Skip to main content

van van

.

รถแว๊นซ์เพื่อชีวิต

เป็นรถแว๊นซ์เพื่อชีวิตจริงๆ เพราะได้วิ่งพาผู้ป่วยเนื้องอกในสมองแล่นไปส่งโรงพยาบาลระยะทาง 100กว่ากิโลเมตร มาแล้วหลายครั้ง

เป็นรถของสามี-ภรรยาคู่หนึ่ง อายุห้าสิบกว่าปี ฐานะยากจน หาเช้ากินค่ำ ไร้ญาติพี่น้อง(ที่มีเหลืออยู่ก็อยู่ไกล)ไม่มีใครช่วยเหลือ

     ภรรยาแอดมิดเข้าโรงพยาบาลประจำอำเภอ ด้วยโรคเนื้องอกในสมอง โรงพยาบาลระดับอำเภอ เป็นโรงพยาบาลเล็ก ไม่สามารถผ่าตัดให้ได้ จึงต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงราย ซึ่งในการนัดตรวจรักษาแต่ละครั้ง สองสามีภรรยาก็ต้องเดินทางไปกันเอง ผู้ป่วยอาการหนัก ไม่สามารถนั่งได้ จะพยุงพาขึ้นรถเมล์ก็ไม่ไหว สามีจึงพานอนไปกับเจ้ารถคันนี้ ขี่ข้ามจังหวัด ระยะทาง100กิโลฯเศษ คนป่วยอ่อนแรง เหนื่อยหนักก็เป็นลม ก็ต้องหยุดพักใต้ร่มไม้ข้างทาง ร้อนหนักก็เป็นลม ก็ต้องแวะพักก่อน การเดินทางไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งของพวกเขาราวกับนักแสวงบุญบำเพ็ญตบะพร้อมวัดดวงว่า จะรอดถึงโรงพยาบาลหรือเปล่า ทำอย่างนี้มาสามครั้ง

     และล่าสุด เมื่อกลางเดือนที่แล้ว ภรรยาก็ปวดท้อง เจ็บในท้องอย่างรุนแรง หมอโรงพยาบาลประจำอำเภอบอกว่าลำไส้อักเสบและอาจจะเป็นมะเร็ง จึงทำเรื่องส่งตัวให้ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายอีกครั้ง

     เพื่อนบ้านเลยแนะนำให้เข้ามาหาเรา องค์กรเล็กๆอย่างเราไม่ได้มีเงินมากมาย แต่ก็พอช่วยได้นิดหน่อย แต่รถก็ไม่ว่างพอดี เพราะ จนท.ก็เอาไปประชุมในตัวจังหวัดในวันนั้นเช่นกัน จึงให้ จนท.ที่อยู่สำนักงาน ลองไปติดต่อขอความช่วยเหลือจาก อบต.ในพื้นที่ ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า ช่วยไม่ได้ ไม่มีงบ( olo ) เลยติดต่อไปหานายอำเภอ ก็พอดีว่า ทางอำเภอมีงบของกิ่งกาชาด สำหรับสงเคราะห์คนยากไร้ ก็เลยได้รับความช่วยเหลือ จริงๆแล้ว รถตู้ของกิ่งกาชาดก็มี แต่วันนั้นพวกเขาก็ไม่ว่างเช่นกัน จึงช่วยอนุเคราะห์มาเป็นค่าเหมารถให้ โดยทางเราก็ให้ จนท.จัดการพาไปส่ง  พร้อมทั้งไปรับอีกด้วย(พวกเขานอนโรงพยาบาลสองคืน)

...........................................

     นี่แหละวิถีชิวิตของคนจน ขนาดคุณมีสวัสดิการสิทธิสามสิบบาท ก็ใช่ว่าคุณจะสามารถเข้าไปรับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลได้อย่างสะดวก ง่ายๆ สบายๆ เพราะค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มันก็เป็นอุปสรรคเยอะอยู่ คนป่วยหนัก อาการร่อแร่ แล้วเป็นคนจน พวกเขาไม่มีทางเลือกให้ชีวิตได้มากมายหรอก จะไปหวังพึ่งใคร? เพื่อนบ้านที่ยากจนเหมือนกันเขาก็มีภาระต้องทำมาหากิน จะหวังพึ่งเขาได้หรือ? ส่วนคนที่มีฐานะดี ก็จะกล้าไปรบกวนเขาเหรอ? ดังนั้น มันก็ต้องพึ่งตัวเอง ทำ เท่าที่ทำได้ รถคันใหญ่ไม่มี ข้ามีซาเล้ง ข้าก็เอามันไปก็ได้

     จะให้ไปเข้าหาองค์กรของรัฐ ผู้ใหญ่นายโตงั้นเหรอ? คนที่จนจริงๆ เขาไม่กล้าหรอก คนจนมองเห็นอาคารใหญ่โตของรัฐเป็นยักษ์ไททันทั้งนั้น พอๆกับที่ หน่วยงานที่โดยตำแหน่งหน้าที่จะต้องคอยช่วยเหลือดูแลชาวบ้านอย่างนี้ก็ชอบปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือพวกเขาด้วย จริงๆ อบต. หรือเทศบาลก็มีงบช่วยเหลือตรงนี้อยู่ แต่ก็อยู่ที่จิตใจและวิสัยทัศน์ของนายกฯและผู้บริหารอีกทีว่า จะเอาใจใส่ช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องนี้หรือเปล่า? เพราะการช่วยเหลืออย่างนี้มันไม่ค่อยมีหน้ามีตา ไม่ได้เปิดงาน ไม่ได้พบปะคนใหญ่คนโตจากหน่วยงานอื่นๆ ไม่ได้กินเลี้ยง ไม่ได้ถ่ายรูปมาติดบอร์ดเป็นผลงานโชว์แขกบ้านแขกเมือง หลายๆที่ก็เลยไม่ค่อยช่วยกัน อีกอย่าง มันเป็นคนจนด้วย...

---------------------------------

     ขนาดมีสิทธิสามสิบบาท คนจนยังเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ยากเย็น ลองนึกว่า หากเป็นเมื่อก่อนตอนที่โครงการสามสิบบาทยังไม่เกิดขึ้น ผู้ป่วยคนนี้ ก็คงได้แต่นอนกินยาต้มรากไม้ และก็เสียชีวิตไปตั้งแต่ตอนที่เนื้องอกในสมองแล้ว จะให้ทำไง? เงินไม่มี เข้าโรงพยาบาลไปนั่งรอหมอครึ่งวันเพื่อรับยาพาราฯแต่ละครั้งก็หมดเงินเป็นร้อย ไม่ต้องพูดถึงการส่งต่อไปโรงพยาบาลใหญ่ เข้าห้องอัลตร้าซาวและผ่าตัดเลย แค่ไปรับยาพาราฯกับโรงพยาบาลประจำอำเภอก็แทบจะเป็นเรื่องเกินฐานะของพวกเขาแล้ว คนป่วยตัดใจ ซื้อยาพาราตามร้านมากินเองสลับกับดื่มยาต้มรากไม้ดีกว่า อย่างน้อยไม่เสียเงินเยอะ และสามีก็จะได้ออกไปทำงานหาเงินได้ ซึ่งเมื่อกลับมาบ้านในสักวัน ภรรยาก็คงได้ออกเดินทางไกลไปแต่เพียงลำพังแล้ว...

นี่คือชีวิตคนจน ที่เป็นอย่างนี้มาหลายรุ่นก่อนจะมีสิทธิสามสิบบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่คนที่มีฐานะ มีสิทธิรักษาพยาบาลที่ดี ไม่เข้าใจ และไม่สนใจ

----------------------------------

     ความถ่างห่างของคุณภาพชีวิตและระดับรายได้ของผู้คนในสังคม ยิ่งมาก ก็ยิ่งแบ่งแยกผู้คนให้แตกต่างและไม่เข้าใจกัน นำไปสู่การเหยียดหยามหมิ่นแคลน และกระทั่งมองเห็นคนที่ด้อยกว่าไม่เป็นคนเท่าเทียมกับตน

     สังคมที่สงบสุข สังคมที่เจริญแล้วจึงพยายามที่จะลดช่องว่างความห่างทางสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้คนให้ลดลง ให้อยู่ในระนาบใกล้ๆกัน เพื่อที่จะได้เข้าใจกัน ไม่มองกันอย่างดูหมิ่น-แตกแยก

.............................................

     ในสังคมด้อยพัฒนาและเป็นเผด็จการแห่งนี้ ก็เคยพยายามทำอย่างนั้นมาก่อน สามสิบบาทรักษาทุกโรคคือหนึ่งในนโยบายเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำนั้น เช่นเดียวกับโครงการอุดหนุนสินค้าเกษตร โครงการสินเชื่อต่างๆ นั่นก็เพื่อทำให้ผู้คนที่มีฐานะต่ำต้อยในสังคมได้ขยับเลื่อนชั้นสถานะของตนเอง  ซึ่งตอนนั้น ทุกอย่างมันก็ก้าวหน้าดีอยู่ คนชนบท เกษตรสามารถลืมตาอ้าปาก มีเงินในกระเป๋า สามารถเข้าเมืองมาซื้อหาจับจ่ายสิ่งของเพื่ออัดฉีดเงินเข้าขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของชาติได้

     แต่เมื่อชนชั้นนำ อีลิตในสังคมที่ทนจะเห็นใครขยับมาใกล้ตนไม่ได้ รู้สึกขัดตา พวกเขาก็นำพาทหาร กองทัพ เข้ามายึดอำนาจและสร้างสรรค์สังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ สังคมที่อุดมด้วยสิทธิ์ของอีลิตชนให้เกิดขึ้นแทน คนพวกนี้ พอใจกับการที่สังคมมีความเหลื่อมล้ำ มีคนที่ต่ำต้อยกว่าตน เพื่อที่ตนจะได้ยืนสูงกว่า ดังนั้น การปฏิรูปใดๆที่พวกเขากล่าวมา ก็ย่อมเป็นไปเพื่อคงสถานภาพความเหลื่อมล้ำในสังคมนี้ไว้เสมอ อย่าได้แปลกใจ ที่โครงการต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านประชาชนจะผุดโผล่ขึ้นมามากมาย ทั้งการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก การให้สัมปทานเหมืองแร่ ขุดก็าซ บ่อน้ำมัน การเข้าตัดฟันต้นไม้และไล่ที่ชาวบ้าน โครงการสร้างเขื่อนและอื่นๆ อีลิตชนไม่แคร์ชาวบ้านอยู่แล้ว โครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคก็เช่นกัน เมื่อได้ลองโยนหินถามทางดูแล้ว ไอ้การจะทุบโต๊ะเพื่อยกเลิกไปก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย อยู่ที่ว่า จะนึกบ้าอยากจะทำวันไหนเท่านั้นเอง

     อย่าลืมว่าสังคมนี้เป็นเผด็จการ เราอยู่กับเผด็จการที่ถือปืนจี้หัวทุกคนไว้อยู่ และมันก็บ้าอำนาจไม่ใช่เล่น...      

บล็อกของ Road Jovi

Road Jovi
      เมื่อวาน ผมได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือจากชายชาวม้งคนหนึ่ง ซึ่งเขามีคนป่วยเรื้อรังเป็นแม่ของเขาเองที่อายุเยอะแล้ว และเป็นโรคกระดุกพรุน ลุกนั่งไม่ได้ ซ้ำมีแผลกดทับอันใหญ่ๆอีกด้วยสองแผล เขาทราบจากเพื่อนบ้านว่าที่องค์กรที่ผมทำงานอยู่สามารถให้ความช่วยเหลือเรื่องผ้าอ้อมผู้ป่วย ยาทา
Road Jovi
เพราะไม่รู้ จึงต้องไปดูให้เห็นกับตา
Road Jovi
     จากการอ่านปาฐกถาของท่านกีรตยาจารย์ ผมพบว่า มีความเห็นบางอย่างที่น่าจะเป็นการมองสังคมอย่างคลาดเคลื่อนไปจึงไคร่อยากจะแสดงความเห็นในมุมของผมบ้างเกี่ยวกับปาฐกถาดังกล่าว ดังนี้
Road Jovi
     ฝนตกกลางคืน  ตอนนี้ก็ยังโปรยปรายเป็นสายและพักหยุดบ้างในบางช่วง  ลมพัดเอื่อยๆเรื่อยๆพาความเย็นมาต้องตัวเป็นพักๆ    เป็นบรรยากาศที่น่านอนหลับสำหรับคนที่อยากหลับ   และเป็นบรรยากาศที่น่าดื่มสำหรับผู้ที่อยากดื่ม       แต่สำหรับนักวิชากล้วยผู้
Road Jovi
     ปลูกกล้วยก็ต้องดูแลรักษา   หากฝนแล้งก็ต้องรดน้ำเพื่อให้มันเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง   จนสามารถให้ผลผลิตคือ   เครือกล้วย   ผลกล้วยและปลีกล้วยได้    ต้นกล้วยก็ต้องการแสงแดดเพื่อสังเคราะห์อาหารหล่อเลี้ยงต้น   ในสวนกล้วยมีต้นมะขามใหญ่ยืนแผ่ร่ม
Road Jovi
     พักหลังมานี่  ผมเหมือนผู้หญิงเป็นเมนส์    คือหงุดหงิดพลุ้งพล่านอารมณ์เดือดได้ง่าย   เมื่อมีใ
Road Jovi
 “คุณครูค่ะ ถ้าหนูเรียนจบ ม.6 หนูมาทำงานกับคุณครูได้ไหมค่ะ...”
Road Jovi
 “เด็ก ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายควรได้รับการศึกษา และอยากให้สันติภาพเกิดขึ้นในประเทศของเธอและทั่วโลก...” นี่คือคำให้สัมภาษณ์ครั้งแรกของเด็กหญิงมาลาล่า ยูซุฟไซ หลังจากเธอเริ่มฟื้นตัวจากการอาการบาดเจ็บที่ถูกนักรบตอลีบันจ่อยิง...
Road Jovi
       ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้ เป็นคำกล่าวของใครก็ไม่รู้ แต่ผมอยากจะแปลงเป็นอย่างนี้ว่า ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้และหนี...  น่าจะเป็นคำกล่าวที่ตรงที่สุด สำหรับการนิยามความหมายให้แก่การดิ้นรนของชาวโรฮิงญาในเวลานี้...