ชื่อบล็อก “Selamat Datang” (อ่านว่า เซอลามัต ดาตัง) นั้นแปลว่า “ยินดีต้อนรับ” ซึ่งใช้กันทั้งในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ไปจนถึงบรูไน, สิงคโปร์ และปาตานี หากคุณพูดภาษามลายูได้ก็หมายความว่าคุณจะพูดกับคนได้เกือบๆ 250 ล้านคน
ภาษาอินโดนีเซียก็คือภาษามลายูนั่นเอง ทำไมประเทศอินโดนีเซียที่มีประชากรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชวาจึงเลือกใช้ภาษามลายู (แม้ว่าจะเรียกชื่อว่าเป็นภาษาอินโดนีเซีย แต่ก็คือรากเดียวกัน) เป็นภาษาประจำชาติ ไม่ใช่ภาษาชวา?
จริงๆ แล้วภาษามลายูถูกใช้ในหมู่เกาะดินแดนอุษาคเนย์มาตั้งแต่ก่อนการเข้ามาของพวกฝรั่งเสียอีก ภาษามลายูมีบทบาทเป็นภาษากลางในการติดต่อสื่อสารและค้าขายของคนบริเวณหมู่เกาะ (หนังสือบางเล่มก็ว่าภาษามลายูถูกใช้ในบริเวณ Main Land ด้วย) เมื่อฮอลันดายึดบริเวณที่มีชื่อในภายหลังว่าอินโดนีเซียก็ให้คนพื้นเมืองใช้ภาษามลายูต่อไป แม้ว่าจะมีคนพื้นเมืองชั้นสูงจำนวนหนึ่งที่ได้เรียนภาษาดัชต์ การเข้ามาของฮอลันดากลับส่งผลให้มีการทำให้ภาษามลายูที่ใช้กันในบริเวณดัชต์อีสอินดีสมีมาตรฐานมากขึ้น และเมื่อขบวนการชาตินิยมเบ่งบานในอินโดนีเซีย พวกกลุ่มคนหนุ่มก็เลยตกลงกันว่าจะใช้ภาษาอินโดนีเซียที่ก็คือภาษามลายูเป็นภาษากลางของชาติอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 1928 (จะเล่าถึงเหตุการณ์นี้เมื่อถึงวันที่ 28 นะคะ) ก่อนการประกาศเอกราชของชาติจริงๆ ถึง 17 ปี
ขอแถมคำทักทายในภาษาอินโดนีเซีย/มาเลเซียไว้ซักเล็กน้อย
Selamat pagi – เซอลามัต ปากี - สวัสดีตอนเช้า
Selamat siang – เซอลามัต เซียง - สวัสดีตอนกลางวัน มาเลเซียจะใช้ Selamat tengah hari -เซอลามัต เติงงาห์ฮารี
Selamat sore – เซอลามัต โซเร - สวัสดีตอนบ่าย มาเลเซียจะใช้ Selamat petang -เซอลามัต เปอตัง
Selamat malam – เซอลามัต มาลัม - สวัสดีตอนค่ำ