Skip to main content

       การปลูกยางพาราอย่างแพร่หลายในไทย จากที่เมื่อก่อน สวนยางมีแค่ภาคใต้ จนมีคำกล่าวที่ว่า มันปลูกได้เฉพาะในภาคใต้ จวบจนรัฐบาลทักษิณ1 ได้มีโครงการสนับสนุนปลูกยางพารา โดยมีการแจกกล้าพันธุ์ต่างๆให้แก่เกษตรกรในภาคเหนือ อีสาน ยางพาราจึงแพร่ไปเกือบทั่วประเทศ

 

       ตอนนั้น ยางพาราเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และในประเทศอื่นๆแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนก็เพิ่งเริ่มปลูกเช่นกัน เมื่อความต้องการเยอะ แต่ผลผลิตยางยังมีน้อย ราคายางจึงแพง เกษตรกรที่ปลูกยางมานานเช่นที่ภาคใต้ก็จึงร่ำรวยมานาน มีเงินส่งให้ลูกหลานเล่าเรียนสูงๆ จบออกมารับราชการหรือมีเงินลงทุนทำธุรกิจได้สบาย จนสามารถกินหลากหลายได้อย่างมีความสุข หรือคนในภาคเหนือ-อีสาน ผู้ที่ปลูกก่อนในช่วงแรกๆนั้นก็ได้ราคาดี มีเงินเก็บสามารถสร้างบ้านช่อง ซื้อรถราและซื้อที่ดินเพิ่มพื้นที่ปลูกยางได้อีก 

 

       เหตุนี้ จึงยิ่งเป็นสิ่งชักชวนให้คนอื่นๆเริ่มอยากที่จะปลูกด้วย และพื้นที่ปลูกยางพาราก็เพิ่มมากขึ้น หลายคนตัดฟันพืชไร่พืชสวนดังเดิมของตนออก เพื่อเคลียร์พื้นที่ไว้ปลูกยาง และก็มีบ้างที่รุกพื้นที่ป่าสงวนใกล้ที่ทำกินของตนเพื่อเอาปลูกยาง

 

สวนยางรุ่นใหม่ที่เขต อ.ภูซาง จ.พะเยา

 

       เฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือใกล้ๆนี้ ราคาที่ดินขยับสูงขึ้นแบบเกินราคาประเมินไปมาก เพราะมีนายทุนต่างถิ่นโดยเฉพาะคนภาคใต้ขึ้นมากว้านซื้อที่ดินเพื่อทำสวนยางพารา อีกทั้งหลายๆคนก็ขึ้นมาเป็นพ่อค้าคนกลางคอยรับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรในภาคเหนือ บ้างก็มาเพาะพันธุ์กล้ายางขายอีกด้วย ส่วนนายทุน-คนรวย-พ่อเลี้ยงในท้องที่ก็มีการปรับตัว เอาพื้นที่เดิมที่ทิ้งร้างของตนมาเพาะปลูกยางร่วมด้วย หลายๆคนก็ซื้อที่เพิ่มจากชาวบ้านเพื่อนำมาปลูกยาง ส่วนชาวบ้านเมื่อขายที่ดินเดิมไปแล้วก็ต้องรุกพื้นที่ป่าใหม่ต่อไปเพื่อนำที่ดินในป่ามาทำการเกษตร

 

       เมื่อปีก่อนจนถึงปีที่แล้ว ยังนั่งคิดจนปวดหัวว่า จะทำอย่างไรดี ที่เราจะสามารถหยุดยั้งการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าเพื่อเอาที่ดินมาขายและทำการเกษตรของชาวบ้านได้ เพราะการเข้าไปแตะตรงนั้น มันมีกลุ่มอิทธิพลมากมายที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกันอยู่ อย่างแรกคือชาวบ้านผู้รุกป่า นายบ้าน หรือนายทุนย่อยในหมู่บ้านที่คอยสนับสนุนผู้รุกป่า(รับซื้อไม้และผลิตภัณฑ์จากป่า) และผู้ที่เข้าไปซื้อที่ ซึ่งจากที่ได้เข้าไปข้องแวะ มีการรวมตัวแบบหลวมๆของเจ้าหน้าที่รัฐนับแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ไปจนถึง หมอ ตำรวจ ทหาร นักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เข้าไปรับซื้อที่ดินที่มีการบุกรุกป่านั้น ทุกคนรับซื้อแม้จะรู้ทั้งรู้ว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่บุกรุกและไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ 
แต่... ทุกคนก็กล้าซื้อเพราะรู้ว่า ความเป็นผู้มีสีของตนและเจ้าของที่ข้างๆนั้นสามารถป้องกันเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้แน่ๆ ไม่ต้องพูดถึงเจ้าหน้าที่ที่ดิน ที่หากมีการติดต่อไป ด้วยอำนาจอิทธิพลของผู้มีสีทั้งหลายก็ย่อมไม่ยากที่ที่ดินที่เคยเป็นป่าสงวนเหล่านั้นจะได้รับเอกสารสิทธิ์มาแบบไม่ยากนัก(ป่าไม้และอช.ภูสอยดาวมีเรื่องฟ้องร้องที่ดินที่ไปออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่พื้นที่ที่มีการรุกป่า) 


       พูดง่ายๆได้ว่า หากคุณเป็นนักอนุรักษ์ป่าที่จริงจังแบบสืบ นาคะเสถียร เพียงคุณยื่นตีนเหยียบเข้าไปในเขตป่า คุณก็ได้เหยียบตีนใครหลายๆคนแล้ว ความตรงฉินและยึดมั่นในอุดมการณ์จะทำให้คุณเป็นผีเฝ้าป่าได้ง่ายๆแบบที่คิดไม่ถึงเลยทีเดียว...

 

พื้นที่แถบเทือกดอยภูลังกาที่เป็นแหล่งต้นน้ำยม อ.ปง จ.พะเยา ถ่ายเมื่อช่วงแล้งเมื่อสามปีก่อน

 

       จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นนักอนุรักษ์รุ่นใหม่ๆมาเน้นเรื่องการปลูกสร้างจิตสำนึก เพราะเรื่องนี้มันเป็นการอนุรักษ์แบบพิธีการ ทำโครงการบวชป่าบ้าง ปลูกป่าบ้าง พาเด็กทำกิจกรรมวาดรูปเดินป่าบ้าง แล้วหาคนเข้าร่วม ทำกิจกรรมเล็กๆน้อย ติดป้าย ถ่ายรูปแก๊บ แล้วก็สรุปงานส่งให้แหล่งทุนว่านี่คือผลสำเร็จแล้ว เห็นไหม ง่ายมาก ส่วนป่าจะลดลงต่อไป นั่นก็เรื่องของมันเพราะเราทำได้แค่นี้ดีที่สุดแล้ว ประมาณนั้น...

 

กลับมาเรื่องสวนยาง... ความที่เมื่อก่อนยางราคาดี เราก็กลัวมากว่าป่าจะพังหมด หรือแม้แต่สวนผลไม้เช่นลำไย ลิ้นจี่ จะหายไปหมดเพราะเจ้าของสวนตัดทิ้งเพื่อปลูกยาง เมื่อต้นปี ยังได้คุยกับเจ้าของที่บางแห่งเลยว่า อย่าตัดสวนผลไม้ทั้งหมด ของทุกอย่างมีขึ้นมีลง แต่ยางมันกินไม่ได้ ส่วนผลไม้กินได้ ตัดทิ้งหมดเวลาจะกินก็ต้องไปซื้อ แล้วถ้าพื้นที่ปลูกมันมีน้อยราคามันก็จะแพงอีก

 

       ก็ไม่น่าเชื่อว่า ลับหลังไม่กี่เดือน พอทหารปล้นอำนาจประชาชนเข้ามาเป็นนายเหนือหัวประชาชน สถานการณ์ราคายางพาราจะเปลี่ยนไปขนาดนี้ คนใต้ที่เคยกินหลากหลายถึงกับน้ำตานอง หลายคนทนไม่ได้ก็ลาตาย คนเหนือที่กำลังยิ้มหน้าบานก็หน้าซูบ มีแววว่ารถราที่เพิ่งผ่อนจะไปไม่รอด สวนยางหลายสวนที่อายุพอที่จะได้กรีดแล้ว ก็กลับไม่มีการกรีดเปิดหน้ายาง เพราะทำไปก็ไม่คุ้ม ต้องเข้าใจว่า เจ้าของสวนยางมีทั้งชาวบ้านธรรมดาที่พอมีที่สักห้าไร่สิบไร่ก็ปลูกยางแล้วกรีดเอง พร้อมทั้งไปรับจ้างกรีดให้สวนใหญ่ของนายทุนด้วย และส่วนมาก สวนยางที่มีพื้นที่เยอะหน่อยจะเป็นของคนมีตังค์นับแต่ข้าราชการครู หมอ ตำรวจ ทหาร  ที่เห็นราคาตอนที่ดีๆก็รีบซื้อที่ดินและปลูกไว้ ไปจนพ่อค้า นายทุน เถ้าแก่รายใหญ่ๆที่มีที่ดินเป็นพันไร่หมื่นไร่ ซึ่งแน่นอนว่าต้องจ้างคนกรีดเท่านั้น พวกหลังนี้กรีดเองไม่เป็นและไม่สามารถกรีดได้หมดด้วย ต้องจ้างคนมากรีดให้ ปกติก็แบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ 40-60%บ้าง บางที่ที่หาคนยากอาจแบ่งครึ่งต่อครึ่ง

 

สวนยางที่เพิ่งกรีดเปิดหน้ายาง 

       ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อ จะย้อนกลับไปนิดว่า ทำไมรัฐบาลทักษิณจึงสนับสนุนส่งเสริมการปลูกยางพารา นั่นก็เพราะเป็นหนึ่งในโครงการของนโยบายแก้จนของรัฐบาลไทยรักไทยนั่นเอง ซึ่งถามว่าตอนนั้นแก้ได้ไหม ตอบได้ว่า แก้ได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว ส่วนถ้าพูดว่าเพราะโครงการของทักษิณนี่แหละที่ทำให้ยางระบาดไปเยอะจนทำให้ราคาตก ยิ่งมาผนวกกับสถานการณ์ความต้องการในตลาดโลกลดลงช่วงนี้ก็ยิ่งแย่ แย่เพราะทักษิณ อันนี้ เราลองกลับไปดูช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์หากความจำยังไม่เสื่อม เราจะเคยได้เห็นว่าเขาพยายามจะแก้ปัญหานี้โดยการจะรวมเอาประเทศผู้ผลิตยางในภูมิภาคนี้มารวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มผู้ค้ายาง ประมาณคล้ายๆโอเปก ทั้งนี้เพื่อที่ว่า กลุ่มผู้ค้ายางจะได้สามารถกำหนดราคาขายยางในตลาดโลกได้ มีพลังในการต่อรองกับตลาดโลกได้ ประมาณนั้น 


       แน่นอน... เรื่องนี้เราไม่มีโอกาสได้เห็นผลสำเร็จของมันหรอก เพราะยังไม่ได้เริ่มทำ รัฐบาลนั้นก็ตกกระป๋องไปก่อน หากแต่... ถ้าเราคิดเรื่องอำนาจในการเจรจาต่อรองแล้ว ถ้าในตอนนี้มีกลุ่มดังกล่าวเกิดขึ้นมาจริงๆ สถานการณ์ราคายางตกต่ำที่เกิดขึ้นนี้ น่าจะมีการแก้ปัญหาหรือประคองราคาไว้ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่

 

ป่ายางช่วงผลัดใบ

       เอากันแค่ว่า การที่เรามีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมาจากเลือกตั้งของประชาชน นั่นก็ทำให้นานาชาติอารยะทั้งหลายคบค้าสมาคมกับเรา ไม่เลิกคบ ไม่กีดกันทางการค้าอย่างที่เกิดขึ้นในตอนนี้ พอๆกับที่จะสามารถขอความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆกันได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย ราคายางตกต่ำ แต่สินค้าอย่างอื่นสามารถส่งออกไปขายในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆได้ เราก็จัดการค้าขายสินค้านั้นแล้วก็แบ่งเอาเงินกำไรจากตรงนั้นมาตั้งเป็นกองทุนอุดหนุนตรงนี้เพื่อประคับประคองสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปได้ อย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรทำและจำเป็นต้องทำ ซึ่งเชื่อแน่ๆว่า ถ้าเป็นรัฐบาลที่มีผู้บริหารเก่งๆเรื่องเศรษฐกิจการค้าแล้ว เขาจะต้องทำตรงนี้แน่ๆ ทั้งนี้เพื่อประคับประคององคาพยบของสังคมนี้ที่มีทั้งคนรวยคนจน มีการผลิตภายใต้ระบบเศรษฐกิจหลากหลายระดับที่แตกต่างกันให้อยู่รอดพ้นความตกต่ำไปได้เพื่อจะเดินหน้าไปสู่ความเจริญยิ่งๆขึ้นร่วมกัน

 


       ไม่ใช่อย่างรัฐบาลเผด็จการปัจจุบันที่ไม่เคยทำการค้า หาเลี้ยงชีพได้ด้วยการรับราชการกินเงินเดือนจากภาษีประชาชน ที่แม้เศรษฐกิจตกต่ำก็ไม่เคยที่จะถูกลดเงินเดือนลง ซ้ำยังมีการปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่ตนเองและพวกพ้องเพื่อสนองที่ช่วยกันกระทำการยึดปล้นอำนาจอธิปไตยจากประชาชนซะอีก คนพวกนี้ไม่มีทางทำให้สังคมนี้เจริญขึ้นได้หรอก มีแต่จะทำให้เสื่อมเสียและแย่ลงเท่านั้น!!

บล็อกของ Road Jovi

Road Jovi
      เมื่อวาน ผมได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือจากชายชาวม้งคนหนึ่ง ซึ่งเขามีคนป่วยเรื้อรังเป็นแม่ของเขาเองที่อายุเยอะแล้ว และเป็นโรคกระดุกพรุน ลุกนั่งไม่ได้ ซ้ำมีแผลกดทับอันใหญ่ๆอีกด้วยสองแผล เขาทราบจากเพื่อนบ้านว่าที่องค์กรที่ผมทำงานอยู่สามารถให้ความช่วยเหลือเรื่องผ้าอ้อมผู้ป่วย ยาทา
Road Jovi
เพราะไม่รู้ จึงต้องไปดูให้เห็นกับตา
Road Jovi
     จากการอ่านปาฐกถาของท่านกีรตยาจารย์ ผมพบว่า มีความเห็นบางอย่างที่น่าจะเป็นการมองสังคมอย่างคลาดเคลื่อนไปจึงไคร่อยากจะแสดงความเห็นในมุมของผมบ้างเกี่ยวกับปาฐกถาดังกล่าว ดังนี้
Road Jovi
     ฝนตกกลางคืน  ตอนนี้ก็ยังโปรยปรายเป็นสายและพักหยุดบ้างในบางช่วง  ลมพัดเอื่อยๆเรื่อยๆพาความเย็นมาต้องตัวเป็นพักๆ    เป็นบรรยากาศที่น่านอนหลับสำหรับคนที่อยากหลับ   และเป็นบรรยากาศที่น่าดื่มสำหรับผู้ที่อยากดื่ม       แต่สำหรับนักวิชากล้วยผู้
Road Jovi
     ปลูกกล้วยก็ต้องดูแลรักษา   หากฝนแล้งก็ต้องรดน้ำเพื่อให้มันเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง   จนสามารถให้ผลผลิตคือ   เครือกล้วย   ผลกล้วยและปลีกล้วยได้    ต้นกล้วยก็ต้องการแสงแดดเพื่อสังเคราะห์อาหารหล่อเลี้ยงต้น   ในสวนกล้วยมีต้นมะขามใหญ่ยืนแผ่ร่ม
Road Jovi
     พักหลังมานี่  ผมเหมือนผู้หญิงเป็นเมนส์    คือหงุดหงิดพลุ้งพล่านอารมณ์เดือดได้ง่าย   เมื่อมีใ
Road Jovi
 “คุณครูค่ะ ถ้าหนูเรียนจบ ม.6 หนูมาทำงานกับคุณครูได้ไหมค่ะ...”
Road Jovi
 “เด็ก ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายควรได้รับการศึกษา และอยากให้สันติภาพเกิดขึ้นในประเทศของเธอและทั่วโลก...” นี่คือคำให้สัมภาษณ์ครั้งแรกของเด็กหญิงมาลาล่า ยูซุฟไซ หลังจากเธอเริ่มฟื้นตัวจากการอาการบาดเจ็บที่ถูกนักรบตอลีบันจ่อยิง...
Road Jovi
       ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้ เป็นคำกล่าวของใครก็ไม่รู้ แต่ผมอยากจะแปลงเป็นอย่างนี้ว่า ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้และหนี...  น่าจะเป็นคำกล่าวที่ตรงที่สุด สำหรับการนิยามความหมายให้แก่การดิ้นรนของชาวโรฮิงญาในเวลานี้...