เรื่องราวของเด็กคนที่หนึ่ง
ครูสั่งให้เด็กทำงานฝีมือ เป็นงานพวกเย็บปักถักร้อย เด็กหญิงคนนี้ก็เย็บตุ๊กตา ด้วยฝีมือที่ปรานีต ด้วยความตั้งใจอย่างที่สุด และเธอก็ได้ตุ๊กตาที่สวยสมใจ และเป็นความภาคภูมิใจที่เธอทำมันขึ้นมาด้วยตัวเอง และเมื่อถึงเวลาส่งงาน ครูก็กล่าวหาว่าเธอให้แม่ทำให้ และคาดคั้นให้เธอยอมรับว่า งานนี้แม่เธอทำให้ เธอไม่ได้ทำด้วยตัวเอง เด็กหญิงยืนยันว่าเธอทำมันเองด้วยความตั้งใจ แต่ครูก็ไม่เชื่อ แล้วก็ยังคาดคั้นให้เธอยอมรับให้ได้อยู่นั่นเอง ทั้งขู่ว่า ถ้าไม่ยอมรับ จะเรียกผู้ปกครองมาพบ ไม่ว่าเด็กหญิงจะพูดอย่างไร ครูก็ไม่มีทางเชื่อ ในที่สุดครูก็เชิญผู้ปกครองมาพบ แต่กระนั้น ไม่ว่าอย่างไร ครูก็ยังเชื่ออยู่นั่นเองว่า งานชิ้นนี้หาใช่ฝีมือเด็กผู้หญิงอายุสิบขวบไม่ แต่หลายวันต่อมา เมื่อมีงานแสดงผลงานของเด็ก ครูก็ยังมาขอตุ๊กตาตัวที่แกไม่เชื่อว่านี่เป็นผลงานของเด็กอายุสิบขวบ ไปแสดงร่วมกับงานชิ้นอื่นๆ โดยมิได้ละอายใจ
เรื่องราวของเด็กคนที่สอง
ที่วัดป่าอันเป็นที่สงัดวิเวกที่มีผู้คนรุ่นใหม่เข้ามาศึกษาปฏิบัติธรรมเป็นที่น่าสรรเสริญ น่ายินดี คราวหนึ่งด้วยความที่ในวัด มีคนรุ่นใหม่ นักกิจกรรมมาอยู่ร่วมกันมากหน้าหลายตา จึงมีการคิดกันว่าน่าทำจุลสารเล็กๆ ของวัด เพื่อแบ่งปันเรื่องราว ประสบการณ์ แจกจ่ายแกญาติธรรมที่มาที่วัด หรือให้กับคนทั่วไป จุลสารเล็มน้อยก็เชื้อเชิญให้ผู้คนในวัดทั้งพระทั้งฆราวาส รวมถึงสามเณร ที่มีอยู่รูปเดียวในวัด เณรน้อยอายุสิบสองขวบ เมื่อทุกคนส่งงานเขียน พระที่ทำหน้าที่บรรณาธิการก็มาพูดกับเณรน้อยว่า งานของเณรไม่เอาลงนะ เพราะเณรไปลอกเขามา ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไร พระก็หาเชื่อไม่ ด้วยเขาเชื่ออย่างสนิทใจว่า เด็กอายุสิบสองที่ไหนจะมีปัญญาเขียนงานได้ขนาดนี้
ภาพยนตร์คลาสสิกเรื่องหนึ่งของฮอลลีวูด Dead Poet Society ครูคิตติงอธิบายความตอนหนึ่งให้อาจารย์ใหญ่ฟังว่า ทำไมถึงพาเด็กออกไปเดินที่สนาม ว่า เพื่อให้เด็กได้เห็นอันตรายของการทำอะไรตามกัน เพื่อให้เขาได้เป็นตัวของตัวเอง มีความคิดความอ่านเป็นของตัวเอง อาจารย์ใหญ่พูดสวนออกมาว่า เด็กอายุสิบเจ็ดเนี่ยนะ...
บ่อยครั้งที่คนก็จำไม่ได้เสียแล้วว่าตัวเองเคยเป็นเด็ก.......
เรื่องเล่าที่หนึ่ง เหตุที่ครูไม่เชื่อ นั่นเป็นเพราะว่า เมื่อวัยเด็ก หรือกระทั่งโตขึ้น เขาไม่เคยทำอะไรได้เช่นนั้น เขาก็จึงคิดว่าไม่มีใครในหล้าที่จะทำได้เช่นกัน เรื่องเล่าที่สอง พระบรรณาธิการ ก็เป็นนักเขียนที่ไม่ประสบผลสำเร็จนักหรือเปล่า ท่านจึงไม่เชื่อว่าเด็กอายุสิบสองจะทำได้ ด้วยเมื่อท่านอายุสิบสอง หรือโตว่านั้น ท่านยังทำไม่ได้เลย ดูเหมือนครูจากเรื่องเล่าที่หนึ่ง และบรรณาธิการในเรื่องเล่าที่สอง ก็ไม่ได้เชื่อสิ่งที่ตัวเองจะทำ ครูไม่เชื่อเด็ก พระก็ไม่เชื่อเด็ก เขาสอนเด็กได้อย่างไรกัน
ในโลกปัจจุบัน ดูเหมือนมีคนมากมายที่ไม่ได้เชื่อสิ่งที่ตัวเองทำ หลายครั้งผู้คนพูดถึงสิ่งที่ตัวเองทำ คล้ายเชื่อมัน แต่แล้ววันหนึ่งหลายคนก็แสดงออกให้เห็นว่า สิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาพูดในระยะเวลาหนึ่งนั้นก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า การหาเลี้ยงชีพเท่านั้นเอง คำพูดที่งดงามคำหนึ่งจากหนึ่งเรื่องสิบห้าค่ำเดือนสิบเอ็ด “เฮ็ดในสิ่งที่เซื่อ เซื่อในสิ่งที่เฮ็ด” เพียงแค่นี้มนุษย์ก็คงได้ซื้อสัตว์ต่อจิตวิญญาณของตัวเอง......