Skip to main content

คนไทยจำนวนมากจดจำเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงหงสาวดีที่ย้อนไปไกลกว่าสามศตวรรษตั้งแต่ช่วงเวลาที่พวกเรายังไม่เกิด และโดยที่พวกเรายังไม่เคยเดินทางมาถึง “บะโก” คนไทยจำนวนมากมีอคติกับ “คนพม่า” เพราะเจ็บจำกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ราวกับว่าคนพม่าและกรุงหงสาวดียังแช่แข็งอยู่ดังเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ และทั้ง ๆ ที่พวกเขายังไม่เคยรู้จักมักจี่หรือแม้แต่พูดคุยกับ “คนพม่า” เลยสักครั้ง

หากพูดถึง “บะโก” หรือ “พะโค” คนไทยส่วนใหญ่คงไม่รู้จัก แต่หากบอกว่ามันคือ “หงสาวดี” คงมีน้อยคนที่ไม่รู้ว่าเมืองนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับประวัติศาสตร์ชาติไทย  คนไทยจำนวนมากยังคงมีอคติกับประเทศพม่า และ “คนพม่า” ประวัติศาสตร์เสียกรุงในสมัยอยุธยา เรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรและพระเจ้าบุเรงนอง ถูกผลิตซ้ำไปซ้ำมาในหลักสูตรการศึกษาไทย ภาพยนตร์ ละครทีวี และคำบอกเล่าปากต่อปากที่ไม่ได้สะท้อนอะไรเกี่ยวกับความเป็นจริงในโลกปัจจุบัน  

“บะโก” ที่ฉันพบคือเมืองเล็ก ๆ อยู่ห่างจากย่างกุ้งประมาณสองชั่วโมงเศษของการเดินทางด้วยรถบัสประจำทางแบบไม่มีแอร์ ค่าโดยสารราคาถูกมากเพียงประมาณ 30 บาทต่อคน กว่าพวกเราจะออกจากย่างกุ้งก็บ่ายแก่ จึงไปถึง “บะโก” เมื่อจวนพลบค่ำ เราเข้าพักที่เกสท์เฮ้าส์ราคาประหยัดแห่งหนึ่ง แม้ว่าจะราคาเพียง 20 ยูเอสดอลล่าร์ต่อคืน แต่นับว่าเป็นราคาไม่ถูกนักเมื่อเทียบกับคุณภาพของที่พักราคาเดียวกันในเมืองไทย ใน “บะโก” มีโรงแรมดีกว่าที่พวกเราพักอยู่บ้างซึ่งราคาก็คงแพงกว่านี้มาก คนในท้องที่บอกว่าในบะโกมีโรงแรมและเกสท์เฮ้าส์อยู่ไม่กี่แห่งคงเป็นเพราะว่าเมืองนี้ผู้คนเดินทางผ่านเสียมากกว่าจะมาแวะพักค้างคืนเพื่อท่องเที่ยว

 เช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ในประเทศพม่า “บะโก” มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน มองด้วยสายตา ดูจากสีผิว และการแต่งกาย ฉันคาดคะเนได้ยากว่าใครเป็นชาติพันธุ์ใดบ้าง ยิ่งฟังสำเนียงภาษาฉันยิ่งแยกแยะไม่ออกเพราะไม่มีความรู้เกี่ยวกับภาษาพม่าและภาษาถิ่นในแถบนี้เลย


“เมืองไทย” ในความทรงจำของพี่น้อย

ทันทีที่รถโดยสารประจำทางจอดให้ลง “พี่น้อย” ผู้ดูแลเกสท์เฮ้าส์ก็ปรี่มาช่วยหิ้วกระเป๋าและพาพวกเราข้ามถนนได้อย่างปลอดภัยในช่วงเวลาที่รถราวิ่งกันขวักไขว่เต็มท้องถนน แกกล่าวต้อนรับด้วยภาษาไทยที่นับว่าใช้การได้ดีมาก “มีอะไรก็ให้บอก และถามผมได้ ไม่ต้องเกรงใจ” แกจัดแจงพาพวกเราเข้าที่พักและอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี

พี่น้อยบอกว่าแกเป็นคนไทใหญ่บ้านเกิดไม่ได้อยู่บะโก แต่อยู่แถว ๆ อินเล แกเคยไปทำงานที่เมืองไทยในแถบรังสิตเมื่ออายุได้ 15 ปี  ทำหลายอย่างทั้งเลี้ยงหมู ก่อสร้าง และอื่น ๆ ตามแต่จะมีคนจ้าง อยู่เมืองไทยจนอายุประมาณ 25 ปีจึงกลับมาหางานทำในพม่า จนกระทั่งมาเป็นลูกจ้างเถ้าแก่ที่เกสท์เฮ้าส์แห่งนี้ นับถึงทุกวันนี้เกสท์เฮ้าส์ก็สร้างมาไม่ต่ำกว่าสามสิบปีแล้ว

พี่น้อยสร้างความคุ้นเคยกับพวกเราด้วยการเล่าความทรงจำเกี่ยวกับเมืองไทย พร้อมกับเอ่ยชื่อ สมบัติ เมทะนี สรพงษ์ ชาตรี เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ กรุง ศรีวิไล ยอดชาย เมฆสุวรรณ และสายัณห์ สัญญา  “ยังมีชีวิตอยู่ไหม ?” แกถามถึงเจ้าของชื่อเหล่านี้ราวกับถามข่าวญาติสนิท  “เมืองไทย” ของพี่น้อย คือเมืองไทยในความทรงจำเมื่อสามสิบปีก่อน เพื่อนร่วมทางของฉันในวัยยี่สิบต้น ๆ ถึงกับงงงวยเพราะไม่คุ้นชื่อบุคคลที่พี่น้อยเอ่ยมาเลย โชคดีที่พี่น้อยเป็นคนร่วมสมัยกับฉันและเพื่อนร่วมทางอีกคนหนึ่งในวัยห้าสิบเศษ พวกเราจึงช่วยกันตอบให้พี่น้อยได้สบายใจว่าดาราภาพยนตร์เหล่านั้นยังมีชีวิตและอยู่สบายดี ยกเว้นแต่ ยอดรัก สลักใจ ที่เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อทราบข่าวนั้นพี่น้อยก็มีสีหน้าสลดเล็กน้อย 

“ไปเมืองไทยทำไม” ฉันถาม พี่น้อยตอบคล้าย ๆ กับที่ฉันเคยได้ยินประชาชนจากประเทศพม่าอีกหลายคนเล่า คือไปเพื่อหนีการถูกกดขี่ขูดรีดจากรัฐบาลของตนเอง พี่น้อยบอกว่าเมื่อพ่อแม่ตายแกก็เดินทางออกจากบ้านเกิดไปเรียนหนังสืออยู่ในวัดไทใหญ่แห่งหนึ่งจนพออ่านออกเขียนได้ จากนั้นแกก็เดินทางไปหางานทำเรื่อย ๆ จนไปถึงเมืองไทยในที่สุด

“ไปอยู่เมืองไทยได้ยังไง ตำรวจไม่จับหรือ” ฉันซักต่อ พี่น้อยบอกว่าเมืองไทยอยู่ไม่ไกล แกเดินทางเข้าเมืองไทยทางชายแดนแม่สอด ทุกวันนี้จาก “บะโก” ใช้เวลานั่งรถเพียงหนึ่งวันก็ถึงชายแดน ในสมัยนั้นเดินทางผ่านเข้าออกชายแดนได้ง่ายตำรวจไม่จับเหมือนทุกวันนี้ “ผมยังเคยไปทำงานอยู่ที่บ้านนายพลชาวไทยเสียด้วยซ้ำ” พี่น้อยเล่า

“ไปอยู่เมืองไทยหลายปีมีแฟนไหม” เจอคำถามนี้เข้าไปพี่น้อยยิ้มเผล่ตอบว่ามีหนึ่งคนอยู่ที่หินกอง แค่ชอบพอกันเฉย ๆ แต่แกตัดสินใจไม่อยู่กินกับเจ้าหล่อน “จะทำยังไงได้ล่ะ ผมเป็นคนพม่า ไปทำงานเดี๋ยวก็กลับมา เขาเป็นคนไทยอยู่กันคนละที่ อยู่ด้วยกันไม่ได้” พี่น้อยบอกว่าหญิงคนรักชาวไทยคนนั้นแต่งงานมีลูกไปแล้ว ฉันไม่ได้ถามต่อแต่คิดว่าในวัยสี่สิบแปดนี้พี่น้อยก็คงมีเมียและมีลูกโตแล้วเช่นกัน  

“เมืองไทยคงเปลี่ยนไปเยอะนะ ถนนหนทาง” พี่น้อยถาม  ฉันพยักหน้าตอบ พี่น้อยบอกว่าแกอยากกลับไปอีกแต่จำอะไรไม่ได้ และคงไปไหนมาไหนไม่ถูกแล้ว ภาพเมืองไทยของแกหยุดอยู่เพียงเรื่องราวของดาราภาพยนตร์รุ่นเก่า และอาจแต่งเสริมเติมต่อด้วยเรื่องเล่าใหม่ ๆ ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยแต่ละคนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาแลกเปลี่ยนกับแก
 

ไทยแลนด์พีเพิ้ล กับพ่อหนุ่มผิวเข้ม

จากเกสท์เฮ้าส์เราเดินเลียบถนนใหญ่ไปหากินมื้อค่ำ  เกือบสองทุ่มยังมีรถเข็นอาหารริมถนนอยู่หลายแห่ง หลายร้านเป็นร้านน้ำชาตามแบบชาวมุสลิมเพราะย่านที่เราพักมีคนมุสลิมอยู่ค่อนข้างมาก เราเลือกสั่งอาหารกับรถเข็นที่จอดติดกันสองคัน คันหนึ่งเป็นร้านขายข้าวแกงและอาหารตามสั่ง มีหม้อแกงอยู่หลายใบ ส่วนอีกคันขายโรตี น้ำชา และของหวาน พวกเราเดาว่ารถเข็นทั้งสองคันน่าจะเป็นกิจการของครอบครัวเดียวกันหรือไม่ก็เป็นญาติกัน

พวกเราสั่งข้าวเปล่าสี่จานและกับข้าวสามสี่อย่างด้วยการชี้ไปที่หม้อแกงแต่ละหม้อ แม้ว่าเจ้าของร้านจะส่งคนที่พูดภาษาอังกฤษดีที่สุดแล้วมาคุยกับพวกเรา แต่การสื่อสารกับคนท้องถิ่นด้วยภาษาอังกฤษมักมีปัญหาเสมอ อาหารที่ปรากฏบนโต๊ะริมถนนจึงกลายเป็นข้าวเปล่าราดแกงสองสามอย่างซึ่งทั้งสี่จานมีชนิดแกงไม่เหมือนกัน

“โอเค้ โอเค้ ?” พ่อหนุ่มผิวเข้มในวัยยี่สิบกลาง ๆ ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่รับออร์เดอร์และมาเสริฟอาหาร พยายามสำรวจตรวจตราให้แน่ใจว่าลูกค้าต่างถิ่นอย่างเรามีความพึงพอใจกับอาหารและบริการที่ได้รับ จากนั้นเขาก็ขยับเข้ามาทำความรู้จักพวกเราเพิ่มมมากขึ้นด้วยการถามไถ่ว่าพวกเราเป็นใครมาจากไหน และมาพักที่ไหน เมื่อทราบว่าพวกเราเป็น “ไทยแลนด์พีเพิ้ล” เขาก็เบิกยิ้มกว้างกว่าเดิมอีกหลายเท่าและพยายามแสดงอัธยาศัยไมตรีให้ดูสนิทสนมกันเพิ่มขึ้น ดูท่าว่าเขาคงมีเรื่องอยากจะสนทนากับพวกเราอีกมาก แต่ข้อจำกัดทางภาษาทำให้เราทั้งสองฝ่ายได้แต่ส่งยิ้มกว้าง ๆ ให้กันและกัน

หลังมื้ออาหารค่ำ พวกเราตบท้ายด้วยโรตีแผ่นหั่นเป็นชิ้น ๆ โรยน้ำตาล แป้งโรตีหอมละมุนสัมผัสนุ่มลิ้น ทั้งอาหารคาวหวานในมื้อนี้มีสนนราคาเบ็ดเสร็จประมาณยี่สิบห้าบาทต่อคน ในเมืองเล็ก ๆ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวบางตา และเจ้าบ้านยังไม่ชินตาและไม่เบื่อหน่ายกับนักท่องเที่ยว ทำให้พวกเราสามารถอิ่มท้องได้ในราคามิตรภาพ และได้รับการทักทายด้วยสายตาและการต้อนรับที่เป็นมิตรอย่างยิ่ง
 

หงสาวดี ในความทรงจำของ “คนไทย”

เราเดินเลียบถนนใหญ่บ่ายหน้ากลับไปทางทิศที่เราเดินมา ก่อนถึงเกสท์เฮ้าส์เราผ่านสะพานข้ามแม่น้ำสะโตง เพื่อนร่วมทางบอกว่าประวัติศาสตร์ไทยบันทึกไว้ว่าสมเด็จพระนเรศวรได้หลบหนีจากกองทัพพม่า และพระองค์ได้ยิงพระแสงปืนข้ามลำน้ำนี้จนถูกแม่ทัพพม่าเสียชีวิตคาคอช้าง เพื่อนร่วมทางอีกคนให้ข้อมูลสมทบในทำนองเดียวกันจากความทรงจำที่เธอได้ชมภาพยนตร์ไทยที่สร้างโดยท่านมุ้ย  แน่นอนว่านั่นคือประวัติศาสตร์ที่รู้จักกันแพร่หลายและเล่าซ้ำไปซ้ำมาในหมู่คนไทย แต่คนที่ใช้ชีวิตริมแม่น้ำสะโตงและเดินข้ามไปมาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้เล่าจะมีสักกี่คนรู้จักเรื่องราวที่ว่ามานั้น

ความทรงจำของพี่น้อยเกี่ยวกับเมืองไทยและ “คนไทย” แม้ว่าจะย้อนหลังไปถึงสามสิบปี แต่ก็เป็นความทรงจำจากประสบการณ์ตรงของแกเอง ความเข้าใจเกี่ยวกับ “ไทยแลนด์พีเพิ้ล” ของพ่อหนุ่มผิวเข้มก็คงมาจากเรื่องราวบอกต่อของญาติมิตรที่เคยไปทำงานเมืองไทยหรือจากนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางผ่านมาให้ได้พานพบอย่างพวกเรา

แต่ความทรงจำของคนไทยเกี่ยวกับ “คนพม่า” นั้นเล่า ถูกสร้างขึ้นมาอย่างไร คนไทยจำนวนมากจดจำเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงหงสาวดีที่ย้อนไปไกลกว่าสามศตวรรษตั้งแต่ช่วงเวลาที่พวกเรายังไม่เกิด และโดยที่พวกเรายังไม่เคยเดินทางมาถึง “บะโก” คนไทยที่มีอคติกับ “คนพม่า” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ็บจำกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ราวกับว่าคนพม่าและกรุงหงสาวดียังแช่แข็งอยู่ดังเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ และทั้ง ๆ ที่พวกเขายังไม่เคยรู้จักมักจี่หรือแม้แต่พูดคุยกับ “คนพม่า” เลยสักครั้ง

ประวัติศาสตร์มีความหมายและความสำคัญก็จริงอยู่ แต่มันคงดีถ้าหากเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจความเป็นจริงในปัจจุบัน มากกว่าจะหมกมุ่นกับประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นมา จนกระทั่งไม่สนใจรับรู้ว่าโลกปัจจุบันมันเปลี่ยนไปถึงไหนต่อไหนแล้ว

ฉันไม่ได้ถามพี่น้อยว่ารู้จักพระนเรศวรหรือไม่ รู้จักกรุงศรีอยุธยาหรือเปล่า ฉันไม่สนใจด้วยว่าพี่น้อยจะรู้ไหมว่าแม่น้ำสะโตง ที่พี่น้อยข้ามไปมาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้นเกี่ยวข้องอย่างไรกับสมเด็จพระนเรศวรของ “คนไทย” และฉันไม่คิดจะสืบเสาะว่าผืนดินตรงบริเวณไหนที่องค์สมเด็จพระนเรศวรมาประทับยืนเหนี่ยวไกพระแสงปืนในครั้งกระโน้น

สิ่งที่ฉันสนใจอยากรู้มากกว่าก็คือพี่น้อยและพ่อหนุ่มผิวเข้มผู้มีอัธยาศัยไมตรีกับคนไทย จะรู้หรือเปล่าว่า “ไทยแลนด์พีเพิ้ล” จำนวนมากพูดถึง “คนพม่า” ว่าอย่างไร และหากพวกเขารู้ พวกเขาจะเสียความรู้สึกมากแค่ไหน

 

 

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ความในใจของหนึ่งในสองสิ่งมีชีวิตที่ถูกจำกัดให้อยู่ร่วมกับความแปลกหน้าที่เลื่อนไหลไปบนผิวทางอันไม่ราบเรียบของเมืองหลวง
"ไม่มีชื่อ"
“ทำอะไรขาย ใคร ๆ ก็หวังรวยกันทั้งนั้น แต่เกษตรยั่งยืนไม่เคยตอบคำถามชาวบ้านว่าจะรวยแน่ไหม ไม่มีใครบอกมาสักคนว่าขายข้าวอินทรีย์แล้วจะรวยเป็นล้าน ไม่มีใครบอกว่าจะพาชาวบ้านรวย”    --------------------------
"ไม่มีชื่อ"
สำหรับคนอีกจำนวนมาก ระดับการศึกษาอาจช่วยให้ชีวิตดีขึ้นก็จริง แต่ไม่มีวันที่พวกเขาจะทัดเทียมกับคนอื่น ๆ ได้เลย เพราะต้นทุนชีวิตในด้านอื่นมีไม่มากพอที่จะเป็นบุญหนุนส่งได้
"ไม่มีชื่อ"
เราอาจรู้สึกถึงเรื่องศักดิ์ศรี จากการมีหรือไม่มีอำนาจในการเลือกหรือปฏิเสธเรื่องง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน 
"ไม่มีชื่อ"
 หากคุณได้รับโอกาสให้มีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ราวฟ้ากับเหว  ชีวิตใหม่ของคุณควรจะเป็นของใคร เยาวชนจากประเทศพม่าถูกเรียกร้องให้ทำเพื่อ “ชาติ” และประชาชนของกองกำลังกู้ชาติ ขณะที่พวกเขามีชีวิตของตนเอง มีครอบครัว และญาติพี่น้องที่ต้องดูแล
"ไม่มีชื่อ"
นักท่องเที่ยวหลายคนก็คงเป็นแบบฉัน ไปเที่ยวบ้านของเขา แต่กลับมองไม่เห็นคนที่เป็นเจ้าของบ้านซึ่งเราได้เหยียบย่างเข้าไป
"ไม่มีชื่อ"
คนไทยจำนวนมากจดจำเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงหงสาวดีที่ย้อนไปไกลกว่าสามศตวรรษตั้งแต่ช่วงเวลาที่พวกเรายังไม่เกิด และโดยที่พวกเรายังไม่เคยเดินทางมาถึง “บะโก” คนไทยจำนวนมากมีอคติกับ “คนพม่า” เพราะเจ็บจำกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ราวกับว่าคนพม่าและกรุงหงสาวดียังแช่แข็งอยู่ดังเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ และทั้ง ๆ ที่พวกเขายังไม่เคยรู้จักมักจี่หรือแม้แต่พูดคุยกับ “คนพม่า” เลยสักครั้ง
"ไม่มีชื่อ"
วัยชราเป็นวัยปริศนาที่เข้าใจได้ยากไม่แพ้วัยอื่น ๆ ที่สำคัญมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่จัดการได้ยาก เราจัดการคนอื่นไม่ค่อยได้ พอ ๆ กับที่เราไม่ชอบและไม่ยอมให้ใครมาจัดการตัวเรา
"ไม่มีชื่อ"
เหตุผลเหล่านั้นก็ยังไม่อันตรายเท่ากับเหตุผลที่ว่าเรา “ชินชา” เพราะตกอยู่ภายใต้สภาวะของการถูกควบคุมนานเกินไปจนกระทั่งไม่อาจรู้สึกอีกต่อไปว่าเรากำลังถูกควบคุม  ยิ่งไปกว่านั้นเรายังอาจเห็นดีเห็นงามกับการควบคุม และกำลังเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้ระบบการควบคุมแบบนั้นทำงานได้อย่างทรงพลังมากขึ้น
"ไม่มีชื่อ"
การปลูกฝังและยึดมั่นถือมั่นกับค่านิยมย้อนยุคจนเกินพอดีกลายเป็นการสร้างปัญหาครอบครัว เพิ่มช่องว่างระหว่างคนต่างวัยที่เติบโตมาต่างยุคสมัย และทำให้วัยรุ่นวัยเรียนมีปัญหาชีวิตจนเกินความจำเป็น
"ไม่มีชื่อ"
เหตุใดการทำงานพัฒนาตามแนวทางที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งกล่าวกันว่าเป็น “องค์รวม” หรือมีลักษณะบูรณาการ  จึงละเว้นที่จะทำความเข้าใจความคิดและชีวิตทางการเมืองของชาวบ้านผู้เป็น “ศูนย์กลาง” ของการพัฒนา