Skip to main content

 

หากคุณได้รับโอกาสให้มีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ราวฟ้ากับเหว  ชีวิตใหม่ของคุณควรจะเป็นของใคร

 

เยาวชนจากประเทศพม่าถูกเรียกร้องให้ทำเพื่อ “ชาติ” และประชาชนของกองกำลังกู้ชาติ ขณะที่พวกเขามีชีวิตของตนเอง มีครอบครัว และญาติพี่น้องที่ต้องดูแล

“ฉันกำลังจะแต่งงาน ครูจะมาไหม” เธอยังเรียกฉันว่า “ครู” ตั้งแต่เราเริ่มรู้จักกันมาจนถึงทุกวันนี้

“เรื่องเรียนต่อล่ะ” ฉันถามถึงแผนอนาคต เพราะเธอเคยบอกว่าอยากเรียนต่อในระดับปริญญาโท

“เรียนสิ ยังจะเรียน แต่ว่าแต่งงานก่อน ฉันแก่แล้ว” เธอพูดปนหัวเราะ

ซายัน (นามสมมติ) เป็นหญิงสาวชาวมอญจากเมืองมะละแหม่ง เรารู้จักกันตั้งแต่เมื่อครั้งที่เธอยังทำงานให้กับองค์กรผู้หญิงมอญ ในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และผ่านเข้าออกไทย-พม่า ทางด่านเจดีย์สามองค์โดยใช้บัตรประจำตัวของ “ทหารมอญ” ในวัยสามสิบต้น ๆ ของเธอฉันไม่เคยคิดว่าชีวิตของเธอจะมาไกลถึงขนาดนี้ และเธอเองก็ไม่เคยคาดคิด

จากมะละแหม่ง ถึงสังขละบุรี

ซายันเล่าว่าเมื่อแรกเกิด แม่ของเธอเอาวันเดือนปีเกิดของเธอไปตรวจดูดวงชะตา  หมอดูบอกว่าชีวิตของเธอจะรุ่งโรจน์สุกใสเหมือนดวงดาว เธอจะได้เดินทางไปต่างประเทศ  “ต่างประเทศอะไรกัน แม่ฉันคิดไม่ออกเลย บ้านเราอยู่ในชนบท เมืองหลวงก็ยังไม่เคยเห็น”

เช่นเดียวกับเยาวชนจากประเทศพม่าอีกเป็นจำนวนมาก โอกาสจะมีชีวิตที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะคนที่อยู่ชนบท ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลทหารพม่า แม้จะเป็นที่รับรู้อย่างเป็นทางการว่ามีการเจรจาหยุดยิงระหว่างกองกำลังกู้ชาติมอญกับรัฐบาลทหารพม่ามานานแล้ว แต่ซายันเล่าว่าประชาชนรัฐมอญไม่เคยอยู่อย่างสงบสุข ยังคงถูกคุกคามทำร้ายจากทหารพม่าอยู่เนือง ๆ จึงมีค่ายผู้ลี้ภัยที่มีชาวมอญอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ค่ายตั้งอยู่ในชายแดนฝั่งพม่า ไม่ใช่ฝั่งไทย เพราะรัฐบาลไทยอ้างว่าไม่มีการสู้รบในรัฐมอญอีกแล้วจึงไม่อนุญาตให้ตั้งค่าย  

เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา ซายันเข้ารับการฝึกอบรมในโครงการขององค์กรสตรีชาวมอญ จากนั้นก็มาเป็นอาสาสมัครขององค์กร และได้เข้ามาอยู่ที่อำเภอสังขละบุรี สิบปีที่แล้วฉันไปเยี่ยมเธอที่นั่น เธอพักอยู่ในสำนักงานซึ่งเป็นห้องเช่าเล็ก ๆ  ไม่มีห้องส่วนตัว มีข้าวของเครื่องใช้เท่าที่จำเป็น เธอช่วยงานต่าง ๆ ตามที่จะมีให้ทำ ตั้งแต่ดูแลสำนักงาน ปัดกวาดเช็ดถู รับส่งจดหมาย ไปจนถึงจัดฝึกอบรม สำนักงานมีงบประมาณเล็กน้อยสำหรับค่าอาหารของอาสาสมัครโดยทำหรือซื้อมารับประทานร่วมกัน  เธอทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ นอกจากโอกาสในการศึกษา มีฝรั่งมาสอนภาษาอังกฤษ มีคนไทยมาสอนภาษาไทย และมีโอกาสได้รับเลือกให้เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่โครงการอื่น ๆ ติดต่อมา และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เราได้รู้จักกัน 

พร้อมกับซายันฉันยังได้รู้จักกับ “ขะมิน” (นามสมมติ) เยาวชนมอญในวัยเดียวกัน และเยาวชนจากรัฐอื่น ๆ ในประเทศพม่ารวมทั้งหมดสิบสองคน ขะมินอยู่หมู่บ้าน “ฝั่งมอญ” ในอำเภอสังขละบุรี  ถือสัญชาติพม่าเช่นเดียวกับพ่อของเธอซึ่งเป็นทหารมอญ  แม่ของขะมินมีสถานะเหมือนกับชาวมอญอีกหลายคนในหมู่บ้านคือได้รับผ่อนผันให้อยู่อาศัยในพื้นที่ด้วยบารมีของหลวงพ่ออุตตะมะ ขะมินมีฐานะและสถานะดีกว่าซายัน เธอเดินทางไปมาระหว่างบ้านของแม่ในสังขละและบ้านของยายในมะละแหม่งได้คล่องตัวมากกว่า และได้เรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงย่างกุ้ง ในขณะที่ซายันยังมองไม่เห็นอนาคตของตนเอง

ชีวิตใหม่

หลายปีที่รู้จักกัน เยาวชนทั้งสิบสองคนพูดบ่อย ๆ ถึงความหวังอยากให้บ้านเกิดเมืองนอนสงบสุขเพื่อพวกเขาจะได้กลับบ้าน บางคนพูดถึงการ “กู้ชาติ” ซึ่งฟังดูเป็นเรื่องยิ่งใหญ่เกินวัยของเยาวชนอายุไม่ถึงยี่สิบ แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้นได้พวกเขาควรพ้นจากสถานะผู้ลี้ภัยเสียก่อน

ผ่านมากว่าสิบปี ฉันเฝ้าดูการเติบโตของพวกเขา คนที่ยังติดตามข่าวคราวกันได้ส่วนใหญ่แต่งงานมีครอบครัวแล้ว เยาวชนที่มาจากรัฐซึ่งยังมีการสู้รบเช่น รัฐกะเรนนี และรัฐกะเหรี่ยง ได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรต่างประเทศให้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม และได้สัญชาติตะวันตกในที่สุด แต่เยาวชนจากรัฐมอญไม่ได้รับโอกาสนั้นด้วยสมมติฐานที่ว่าไม่มีการสู้รบในรัฐมอญ  

ด้วยความขยันขวนขวายอย่างที่สุด ร่วมกับโอกาสและช่องทางต่าง ๆ ผ่านองค์กรที่เธอทำงาน ซายันได้รับทุนไปเรียนปริญญาตรีในประเทศนิวซีแลนด์ ส่วนขะมินเรียนจบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยของรัฐไทยในภาคอีสาน เมื่อเรียนจบขะมินกลายเป็นผู้บริหารจัดการโครงการเอกชนที่ทำงานด้านการส่งเสริมการศึกษาและช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าในมหาชัย รวมทั้งโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวมอญในอำเภอสังขละบุรี เธอมีแผนว่าจะเรียนต่อในระดับปริญญาเอกเพื่อในอนาคตเธอจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยเปิดให้ประชาชนจากประเทศพม่ามีโอกาสเรียนมากขึ้นในระบบการศึกษาทางไกล

ซายันถูกเรียกร้องให้กลับมาทำงานในองค์กรเดิมในสังขละบุรี โดยจะได้รับเงินเดือน 500 บาทหรืออาจไม่ได้เลย ถือเป็นการตอบแทนสำหรับโอกาสต่าง ๆ ที่เธอได้รับจากองค์กรจนชีวิตเธอสามารถไปได้ไกลเกินกว่าที่เธอจะคาดคิด แต่ซายันกลับเลือกไปทำงานในองค์กรระหว่างประเทศที่ให้การช่วยเหลือแรงงานที่ถูกทารุณกดขี่ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในย่างกุ้ง เธออยากใช้ความรู้ความสามารถที่เรียนมาอย่างเต็มที่ ซายันบอกองค์กรเดิมว่าขอตอบแทนด้วยวิธีการอื่น เช่น ช่วยทำงานด้านการเขียนโครงการ การแปลเอกสาร หรืออื่น ๆ เท่าที่เธอจะทำให้ได้

ชีวิตใหม่ ชีวิตของใคร

สำหรับเยาวชนจากประเทศพม่า ข้อขัดแย้งระหว่างการทำเพื่อชีวิตของตนเอง กับการทำเพื่อองค์กร เพื่อประชาชน หรือเพื่อ “ชาติ” มักเกิดขึ้นเสมอ เยาวชนหลายคนได้รับโอกาสพิเศษท่ามกลางชีวิตที่มืดมนและตีบตันเมื่ออยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย แต่เป็นโอกาสภายใต้เงื่อนไขว่าพวกเขาน่าจะกลับมาทำงานตอบแทนหน่วยงานที่หยิบยื่นโอกาสนั้นให้ ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนในประเทศโลกที่สามโดยส่วนใหญ่ก็มักเป็นแบบนี้ ฉันคิดว่าบางทีมันไม่ควรถูกเรียกว่า “ทุน” แต่เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์แบบต่างตอบแทนกันมากกว่า

“อุเร” เยาวชนชาวกะเรนนี ได้รับโอกาสจากโครงการฝึกอบรมแห่งหนึ่งให้ไปศึกษาดูงานในนิวยอร์ก เขาตัดสินใจทำผิดเงื่อนไขด้วยการอยู่ต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ยอมกลับมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยอีกต่อไป เขาไม่ใช่คนแรกที่ทำแบบนั้น และแน่นอนว่าเขาถูกประณามจากองค์กรที่ส่งเขาไปและเยาวชนในค่ายผู้ลี้ภัยอีกจำนวนมาก เพราะมันทำให้โอกาสการไปศึกษาดูงานของเยาวชนคนอื่นเหลือน้อยลงไปด้วย

 ในนิวยอร์ก อุเร เป็นลูกจ้างในร้านขายชูซิ เขามีความฝันว่าอีกไม่นานเขาจะมีซูชิบาร์เป็นของตนเอง แต่งงาน และสร้างครอบครัวอยู่ที่นั่น

“แล้วความฝันเรื่องกู้ชาติของเธอล่ะ” ฉันสนทนากับเขาผ่านเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่

“ผมจะหาทางช่วยในแบบอื่น ผมจะส่งเงินไปให้องค์กรที่ทำงานในเรื่องนี้” เขาตอบ

“ชีวิตผมเพิ่งได้เริ่มต้น เมื่ออยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยผมเหมือนไม่มีชีวิต” เขาตัดพ้อเพื่อที่จะบอกกับฉันว่าอย่าถามในเชิงบีบคั้นหรือเรียกร้องอะไรจากเขาอีกเลย

“ธาร” เพื่อนจากค่ายผู้ลี้ภัยคนหนึ่งเล่าว่าหน่วยงานของกองกำลังกู้ชาติ รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนหลายแห่งไม่ค่อยอยากสนับสนุนให้เยาวชนที่เรียนดีและมีความสามารถไปศึกษาเล่าเรียนหรือลี้ภัยไปอยู่ประเทศอื่น เพราะเท่ากับเป็นการสูญเสียบุคลากรที่มีคุณภาพในการทำงานเพื่อประชาชนผู้ลี้ภัยและเพื่อ “ชาติ” ที่ยังไร้แผ่นดิน

เมื่อได้รับทุนให้ไปเรียนต่อในประเทศแคนาดา  ธาร ถูกทัดทานจากหลายทาง รวมทั้งจากเพื่อนชาวไทยในองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัย  ธารไม่พอใจเสียงทัดทานเหล่านั้น  “อย่าบอกฉันว่าฉันต้องทำอะไร ฉันเองก็คิดเองได้ว่าฉันควรทำอะไร” เธอกล่าว

เมื่อเรียนจบระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ธารกลับมาทำงานในโครงการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัยที่เธอจากมา

สำหรับซายัน คนในองค์กรไม่พอใจอย่างมากเมือทราบการตัดสินใจของเธอว่าจะไปทำงานในร่างกุ้ง ขะมินเองก็ไม่เห็นด้วยกับทางเลือกของซายัน เธอบอกว่าการทำงานในองค์กรระหว่างประเทศซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่มากขนาดนั้นก็เท่ากับว่าซายันจะเป็นแค่ฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่ทำงานรับใช้องค์กรมากกว่าจะทำงานเพื่อประชาชน ขะมินบอกว่า “ประชาชนของเราอยู่ที่นี่ ถ้าจะทำเพื่อประชาชนของพวกเราก็ควรอยู่ในสังขละฯ ไม่ใช่ย่างกุ้ง”  นอกจากนั้นขะมินยังไม่ค่อยเห็นด้วยที่ซายันตัดสินใจจะแต่งงานกับชายหนุ่มชาวคะฉิ่น เธอบอกว่าเพราะ “เขาไม่ใช่คนมอญ”  ส่วนขะมินเพิ่งแต่งงานไปเมื่อปีที่ผ่านมากับชายหนุ่มชาวมอญคนหนึ่งที่ทำงานช่วยเหลือแรงงานชาวพม่าในมหาชัย

ซายันทราบดีถึงการเรียกร้องและข้อกล่าวหาของผู้อื่นที่มีต่อเธอ เธอไม่ได้โต้แย้งหรือแก้ตัวอะไรมากนัก ตั้งแต่รู้จักกันมาซายันไม่เคยอ้างว่าเธอกำลังทำเพื่อคนอื่น ชาติ หรือประชาชน เธอบอกว่าเธอมีชีวิตของเธอเอง มีพ่อแม่และพี่น้องในครอบครัวที่ต้องจุนเจือช่วยเหลือ ในการเรียนระดับปริญญาตรีเธอเลือกเรียนรัฐศาสตร์สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามความสนใจของตนเอง  

ในมื้ออาหารที่พบกัน ซายัน เล่าถึงรัฐธรรมนูญของประเทศพม่าที่ให้อำนาจทหารเสียมากมายอย่างพิลึกพิลั่น เธอบอกว่าประชาชนย่อมได้รับในสิ่งที่เขาสมควรได้รับ หากไม่พอใจระบอบการปกครองแบบนี้ประชาชนก็ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ แต่หากไม่ต่อสู้ก็แปลว่าพวกเขาพอใจสิ่งที่เป็นอยู่

ซายันเล่าถึงประชาชนชาวพม่าที่ถูกรัฐบาลบังคับใช้แรงงานประหนึ่งแรงงานทาส และความพยายามขององค์กรที่ทำงานอยู่ซึ่งได้ผลักดันให้รัฐบาลมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองสิทธิแรงงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม เธอบอกว่าเธอชอบการทำงานที่นี่มาก และเธอยังสนุกกับการทำงานจนไม่แน่ใจว่าควรจะพักไปเรียนต่อดีหรือไม่

ฉันไม่รู้หรอกว่าทางเลือกแบบ ขะมิน หรือ ซายัน หรือ อุเร หรือ ธาร จึงจะดีหรือเหมาะสมในฐานะที่เป็นประชาชนจากประเทศพม่า ในฐานะเพื่อนคนหนึ่งแค่ได้รับรู้ว่าพวกเขามีชีวิตทีดี มีความสุขกับหนทางที่เลือกก็น่ายินดียิ่งแล้ว   

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ความในใจของหนึ่งในสองสิ่งมีชีวิตที่ถูกจำกัดให้อยู่ร่วมกับความแปลกหน้าที่เลื่อนไหลไปบนผิวทางอันไม่ราบเรียบของเมืองหลวง
"ไม่มีชื่อ"
“ทำอะไรขาย ใคร ๆ ก็หวังรวยกันทั้งนั้น แต่เกษตรยั่งยืนไม่เคยตอบคำถามชาวบ้านว่าจะรวยแน่ไหม ไม่มีใครบอกมาสักคนว่าขายข้าวอินทรีย์แล้วจะรวยเป็นล้าน ไม่มีใครบอกว่าจะพาชาวบ้านรวย”    --------------------------
"ไม่มีชื่อ"
สำหรับคนอีกจำนวนมาก ระดับการศึกษาอาจช่วยให้ชีวิตดีขึ้นก็จริง แต่ไม่มีวันที่พวกเขาจะทัดเทียมกับคนอื่น ๆ ได้เลย เพราะต้นทุนชีวิตในด้านอื่นมีไม่มากพอที่จะเป็นบุญหนุนส่งได้
"ไม่มีชื่อ"
เราอาจรู้สึกถึงเรื่องศักดิ์ศรี จากการมีหรือไม่มีอำนาจในการเลือกหรือปฏิเสธเรื่องง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน 
"ไม่มีชื่อ"
 หากคุณได้รับโอกาสให้มีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ราวฟ้ากับเหว  ชีวิตใหม่ของคุณควรจะเป็นของใคร เยาวชนจากประเทศพม่าถูกเรียกร้องให้ทำเพื่อ “ชาติ” และประชาชนของกองกำลังกู้ชาติ ขณะที่พวกเขามีชีวิตของตนเอง มีครอบครัว และญาติพี่น้องที่ต้องดูแล
"ไม่มีชื่อ"
นักท่องเที่ยวหลายคนก็คงเป็นแบบฉัน ไปเที่ยวบ้านของเขา แต่กลับมองไม่เห็นคนที่เป็นเจ้าของบ้านซึ่งเราได้เหยียบย่างเข้าไป
"ไม่มีชื่อ"
คนไทยจำนวนมากจดจำเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงหงสาวดีที่ย้อนไปไกลกว่าสามศตวรรษตั้งแต่ช่วงเวลาที่พวกเรายังไม่เกิด และโดยที่พวกเรายังไม่เคยเดินทางมาถึง “บะโก” คนไทยจำนวนมากมีอคติกับ “คนพม่า” เพราะเจ็บจำกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ราวกับว่าคนพม่าและกรุงหงสาวดียังแช่แข็งอยู่ดังเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ และทั้ง ๆ ที่พวกเขายังไม่เคยรู้จักมักจี่หรือแม้แต่พูดคุยกับ “คนพม่า” เลยสักครั้ง
"ไม่มีชื่อ"
วัยชราเป็นวัยปริศนาที่เข้าใจได้ยากไม่แพ้วัยอื่น ๆ ที่สำคัญมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่จัดการได้ยาก เราจัดการคนอื่นไม่ค่อยได้ พอ ๆ กับที่เราไม่ชอบและไม่ยอมให้ใครมาจัดการตัวเรา
"ไม่มีชื่อ"
เหตุผลเหล่านั้นก็ยังไม่อันตรายเท่ากับเหตุผลที่ว่าเรา “ชินชา” เพราะตกอยู่ภายใต้สภาวะของการถูกควบคุมนานเกินไปจนกระทั่งไม่อาจรู้สึกอีกต่อไปว่าเรากำลังถูกควบคุม  ยิ่งไปกว่านั้นเรายังอาจเห็นดีเห็นงามกับการควบคุม และกำลังเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้ระบบการควบคุมแบบนั้นทำงานได้อย่างทรงพลังมากขึ้น
"ไม่มีชื่อ"
การปลูกฝังและยึดมั่นถือมั่นกับค่านิยมย้อนยุคจนเกินพอดีกลายเป็นการสร้างปัญหาครอบครัว เพิ่มช่องว่างระหว่างคนต่างวัยที่เติบโตมาต่างยุคสมัย และทำให้วัยรุ่นวัยเรียนมีปัญหาชีวิตจนเกินความจำเป็น
"ไม่มีชื่อ"
เหตุใดการทำงานพัฒนาตามแนวทางที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งกล่าวกันว่าเป็น “องค์รวม” หรือมีลักษณะบูรณาการ  จึงละเว้นที่จะทำความเข้าใจความคิดและชีวิตทางการเมืองของชาวบ้านผู้เป็น “ศูนย์กลาง” ของการพัฒนา