Skip to main content

ในขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนบทความชิ้นนี้ เราได้เห็นบรรดานักคว้าดาวปรากฏในหน้าจอของโมเดิร์นไนน์ทีวี และในอีกไม่นานก็คงถึงคราวของรายการ Academy Fantasia ที่จะกลับมาอยู่ในความสนใจกันอีกครั้ง

พูดถึงรายการเรียลิตี้โชว์ทั้ง 2 รายการที่ว่านั่น ดูจะเป็นเส้นทางลัดของบรรดา “นักล่าฝัน” หลายๆ คนที่หวังจะเข้าสู่วงการดนตรี ซึ่งดูจะเป็นเส้นทางที่คนจับจ้อง และหลายคนพร้อมจะกระโดดลงไปหามันมากที่สุด... แม้ในที่สุดเราจะได้เห็นว่า เอาเข้าจริงคนที่ถูกลืมจากเวทีเหล่านี้มีมากกว่าผู้ที่ได้รับชื่อเสียงหลายเท่านัก

แต่ในคราวนี้ ผมจะพูดถึงวงดนตรีวงหนึ่ง ที่เส้นทางการเดินทางของพวกเขาดูจะขรุขระ ไม่ได้มีสปอตไลท์สาดส่อง และไม่ได้มีแฟนคลับคอยเป็นแม่ยกมากมายนัก เอาง่ายๆ ก็คือทางของพวกเขาเป็นเส้นขนานกับเส้นทางของนักล่าฝันเหล่านั้น

วงดนตรีวงนี้เริ่มจากวงดนตรีเล็กๆ จากการรวมตัวของนิสิตร่วมสถาบัน จับพลัดจับผลูได้เล่นในคอนเสิร์ต Live in a Day (คอนเสิร์ตที่จัดโดยนิตยสาร a day) ครั้งแรก เริ่มทำแผ่นซิงเกิ้ลแบบทำเอง – ขายเอง วางขายตามเทศกาลดนตรีต่างๆ ซึ่งแม้จะขายไม่ค่อยได้ แต่ก็พอทำให้มีคนรู้จักพวกเขาในแวดวงอินดี้อยู่พอสมควร

หลังจากนั้นพวกเขาได้ร่วมเป็นหนึ่งในวงที่ริเริ่มก่อตั้งกลุ่ม “โคตรอินดี้” – กลุ่มวงดนตรีเล็กๆ ที่จัดคอนเสิร์ตกันเอง เล่นกันเอง โดยเริ่มจากการเช่าโรงหนังชั้นสองแถวๆ เยาวราชเพื่อเปิดคอนเสิร์ต ก่อนที่จะเริ่มจัดคอนเสิร์ตตามสถานที่ต่างๆ มีคนดูบ้าง ไม่มีคนดูบ้าง ถูกตำรวจปิดงานเพราะเล่นเกินเวลาเที่ยงคืนบ้าง

ในระหว่างนั้นวงดนตรีวงนี้ผ่านการเปลี่ยนแปลงสมาชิก และเริ่มสะสมเพลงของตัวเองมากขึ้น  ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ลับคมเขี้ยวทางดนตรีให้แหลมคมขึ้นเรื่อยๆ

หลังจากนั้นพวกเขาได้มีเพลงไปอยู่อัลบั้ม Compilation อัลบั้ม Tata Tomorrow ของห้องซ้อมดนตรี Tata Studio ของต้าร์ – อิทธิพงศ์ กฤดากร ณ อยุธยา (จริงๆ พูดชื่อสั้นๆ ว่าคุณต้าร์ แห่งวง Paradox ก็ได้ หรือจะเรียกให้สั้นกว่านั้นว่า “ต้าร์ Paradox” ก็ได้อีก แต่ เอ่อ...ไอ้ที่อยู่ในวงเล็บนี่ มันชักจะยาวเกินไปแล้วนี่หว่า:-P) ร่วมกับวงดนตรีหลายๆ วง (หนึ่งในนั้นคือวง Klear ที่ตอนนี้ไปอยู่ในสังกัด Genie Records ไปแล้ว) ซึ่งมาถึงตอนนี้ พวกเขาได้มีโอกาสทำอัลบั้มเต็มๆ ของพวกเขาสักที หลังจากเริ่มตั้งวงมากว่า 5 ปี โดยได้คุณต้าร์นี่แหละที่ทำหน้าที่ Producer ของอัลบั้ม

อัลบั้มที่ว่านี่ชื่อ Found and Lost และวงดนตรีวงนี้คือวงดนตรี “ภูมิจิต” นั่นเอง

20080418 poomjit

สมาชิกในยุคปัจจุบันของภูมิจิตประกอบด้วยสองสมาชิกรุ่นก่อตั้งคือพุฒิยศ ผลชีวิน (ร้องนำ/กีตาร์/แทมเบอรีน) และเกษม จรรยาวรวงศ์ (กีตาร์) และสองสมาชิกที่เข้ามาเป็นจิ๊กซอว์เติมให้ภูมิจิตสมบูรณ์ขึ้น คือธิตินันท์ จันทร์แต่งผล (เบส) และอาสนัย อาตม์สกุล (กลอง)

เพลงของพวกเขานำเอาจุดที่สวยงามที่สุดของวงดนตรีอิสระออกมาเปล่งประกาย นั่นคือการทำงานเพลงแบบที่ระเบิดทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในความคิดของวงออกมาอย่างหมดจด เราจึงได้ยินเพลงที่เป็นเหมือนไดอารี่ของคนหนุ่มเลือดร้อน ที่ระบายความรู้สึกต่อโลกรอบข้างออกมา ไม่ว่าจะเป็นความบ้าสงครามของอเมริกา (New World Order), ช้างเร่ร่อน (น้ำตาช้าง) เรื่อยไปจนถึงเพลงรักที่บอกเล่าช่วงวินาทีสารภาพรักตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ (ไม่เป็นดังฝัน)

ในภาคดนตรี  เพลงของพวกเขาเป็นร็อคที่ได้อิทธิพลจากเพลงฝั่งอังกฤษ ที่เน้นการสร้างบรรยากาศล่องลอยจนก้าวล่วงไปถึงความหลอนด้วยเสียงกีตาร์ที่โรยตัวเหมือนหมอกที่ปกคลุมไปทั่วเพลง ซึ่งเพลงที่น่าจะอธิบายภาพเหล่านี้ได้น่าจะเป็นแทร็กเพลงบรรเลงที่ชื่อ “รักคือความทุกข์ สุขคือนิพพาน” (แค่ชื่อก็เหลือรับประทานแล้วครับ) และเพลง “ทุกวันนั้น” ที่สมบูรณ์แบบจนจะกลายเป็นมหากาพย์ของพวกเขา

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าถ้าใครตั้งใจ และพยายามทำสิ่งใดก็ตาม เขาก็น่าจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า... ในกรณีของภูมิจิต ผมก็เชื่อว่าจากความพยายามกว่า 5 ปีของพวกเขา ก็น่าจะได้รับสิ่งตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อเช่นกัน

เอาละ... พวกเขาอาจไม่ได้รับการตอบแทนเป็นชื่อเสียงโด่งดัง แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาน่าจะได้แน่ๆ คือการจับตามองจากคนที่ได้ฟังงานของพวกเขา ว่าพวกเขาคือวงดนตรีรุ่นใหม่ที่ฝีมือและความคิดน่าสนใจที่สุดวงหนึ่ง และพอจะฝากฝีฝากไข้วงการดนตรีไว้กับพวกเขาได้

(จริงๆ แล้วจะพูดด้วยตัวอักษร คงไม่เห็นภาพสักเท่าไหร่ หรืออาจจะหาว่าผมเว่อร์ก็ได้  เอาเป็นว่าลองไปฟังบางส่วนของงานของพวกเขาได้ที่ http://www.myspace.com/poomjit  ก็แล้วกัน... ส่วนจะชอบงานของพวกเขาหรือไม่ อันนี้ก็แล้วแต่รสนิยมแหละครับ...ผมช่วยอะไรคุณไม่ได้จริงๆ :-P )

บล็อกของ เด็กใหม่ในเมือง

เด็กใหม่ในเมือง
คุณรู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับข่าวการเมืองในตอนนี้บ้างหรือเปล่าครับ? เอาเข้าจริง ถ้าคุณเป็นคนปกติทั่วไป แม้ว่าจะสนใจการเมืองมากขนาดไหน แต่ถ้ารับปริมาณข่าวการเมืองจากหลากหลายฝ่ายถี่ๆ มันก็พาลจะเกิดอาการเอียน พาลให้ท้องเฟ้อ เรอเหม็นเปรี้ยว หรือหนักๆ เข้าอาจจะเล่นเอาอ้วกแตกเอาง่ายๆ (อันนี้ผมขอยกเว้นบรรดานักเสพติดการเมืองตามบรรดาเวบบอร์ดการเมืองต่างๆ นะ ไม่รู้ว่าพวกพี่แกกินอะไรกัน ถึงได้สนใจเรื่องพรรค์นี้กันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย) และด้วยภาวะการเมืองอันชวนพะอืดพะอมแบบนี้ อาจทำให้หลายๆ คนไม่มีอารมณ์จะสนใจเรื่องหนัง ละคร รวมถึงเรื่องบันเทิงเริงใจต่างๆ…
เด็กใหม่ในเมือง
ตั้งแต่เขียนคอลัมน์ “บ้านบรรทัดห้าเส้น” แบบขาดๆ หายๆ มาได้หลายปีนั้น มีบทความแบบหนึ่งที่ผมพยายามเขียนมามากครั้ง...แล้วก็เขียนไม่ค่อยได้สักที บทความประเภทที่ว่าก็คือรายงานคอนเสิร์ตนั่นเอง ด้วยความที่ผมมักหาเรื่องไปดูคอนเสิร์ตทั้งฟรี และไม่ฟรีอยู่เสมอๆ นัยว่าเพื่อเป็นการหาประสบการณ์ทางดนตรี เพื่อเพิ่มพูนความรู้เรื่องดนตรีไปด้วย (...ข้ออ้างดังกล่าวฟังดูสวยหรูนะครับ แต่มันเป็นเหตุผลที่ผมจะเก็บเอาไว้อธิบายให้แฟนตัวเองเข้าใจ เวลาที่เธอบ่นถึงราคาบัตรคอนเสิร์ตที่ผมจ่ายไปในแต่ละเดือน) พอได้ดูคอนเสิร์ตแต่ละครั้ง แล้วได้เจออะไรดีๆ ก็อยากจะเอามาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง แต่พอจะเริ่มต้นเขียน…
เด็กใหม่ในเมือง
แม้ว่าช่วงนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นช่วงตกต่ำของวงการดนตรีไทย ด้วยยอดขายของซีดีที่นับวันจะต่ำเตี้ยติดดินลงทุกที แต่ถ้าเรามองกันถึงเนื้องาน ในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้มีงานที่น่าสนใจออกมาหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานของภูมิจิตที่ผมพูดไปถึงเมื่อคราวที่แล้ว, โปรเจ็กต์โฟล์คของคุณมาโนช พุฒตาลที่เริ่มต้นด้วยซิงเกิ้ล “อยู่อยุธยา” (ทั้งนี้ไม่นับรวมถึงงานที่ผมสนใจด้วยความลำเอียงล้วนๆ อย่างอัลบั้มใหม่ของโฟร์ – มด... แหม ก็น้องมดเขาน่ารักนี่ อิอิ...)รวมถึงงานชิ้นนี้ที่ผมจะพูดถึงในครั้งนี้ด้วยผมกำลังจะพูดถึงอัลบั้ม “ต้นฉบับเสียงหวาน” ของ “สวีทนุช” ครับ
เด็กใหม่ในเมือง
ในขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนบทความชิ้นนี้ เราได้เห็นบรรดานักคว้าดาวปรากฏในหน้าจอของโมเดิร์นไนน์ทีวี และในอีกไม่นานก็คงถึงคราวของรายการ Academy Fantasia ที่จะกลับมาอยู่ในความสนใจกันอีกครั้งพูดถึงรายการเรียลิตี้โชว์ทั้ง 2 รายการที่ว่านั่น ดูจะเป็นเส้นทางลัดของบรรดา “นักล่าฝัน” หลายๆ คนที่หวังจะเข้าสู่วงการดนตรี ซึ่งดูจะเป็นเส้นทางที่คนจับจ้อง และหลายคนพร้อมจะกระโดดลงไปหามันมากที่สุด... แม้ในที่สุดเราจะได้เห็นว่า เอาเข้าจริงคนที่ถูกลืมจากเวทีเหล่านี้มีมากกว่าผู้ที่ได้รับชื่อเสียงหลายเท่านักแต่ในคราวนี้ ผมจะพูดถึงวงดนตรีวงหนึ่ง ที่เส้นทางการเดินทางของพวกเขาดูจะขรุขระ ไม่ได้มีสปอตไลท์สาดส่อง…
เด็กใหม่ในเมือง
จริงๆ แล้วผมตั้งใจจะประเดิมคอลัมน์ใหม่นี้ ด้วยการเขียนถึงหนังเรื่อง "รักแห่งสยาม" (ที่เขียนเสียช้าขนาดนี้ ก็เพราะผมเพิ่งได้ดูหนังเรื่องนี้จากรอบพิเศษที่ชาว pantip.com ร่วมกันจัดขึ้น) แต่ก็มีเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ผมเปลี่ยนใจกระทันหัน เหตุผลที่ว่านั่นก็คือการยุติรายการของคลื่นวิทยุ 99.5 The Radio ครับ ถ้าใครได้ติดตามแวดวงวิทยุในกรุงเทพฯ (หรือถ้าไม่ได้ตามในกรุงเทพฯ จะฟังวิทยุทางเนตก็เช่นกัน) รวมถึงเป็นนักฟังเพลงสากลอยู่บ้าง คงจะรู้จักรายการนี้ในฐานะที่เป็นแหล่งรวมนักจัดรายการระดับ "เทพ" ของวงการวิทยุเมืองไทย ตั้งแต่คุณหมึก - วิโรจน์ ควันธรรม, คุณมาโนช พุฒตาล, คุณเดือนเพ็ญ สีหรัตน์,ป้าแต๋ว - วาสนา…