ชื่อบทความเดิม History in the Aftermath of Dictatorship
บทสัมภาษณ์อัสฮารี ไอยุบ (Azhari Aiyub), ผู้อำนวยการกลุ่ม Tikar Pandan, บันดาอาเจะห์, อินโดนีเซีย
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย Jess Melvin, PhD candidate, Melbourne University
แปลเป็นไทยและเรียบเรียงโดย อรอนงค์ ทิพย์พิมล
อาเจะห์, จังหวัดตะวันตกสุดของอินโดนีเซีย, ไม่ใช่สถานที่แปลกหน้าสำหรับการโต้เถียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อันยาวนานที่เต็มไปด้วยความรุนแรง อาเจะห์เป็นพื้นที่ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนระหว่างปี 1976 ถึง 2005 แต่ไม่เหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ในอินโดนีเซียที่อาเจะห์ไม่สามารถที่จะดื่มด่ำกับช่วงเวลาแห่งเสรีซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังจากยุคระเบียบใหม่ของซูฮาร์โต (1965-1998) ได้ยาวนานนัก
ระหว่างปี 1989-1998 อาเจะห์ถูกกำหนดให้เป็น “พื้นที่เขตปฏิบัติการทหาร” ทหารพยายามที่จะยุติบทบาทขบวนการแบ่งแยกดินแดนโดยกลุ่มขบวนการอาเจะห์เอกราช (Free Aceh Movement- GAM) การล่มสลายของยุคระเบียบใหม่ก่อให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจในอาเจะห์ เปิดโอกาสให้ทั้งภาคประชาสังคมได้พักหายใจและกลุ่ม GAM ได้รวมตัวกันใหม่ เสรีภาพที่เกิดขึ้นใหม่นี้ได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อเรียกร้องการลงประชามติเพื่อให้อาเจะห์ได้รับเอกราชจากอินโดนีเซีย แต่รัฐอินโดนีเซียได้ตอบโต้กลับในปี 2001 ด้วยการเพิ่มปฏิบัติการทางทหารในจังหวัดอาเจะห์ จนถึงขั้นสูงสุดด้วยการประกาศกฎอัยการศึกอย่างเป็นทางการระหว่างปี 2003-2004 การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอาเจะห์รุนแรงมากในช่วงเวลานั้นและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ถูกปิดฉากลง
การอภิปรายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อาเจะห์เป็นเรื่องที่อ่อนไหวเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากในความขัดแย้งทั้งสองฝ่ายพยายามที่จะชนะ “หัวใจและความคิด” ของคนอาเจะห์ให้โน้มเอียงไปทางประวัติศาสตร์อาเจะห์ในมุมมองของตัวเอง สำหรับกลุ่ม GAM มองว่าอาเจะห์ถูกล่อลวงให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอินโดนีเซียในช่วงเอกราชเมื่อปี 1945 ในขณะเดียวกันสำหรับรัฐอินโดนีเซียมองอาเจะห์ว่าเป็น “ไฟส่องแสง” ของการปฏิวัติแห่งชาติอินโดนีเซีย ซึ่งได้ทรยศชาติเมื่ออาเจะห์เข้าร่วมกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน
ในท่ามกลางการต่อสู้นี้ ปฏิบัติการทางทหารที่ควบคุมอย่างเข้มข้นยังคงตรึงอยู่ในพื้นที่ การล่มสลายของยุคระเบียบใหม่ทำให้เห็นจุดจบของหลักการ “หน้าที่สองด้าน” ของกองทัพ ซึ่งสถาปนาบทบาทของกองทัพในด้านการเมืองของอินโดนีเซีย แต่อย่างไรก็ตามอุดมการณ์ของยุคระเบียบใหม่นั้นยากที่จะรื้อถอนได้ง่ายๆ แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนระดับประถมและมัธยมทั่วประเทศในช่วงยุคระเบียบใหม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อและสร้างความชอบธรรมให้กับการขึ้นสู่อำนาจของทหารในปี 1965 ในกรณีการสังหารหมู่มวลชนที่สนับสนุนโดยรัฐที่เลวร้ายที่สุดกรณีหนึ่งในศตวรรษที่ 20 หลักสูตรของรัฐฉบับเดียวกันนี้ยังคงใช้อยู่ในปี 1998 และยังต้องมีการปรับเปลี่ยนจนถึงขณะนี้ ในอาเจะห์ภายใต้การควบคุมของทหาร หลักสูตรนี้ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มความชอบธรรมของปฏิบัติการทางทหารในอาเจะห์
ตลอดในช่วงยุคระเบียบใหม่ ประวัติศาสตร์ในฐานะของสาขาวิชาที่ตั้งอยู่บนการตั้งคำถามและการวิเคราะห์ไม่ถูกสอนในระดับอุดมศึกษาในอาเจะห์ จริงๆ แล้วมีเพียงแค่มหาวิทยาลัยหลักๆ ในจาการ์ตาเท่านั้นที่รัฐอนุญาตให้ทำหน้าที่นี้ได้ภายใต้การจับตามองโดยทหาร มีเพียงวิธีเดียวที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในอาเจะห์ได้นั่นคือที่คณะฝึกหัดครู ที่ซึ่งนักศึกษาจะถูกบ่มเพาะให้เป็นผู้เผยแพร่อุดมการณ์ที่สอนนักเรียนในโรงเรียน ป สถานการณ์แบบนี้ไม่ได้แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ในอินโดนีเซียที่การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัยยังคงง่อยเปลี้ยจนถึงทุกวันนี้จากมรดกของยุคระเบียบใหม่ แต่อย่างไรก็ตามในอาเจะห์ที่ซึ่งเสรีภาพของสื่อถูกปิดกั้นอยู่แล้ว ผลของการใช้กฎอัยการศึกยังขยายปัญหานี้ให้ใหญ่ขึ้น การสนับสนุนประวัติศาสตร์ที่ต่างไปจากของรัฐอาจนำไปสู่ความเป็นความตายได้
การสิ้นสุดความขัดแย้งแบบฉับพลันในปลายปี 2005 จากเหตุการณ์สึนามิถล่มอาเจะห์หลังวันคริสต์มาสในปี 2004 นำมาซึ่งการยุติปฏิบัติการทางทหารในอาเจะห์และเปิดพื้นที่สำหรับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในตอนนี้การศึกษาสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในอาเจะห์สามารถทำได้แล้ว กระบวนการนี้ได้ก่อให้เกิดการแสดงความเห็นต่างๆ ทางสังคมในหนังสือพิมพ์และนิตยสารท้องถิ่นและเอื้อให้เกิดการก่อตั้งองค์กรทางวัฒนธรรมและองค์กรพัฒนาเอกชนขึ้นในอาเจะห์
อัสฮารี, ผู้ซึ่งถูกอธิบายว่าเป็น “the author of Aceh”[1], เป็นนักเขียนวรรณกรรมและกวี เขาใช้ฝีมือทางการเขียนของเขาในการตั้งคำถามถึงประเด็นที่โต้เถียงเกี่ยวกับอดีตของอาเจะห์ เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการสังหารหมู่มวลชนในปี 1965 ในอาเจะห์ เขาได้รับรางวัล Free World Award จาก Netherlands-based Poets of All Nations จากงานรวมเรื่องสั้นของเขาชื่อเรื่อง Perempuan Pala[2] (Nutmeg Woman) ในปี 2005, และหลังจากนั้นไม่นานเขาก็ได้รับรางวัล Khatulistiwa Literary Award ในปีเดียวกัน เขาเขียนงานเหล่านี้ในช่วงเวลากฎอัยการศึกในอาเจะห์ เขาคิดว่างานเหล่านี้เป็นช่องทางหนึ่งที่จะบ่อนทำลายการจำกัดเสรีภาพในงานทางวิชาการและสื่อ และเพื่อที่จะอภิปรายเรื่องที่มีความขัดแย้งและซับซ้อน
ในปี 2002 อัสฮารีร่วมก่อตั้ง Tikar Pandan (Pandan Mat) องค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งในตอนแรกเริ่มนั้นก่อตั้งเป็นโรงเรียนนักเขียนเพื่อสนับสนุนเยาวชนอาเจะห์ให้เริ่มแสดงความคิดเห็นของพวกเขาและเล่าประสบการณ์ของพวกเขาออกมาเป็นตัวหนังสือ Tikar Pandan ได้พัฒนาเป็นสถาบันทางวัฒนธรรมพร้อมกับสำนักพิมพ์ที่ไม่แสวงหากำไร และมีส่วนร่วมในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนอาเจะห์
อัสซารี, คุณช่วยเล่าเกี่ยวกับตัวคุณและ Tikar Pandan หน่อยได้ไหม?
ผมเกิดและเติบโตที่บันดาอาเจะห์ ตอนนี้ผมอายุ 31 ปี ผมเรียนที่คณะครุและศึกษาศาสตร์ ผมเลือกภาษาและวรรณคดี แต่ผมเรียนไม่จบ ผมเขียนนิยายเป็นส่วนใหญ่ นิยายนั้นเปิดโอกาสให้ค้นพบวิธีที่นำเอาข้อเท็จจริงต่างๆ มาวางเข้าด้วยกันและวิธีที่มันสามารถส่งอิทธิพลต่อความเข้าใจของเราต่อโลกที่เราอาศัยอยู่ Tikar Pandan ที่ที่ผมทำงาน เป็นองค์กรที่หวังว่าจะพัฒนาวัฒนธรรมการอ่านและความรักในวรรณกรรมในอาเจะห์ การเมืองมีอิทธิพลต่อพวกเรา มันทำให้เราก่อตั้ง Tikar Pandan ขึ้นมาและมันได้กำหนดสิ่งที่เรายึดมั่น
ภายใต้การควบคุมของการปกครองแบบเผด็จการทหาร แล้วก็กฎอัยการศึก ภาพแทนของประวัติศาสตร์แบบไหนที่ถูกควบคุมโดยรัฐมากที่สุด?
เรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของการปฏิวัติแห่งชาติอินโดนีเซีย ที่ขับไล่จักรวรดินิยมล่าอาณานิคม ช่วยไม่ได้ที่จะผลิตวาทกรรมการชื่นชมทหาร แต่อย่างไรก็ตามมันมีการโต้กระแสบูชาวีรบุรุษเหมือนกัน เช่น อีดรุส (Idrus) ในช่วงทศวรรษ 1940ป[3] อีดรุสเป็นนักเขียนผู้ซึ่ง ปรามูเดีย อนันตา ตูร์[4] ถือว่าเป็นครูของเขา งานของอีดรุสขัดกับประวัติศาสตร์แบบทหารของประเทศนี้ เพราะว่างานของเขาตั้งคำถามต่อความจริงใจของทหารพลเรือนที่เข้าร่วมในการปฏิวัติ[5] ผมคิดว่าเขาไม่ได้เป็นเพียงนักเขียนที่ดีเมื่อบรรยายตัวละครต่างๆ เท่านั้น แต่การบรรยายตัวละครทหารและผู้นำของเขาได้กลายเป็นการทำนายอันน่าสะพรึงถึงระบอบระเบียบใหม่ เมื่อหกสิบปีที่แล้วอีดรุสได้ประกาศว่าทหารเป็นพวกผู้ร้ายโดยธรรมชาติ ตราบเท่าที่ระบอบระเบียบใหม่ครองอำนาจและดำเนินมาจนทุกวันนี้[6] ผู้คนยังคงถูกขับออกจากที่ดินและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของพวกเขาเพราะว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะแข็งขืนต่อองค์กร (บริษัท) ซึ่งได้รับการคุ้มครองโดยทหาร
ภายใต้ยุคระเบียบใหม่ มันยากที่จะบอกว่าชีวิตในอาเจะห์ยากลำบากว่าจังหวัดอื่นๆ ในอินโดนีเซีย การยึดที่ดิน พร้อมๆ กับการไร้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเอารัดเอาเปรียบทรัพยากรทางธรรมชาติเกิดขึ้นทั่วประเทศ นอกจากนี้ระบอบระเบียบใหม่ยังสังหารประชาชนที่ถูกสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์เกือบล้านคนและการรณรงค์ประทับตราบาปให้แก่บรรดาลูกหลานของผู้ต้องสงสัยเหล่านี้
พลเมืองอินโดนีเซียเกือบทั้งหมดมีประสบการณ์เลวร้ายกับทหาร และวันนี้ความแตกต่างเป็นเพียงแค่ระดับประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับ ผู้คนที่อาเจะห์, ปาปัว และติมอร์ เลสเต้ และคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เป็นกลุ่มคนได้รับผลกระทบเลวร้ายที่สุด หากไม่มีประชาชนอินโดนีเซียที่เผชิญกับการกระทำป่าเถื่อนของทหารโดยตรง เรื่องเล่าที่เขียนโดยอีดรุสและปรามูเดีย จะทำได้เพียงผลิตความรู้สึกสงสัยต่ออนุสาวรีย์เชิดชูทหารที่สร้างโดยทหาร หรือจริงๆ แล้วต่อแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่พวกเขาได้รวบรวม (ซึ่งได้กลายเป็นเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ฉบับทางการของประเทศ)
แต่ทว่า ตั้งแต่ปฏิบัติการทางทหารในอาเจะห์ทหารได้สอนผมถึงบางอย่างที่สำคัญอย่างยิ่ง : เหตุผลที่ผมเกลียดทหาร นอกจากการสังหารและการบุกรุกบ้านพลเรือนในช่วงปฏิบัติการทางทหาร ยังมีสาเหตุที่ดูเหมือนจะเป็นเหตุผลง่ายๆ ที่ทหารหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังในชุมชน ตัวอย่างเช่น ในช่วงเวลาปฏิบัติการทหารในอาเจะห์จะมีรถบรรทุกของทหารมากมายในอาเจะห์ รถบรรทุกเหล่านี้ที่ลำเลียงพลทหารสร้างความรบกวนอย่างยิ่ง เพราะไม่ว่ารถจะแล่นไปที่ไหน คนขับรถไม่เคยที่หยุดกดแตรรถ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้แก่ผู้ใช้ถนนว่าพวกเขาควรจะหลีกทางให้กับรถบรรทุกทหารได้ผ่านไปก่อน พวกเราถูกบีบให้ให้ทางแก่พวกเขาซึ่งทำราวกับว่ากิจกรรมของพวกเขาเท่านั้นที่สำคัญ
เมื่อไหร่และอย่างไรที่คุณเริ่มตระหนักว่าเรื่องเล่าประวัติศาสตร์แบบนี้มันมีปัญหา? และมันได้ส่งผลต่อการตัดสินใจของคุณในการก่อตั้ง Tikar Pandan หรือไม่?
Tikar Pandan เกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นในอาเจะห์ ภายใต้การควบคุมของทหาร ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่พวกเรากำลังเติบโตขึ้น เราสามารถเห็นว่าจาการ์ตาใช้ยุทธวิธีโดดเดี่ยวอาเจะห์ เราไม่สามารถเห็นโลกภายนอกอาเจะห์ และผู้คนภายนอกก็ไม่สามารถเห็นสิ่งที่เป็นไปในอาเจะห์ คนภายนอกยังถามว่าทำไมอาเจะห์เรียกร้องการลงประชามติ พวกเขาไม่เห็นภัยพิบัติทางด้านมนุษยชนที่เกิดขึ้นในอาเจะห์ พวกเขาคิดว่าคนอาเจะห์สุขสบายดีเพราะว่ามีบริษัทน้ำมัน Exxon-Mobil และบริษัทใหญ่ๆ ตั้งอยู่ในอาเจะห์ จริงๆ แล้วตามดัชนีความยากจน อาเจะห์เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ยากจนที่สุดในอินโดนีเซียด้วยซ้ำ
หนึ่งในตำนานที่มีมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมในอาเจะห์คืออาเจะห์เป็นสถานที่ของโจรสลัดและคนอาเจะห์คาบ “เรินจอง” rencong (ดาบแบบดั้งเดิมของชาวอาเจะห์) ไว้ในปาก กรณีการก่อการร้ายเกิดขึ้นทุกเมืองในอินโดนีเซียแต่ตั้งแต่ปี 2009 ทหารได้ติดตามกลุ่มก่อการร้ายจากชวาที่ได้ย้ายฐานปฏิบัติมาที่อาเจะห์ แต่หนังสือพิมพ์และนิตยสารในจาการ์ตาเรียกกลุ่มก่อการร้ายนี้ว่าผู้ก่อการร้ายอาเจะห์ ชื่อซึ่งไม่เคยใช้เมื่อเกิดการก่อการร้ายขึ้นในจังหวัดอื่นๆ แน่นอนนี่มันน่าเจ็บปวด Tikar Pandan พยายามที่จะปรับภาพลักษณ์ของอาเจะห์ให้ดีขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งนี่ควรจะเป็นงานของฝ่ายประชาสัมพันธ์ในรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดอาเจะห์มากกว่า
เริ่มจากเราตั้งธงในการช่วยสนับสนุนวัฒนธรรมการอ่านซึ่งเริ่มพัฒนาในกลุ่มเยาวชนในอาเจะห์ก่อน ในช่วงต้นคริสต์ศวรรษที่ 21 มันยากมากที่จะหาหนังสือดีๆ ในอาเจะห์ คุณต้องไปที่ชวาเพื่อที่จะไปหามันหรือแม้แต่เพื่อไปหาเสื้อยืดสกรีนรูปหน้าเช กูวารา พวกเราเชื่อว่าถ้าปราศจาการวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งมันยากที่เราจะคิดแบบวิพากษ์และหนีจากการโดดเดี่ยวทางการเมืองที่ถูกยัดเยียดให้โดยจาการ์ตาได้ ในช่วงเวลาปฏิบัติการทางทหารล่าสุด พวกเราก็เปิดโรงเรียนสอนการเขียนฟรีให้กับเยาวชน โรงเรียนนี้ไม่ได้สอนด้านเทคนิคการเขียน พวกเราค่อนข้างจะหวังว่าผู้เข้าร่วมจะมาเพื่อพัฒนาความคิดของพวกเขาเกี่ยวกับสถานการณ์ที่พวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งเป็นอะไรที่ท้าทายมาก ปโรงเรียนนี้ได้เปิดมาเป็นเวลาสิบปีแล้ว ตั้งแต่ทหารถอนออกไป ความคิดเห็นของนักเขียนมีความสำคัญเพิ่มขึ้น หนังสือพิมพ์ในอาเจะห์บิดเบือนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น พวกเขาแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับผู้หญิงว่าผู้หญิงที่ออกนอกบ้านตอนกลางคืนเป็นพวกโสเภณี[7] ผู้อ่านก็ยอมรับว่ามันจริง บางครั้งผมคิดว่าอาจจะดีเสียกว่าถ้าอ่านหนังสือไม่ออกและไม่รับรู้ถึงสิ่งที่ปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์แบบนี้
ผมจำไม่ได้แน่ว่าเมื่อไหร่ที่ผมเริ่มคิดแบบนี้ หรือกระบวนการนี้เกิดขึ้นในแบบเดียวกันกับเพื่อนๆ ของผมที่ร่วมกันก่อตั้ง Tikar Pandan หรือไม่ ผมคิดว่าเส้นทางชีวิตของผมเป็นผลจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมเติบโตมาในยุคปี 90 ในเมืองเล็กๆ ที่มีความปลอดภัยเพียงพอ แต่แล้วมันก็เริ่มมีประสบการณ์ที่เลวร้าย
Tikar Pandan ได้สร้างพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนขึ้น ซึ่งพยายามให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความโหดร้ายในช่วงสงครามแบ่งแยกดินแดนในอาเจะห์ คุณช่วยอธิบายเกี่ยวกับกระบวนการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์นี้, แรงบันดาลใจ และวัตถุประสงค์?
Tikar Pandan ไม่ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์นี้โดยลำพัง เราทำงานร่วมกับอีกสี่องค์กร ได้แก่ องค์กรช่วยเหลือด้านกฎหมายบันดาอาเจะห์ ็ (LBH Banda Aceh - Banda Aceh Legal Aide Organisation), คณะกรรมการเพื่อผู้สูญหายและเหยื่อความรุนแรงอาเจะห์ (Kontras Aceh - Commission for the “Disappeared” and Victims of Violence, Aceh), พันธมิตรองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนในอาเจะห์ (Colalition of Human Rights NGOs in Aceh) และศูนย์นานาชาติเพื่อความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (the International Centre for Transitional Justice) เราก่อตั้งองค์กรร่วมพร้อมกับพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนเป็นองค์กรอิสระ สมาชิกขององค์กรเหล่านี้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงและความสมานฉันท์ (Truth and Reconciliation Commission - TRC) ในอาเจะห์ องค์กรสี่องค์กรยกเว้น Tikar Pandan มุ่งเน้นด้านการเป็นทนายตัวแทนของเหยื่อในกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในอาเจะห์ บทบาทของ Tikar Pandan ในพิพิธภัณฑ์คือด้านการเยียวยาและกิจกรรมอื่นๆ ที่แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่คือ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นอนุสรณ์สถาน ตัวพิพิธภัณฑ์เองถูกก่อตั้งในโรงรถที่ไม่ได้ใช้งานที่สำนักงานของพวกเรา
ตั้งแต่สิ้นสุดกฎอัยการศึกในอาเจะห์ในปี 2005 ก็ยังไม่แน่นอนว่าจะมีการก่อตั้งคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ กฎหมายที่จะก่อให้เกิดคณะกรรมาธิการถูกสกัดในสภา ทั้งรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดอาเจะห์และสภาระดับชาติที่จาการ์ตาต่างพยายามผลักความรับผิดชอบในการบัญญัติกฎหมายให้เป็นของอีกฝ่าย ประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนถูกพูดถึงน้อยลงเรื่อยๆ พวกเรายังคงหวังต่อไปว่ารัฐบาลจะจัดการกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีต ในขณะเดียวกันพวกเราก็ก่อตั้งอนุสรณ์สถานของพวกเราเองให้เหยื่อจากความรุนแรง อนุสรณ์สถานนี้ไม่ได้มุ่งหวังที่จะสร้างแรงกดดันแก่รัฐบาลอาเจะห์ แต่พวกเราหวังจริงๆ ว่ามันจะช่วยเตือนพวกเขาว่าการพยายามลืมเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นความผิดพลาดและไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องที่พยายามสกัดกั้นกฎหมายสำหรับการก่อตั้งคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ รัฐสภาก็ยึดกับแนวทางของตัวเองมากเกินไปที่จะแก้ไขปัญหานี้ พวกเราเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิที่จะรู้เกี่ยวกับอดีตของพวกเขาเอง การละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถกระทำโดยใครก็ได้และมันไม่ได้เป็นแค่เรื่องของคนรุ่นก่อน แต่สำหรับคนรุ่นที่ยังมาไม่ถึง เรากำลังเสี่ยงต่อการที่การละเมิดเหล่านี้จะเกิดซ้ำอีกเพราะว่ามันยังไม่ได้ถูกจัดการให้ถูกต้อง
คุณช่วยอธิบายการจัดแสดงหลักและสารที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ได้ไหม?
พวกเราไม่ได้จัดกิจกรรมมากนักที่อนุสรณ์สถาน เราเชิญคนมาบรรยายเตือนความจำปีละครั้ง เพื่ออภิปรายถึงประเด็นความสำคัญของคุณค่าสิทธิมนุษยชนในชีวิตประจำวัน จิตรกรรมฝาผนังบรรยายฉากดำมืดจากประวัติศาสตร์ของเรา คำสำคัญบางคำที่เกี่ยวกับความขัดแย้งในอาเจะห์ คือ กฎอัยการศึก, ปฏิบัติการเครือข่ายสีแดง[8] การสังหารที่ Simpang KKA[9] และการสังหารทางการเมือง เราได้จัดวางคำบรรยายของเหตุการณ์เหล่านี้ในกรอบพร้อมคำอธิบาย
สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับอนุสรณ์สถานคือการให้ความรู้สึกถึงสันติภาพและเคารพต่อผู้คนที่ “สูญหาย” ในช่วงเวลานั้นหรือผู้ที่ยังไม่รู้ชะตากรรมจนถึงทุกวันนี้ เราได้จัดพื้นที่พิเศษเพื่อแสดงรูปภาพพวกเขาซึ่งได้กลายเป็นความทรงจำของประชาชน ผู้เข้าชมสามารถสวดอธิษฐานและวางดอกไม้ที่นั่นได้
พวกเราไม่ได้พูดถึงการมีหรือการสะสมวัตถุที่พิพิธภัณฑ์ ก่อนหน้ามีคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ มีความคิดที่ผิดว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์แบบดั้งเดิม คือมีอาคารใหญ่ๆ เต็มไปด้วยการแสดงต่างๆ ทุกเดือน มีเสื้อผ้าและรองเท้าของเหยื่อมาแสดงในกล่องแก้ว ก่อนที่จะเกิดสิ่งนี้ขึ้นได้จะต้องมีการพูดคุยกับเหยื่อและครอบครัวเสียก่อน เราต้องระมัดระวังอย่างมากในการตัดสินใจเลือกว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะที่จะมาแสดง พิพิธภัณฑ์ของเราเป็นภาพสะท้อนความเชื่อมั่นของหลายคนว่ามีความจำเป็นต้องมีความยุติธรรมและกระบวนการพูดความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต มันเป็นวิธีหนึ่งที่บอกว่าพวกเรายังไม่ลืม
เรากำลังขยายขอบเขตของพิพิธภัณฑ์ผ่านการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เสมือน (Virtual Museum) บนเว็บไซด์ของเรา เรากำลังรวบรวมสารานุกรมออนไลน์ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับคำสำคัญที่พูดถึงข้างบน การสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันแบบใหม่ต่อวิธีที่ประวัติศาสตร์ควรจะถูกมองไม่ได้เป็นแค่เพียงเรื่องการมีอำนาจ (เช่นครอบงำโดยรัฐ) แต่เป็นเรื่องของการที่เราสามารถตีความเหตุการณ์และคำต่างๆ ใหม่ด้วย และสามารถส่งอิทธิพลต่อวิธีที่คนมองเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้
พิพิธภัณฑ์พยายามที่จะท้าทายต่อความเข้าใจที่เป็นที่ยอมรับเกี่ยวกับความขัดแย้งอย่างไร และมันได้รับการตอบรับอย่างไรในชุมชน?
ปฏิกิริยาจากประชาชนค่อนข้างดี พวกเขาไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรผิดเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์นี้ ในอาเจะห์มีความแตกแยกทางความคิดเห็นของคนเกี่ยวกับประเด็นของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตตั้งแต่จาการ์ตาประกาศให้ใช้กฎหมายอิสลามในอาเจะห์อย่างเป็นทางการ[10] องค์กรศาสนาบางองค์กรเห็นว่าแนวคิดเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” มาจากตะวันตกด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้อิสลามอ่อนแอ อะไรที่เกี่ยวข้องกับ “สิทธิมนุษยชน” จะถูกองค์กรเหล่านี้มองอย่างถากกาง
ก่อนหน้าที่พิพิธภัณฑ์จะถูกก่อตั้งโดยคณะกรรมการเพื่อผู้สูญหายและเหยื่อความรุนแรง, องค์กรช่วยเหลือด้านกฎหมายบันดาอาเจะห์ ็ และพันธมิตรองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนในอาเจะห์ ได้มีการจัดอภิปรายกับกลุ่มเหยื่อเกี่ยวกับแนวคิดของพิพิธภัณฑ์ องค์กรเหล่านี้ยังจัดกิจกรรมของตัวเอง เช่น รำลึกถึงวันสำคัญต่างๆ เช่น การสังหารที่ Simpang KKA พวกเขาจัดการรำลึกทุกปีในสถานที่ที่เกิดการสังหารขึ้น
มีสิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นเมื่อพวกเราประกาศเปิดพิพิธภัณฑ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์คือนายเรซา อีเดรีย (Reza Idria) ได้รับพัสดุจากมูลนิธิแห่งหนึ่ง เป็นหนังสือเขียนในภาษาอาเจะห์ และมีจดหมายเขียนเป็นภาษาอาเจะห์เช่นกันแสดงความหวังว่าหนังสือนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลคชันของพิพิธภัณฑ์็ พวกเราไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับมูลนิธินี้มาก่อน ปรากฏมันถูกสร้างโดยทหาร และหนังสือได้ระบุหลายกรณีของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดย GAM ในช่วงความขัดแย้ง เรารับหนังสือและแสดงความขอบคุณ สารที่ส่งถึงเรานี้ชัดเจนมากว่าพวกเขา (ทหารที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธินี้) ต้องการการรับฟังเช่นกัน อย่างน้อยที่สุดสารนี้บอกเราว่าความจริงเกี่ยวกับความขัดแย้งในอาเจะห์นั้นไม่ได้มาจากเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น
คุณคิดว่าการเล่าอดีตแบบใหม่ เช่นที่ทำผ่านพิพิธภัณฑ์นี้ จะช่วยแก้ไขความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ในชุมชนไหม?
การแก้ปัญหานี้สามารถทำได้ผ่านความเข้าใจว่าทำไมความวุ่นวายโกลาหลจึงเกิดขึ้นได้ง่ายในสังคมอินโดนีเซีย ปีที่แล้วผมเขียนรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงและการกล่าวหาหมิ่นประมาทความเชื่อทางศาสนาในอาเจะห์ จากรายงานนี้ผมพบว่าเป็นที่ชัดเจนว่าคนค่อนข้างอ่อนไหวง่ายต่อการถูกหมิ่นประมาทและต้องการโจมตีคนซึ่งมีความเชื่อทางศาสนาต่างจากตน ในขณะที่รัฐซึ่งควรจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางกลับแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองจากความวุ่นวายเหล่านี้ ดูเหมือนว่ารัฐมีความสามารถในการจัดการความขัดแย้งเหล่านี้แต่ไม่ใช่ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้มันสิ้นสุด ในเรื่องที่เกี่ยวกับความวุ่นวายหรือความขัดแย้งในชุมชน รัฐก็ยังคงไม่เปลี่ยนความคิด กฎหมายใหม่เกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งทางสังคมเพิ่งผ่านร่างในอินโดนีเซีย นี่เป็นการนำเสนอโอกาสใหม่สำหรับการนิรโทษกรรม เพราะว่าเป็นการออกกฎหมายว่าทหารสามารถที่จะประเมินระดับของภัยคุกคามต่อความมั่นคงในชุมชนได้
ในสภาพเช่นนี้พิพิธภัณฑ์เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ดีที่สุดในการนำเสนอมุมมองใหม่ในหลายประเด็น พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เพียงแค่สามารถเก็บเรื่องราวจากมุมมองของเหยื่อ แต่มันสามารถที่จะพยายามเปลี่ยนเรื่องราวที่ได้ถูกบอกเล่าด้วย ไม่เพียงเท่านี้พิพิธภัณฑ์ยังสามารถทำหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชนได้ด้วย นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อเรา เพราะว่าในช่วงความขัดแย้งในอาเจะห์ ทหารตระหนักดีว่าพวกเขาจำเป็นต้องสร้างเรื่องเล่าเฉพาะที่อธิบายจากมุมมองของพวกเขา และอธิบายว่าความขัดแย้งเริ่มได้อย่างไรและอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น พวกเขาใช้สื่อหลายอย่างในการควบคุมเรื่องเล่าของพวกเขาโดยไม่ต้องใช้กำลัง หนังสือที่ผมกล่าวถึงข้างต้นเป็นตัวอย่างได้ดี อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ผมเพิ่งพบการ์ตูนที่ใช้เพื่อโฆษณาชวนเชื่อซึ่งอธิบายความสำคัญของ “การรักษาสันติภาพ” ที่ผลิตโดยสำนักสารสนเทศทหารอาเจะห์ (Aceh Military’s Bureu of Information)
คุณคิดว่ายังคงมีข้อห้ามเฉพาะใดๆ ในการพูดเกี่ยวกับอดีตของอาเจะห์อีกไหม?
โดยทั่วไปไม่มี แต่อย่างไรก็ตามมีคนที่ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มที่ต้องการเก็บเรื่องราวพวกเขาไว้กับพวกเขาเอง โดยเฉพาะเหยื่อของการข่มขืน มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพวกเขาที่จะพูดถึงความบอบช้ำทางจิตใจเช่นนี้
คุณสนับสนุนการก่อตั้งคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงและความสมานฉันท์ในอาเจะห์หรือไม่? คุณต้องการให้คณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ บรรลุเป้าหมายอะไร? มีอุปสรรคอะไรบ้างในการก่อตั้งคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ?
แน่นอนว่าพวกเราสนับสนุนการก่อตั้งคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ ภายในภาคประชาสังคมในหมู่พวกเราที่มีส่วนร่วมในพิพิธภัณฑ์ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานที่จัดตั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ความโหดร้ายของผู้ที่ขัดขวางการก่อตั้งคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ ก็เหมือนกับบรรดาผู้ที่ปฏิเสธว่าเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาเจะห์ คณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ ไม่ได้สำคัญแค่ต่ออาเจะห์ หรืออินโดนีเซียเท่านั้น แต่สำคัญต่อประชาคมระหว่างประเทศด้วย หากไม่มีคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ มันก็ยากที่จะจินตนาการว่าลูกหลานของเราในอนาคตจะไม่ประสบกับสถานการณ์ซ้ำรอยกัน
ในความเห็นของผมปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในการก่อตั้งคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ คือทั้งรัฐบาลอินโดนีเซียและผู้นำ GAM เห็นเพียงความเสี่ยงในระยะสั้นที่พวกเขาอาจต้องเผชิญเท่านั้น ดังนั้นพวกเขาปฏิเสธที่จะเปิดประตูไปสู่การพูดคุยอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมา พวกเขากำลังพยายามที่จะเปลี่ยนการอภิปรายเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ ด้วยการอภิปรายเกี่ยวกับ “ความมั่งคั่ง” (ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ) ในอาเจะห์แทน ด้วยความหวังว่าเรื่องนี้จะทำให้คนหันมายอมรับต่ออดีตที่ผ่านมา เรื่องนี้มีสองประเด็นที่แตกต่างกัน คุณไม่สามารถดับความกระหายด้วยการกินขนมปัง คุณไม่สามารถให้ความมั่งคั่งหากสิ่งที่พวกเขาต้องการคือความยุติธรรมจากอดีต ผมคิดว่านี่เป็นปัญหาที่ผู้อยู่ในอำนาจทุกแห่งต่างเผชิญ ดังที่กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (นักเขียนชาวโคลอมเบียผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 1982) ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า “เมื่อคุณบรรลุถึงอำนาจเบ็ดเสร็จ คุณจักถูกตัดขาดจากโลกแห่งความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง และนั่นนับเป็นภาวะอ้างว้างโดดเดี่ยวอันเลวร้ายที่สุดเท่าที่จะบังเกิดขึ้นได้”
การ “เล่าความจริง” ของคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ ถูกอธิบายว่าเป็นกระบวนการสร้างเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ทางการใหม่ ในความเห็นของคุณมันเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการสมานฉันท์ที่แท้จริงในอาเจะห์โดยไม่มีกระบวนการดังกล่าว? คุณพิจารณาว่าอะไรเป็นประเด็นหลักที่จำเป็นต้องกล่าวถึงสำหรับเรื่องนี้?
ผมไม่แน่ใจ เพราะว่าความรู้สึกต้องการแก้แค้นสามารถเติบโตที่ไหนก็ได้ที่คนคิดว่ายังไม่มีความยุติธรรมเพียงพอ นี่เป็นสิ่งที่น่าเศร้ามากเพราะว่าสิ่งที่จำเป็นตอนนี้คือเจตจำนงทางการเมืองในนามของรัฐบาลที่จะดำเนินการกระบวนการดังกล่าว การค้นหาความจริงต้องลงรากฐานเรื่องนี้ การละเมิดที่เกิดขึ้นต้องเป็นที่รับรู้ รัฐบาลของเรากำลังอยู่ในโลกแคบๆ ของพวกเขาถ้าพวกเขาไม่ปรารถนาที่จะต่อสู้เพื่อสิ่งนี้
รูปคนสูญหายที่พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชน
[1] The Jakarta Post, 16 November 2008.
[2] Azhari, Perempuan Pala (Yogyakarta: Akedemi Kebudayaan Yogyakarta Press, 2004). Perempuan Pala ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Nutmeg Woman (Banda Aceh: Aneuk Mulieng Publishing, 2009).
[3] อีดรุส (1921- 1979) เป็นนักเขียนอินโดนีเซียเป็นที่รู้จักจากเรื่องสั้นและนิยายแบบ realistic โดยเฉพาะจากเรื่องสั้นของเขาที่เขียนในช่วงการปฏิวัติอินโดนีเซียระหว่างปี 1945-49 เขาย้ายไปอยู่เมลเบิร์นในปี 1965 เพื่อเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยโมแนช
[4] ปรามูเดีย อนันตา ตูร์ (1925- 2006)ได้รับการนับถือว่าเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย งานของเขาครอบคลุมยุคอาณานิคม, ยุคการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย, ยุคการยึดครองของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, และระบอบหลังอาณานิคมสมัยซูการ์โนและซูฮาร์โต เขาถูกขังที่เกาะบูรูระหว่างปี 1969-1979 เพราะเขาเป็นสมาชิกองค์กรด้านวัฒนธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (LEKRA) เขามีชื่อเสียงมากที่สุดจากนิยายประวัติศาสตร์ชุดจตุภาคบูรูซึ่งเขียนขึ้นในระหว่างที่เขาอยู่ที่เกาะบูรู และถูกแบนในอินโดนีเซียในช่วงระบอบระเบียบใหม่
[5] ยุคการปฏิวัติแห่งชาติอินโดนีเซีย (1945-1949) นั้นเป็นการต่อสู้โดยกลุ่มทหารพลเรือนอิสระส่วนใหญ่ กลุ่มทหารพลเรือนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังแห่งชาติจนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1950
[6] นายทหารและผู้ที่มีสายสัมพันธ์กับทหารยังคงมีอิทธิพลภายในการเมืองอินโดนีเซีย ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) เป็นนายพลเกษียณราชการ ในขณะที่จากสี่ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสำหรับปี 2014 นั้นมีสองคนเป็นอดีตทหาร ได้แก่ปราโบโว (Probowo) เป็นทหารหน่วยกองกำลังพิเศษ และวิรันโต (Wiranto) เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดอินโดนีเซีย ทั้งคนสองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เมกาวตี (Megawati) บุตรสาวของซูการ์โนผู้ซึ่งกำลังพยายามให้ได้รับเลือกอีกครั้ง เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบในช่วงกฎอัยการศึกในอาเจะห์ ในขณะที่ อาบูรีซัล บาครี (Aburizal Bakrie) เป็นหัวหน้าพรรคกอลคาร์ (Golkar) พรรครัฐบาลภายใต้เผด็จการทหารยุคระเบียบใหม่
[7] เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2012 หญิงวัยรุ่นจากอาเจะห์ตะวันออกคนหนึ่ง มีชื่อตัวย่อว่า ‘P.E.’ ฆ่าตัวตายหลังจากที่เธอและเพื่อนๆ ของเธอถูกกล่าวหาในสื่อว่าเป็น “โสเภณี” และมีส่วนร่วมในการ “ทำผิดประเวณี” หลังจากถูกจับโดยตำรวจชารีอะห์จังหวัด (Wilayatul Hisbah) เนื่องจากออกจากบ้านตามลำพังในตอนกลางคืน ‘Diberitakan Sebagai Pelacur, Gadis Ini Bunuh Diri (ถูกนำเสนอข่าวว่าเป็นโสเภณี หญิงสาวผู้นี้ฆ่าตัวตาย)’, TEMPO, 17 September 2012.
[8] ปฏิบัติการเครือข่ายสีแดง (Operasi Jaring Merah) เป็นชื่อรหัสอย่างเป็นทางการของปฏิบัติการโดยทหารอินโดนีเซียในช่วงที่อาเจะห์ถูกจัดเป็นโซนปฏิบัติการทางทหารระหว่างปี 1989-1998 ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงในอาเจะห์
[9] การสังหารที่ Simpang KKA เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 1999 ที่สี่แยก (simpang) ใกล้ๆ กับโรงงานทำกระดาษ Kertas Kraft Aceh ในอาเจะห์ภาคเหนือ ทหารยิงประชนชนรวมถึงเด็กเสียชีวิตรวม 46 คน ภาพวีดีโอที่ทหารยิงใส่ผู้ประท้วงที่ปราศจากอาวุธถูกเผยแพร่อย่างแพร่หลายในอาเจะห์
[10] กฎหมายอิสลามถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการในอาเจะห์ในปี 2003 ขอบเขตของอำนาจในการตัดสินคดีถูกขยาย ชุดแต่งกายแบบอิสลาม รวมถึงการใส่ผ้าคลุมผมสำหรับผู้หญิงเป็นเรื่องบังคับ การดื่มแอลกอฮอล์, การพนันและการผิดประเวณีจะถูกลงโทษด้วยการโบยต่อหน้าสาธารณชน