Skip to main content

 

ภาพมวลมหาประชาชนนำธนบัตรมากมายไปยื่นให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ บนถนนกลางกรุงสร้างความตื่นตะลึงปนขุ่นเคืองใจให้แก่คนมีเงินไม่ค่อยพอใช้อย่างข้าพเจ้ายิ่งนัก นี่ยังไม่นับรวมกับเสียงของผู้เข้าร่วมชุมนุมกับม็อบนกหวีดที่ย้ำซ้ำ ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าพวกเขาเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงฐานะดีมีอันจะกิน 

ข้าพเจ้าพอเข้าใจอยู่ว่ามวลมหาประชาชนของคุณสุเทพนั้นไม่ได้แค่อยากจะอวดร่ำอวดรวยตามประสาผู้ดีมีเงินเท่านั้น แต่พวกเขาอยากแสดงสัญลักษณ์เพื่อสื่อว่าพวกเขามาชุมนุมด้วยความสมัครใจไม่ได้มีใครจ้างวาน และยังต้องการเปรียบเทียบกับการชุมนุมเคลื่อนไหวของอีกฝ่ายที่พวกเขาเชื่อว่ามาเพราะการ “ซื้อ” หรือจ้างวานโดยนักการเมือง หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่าการเคลื่อนไหวของชาวม็อบนกหวีดนั้น “บริสุทธิ์” กว่าการเคลื่อนไหวของอีกฝ่ายหนึ่ง

วาทกรรมซื้อสิทธิขายเสียงถูกตอกย้ำในสังคมไทยจนกระทั่งเรามักเข้าใจว่า เงิน กับ ประชาธิปไตย เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน  ทั้ง ๆ ที่สองเรื่องนี้อาจเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกันก็ได้

เงินถูกใช้เป็นดัชนีชี้วัด “ความบริสุทธิ์” ของการต่อสู้ทางการเมืองเสมอมา หากพรรคการเมืองใดใช้เงินในการหาเสียงเลือกตั้งเป็นจำนวนมากก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อกันว่าชัยชนะที่ได้มานั้นไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม อย่างไรก็ตามมีผลการสำรวจที่เปิดเผยออกมาแล้วว่าการใช้เงินมากก็ใช่ว่าจะทำให้ได้ชัยชนะ ส่วนผู้ที่ได้รับชัยชนะก็ใช่ว่าจะเป็นเพราะเงิน[1]

ขณะที่คนชั้นล่างถูกประณามว่าซื้อได้ด้วยเงิน คนที่เรียกตนเองว่าชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในม็อบนกหวีดกลับกำลังใช้เงินซื้อชัยชนะทางการเมืองแบบผิดครรลองด้วยเช่นกัน เพราะเงินของพวกเขาถูกใช้ไปกับการพยายามล้มล้างการต่อสู้ทางการเมืองที่ถูกต้องชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย กล่าวอย่างที่สุดก็คือพวกเขากำลังสนับสนุนการเคลื่อนไหวที่จะทำอย่างไรก็ได้เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ เพราะอาจเดาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าหากสู้กันตามเกมคงไม่ชนะ

มองไปข้างหน้า หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ และบังเอิญว่าพรรคที่ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงไม่นิยมได้คะแนนเสียงท่วมท้นขึ้นมาก็จะมีการสร้างคำอธิบายโดยใช้ฐานะทางเศรษฐกิจเป็นดัชนีชี้วัดระดับความเข้าใจเรื่องการเมืองการปกครองกันอีก ด้วยการบอกว่าคนชนบทลงคะแนนด้วยความหลงใหลหรือแม้กระทั่งเป็นเหยื่อของนโยบายประชานิยมที่ทำให้คนยากคนจนอย่างพวกเขามีเงินทองจับจ่ายใช้สอยคล่องมือมากขึ้น ต่างจากผู้ดีมีอันจะกินที่ตัดสินใจเลือกลงคะแนนโดยไม่หวังผลประโยชน์เฉพาะหน้า

ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าคนยากคนจนจะตัดสินใจลงคะแนนแบบนั้นหรือแบบไหนมันก็เป็น “สิทธิ” ของพวกเขา เพราะไม่เคยมีกติกาประชาธิปไตยข้อใดที่ระบุว่าเราควรลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคที่ทำให้เรายากจนเท่าเดิมหรือย่ำแย่ลงกว่าเดิม และทั้งไม่มีใครจะมากำหนดได้ว่าเหตุผลในการลงคะแนนแบบไหนจึงจะเป็นเหตุผลที่ดีที่ชอบ

กติกาประชาธิปไตยในเรื่องนี้มีเพียงอย่างเดียวคือประชาทุกคนมี “หนึ่งสิทธิเท่ากัน” ที่จะตัดสินใจทางการเมืองด้วยการเลือกผู้แทนที่เราพอใจให้ไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนเรา

การมีเงินหรือไม่มีเงินในที่นี้จึงไม่เกี่ยวอะไรกับความเข้าใจในเรื่องการเลือกตั้งและสำนึกประชาธิปไตย 

และการอวดร่ำอวดรวยกลางถนน ก็เป็นคนละเรื่องกันแน่ ๆ กับการอวดสำนึกประชาธิปไตย

การที่ใครมีเงินมากกว่าไม่ได้หมายความเลยว่าเขาจะมีสำนึกประชาธิปไตยเหนือกว่าคนอื่น เพราะพื้นฐานของสำนึกประชาธิปไตยคือการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่นเท่ากับที่เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของตนเอง

ดังนั้น การที่ผู้ดีมีอันจะกินใช้เงินมาตบหน้าเย้ยหยันคนยากคนจนบนท้องถนนกลางเมืองแบบนั้น มันจึงตรงกันข้ามกับการแสดงสำนึกประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง

ถ้าอยากอวดสำนึกประชาธิปไตยกันจริง ๆ ละก็ ไปเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ นี้เถอะค่ะ



[1] ดูเพิ่มเติม http://www.tdw.polsci.chula.ac.th/?q=Elected_members_of_parliament

**ขอบคุณภาพประกอบจากเพจ ต่อต้านกบฏสุเทพยึดประเทศไทย และเฟสบุ๊คของ Andrew MacGregor Marshall

 

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ความในใจของหนึ่งในสองสิ่งมีชีวิตที่ถูกจำกัดให้อยู่ร่วมกับความแปลกหน้าที่เลื่อนไหลไปบนผิวทางอันไม่ราบเรียบของเมืองหลวง
"ไม่มีชื่อ"
“ทำอะไรขาย ใคร ๆ ก็หวังรวยกันทั้งนั้น แต่เกษตรยั่งยืนไม่เคยตอบคำถามชาวบ้านว่าจะรวยแน่ไหม ไม่มีใครบอกมาสักคนว่าขายข้าวอินทรีย์แล้วจะรวยเป็นล้าน ไม่มีใครบอกว่าจะพาชาวบ้านรวย”    --------------------------
"ไม่มีชื่อ"
สำหรับคนอีกจำนวนมาก ระดับการศึกษาอาจช่วยให้ชีวิตดีขึ้นก็จริง แต่ไม่มีวันที่พวกเขาจะทัดเทียมกับคนอื่น ๆ ได้เลย เพราะต้นทุนชีวิตในด้านอื่นมีไม่มากพอที่จะเป็นบุญหนุนส่งได้
"ไม่มีชื่อ"
เราอาจรู้สึกถึงเรื่องศักดิ์ศรี จากการมีหรือไม่มีอำนาจในการเลือกหรือปฏิเสธเรื่องง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน 
"ไม่มีชื่อ"
 หากคุณได้รับโอกาสให้มีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ราวฟ้ากับเหว  ชีวิตใหม่ของคุณควรจะเป็นของใคร เยาวชนจากประเทศพม่าถูกเรียกร้องให้ทำเพื่อ “ชาติ” และประชาชนของกองกำลังกู้ชาติ ขณะที่พวกเขามีชีวิตของตนเอง มีครอบครัว และญาติพี่น้องที่ต้องดูแล
"ไม่มีชื่อ"
นักท่องเที่ยวหลายคนก็คงเป็นแบบฉัน ไปเที่ยวบ้านของเขา แต่กลับมองไม่เห็นคนที่เป็นเจ้าของบ้านซึ่งเราได้เหยียบย่างเข้าไป
"ไม่มีชื่อ"
คนไทยจำนวนมากจดจำเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงหงสาวดีที่ย้อนไปไกลกว่าสามศตวรรษตั้งแต่ช่วงเวลาที่พวกเรายังไม่เกิด และโดยที่พวกเรายังไม่เคยเดินทางมาถึง “บะโก” คนไทยจำนวนมากมีอคติกับ “คนพม่า” เพราะเจ็บจำกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ราวกับว่าคนพม่าและกรุงหงสาวดียังแช่แข็งอยู่ดังเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ และทั้ง ๆ ที่พวกเขายังไม่เคยรู้จักมักจี่หรือแม้แต่พูดคุยกับ “คนพม่า” เลยสักครั้ง
"ไม่มีชื่อ"
วัยชราเป็นวัยปริศนาที่เข้าใจได้ยากไม่แพ้วัยอื่น ๆ ที่สำคัญมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่จัดการได้ยาก เราจัดการคนอื่นไม่ค่อยได้ พอ ๆ กับที่เราไม่ชอบและไม่ยอมให้ใครมาจัดการตัวเรา
"ไม่มีชื่อ"
เหตุผลเหล่านั้นก็ยังไม่อันตรายเท่ากับเหตุผลที่ว่าเรา “ชินชา” เพราะตกอยู่ภายใต้สภาวะของการถูกควบคุมนานเกินไปจนกระทั่งไม่อาจรู้สึกอีกต่อไปว่าเรากำลังถูกควบคุม  ยิ่งไปกว่านั้นเรายังอาจเห็นดีเห็นงามกับการควบคุม และกำลังเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้ระบบการควบคุมแบบนั้นทำงานได้อย่างทรงพลังมากขึ้น
"ไม่มีชื่อ"
การปลูกฝังและยึดมั่นถือมั่นกับค่านิยมย้อนยุคจนเกินพอดีกลายเป็นการสร้างปัญหาครอบครัว เพิ่มช่องว่างระหว่างคนต่างวัยที่เติบโตมาต่างยุคสมัย และทำให้วัยรุ่นวัยเรียนมีปัญหาชีวิตจนเกินความจำเป็น
"ไม่มีชื่อ"
เหตุใดการทำงานพัฒนาตามแนวทางที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งกล่าวกันว่าเป็น “องค์รวม” หรือมีลักษณะบูรณาการ  จึงละเว้นที่จะทำความเข้าใจความคิดและชีวิตทางการเมืองของชาวบ้านผู้เป็น “ศูนย์กลาง” ของการพัฒนา