Skip to main content

ไม่มีชื่อ

ความขลังของ “คนนอก” โดย อัลแบร์ กามู น่าจะอยู่ที่ชื่อผู้เขียนซึ่งเป็นที่รู้จักในแวดวงนักอ่าน นักเขียน และนักปรัชญา รวมทั้งความคลาสสิคของเรื่องที่ถูกตีพิมพ์ในหลายภาษารวมทั้งภาษาไทยซึ่งตีพิมพ์เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 และตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้งหลังจากนั้น (ข้าพเจ้าอ่านฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ.2534 โดยสำนักพิมพ์สามัญชน แปลโดย อำพรรณ โอตระกูล)

ในฐานะคนนอกของทุกแวดวง ข้าพเจ้าเพิ่งรู้จักนวนิยายแปลเล่มนี้จากคำแนะนำของมิตรสหายท่านหนึ่ง  จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการอ่านใหม่อีกครั้งหลังจากที่ใคร ๆ เขาอ่านกันไปหมดแล้วและคงรีวิวกันไปนักต่อนักแล้ว แต่การอ่านใหม่ในบริบทปัจจุบันอาจทำให้มีมุมมองที่แตกต่างออกไปจากเดิม

แตกต่างจากวรรณกรรมแปลหลายเล่ม ข้าพเจ้าพบว่าสำนวนแปลของเล่มนี้อ่านง่าย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสไตล์การเขียนของ อัลแบร์ กามู ที่ ฌอง-ปอล ชาร์ตร์ กล่าวเปรียบเทียบสไตล์การเขียนของกามูกับเฮ็มมิงเวย์ว่า “ทั้งสองคนชอบใช้ประโยคสั้น ๆ ไม่มีการสืบต่อเนื่องกับประโยคอื่น แต่ละประโยคเป็นการเริ่มต้นใหม่” (น.146)   

ในส่วนของเรื่องราว ข้าพเจ้าอ่านเรื่องแต่งเล่มนี้แบบวางไม่ลง เพราะคิดเชื่อมโยงกับเรื่องจริงในสังคมปัจจุบันที่ผู้คนจำนวนมากมักถูกกล่าวถึงโดยเรื่องราวที่คนอื่นพากันสร้างขึ้น จนกระทั่งตัวเรากลายเป็นคนนอกที่เป็นอื่นจากเรื่องราวของเราตัวเอง

“...เขาพูดถึงฉันกันมาก และบางทีจะพูดถึงตัวฉันมากกว่าการกระทำผิดกฎหมายของฉันเสียอีก...ทุกสิ่งดำเนินไปโดยปราศจากการก้าวก่ายจากฉัน โชคชะตาของฉันถูกกำหนดโดยไม่มีใครถามความเห็นของฉันเลย...” น.114

นอกจากนั้น “คนนอก” ยังชวนให้ข้าพเจ้านึกกระบวนการยุติธรรมไทยที่บ่อยครั้งผู้ต้องหาถูกพิพากษาไปล่วงหน้าก่อนที่จะมีการพิสูจน์ยืนยันความผิดด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ แม้ว่ากระบวนการยุติธรรมในบ้านเราจะอ้างว่าใช้วิธีการปฏิฐานนิยมก็ตามที แต่ข้อพิสูจน์ในหลายคดีเป็นลักษณะการจับแพะชนแกะที่โยงใยเรื่องต่าง ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกันให้กลายเป็นสิ่งยืนยันความชั่วร้ายในจิตใจของผู้ต้องหาโดยไม่ได้คำนึงถึงบริบทแวดล้อมในการกระทำความผิดขณะนั้น

ในเรื่อง "เมอโซ" พลาดพลั้งฆ่าคนตายเพราะเขากำลังปวดหัวอย่างแรงจากแสงแดดแผดกล้า แต่ความผิดของเขาถูกเพิ่มโทษเป็นอเนกอนันต์เพียงเพราะว่าก่อนหน้านั้นเขาไม่ร้องไห้แสดงความเศร้าโศกเสียใจเมื่อมารดาของเขาเสียชีวิต อัยการนำทั้งสองเรื่องมาผูกโยงกันเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า เมอโซ มีความเลวฝังลึกในกมลสันดานจึงเย็นชากับการเสียชีวิตของมารดา และตีความเกินเลยไปว่าเขาเป็นคนที่ไม่ให้ค่ากับชีวิตของผู้อื่นกระทั่งสามารถฆ่าคนตายได้โดยไม่รู้สึกผิดบาป     

“...เขาพูดว่าเขาได้พิจารณาดูวิญญาณของฉัน แต่ท่ว่าเขาไม่พบมัน...เขาพูดว่าอันที่จริงฉันไม่มีวิญญาณนั่นเอง ไม่มีสิ่งที่เป็นมนุษย์เลย...” (น.116)

คำโปรยของหนังสือเขียนไว้ว่า “คนนอก” เป็น “คำประกาศเสรีภาพของคนขบถ” เราอาจคิดเช่นนั้นได้ในแง่ที่ว่าการไม่ทำตามธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมเป็นการขบถอย่างหนึ่ง ดังเช่นที่ เมอโซ ส่งแม่ไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ และไม่ได้แสดงความเศร้าโศกเสียใจเมื่อแม่จากไป แต่ข้าพเจ้ากลับเห็นว่านั่นอาจไม่ใช่การขบถอันใดเลย เพียงแต่ เมอโซ (หรือแท้จริงก็คือกามู) ให้ความหมายแก่ชีวิตที่แตกต่างไปจากคนอื่น ๆ เราพบว่ากามูได้ชี้ให้เห็นในงานเขียนหลายเรื่องของเขาว่าชีวิตมนุษย์นั้นไร้แก่นสาร (absurd) จนไม่ควรที่เราจะยึดมั่นกับอดีตหรือคาดหวังกับอนาคตให้มากเกินไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเราไม่ควรยึดถือสิ่งที่เป็นอุดมคติหรือนามธรรมจนกระทั่งยอมที่จะทำลายชีวิตไม่ว่าจะของเราเองหรือผู้อื่น

“เมอโซ” ในเรื่องถูกสร้างให้เป็นตัวละครที่ไร้อารมณ์ ซึ่งข้าพเจ้าอ่านแล้วก็รู้สึกว่าแปลกไปจากตัวละครของวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ ที่มักจะครุ่นคิดหรือบรรยายความรู้สึกของตนเองตลอดเวลาไม่ว่าจะในบทสนทนาหรือภายในความคิดของตนเอง แต่เมอโซมักเล่าว่าเขากระทำสิ่งใด หรือใครกระทำสิ่งใดกับเขามากกว่าจะแสดงให้เห็นว่าเขารู้สึกอย่างไร ถ้าเมอโซเป็นคนในโลกความเป็นจริงเขาก็คงมีบุคลิกนิ่ง ๆ ไปจนถึงเฉยชาไม่แสดงความรู้สึกกับผู้คนและสิ่งต่าง ๆ รอบตัว น่าคิดต่อว่าจะมีคนแบบเมอโซหรือไม่ในโลกความเป็นจริง แม้ว่าเราโดยส่วนใหญ่จะตระหนักว่าความเศร้าโศกเสียใจ หรือความรักความผูกพัน เป็นอารมณ์ชั่วขณะหนึ่งที่เกิดขึ้นเพียงไม่นานแล้วก็จะผ่านไป

“ในตอนเย็นมารีมารับฉัน และถามขึ้นว่า อยากแต่งงานกับหล่อนไหม ฉันตอบว่าฉันเองเฉย ๆ และเราจะแต่งก็ได้ตามแต่หล่อนจะต้องการ หล่อนจึงอยากรู้ต่อไปว่า ฉันรักหล่อนหรือไม่ ฉันตอบหล่อนเหมือนอย่างที่ฉันเคยบอกหล่อนมาหนหนึ่งแล้วว่า ความรักนั้นไม่มีความหมายอะไรเลย แต่เป็นของแน่ว่าฉันไม่ได้รักหล่อน...”  (น.63)

แม้เมอโซจะนิ่งและเฉยชากับเหตุการณ์ต่าง ๆ แต่เขาก็มิใช่นักบวช ทั้งไม่ได้ศรัทธาในศาสนา ไม่เชื่อเรื่องบาปกรรมและโลกหน้า เขายังคงปล่อยให้ตนเองดำเนินชีวิตไปตามสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์ทางเพศ มีความเบื่อหน่าย หรือแม้แต่ความกลัว แม้ว่าความรู้สึกเหล่านี้จะไม่แสดงออกมาชัดเจนนัก แต่การไม่ยึดติดในอารมณ์ ความรัก และความผูกพันกลับทำให้เมอโซถูกมองว่าไม่มีความเป็นมนุษย์ และไม่ให้ค่ากับชีวิตของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นแม่หรือคนที่เขา (บังเอิญ) ลั่นปืนสังหาร  

แต่ไหนแต่ไรเราถูกทำให้เข้าใจว่าเรื่องราวชีวิตของปัจเจกบุคคลและความเป็นไปในสังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้าตามอนุกรมเวลา เหตุการณ์และการกระทำในอดีตจะส่งผลมาถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งยังจะส่งผลสืบต่อไปในอนาคต แต่ในภาคผนวกของเล่ม ฌอง-ปอล ชาร์ตร์ กล่าวถึง “การดำรงอยู่ในโลก” (Being in the World) ซึ่งเป็นข้อเสนอของ มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ ที่ว่ามนุษย์ต่างดำเนินชีวิตอยู่ในเวลาปัจจุบัน และทุกเรื่องราวต่างอุบัติขึ้นจากเหตุปัจจัยในขณะนั้น

“Being in the World” ทำให้ข้าพเจ้าตั้งข้อสงสัยว่าใช่แน่หรือที่เวลาเคลื่อนที่เป็นอนุกรมที่ต่อเนื่อง และเราสามารถสรุปได้ง่ายเพียงนั้นเลยหรือว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ณ จุดเวลาปัจจุบันเป็นผลอันสมน้ำสมเนื้อจากสิ่งที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาก่อนหน้านี้ ในเรื่อง เมอโซ ได้รับโทษจากข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงเกินกว่าการกระทำผิดของเขา โทษประหารที่เขาได้รับอุบัติขึ้นจากการที่อัยการพยายามโยงการฆาตกรรมของเขาให้ปะติดปะต่อกับการกระทำของเขาหลายอย่างก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการที่เขาไม่ร้องไห้เสียใจให้กับการจากไปของแม่แต่ยังสามารถไปเที่ยวพักผ่อน ดูภาพยนตร์ตลก และร่วมรักกับหญิงสาวได้ ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้วแต่ละเรื่องที่เกิดขึ้นในแต่ละจุดเวลานั้นไม่ได้เกี่ยวข้องและเป็นผลสืบเนื่องถึงกันเลย แต่เหตุการณ์เหล่านั้นกลับถูกจับมาโยงใยกันเพื่อผลที่กำหนดไว้ล่วงหน้าตามที่อัยการต้องการให้มันเป็นไป ขณะที่เมอโซเจ้าของชะตากรรมไม่ได้มีส่วนร่วมในการบอกเล่าเรื่องราวของตนเอง

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สไตล์การเขียนของกามูช่างสอดคล้องกับแนวทางของเรื่อง เพราะเขาได้ทำให้แต่ละประโยคมีใจความสั้น ๆ ที่แยกจากกันจนขณะอ่านข้าพเจ้าสัมผัสกับความรู้สึกว่าแต่ละประโยคขาดออกเป็นห้วง ๆ ไม่เชื่อมโยงให้เรียบลื่นสละสลวย นั่นอาจมีนัยถึงชีวิตมนุษย์ที่ไม่ได้ดำเนินเป็นเส้นตรงราบเรียบ เพราะหากส่องลึกไปในรายละเอียดเราจะพบว่าเส้นหนึ่ง ๆ ประกอบขึ้นจากจุดมากมายมหาศาลที่ถูกนำมาเรียงต่อกัน ชีวิตของเราก็คงแบบนั้น    

เรื่องแต่งของกามูชวนให้นึกถึงผู้คนจำนวนมากในเรื่องจริงที่กำลังรับชะตากรรมอันมิใช่ผลจากการกระทำของตนเอง และมิได้เกิดจากเหตุที่เกี่ยวโยงกันมาอย่างสมเหตุสมผล กลับเป็นชะตากรรมที่ถูกผู้อื่นยัดเยียดให้โดยการวาดโครงเรื่องเอาตามใจชอบเพื่อให้อุบัติผลที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว เจ้าของชะตากรรมไม่เพียงเป็น “คนนอก” ที่ไม่ได้ร่วมเขียนเรื่องราวของตนเอง แต่ยังถูกผลักไสให้เป็นอื่นจากสังคมและรู้สึกแปลกแยกแม้กระทั่งกับชีวิตของตนเอง 

นอกจากความสงสัยในความสืบเนื่องของชะตากรรมมนุษย์ในอนุกรมเวลาแล้ว เมอโซ ยังทำให้เห็นว่าการดำรงอยู่ (Being) ของเขาซึ่งเป็นเช่นเดียวกันวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมากในโลกนี้ไม่ได้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าตามเวลาที่ผันผ่าน มนุษย์ส่วนใหญ่กลับดำเนินชีวิตวกวนอยู่กับกิจวัตรเดิม ๆ ประหนึ่งว่าเวลาชีวิตไม่เคยเคลื่อนไปไหน ไม่ใช่การหลุดออกไปจากอดีตที่มืดมนเพื่อมุ่งไปสู่อนาคตที่มีความหมาย

ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังมีผู้โชคร้ายอีกจำนวนมากที่ถูกกักขังไว้ในพื้นที่ที่กาลเวลาหยุดนิ่ง ไร้อดีตและปราศจากอนาคต พวกเขาต้องทุกข์ทนอยู่กับปัจจุบันที่มีแต่ความขมขื่นและเป็นปัจจุบันที่ไม่ใช่ผลจากการกระทำของตนเอง 

ดังนั้น การไม่ยี่หระกับความหมายของชีวิต ทำตัวเป็นมนุษย์ไร้อารมณ์ ปล่อยผ่านอดีตและไม่สนใจอนาคตอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดหรือเป็นทางออกที่เป็นไปได้ที่สุดสำหรับการดำรงอยู่ในห้วงเวลาปัจจุบันของ “เมอโซ” และใครอีกหลายคนในบ้านเมืองของเราที่ทั้งชะตาชีวิตของตนเองและเหตุการณ์ทางสังคมการเมืองไม่เคยเคลื่อนผ่านไปไหนแต่วกวนอยู่ในวงจรเดิม ๆ.
  

 

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ความในใจของหนึ่งในสองสิ่งมีชีวิตที่ถูกจำกัดให้อยู่ร่วมกับความแปลกหน้าที่เลื่อนไหลไปบนผิวทางอันไม่ราบเรียบของเมืองหลวง
"ไม่มีชื่อ"
“ทำอะไรขาย ใคร ๆ ก็หวังรวยกันทั้งนั้น แต่เกษตรยั่งยืนไม่เคยตอบคำถามชาวบ้านว่าจะรวยแน่ไหม ไม่มีใครบอกมาสักคนว่าขายข้าวอินทรีย์แล้วจะรวยเป็นล้าน ไม่มีใครบอกว่าจะพาชาวบ้านรวย”    --------------------------
"ไม่มีชื่อ"
สำหรับคนอีกจำนวนมาก ระดับการศึกษาอาจช่วยให้ชีวิตดีขึ้นก็จริง แต่ไม่มีวันที่พวกเขาจะทัดเทียมกับคนอื่น ๆ ได้เลย เพราะต้นทุนชีวิตในด้านอื่นมีไม่มากพอที่จะเป็นบุญหนุนส่งได้
"ไม่มีชื่อ"
เราอาจรู้สึกถึงเรื่องศักดิ์ศรี จากการมีหรือไม่มีอำนาจในการเลือกหรือปฏิเสธเรื่องง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน 
"ไม่มีชื่อ"
 หากคุณได้รับโอกาสให้มีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ราวฟ้ากับเหว  ชีวิตใหม่ของคุณควรจะเป็นของใคร เยาวชนจากประเทศพม่าถูกเรียกร้องให้ทำเพื่อ “ชาติ” และประชาชนของกองกำลังกู้ชาติ ขณะที่พวกเขามีชีวิตของตนเอง มีครอบครัว และญาติพี่น้องที่ต้องดูแล
"ไม่มีชื่อ"
นักท่องเที่ยวหลายคนก็คงเป็นแบบฉัน ไปเที่ยวบ้านของเขา แต่กลับมองไม่เห็นคนที่เป็นเจ้าของบ้านซึ่งเราได้เหยียบย่างเข้าไป
"ไม่มีชื่อ"
คนไทยจำนวนมากจดจำเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงหงสาวดีที่ย้อนไปไกลกว่าสามศตวรรษตั้งแต่ช่วงเวลาที่พวกเรายังไม่เกิด และโดยที่พวกเรายังไม่เคยเดินทางมาถึง “บะโก” คนไทยจำนวนมากมีอคติกับ “คนพม่า” เพราะเจ็บจำกับเรื่องราวในประวัติศาสตร์ราวกับว่าคนพม่าและกรุงหงสาวดียังแช่แข็งอยู่ดังเดิมโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ และทั้ง ๆ ที่พวกเขายังไม่เคยรู้จักมักจี่หรือแม้แต่พูดคุยกับ “คนพม่า” เลยสักครั้ง
"ไม่มีชื่อ"
วัยชราเป็นวัยปริศนาที่เข้าใจได้ยากไม่แพ้วัยอื่น ๆ ที่สำคัญมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่จัดการได้ยาก เราจัดการคนอื่นไม่ค่อยได้ พอ ๆ กับที่เราไม่ชอบและไม่ยอมให้ใครมาจัดการตัวเรา
"ไม่มีชื่อ"
เหตุผลเหล่านั้นก็ยังไม่อันตรายเท่ากับเหตุผลที่ว่าเรา “ชินชา” เพราะตกอยู่ภายใต้สภาวะของการถูกควบคุมนานเกินไปจนกระทั่งไม่อาจรู้สึกอีกต่อไปว่าเรากำลังถูกควบคุม  ยิ่งไปกว่านั้นเรายังอาจเห็นดีเห็นงามกับการควบคุม และกำลังเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนให้ระบบการควบคุมแบบนั้นทำงานได้อย่างทรงพลังมากขึ้น
"ไม่มีชื่อ"
การปลูกฝังและยึดมั่นถือมั่นกับค่านิยมย้อนยุคจนเกินพอดีกลายเป็นการสร้างปัญหาครอบครัว เพิ่มช่องว่างระหว่างคนต่างวัยที่เติบโตมาต่างยุคสมัย และทำให้วัยรุ่นวัยเรียนมีปัญหาชีวิตจนเกินความจำเป็น
"ไม่มีชื่อ"
เหตุใดการทำงานพัฒนาตามแนวทางที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งกล่าวกันว่าเป็น “องค์รวม” หรือมีลักษณะบูรณาการ  จึงละเว้นที่จะทำความเข้าใจความคิดและชีวิตทางการเมืองของชาวบ้านผู้เป็น “ศูนย์กลาง” ของการพัฒนา