เมื่อวันที่ 21 และ 22 เดือนกันยายนที่ผ่านมา ดิฉันได้ไปเข้าร่วมสัมมนา Indonesia Update ที่จัดโดย Australian National University งานนี้เขาจัดกันทุกปี ประเด็นหลักในการสัมมนาแต่ละครั้งก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ สำหรับปีนี้ประเด็นหลักที่เขาตั้งไว้คือเรื่อง “The State of Education”
ช่วงหนึ่งในงานสัมมนาที่เรียกได้ว่าเรียกเสียงฮือฮาได้มากที่สุดคือการนำเสนอเรื่อง “Indonesia Mengajar” (Indonesia Teaching) โดย Anies Baswedan อธิการบดีของมหาวิทยาลัย Paramadina จาการ์ตา ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโครงการนี้ ในปี 2008 เขาติดอันดับหนึ่งในร้อย Public intellectuals ที่จัดโดย Foreign Policy และในปี 2009 ติดอันดับ Yong Global Leaders จัดโดย World Economic Forum
“Indonesia Mengajar” เป็นโครงการที่ถ้าเรียกเป็นภาษาไทยก็น่าจะประมาณ “ครูอาสาอินโดนีเซีย” โดยจะมีการรับสมัครและคัดเลือกนักศึกษาที่เพิ่งจบปริญญาตรีโดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องจบครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัวชนชั้นกลางขึ้นไปในจาการ์ตาไปเป็นครูอาสาเป็นเวลาหนึ่งปีในพื้นที่ห่างไกลที่มีครูไม่เพียงพอและพื้นที่ที่การศึกษายังไม่ได้รับการแก้ไขหรือพัฒนาดีพอ ผู้นำเสนอได้เล่าว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ครูอาสาเหล่านี้ได้ไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับบรรดานักเรียนที่พวกครูอาสาได้ไปสอน ซึ่งเขาเชื่อว่านั่นคือการเพาะต้นกล้าแห่ง “ความดี” หนึ่งปีของครูอาสานั่นคือการได้มาซึ่งการเรียนรู้ที่ติดตัวครูอาสาไปชั่วชีวิต และสิ่งที่ครูอาสาได้เสียสละความสะดวกสบายเพื่อไปสอนหนังสือให้เด็กในพื้นที่กันดารนั้นจะเป็นแรงบันดาลใจและความทรงจำที่ดีของเด็กๆ ไปชั่วชีวิตเช่นกัน
หนึ่งในแรงผลักดันให้เกิดโครงการนี้คือการที่เขาได้เห็นสภาพปัญหาการศึกษาของประเทศ ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเป็นการกระจายการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน การขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ แต่โครงการนี้ก็ไม่ได้ตั้งความหวังไว้สูงว่าจะมีบทบาทในการแก้ปัญหาการศึกษาของประเทศ แต่มาดหมายว่าบรรดาครูอาสาที่ออกไปทำหน้าที่สอนเด็กนักเรียนนั้นจะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาได้
ไฮไลต์ของช่วงนี้คือในช่วงท้ายผู้นำเสนอได้นำสไลด์ภาพประกอบเพลงของบรรดาครูอาสากับนักเรียนมานำเสนอในตอนท้าย ภาพต่างๆ นั้นได้แสดงถึงความผูกพันระหว่างเหล่าครูอาสากับนักเรียนในอิริยาบถต่างๆ เช่น ในห้องเรียน, ทำกิจกรรม, ทำกับข้าว, ไปเดินเล่น, ไปเล่นน้ำ ฯลฯ ซึ่งได้กระชากหัวใจของคนอินโดนีเซียพลัดถิ่น (ทั้งชั่วคราวและถาวร) ที่นั่งชมและฟังในขณะนั้น เมื่อมิวสิควีดีโอจบลงและเป็นการจบการนำเสนอด้วย ดิฉันเห็นหลายคนยกมือขึ้นปาดน้ำตาที่ไหลลงมาอาบแก้มและลุกขึ้นยืนปรบมือยาวนาน
สิ่งนี้สะท้อนอะไร?
คำตอบที่ผุดขึ้นในความคิดของดิฉันในทันทีที่เห็นอากัปกิริยาของผู้เข้าร่วมสัมมาหลายคน คือการโหยหาและคิดถึง “ความเป็นชาติ” อินโดนีเซีย ภาพประกอบเพลงที่ผู้นำเสนอนำมาให้ชมนั้นทำให้ดิฉันคิดถึงภาพยนตร์เรื่อง “Laskar Pelangi” ที่ได้สร้างปรากฏการณ์คนไปชมในโรงภาพยนตร์ถล่มทลาย
ความสำเร็จของ Laskar Pelangi และอาจจะรวมถึงโครงการครูอาสานี้คือการที่ทำให้คนอินโดนีเซียหวนคิดถึงยุคสมัยแห่งการสร้างชาติ, คิดถึงชาติที่ unity ภาพความหลากหลายของสถานที่ต่างๆ ที่บรรดาครูอาสาไปประสบพบเจอ วิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ยิ่งทำให้คน “อินโดนีเซีย” คิดว่านั่นคือประเทศของเรา เด็กพวกนั้นคือคนร่วมชาติของเรา แม้กระทั่งทำให้พวกเขาคิดถึงคุณค่าบางอย่างที่ตัวเองไม่เคยสัมผัส หรือสภาพบางอย่างที่ในชั่วชีวิตพวกเขาไม่มีวันได้ประสบด้วยตัวเอง เช่น สภาพการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลในเกาะแห่งหนึ่งที่ทั้งวันมีเรือเข้าออกแค่เที่ยวเดียว
การนำเสนอและปฏิกิริยาของผู้ฟังทำให้ดิฉันขนลุกครู่หนึ่ง แล้วก็พลันเกิดคำถามขึ้นในใจนอกจากอยากทราบว่าต้นทุนของการส่งครูอาสาไปประจำตามโรงเรียนต่างๆ นั้นตัวเลขคือเท่าไหร่ มากหรือน้อยกว่าการจ้างครูประจำของโรงเรียนรัฐบาล ก็คือว่า “เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าความรู้ คุณค่า ค่านิยม และความเชื่อของพวกครูอาสาที่เอาเข้าไปสอนให้พวกเด็กๆ นักเรียนนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่เหมาะสมกับพวกเขา และเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าหนึ่งปีของครูอาสาจะสร้างแรงบันดาลใจและความทรงจำที่ดีทั้งชีวิตให้กับเหล่านักเรียนได้?”
หนึ่งในภาพที่ปรากฏในมิวสิควีดีโอ จากเว็บไซด์ Indonesia Mengajar เข้าชมเว็บไซด์ครูอาสาอินโดนีเซียได้ที่ https://indonesiamengajar.org/
ในระหว่างที่กำลังร่างๆ เขียนๆ บทความสั้นๆ นี้ดิฉันก็ได้เห็นเพื่อนในเครือข่ายสังคมออนไลน์โพสต์รูปซึ่งถ่ายมาจากอาคารเรียนของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง (ขอขอบคุณที่อนุญาตท่านเจ้าของภาพด้วยค่ะที่ให้ใช้ภาพนี้) ดิฉันไม่ทราบรายละเอียดของโครงการแต่เข้าใจว่าเป็นการไปสอนหนังสือให้น้องๆ ที่ต่างจังหวัด ...ก็ได้แต่หวังว่าครูอาสาอินโดนีเซียคงไม่คิดว่าเด็กๆ น้องๆ นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลนั้น “โง่” พวกเขาเลยต้องเข้าไปเป็นผู้มอบแสงสว่างแห่งความฉลาดให้กับพวกเขา