Skip to main content

ชื่อบทความเดิม History in the Aftermath of Dictatorship

 

บทสัมภาษณ์อัสฮารี ไอยุบ (Azhari Aiyub), ผู้อำนวยการกลุ่ม Tikar Pandan, บันดาอาเจะห์, อินโดนีเซีย

สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย Jess Melvin, PhD candidate, Melbourne University

แปลเป็นไทยและเรียบเรียงโดย อรอนงค์ ทิพย์พิมล

 

อาเจะห์, จังหวัดตะวันตกสุดของอินโดนีเซีย, ไม่ใช่สถานที่แปลกหน้าสำหรับการโต้เถียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อันยาวนานที่เต็มไปด้วยความรุนแรง อาเจะห์เป็นพื้นที่ของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนระหว่างปี 1976 ถึง 2005 แต่ไม่เหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ในอินโดนีเซียที่อาเจะห์ไม่สามารถที่จะดื่มด่ำกับช่วงเวลาแห่งเสรีซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังจากยุคระเบียบใหม่ของซูฮาร์โต (1965-1998) ได้ยาวนานนัก

ระหว่างปี 1989-1998 อาเจะห์ถูกกำหนดให้เป็น “พื้นที่เขตปฏิบัติการทหาร” ทหารพยายามที่จะยุติบทบาทขบวนการแบ่งแยกดินแดนโดยกลุ่มขบวนการอาเจะห์เอกราช (Free Aceh Movement- GAM)  การล่มสลายของยุคระเบียบใหม่ก่อให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจในอาเจะห์ เปิดโอกาสให้ทั้งภาคประชาสังคมได้พักหายใจและกลุ่ม GAM ได้รวมตัวกันใหม่ เสรีภาพที่เกิดขึ้นใหม่นี้ได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อเรียกร้องการลงประชามติเพื่อให้อาเจะห์ได้รับเอกราชจากอินโดนีเซีย แต่รัฐอินโดนีเซียได้ตอบโต้กลับในปี 2001 ด้วยการเพิ่มปฏิบัติการทางทหารในจังหวัดอาเจะห์ จนถึงขั้นสูงสุดด้วยการประกาศกฎอัยการศึกอย่างเป็นทางการระหว่างปี 2003-2004 การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอาเจะห์รุนแรงมากในช่วงเวลานั้นและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ถูกปิดฉากลง

การอภิปรายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อาเจะห์เป็นเรื่องที่อ่อนไหวเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากในความขัดแย้งทั้งสองฝ่ายพยายามที่จะชนะ “หัวใจและความคิด” ของคนอาเจะห์ให้โน้มเอียงไปทางประวัติศาสตร์อาเจะห์ในมุมมองของตัวเอง สำหรับกลุ่ม GAM มองว่าอาเจะห์ถูกล่อลวงให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอินโดนีเซียในช่วงเอกราชเมื่อปี 1945 ในขณะเดียวกันสำหรับรัฐอินโดนีเซียมองอาเจะห์ว่าเป็น “ไฟส่องแสง” ของการปฏิวัติแห่งชาติอินโดนีเซีย ซึ่งได้ทรยศชาติเมื่ออาเจะห์เข้าร่วมกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน   

ในท่ามกลางการต่อสู้นี้ ปฏิบัติการทางทหารที่ควบคุมอย่างเข้มข้นยังคงตรึงอยู่ในพื้นที่ การล่มสลายของยุคระเบียบใหม่ทำให้เห็นจุดจบของหลักการ “หน้าที่สองด้าน” ของกองทัพ ซึ่งสถาปนาบทบาทของกองทัพในด้านการเมืองของอินโดนีเซีย แต่อย่างไรก็ตามอุดมการณ์ของยุคระเบียบใหม่นั้นยากที่จะรื้อถอนได้ง่ายๆ แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนระดับประถมและมัธยมทั่วประเทศในช่วงยุคระเบียบใหม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อและสร้างความชอบธรรมให้กับการขึ้นสู่อำนาจของทหารในปี 1965 ในกรณีการสังหารหมู่มวลชนที่สนับสนุนโดยรัฐที่เลวร้ายที่สุดกรณีหนึ่งในศตวรรษที่ 20 หลักสูตรของรัฐฉบับเดียวกันนี้ยังคงใช้อยู่ในปี 1998 และยังต้องมีการปรับเปลี่ยนจนถึงขณะนี้   ในอาเจะห์ภายใต้การควบคุมของทหาร หลักสูตรนี้ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มความชอบธรรมของปฏิบัติการทางทหารในอาเจะห์     

ตลอดในช่วงยุคระเบียบใหม่ ประวัติศาสตร์ในฐานะของสาขาวิชาที่ตั้งอยู่บนการตั้งคำถามและการวิเคราะห์ไม่ถูกสอนในระดับอุดมศึกษาในอาเจะห์ จริงๆ แล้วมีเพียงแค่มหาวิทยาลัยหลักๆ ในจาการ์ตาเท่านั้นที่รัฐอนุญาตให้ทำหน้าที่นี้ได้ภายใต้การจับตามองโดยทหาร มีเพียงวิธีเดียวที่จะศึกษาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในอาเจะห์ได้นั่นคือที่คณะฝึกหัดครู ที่ซึ่งนักศึกษาจะถูกบ่มเพาะให้เป็นผู้เผยแพร่อุดมการณ์ที่สอนนักเรียนในโรงเรียน ป สถานการณ์แบบนี้ไม่ได้แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ในอินโดนีเซียที่การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัยยังคงง่อยเปลี้ยจนถึงทุกวันนี้จากมรดกของยุคระเบียบใหม่ แต่อย่างไรก็ตามในอาเจะห์ที่ซึ่งเสรีภาพของสื่อถูกปิดกั้นอยู่แล้ว ผลของการใช้กฎอัยการศึกยังขยายปัญหานี้ให้ใหญ่ขึ้น การสนับสนุนประวัติศาสตร์ที่ต่างไปจากของรัฐอาจนำไปสู่ความเป็นความตายได้

การสิ้นสุดความขัดแย้งแบบฉับพลันในปลายปี 2005 จากเหตุการณ์สึนามิถล่มอาเจะห์หลังวันคริสต์มาสในปี 2004 นำมาซึ่งการยุติปฏิบัติการทางทหารในอาเจะห์และเปิดพื้นที่สำหรับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในตอนนี้การศึกษาสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในอาเจะห์สามารถทำได้แล้ว กระบวนการนี้ได้ก่อให้เกิดการแสดงความเห็นต่างๆ ทางสังคมในหนังสือพิมพ์และนิตยสารท้องถิ่นและเอื้อให้เกิดการก่อตั้งองค์กรทางวัฒนธรรมและองค์กรพัฒนาเอกชนขึ้นในอาเจะห์

อัสฮารี, ผู้ซึ่งถูกอธิบายว่าเป็น “the author of Aceh[1], เป็นนักเขียนวรรณกรรมและกวี เขาใช้ฝีมือทางการเขียนของเขาในการตั้งคำถามถึงประเด็นที่โต้เถียงเกี่ยวกับอดีตของอาเจะห์ เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการสังหารหมู่มวลชนในปี 1965 ในอาเจะห์ เขาได้รับรางวัล  Free World Award จาก Netherlands-based Poets of All Nations จากงานรวมเรื่องสั้นของเขาชื่อเรื่อง Perempuan Pala[2] (Nutmeg Woman) ในปี 2005, และหลังจากนั้นไม่นานเขาก็ได้รับรางวัล Khatulistiwa Literary Award ในปีเดียวกัน เขาเขียนงานเหล่านี้ในช่วงเวลากฎอัยการศึกในอาเจะห์ เขาคิดว่างานเหล่านี้เป็นช่องทางหนึ่งที่จะบ่อนทำลายการจำกัดเสรีภาพในงานทางวิชาการและสื่อ และเพื่อที่จะอภิปรายเรื่องที่มีความขัดแย้งและซับซ้อน

ในปี 2002 อัสฮารีร่วมก่อตั้ง Tikar Pandan (Pandan Mat) องค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งในตอนแรกเริ่มนั้นก่อตั้งเป็นโรงเรียนนักเขียนเพื่อสนับสนุนเยาวชนอาเจะห์ให้เริ่มแสดงความคิดเห็นของพวกเขาและเล่าประสบการณ์ของพวกเขาออกมาเป็นตัวหนังสือ Tikar Pandan ได้พัฒนาเป็นสถาบันทางวัฒนธรรมพร้อมกับสำนักพิมพ์ที่ไม่แสวงหากำไร และมีส่วนร่วมในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนอาเจะห์

 

อัสซารี, คุณช่วยเล่าเกี่ยวกับตัวคุณและ Tikar Pandan หน่อยได้ไหม?

ผมเกิดและเติบโตที่บันดาอาเจะห์ ตอนนี้ผมอายุ 31 ปี ผมเรียนที่คณะครุและศึกษาศาสตร์ ผมเลือกภาษาและวรรณคดี แต่ผมเรียนไม่จบ ผมเขียนนิยายเป็นส่วนใหญ่ นิยายนั้นเปิดโอกาสให้ค้นพบวิธีที่นำเอาข้อเท็จจริงต่างๆ มาวางเข้าด้วยกันและวิธีที่มันสามารถส่งอิทธิพลต่อความเข้าใจของเราต่อโลกที่เราอาศัยอยู่  Tikar Pandan ที่ที่ผมทำงาน เป็นองค์กรที่หวังว่าจะพัฒนาวัฒนธรรมการอ่านและความรักในวรรณกรรมในอาเจะห์ การเมืองมีอิทธิพลต่อพวกเรา มันทำให้เราก่อตั้ง Tikar Pandan ขึ้นมาและมันได้กำหนดสิ่งที่เรายึดมั่น

 

ภายใต้การควบคุมของการปกครองแบบเผด็จการทหาร แล้วก็กฎอัยการศึก ภาพแทนของประวัติศาสตร์แบบไหนที่ถูกควบคุมโดยรัฐมากที่สุด?

เรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของการปฏิวัติแห่งชาติอินโดนีเซีย ที่ขับไล่จักรวรดินิยมล่าอาณานิคม ช่วยไม่ได้ที่จะผลิตวาทกรรมการชื่นชมทหาร  แต่อย่างไรก็ตามมันมีการโต้กระแสบูชาวีรบุรุษเหมือนกัน เช่น อีดรุส (Idrus) ในช่วงทศวรรษ 1940ป[3] อีดรุสเป็นนักเขียนผู้ซึ่ง ปรามูเดีย อนันตา ตูร์[4] ถือว่าเป็นครูของเขา งานของอีดรุสขัดกับประวัติศาสตร์แบบทหารของประเทศนี้ เพราะว่างานของเขาตั้งคำถามต่อความจริงใจของทหารพลเรือนที่เข้าร่วมในการปฏิวัติ[5]  ผมคิดว่าเขาไม่ได้เป็นเพียงนักเขียนที่ดีเมื่อบรรยายตัวละครต่างๆ เท่านั้น แต่การบรรยายตัวละครทหารและผู้นำของเขาได้กลายเป็นการทำนายอันน่าสะพรึงถึงระบอบระเบียบใหม่ เมื่อหกสิบปีที่แล้วอีดรุสได้ประกาศว่าทหารเป็นพวกผู้ร้ายโดยธรรมชาติ    ตราบเท่าที่ระบอบระเบียบใหม่ครองอำนาจและดำเนินมาจนทุกวันนี้[6] ผู้คนยังคงถูกขับออกจากที่ดินและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของพวกเขาเพราะว่าพวกเขาไม่สามารถที่จะแข็งขืนต่อองค์กร (บริษัท) ซึ่งได้รับการคุ้มครองโดยทหาร

ภายใต้ยุคระเบียบใหม่ มันยากที่จะบอกว่าชีวิตในอาเจะห์ยากลำบากว่าจังหวัดอื่นๆ ในอินโดนีเซีย การยึดที่ดิน พร้อมๆ กับการไร้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเอารัดเอาเปรียบทรัพยากรทางธรรมชาติเกิดขึ้นทั่วประเทศ นอกจากนี้ระบอบระเบียบใหม่ยังสังหารประชาชนที่ถูกสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์เกือบล้านคนและการรณรงค์ประทับตราบาปให้แก่บรรดาลูกหลานของผู้ต้องสงสัยเหล่านี้

พลเมืองอินโดนีเซียเกือบทั้งหมดมีประสบการณ์เลวร้ายกับทหาร และวันนี้ความแตกต่างเป็นเพียงแค่ระดับประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับ ผู้คนที่อาเจะห์, ปาปัว และติมอร์ เลสเต้ และคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์เป็นกลุ่มคนได้รับผลกระทบเลวร้ายที่สุด หากไม่มีประชาชนอินโดนีเซียที่เผชิญกับการกระทำป่าเถื่อนของทหารโดยตรง เรื่องเล่าที่เขียนโดยอีดรุสและปรามูเดีย จะทำได้เพียงผลิตความรู้สึกสงสัยต่ออนุสาวรีย์เชิดชูทหารที่สร้างโดยทหาร หรือจริงๆ แล้วต่อแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่พวกเขาได้รวบรวม (ซึ่งได้กลายเป็นเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ฉบับทางการของประเทศ)

แต่ทว่า ตั้งแต่ปฏิบัติการทางทหารในอาเจะห์ทหารได้สอนผมถึงบางอย่างที่สำคัญอย่างยิ่ง : เหตุผลที่ผมเกลียดทหาร นอกจากการสังหารและการบุกรุกบ้านพลเรือนในช่วงปฏิบัติการทางทหาร ยังมีสาเหตุที่ดูเหมือนจะเป็นเหตุผลง่ายๆ ที่ทหารหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังในชุมชน ตัวอย่างเช่น ในช่วงเวลาปฏิบัติการทหารในอาเจะห์จะมีรถบรรทุกของทหารมากมายในอาเจะห์ รถบรรทุกเหล่านี้ที่ลำเลียงพลทหารสร้างความรบกวนอย่างยิ่ง เพราะไม่ว่ารถจะแล่นไปที่ไหน คนขับรถไม่เคยที่หยุดกดแตรรถ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้แก่ผู้ใช้ถนนว่าพวกเขาควรจะหลีกทางให้กับรถบรรทุกทหารได้ผ่านไปก่อน พวกเราถูกบีบให้ให้ทางแก่พวกเขาซึ่งทำราวกับว่ากิจกรรมของพวกเขาเท่านั้นที่สำคัญ

 

เมื่อไหร่และอย่างไรที่คุณเริ่มตระหนักว่าเรื่องเล่าประวัติศาสตร์แบบนี้มันมีปัญหา? และมันได้ส่งผลต่อการตัดสินใจของคุณในการก่อตั้ง Tikar Pandan หรือไม่?

Tikar Pandan เกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นในอาเจะห์ ภายใต้การควบคุมของทหาร ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่พวกเรากำลังเติบโตขึ้น เราสามารถเห็นว่าจาการ์ตาใช้ยุทธวิธีโดดเดี่ยวอาเจะห์ เราไม่สามารถเห็นโลกภายนอกอาเจะห์ และผู้คนภายนอกก็ไม่สามารถเห็นสิ่งที่เป็นไปในอาเจะห์ คนภายนอกยังถามว่าทำไมอาเจะห์เรียกร้องการลงประชามติ พวกเขาไม่เห็นภัยพิบัติทางด้านมนุษยชนที่เกิดขึ้นในอาเจะห์  พวกเขาคิดว่าคนอาเจะห์สุขสบายดีเพราะว่ามีบริษัทน้ำมัน Exxon-Mobil และบริษัทใหญ่ๆ ตั้งอยู่ในอาเจะห์ จริงๆ แล้วตามดัชนีความยากจน อาเจะห์เป็นหนึ่งในจังหวัดที่ยากจนที่สุดในอินโดนีเซียด้วยซ้ำ

หนึ่งในตำนานที่มีมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมในอาเจะห์คืออาเจะห์เป็นสถานที่ของโจรสลัดและคนอาเจะห์คาบ “เรินจอง” rencong (ดาบแบบดั้งเดิมของชาวอาเจะห์) ไว้ในปาก กรณีการก่อการร้ายเกิดขึ้นทุกเมืองในอินโดนีเซียแต่ตั้งแต่ปี 2009 ทหารได้ติดตามกลุ่มก่อการร้ายจากชวาที่ได้ย้ายฐานปฏิบัติมาที่อาเจะห์ แต่หนังสือพิมพ์และนิตยสารในจาการ์ตาเรียกกลุ่มก่อการร้ายนี้ว่าผู้ก่อการร้ายอาเจะห์ ชื่อซึ่งไม่เคยใช้เมื่อเกิดการก่อการร้ายขึ้นในจังหวัดอื่นๆ แน่นอนนี่มันน่าเจ็บปวด Tikar Pandan พยายามที่จะปรับภาพลักษณ์ของอาเจะห์ให้ดีขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งนี่ควรจะเป็นงานของฝ่ายประชาสัมพันธ์ในรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดอาเจะห์มากกว่า

เริ่มจากเราตั้งธงในการช่วยสนับสนุนวัฒนธรรมการอ่านซึ่งเริ่มพัฒนาในกลุ่มเยาวชนในอาเจะห์ก่อน ในช่วงต้นคริสต์ศวรรษที่ 21 มันยากมากที่จะหาหนังสือดีๆ ในอาเจะห์ คุณต้องไปที่ชวาเพื่อที่จะไปหามันหรือแม้แต่เพื่อไปหาเสื้อยืดสกรีนรูปหน้าเช กูวารา พวกเราเชื่อว่าถ้าปราศจาการวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งมันยากที่เราจะคิดแบบวิพากษ์และหนีจากการโดดเดี่ยวทางการเมืองที่ถูกยัดเยียดให้โดยจาการ์ตาได้ ในช่วงเวลาปฏิบัติการทางทหารล่าสุด พวกเราก็เปิดโรงเรียนสอนการเขียนฟรีให้กับเยาวชน โรงเรียนนี้ไม่ได้สอนด้านเทคนิคการเขียน พวกเราค่อนข้างจะหวังว่าผู้เข้าร่วมจะมาเพื่อพัฒนาความคิดของพวกเขาเกี่ยวกับสถานการณ์ที่พวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งเป็นอะไรที่ท้าทายมาก   ปโรงเรียนนี้ได้เปิดมาเป็นเวลาสิบปีแล้ว ตั้งแต่ทหารถอนออกไป ความคิดเห็นของนักเขียนมีความสำคัญเพิ่มขึ้น หนังสือพิมพ์ในอาเจะห์บิดเบือนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น พวกเขาแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับผู้หญิงว่าผู้หญิงที่ออกนอกบ้านตอนกลางคืนเป็นพวกโสเภณี[7] ผู้อ่านก็ยอมรับว่ามันจริง บางครั้งผมคิดว่าอาจจะดีเสียกว่าถ้าอ่านหนังสือไม่ออกและไม่รับรู้ถึงสิ่งที่ปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์แบบนี้

ผมจำไม่ได้แน่ว่าเมื่อไหร่ที่ผมเริ่มคิดแบบนี้ หรือกระบวนการนี้เกิดขึ้นในแบบเดียวกันกับเพื่อนๆ ของผมที่ร่วมกันก่อตั้ง Tikar Pandan หรือไม่ ผมคิดว่าเส้นทางชีวิตของผมเป็นผลจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมเติบโตมาในยุคปี 90 ในเมืองเล็กๆ ที่มีความปลอดภัยเพียงพอ แต่แล้วมันก็เริ่มมีประสบการณ์ที่เลวร้าย  

 

Tikar Pandan ได้สร้างพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนขึ้น ซึ่งพยายามให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความโหดร้ายในช่วงสงครามแบ่งแยกดินแดนในอาเจะห์ คุณช่วยอธิบายเกี่ยวกับกระบวนการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์นี้, แรงบันดาลใจ และวัตถุประสงค์?

Tikar Pandan ไม่ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์นี้โดยลำพัง เราทำงานร่วมกับอีกสี่องค์กร ได้แก่ องค์กรช่วยเหลือด้านกฎหมายบันดาอาเจะห์ ็ (LBH Banda Aceh - Banda Aceh Legal Aide Organisation), คณะกรรมการเพื่อผู้สูญหายและเหยื่อความรุนแรงอาเจะห์  (Kontras Aceh - Commission for the “Disappeared” and Victims of Violence, Aceh), พันธมิตรองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนในอาเจะห์ (Colalition of Human Rights NGOs in Aceh) และศูนย์นานาชาติเพื่อความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (the International Centre for Transitional Justice)  เราก่อตั้งองค์กรร่วมพร้อมกับพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนเป็นองค์กรอิสระ สมาชิกขององค์กรเหล่านี้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงและความสมานฉันท์ (Truth and Reconciliation Commission - TRC) ในอาเจะห์ องค์กรสี่องค์กรยกเว้น Tikar Pandan มุ่งเน้นด้านการเป็นทนายตัวแทนของเหยื่อในกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในอาเจะห์ บทบาทของ Tikar Pandan ในพิพิธภัณฑ์คือด้านการเยียวยาและกิจกรรมอื่นๆ ที่แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่คือ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นอนุสรณ์สถาน ตัวพิพิธภัณฑ์เองถูกก่อตั้งในโรงรถที่ไม่ได้ใช้งานที่สำนักงานของพวกเรา

ตั้งแต่สิ้นสุดกฎอัยการศึกในอาเจะห์ในปี 2005 ก็ยังไม่แน่นอนว่าจะมีการก่อตั้งคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ กฎหมายที่จะก่อให้เกิดคณะกรรมาธิการถูกสกัดในสภา ทั้งรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดอาเจะห์และสภาระดับชาติที่จาการ์ตาต่างพยายามผลักความรับผิดชอบในการบัญญัติกฎหมายให้เป็นของอีกฝ่าย ประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนถูกพูดถึงน้อยลงเรื่อยๆ พวกเรายังคงหวังต่อไปว่ารัฐบาลจะจัดการกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีต ในขณะเดียวกันพวกเราก็ก่อตั้งอนุสรณ์สถานของพวกเราเองให้เหยื่อจากความรุนแรง   อนุสรณ์สถานนี้ไม่ได้มุ่งหวังที่จะสร้างแรงกดดันแก่รัฐบาลอาเจะห์ แต่พวกเราหวังจริงๆ ว่ามันจะช่วยเตือนพวกเขาว่าการพยายามลืมเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นความผิดพลาดและไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องที่พยายามสกัดกั้นกฎหมายสำหรับการก่อตั้งคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ รัฐสภาก็ยึดกับแนวทางของตัวเองมากเกินไปที่จะแก้ไขปัญหานี้ พวกเราเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิที่จะรู้เกี่ยวกับอดีตของพวกเขาเอง การละเมิดสิทธิมนุษยชนสามารถกระทำโดยใครก็ได้และมันไม่ได้เป็นแค่เรื่องของคนรุ่นก่อน แต่สำหรับคนรุ่นที่ยังมาไม่ถึง   เรากำลังเสี่ยงต่อการที่การละเมิดเหล่านี้จะเกิดซ้ำอีกเพราะว่ามันยังไม่ได้ถูกจัดการให้ถูกต้อง

 

คุณช่วยอธิบายการจัดแสดงหลักและสารที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ได้ไหม?

พวกเราไม่ได้จัดกิจกรรมมากนักที่อนุสรณ์สถาน เราเชิญคนมาบรรยายเตือนความจำปีละครั้ง เพื่ออภิปรายถึงประเด็นความสำคัญของคุณค่าสิทธิมนุษยชนในชีวิตประจำวัน จิตรกรรมฝาผนังบรรยายฉากดำมืดจากประวัติศาสตร์ของเรา  คำสำคัญบางคำที่เกี่ยวกับความขัดแย้งในอาเจะห์ คือ กฎอัยการศึก, ปฏิบัติการเครือข่ายสีแดง[8] การสังหารที่ Simpang KKA[9] และการสังหารทางการเมือง เราได้จัดวางคำบรรยายของเหตุการณ์เหล่านี้ในกรอบพร้อมคำอธิบาย

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับอนุสรณ์สถานคือการให้ความรู้สึกถึงสันติภาพและเคารพต่อผู้คนที่ “สูญหาย” ในช่วงเวลานั้นหรือผู้ที่ยังไม่รู้ชะตากรรมจนถึงทุกวันนี้ เราได้จัดพื้นที่พิเศษเพื่อแสดงรูปภาพพวกเขาซึ่งได้กลายเป็นความทรงจำของประชาชน ผู้เข้าชมสามารถสวดอธิษฐานและวางดอกไม้ที่นั่นได้  

พวกเราไม่ได้พูดถึงการมีหรือการสะสมวัตถุที่พิพิธภัณฑ์ ก่อนหน้ามีคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ มีความคิดที่ผิดว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์แบบดั้งเดิม คือมีอาคารใหญ่ๆ เต็มไปด้วยการแสดงต่างๆ ทุกเดือน มีเสื้อผ้าและรองเท้าของเหยื่อมาแสดงในกล่องแก้ว ก่อนที่จะเกิดสิ่งนี้ขึ้นได้จะต้องมีการพูดคุยกับเหยื่อและครอบครัวเสียก่อน เราต้องระมัดระวังอย่างมากในการตัดสินใจเลือกว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะที่จะมาแสดง พิพิธภัณฑ์ของเราเป็นภาพสะท้อนความเชื่อมั่นของหลายคนว่ามีความจำเป็นต้องมีความยุติธรรมและกระบวนการพูดความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต มันเป็นวิธีหนึ่งที่บอกว่าพวกเรายังไม่ลืม

เรากำลังขยายขอบเขตของพิพิธภัณฑ์ผ่านการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เสมือน (Virtual Museum) บนเว็บไซด์ของเรา เรากำลังรวบรวมสารานุกรมออนไลน์ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับคำสำคัญที่พูดถึงข้างบน การสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันแบบใหม่ต่อวิธีที่ประวัติศาสตร์ควรจะถูกมองไม่ได้เป็นแค่เพียงเรื่องการมีอำนาจ (เช่นครอบงำโดยรัฐ) แต่เป็นเรื่องของการที่เราสามารถตีความเหตุการณ์และคำต่างๆ ใหม่ด้วย และสามารถส่งอิทธิพลต่อวิธีที่คนมองเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้

 

พิพิธภัณฑ์พยายามที่จะท้าทายต่อความเข้าใจที่เป็นที่ยอมรับเกี่ยวกับความขัดแย้งอย่างไร และมันได้รับการตอบรับอย่างไรในชุมชน?

ปฏิกิริยาจากประชาชนค่อนข้างดี พวกเขาไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรผิดเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของพิพิธภัณฑ์นี้ ในอาเจะห์มีความแตกแยกทางความคิดเห็นของคนเกี่ยวกับประเด็นของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตตั้งแต่จาการ์ตาประกาศให้ใช้กฎหมายอิสลามในอาเจะห์อย่างเป็นทางการ[10] องค์กรศาสนาบางองค์กรเห็นว่าแนวคิดเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” มาจากตะวันตกด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้อิสลามอ่อนแอ อะไรที่เกี่ยวข้องกับ “สิทธิมนุษยชน” จะถูกองค์กรเหล่านี้มองอย่างถากกาง 

ก่อนหน้าที่พิพิธภัณฑ์จะถูกก่อตั้งโดยคณะกรรมการเพื่อผู้สูญหายและเหยื่อความรุนแรง,  องค์กรช่วยเหลือด้านกฎหมายบันดาอาเจะห์ ็ และพันธมิตรองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนในอาเจะห์ ได้มีการจัดอภิปรายกับกลุ่มเหยื่อเกี่ยวกับแนวคิดของพิพิธภัณฑ์ องค์กรเหล่านี้ยังจัดกิจกรรมของตัวเอง เช่น รำลึกถึงวันสำคัญต่างๆ เช่น การสังหารที่ Simpang KKA พวกเขาจัดการรำลึกทุกปีในสถานที่ที่เกิดการสังหารขึ้น

มีสิ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นเมื่อพวกเราประกาศเปิดพิพิธภัณฑ์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์คือนายเรซา อีเดรีย (Reza Idria) ได้รับพัสดุจากมูลนิธิแห่งหนึ่ง เป็นหนังสือเขียนในภาษาอาเจะห์ และมีจดหมายเขียนเป็นภาษาอาเจะห์เช่นกันแสดงความหวังว่าหนังสือนี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลคชันของพิพิธภัณฑ์็ พวกเราไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับมูลนิธินี้มาก่อน ปรากฏมันถูกสร้างโดยทหาร และหนังสือได้ระบุหลายกรณีของการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดย GAM ในช่วงความขัดแย้ง เรารับหนังสือและแสดงความขอบคุณ สารที่ส่งถึงเรานี้ชัดเจนมากว่าพวกเขา (ทหารที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธินี้) ต้องการการรับฟังเช่นกัน อย่างน้อยที่สุดสารนี้บอกเราว่าความจริงเกี่ยวกับความขัดแย้งในอาเจะห์นั้นไม่ได้มาจากเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น

คุณคิดว่าการเล่าอดีตแบบใหม่ เช่นที่ทำผ่านพิพิธภัณฑ์นี้ จะช่วยแก้ไขความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ในชุมชนไหม?

การแก้ปัญหานี้สามารถทำได้ผ่านความเข้าใจว่าทำไมความวุ่นวายโกลาหลจึงเกิดขึ้นได้ง่ายในสังคมอินโดนีเซีย ปีที่แล้วผมเขียนรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงและการกล่าวหาหมิ่นประมาทความเชื่อทางศาสนาในอาเจะห์ จากรายงานนี้ผมพบว่าเป็นที่ชัดเจนว่าคนค่อนข้างอ่อนไหวง่ายต่อการถูกหมิ่นประมาทและต้องการโจมตีคนซึ่งมีความเชื่อทางศาสนาต่างจากตน ในขณะที่รัฐซึ่งควรจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางกลับแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองจากความวุ่นวายเหล่านี้ ดูเหมือนว่ารัฐมีความสามารถในการจัดการความขัดแย้งเหล่านี้แต่ไม่ใช่ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้มันสิ้นสุด ในเรื่องที่เกี่ยวกับความวุ่นวายหรือความขัดแย้งในชุมชน รัฐก็ยังคงไม่เปลี่ยนความคิด  กฎหมายใหม่เกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งทางสังคมเพิ่งผ่านร่างในอินโดนีเซีย นี่เป็นการนำเสนอโอกาสใหม่สำหรับการนิรโทษกรรม เพราะว่าเป็นการออกกฎหมายว่าทหารสามารถที่จะประเมินระดับของภัยคุกคามต่อความมั่นคงในชุมชนได้  

ในสภาพเช่นนี้พิพิธภัณฑ์เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ดีที่สุดในการนำเสนอมุมมองใหม่ในหลายประเด็น พิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เพียงแค่สามารถเก็บเรื่องราวจากมุมมองของเหยื่อ แต่มันสามารถที่จะพยายามเปลี่ยนเรื่องราวที่ได้ถูกบอกเล่าด้วย  ไม่เพียงเท่านี้พิพิธภัณฑ์ยังสามารถทำหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชนได้ด้วย นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อเรา เพราะว่าในช่วงความขัดแย้งในอาเจะห์ ทหารตระหนักดีว่าพวกเขาจำเป็นต้องสร้างเรื่องเล่าเฉพาะที่อธิบายจากมุมมองของพวกเขา และอธิบายว่าความขัดแย้งเริ่มได้อย่างไรและอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น พวกเขาใช้สื่อหลายอย่างในการควบคุมเรื่องเล่าของพวกเขาโดยไม่ต้องใช้กำลัง หนังสือที่ผมกล่าวถึงข้างต้นเป็นตัวอย่างได้ดี  อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ผมเพิ่งพบการ์ตูนที่ใช้เพื่อโฆษณาชวนเชื่อซึ่งอธิบายความสำคัญของ “การรักษาสันติภาพ” ที่ผลิตโดยสำนักสารสนเทศทหารอาเจะห์ (Aceh Military’s Bureu of Information)

 

คุณคิดว่ายังคงมีข้อห้ามเฉพาะใดๆ ในการพูดเกี่ยวกับอดีตของอาเจะห์อีกไหม?

โดยทั่วไปไม่มี แต่อย่างไรก็ตามมีคนที่ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มที่ต้องการเก็บเรื่องราวพวกเขาไว้กับพวกเขาเอง โดยเฉพาะเหยื่อของการข่มขืน มันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพวกเขาที่จะพูดถึงความบอบช้ำทางจิตใจเช่นนี้

คุณสนับสนุนการก่อตั้งคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงและความสมานฉันท์ในอาเจะห์หรือไม่? คุณต้องการให้คณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ บรรลุเป้าหมายอะไร? มีอุปสรรคอะไรบ้างในการก่อตั้งคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ?

แน่นอนว่าพวกเราสนับสนุนการก่อตั้งคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ ภายในภาคประชาสังคมในหมู่พวกเราที่มีส่วนร่วมในพิพิธภัณฑ์ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานที่จัดตั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ความโหดร้ายของผู้ที่ขัดขวางการก่อตั้งคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ ก็เหมือนกับบรรดาผู้ที่ปฏิเสธว่าเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาเจะห์ คณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ ไม่ได้สำคัญแค่ต่ออาเจะห์ หรืออินโดนีเซียเท่านั้น แต่สำคัญต่อประชาคมระหว่างประเทศด้วย หากไม่มีคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ มันก็ยากที่จะจินตนาการว่าลูกหลานของเราในอนาคตจะไม่ประสบกับสถานการณ์ซ้ำรอยกัน 

ในความเห็นของผมปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในการก่อตั้งคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ คือทั้งรัฐบาลอินโดนีเซียและผู้นำ GAM เห็นเพียงความเสี่ยงในระยะสั้นที่พวกเขาอาจต้องเผชิญเท่านั้น ดังนั้นพวกเขาปฏิเสธที่จะเปิดประตูไปสู่การพูดคุยอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับอดีตที่ผ่านมา พวกเขากำลังพยายามที่จะเปลี่ยนการอภิปรายเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ ด้วยการอภิปรายเกี่ยวกับ “ความมั่งคั่ง” (ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ) ในอาเจะห์แทน ด้วยความหวังว่าเรื่องนี้จะทำให้คนหันมายอมรับต่ออดีตที่ผ่านมา เรื่องนี้มีสองประเด็นที่แตกต่างกัน คุณไม่สามารถดับความกระหายด้วยการกินขนมปัง คุณไม่สามารถให้ความมั่งคั่งหากสิ่งที่พวกเขาต้องการคือความยุติธรรมจากอดีต ผมคิดว่านี่เป็นปัญหาที่ผู้อยู่ในอำนาจทุกแห่งต่างเผชิญ  ดังที่กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (นักเขียนชาวโคลอมเบียผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 1982) ได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า “เมื่อคุณบรรลุถึงอำนาจเบ็ดเสร็จ คุณจักถูกตัดขาดจากโลกแห่งความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง และนั่นนับเป็นภาวะอ้างว้างโดดเดี่ยวอันเลวร้ายที่สุดเท่าที่จะบังเกิดขึ้นได้”

 

การ “เล่าความจริง” ของคณะกรรมาธิการค้นหาความจริงฯ ถูกอธิบายว่าเป็นกระบวนการสร้างเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ทางการใหม่ ในความเห็นของคุณมันเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการสมานฉันท์ที่แท้จริงในอาเจะห์โดยไม่มีกระบวนการดังกล่าว? คุณพิจารณาว่าอะไรเป็นประเด็นหลักที่จำเป็นต้องกล่าวถึงสำหรับเรื่องนี้?

ผมไม่แน่ใจ เพราะว่าความรู้สึกต้องการแก้แค้นสามารถเติบโตที่ไหนก็ได้ที่คนคิดว่ายังไม่มีความยุติธรรมเพียงพอ นี่เป็นสิ่งที่น่าเศร้ามากเพราะว่าสิ่งที่จำเป็นตอนนี้คือเจตจำนงทางการเมืองในนามของรัฐบาลที่จะดำเนินการกระบวนการดังกล่าว การค้นหาความจริงต้องลงรากฐานเรื่องนี้ การละเมิดที่เกิดขึ้นต้องเป็นที่รับรู้ รัฐบาลของเรากำลังอยู่ในโลกแคบๆ ของพวกเขาถ้าพวกเขาไม่ปรารถนาที่จะต่อสู้เพื่อสิ่งนี้

รูปคนสูญหายที่พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชน

 



[1] The Jakarta Post, 16 November 2008.

[2] Azhari, Perempuan Pala (Yogyakarta: Akedemi Kebudayaan Yogyakarta Press, 2004). Perempuan Pala ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Nutmeg Woman (Banda Aceh: Aneuk Mulieng Publishing, 2009).

[3] อีดรุส (1921- 1979) เป็นนักเขียนอินโดนีเซียเป็นที่รู้จักจากเรื่องสั้นและนิยายแบบ realistic โดยเฉพาะจากเรื่องสั้นของเขาที่เขียนในช่วงการปฏิวัติอินโดนีเซียระหว่างปี 1945-49 เขาย้ายไปอยู่เมลเบิร์นในปี 1965 เพื่อเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยโมแนช 

[4] ปรามูเดีย อนันตา ตูร์ (1925- 2006)ได้รับการนับถือว่าเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย งานของเขาครอบคลุมยุคอาณานิคม, ยุคการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินโดนีเซีย, ยุคการยึดครองของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง, และระบอบหลังอาณานิคมสมัยซูการ์โนและซูฮาร์โต เขาถูกขังที่เกาะบูรูระหว่างปี 1969-1979  เพราะเขาเป็นสมาชิกองค์กรด้านวัฒนธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (LEKRA) เขามีชื่อเสียงมากที่สุดจากนิยายประวัติศาสตร์ชุดจตุภาคบูรูซึ่งเขียนขึ้นในระหว่างที่เขาอยู่ที่เกาะบูรู และถูกแบนในอินโดนีเซียในช่วงระบอบระเบียบใหม่ 

[5] ยุคการปฏิวัติแห่งชาติอินโดนีเซีย (1945-1949) นั้นเป็นการต่อสู้โดยกลุ่มทหารพลเรือนอิสระส่วนใหญ่ กลุ่มทหารพลเรือนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังแห่งชาติจนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1950  

[6] นายทหารและผู้ที่มีสายสัมพันธ์กับทหารยังคงมีอิทธิพลภายในการเมืองอินโดนีเซีย ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) เป็นนายพลเกษียณราชการ ในขณะที่จากสี่ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสำหรับปี 2014 นั้นมีสองคนเป็นอดีตทหาร ได้แก่ปราโบโว (Probowo) เป็นทหารหน่วยกองกำลังพิเศษ และวิรันโต (Wiranto) เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดอินโดนีเซีย ทั้งคนสองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เมกาวตี (Megawati) บุตรสาวของซูการ์โนผู้ซึ่งกำลังพยายามให้ได้รับเลือกอีกครั้ง เป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบในช่วงกฎอัยการศึกในอาเจะห์ ในขณะที่ อาบูรีซัล บาครี (Aburizal Bakrie) เป็นหัวหน้าพรรคกอลคาร์ (Golkar) พรรครัฐบาลภายใต้เผด็จการทหารยุคระเบียบใหม่

[7] เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2012 หญิงวัยรุ่นจากอาเจะห์ตะวันออกคนหนึ่ง มีชื่อตัวย่อว่า ‘P.E.’ ฆ่าตัวตายหลังจากที่เธอและเพื่อนๆ ของเธอถูกกล่าวหาในสื่อว่าเป็น “โสเภณี” และมีส่วนร่วมในการ “ทำผิดประเวณี” หลังจากถูกจับโดยตำรวจชารีอะห์จังหวัด (Wilayatul Hisbah) เนื่องจากออกจากบ้านตามลำพังในตอนกลางคืน ‘Diberitakan Sebagai Pelacur, Gadis Ini Bunuh Diri (ถูกนำเสนอข่าวว่าเป็นโสเภณี หญิงสาวผู้นี้ฆ่าตัวตาย)’, TEMPO, 17 September 2012.

[8] ปฏิบัติการเครือข่ายสีแดง (Operasi Jaring Merah) เป็นชื่อรหัสอย่างเป็นทางการของปฏิบัติการโดยทหารอินโดนีเซียในช่วงที่อาเจะห์ถูกจัดเป็นโซนปฏิบัติการทางทหารระหว่างปี 1989-1998 ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรงในอาเจะห์

[9] การสังหารที่ Simpang KKA เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 1999 ที่สี่แยก (simpang) ใกล้ๆ กับโรงงานทำกระดาษ Kertas Kraft Aceh ในอาเจะห์ภาคเหนือ ทหารยิงประชนชนรวมถึงเด็กเสียชีวิตรวม 46 คน ภาพวีดีโอที่ทหารยิงใส่ผู้ประท้วงที่ปราศจากอาวุธถูกเผยแพร่อย่างแพร่หลายในอาเจะห์  

[10] กฎหมายอิสลามถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการในอาเจะห์ในปี 2003  ขอบเขตของอำนาจในการตัดสินคดีถูกขยาย ชุดแต่งกายแบบอิสลาม รวมถึงการใส่ผ้าคลุมผมสำหรับผู้หญิงเป็นเรื่องบังคับ การดื่มแอลกอฮอล์, การพนันและการผิดประเวณีจะถูกลงโทษด้วยการโบยต่อหน้าสาธารณชน  

 

บล็อกของ onanong

onanong
  คราวนี้จะขอพูดถึงคำสรรพนามในภาษาอินโดนีเซียนะคะ คำสรรพนามในภาษาอินโดนีเซียนั้นมีอยู่มากมายเพราะเป็นสังคมที่มีลำดับชั้นและมรรยาทมากเหมือนของไทย การแทนตัวผู้พูดกับผู้ฟังจะขึ้นอยู่กับวัยวุฒิ และสถานะของคนที่เราพูดด้วย
onanong
 มาเรียนภาษาอินโดนีเซียกันต่อนะคะ คราวนี้จะเป็นพยัญชนะและสระประสมนะคะ และแถมด้วยคำที่ออกเสียงใกล้ๆ กันแต่ความหมายไปคนละเรื่องเลยค่ะ
onanong
ตามสัญญานะคะ คราวนี้จะเป็นการสอนภาษาอินโดนีเซียเบื้องต้นง่ายๆ สำหรับผู้สนใจเรียนภาษาอินโดนีเซียที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน วันนี้ขอเริ่มด้วยการออกเสียงพยัญชนะ และสระนะคะ สำหรับผู้ที่ต้องการให้สอนภาษาอินโดนีเซียในระดับที่ยากขึ้นไป อดใจรอหน่อยนะคะ จะค่อยๆ เพิ่มระดับความยากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ
onanong
คำภาษามลายู, อินโดนีเซีย, ชวาในพจนานุกรมฉบับมติชน พ-ม
onanong
วันที่ 28 ตุลาคมถือเป็นวันกำเนิดภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งมีที่มานั้นน่าสนใจยิ่งว่ามาจากการประกาศ“ คำสาบานของเยาวชน” ประธานของสโมสรนักเรียนอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ปี 1928
onanong
“Indonesia Mengajar” เป็นโครงการที่ถ้าเรียกเป็นภาษาไทยก็น่าจะประมาณ “ครูอาสาอินโดนีเซีย” ซึ่งความสำเร็จของมันอาจหมายถึงการทำให้คนอินโดนีเซียหวนคิดถึงยุคสมัยแห่งการสร้างชาติ, คิดถึงชาติที่ unity แต่ในมุมกลับก็มีคำถามบางอย่างเช่นกัน
onanong
ต่อค่ะ คำภาษามลายู, อินโดนีเซีย และชวาที่คล้ายกับคำภาษา “ไทย” ในพจนานุกรมฉบับมติชน ดิฉันต้องขอชี้แจง (อีกครั้ง-เผื่อท่านที่เพิ่งจะเข้ามาอ่าน) ว่า คำต่างๆ ที่ดิฉันค้นคว้ามานี้ มิได้หมายความว่า ไทยเรารับเอามาจากภาษามลายู, อินโดนีเซีย หรือ ชวา โดยตรงทั้งหมด บาง
onanong
นานมาแล้วมีลูกศิษย์ที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ ขอให้ช่วยสอนคำทักทายภาษาอินโดง่ายๆ เพราะที่นั่นเขามีเพื่อนชาวอินโดอยู่จำนวนหนึ่ง แล้วเขาอยากจะทักทายเพื่อนๆ เป็นภาษาอินโดบ้าง ดิฉันก็เลยจัดให้ และยังเก็บไฟล์ไว้ เลยคิดว่าเผื่อจะมีท่านที่สนใจอยากทราบบ้างค่ะ
onanong
มาแล้วค่ะ คำภาษามลายู, อินโดนีเซีย และชวาที่คล้ายกับคำภาษา “ไทย” ในพจนานุกรมฉบับมติชน มิได้หมายความว่า ไทยเรารับเอามาจากภาษามลายู, อินโดนีเซีย หรือ ชวา โดยตรงทั้งหมด บางคำเราก็รับมาโดยตรงผ่านวรรณกรรม การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมบ้าง แต่บางคำก็รับผ่านภาษาบาลี สันสกฤต ทั้งเราและเขา บางคำก็ออกเสียงคล้ายกัน และแปลเหมือนกันโดยไม่ได้นัดหมายค่ะ
onanong
วันนี้ขอสลับพูดถึงคำขวัญของประเทศอินโดนีเซียนะคะ สำหรับท่านผู้อ่านที่ต้องการติดตามคำภาษามลายู อินโดนีเซีย และชวาที่คล้ายคำภาษาไทยในพจนานุกรมฉบับมติชนไม่ต้องกังวลนะคะ จะทยอยนำเสนอต่อไปค่ะ และก็ท่านที่คิดว่า...โอ้ย...จะรออ่านจนครบ ฮ เมื่อไหร่เนี่ย ... มันไม่ได้ยาวขนาดนั้นค่ะ คิดว่าซักห้าหกครั้งก็จบพอดีค่ะ