Skip to main content

“ถ้าผมรู้ว่าอากงจะจากไปเร็วอย่างนี้ ผมคงจะดูแลอากงให้ดีกว่านี้” ผมยังจำได้ไม่มีวันลืม เพราะคำพูดนี้ ผมได้พูดกับทนายอานนท์ นำภา และคุณปลา ประชาไท ภายหลังจากอากง ได้สิ้นลมหายใจ และจากโลกนี้ไปได้ไม่นาน

ราวๆ เดือนสิงหาคม 2553 ขณะที่สถานการณ์การสลายการชุมนุมของคนเสื้่อแดงในปีนั้น ยังคงคุกรุ่นไปด้วยความวุ่นวายอยู่ และผมเอง เพิ่งได้ถูกย้ายมาอยู่แดน 8 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แดนนรก ที่ไม่มีใครอยากจะย่างกรายเข้ามา แล้วก็ถูกรับน้องด้วยการถูกทำร้ายร่างกาย ในฐานะผู้ต้องหาในคดี ม.112 ที่ขณะนั้น มีการสร้างกระแส ด้วย "ผังล้มเจ้า" อย่างเอาเป็นเอาตาย ซึ่งเพื่อนร่วมชะตากรรมของผมอีกคน "หมี สุริยันต์" ก็มีชะตากรรมไม่ต่างกัน แต่เขาโดนทำร้ายร่างกายหนักกว่า โดยการรู้เห็นเป็นใจของหัวหน้าแดน 8 ในขณะนั้น ที่ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายตรงข้ามกับคนเสื้อแดง อย่างออกหน้าออกตา และในสถานการณ์อย่างนั้น ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ อย่างเรา ลองได้เข้ามาเหยียบในคุกแห่งนี้แล้ว ก็จะถูกใส่พานถวายไปยังหัวหน้าแดน 8 คนนี้ แทบจะทุกคน

ช่วงเวลานั้น ผมคิดว่า ไม่น่าจะมีใครที่โดนคดีหมิ่นฯ เข้ามาอีกแล้ว เพราะเชื่อว่า ข่าวที่ผม และหมี โดนทำร้ายในเรือนจำ ได้ถูกเผยแพร่ กระจายข่าวกันไปทั่ว ทำเอาเรือนจำเดือดร้อนไปตามๆ กัน และหัวหน้าแดนคนนี้ ก็คงน่าจะลดความเคียดแค้นลงไปบ้าง และเลิกจองเวรจองกรรม กับพวกเรา ที่ยังคงเป็น "ผู้ต้องหา" อยู่ ซะที เพราะในทางกฎหมายแล้ว พวกเรายังถือว่าเป็น "ผู้บริสุทธิ์" อยู่..

น้องใหม่แดนแปด..

และแล้ว เช้าวันหนึ่ง ในเดือนนั้น ก็มีคนมาแจ้งว่า มีผู้ต้องขังคดีหมิ่นฯ เข้ามาใหม่อีก 1 คน ผมตื่นเต้น และไม่รอที่จะรีบไปพบเขาผู้นี้ในทันที ช้าไม่ได้ เพราะสิ่งที่ผมเป็นกังวลที่สุด ก็คือกลัวว่า จะมีใครทำร้ายอะไรเขา แบบเดียวกับที่พวกผมเคยโดนมาก่อนหรือเปล่า?

และแล้วภาพชายแก่ ผมหงอก ตัวผอมเล็ก ก็ปรากฎอยู่ตรงหน้า ผมคิดในใจว่า นี่นะหรอ คือผู้ต้องหาในคดีชื่อดัง ที่ปรากฎข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ คนนั้น "อากง SMS"

ผู้ต้องขังหลายคน จับกลุ่มซุบซิบกัน โดยให้ความสนใจไปกับ "น้องใหม่คดีหมิ่นฯ" คนนี้ ในขณะที่กำลังรายงานตัวอยู่ ที่ทางเข้าประตูแดน 8 และแน่นอน คำพูดเหยียดหยาม หยาบคาย ก็พลั่งพลูออกมาจากปากของหัวหน้าแดนหัวเหลือง สายใต้ คนเดิมคนนั้น ตรงไปยังชายชรา ที่นั่งคุกเข่าอยู่กับพื้น พนมมือ ด้วยสีหน้าซีดเซียวเพราะความกลัว และน้ำตาคลอเบ้า

"มึงไม่รักในหลวง ใช่มั้ย ทำไมพวกมึงเลวอย่างนี้ รู้มั้ย ในหลวงมีบุญคุณกับเราขนาดไหน เลวจริงๆ พวกเผาบ้านเผาเมือง อย่างพวกมึง บลาๆๆๆ" เรียกได้ว่า ก๊อบปี้มาเลย ไอ้ที่พวกผมโดนด่านะ อากง ก็โดนไม่ต่างกัน

นับเป็นความโชคดีของ อากง ที่เขาไม่โดน "เก็บยอด" อย่างพวกผม เพราะเห็นเป็นคนแก่ จะว่าไปแล้ว นักโทษก็คนนะ พวกเขามีชีวิตจิตใจ มีความเมตตาอยู่ในตนพอสมควร จะบอกว่ามีจรรยาบรรณแห่งการเป็นนักโทษก็ไม่น่าจะผิดอะไร ลองถ้าอากงยังหนุ่มๆ แบบผม แบบหมีดูสิ รับรองเลยว่าไม่รอดแน่ๆ

"ไปอยู่กับพวกมึงเลยไป นั่น ไอ้หมิ่น พวกมึงเตรียมตัวกันเอาไว้นะ อยู่แดนนี้ อย่าหวังว่าจะได้ผุดได้เกิดเลย" หัวหน้าแดนสุดที่รักของผม ชี้นิ้วมายังผม ที่ยืนดูอยู่ห่างๆ

ผม และหมี เดินไปช่วยอากง หิ้วของใช้ที่ถือติดตัวมา จำได้ว่ามีถุงมาม่า คุ๊กกี้สิงคโปร์ กางเกง เสื้อผ้ายับๆ อยู่ในถุงประมาณ 2 ใบ และที่นอนแบบพับสีฟ้า 1 อัน กับหมอนเก่าๆ เหม็นๆ ที่ทางแดน 1 แจกให้ผู้ต้องขังติดตัวมาใช้ที่แดนนี้

อากงยังอยู่ในอาการตกใจ ตายังแดงๆ เหมือนเพิ่งร้องไห้ ผมจึงปลอบใจแกว่า ไม่ต้องกลัว พวกผมก็โดนคดีหมิ่นฯ เหมือนกัน เดี๋ยวพวกผมจะช่วยเหลือ ดูแลอากงเอง อากงเบะปาก ร้องไห้ แล้วยกมือไหว้ผม และพูดอะไรก็ไม่รู้เยอะแยะมากมาย แต่คำที่จำได้แม่นยำก็คือ "ผมไม่ได้ทำนะ ก็ผมไม่ได้ทำ ผมไม่ได้ทำจริงๆ"

ถือว่าโชคดีนะ ที่อากง ได้มาอยู่แดนเดียวกับผม จริงอยู่ แม้ว่าตอนนั้น พวกเราจะยังไม่ได้เป็นขาใหญ่อะไรก็ตาม แต่ก็อยู่ในแดนนั้นจนพอมีคนรู้จักบ้าง เราพอรู้ทิศทางลมอะไรบ้าง ดังนั้น การมีพวกเราเป็นพี่เลี้ยง อากงจึงได้รับความสะดวกสบายมากกว่าคนอื่นๆ พอสมควร

ในเย็นวันนั้นเอง อากง ถูกจำแนกให้ไปนอนที่ห้อง 10 ซึ่งเป็นห้องสำหรับผู้ต้องขังที่มีโทษร้ายแรง เพราะห้องนั้น มีกล้่องวงจรปิดติดตั้งอยู่ เดิมที ผมเองก็นอนห้องนี้นะ แต่โดนย้ายไปอยู่ห้อง 2 ที่เป็นห้องฝั่งตรงข้าม ซึ่งก็เป็นห้องมีกล้องเหมือนกัน ในเวลานั้น ห้องนอน (เรือนนอน) ทั้ง 32 ห้องในแดน 8 จะมีเพียง 3 ห้องเท่านั้น ที่มีกล้องวงจรปิด และใครที่ได้อยู่ห้อง 1, 2 และ 10 ถือว่าไม่ธรรมดาเลย พวกเราคดีหมิ่นฯ ทุกคน ได้รับเกียรตินั้น โดยไม่ต้องร้องขอ

ผมพา "อากง" ไปฝากกับหัวหน้าห้อง 10 ที่เคยดูแลผมมาก่อนหน้านี้ ให้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ หัวหน้าห้องคนนี้ เรียกได้ว่า เป็นขาใหญ่ของเรือนจำคนหนึ่งเลยทีเดียว (ไม่ใช่ขาใหญ่เฉพาะในแดน 8 นะครับ) เพราะเขาเป็นจำเลยในคดีดัง และเป็นอดีตนายตำรวจระดับ "ผู้กอง" ที่คนทั่วทั้งเรือนจำ จะเรียกชื่อเขาว่า "ผู้กองณัฐ"

คดีหมิ่นฯ มันต้องโดนอย่างนี้ถึงจะสาสม

เช้าวันรุ่งขึ้น สำหรับผู้ต้องขังรายใหม่ทุกคน จะต้องเข้ารับการพิจารณาจำแนกกองงาน แน่นอน อากงก็เช่นกัน ที่แดน 8 จะมีกองงาน ให้ผู้ต้องขังทำหลายกองงาน เช่น กองงานปั่นถ้วย กองงานเย็บรองเท้า กองงานช่างไม้ และกองงานบริการต่างๆ ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้สูงอายุ มักจะได้รับการคัดเลือก ให้ทำงานเบาๆ อย่างเช่น กวาดใบไม้ ทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ แต่กับกรณีของอากงนี้.. ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

เพราะ หัวหน้าแดน 8 มีคำสั่งลงมาให้ "อากง" อยู่ประจำกองงาน "ปั่นถ้วย" (ผมเองก็อยู่กองงานนี้) ซึ่งโดยปกติ กองงานนี้ จะเป็นแรงงานผู้ต้องขังวัยรุ่น อายุไม่มาก เพราะเป็นกองงานที่มียอดงานในแต่ละวันเยอะ และลำบากมาก ไม่เหมาะกับคนแก่ ดังนั้น พออากง ถูกยัดเข้ากองงานนี้ ทุกคนต่างรู้ในทันทีเลยว่า "อากง" ต้องแย่แน่ๆ

"ให้ยอดเต็มันไปเลย ปั่นไม่เสร็จไม่ต้องกินข้าว ไอ้พวกหมิ่นฯ มันต้องโดนอย่างนี้แหละ" หัวหน้าแดน 8 กำชับกับลูกน้องผู้ต้องขัง ที่ดูแลกองงานปั่นถ้วยตรงนั้น และยังสั่งให้อากง ไปนั่งอยู่หน้าองค์พระประธาน ที่เป็นที่รู้กันว่า เป็นบริเวณสำหรับการประจาน ผู้ต้องขังที่กระทำความผิด ให้ได้อาย เพราะคนเดินผ่านไปผ่านมา ก็จะเห็นกันหมด ผมเองตอนเข้าไปใหม่ๆ ก็โดนให้นั่งปั่นถ้วยอยู่ตรงนี้เหมือนกัน

หัวหน้าแดนมายืนกำกับ ให้อากงปั่นถ้วยด้วยตนเอง ด้วยความสะใจ ในขณะที่มีผู้ต้องขังอีกหลายสิบคน ยืนห้อมล้อมอากง ที่กำลังพยายามปั่นถ้วยอยู่ ผมเองก็ได้แต่ยืนมอง เพราะไม่กล้าไปเสนอหน้าต่อหน้าหัวหน้าแดน ที่มีอคติต่อผมตั้งแต่แรกเริ่ม

อากงกว่าจะปั่นถ้วยเสร็จแต่ละใบ ก็ใช้เวลานานหลายนาที แล้วถ้วยที่ทำออกมาก็ใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะนิ้วมือข้างขวาของอากง ดันงอไม่ได้เสียอีก ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากในการปั่นถ้วย โธ่.. อย่าว่าแต่อากงเลยครับ คนธรรมดา มือปกติอย่างผม ที่เข้าไปก่อนอากงหลายเดือน ก็ยังทำไม่คล่องเลย

ผมและผู้ต้องขังบางส่วน ยืนมองดูความพยายามของอากงอยู่ห่างๆ หลายคนแสดงอาการเห็นได้ชัดว่าสงสารอากง ก็คนไทยเรามีน้ำใจ จริงๆ นะ ผู้ต้องขังดีๆ นะมีเยอะครับ แม้พวกเขาจะได้ชื่อว่าเป็นนักโทษก็ตามทีเหอะ

หัวหน้าแดน 8 ยืนดูอากงปั่นถ้วยด้วยความทุลักทุเล อยู่พักใหญ่ๆ จึงเดินเข้าห้องประจำตำแหน่งไป พอหัวหน้าแดน คล้อยหลังไปได้ไม่นาน คุณเชื่อมั้ย สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ซึ่งทำเอาผมน้ำตาไหลเลย ก็คือ นักโทษ 3-4 คน ที่เรียกได้ว่า ฝีมือปั่นถ้วยอยู่ในระดับชั้นเซียนของแดน ต่างคนต่างเดินมาหยิบกองกระดาษของอากงกันคนละปึก แล้วเดินเอาไปปั่นที่โต๊ะตัวเองกันหน้าตาเฉย ผมนึกถึงภาพนี้ทีไร ก็อดซึ้งในน้ำใจของเพื่อนนักโทษกลุ่มนี้ไม่ได้ทุกที ในที่ที่มีความ "ตกต่ำสุดขีดของความเป็นมนุษย์ ก็ยังหาสิ่งสูงสุดของความเป็นมนุษย์ได้เช่นกัน" ไม่เว้นแม้กระทั่งดินแดนแห่งนี้ ที่เราเรียกกันว่า "คุก"

นับแต่นั้น เป็นต้นมา อากงก็ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนนักโทษด้วยกัน เช่นนี้ วันแล้ววันเล่า จนกระทั่งอากงได้รับการประกันตัวออกไป ในอีกสองเดือนถัดมา

2014-05-07 22.07.08 resize

กลับมาอีกครั้ง.. ศาลไม่ให้ประกัน

"อากง" กลับเข้ามาที่เรือนจำอีกครั้ง ประมาณกลางๆ เดือนมกราคม ปี 2554 โดยที่ผมไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน เพื่อนที่ออกไปเยี่ยมญาติ มาส่งข่าว ตอนแรกผมก็ไม่เชื่อ อยากเห็นกับตาตัวเองว่า เป็นความจริงหรือเปล่า ปรากฎว่า อากง ฝากจดหมายจากแดน 1 (ที่เป็นแดนแรกรับ) มาถึงผมที่แดน 8 ผมจึงแน่ใจว่าเป็นเรื่องจริง จึงเอาข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นไปส่งให้แกที่แดน 1 ในวันต่อมา อากงเข้ามาครั้งนี้ แกบอกว่า ไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย เพราะคิดว่าแกน่าจะประกันตัวได้

หลังจากนั้น ผมก็ได้ขอความช่วยเหลือจากคนข้างนอกไปว่า ขอให้อากงย้ายมาที่แดน 8 เหมือนเดิม เพราะเป็นแดนที่อากงคุ้นเคย และอากงเองก็อยากมา เพราะว่ามีพวกผมอยู่ ที่จะทำให้แกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัยเหมือนที่เคยเข้ามาครั้งก่อน

แต่ปรากฎว่า ในวันจำแนกผู้ต้องขัง หัวหน้าแดน 8 คนเดิม ที่เคยจงเกลียด จงชังผู้ต้องขังคดีหมิ่นฯ ตลอดมา เกิดเปลี่ยนใจ ไม่เลือกอากง กลับไปอยู่ที่แดน 8 แล้ว โดยความเห็นส่วนตัวผมนะ คิดว่า เพราะเวลานั้น สื่อข้างนอก เล่นเรื่องอากง แรงมาก หัวหน้าแดนคนนี้ เลยเข็ดขยาด ที่จะมายุ่งเกี่ยวกับพวกคดีหมิ่นฯ อีก และวันนั้น อากง ได้ถูกย้ายไปอยู่แดน 3 ไปอยู่ตัวคนเดียว โดยไม่มีคนเสื้อแดงอยู่ในแดนนั้นเลย

ผมเองก็ไม่รู้ว่าอากง ย้ายไปแดน 3 เพราะคิดว่ายังไงก็ต้องกลับมาที่เดิม แดนเดิมแน่นอน แต่ปรากฎว่า หลังจากนั้นไม่นาน ตอนผมออกไปเยี่ยมญาติ และเดินผ่านแดน 3 ก็มองเห็นอากง กำลังกวาดใบไม้อยู่ในแดน ผมเรียกเขา เขาดีใจ วิ่งเข้ามาหา แล้วบอกกับผมว่า "ช่วยย้ายเขาไปอยู่แดน 8 หน่อย ที่นี่ผมไม่มีเพื่อนเลย" ผมรับปาก และขอความช่วยเหลือจากคนข้างนอกในทันที นั่นคือ ทนายอานนท์ นำภา อีกแล้ว

และแล้ว อากง ก็ได้ถูกย้ายมาอยู่ที่แดน 8 สมดังตั้งใจ เรื่องอากง ถือเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต เพราะการย้ายแดน โดยปกติแล้วจะทำกันยากมาก เพราะต้องผ่านคณะกรรมการ แต่กรณีอากง น่าจะเป็นการช่วยเหลือของผู้ใหญ่สักคนในเวลานั้น

แต่ใครจะไปรู้.. ว่าการย้ายมาของอากงในครั้งนี้ ได้สร้างความไม่พอใจให้กับหัวหน้าฝ่าย หัวเหลือง สายใต้คนนี้ เป็นอย่างมาก เข้าทำนองที่ว่า กูไม่เอามึง แต่มึงยังดันทุรัง มาอยู่กับกูจนได้

แผนล้างแค้นจึงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง...

อากงถูกจำแนกกองงาน ให้อยู่กองงานปั่นถ้วยอีกครั้ง และแน่นอน ยอดเต็ม นั่งปั่นหน้าองค์พระเหมือนเดิมเป๊ะ แต่ครั้งนี้ ผมบอกเลยว่า พวกผม คนเสื้อแดงที่อยู่ในแดน 8 นั้น ได้สร้างบารมี ความน่าเชื่อถือให้กับเพื่อนนักโทษด้วยกันได้เห็น ทุกคนให้ความเคารพพวกเรา กลุ่มนักโทษการเมืองมากขึ้น ยอดงาน ที่อากงต้องทำวันละ 5 กิโล (ประมาณ 2,500 ใบ) เสมียนกองงาน ที่เป็นเพื่อนผม ก็ได้ช่วยเคลียร์ยอดไปให้ผู้ต้องขังคนอื่นๆ ด้วยเพราะสงสารอากง แต่เรื่องนี้ ได้ทำเป็นความลับ ไม่ให้หัวหน้าแดนรู้ เพราะถ้ารู้พวกเขาจะเดือดร้อน

เมื่อผมมีประสบการณ์ การอยู่ในคุกมากขึ้น ก็พอจะรู้ว่าตัวเองจะทำอะไรได้บ้าง ดังนั้น ผมจึงขอให้ทนายอานนท์ อีกนั่นแหละ ช่วยประสานงานกับผู้ใหญ่ ให้ย้ายกองงานอากง ไปอยู่กองงานอื่น ที่ไม่ต้องทำงาน เหตุผลหลักก็คือกลัวว่าเพื่อนที่เป็นเสมียน จะเดือดร้อน หากวันหนึ่งหัวหน้าแดนใจร้ายคนนั้น เกิดรู้เรื่องนี้เข้า แต่เหตุผลที่หนักแน่นไม่แพ้กันก็คือ "คนแก่อย่างอากง ไม่ควรต้องทำงาน"

หลังจากพยายามในเรื่องย้ายกองงานอากงไประยะหนึ่ง ก็เริ่มมีผล แต่ยังไม่เบ็ดเสร็จเท่าไหร่ หัวหน้าแดนคนนี้แหละ ก็มีคำสั่ง ย้ายให้อากงไปทำงาน "ถอด-เสียบ" ถ้วย คือไม่ต้องนั่งปั่นถ้วยแล้ว แต่ก็ต้องนั่งทำงานกับพื้น ดึงถ้วยกระดาษออกมาตาก แล้วเก็บถ้วยกระดาษเข้าที่เดิม ซึ่งงานแบบนี้ ต้องนั่งตั้งแต่เช้า ยันเย็น ไปไหนไม่ได้ ซึ่งผมเองยังไม่พอใจ จึงได้เริ่มขยับเรื่องอากงต่อ.. โดยผ่านทนายอานนท์ นำภา ทนายความคู่ใจ อีกครั้ง

คราวนี้.. หัวหน้าแดน 8 เจอของจริงครับ มีคำสั่งสายฟ้าแล๊บลงมา ให้ย้ายอากง ไปอยู่กองงานห้องสมุด ซึ่งเป็นกองงานที่สบายที่สุด และไม่ต้องทำงานอะไรเลย คำสั่งนี้ ยอมรับเลยว่า ทำเอาหัวหน้าแดน เสียหน้าเอามากๆ และแน่นอน เครดิตของคนเสื้อแดงในแดน 8 จึงเริ่มมีคนเห็น เริ่มมีคนเกรงใจ เพราะคิดว่าคนข้างใน ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนข้างนอก เรียกง่ายๆ ว่าพวกเรา "เส้นใหญ่" ไม่ใช่ผู้ต้องขัง ที่โดนดูถูก เหยียบหยาม เหมือนตอนแรกๆ อีกต่อไปแล้ว

2014-05-07 22.07.40 resize

มีเวลามาก.. ก็เริ่มคิดมาก

หลังจากอากง ได้อยู่กองงานห้องสมุดแล้ว เวลาในแต่ละวัน จึงมีมากขึ้น เพราะไม่ต้องทำงาน อากง และเพื่อนๆ กลุ่มเสื้อแดง จะมีที่สิงสถิตกันอยู่ที่โรงเลี้ยงชั้น 2 ของอาคาร ซึ่งเราได้รับความเมตตา จากผู้คุมที่ควบคุม ดูแลงานโรงเลี้ยงอยู่ ที่มีแนวคิดนิยมชมชอบคนเสื้อแดงอยู่แล้ว พวกเราจึงเลือกที่จะอยู่ที่นี่ ในอีกทางหนึ่ง เพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้ากับหัวหน้าแดน ที่เป็นฝ่ายตรงข้าม และเปิด ASTV ดูตลอดทั้งวัน

พวกเราเสื้อแดง จะตั้งกลุ่มเล็กๆ กันขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า "บ้าน นปช." ตอนเช้าพวกเราจะนั่งกินกาแฟ คุยการเมืองกัน ที่โรงเลี้ยงนี้ ตอนเที่ยง ก็กินข้าวด้วยกัน ซึ่งเพื่อนๆ เสื้อแดงส่วนใหญ่ ก็จะกินพร้อมกันที่นี่ ยกเว้นผม เพราะผมแยกออกมากินต่างหาก กับเพื่อนสนิทที่ชื่อว่า "พี่ชาติทอง" ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่ผมนับถือมาก และกินข้าวด้วยกันมานาน ก่อนหน้าที่จะตั้งบ้าน นปช. ขึ้นมา (ภายหลัง พี่ชาติทอง ได้เสียชีวิตลงในเรือนจำ ระหว่างรอคำพิพากษาในศาลชั้นต้น ที่เขารอคอยมานานกว่า 5 ปี)

หากมีเวลาว่างๆ ผมก็จะไปนั่งคุยการเมืองกับอากง ในโรงเลี้ยง แต่ส่วนใหญ่ ผมจะนั่งคุยกับพี่ชาติมากกว่า ในอีกฟากหนึ่งของอาคาร เรื่องส่วนใหญ่ที่คุย ก็จะเป็นเรื่องการทำธุรกิจ เพราะพี่ชาติ ต้องการให้ผมห่างจากการเมือง

อากงในช่วงเวลานี้.. ต่างจากอากงในช่วงเวลานั้น

อากงอ่อนแอลงไปมาก ในเรื่องสภาพจิตใจ เพราะยื่นประกันหลายครั้งก็ไม่ได้ แกเหม่อลอย และติดผมมากๆ ผมเดินไปไหน เขาก็จะคอยเดินตาม ผมนั่งเขียนจดหมาย แกก็จะมานั่งมองผมเขียน จนผมรู้สึกว่า ขาดความเป็นส่วนตัวไป และหลายครั้ง ผมก็โกรธใส่แก งอนแก แต่ก็งอนได้ไม่นาน เพราะเห็นแล้วก็สงสาร คือแกมีผมคนเดียวที่พอจะคุยอะไรกับแกได้ คือแกเชื่อผมคนเดียวว่างั้นเถอะ คิดๆ แล้ว ช่วงที่งอนกัน มันเหมือนผู้ชาย งอนผู้หญิงเลยนะ อากงต้องมาตามง้อผม ผมนี่บาปจริงๆ เลย แต่ทำไงได้ เราเองก็เครียดเหมือนกัน บางทีก็แยกอะไรไม่ออก แล้วก็อารมณ์เสียใส่แกบ้างในบางที..

ตรงนี้แหละที่ผมรู้สึกผิดที่สุด.. แต่ผมก็คิดว่า ผมทำหน้าที่ที่ดีที่สุดแล้ว

หากมีเวลาว่าง หลังจากทำงานส่วนตัวเสร็จ ผมมักจะชวนให้แกเขียนจดหมาย เพราะผมจะเขียนจดหมาย ในโรงเลี้ยงทุกวัน แต่แกไม่ชอบเขียน อ้างว่าสายตาไม่ดี ดังนั้น ผมจึงอาสาเขียนจดหมาย ไปหาป้าอุ๊ ภรรยาแก และลูกหลานตระกูล ป. ของแกอยู่บ่อยๆ บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของอากง อยู่เป็นระยะ และเวลามีจดหมายมา เราก็จะมาอ่านด้วยกัน การได้รับจดหมายจากคนข้างนอก นับเป็นเวลาที่มีความสุขที่สุดเวลาหนึ่ง ของคนที่อยู่ในเรือนจำ นี่คือความจริงที่สุด

4

แบตเตอร์รี่ชีวิต.. ขีดสุดท้าย

แม้การใช้ชีวิตอยู่ภายในเรือนจำ จะมีความยากลำบาก อย่างแสนสาหัสอย่างไร แต่พวกเรา ที่โดนคดีเกี่ยวกับการเมือง ก็จะรักกัน และผูกพันธ์กันมาก ไม่เคยทะเลาะกัน เราต่างสามัคคีกัน โดยมีผมนี่แหละ ที่จะเป็นลูกพี่ใหญ่ของนักโทษการเมืองทั้งหมด แต่ถึงแม้ทุกอย่่าง ในระยะหลังจะราบรื่นเพียงใด พวกเราอยู่กันสุขสบายแค่ไหน แต่กำลังใจนั้น สำหรับบางคนแล้ว มันกลับวิ่งสวนทางกัน

ภายหลังจากอากง ถูกตัดสินจำคุก 20 ปี ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อาการหมดกำลังใจของเขา แสดงออกได้อย่างชัดเจน จริงอยู่ แม้เราจะคอยปลอบใจแกว่า คดีแบบนี้ ขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่นานก็จะได้ออก อีกทั้งเราพอจะสัมผัสได้ ถึงการช่วยเหลือเรื่องการขออภัยโทษของพวกเรา ผ่านทางเจ้าหน้าที่เรือนจำมาตลอด อยู่เป็นระยะ ว่าถ้าขออภัยโทษแล้ว รับรองได้แน่นอน ซึ่งนับเป็นข่าวดี และควรมีกำลังใจ มีความหวัง แต่กับอากงไม่เป็นอย่างนั้น

ความหวังสุดท้าย คือการยื่นขอประกันตัว โดยนักวิชาการหลายคน และเงินสดหลักล้าน ที่ยื่นประกันให้แกเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่แกจะจากไป เปรียบเสมือน "แบตเตอร์รี่ก้อนสุดท้าย" ที่กำลังดับลง ที่ละนิด ทีละนิด

ผมยังจำวันที่มีข่าวเรื่องที่แกยื่นปล่อยตัวชั่ว คราว โดยนักวิชาการ เวลานั้น เรามีความหวังมาก อากงก็ดูสดชื่น กระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉง เย็นวันนั้น เรามีการร่ำลากัน และเตรียมส่งมอบของใช้ส่วนตัวกัน ว่าอันนี้จะให้ใคร อันนั้นจะให้ใคร เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนขึ้นเรือนนอน ผมเข้าไปกอดอากง แล้วบอกว่า "ขอให้อากงโชคดีนะ ผมดีใจด้วย และไม่ต้องมาเยี่ยมผม กลับไปอยู่กับลูก กับหลาน แล้วรอผมออกไป เราจะไปเที่ยวทะเลด้วยกัน" ผมดีใจ เพราะคิดว่า อากงจะได้ปล่อยตัวแน่ๆ ส่วนอากง ก็เหมือนเดิม เบะปาก ร้องไห้ กอดผม เหมือนเด็ก ฮ่าๆๆ นี่แหละสไตล์เขาหละ แล้วก็แยกย้ายกันขึ้นเรือนนอน

และคืนวันนั้น.. เราก็ไม่ได้ยินเสียงไขประตูใดๆ อันเป็นสัญญาณที่จะบอกว่า มีใครสักคน ได้ปล่อยตัวออกไป

เช้าวันรุ่งขึ้น เราพบกันเช่นเคย ทุกคนต่างเข้าไปปลอบใจแก และขอให้แกมีความหวัง เวลานี้ เราสองคน ตัดสินใจแล้วว่า คงไม่สู้คดีแล้ว เพราะขนาดนักวิชาการ ที่มีฐานะทางสังคมที่มั่นคง บวกกับเงินประกัน ที่เป็นเงินสดสองล้านบาท ถ้าผมจำไม่ผิด ยังไม่สามารถประกันตัวได้ แล้วเราจะหวังอะไรได้อีก เราจึงตัดสินใจ ให้ทนายอานนท์ นำภา ช่วยถอนอุทธรณ์ ในทันที และเร่งดำเนินการทำเรื่องขออภัยโทษ โดยเร็วที่สุด ซึ่งอากง ถอนอุทธรณ์ ได้เร็วกว่าและทำเรื่องขออภัยโทษได้ก่อนผม ส่วนของผม ได้ขอตามไปติดๆ ไม่ห่างกันมากนัก

พอกันทีกับการรอคอย.. ความยุติธรรม

เมื่อกำลังใจหมด.. ทุกอย่างก็ดูมืดสนิท

แม้ทุกอย่าง ดูเหมือนจะดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และมีความหวัง แต่อากง กลับมิอาจฟื้นฟูสภาพจิตใจ ที่สิ้นหวังหมดแล้วในชีวิต ให้กลับคืนมาเหมือนดังเดิมได้ ตัวเลข 20 ปีที่ถูกตัดสินมา มันเป็นสิ่งที่หนักมากๆ สำหรับเขา เราทุกคนเวลานั้น ห่วงสภาพจิตใจแกมาก เพราะแกจะนั่งเหม่อ วันๆ จะเฝ้าคอยแต่ป้าอุ๊ มาเยี่ยม และอารมณ์ฉุนเฉียวบ่อยกับคนอื่น (กับผมแกไม่กล้า ฮ่าๆๆ) ซึ่งผมบอกได้เลย พวกเราทุกคน รวมทั้งเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่นๆ คดีอื่นๆ ต่างก็รัก และห่วงใยอากง ด้วยเหมือนกัน

อากาศร้อนในเดือนเมษายน มันช่างโหดร้ายชะมัด อากาศจากภายนอกที่ว่าร้อนแล้ว มาเจอความร้อนจากกรงเหล็กที่อมความร้อน แล้วแผ่ขยายมายังพวกเราอีก นี่มันนรกดีๆ นี่เอง

ในช่วงวาระสุดท้ายของอากง 3-4 วันก่อนที่แกจะจากไป ผมใช้เวลาอยู่กับแกที่โรงเลี้ยง ตอนนั้น อาการแกเริ่มทรุดแล้ว แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าแกเป็นโรคอะไร รู้แค่ว่า กินอะไรไม่ได้ แล้วก็ท้องป่อง หลังจากออกไปหาหมอที่โรงพยาบาลภายในเรือนจำ 2 ครั้งแล้วก็ยังไม่หาย เราจึงคอยการเรียกตัวแก เพื่อออกไปรักษาที่โรงพบาบาลใหญ่ สำหรักผู้ถูกคุมขัง นั่นคือ โรงพยาบาลราชทัณฑ์

อากงในชุดท่อนบน เปลือยเปล่า นอนอยู่บนโต๊ะกินข้าวในโรงเลี้ยง เหมือนคนกำลังนอนหลับ ผมและเพื่อนๆ ก็นั่งคุยกัน และใช้กล่องกระดาษแข็ง คอยพัดให้แกอยู่เป็นระยะ บอกตรงๆ ว่าเวลานี้ เราก็ยังไม่รู้ว่าแกเป็นมะเร็งนะ ก็แค่ท้องใหญ่แค่นั้น ถ้าดูจากอาการภายนอก

2014-05-07 22.07.58 resize
โบกมือลา.. ลาลับไม่กลับมา

เราไม่ได้รับอนุญาต ให้เป็นคนเข็นรถเข็น พาอากงไปส่งสถานพยาบาล เพราะเราไม่มีหน้าที่ แล้วที่นี่มันคือคุก จะเดินซี้ซั้ว ไปไหนมาไหนอย่างอิสระไม่ได้ เราจึงส่งแกขึ้นรถเข็นที่หน้าประตูเท่านั้น เอาวะ อย่างน้อยก็ดีใจที่แกจะได้ไปเจอหมอใหญ่ซะที เชื่อมั้ย? ผู้ต้องขังแทบจะทุกคน คิดว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์ คือโรงพยาบาลที่มีคุณภาพ ไว้วางใจได้ ถึงมือหมอ ทุกคนจะปลอดภัย ก็แหม.. มันขึ้นชื่อว่าโรงพยาบาลนี่นา ใครจะไปคิดว่า การไปโรงพยาบาลของอากงในวันนั้น มันมีค่าไม่ต่างกับการอยู่ที่เรือนจำเลย เพราะไปแล้วก็ไม่มีหมอ แถมเจอบรรยากาศที่มีแต่คนป่วยอยู่รอบข้าง เจ็บออดๆ แอดๆ จะเป็นจะตายกันแทบทั้งนั้น แล้วอากง ที่มีสภาพจิตใจอ่อนแอ สิ้นหวัง แกจะทนได้อย่่างไร

การจับมือลา โดยหวังว่าแกจะกลับมา กลับกลายเป็นการจับมือลา เป็นครั้งสุดท้าย.. ในชีวิตของเขา

อ่านเรื่องราวบอกเล่าเรื่องการตาย ของอากง ผ่านจดหมายของผม ที่เขียนออกมาจากเรียนจำ "จากเพื่อนร่วมชะตากรรมต่างวัย ถึงเพื่อนที่ล่วงลับจากไปชื่ออำพล" ได้ --> ที่นี่ <--

อ้างอิง: http://noomrednon.com/index.php/articles/others/78-akong2y

บล็อกของ หนุ่มเรดนนท์

หนุ่มเรดนนท์
วันนี้เมื่อ 7 ปีก่อน เป็นวันที่ คสช.
หนุ่มเรดนนท์
ช่วงนี้ ได้เห็นเพื่อนๆ หลายคน ได้โพสต์เรื่องราว เกี่ยวกับ "ตูน - ธเนตร อนันตวงษ์" ผู้ต้องหารายล่าสุด ที่โดน คสช.
หนุ่มเรดนนท์
หลังจากข้ามพ้นดินแดนบ้านเกิดมาแล้ว พวกเราก็ใช้ชีวิตในแบบนักท่องเที่ยวทั่วไป เราเช่าห้องพักเล็กๆ ราคาถูก อยู่กันชั่วคราว เพื่อตั้งหลักที่จะคิดทำอะไรกันต่อ ตอนนั้น ทุกคนต่างมี
หนุ่มเรดนนท์
"ก๊อกๆๆ ก๊อกๆๆ" ผมหันหน้ามองไปที่ประตูห้องที่ผมพักอยู่ พลางคิดในใจว่า "อะไรมันจะมาเร็วกันขนาดนั้นนะ" ผมถอนหายใจยาวๆ อีกครั้ง แล้วเดินไปตามเสียงนั้น ค่อยๆ เปิดประตูออก ด
หนุ่มเรดนนท์
 
หนุ่มเรดนนท์
“ถ้าผมรู้ว่าอากงจะจากไปเร็วอย่างนี้ ผมคงจะดูแลอากงให้ดีกว่านี้” ผมยังจำได้ไม่มีวันลืม เพราะคำพูดนี้ ผมได้พูดกับทนายอานนท์ นำภ
หนุ่มเรดนนท์
นับจากที่ผมได้เข้ามอบตัวต่อศาลอาญารัชดา เพื่อต้องการที่จะต่อสู้คดีตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2555 จนถึงตอนนี้ก็ย่างเข้าเดือนที่ 11 และผมก็ได้ขอยื่นประกันตัวเพื่อสู้คดีตามสิทธิขั้นพื้นฐานรวมแล้วก็ 6 ครั้ง และได้รับการ
หนุ่มเรดนนท์
เป็น เดือนที่ 5 แล้วสำหรับการใช้ชีวิตในเรือนจำแห่งนี้ของผม หลังจากที่ครบ 4 เดือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สัปดาห์นี้นับเป็นสัปดาห์ที่สำคัญที่สุดสัปดาห์หนึ่งของการเมืองไทย โดยเฉพาะผู้ต้องขังเสื้อแดง เพราะรัฐบาลที่มีพรรคเพ
หนุ่มเรดนนท์
ผมเขียนเรื่องนี้มาตั้งแต่อยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของเพื่อนในเรือนจำคนหนึ่ง ซึ่งถูกพี่ชายแท้ๆ แจ้งจับในคดีร้ายแรงคดีหนึ่ง บทความนี้ จะเกี่ยวข้องกับบทคว