ความโหดร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่ทำให้มียอดคนตายถึง 6 ล้านคนนั้นมีประเด็นและเรื่องราวให้พูดถึงได้ไม่รู้จบกระทั่งปัจจุบัน ศิลปะภาพยนตร์และวรรณกรรมเรื่องแล้วเรื่องเล่าที่นำเอาการฆาตกรรมหฤโหดมาเสนอในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ถึงความไร้เหตุผลของมนุษย์ที่นำไปสู่การทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งมนุษย์ด้วยกันเอง
“ชะตาลิขิต” วรรณกรรมแปลจากสำนักพิมพ์นานมีบุ๊ค เป็นอีกเล่มหนึ่งที่พูดถึงเรื่องนี้โดยตรงและพรรณนาสภาพเหตุการณ์ที่เกิด ขึ้นในตอนนั้นไว้อย่างละเอียดลออทั้งนี้เพราะตัวผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มี ประสบการณ์ตรงจากการถูกกวาดต้อนเข้าไปอยู่ในค่ายกักกันตั้งแต่เด็ก และทุกข์ทรมานอยู่ในค่ายนรกนั้นหลายปีกระทั่งสงครามสงบ เขาเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตไม่กี่คนที่กลับมาบอกเล่าให้คนรุ่นหลังได้ยินและ ได้อ่านกัน
“ทองแท้” แปลงานชิ้นนี้มาจากผลงานของนักเขียนรางวัลโนเบล “คาลติช อิมเร่” เขาเป็นนักเขียนชาวฮังการีเชื้อสายยิว เกิดที่กรุงบูดาเปสต์ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองไม่นาน แม้ว่าตอนนั้นเขาอายุเพียง 14 ปีแต่ก็เป็นเช่นเดียวกับยิวคนอื่น ๆ ในยุโรปคือถูกส่งเข้าค่ายกักกันเมื่อนาซีเยอรมันแผ่ขยายอำนาจในมหาสงคราม
เขาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความเป็นยิวของตนเองที่ทำให้เขาต้องประสบเคราะห์กรรม หลังรับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ค.ศ. 2002 ว่า
“ผมไม่ใช่ยิวที่เคร่งครัดนักแต่เพราะผมเป็นยิว ผมจึงถูกส่งไปเอาส์ชวิตส์ เพราะผมเป็นยิว ผมถึงต้องอยู่ในค่ายมรณะนั้นและเพราะผมเป็นยิว ผมจึงต้องทนอยู่ในสังคมที่เกลียดยิว สังคมที่มีอคติต่อคนยิวสูงมาก ผมมีความรู้สึกว่า ผมถูกบีบบังคับให้ยอมรับความเป็นยิว ใช่ ผมเป็นยิว ผมยอมนับแต่มันหนักหนาเกินไปกับการที่จะลงโทษผม แค่เพราะผมเป็นยิว” (คำนำสำนักพิมพ์)
“ชะตาลิขิต” เป็นวรรณกรรมที่เรียกได้ว่า “หนัก” อย่างแท้จริง อัดแน่นไว้ด้วยรายละเอียดของสภาพภายในค่ายกักกัน และให้ความสำคัญกับการบรรยายสิ่งละอันพันละน้อยที่เกิดขึ้นในค่ายกักกันชนิดที่อ่านแล้วรู้สึกเบื่อ เป็นสัจนิยมแท้ ๆ ที่ตั้งอกตั้งใจบรรยายฉากและสิ่งที่ปรากฎรอบตัวเหมือนกับว่าต้องการให้ผู้อ่านเข้าไปสัมผัสเรื่องราวให้มากที่สุด นี่เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของวรรณกรรมในแนวนี้ที่ผู้เขียนมีส่วนร่วมโดยตรง
อย่างไรก็ตาม ความเจ็บปวดของคนอื่นนั้นเป็นสิ่งไม่มีใครอยากรับรู้ ไม่มีใครต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมกับความทุกข์ของคนอื่น การนำผู้อ่านเข้าไปสู่โลกแห่งการกักกันอันทรมานแบบที่ชาวยิวได้รับจะทำให้ผู้อ่านพลอยเหน็ดเหนื่อยไปด้วย
ผู้เขียนเล่าเรื่องผ่านมุมมองของเด็กหนุ่ม ที่เฝ้ามองอย่างงุนงงกับการจากไปของพ่อสู่ค่ายกักกัน ถัดจากพ่อไม่นานนักก็ถึงคราวของเขาเอง ในเวลาต่อมาเมื่อเข้าไปในค่ายแล้ว เขาก็ได้พบกับสิ่งที่เขาไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้เจอ
“ผมกลายเป็นคนแก่เฒ่าเหี่ยวเฉาภายในเวลาอันสั้น ถ้าอยู่บ้าน กว่าจะแก่ชราขนาดนี้ต้องใช้เวลาห้าสิบถึงหกสิบปีแน่ ๆ แต่อยู่ที่นี่เพียงสามเดือนก็นานพอทำให้ร่างกายผมทรุดโทรมลงพอกันได้แล้ว ผมว่าไม่มีสิ่งใดน่าเศร้าไปกว่าการคอยนับวันแต่ละวันที่ร่างกายของเราค่อย ๆ ตายลงไป ปกติร่างกายผมแข็งแรงดีและผมชื่นชมร่างกายตัวเองเสมอ ผมยังจำตอนบ่ายในฤดูร้อนวันหนึ่งได้ ผมอ่านนวนิยายที่ตื่นเต้นเร้าใจอยู่ในห้องที่เย็นสบาย ระหว่างนั้นผมลูบน่องเล่นอย่างมีความสุข ผิวของผมเนียน มีขนสีทอง ที่น่องมีสีคล้ำเพราะโดนแดดและแข็งเกร็งด้วยกล้ามเนื้อ แต่ตอนนี้ผิวหนังเดียวกันนี้หย่อนคล้อย ผิวแห้งมีริ้วรอยและเป็นสีเหลือง แถมยังเป็นแผล มีหนอง มีรอยด่างสีน้ำตาลและรอยแผลฉีกตกสะเก็ดปุปะไปหมด ผมเริ่มรำคาญนิ้วมือที่คันคะเยอ ผู้เชี่ยวชาญอย่างซีตรอม บันดิ ผงกหัวและลงความเห็นว่าเป็นโรคเรื้อน ผมงงไปหมด รู้สึกสิ้นเรี่ยวสิ้นแรง เนื้อที่ห่อหุ้มกระดูกละลายหายไปทุกวัน มีสิ่งแปลกประหลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามร่างกายที่เมื่อก่อนเคยเป็นเพื่อนที่ดีของผม ผมไม่สามารถมองดูร่างกายโดยไม่รู้สึกเจ็บปวดและเกลียดชังได้ ดังนั้นผมจึงไม่ถอดเสื้ออาบน้ำอีก” (หน้า 111)
นี่เป็นวรรณกรรมที่ไม่เหมาะสำหรับคนที่มองหารสชาติกลมกล่อมจากการอ่าน แต่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการศึกษาวิธีการเขียนเชิงสัจนิยมที่ให้ความสำคัญกับการคบรรยายสถานการณ์ ฉาก ลักษณะทางกายภาพ ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร เป็นวรรณกรรมประจักษ์พยานที่ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะนำเสนอความบันเทิงแต่อย่างใด แต่มุ่งเสนอเรื่องราวความโหดร้ายที่เคยเกิดขึ้นจริงในลักษณะที่เหมือนกับเอามาวางแผ่ลงต่อหน้า (จึงเป็นธรรมดาที่วรรณกรรมเล่มนี้จะไม่เป็นที่รู้จักกันแม้เมื่อแปลออกมาเป็นภาษาไทยแล้วก็ตาม)
“คาลติช อิมเร่” ฝังใจกับประสบการณ์จากค่ายกักกันมาก มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาที่ปฏิเสธไม่ได้ ลืมไม่ลง นอกจากจะเป็นความทรงจำเจ็บปวดส่วนตัวแล้ว เขายังเรียกว่าเป็นหายนะแห่งมนุษยชาติ
“แต่เป็นหายนะที่มีคุณค่ายิ่งนัก เพราะได้สร้างความตระหนักรู้อย่างยิ่งใหญ่ที่ไม่สามารถจะเอามาตรวัดใด ๆ มาวัดได้เพราะการตระหนักรู้นั้นมาจากความระทมทุกข์ที่หาที่เปรียบมิได้และสิ่งนี้เป็นบ่อเกิดแห่งการระลึกในคุณธรรมที่ประมาณมิได้”