ในขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนบทความชิ้นนี้ เราได้เห็นบรรดานักคว้าดาวปรากฏในหน้าจอของโมเดิร์นไนน์ทีวี และในอีกไม่นานก็คงถึงคราวของรายการ Academy Fantasia ที่จะกลับมาอยู่ในความสนใจกันอีกครั้ง
พูดถึงรายการเรียลิตี้โชว์ทั้ง 2 รายการที่ว่านั่น ดูจะเป็นเส้นทางลัดของบรรดา “นักล่าฝัน” หลายๆ คนที่หวังจะเข้าสู่วงการดนตรี ซึ่งดูจะเป็นเส้นทางที่คนจับจ้อง และหลายคนพร้อมจะกระโดดลงไปหามันมากที่สุด... แม้ในที่สุดเราจะได้เห็นว่า เอาเข้าจริงคนที่ถูกลืมจากเวทีเหล่านี้มีมากกว่าผู้ที่ได้รับชื่อเสียงหลายเท่านัก
แต่ในคราวนี้ ผมจะพูดถึงวงดนตรีวงหนึ่ง ที่เส้นทางการเดินทางของพวกเขาดูจะขรุขระ ไม่ได้มีสปอตไลท์สาดส่อง และไม่ได้มีแฟนคลับคอยเป็นแม่ยกมากมายนัก เอาง่ายๆ ก็คือทางของพวกเขาเป็นเส้นขนานกับเส้นทางของนักล่าฝันเหล่านั้น
วงดนตรีวงนี้เริ่มจากวงดนตรีเล็กๆ จากการรวมตัวของนิสิตร่วมสถาบัน จับพลัดจับผลูได้เล่นในคอนเสิร์ต Live in a Day (คอนเสิร์ตที่จัดโดยนิตยสาร a day) ครั้งแรก เริ่มทำแผ่นซิงเกิ้ลแบบทำเอง – ขายเอง วางขายตามเทศกาลดนตรีต่างๆ ซึ่งแม้จะขายไม่ค่อยได้ แต่ก็พอทำให้มีคนรู้จักพวกเขาในแวดวงอินดี้อยู่พอสมควร
หลังจากนั้นพวกเขาได้ร่วมเป็นหนึ่งในวงที่ริเริ่มก่อตั้งกลุ่ม “โคตรอินดี้” – กลุ่มวงดนตรีเล็กๆ ที่จัดคอนเสิร์ตกันเอง เล่นกันเอง โดยเริ่มจากการเช่าโรงหนังชั้นสองแถวๆ เยาวราชเพื่อเปิดคอนเสิร์ต ก่อนที่จะเริ่มจัดคอนเสิร์ตตามสถานที่ต่างๆ มีคนดูบ้าง ไม่มีคนดูบ้าง ถูกตำรวจปิดงานเพราะเล่นเกินเวลาเที่ยงคืนบ้าง
ในระหว่างนั้นวงดนตรีวงนี้ผ่านการเปลี่ยนแปลงสมาชิก และเริ่มสะสมเพลงของตัวเองมากขึ้น ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ลับคมเขี้ยวทางดนตรีให้แหลมคมขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากนั้นพวกเขาได้มีเพลงไปอยู่อัลบั้ม Compilation อัลบั้ม Tata Tomorrow ของห้องซ้อมดนตรี Tata Studio ของต้าร์ – อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา (จริงๆ พูดชื่อสั้นๆ ว่าคุณต้าร์ แห่งวง Paradox ก็ได้ หรือจะเรียกให้สั้นกว่านั้นว่า “ต้าร์ Paradox” ก็ได้อีก แต่ เอ่อ...ไอ้ที่อยู่ในวงเล็บนี่ มันชักจะยาวเกินไปแล้วนี่หว่า:-P) ร่วมกับวงดนตรีหลายๆ วง (หนึ่งในนั้นคือวง Klear ที่ตอนนี้ไปอยู่ในสังกัด Genie Records ไปแล้ว) ซึ่งมาถึงตอนนี้ พวกเขาได้มีโอกาสทำอัลบั้มเต็มๆ ของพวกเขาสักที หลังจากเริ่มตั้งวงมากว่า 5 ปี โดยได้คุณต้าร์นี่แหละที่ทำหน้าที่ Producer ของอัลบั้ม
อัลบั้มที่ว่านี่ชื่อ Found and Lost และวงดนตรีวงนี้คือวงดนตรี “ภูมิจิต” นั่นเอง
สมาชิกในยุคปัจจุบันของภูมิจิตประกอบด้วยสองสมาชิกรุ่นก่อตั้งคือพุฒิยศ ผลชีวิน (ร้องนำ/กีตาร์/แทมเบอรีน) และเกษม จรรยาวรวงศ์ (กีตาร์) และสองสมาชิกที่เข้ามาเป็นจิ๊กซอว์เติมให้ภูมิจิตสมบูรณ์ขึ้น คือธิตินันท์ จันทร์แต่งผล (เบส) และอาสนัย อาตม์สกุล (กลอง)
เพลงของพวกเขานำเอาจุดที่สวยงามที่สุดของวงดนตรีอิสระออกมาเปล่งประกาย นั่นคือการทำงานเพลงแบบที่ระเบิดทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในความคิดของวงออกมาอย่างหมดจด เราจึงได้ยินเพลงที่เป็นเหมือนไดอารี่ของคนหนุ่มเลือดร้อน ที่ระบายความรู้สึกต่อโลกรอบข้างออกมา ไม่ว่าจะเป็นความบ้าสงครามของอเมริกา (New World Order), ช้างเร่ร่อน (น้ำตาช้าง) เรื่อยไปจนถึงเพลงรักที่บอกเล่าช่วงวินาทีสารภาพรักตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ (ไม่เป็นดังฝัน)
ในภาคดนตรี เพลงของพวกเขาเป็นร็อคที่ได้อิทธิพลจากเพลงฝั่งอังกฤษ ที่เน้นการสร้างบรรยากาศล่องลอยจนก้าวล่วงไปถึงความหลอนด้วยเสียงกีตาร์ที่โรยตัวเหมือนหมอกที่ปกคลุมไปทั่วเพลง ซึ่งเพลงที่น่าจะอธิบายภาพเหล่านี้ได้น่าจะเป็นแทร็กเพลงบรรเลงที่ชื่อ “รักคือความทุกข์ สุขคือนิพพาน” (แค่ชื่อก็เหลือรับประทานแล้วครับ) และเพลง “ทุกวันนั้น” ที่สมบูรณ์แบบจนจะกลายเป็นมหากาพย์ของพวกเขา
โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าถ้าใครตั้งใจ และพยายามทำสิ่งใดก็ตาม เขาก็น่าจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า... ในกรณีของภูมิจิต ผมก็เชื่อว่าจากความพยายามกว่า 5 ปีของพวกเขา ก็น่าจะได้รับสิ่งตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อเช่นกัน
เอาละ... พวกเขาอาจไม่ได้รับการตอบแทนเป็นชื่อเสียงโด่งดัง แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาน่าจะได้แน่ๆ คือการจับตามองจากคนที่ได้ฟังงานของพวกเขา ว่าพวกเขาคือวงดนตรีรุ่นใหม่ที่ฝีมือและความคิดน่าสนใจที่สุดวงหนึ่ง และพอจะฝากฝีฝากไข้วงการดนตรีไว้กับพวกเขาได้
(จริงๆ แล้วจะพูดด้วยตัวอักษร คงไม่เห็นภาพสักเท่าไหร่ หรืออาจจะหาว่าผมเว่อร์ก็ได้ เอาเป็นว่าลองไปฟังบางส่วนของงานของพวกเขาได้ที่ http://www.myspace.com/poomjit ก็แล้วกัน... ส่วนจะชอบงานของพวกเขาหรือไม่ อันนี้ก็แล้วแต่รสนิยมแหละครับ...ผมช่วยอะไรคุณไม่ได้จริงๆ :-P )