้” กับอำนาจเผด็จการอันไม่ชอบธรรมนั้น เลือกที่จะทำลายความเท็จที่ปกคลุมสังคม เลือกที่จะทำลายภาพหลอกลวงของเทวดาที่กดหัวพวกเขาไม่ให้ยืนตัวตรงได้อย่างสง่าสมกับที่เป็นมนุษย์ เพื่อที่พวกเขาจะได้สิทธิความเป็นมนุษย์ของตนในวันหน้าต่อไป...

ขอค้อมคารวะ ผู้ที่ต้องเสียชีวิตจากการลุกต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทุกท่าน รวมทั้งท่านผู้ที่ยังถูกจับกุมคุมขังด้วย............... 

บล็อกของ Road Jovi

Road Jovi
      เมื่อวาน ผมได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือจากชายชาวม้งคนหนึ่ง ซึ่งเขามีคนป่วยเรื้อรังเป็นแม่ของเขาเองที่อายุเยอะแล้ว และเป็นโรคกระดุกพรุน ลุกนั่งไม่ได้ ซ้ำมีแผลกดทับอันใหญ่ๆอีกด้วยสองแผล เขาทราบจากเพื่อนบ้านว่าที่องค์กรที่ผมทำงานอยู่สามารถให้ความช่วยเหลือเรื่องผ้าอ้อมผู้ป่วย ยาทา
Road Jovi
เพราะไม่รู้ จึงต้องไปดูให้เห็นกับตา
Road Jovi
     จากการอ่านปาฐกถาของท่านกีรตยาจารย์ ผมพบว่า มีความเห็นบางอย่างที่น่าจะเป็นการมองสังคมอย่างคลาดเคลื่อนไปจึงไคร่อยากจะแสดงความเห็นในมุมของผมบ้างเกี่ยวกับปาฐกถาดังกล่าว ดังนี้
Road Jovi
     ฝนตกกลางคืน  ตอนนี้ก็ยังโปรยปรายเป็นสายและพักหยุดบ้างในบางช่วง  ลมพัดเอื่อยๆเรื่อยๆพาความเย็นมาต้องตัวเป็นพักๆ    เป็นบรรยากาศที่น่านอนหลับสำหรับคนที่อยากหลับ   และเป็นบรรยากาศที่น่าดื่มสำหรับผู้ที่อยากดื่ม       แต่สำหรับนักวิชากล้วยผู้
Road Jovi
     ปลูกกล้วยก็ต้องดูแลรักษา   หากฝนแล้งก็ต้องรดน้ำเพื่อให้มันเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง   จนสามารถให้ผลผลิตคือ   เครือกล้วย   ผลกล้วยและปลีกล้วยได้    ต้นกล้วยก็ต้องการแสงแดดเพื่อสังเคราะห์อาหารหล่อเลี้ยงต้น   ในสวนกล้วยมีต้นมะขามใหญ่ยืนแผ่ร่ม
Road Jovi
     พักหลังมานี่  ผมเหมือนผู้หญิงเป็นเมนส์    คือหงุดหงิดพลุ้งพล่านอารมณ์เดือดได้ง่าย   เมื่อมีใ
Road Jovi
 “คุณครูค่ะ ถ้าหนูเรียนจบ ม.6 หนูมาทำงานกับคุณครูได้ไหมค่ะ...”
Road Jovi
 “เด็ก ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายควรได้รับการศึกษา และอยากให้สันติภาพเกิดขึ้นในประเทศของเธอและทั่วโลก...” นี่คือคำให้สัมภาษณ์ครั้งแรกของเด็กหญิงมาลาล่า ยูซุฟไซ หลังจากเธอเริ่มฟื้นตัวจากการอาการบาดเจ็บที่ถูกนักรบตอลีบันจ่อยิง...
Road Jovi
       ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้ เป็นคำกล่าวของใครก็ไม่รู้ แต่ผมอยากจะแปลงเป็นอย่างนี้ว่า ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้และหนี...  น่าจะเป็นคำกล่าวที่ตรงที่สุด สำหรับการนิยามความหมายให้แก่การดิ้นรนของชาวโรฮิงญาในเวลานี้...